งานพืชสวนโลก เชียงใหม่ 2554 งามตระการตา

งานพืชสวนโลก เชียงใหม่ 2554 งามตระการตา

งานพืชสวนโลก เชียงใหม่ 2554 งามตระการตา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หอคำหลวง สถาปัตยกรรมล้านนา ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ ที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย"


เนื่องในวโรกาสปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าหัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา พระองค์ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทยในชีวิตความเป็นอยู่พสกนิกรไทยทั่วทั้งแผ่นดิน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งนัก พระองค์คือพ่อของแผ่นดินไทย ที่คนไทยรักและเคารพ พระองค์ คือผู้ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน พระองค์ คือศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ ขอพระองค์ทรงพระเจริญ เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยตลอดไป

หอคำหลวง เป็นสัญลักษณ์ของอุทยานหลวงราชพฤกษ์ วันนี้ผู้เขียน ขอพาทุกท่านมารู้จัก หอคำหลวง สถาปัตยกรรมล้านนา ที่สวยงามสง่าโดดเด่น ณ อุทยานหลวงราชพกฤษ์ จังหวัดเชียงใหม่ ที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย" เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ หอคำหลวงโดยมี หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นประธานคณะอนุกรรมการโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ "หอคำหลวง" สร้างขึ้นในปี 2549
หอคำ หมายถึง พระตำหนักของกษัตริย์ในอาณาจักรล้านนา และคำว่า หลวง หมายถึง ใหญ่ สถาปัตยกรรมล้านนาอันงดงามนี้ มีช่างผู้ออกแบบเป็นช่างสิบหมู่พื้นบ้านล้านนา นำโดยนายรุ่ง จันตาบุญ ผู้ชำนาญการด้านสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นล้านนา และรวบรวมสุดยอดฝีมือของล้านนา จากจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน เป็นการรวมตัวครั้งยิ่งใหญ่ ของทีมช่างกว่า 60 คน บรรจงสร้างด้วยฝีมือที่วิจิตรงดงามอ่อนช้อยตามแบบท้องถิ่นล้านนา โดยการจำลองแบบของหอคำในวัดพันเตา ที่มีจุดเด่นคือ วิหารซด (หลังคา) ทีมีลักษณะบ่งบอกถึงสถานที่อันเป็นที่ประทับของเจ้าผู้ปกครองเมือง ซึ่งการสร้างหอคำในภาคเหนือถือว่าเป็นสถานที่สำคัญสำหรับใช้ในการประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ของเจ้าหลวงล้านนาในอดีต

หอคำหลวง หลังนี้เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น สีน้ำตาลแดง ใช้ไม้สักเป็นองค์ประกอบหลัก และมียึดการสร้างแบบโบราณคือการตอกลิ่มสลักบนเนื้อไม้เพื่อให้ยึดเข้ากันไว้ โดยไม่ใช้ตะปูแต่อย่างใด การวางตำแหน่งของหอคำหลวง ถือได้ว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ เช่นกัน สร้างความน่าสนใจให้กับผู้เขียนยิ่งนัก เริ่มต้นเดินจากประตูทางเข้า สู่หอคำหลวงเป็นถนนที่ทอดยาวด้านหลังเป็นทิวภูเขาเป็นฉากที่งดงามตามทัศนียภาพสิ่งแวดล้อม ก่อนจะเข้าสู่หอคำหลวง อยากให้หยุดดูกันสักนิด สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ ยอดพระธาตุดอยคำ วัดดอยคำและยอดหอคำหลวง อยู่ในตำแหน่งที่ตรงกัน ถือได้ว่าเป็นการวางตำแหน่งด้านสถาปัตยกรรมได้อย่างเหมาะสมทำให้เกิดความโดดเด่นงามสง่า เพราะนี้คือสถานที่อันสำคัญสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีที่ประชาชนชาวไทยร่วมสร้างเพื่อน้อมถวายแด่พระองค์ ตลอดสองข้างทางมีซุ้มเฉลิมพระเกียรติ แสดงภาพพระราชกรณียกิจ
เดินขึ้นมาชมความงามอย่างใกล้ชิด หอคำหลวงจะพบกับ ปริศนาธรรม? สำหรับผู้ที่ได้มาเยือนอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ณ หอคำหลวง จะเห็นได้ว่าในแต่ล่ะมุมจะพบยักษ์ 2 ตน ที่มีทั้งนั่งหลับและตื่น ซึ่งแฝงไว้ด้วยปริศนาธรรม ว่าทำไมยักษ์หลับ? เป็นสิ่งให้ได้คิดว่า...เมื่อคนเราเหนื่อย ก็ต้องมีการพักผ่อนกันบ้าง แม้แต่ยักษ์ยังมีการหลับ เพื่อสลับสับเปลี่ยนการเฝ้าหอคำหลวง เป็นวงจรชีวิตง่าย ๆ ที่ทุกวันนี้เราอาจฝืนธรรมชาติ มุ่งทำงานเพื่อให้ได้มาจนลืมดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง เมื่อมีอาการป่วยย่อมสะท้อนให้เห็นว่าร่างกายกำลังบอกอะไรกับเรา.....ทั้งยักษ์หลับและยักษ์ตื่นเป็นผลงานการออกแบบของพระครูบามนตรี ธมเมธี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุสุโทนมงคลศรี ท่านเป็นหนึ่งด้านศิลปะของสกุลช้างสิบหมู่ล้านนา ทีมีแนวคิดหลักธรรมสอดแทรกบนสถาปัตยกรรมอันงดงาม

หอคำหลวง ยังมีรายละเอียดในเชิงช่างอีกมากที่สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนา คราวหน้าผู้เขียนจะพาเจาะลึกทุกแง่มุมการก่อสร้างภายในและภายนอก เรื่องราวดี ๆ อีกมากมายที่พร้อมจะอวดสายตาแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ หากใครได้มีโอกาสมาเยือน อุทยานหลวงราชพฤกษ์ เชียงใหม่ ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่าต้องไม่พลาดถ่ายรูปและเข้าชมหอคำหลวง ที่แวดล้อมไปด้วยดอกไม้นานาชนิดงามสะพรั่ง สร้างความงดงามวิจิตรตระการตา ผู้เขียนเชื่อว่า หอคำหลวง จะเป็นเอกลักษณ์อยู่คู่ นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ รอให้ผู้คนมาเยือนและสร้งความประทับใจมิรู้ลืม

พาเที่ยวไปกับ.....โชติกา วีรนะ

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ งานพืชสวนโลก เชียงใหม่ 2554 งามตระการตา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook