Thorsten Milse ช่างภาพสัตว์ป่า และธรรมชาติ

Thorsten Milse ช่างภาพสัตว์ป่า และธรรมชาติ

Thorsten Milse ช่างภาพสัตว์ป่า และธรรมชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Eyes of the jungle, India, 2007

ภาพที่น่าทรงจำนี้อันที่จริงถ่ายมาจากด้านหลังของช้าง โดยใช้เลนส์ 300 มม. f/2.8 บนกล้อง Canon EOS 1Ds Mark II "เจ้าเสือกำลังมองกวางอยู่" Milse ย้อนอดีตให้ฟัง

Thorsten Milse ช่างภาพสัตว์ป่าและธรรมชาติ

ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านของเขาในแอฟริกาหรือว่าแอนตาร์กติกา ช่างภาพธรรมชาติระดับหัวแถวท่านนี้จะมาแบ่งปันประสบการณ์และเคล็ดลับในเรื่องอุปกรณ์ของเขากับ Geoff Harris
บางครั้งในชีวิต คุณจำเป็นต้องเดินหน้าเพื่อสิ่งหนึ่งให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่คุณต้องครุ่นคิดเกี่ยวกับการเป็นมืออาชีพ ช่างภาพชาวเยอรมันชั้นแนวหน้าท่านนี้ Thorsten Milse ค้นพบสิ่งนี้ตอนที่เขาได้บอกเจ้านายของเขาที่บริษัทสำนักพิมพ์อย่างสุภาพว่า ‘ไม่สนใจงานนี้แล้ว' หลังจากที่คำขอของเขาเพื่อเป็นผู้ช่วยนั้นถูกปฏิเสธ และภายในเวลาเพียงปีเดียว Milse ได้เจริญก้าวหน้าในฐานะอาชีพช่างภาพ และยังได้ตีพิมพ์หนังสืออีกด้วย

Milse ได้ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เลิกงานประจำ และปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในช่างภาพสัตว์ป่าและทิวทัศน์ชาวเยอรมันที่ยอดเยี่ยมที่สุด Milse นั้นรู้สึกสบายๆ ในภูมิทัศน์ที่สุดโต่งและหลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่กว้างในแอนตาร์กติกา ไปจนถึงเนินทรายที่แห้งแล้งและร้อนระอุใน Skeleton Coast ที่นามิเบีย ในฐานะที่เป็นทูตของ Canon เขายังมีอะไรที่จะมาบอกกล่าวอีกมากเกี่ยวกับเทคโนโลยีของกล้องดิจิตอลด้วย...

โชคและการทำงานอย่างหนัก

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า Milse เป็นผู้ที่มีทักษะอย่างมาก แต่นอกจากนั้น เขายังโชคดีด้วย เขาได้รับการสอนในเรื่องการถ่ายภาพธรรมชาติและสัตว์ป่าอย่างดีที่สุด อาชีพของบิดาของเขาทำให้ครอบครัวต้องไปที่ต่างๆ รอบโลก และเมื่อตอนที่เขาอายุได้ 10 ขวบ เด็กชาย Milse ได้เดินทางไปแอฟริกา อเมริกาใต้ และสถานที่อันน่าตื่นเต้นอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว "ผมเป็นเด็กเพียงคนเดียวในชั้นที่เคยไปตามที่ต่างๆ เหล่านั้น และมันก็ทำให้ผมเปิดหูเปิดตาเป็นอย่างยิ่ง" เขาบอกเล่ามาจากสตูดิโอในเยอรมัน "พ่อของผมมีงานอดิเรกที่เอาจริงเอาจังด้านการถ่ายภาพ ดังนั้น ผมจึงเคยยืมกล้องและห้องมืดของพ่อใช้ด้วย ผมเริ่มต้นถ่ายรูปแบบจริงจังตอนที่อายุได้ 15 ปี และได้เริ่มท่องเที่ยวคนเดียวรอบๆ Greek islands, the Balearics, Gran Canaria และ Caribbean ด้วย" เมื่อเพื่อนของ Milse ได้ช่วยเขาขายภาพถ่ายของ Caribbean บางภาพให้แก่ห้องสมุดภาพ เขาก็ได้เริ่มตระหนักแล้วว่า เขาสามารถทำเงินได้จากกล้องถ่ายรูปของเขาเอง และในขณะเดียวกัน เขาก็ทำงานให้กับบริษัท Siemens ของเยอรมันเป็นช่างเทคนิคอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ซึ่งได้ใช้งาน Macs รุ่นแรกๆ รวมถึง Photoshop เวอร์ชั่นแรก อันถือเป็นประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์อย่างมากในภายหลัง

Penguins, Antarctica, 2007

"ผมถ่ายภาพนี้โดยการนอนราบลงบนน้ำแข็ง ใช้เลนส์ 16-35 มม. เจ้า Emperor penguin ตัวน้อยนี้สนใจใคร่รู้เอามากๆ และอยู่ห่างออกไปแค่ 30 ซม. เท่านั้นเอง ถ้าหากรอต่อไป พวกมันก็จะเข้ามาหาคุณ"

Parrot, South Australia, 2004

"เจ้านกแก้ว Rosella สีส้มตัวนี้ถูกถ่ายมาโดย Canon EOS-1D Mark II ภาพนี้ถ่ายมาอย่างง่ายดายเพราะว่าผมอยู่ที่บริเวณตั้งแคมป์ และนกพวกนี้ก็รู้ดีว่าพวกเราชาวแคมป์นี้ถือเป็นแหล่งอาหารชั้นดี!"

Interview...Thorsten Milse

Profile

Thorsten Milse เกิดเมื่อปี 1965 ใน Bielefeld เยอรมัน เขาเป็นช่างภาพสัตว์ป่าและธรรมชาติชั้นแนวหน้าผู้ซึ่งชำนาญในสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ นับตั้งแต่ 1990 เขาได้ถ่ายภาพทุกๆ อย่างตั้งแต่เสือชีต้า สิงโต และเสือดาว ในแอฟริกา ไปจนถึง emperor penguins ในแอนตาร์กติกา และวอลรัสรวมถึงหมีขั้วโลกในอาร์กติก

เขาชนะเลิศมาหลายรางวัล รวมถึง BBC Wildlife Photographer of the Year เขายังเป็นผู้ชนะเลิศจากการประกวด Nature's Best Photography อีกด้วย

คิดต่าง

เมื่อเขาลาออกจากงานประจำในปี 1998 Milseได้สร้างชื่อเสียงขึ้นมาในฐานะช่างภาพธรรมชาติสมัครเล่นเรียบร้อยแล้ว และยังได้เปิดเวิร์คช็อปสำหรับ Canon อีกด้วย ในขณะที่เขายอมรับว่าการเริ่มต้นเทิร์นโปรนั้นมันช่างน่ากลัวและหนักมาก แต่ในไม่ช้าทักษะของเขาก็ได้ทำให้งานไหลมาเทมาจากบรรดาหนังสือและนิตยสารต่างๆ Milse ได้ตระหนักในทันทีว่า ในฐานะที่เป็นช่างภาพสัตว์ป่า เขาจำเป็นต้องทำอะไรที่มันแตกต่างออกไปเพื่อที่จะได้เด่นออกมาจากกลุ่ม

"ผมเริ่มต้นที่จะมุ่งเน้นไปยังสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาสัตว์ตัวน้อยที่น่ารัก ซึ่งมักจะทำให้ผมได้งานอยู่เสมอๆ" เขากล่าวพร้อมหัวเราะ "ผมจำเป็นต้องสร้างสรรค์เพื่อจะได้เป็นที่รู้จักด้วยเช่นกัน ผมเกิดประทับใจในงานของ Art Wolfe ผู้ที่เป็นหนึ่งในช่างภาพคนแรกๆ ที่ได้ถ่ายภาพสัตว์และนกที่กำลังเคลื่อนที่ในรูปแบบใหม่และสร้างสรรค์ เช่นเดียวกันกับ Franz Lanting และผมก็ให้ความสนใจกับการทดลองสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอเช่นกัน"

การถ่ายภาพสัตว์ป่าถือเป็นประเภทหนึ่งของการถ่ายภาพที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ดังที่ใครก็ตามที่เคยได้ไปท่องซาฟารีที่แอฟริกาได้ประจักษ์มาแล้ว (ถือเป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งก่อนที่ช้างและสิงโตจะโผล่มาเป็นนายแบบนางแบบให้กับเรา...) แล้ว Milse ได้สร้างความแตกต่างให้กับภาพถ่ายของเขาออกจากภาพของช่างภาพทั้งมือโปรและมือสมัครเล่นที่ต่างก็ตามล่าสัตว์ป่าอันเป็นเป้าถ่ายภาพเดียวกันได้อย่างไรล่ะ?

"บางครั้ง มันก็มาถึงการเลือกว่าจะถ่ายภาพที่ไหน ยกตัวอย่างเช่น สิงโตและช้างเป็นต้น หลายๆ คนไปยังที่เดียวกันอย่าง Serengeti ผมตัดสินใจไปที่ Skeleton Coast ในนามิเบีย คุณไม่สามารถไปที่นั่นในฐานะนักท่องเที่ยวได้ เนื่องจากมันเป็นพื้นที่ทำเหมืองเพชร แต่ผมก็โชคดีชะมัดที่มีเพื่อนมีเส้นสายอยู่ในรัฐบาล สิ่งที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับ Skeleton Coast ก็คือ สถานที่ที่แตกต่างออกไป คุณสามารถถ่ายภาพช้างอยู่ท่ามกลางเนินทราย หรือว่าจะได้ภาพถ่ายทางอากาศอันน่าตื่นตาตื่นใจของอาณาจักรขนาดใหญ่ของแมวน้ำก็ได้"

ในขณะที่ Milse นั้นโชคดีพอที่สามารถเข้าไปยังดินแดนส่วนนี้ของนามิเบีย แต่โชคเหล่านี้ถือเป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้นของเรื่องราวแห่งความสำเร็จของเขา "ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งระหว่างสัตว์ที่อยู่ที่นี่กับที่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ของแอฟริกาก็คือ พวกมันไม่คุ้นเคยกับมนุษย์ พวกมันขี้อายมาก คุณจำต้องมีความอดทนขนาดหนักเพื่อที่จะได้ภาพมา ยกตัวอย่างเช่น ผมสังเกตเห็นช้างพลาย 2 ตัวอยู่ใกล้ๆ เนินทราย ผมใช้เวลาถึง 4 วันในการตามรอยมัน ตื่นนอนตอน ตี 5 เพื่อที่จะตามมันไป ท้ายที่สุด เจ้าช้างนี้ก็เคยชินกับรถของเรา และเราก็สามารถเข้าไปได้ใกล้ถึง 30-40 เมตร ซึ่งก็พอแล้วที่จะได้ภาพมา"

เข้าไปใกล้ ๆ

Milse ได้มีการใช้เลนส์เทเลโฟโต้ขนาดต่างๆ มากมาย แต่ก็ยังพยายามเข้าใกล้สัตว์ให้ใกล้ที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ สำหรับช้างก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่เขาเข้าไปใกล้ๆ เสืออย่างในภาพใหญ่หน้าแรกได้อย่างไร?

"ภาพเสือนี้ถูกถ่ายที่ Banhavgarh National Park ในอินเดีย และพวกมันก็ดูน่ารักดีเวลาที่รถจิ๊ปแล่นผ่านมันไปตราบใดที่คุณไม่ได้เข้าไปใกล้มันมากเกินไปนะ หรือคุณอาจจะสำรวจบริเวณเหล่านี้ได้โดยการเช่าช้างมานั่งเล่นก็ได้"

ช้างสามารถเดินไปยังที่ที่รถจิ๊ปไม่สามารถแล่นไปได้ แต่มันก็จำกัดคุณให้ถ่ายภาพจากด้านบนเท่านั้นด้วย เวลาที่ผมใช้เลนส์ 200 มม. ผมต้องมั่นใจว่าเจ้าช้างมันไม่ได้เดินเข้าไปใกล้เกินไปกับตัวแบบเพื่อที่จะ ชดเชยในเรื่องนี้ด้วย"

Ghost Crab, Namibia, 2007

"ปูนี้กำลังเดินไปยังมหาสมุทรแอตแลนติก ผมใช้เลนส์โฟกัสเดี่ยวขนาด 50 มม. เนื่องจากเลนส์มุมกว้างอาจจะมากเกินไป เลนส์โฟกัสเดี่ยวที่ไวแสงดูเหมือนจะเหมาะสำหรับสิ่งที่ผมอยากจะได้มากกว่า"

Chameleon, Namibia, 2001

ภาพถ่ายฟิล์มสุดคลาสสิกของ Milse ซึ่งแสดงถึงสไตล์อันแปลกแต่ดีของเขา "ผมชอบการที่สีเขียวของกิ้งก่าตัดกันกับฉากหลังที่ขาวโพลนของภาพ"

ในกระเป๋าของเขา

โดยหลักแล้ว Milse ใช้ Canon EOS-1Ds Mark III สำหรับเรื่องของเลนส์ เขาเอาเลนส์ระยะไกล 600 มม. Canon IS ไปด้วย "หน้ากล้องที่ f/4 คือสิ่งที่ผมต้องการเพื่อที่จะได้ฉากหลังเบลออันน่าประทับใจ และระบบป้องกันการสั่นไหวก็ยอดเยี่ยมด้วย ทำให้ผมสามารถถือเลนส์นี้ถ่ายภาพด้วยมือเปล่าได้" เขากล่าว "สำหรับโปรเจ็คต์ Antarctica ของผม ผมใช้เลนส์ f/2.8 300 มม. ส่วนสำหรับภาพภูมิทัศน์ ผมเลือกใช้เลนส์ 70-200 มม. "

 

Thorsten กล่าวถึงสัตว์ในนามิเบีย

"พวกมันไม่คุ้นเคยกับมนุษย์ คุณจำต้องมีความอดทนขนาดหนักเพื่อที่จะได้ภาพมา"


การควบคุมการสร้างสรรค์

เช่นเดียวกับ Steve Bloom ที่เราได้สัมภาษณ์ไปในฉบับที่ 83 (มีนาคม 2009) Milse ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องใช้ trap กล้องอินฟราเรดในการเก็บภาพเยี่ยมๆ ของสัตว์ป่าแต่อย่างใด "สำหรับผมแล้ว camera trap เป็นเรื่องของเทคนิค และผมก็อยากจะควบคุมความคิดสร้างสรรค์ของผมเองมากกว่าที่จะมาให้เทคโนโลยีอะไรบางอย่างมาถ่ายภาพแทน ผมอยากที่จะติดตามสัตว์ไป เคลื่อนที่ไปรอบๆ จัดแสงให้ถูกต้องเพื่อที่ทุกอย่างที่มาผสมผสานกันจะได้ออกมาอย่างที่ผมอยากได้"

อันที่จริง การทำให้ทุกอย่างเป็นธรรมชาตินั้นถือเป็นเอกลักษณ์ของงานของ Milse เลย "ในขณะที่ผมต้องมีอุปกรณ์สำรองต่างๆ เยอะหน่อย เพราะว่าผมต้องไปถ่ายภาพในสถานที่ไกลๆ บางแห่ง แต่ผมก็พยายามที่จะใช้แฟลชกับภาพสัตว์ป่าให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมไม่ชอบการที่แสงจากแฟลชมาปรากฏให้เห็นในตาของสัตว์หรือว่าที่ขนสัตว์ ภาพที่เป็นธรรมชาติโดยแท้นั้นมันสื่อถึงอารมณ์มากกว่า ยิ่งกว่านั้น ด้วยกล้อง SLR รุ่นใหม่ๆ ผมสามารถเพิ่ม ISO ได้ในสภาวะแสงที่ต่ำๆ ซึ่งมันก็เป็นประโยชน์อย่างมากยกตัวอย่างเช่น เวลาที่ถ่ายภาพสำหรับหนังสือ ซึ่งคุณสามารถถ่ายภาพออกมาให้มี Noise นิดหน่อยได้"

เทคโนโลยีที่สำคัญอย่างมากอีกอย่างหนึ่งสำหรับ Milse ก็คือ image stabilization เนื่องจากเขามักจะทำงานจากรถจิ๊ปหรือเรือที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ หรือมักจะถ่ายภาพท่ามกลางพายุที่หนาวเย็นของ arctic

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว Milse เป็นผู้ใช้ Photoshop ที่ช่ำชองมานาน "ผมถ่ายภาพใน RAW และมักจะใช้ทั้ง Photoshop หรือไม่ก็บางครั้งก็เป็นซอฟต์แวร์ Digital Photo Professional ของ Canon ผมจะใช้งานในเรื่องคอนทราสต์เพิ่มคุณภาพเรื่องสีสัน และบางทีก็เป็นเรื่องสมดุลของสีด้วย รวมถึงเช็คฮิสโตแกรม อย่างละเอียด การที่ผมจะทำการปรับความคมชัดมากเท่าไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าด้วย ผมจะทำการปรับความคมชัดในกรณีที่เป็นหนังสือ มากกว่าสำหรับเป็นเอเยนซี่ เพราะว่าสำนักพิมพ์นั้นมักจะทำกระบวนการต่างๆ ด้วยตัวเองน้อยกว่า"

Elephants, Botswana, 2001

ภาพนี้ถ่ายที่ Shuba National Park โดยใช้เลนส์ 500 มม. f/4 "ผมถ่ายภาพนี้จากเรือตอนช่วงอาทิตย์อัสดง ซึ่งถือเป็นช่วงที่เพอร์เฟ็คท์มาก ฉากหลังนั้นเป็นสีเดียวกับสีของช้างเลยจริงๆ และผืนน้ำนั้นก็ให้เฉดสีที่ดีด้วยเช่นกัน"

Thorsten กล่าวถึงแฟลชกับการถ่ายภาพสัตว์ป่า

"ผมไม่ชอบการที่แสงจากแฟลชมาปรากฏให้เห็นในตาของสัตว์หรือว่าที่ขนสัตว์ ภาพที่เป็นธรรมชาติโดยแท้นั้นมันสื่อถึงอารมณ์มากกว่า"

อาชีพของเขา

Milse ทราบดีถึงการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นจากเวบหรือว่าจากห้องสมุดภาพขนาดเล็ก แม้แต่ช่างภาพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างเขาเองก็ไม่เว้น "ทุกวันนี้ ผมไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการขายภาพให้กับห้องสมุดภาพเพียงอย่างเดียวหรอก และนั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงเขียนบทความให้กับนิตยสารด้วย อย่างเช่น National Geographic หรือว่า BBC Wildlife เป็นต้น นอกจากนั้น ผมยังเขียนหนังสือด้วย ซึ่งถือเป็นวิธีที่ดีมากในการทำการตลาดตัวคุณเอง และยังทำให้ชื่อของคุณเป็นที่รู้จักของผู้คนในวงกว้างมากขึ้นด้วย"
และในอนาคต Milse ยังได้แย้มถึงโปรเจ็คท์ ‘ลับ' ที่น่าตื่นเต้นอีกบางเรื่อง แต่ก็ยินดีที่จะพูดคุยเกี่ยวกับงานชิ้นล่าสุดของเขา นั่นคือ การทดสอบกล้อง Canon EOS-1D Mark IV ตัวใหม่ "ผมเดินทางไปบาหลีเพื่อถ่ายภาพฝูงลิง" เขากล่าว "กล้องตัวใหม่นี้มันยอดเยี่ยมจริงๆ ในเรื่องออโต้โฟกัสมันมีการพัฒนาอย่างมาก นอกจากนั้น AI Servo AF ก็เหมาะกับการถ่ายภาพสัตว์ป่าที่วิ่งเร็วๆ อีกด้วย รวมถึงออปชั่น ISO ก็สุดยอดเลย ผมสามารถดันไปถึง ISO 12800 ได้เลย เวลาที่ถ่ายภาพสำหรับหนังสือของผม"

เคล็ดลับของ Milse

* จงอดทน อดทน แล้วก็อดทน

* หลีกเลี่ยงสถานที่ชื่อดังในการถ่ายภาพสัตว์ป่า และมองหาสัตว์ประเภทที่แตกต่างออกไป เช่น อย่าเลือกเพียงแค่สิงโต Savannah เท่านั้น

* ศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ป่าที่คุณต้องการถ่ายภาพ ไม่ว่าจะศึกษาโดยการออนไลน์หรือว่าพูดคุยกับนักธรรมชาติวิทยาก็ตาม คุณสามารถเข้าไปใกล้มันได้แค่ไหน? พวกมันขี้อายหรือไม่?

* ก่อนจะถ่ายภาพ ขยับไปทางซ้าย ทางขวา ขึ้นบน ลงล่าง เพื่อที่จะได้มุมมองที่ดีที่สุด พยายามให้ได้ฉากหลังที่สะอาดตาและไม่แออัด

เบื้องหลังภาพถ่าย Indian Tiger


- จุดโฟกัส

"ภาพนี้ถ่ายที่ Bandhavgarh National Park เจ้าเสือมันเดินเร็วมาก และเมื่อคุณตั้งใจจะถ่ายภาพในแบบ Motion blur อย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องทำให้ส่วนหัวของมันคมชัด เราตั้งจุด AF อย่างระมัดระวังไว้ที่ส่วนหัวของเสือ"

- Motion Blur

"เวลาที่ถ่ายภาพสัตว์ ผมมักจะหลีกเลี่ยงการใช้แฟลชถ้าหากโอกาสอำนวย ดังนั้น สำหรับภาพนี้ ผมจึงเพิ่ม ISO ให้เป็น 320 เพื่อมั่นใจว่าจะได้ ภาพเบลอจากการเคลื่อนไหว ที่ดี ผมได้ใช้หน้ากล้องที่ f/10 ซึ่งให้ความเร็วชัตเตอร์ช้าที่ 1/13 วินาที"

- ฉากหลัง

"การผสมผสานกันของหน้ากล้องและความเร็วชัตเตอร์ที่ถูกต้อง ผสานกับการเบลอจากการเครื่อนไหว ได้ดึงฉากหลังที่วุ่นวายให้ออกไปเสียจากโฟกัส ผมยังได้เลือก AI Servo AF ซึ่งอยู่ใน 1D Mark II ของผมในการช่วยตามเจ้าเสือนี้ด้วย"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook