สวนสัตว์ดุสิต

สวนสัตว์ดุสิต

สวนสัตว์ดุสิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื่อได้เลยว่า ในวันเด็กแห่งชาติ 2554 นี้ พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนที่กำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวอันแสนสุขใจ ที่จะพาเจ้าหนูตัวน้อยออกไปเที่ยวเล่น พร้อมร่วมกิจกรรมต่างๆ มากมาย และสถานที่หนึ่งที่ไม่เคยหลุดโผเลยก็คือ สวนสัตว์ ดังนั้น วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับประวัติความเป็นมาของ สวนสัตว์ดุสิต หรือ เขาดินวนา แหล่งรวมสัตว์นานาชนิดใจกลางเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครกัน...^^

ประวัติความเป็นมาของ...สวนสัตว์ดุสิต

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปในปี พ.ศ.2440 ได้ทอดพระเนตรกิจการสวนสัตว์ของต่างประเทศว่าเป็นสถานที่ให้ความเพลิดเพลิน และให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์อย่างดี ดังนั้นหลังจากเสด็จนิวัติประเทศไทยจึงมีพระราชดำริ ให้จัดสร้างขึ้นในประเทศไทยบ้าง โดยในขั้นต้นโปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระใหญ่ในบริเวณเขตพระราชฐาน พระราชอุทยานสวนดุสิต ประกอบด้วยคูคลองระบายน้ำและถนน แล้วนำดินขึ้นมาก่อเป็นเนินเขา เกาะกลางน้ำ เรียกว่า เขาดิน ปลูกพรรณไม้นานาชนิดให้มีสภาพป่าแบบธรรมชาติ สร้างขึ้นเป็นสวนพฤกษชาติ และเลี้ยงสัตว์จำนวนไม่มากนัก สำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนส่วนพระองค์ และข้าราชบริพารฝ่ายใน เรียกว่า วนา รวมอาณาเขตส่วนนี้ทรงโปรดเรียกว่า เขาดินวนา


รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้เจ้าชายวัลดิมาร์แห่งเดนมาร์ก ทรงปลูกต้นสักไว้เป็นที่ระลึก เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2443
ปัจจุบันยังคงยืนต้นสวยงามอยู่ภายในสวนสัตว์ดุสิต


ศาลาทรงไทยโดดเด่นกลางสระน้ำของสวนสัตว์ดุสิต
เคยเป็นที่ประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถของรัชกาลที่ 5

ต่อมาในปี พ.ศ.2451 - 2452 พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสหมู่เกาะชวา ก็ได้ทรงนำกวางดาวฝูงหนึ่งจากชวามาเลี้ยงไว้ในสวนกวาง ซึ่งปัจจุบันนี้คือบริเวณ สวนอัมพร ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริที่จะทำนุบำรุงสวนสัตว์แห่งนี้ให้กว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่และเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม และได้สร้างเรือนกระจกเพิ่มเติม ซึ่งยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้

อาคารเรือนกระจก สถาปัตยกรรมชิ้นเอก สร้างในสมัยรัชกาลที่ 7
ได้รับพระราชทานรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี พ.ศ.2545
และยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์ จากกรมศิลปากรด้วย

หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ.2475 คณะรัฐบาลสมัยนั้นซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นแล้วว่าในเขตนครหลวงมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชนน้อย ไม่เพียงพอต่อประชาชนที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพื้นที่บริเวณเขาดินวนาให้เทศบาลนครกรุงเทพ ดำเนินการจัดทำเป็นสวนสัตว์และที่พักผ่อนของประชาชน ในปี พ.ศ.2481 ซึ่งเวลานั้น พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้พระราชทานอนุมัติในนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ให้เทศบาลนครกรุงเทพ รับพระราชทานบริเวณ สวนสัตว์ดุสิต หรือ เขาดินวนา สนามเสือป่า และสวนอัมพร มาจัดเป็นสวนสัตว์ และสวนสาธารณะ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2481 ซึ่งเทศบาลนครกรุงเทพ ได้ย้ายกวางดาวจากสวนอัมพรที่เหลืออยู่ประมาณ 11 - 12 ตัว กับสัตว์อื่น ๆ อีก 2-3 ชนิด ไปเลี้ยงไว้ตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของสวนดุสิต และให้เรียกสวนดุสิตนี้ว่า สวนสัตว์ดุสิต มี พระสวัสดิ์ วิธีสอน เป็นผู้อำนวยการ ขึ้นตรงต่อเทศบาลนครกรุงเทพ ตั้งแต่นั้นมาสวนสัตว์ดุสิต ก็เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ประชาชนนิยมอีกแห่งหนึ่ง

หลุมหลบภัยสาธารณะสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จุได้ 60 คน มีมาตั้งแต่ปี 2484
และปี 2545 ได้มีการบูรณะ พร้อมจัดทรรศการ ภาพถ่ายเหตุการณ์ อาวุธจำลอง ประวัติสงครามโลกให้ศึกษาด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมกรุงเทพฯ สวนสัตว์ดุสิตได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะสัตว์ หนีกระจัดกระจายไปเกือบหมด ที่เหลืออยู่เพียงส่วนน้อยก็ขายไปบ้าง และกิจการสวนสัตว์ได้หยุดชะงักไประยะหนึ่ง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 รัฐบาลได้มอบหมายให้คณะกรรมการชุดหนึ่ง ดำเนินการบูรณะสวนสัตว์ดุสิต ขึ้นใหม่แต่การดำเนินการก็ล่าช้าเพราะไม่มีเงินมากพอที่จะปรับปรุงให้ดีมากนัก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2493 กระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาเห็นว่าถ้าปล่อยสวนสัตว์ทิ้งไว้ ก็จะมีแต่ชำรุดทรุดโทรมลงไปอีก สมควรหาทางปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะที่ทันสมัย เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ผู้ทรงริเริ่ม กระทรวงมหาดไทยจึงเสนอรัฐบาล ขอรับไปดำเนินการ ซึ่งรัฐบาลก็ให้ความเห็นชอบ โดยจัดสรรงบประมาณสนับสนุนเป็นคราวๆ ไป

คณะกรรมการที่ปรับปรุงใหม่นั้น ได้พิจารณาเห็นว่าเทศบาลนครกรุงเทพ ได้รับงบประมาณน้อยไม่เพียงพอที่จะแบ่งงบประมาณไปปรับปรุงสวนสัตว์ดุสิต ให้เจริญยิ่งขึ้นได้ ประกอบกับทางเทศบาลก็มีภาระหน้าที่มากอยู่แล้ว ไม่สามารถจะทุ่มเทกำลังงานทางด้านสวนสัตว์ได้ทั้งหมด และเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว จึงได้เสนอรัฐบาลขอจัดตั้งเป็นองค์การ ในที่สุดได้จัดตั้งเป็นองค์การสวนสัตว์ ตามพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งองค์การสวนสัตว์ ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2497 ให้เรียกชื่อว่า องค์การสวนสัตว์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดดำเนินการส่งเสริมและรวบรวมสัตว์นานาชนิดไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและอำนวยบริการแก่ประชาชน ส่งเสริมและจัดให้มีการบำรุง และผสมพันธุ์ตลอดจนจัดดำเนินการเกี่ยวกับสถานที่เลี้ยงสัตว์ขององค์การฯ และจัดบริการสาธารณะเพื่อให้เป็นที่พักผ่อนของประชาชนโดยแท้จริง

พ.ศ. 2494 พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ซึ่งในสมัยนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ขออนุมัติคณะรัฐมนตรี จัดตั้งกรรมการดำเนินการส่งเสริมสวนสัตว์ดุสิตให้เจริญยิ่งขึ้น โดยเริ่มเก็บค่าเข้าชมสวนสัตว์เพื่อใช้เงินนั้นจัดหาสัตว์เพิ่มเติม เป็นค่าอาหารสัตว์ และขอเงินจากรัฐบาลมาช่วยบำรุงด้วย กิจการเริ่มเจริญขึ้น มีประชาชนสนใจเข้าชมอย่างเนืองแน่นทุกสัปดาห์

ดังนั้น สวนสัตว์ดุสิต จึงได้ยกฐานะและขึ้นตรงต่อ องค์การสวนสัตว์ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2497 เป็นต้นมา สวนสัตว์ดุสิต จึงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ของครอบครัว และเป็นพื้นที่สีเขียวกลางเมืองสำหรับผู้อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร นับเป็นสวนสาธารณะกลางใจเมืองกรุงเทพมหานครเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่รวบรวมสัตว์ป่านานาชนิดไว้ให้ประชาชนชม และมีสถานที่ร่มรื่นเขียวชอุ่มด้วยแมกไม้นานาพันธุ์เปรียบเสมือนป่ากลางใจเมือง

สวนสัตว์ดุสิต ตั้งอยู่ที่ ถนนพระราม 5 แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 - 18.00 น. โดยเก็บค่าธรรมเนียม ค่าเข้าชม เป็นราคาดังนนี้ เด็ก 5 บาท นักเรียนเป็นหมู่คณะ 1 บาท ผู้ใหญ่ 30 บาท รถจักรยานยนต์ 10บาท/คัน รถยนต์ 30บาท/คัน รถบัส 40 บาท/คัน

สำหรับโอกาสพิเศษ เนื่องในวันเด็ก 2554 นี้ สวนสัตว์ดุสิต เปิดให้เด็กๆ เข้าชมสวนสัตว์ฟรี ตลอดเดือนมกราคม 2554อีกด้วย...ว้าววว!!!

ใครที่สนใจสามารถโทรไปสอบถามได้ที่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและประชาสัมพันธ์ โทร.02-281-2000 หรือที่ www.dusitzoo.org

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สวนสัตว์ดุสิต
ภาพประกอบจาก สวนสัตว์ดุสิต, กทม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook