ปากแพรก นิยามของบ้านและผู้คน บนถนนสายสั้น

ปากแพรก นิยามของบ้านและผู้คน บนถนนสายสั้น

ปากแพรก นิยามของบ้านและผู้คน บนถนนสายสั้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ย่านเก่าแห่งนี้ก่อเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำบลริมน้ำแควใหญ่อย่างปากแพรก กลายเป็นเมืองกาญจนบุรีใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2374 ป้อมปราการ กำแพงเมืองต่างๆ คือสิ่งตกทอดสู่คนรุ่นหลัง และที่สำคัญ การลงหลักปักฐานของผู้คนรายรอบล้วนก่อให้เกิด "เมือง" ขึ้นมาตามกาลเวลา

ผู้คนในย่านปากแพรกปะปนอยู่ทั้งคนญวนซึ่งโยกย้ายมาจากการอพยพเทครัวด้วยอิทธิพลของสงครามในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมไปถึงคนจีนที่มีส่วนทำให้ปากแพรกมากไปด้วยบรรยากาศแห่งการซื้อขาย ก่อเกิดความเป็นย่านตลาดอันสำคัญที่สุดของกาญจนบุรีเรื่อยมา ณ ริมฝั่งน้ำแควใหญ่ หลายอย่างปรับเปลี่ยนปะปน หากสิ่งที่ไม่เคยจางคลายล้วนถ่ายทอดอยู่ในชีวิตของพวกเขา

ในเรื่องเล่าแห่งวันคืน ในตึกเก่าคร่ำที่เรียกว่า "บ้าน" ทุกเช้าผมมักพบตัวเองอยู่แถวต้นถนนปากแพรก ในห้องแถวปูนสีเหลืองสด 3 คูหาที่บ้านสิทธิสังข์ ใครเลยจะพลาดบรรยากาศเช่นนี้ไปได้ ตึกเก่างดงามหลังนี้สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.2463 สมัยรัชกาลที่ 5 โค้งอาร์กที่ชั้นบนนั้นดึงสายตาให้ออกมายืนมองที่ฝั่งตรงข้าม มองไล่ตั้งแต่บานเฟี้ยม เห็นชัดไปถึงช่องลมเหนือกรอบประตูที่งามด้วยงานฉลุไม้เป็นลายเครือเถา รวมไปถึงภาพปูนปั้นลายก้านขดเพลินตา

ฝั่งตรงข้ามกันคือภาพปัจจุบันของโรงแรมสุมิตราคาร โรงแรมแห่งแรกของกาญจนบุรี ที่ทุกวันนี้ทั้ง 5 คูหาของห้องแถวไม้กลายเป็นร้านขายอาหารสัตว์ รวมไปถึงแยกห้องปล่อยเช่า ว่ากันว่าในอดีตสมัยที่ทางน้ำยังคึกคัก ที่นี่เป็นจุดรวมของคนมาติดต่อราชการ รวมไปถึงพ่อค้าไม้ที่ล่องลงมาจากแถบทองผาภูมิและสังขละบุรี

เราเดินเลาะเรื่อยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของถนนปากแพรก รอบด้านคือความหอมหวานของวันวานจากตึกแถวหน้าตาโบราณที่ขนาบข้าง ในห้องแถวปิดเงียบหลายหลังร้างรากิจการเดิมๆ ไป หากแต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีคนอยู่ พวกเขาผ่านพ้นช่วงการค้าอันเฟื่องฟูของตน และนั่งมองความเป็นไปรวมถึงการเติบโตของคนรุ่นลูกหลานอยู่อย่างเงียบๆ

"ตลาดมาเติบโตสุดก็ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นละ" และเมื่อมาถึงบ้านบุญผ่อง แอนด์ บราเดอร์ คนในบ้านอย่างคุณป้าลำไย สิริเวชชะ-พันธ์ ก็ทำให้ผมรู้ว่าที่ปากแพรกและไล่เลยไปถึงขุนเขารายรอบของเมืองกาญจน์ ล้วนผ่านห้วงเวลานั้นมาอย่างนาจดจำ

เราคุยกันถึงคนที่มีชื่ออยู่ที่ป้ายหน้าตึกแถว 3 ชั้นหลังแรกๆ ของปากแพรก บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ตึกกึ่งปูนกึ่งไม้อันงามโอ่อ่าหลังนี้มีส่วนเสี้ยวของสงครามโลกครั้งที่ 2 อบอวลอยู่ส่วนของมิตรภาพ น้ำใจ และความอาทรต่อกันของเพื่อนมนุษย์

"ช่วงสงครามโลก พ.ศ.2485 ญี่ปุ่นเข้ายึดเมืองกาญจน์เพื่อสร้างทางรถไฟเชื่อมไปพม่า ตอนนั้นบ้านเราเต็มไปด้วยทหารญี่ปุ่นที่เข้ามากำหนดในเรื่องการค้า" ช่วงนั้นป้าลำไยซึ่งป็นน้องสะใภ้ของบุญผ่องเพิ่งมารับราชการครูได้ไม่นาน เรื่องราวต่างๆ ล้วนมาจากคำบอกเล่าในเวลาต่อมาปากแพรกในยามนั้นคือแหล่งสินค้าที่ "ใกล้" ที่สุดของค่ายทหาร ร้านค้ากลางตลาดหลายแห่งถูกผูกขาดการค้าขายกับญี่ปุ่น รวมถึงตึก 3 ชั้นของนายบุญผ่องหลังนี้ "เขาส่งหัวหน้าค่ายเชลยมารับสินค้า เขาสั่งอะไรมาเราก็รับ และมาแบ่งการจัดหาให้ ส่งไปถึงค่ายทั้งทางรถ ทางเรือ" โมงยามนั้นไม่มีใครรู้ว่าสงครามและภาวะ "กดดัน" เช่นนั้นจะยืดเยื้อยาวนานสักเท่าไร

"คนเรามันมีหัวใจน่ะ" ป้าลำไยพูดลอยๆ เมื่อมองรูปพี่เขยที่หน้าบ้านใน พ.ศ.นั้นไม่มีใครรู้ว่าชายที่ชื่อบุญผ่อง ทายาทของร้านสิริโอสถ จะกลายเป็น "วีบุรุษสงครามของทางรถไฟสายมรณะ (A War Hero Named Boonpong of Deathrailway)" ในเวลาต่อมา "พี่เขาเห็นใจเชลยสงครามที่ต้องทุกข์ทรมานในค่าย ทั้งความอดอยาก ไข้ป่า รวมถึงความโหดร้ายของทหารญี่ปุ่น"


การช่วยเหลือเชลยศึกทั้งชาวออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ ที่ถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟเป็นไปอย่างเงียบเชียบภายใต้ภาพคลุมของการค้าขายกับค่ายทหาร หยูกยาถูกซุกซ่อนในเข่งผัก ยาสีฟัน เครื่องนุ่งห่ม เงินทองที่ให้หยิบยืมโดยไม่รู้ถึงโอกาสที่จะ "ได้คืน" มากไปกว่านั้นคือการส่ง "จดหมายลับ" ต่างๆ ที่ติดต่อกับองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือในกรุงเทพฯ อย่างองค์การลับวี (V. Men Club) ไปสู่เชลยศึก เหล่านี้คือความเสี่ยงภัยที่คนคนหนึ่งยินดีแลกเพื่อเห็นกับคำว่าเพื่อนมนุษย์ แม้ในวันที่สงครามสิ้นสุด หลายคนก็ยังทึ่งกับการบอกพิกัดการทิ้งระเบิดทำลายสะพานข้ามแม่น้ำแควอันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญได้อย่างแม่นยำของฝ่ายสัมพันธมิตร "สะพานมันอยู่ในป่าในดงน่ะ ใครจะไปเห็นได้ชัด ตอนนั้นเชื่อได้ว่าพี่บุญผ่องต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระเบิดลงถูกจุด" หลังความโหดร้ายผ่านพ้น ในปากแพรกตกทอดอยู่ด้วยเรื่องเล่าแห่งสงครามตามความทรงจำของคนที่ร่วมผ่านมันมา บุญผ่องย้ายไปปักหลักที่กรุงเทพฯ ทำธุรกิจรถเมล์โดยสารก็จากรถร่วม 200 คันของกองทัพญี่ปุ่นที่เหลือจากศึกสงครามซึ่งทางฝ่ายสัมพันธมิตรมอบให้เป็นการตอบแทนยังไม่รวมถึงความซาบซึ้งในน้ำใจต่อคนเล็กๆ คนหนึ่งในถนนปากแพรก ที่ย้อนกลับมาเป็นเงินทองที่ได้รับการชดใช้ การได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือยศพันโทจากกองทัพอังกฤษและเนเธอร์แลนด์

ผมนั่งอยู่ตรงหน้าบ้านบุญผ่อง แอนด์ บราเดอร์ กับพี่น้องและลูกหลานเครือญาติของบุญผ่อง ด้านหน้าจัดแสดงเรื่องราวของความช่วยเหลือระหว่างคนไทยกับเชลยศึกในห้วงสงครามในตึกแถวโบราณแสนสวยโอ่อ่าที่ชั้นบนมีช่องลมใส่กระจกทึบสีสวยนั้น มากอยู่ด้วยเรื่องราวของคืนวันและทำให้เห็นว่า คนเรานั้นมีขนาดของหัวใจที่ยิ่งใหญ่เพียงไร

ถนนปากแพรกไม่กว้างนัก หากเป็นช่วงเวลากลางวันที่ร้านรวงต่างๆ เปิดค้าขายจะเรียกว่าแคบเลยก็ไม่ผิด จากฝั่งตรงข้ามบ้านบุญผ่องฯ ที่เป็นร้านบุญเยี่ยมเจียระไน (คุ้มจันทร์ศิริ) อันสวยงามโดดเด่นด้วยช่องโค้งตั้งรับเสาที่ระเบียงชั้นบน เราเดินผ่านความเก่าแก่กว่า 177 ปีของถนนเส้นนี้ไปอย่างมีชีวิตชีวา

"บ้านตึกแต่ก่อนนั้นสร้างดี ใช้ของดี มันเลยทนนาน" ในแสงสลัวของร้านชวนพานิช ผมเดินผ่านเข้าไปนั่งคุยกับลุงสุรพล ตันติวานิช ในวันที่เลขหลัก 5 มาเยือนชีวิต และตึกแถว 3 ห้องแห่งนี้ดูแลเพาะบ่มตระกูลของเขามากว่า 5 รุ่น

"เดี๋ยวนี้ไม่ได้ขายของเหมือนรุ่นก๋งรุ่นเตี่ยแล้ว มันค่อยๆ จางไป" เป็นคำพูดที่คล้ายๆ กันของคนที่อยู่ในห้องแถวย่านตลาดของปากแพรก อาจคล้ายการค้าโบราณได้ซบเซา แต่จริงๆ แล้วคือคนรุ่นบรรพบุรุษล้วนผ่านการสร้างตัวและมั่งคั่งจนลูกหลานในปัจจุบันนั้นสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ลำบากอะไรนักเข้ามานั่งอยู่ในร้านชวนพานิช ลุงสุรพลชี้ชวนให้ดูตู้สินค้าไม้สักใหญ่โตที่ติดอยู่กับผนัง เขาว่ามันไม่เคยมีปัญหาให้ต้องซ่อมแต่อย่างไร "ไม้พวกนี้ก็เหมือนกับที่ก๋งใช้สร้างบ้าน มาจากป่าเขาที่ทองผาภููมิโน่น"

นอกเหนือไปจากไม้ ปูนพอร์ตแลนด์ที่ต้องสั่งมาจากเมืองนอกก็เป็นที่นิยมในสมัยนั้น "บ้านใช้ปูนหล่อทั้งหลัง ใช้ใบเหล็กเสียบเป็นบล็อกแล้วหล่อปูนลงมาเลย ผนังหนามาก ไม่เย็นก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว" ตอนนั้นบ้านใหญ่โตทั้งหลังอย่างนี้ คนรุ่นก่อนใช้เงินสร้างไปถึง 9,000 บาท "เป็นเดี๋ยวนี้ก็หลายอยู่นะ"

เราคุยกันเรื่องบ้านของลุงอยู่อีกนาน หลายส่วนนั้นมีคำบอกเล่าอธิบายอย่างน่าทึ่ง ช่องตรงกลางบ้านที่เรียกว่า "แจ๊" นั้นไม่เพียงเอาให้ลมระบาย แต่ยังมีใว้ขนถ่ายสินค้าขึ้นไปเก็บ "แต่ก่อนมีรอกโยงจากหลังคาเลย บ้านตึกมันขนข้าวของขึ้นลงลำบาก คนขนสินค้าลงเรือ เดินแป๊บเดียวก็ขึ้นมาหน้าบ้านเลย"


ลุงว่าแต่ก่อนแม่น้ำไม่ได้ไหลห่างบ้านและต่ำลงไปแบบนี้ "ก่อนหน้านี้มีคลองนอก คลองใน สันดอนมันกว้าง หน้าน้ำมาทีก็รวมเป็นสายเดียว สมัยนายกเทศมนตรีนิทัศน์ ถนอมทรัพย์นั่นละ ที่ถมตลิ่งให้มันกว้างออกไป บ้านเรือนขยายตัวไปอีกกว้าง แม่น้ำเลยไปอยู่ข้างล่างเขื่อนโน่น"

คุยกันบางทีที่ลุงสุรพลก็ว่า "ที่นี่มันเกิดมาแบบเครือญาติ ไม่ใช่ตัวใครตัวมัน" หากการก่อเกิดของย่านสักแห่งมีที่มาเช่นนี้ คงไม่แปลกที่ใครสักคนอาจไม่เลือกจากไปไหนแม้ในบั้นปลายชีวิตเลาะผ่านความคึกคักที่สุดของปากแพรกตรงจุดที่ถนนจากตลาดตัดมาเป็นสี่แยกเล็กๆ แยกซ้ายไปลงแม่น้ำ ส่วนแยกขวานั้นเป็นวันเวย์ มองเห็นกลุ่มตึกแถวในยุคหลังที่สร้างโดยตระกูลตันติวานิชเหยียดยาว ภายในล้วนสะท้อนความเป็นย่านตลาดใหญ่ ร้านแหวนพลอยเก่าแก่อย่างร้านอาภรณ์ผ่านพ้นคืนวันมาคู่กันกับคุณลุงคุณป้าที่ส่งยิ้มให้ผมทุกวัน เราเดินมาหยุดอยู่หน้าโรงแรมกาญจนบุรีที่คร่ำเก่าทรุดโทรม แต่ตึก 3 ชั้นที่สร้างด้วยปูนพอร์ตแลนด์ทั้งหลังก็ยังขรึมขลังราวฉากหนังพีเรียดสักเรื่อง ว่ากันว่านี่คือโรงแรมที่เคยทันสมัยที่สุดในเมืองกาญจน์ ห้องพักทั้ง 14 ห้องนั้นเต็มแน่นอยู่เกือบตลอดปี

"50 กว่าปีแล้วที่ฉันเห็นมาโรงแรมนี้มา" คุณป้าวิไล นัยวินิจ ชวนผมเข้าไปนั่งที่บ้านฮั้วฮงที่ฝั่งตรงข้ามโรงแรม บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้นของคุณป้าสวยเนี้ยบ ไม่เคยห่างหายการดูแล เชิงชายที่หล่อเป็นปูนประดับนั้นน่ามองพอๆ กับบานประตูสีสวยเหยียดยาว 3 ห้องที่ชั้นสอง บนดาดฟ้ามีลวดลายและตัวอักษรจีนเขียนไว้ว่า "ตั้งฮั้วเฮง" อันหมายถึงผู้สร้างที่เป็นคนรุ่นปู่ทวด

"แต่ก่อนหน้าบ้านคึกคัก ใครมาเมืองกาญจน์ก็มาพักที่นี่" โรงแรมที่เรียกว่า "ทันสมัย" ที่สุดเมื่อ 50 กว่าปีก่อนนั้น เป็นที่รวมของข้าราชการ พ่อค้าไม้ รวมถึงชนกลุ่มน้อยที่ลงมาซื้อหาสินค้ากลับไปสู่บ้านป่าเมืองไม้แถบทองผาภูมิ "แต่ก่อนคืนละ 2 บาท 4 บาท นี่นานโขแล้วนะ" ยังมีภัตตาคารนำกรุงที่ชั้นล่างอีก ที่ป้าบอกกับผมว่า ใครแต่งงานที่นี่ก็ถือว่าโก้ที่สุด "อาหารเหลาอย่างดี เสียงเฮฮาดังตลอดค่ำคืนเชียวล่ะหลาน"

ถัดจากบ้านฮั้วฮงมาไม่ไกล ติดกันกับศิวภา ชุดห้องแถวสีแดงหม่นที่เก็บความสวยไว้ที่การก่ออิฐตามผนังและป้านร้านแสนคล้าสสิก ตรงข้ามกับก๋วยเตี๋ยวหมูเจ้าอร่อยของปากแพรกคือบ้านแต้มทอง ที่มีอายุราว 100 ปี สร้างมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อนช่างภาพหลงใหลและให้ความสำคัญกับซุ้มประตูแบบจีนตรงหน้าบ้าน เขาว่าเหมือนฉากในหนังภาพยนตร์กำลังภายในสักเรื่อง ว่ากันว่าเจ้าของเดิมคือนายฮะฮ้อและนางแฉ่ง แต้มทอง สร้างบ้านตึกหลังแรกนี้ด้วยการพาช่างชาวจีนโพ้นทะเลข้ามมาสร้าง และปักหลักเปิดบ้านหลังนี้เป็นร้านค้าในชื่อ ยี่กงชี

ความเป็นย่านตลาดของปากแพรกลดการบีบอัดเมื่อเราเดินผ่านมาถึงกลุ่มบ้านโบราณที่เป็นหลัง แม่น้ำโยนลมบ่ายขึ้นมาคลายร้อนหลังจากฟ้าอัดอ้าวเมฆฝนมานาน บ้านสุธีสวยเหงาอยู่ในรูปแบบบ้านทรงปั้นหยา มองผ่านซุ้มประตูขึ้นไปเห็นลายปูนปั้นเครือเถาตรงมุขหน้าจั่วแทรกคำว่า "ธนโสภณ" ไว้ตรงกลาง อันเป็นชื่อสกุลของนายโหงวฮก ธนโสภณ ผู้สร้างบ้านก่ออิฐถือปูนแสนโอ่อ่าหลังนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ถัดไปไม่ไกลบนฝั่งเดียวกันคือบ้านนิวาสแสนสุข บ้านไม้ทรงปั้นหยาที่เติบโตมาเคียงคู่กับบ้านสุธีในรั้วรอบขอบชิด สภาพสมบูรณ์ที่ได้รับการดูแลอย่างดีกลางความร่มรื่นนั้นบ่งบอกว่า ผู้ที่ต่อยอดดูแลล้วนให้ความใส่ใจกับบ้านอายุ 50 ปีหลังนี้เพียงใด

ถนนปากแพรกลากผ่านไปสิ้นสุดที่วัดเทวสังฆาราม หรือวัดเหนือ ห้องแถวแถบปลายๆ ถนนนั้นปะปนกันไปทั้งเก่าคร่ำและที่ได้รับการดูแลเปลี่ยนผ่านมาถึงปฏิทินฉบับปัจจุบัน บางหลังเคยเป็นบ้านเช่าของนายทหารญี่ปุ่นที่ภายหลังขุดพบอุโมงค์ลับที่ขุดจากในตัวบ้านออกไปจนถึงแม่น้ำแควขณะที่ตรงปลายถนนห้องแถวเล็กๆ ชั้นเดียวอย่างบ้านชิ้นปิ่นเกลียวก็สะท้อนรูปแบบของเรือนแถวเชิงช่างเวียดนามโบราณและการปักหลักของคนญวนในปากแพรกไว้ตามโค้งประตู กระเบื้องดิน บานเฟี้ยม ที่มีอายุถึง 134 ปี ทุกส่วนโทรมทรุดซีดจาง ราวกับเป็นสิ่งสะท้อนความเป็นจริงและสัจธรรมของสิ่งที่เรียกว่ากาลเวลา

ผมใช้เวลาอีกสองสามวันบนถนนปากแพรก แวะไปตามห้องแถวและบ้านเรือนอีกหลายแห่ง ที่เก่าแก่และมากไปด้วยคุณค่าทางสถาปัตยกรรมอย่างที่หลายคนให้คำจำกัดความ บางแห่งเปลี่ยนแปลงหน้าตาสินค้า บางหลังต่อยอดกิจการสู่รุ่นลูกหลาน และก็มีไม่น้อยที่ปิดเงียบ เหลือเพียงชีวิตผ่อนคลายด้านใน

ต่อหน้าแม่น้ำหนึ่งสายที่ไหลเอื่อยอยู่เบื้องล่างอย่างไม่เคยเหือดแห้ง ถนนสายหนึ่งเป็นตัวของตัวเองอย่างถึงที่สุดมา 177 ปี ใช่เพียงอาคารบ้านเรือนและส่วนประดับอันตกสะท้อนถึงคืนวันยาวนานอย่างถึงที่สุด ข้างในนั้นอาจซ่อนอยู่ด้วยแววตาบางประเภท แววตาที่เต็มไปด้วยความห่วงหาอาทร และพร้อมจะมองเข้าในในชีวิตที่ผ่านพ้นอย่างปีติสุข ไม่ว่าเรื่องราวนั้นจะดำเนินไปหรือจบลงเช่นไรก็ตาม

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ปากแพรก นิยามของบ้านและผู้คน บนถนนสายสั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook