ตะลุยป่าภูเวียง...ตามรอยเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์

ตะลุยป่าภูเวียง...ตามรอยเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์

ตะลุยป่าภูเวียง...ตามรอยเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Jurassic Park ตอนนี้พวกเราก็รู้สึกเหมือนเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังเดินทางไปเยี่ยมชมจูราสสิกปาร์กบนเกาะอิสลานูบลาร์อันไกลโพ้นในเขตคอสตาริกาอย่างไรอย่างนั้น

จากตัว อ. ภูเวียง จ. ขอนแก่น ขับรถตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 2083 ราว 19 กม. ก็เริ่มเข้าสู่เขตอุทยานแห่งชาติภูเวียง ถนนสายนี้เหมือนไทม์แมชชีนที่พาเราย้อนเวลาสู่ดินแดนที่เคยเป็นถิ่นอาศัยของไดโนเสาร์ พื้นที่ราว 203,125 ไร่อันเขียวขจีรายล้อมด้วยแนวเทือกเขาภูเวียงแห่งนี้ เป็นแหล่งขุดค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์แห่งแรกของไทยทั้งยังเป็นชนิดใหม่ของโลกด้วย

ทำไมถึงเรียก “ไดโนเสาร์”

เซอร์ริชาร์ด โอเวน นักบรรพชีวินวิทยาชาวอังกฤษ เป็นผู้คิดคำไดโนเสาร์ หรือ dinosaur โดยผสมระหว่างคำภาษากรีก deinos ที่แปลว่า ใหญ่จนน่าสะพรึงกลัว กับ sauros ที่แปลว่า สัตว์เลื้อยคลาน รวมเป็น “สัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่อันน่าสะพรึงกลัว” เจ้าสัตว์เลื้อยคลานนี้เคยครอบครองระบบนิเวศในมหายุคมีโซโซอิกนานถึง 165 ล้านปี ก่อนสูญพันธุ์ไปเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว เหลือไว้เพียงซากฟอสซิลให้นักธรณีวิทยาได้ขุดค้นศึกษา

ถึงเวลาไปลงหลุม (ขุดค้น)

แผนที่ท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูเวียงระบุว่า มีหลุมขุดค้นฟอสซิลไดโนเสาร์ให้เราบุกป่าฝ่าดงไปชมทั้งหมด 9 หลุม แต่สภาพอากาศร้อนอบอ้าวบอกเราว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าฝนต้องตกแน่ๆ พวกเราจึงวางแผน “กระชับวงล้อม” การเที่ยวชมเหลือเพียงแค่ 4 หลุมตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ได้แก่หลุมขุดค้นที่ 1, 2, 3 และ 9 (กระดูกที่จัดแสดงในหลุมขุดค้นที่ 1 และ 2 เป็นกระดูกจำลอง ส่วนหลุมที่ 3 และ 9 เป็นกระดูกไดโนเสาร์จริงที่ยังไม่ถูกขุดไปศึกษา) ที่เลือก 4 หลุมนี้ก็เพราะระยะทางไม่ไกลนัก รวมประมาณ 2.7 กม. เท่านั้น เดินได้สบายๆ

“แค่นี้เอง ! ภูเขาลูกที่เห็นเนี่ยนะ สบาย...” ฉันและพวกพ้องเปล่งเสียงปลุกใจกันอย่างฮึกเหิม แล้วก็เริ่มออกเดินทาง

จากด่านเก็บค่าธรรมเนียม ขับตรงมาจะพบศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอยู่ทางซ้ายมือ ฝั่งตรงข้ามมีป้ายบอกทางไปหลุมขุดค้นที่ 1, 2 และ 9 จากจุดนี้ไปเป็นถนนลูกรังราว 1.25 กม. นำรถเข้าไปได้ ไม่นานเราก็มาถึงทางขึ้นหลุมที่ 2 (ถ้ำเจีย) มีบันไดให้เดินขึ้นไปพอเรียกเสียงหอบ หลุมนี้จัดแสดงกระดูกคอไดโนเสาร์จำนวน 6 ชิ้นที่ขุดค้นพบเมื่อเดือนกันยายน 2532 เป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด (Sauropod) มีอายุอยู่ในยุคครีเทเชียส มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus sirindhornae) โดยชื่อชนิดนั้นตั้งขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พวกเราพากันตื่นเต้นไปพร้อมๆ กับจินตนาการว่า “ถ้าเจ้าซอโรพอดนี่ยังมีชีวิตอยู่ มันจะให้เราขึ้นไปขี่หลังได้เหมือนช้างหรือเปล่านะ”

จากหลุมขุดค้นที่ 2 มีทางปูนให้เดินขึ้น-ลงเขาราว 500 ม.ไปยังหลุมที่ 1 สองข้างทางเป็นป่าไผ่สลับกับป่าเต็งรังซึ่งกำลังผลิใบเขียวสด เดินเพลินชมธรรมชาติ ฟังเสียงนกร้อง เล่นกับผีเสื้อที่โบยบินมาเย้าหยอกต้อนรับฤดูฝน

หลุมขุดค้นที่ 1 (ภูประตูตีหมา) นับเป็นหลุมที่มีความสำคัญยิ่งในหน้าประวัติศาสตร์การขุดค้นพบซากไดโนเสาร์ของไทย เพราะพบซากกระดูกไดโนเสาร์ซอโรพอดสกุลและชนิดใหม่ของโลกเป็นจำนวนมาก ทางอุทยานฯ จัดแสดงกระดูกส่วนต่างๆ ทั้งต้นขาหลัง ซี่โครง สันหลัง หาง คอ ในตำแหน่งที่ขุดค้นพบครั้งแรกไว้ภายในอาคารกระจก เดินดูได้รอบ จากจุดนี้ออกแรงฮึดเดินอีกราว 150 ม. ก็จะถึงจุดชมทิวทัศน์ที่มีผืนป่าภูเวียงงามสุดลูกหูลูกตาให้ชมชื่นตา ฉันไม่วายคิด “อืม...เมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน ที่นี่คงเป็นหมู่บ้านไดโนเสาร์สินะ”

นั่งพักจนหายเหนื่อยแล้วจึงย้อนกลับทางเดิมมาที่ลานจอดรถ เพื่อจะไปต่อยังหลุมขุดค้นที่ 9 (ลานหินลาดยาว) โดยเดินลัดเลาะขึ้นเขาไปตามทางที่อาจเดินยากสักหน่อยอีก 500 ม. หลุมนี้สร้างเป็นห้องกระจกเช่นกัน ตั้งอยู่บนลานหินขนาดใหญ่ แสดงกระดูกส่วนสะโพกด้านซ้ายและกระดูกโคนหางของไดโนเสาร์กินเนื้อ (Carnosaur) สกุลและชนิดใหม่ของโลก คือไทรันสยาม หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis) มีอายุอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น ค้นพบเมื่อเดือนสิงหาคม 2536 เป็นกระดูกต้นแบบที่ต้องเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีเพื่อยืนยันถึงการค้นพบไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ของโลกเช่นเดียวกับหลุมขุดค้นที่ 1 ใครเป็นแฟนภาพยนตร์เรื่อง จูราสสิกปาร์ก คงจำโฉมหน้าเจ้า ที.เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่สุดได้ กระดูกไดโนเสาร์ในหลุมนี้ก็คือบรรพบุรุษของ ที.เร็กซ์ นั่นเอง เพียงแต่เจ้าที.เร็กซ์ มีขนาดใหญ่กว่าบรรพบุรุษของมันเกือบเท่าตัว

จากหลุมที่ 9 เรานั่งรถกลับออกมาทางศูนย์บริการนักท่องเที่ยว แล้วเลี้ยวขวาไปทางที่ทำการอุทยานฯ เพื่อไปชมหลุมขุดค้นที่ 3 (ห้วยประตูตีหมา) ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการเพียง 300 ม.หลุมนี้ขุดค้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2536 พบกระดูกขนาดใหญ่หลายชิ้นของไดโนเสาร์ซอโรพอดที่ฝังตัวอยู่ในชั้นหินทราย เป็นชนิดเดียวกับ ภูเวียง โกซอรัส สิรินธรเน

ภารกิจในวันนี้เสร็จสิ้นพร้อมฝนที่โปรยปราย ฉันพลางคิดไปว่า แม้ไดโนเสาร์จะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้นานแสนนานแล้ว แต่เพียงแค่คิดถึงพวกมันใครหลายคนก็ยังคงตื่นเต้น ถ้าหากมีใครแอบตัดต่อพันธุกรรมของพวกมันไว้เหมือนในหนัง จูราสสิกปาร์ก แล้วรอวันที่มันจะออกมาผงาดบนผืนแผ่นดินอีสานล่ะ ความตื่นเต้นจะทบทวีถึงเพียงไหน!

อย่าลืมแวะพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง

พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 2083 ก่อนถึงอุทยานแห่งชาติภูเวียงราว 4 กม. เป็นพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งแรกของไทย อาคารขนาดใหญ่จัดแสดงนิทรรศการความรู้ทางโบราณชีววิทยาและธรณีวิทยา ตั้งแต่กำเนิดจักรวาล โลก วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลก รวมถึงกระดูกชิ้นส่วนของไดโนเสาร์ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ที่ขุดค้นพบภายในเขตอุทยานฯ ภูเวียงมากมายหลายชิ้น นอกจากนี้นักท่องเที่ยวจะได้ชมหุ่นจำลองไดโนเสาร์ที่พบในภูเวียง ได้แก่ สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส สยามโมซอรัส สุธีธรนิ และ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน เปิดเวลา 09.00-17.00 น. ปิดวันจันทร์ ไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-4343-8204-6

ตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 306 สิงหาคม 2553

เรื่อง : ระพีพร มีบัณฑิต/ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

(คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ตะลุยป่าภูเวียง...ตามรอยเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook