สุโขทัย ดินแดนแห่งรุ่งอรุณ

สุโขทัย ดินแดนแห่งรุ่งอรุณ

สุโขทัย ดินแดนแห่งรุ่งอรุณ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นับเป็นเวลากว่า 700 ปีมาแล้วดินแดนที่มีชื่อว่า สุโขทัย ซึ่งมีความหมายว่า "รุ่งอรุณแห่งความสุข" แห่งนี้ เป็นแหล่งก่อกำเนิดความเป็นอาณาจักรของคนชาติไทยขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่สร้างบ้านแปงเมืองจนอาณาจักรสุโขทัยมีอาณาเขตกว้างขวางที่สุดยุคหนึ่ง ทั้งยังเป็นผู้ที่ก่อให้เกิด "ลายสือไทย" ซึ่งกลายมาเป็นตัวหนังสือที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

คำขวัญประจำจังหวัด
มรดกโลกล้ำเลิศ  กำเนิดลายสือไทย  เล่นไฟลอยกระทง  ดำรงพุทธศาสนา  งามตาผ้าตีนจก  สังคโลก  ทองโบราณ  สักการแม่ย่าพ่อขุน  รุ่งอรุณแห่งความสุข

มรดกโลกล้ำเลิศ

อาณาจักรสุโขทัยนับเป็นอาณาจักรแรกของชาวสยาม มีอายุยาวนานเกือบ ๒๐๐ ปี เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาและศิลปวิทยาการ

ภาพถ่ายทางอากาศมองเห็นวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง ตั้งอยู่ริมน้ำยม อ. ศรีสัชนาลัย (ภาพ: สกล เกษมพันธุ์

พ่อขุนศรีอินทราทิตย์สถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นในปี พ.ศ. 1800  กระทั่งถึงสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) กษัตริย์องค์ที่ 9 สุโขทัยก็เสื่อมอำนาจลงในปี 1981  เป็นช่วงเวลาเกือบ 200 ปีที่อาณาจักรสุโขทัยสั่งสมความยิ่งใหญ่ทางศิลปวัฒนธรรม ดังเช่นการประดิษฐ์อักษรไทยครั้งแรกในสมัยพ่อขุนรามคำแหง การสร้างพระพุทธรูปที่งดงามไม่มียุคสมัยใดเทียบได้ รวมถึงสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์อย่างเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์  ศิลปะสมัยสุโขทัยมีลักษณะเฉพาะอันโดดเด่นจนเรียกขานกันว่า "สกุลช่างสุโขทัย"

ด้วยความสำคัญดังกล่าว ปี 2534 อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจึงได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ร่วมกับเมืองศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร

กำเนิดลายสือไทย

พ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งกรุงสุโขทัย โปรดให้ประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้นใช้เป็นครั้งแรก

ศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพ: บุญกิจ สุทธิญาณานนท์)

ในอดีต คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ตัวอักษรขอมและมอญโบราณ กระทั่งในปี 1826 พ่อขุนรามคำแหงทรงคิดประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้นใช้เพื่อให้เข้ากับสำเนียงพูดของชาวอาณาจักรสุโขทัย โดยดัดแปลงจากอักษรขอมโบราณ  ลายสือไทยที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ปรากฏอยู่บนศิลาจารึกหลักที่ 1 (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) มีลักษณะเด่นคือ สระและพยัญชนะเขียนอยู่ในบรรทัดเดียวกัน มีวรรณยุกต์ 2 รูปคือเอก (  ่ ) และโท ( + )  ลายสือไทยถือเป็นต้นแบบอักษรไทยซึ่งมีการพัฒนากันต่อมาในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) และสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนเป็นภาษาไทยที่ใช้กันในปัจจุบัน

เล่นไฟลอยกระทง

งานประเพณีเล่นไฟลอยกระทงของ จ. สุโขทัย มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ

การแสดงแสงสีเสียงในประเพณีเล่นไฟลอยกระทง ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

งานประเพณีเล่นไฟลอยกระทง จ. สุโขทัย เกิดจากการตีความของนักประวัติศาสตร์จากหลักฐานในศิลาจารึก จนได้ความว่าในสมัยพระยาเลอไทย (ครองราชย์ พ.ศ. 1841 ถึงปีใดไม่ปรากฏ) ชาวอาณาจักรสุโขทัยนิยมเผาเทียนเล่นไฟในช่วงหลังออกพรรษา และมีประเพณีลอยพระประทีปด้วย  ท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นและตามประทีปบนกระทงนั้นแล้วลอยไปเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท

ปัจจุบันการเผาเทียนเล่นไฟและลอยพระประทีปได้กลายเป็นประเพณีเล่นไฟลอยกระทงในคืนวันเพ็ญเดือน 12 (ราวเดือน พ.ย.) โดยจัดขึ้นในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  มีการจุดไฟส่องสว่าง ลอยโคม จุดพลุ เล่นดอกไม้ไฟ ตลอดจนการแสดงแสงสีเสียงจำลองเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย

ดำรงพุทธศาสนา

สุโขทัยเป็นแหล่งกำเนิดงานพุทธศิลป์สกุลช่างสุโขทัยอันงดงาม พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์  ทรงยึดมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทั้งทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาด้วย

ไตรภูมิพระร่วง วรรณคดีทางพระพุทธศาสนาที่แต่งขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 พระพุทธรูปสำริดปางลีลา ศิลปะสุโขทัยในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อ. เมือง

ผู้คนในอาณาจักรสุโขทัยมีความเป็นอยู่ดี ดำรงตนอยู่ในแนวทางแห่งพุทธศาสนา ดังปรากฏวัดพระศรีรัตนมหาธาตุในเมืองเชลียง และในเมืองเก่าสุโขทัยก็มีวัดมหาธาตุอันเป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนาในพระนคร  นอกจากนี้ยังมีงานพุทธศิลป์ต่างๆ เช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยอันงดงาม เป็นต้น

ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งกรุงสุโขทัย (ครองราชย์ พ.ศ. 1890 - 1911) เป็นยุคที่พุทธศาสนารุ่งเรือง พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ ไตรภูมิพระร่วง วรรณคดีอันเกี่ยวกับการทำความดีความชั่ว  นอกจากนี้ยังมีสุภาษิตพระร่วง ที่สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นในสมัยสุโขทัย เป็นคติคำสอนทางพุทธศาสนาสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

งามตาผ้าตีนจก

ผ้าตีนจกเป็นผ้าทอของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว ต. หาดเสี้ยว อ. ศรีสัชนาลัย มีลวดลายวิจิตรงดงาม

การ

ชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวอพยพจากเมืองพวน แคว้นเชียงขวาง ประเทศลาว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3  เป็นกลุ่มคนที่มีฝีมือในการทอผ้าตีนจก

ผ้าซิ่นตีนจกแบ่งเป็น 2 ส่วน  ส่วนที่เป็นผ้าซิ่นที่ชาวไทยพวนเรียกว่าหัวและตัวผ้า นิยมทอเป็นผ้าพื้นสีเขียว เหลือง แดง หรือสลับสีกันเป็นลายขวาง  ส่วนตีนผ้านั้นมีลวดลายงดงาม เกิดจากการสอดเส้นฝ้ายสีสันต่างๆ ด้วยขนเม่น เรียกว่าการจก เป็นที่มาของชื่อผ้าตีนจก  หญิงไทยพวนนิยมนุ่งผ้าซิ่นตีนจกในงานบุญประเพณีสำคัญ

สังคโลก

เครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ เป็นสินค้าส่งออกไปยังอินเดีย เกาะสุมาตรา และญี่ปุ่น

จานสังคโลกสีเขียวไข่กา (หรือศิลาดล) ที่นิยมทำกันในสมัยสุโขทัย

ชาวสุโขทัยเรียนรู้การผลิตเครื่องสังคโลกจากชาวจีน  ราวพุทธศตวรรษที่ 20 - 21 การผลิตเครื่องสังคโลกของสุโขทัยเติบโตเป็นลำดับ ดังปรากฏซากเตาทุเรียงที่ใช้เผาเครื่องสังคโลกจำนวนหลายเตาในพื้นที่บ้านป่ายางและบ้านเกาะน้อย ต. หนองอ้อ อ. ศรีสัชนาลัย และในตัวเมืองเก่าสุโขทัย ต. เมืองเก่า อ. เมือง

ชื่อเตา "ทุเรียง" สันนิษฐานว่ามาจากชื่อ "พูเหลียง" ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งในมณฑลเจียงซี ประเทศจีน เป็นแหล่งเตาเผาที่สำคัญที่สุดสมัยราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ. 337 - 552)  ถ้วยชามสังคโลกที่ผลิตจากเตาเผาในสุโขทัยมีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของประเทศในแถบเอเชีย  ช่วงที่จีนประสบปัญหาสงครามกลางเมืองราว พ.ศ. 1900 - 1960 เครื่องสังคโลกของสุโขทัยก็ยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้น

ปัจจุบันเครื่องสังคโลกสุโขทัยมีหลายรูปแบบ นอกจากถ้วย จาน และไหแล้ว ยังมีเครื่องตกแต่งอาคาร อย่างช่อฟ้า หัวนาค บราลี และตุ๊กตารูปคน รูปสัตว์ ลักษณะเด่นของเครื่องสังคโลกสุโขทัยคือ มีน้ำหนักมาก เนื้อหนา และมักมีสีเขียวไข่กา

ทองโบราณ

ทองโบราณของสุโขทัยเลียนแบบลวดลายจากเครื่องทองโบราณที่พบตามแหล่งโบราณคดีและลายปูนปั้นตามโบราณสถาน เป็นงานอันวิจิตรบรรจง

การลงยาบนเครื่องทองสุโขทัย ลวดลายบนทับทรวง เลียนแบบลายเครือเถาบนผนังวิหารนางพญา

นายเชื้อ วงศ์ใหญ่ ช่างทองบ้านท่าชัย ต. ท่าชัย อ. ศรีสัชนาลัย เป็นผู้ริเริ่มทำทองโบราณสุโขทัย โดยเลียนแบบลวดลายจากเครื่องทองโบราณที่ขุดค้นพบในเขต อ. ศรีสัชนาลัย  ต่อมาได้พัฒนานำลายปูนปั้นตามโบราณสถาน อย่างลายเครือเถาที่ผนังวิหารวัดนางพญาในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย มาเป็นลวดลายทองโบราณจนเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัย

ช่างทำทองโบราณต้องมีความชำนาญในการรีดเส้นทองให้เล็กบางเพื่อนำมาถักเป็นลายสี่เสา หกเสา หรือแปดเสา นอกจากนี้ยังมีลายฉลุและลงยาด้วย

สักการแม่ย่าพ่อขุน

ชาวสุโขทัยเคารพนับถือพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์ผู้ทรงอัจฉริยภาพแห่งกรุงสุโขทัย และแม่ย่าซึ่งเป็นพระมารดาของพระองค์

เทวรูปแม่ย่า ภายในศาลบริเวณศาลากลางจังหวัดสุโขทัย อนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง ที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

เทวรูปแม่ย่าประดิษฐานในศาลบริเวณศาลากลางจังหวัดสุโขทัย  องค์เทวรูปสลักจากหินชนวนสูงราว 1 ม. ประดับเครื่องทรงแบบนางพญา  ชาวบ้านอัญเชิญมาจากยอดเขาพระแม่ย่าบนเทือกเขาหลวง  ชาวสุโขทัยเชื่อว่าพ่อขุนรามคำแหงสร้างเทวรูปนี้ขึ้นเพื่ออุทิศแด่นางเสือง พระมารดาของพระองค์ จึงพากันเรียกเทวรูปนี้ว่าแม่ย่า

ชาวสุโขทัยยังเคารพศรัทธาพ่อขุนรามคำแหงอีกด้วย เนื่องมาจากพระปรีชาสามารถของพระองค์ ทั้งในแง่การเมืองการปกครอง อาณาจักรสุโขทัยในสมัยของพระองค์มีอาณาเขตกว้างขวางมั่นคง  นอกจากนี้ยังทรงปกครองแบบพ่อปกครองลูก ทั้งเปิดเสรีทางการค้า ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นใช้เอง

รุ่งอรุณแห่งความสุข

เมื่ออาณาจักรพุกามและขอมที่เป็นใหญ่ในภูมิภาคนี้อ่อนแอลง อาณาจักรสุโขทัยก็รุ่งเรืองขึ้น สมดังชื่อสุโขทัย อันหมายถึงรุ่งอรุณแห่งความสุข

วัดมหาธาตุในบรรยากาศยามเช้า บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

อาณาจักรสุโขทัยเป็นอาณาจักรหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผู้นำท้องถิ่นลุกขึ้นปลดแอกอาณาจักรของตนจากอำนาจของอาณาจักรขอมในกัมพูชา และถูกหยิบยกให้เป็นอาณาจักรแรกของชาวสยาม ตามการรับรู้ของชนชั้นนำในสมัย ร. 4 - ร. 5 จนกลายเป็นประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่ยังคงเรียนอยู่ในปัจจุบัน

 

กลับหน้าแรกสนุก!
หน้าแรกสนุก! ยังมีอะไรสนุกๆ อีกเยอะ..


กลับหน้าแรก Travel
กลับหน้าแรกท่องเที่ยว หาที่เที่ยวที่กินมากกว่านี้..

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook