เที่ยวเมืองไทยตามคำขวัญ "กาญจนบุรี"

เที่ยวเมืองไทยตามคำขวัญ "กาญจนบุรี"

เที่ยวเมืองไทยตามคำขวัญ "กาญจนบุรี"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทิวเขาสูงชันสลับซับซ้อนทอดตัวยาวเหยียดตลอดแนวตะวันตกของกาญจนบุรีอันมีพรมแดนธรรมชาติที่กั้นระหว่างไทยและพม่า ทำให้ดินแดนแห่งนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวของผู้คนหลายเชื้อชาติหลากเผ่าพันธุ์ เกิดเป็นประวัติศาสตร์มากมายดำเนินไปท่ามกลางความลึกลับของผืนไพรกว้างและธารน้ำเชี่ยว

คำขวัญประจำจังหวัด
แคว้นโบราณ  ด่านเจดีย์  มณีเมืองกาญจน์  สะพานข้ามแม่น้ำแคว  แหล่งแร่  น้ำตก

แคว้นโบราณ

มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีหลากหลายยุคใน จ. กาญจนบุรี นับแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี สมัยขอมโบราณ เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

ปราสาทเมืองสิงห์ ศิลปะแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หลุมขุดค้นในแหล่งโบราณคดียุคโลหะริมแม่น้ำแควน้อย ใกล้ปราสาทเมืองสิงห์ รูปจำลองพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ประดิษฐานในปรางค์องค์กลางของปราสาทเมืองสิงห์

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะสร้างทางรถไฟสายมรณะ เชลยศึกชาวฮอลันดาผู้หนึ่ง พบเครื่องมือหินยุคหินเก่าและหินใหม่บริเวณลำน้ำแควน้อย นำมาสู่การขุดค้นทางโบราณคดี ในพื้นที่หลายแห่ง เช่น บ้านเก่า ต. บ้านเก่า อ. เมือง ซึ่งพบว่าเป็นชุมชนของมนุษย์ยุคโลหะที่ติดต่อค้าขายกับภายนอกโดยอาศัยแม่น้ำแควและแม่น้ำแม่กลองเป็นเส้นทางคมนาคม

ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 7-11 ชุมชนยุคหิน ยุคโลหะ ก็พัฒนาเป็นเมืองในสมัยทวารวดีซึ่งนับถือศาสนาพุทธ ปรากฏหลักฐานเป็นฐานสถูป วิหาร ในโบราณสถานพงตึก ต. พงตึก อ. ท่ามะกา และทั่วบริเวณริมแม่น้ำแควใหญ่ นอกจากนี้บริเวณริมแม่น้ำแควน้อย ต. วังสิงห์ อ. ไทรโยค ยังเป็นที่ตั้งของปราสาทเมืองสิงห์ โบราณสถานในคติพุทธมหายาน ศิลปะบายน ราวพุทธศตวรรษที่ 16-18

ล่วงถึงสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ กาญจนบุรีมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านต้านทัพพม่า จึงมีการย้ายเมืองไปตามยุทธศาสตร์การรบอยู่เสมอ กระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ไม่มีการศึกสงครามกับสยาม พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองกาญจนบุรีมายังบริเวณย่านปากแพรก พร้อมสร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการขึ้น ดังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน

ด่านเจดีย์

สังขละบุรี อำเภอเล็กๆ บริเวณชายแดนไทย-พม่า เป็นที่ตั้งของด่านเจดีย์สามองค์ เส้นทางเดินทัพที่รู้จักกันมาแต่โบราณ

เจดีย์สามองค์

ด่านเจดีย์สามองค์มีลักษณะเป็นช่องเขาระหว่างปลายเทือกเขาถนนธงชัยกับเทือกเขาตะนาวศรี

คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โบราณ มีความเชื่อว่า พรมแดนธรรมชาติของอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นช่องเขาหรือแม่น้ำ เป็นพื้นที่พิเศษ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ จึงมักกำหนดให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และสร้างที่หมายตาให้ผู้คนที่สัญจรผ่านแสดงความเคารพ ดังเช่นเจดีย์สามองค์ ซึ่งแต่เดิมเป็นหินสามกอง เกิดจากผู้คนที่ผ่านไปมาโยนหินเพื่อเป็นการสักการะ นานวันเข้าก็เป็นหินกองใหญ่ขึ้น ต่อมา พ.ศ. 2432 มีการสร้างเจดีย์แบบมอญขึ้น สามองค์แทนหินสามกองนี้

ชื่อด่านเจดีย์สามองค์ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การรบพุ่งระหว่างสยามและพม่ามาตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะสงครามเก้าทัพ สงครามครั้งใหญ่และครั้งสุดท้ายระหว่างสยามกับพม่าใน พ.ศ. 2328 สมัยรัชกาล ที่ 1 พม่ายกทัพมาตีสยามถึงเก้าทัพโดยเข้ามาทั้งทางบกและทางน้ำ หนึ่งในเก้าทัพนั้นอาศัยด่านเจดีย์สามองค์เป็นเส้นทางเดินทัพ

มณีเมืองกาญจน์

อ. บ่อพลอยเป็นแหล่งอัญมณีที่มีชื่อเสียงของกาญจนบุรี อัญมณีมีชื่อระดับโลก คือไพลินและนิล

กำไลไพลิน ศูนย์อัญมณีฯ บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแคว

ไพลินน้ำงามต้องเปล่งประกายสีน้ำเงินกำมะหยี่ เมื่อต้องแสงไฟ ประกายนั้นต้องปรากฏเป็นเส้นตรงในเนื้อพลอย

ส่วนความงามของนิลจะอยู่ที่ความดำสนิทและทึบแสง เหลี่ยมเจียระไนต้องคมและมีน้ำหนัก

มีการขุดพบไพลินและนิลที่ อ. บ่อพลอยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และกิจการเหมืองพลอยเฟื่องฟูที่สุดในช่วง พ.ศ. 2520-2530 ต่อมาขุดพบพลอยเป็นจำนวนน้อย ส่งผลให้เหมืองต้องปิดตัวลง ทว่าปัจจุบันยังคงมีตลาดค้าอัญมณีอยู่ เช่นบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแคว แต่อัญมณีส่วนใหญ่มาจากศรีลังกาและพม่า ถึงกระนั้นก็ยังคงมีอัญมณีเมืองกาญจน์ซึ่งเป็นอัญมณีเก่า ที่ขายต่อกันมาให้ได้ซื้อได้ชมกันอยู่

สะพานข้ามแม่น้ำแคว

สะพานข้ามแม่น้ำแคว หรือทางรถไฟสายมรณะ เป็นอนุสรณ์แห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ชาวเมืองกาญจน์และคนทุกเชื้อชาติซึ่งข้องเกี่ยวกับสมรภูมินี้ไม่มีวันลืม

สะพานข้ามแม่น้ำแคว

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2482-2488 กองทัพญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟสายนี้ขึ้นเพื่อลำเลียงกำลัง ทหารและยุทธปัจจัยไปยังพม่า ทางเริ่มจากสถานีหนองปลาดุก อ. บ้านโป่ง จ. ราชบุรี ผ่าน จ. กาญจนบุรี และสิ้นสุดที่เมืองทันบูซายัตในพม่า รวมความยาว ทั้งสิ้น 415 กม. มีการเกณฑ์แรงงานที่เป็นเชลยศึกชาวอังกฤษ ฮอลันดา และออสเตรเลียจากอาณานิคมในเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งจ้างกรรมกรชาวเอเชีย รวมแล้วกว่า 2 แสนคน ระดมสร้างทางรถไฟตัดผ่านป่าดงดิบและเทือกเขาสูงที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายและไข้ป่า ทำให้แรงงานล้มตายเป็นจำนวนมาก จนมีการเปรียบเปรยว่า ไม้หมอนท่อนหนึ่งเทียบเท่าชีวิตหนึ่งชีวิตที่สูญเสียไป ทางรถไฟสายนี้จึงได้ชื่อว่า ทางรถไฟสายมรณะ

สะพานข้ามแม่น้ำแควในตัวเมืองกาญจน์เป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายมรณะ เมื่อข้ามสะพานนี้ไปแล้ว ทางรถไฟจะเลียบลำน้ำแควน้อย ผ่านโตรกผาสูงชันบริเวณถ้ำกระแซ แล้วไปสิ้นสุดที่สถานีน้ำตกบริเวณน้ำตกไทรโยคน้อย

แหล่งแร่

อ. ทองผาภูมิอุดมไปด้วยแร่ธาตุสำคัญมากมาย ทั้งดีบุก วุลแฟรม และทองคำ

เลียง อุปกรณ์ร่อนหาแร่ตามธารน้ำ ร่องรอยอุโมงค์หาสายแร่ที่บ้านอีต่อง

สายแร่ที่เกิดขึ้นตามเทือกเขาในเขต อ. ทองผาภูมิ ทำให้บริเวณนี้เป็นแหล่งเหมืองแร่ที่สำคัญ โดยเฉพาะเหมือง ปิล็อก เหมืองใหญ่ที่มีแรงงานต่างถิ่น ทั้งคนไทย พม่า มอญ และเนปาล อพยพเข้ามาทำเหมืองและตั้งถิ่นฐานจนกลายเป็นหมู่บ้านอีต่อง ซึ่งในขณะนั้นเป็นตลาดค้าแร่ที่สำคัญ ยิ่งในปี พ.ศ. 2525 ที่ราคาดีบุกดีดตัวสูงถึงกิโลกรัมละ 150 บาท บ้านอีต่องก็ยิ่งเจริญเติบโตเป็นชุมชนใหญ่ที่มีทั้งตลาดและโรงภาพยนตร์ กระทั่งเมื่อราคาดีบุกตกต่ำ การค้าภายในหมู่บ้านจึงซบเซาไปด้วย ปัจจุบันหนุ่มสาวชาวบ้านต้องออกไปหางานทำนอกชุมชน และการทำเหมืองในทองผาภูมิ ก็ยุติลงอย่างถาวร เนื่องจากปริมาณแร่ลดลงและราคาแร่ก็ตกต่ำจนไม่คุ้มกับการลงทุน ทั้งมีกฎหมายควบคุมดูแลการทำเหมืองอย่างเคร่งครัดด้วย

น้ำตก

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า กาญจนบุรีจึงมีน้ำตกที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง

น้ำตกไทรโยคน้อย

ป่าเมืองกาญจน์เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในประเทศ ผืนป่านี้ทอดตัวยาวไปตามแนวเทือกเขาตะนาวศรีต่อเนื่องกับเทือกเขาถนนธงชัย ความสมบูรณ์ของผืนป่าก่อให้เกิดน้ำตกอันงดงามหลายแห่ง ดังเช่นน้ำตกห้วยแม่ขมิ้น อช. เขื่อนศรีนครินทร์ อ. ศรีสวัสดิ์ น้ำตกไทรโยคน้อยและน้ำตก ไทรโยคใหญ่ใน อ. ไทรโยค ซึ่งงดงามถึงขั้นเป็นแรงบันดาลพระทัยให้สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงนิพนธ์เพลง "เขมรไทรโยค" ขณะตามเสด็จรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสไทรโยค เมื่อปี พ.ศ. 2420


เรื่อง : ประอรพิชญ์ คัจฉวัฒนา, เอกพงศ์ ศรทอง

ภาพ : ต่อสิต กลีบบัว, วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook