ขึ้นเหนือแอ่วอ่างขาง

ขึ้นเหนือแอ่วอ่างขาง

ขึ้นเหนือแอ่วอ่างขาง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดอยอ่างขาง เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่ใครหลายคนอยากไปและใครอีกหลายคนติดใจจนต้องไปกันไปทุกปี เพราะพื้นที่แบบหุบเขาบนที่สูงอย่างดอยอ่างขางมีอากาศเย็นสบายตลอดปี มีทิวทัศน์ของธรรมชาติที่งดงาม และเป็นที่ตั้งของสถานีเกษตรหลวงดอยอ่างขางซึ่งมีพรรณไม้หลายหลากเป็นสิ่งดึงดูดใจ แต่ก่อนที่ดอยสวยแห่งนี้จะมีเสน่ห์จนน่าหลงใหลเช่นปัจจุบัน ดอยอ่างขางเคยมีสภาพเป็นอย่างไร ใครรู้บ้างเอ่ย?

ดอยอ่างขางตั้งอยู่ในเขต ต. แม่งอน อ. ฝาง จ. เชียงใหม่ ในอดีตเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวเขาซึ่งยึดอาชีพปลูกฝิ่น กระทั่งในปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งสถานีเกษตรหลวงดอยอ่างขางขึ้น เพื่อเป็นสถานีวิจัยพืชเมืองหนาวที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ให้กับชาวเขาปลูกแทนฝิ่น

ด้วยสภาพภูมิประเทศะแลภูมิอากาศที่เหมาะสม คือ ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 ม. และ อุณหภูมิตลอดปีเฉลี่ย 17.7 องศาเซลเซียส สูงสุด 32 องศาเซลเซียส ต่ำสุด -3 องศาเซลเซียส ทำให้สามารถผลิตพืชเมืองหนาวได้หลายอย่างได้ดี ทั้งไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ ผัก สมุนไพร และที่สำคัญฝิ่นหมดไปจากดอยอ่างขาง ปัจจุบันบนดอยอ่างขางมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่สำคัญ คือ ไทยใหญ่ มูเซอดำ ปะหล่อง และจีนฮ่อ จำนวน 9 หมู่บ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบสถานี ซึ่งได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพจนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สถานีเกษตรหลวงอ่างขางยังเป็นที่ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ และมีเกษตรกรเข้ามาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก นอกจากจะเป็นแหล่งวิชาการทางด้านการปลูกพืชเมืองหนาวแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของ จ. เชียงใหม่ ซึ่งในพื้นที่ 1,811 ไร่ ของสถานีเกษตรหลวงอ่างขางมีสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ...

สวนแปดสิบ ที่เป็นสวนรวบรวมพรรณไม้ทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่มและไม้ดอกไม้ประดับตามฤดูกาล สวนหอม เป็นสวนที่รวบรวมพันธุ์ไม้ที่มีกลิ่นจากส่วนต่างๆ ของต้น สวนสมเด็จ เป็นสวนหินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและปลูกพันธุ์ไม้ประเภทฝิ่นประดับและไม้เมืองหนาวที่ทนแล้งได้ดี ส่วนสวนคำดอย เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้ตระกูลโรโดเดนรอนและอาซาเลียสายพันธุ์ต่างๆ และสวนกุหลาบอังกฤษ เป็นกุหลาบซึ่งนำเข้ามาจากประเทศอังกฤษจำนวน 240 สายพันธุ์ ซึ่งมีทั้งแบบพุ่ม คลุมดิน เลื้อย และกุหลาบหนู

โรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผัก จัดแสดงพันธุ์ผักเมืองหนาวชนิดต่างๆ ที่ปลูกในพื้นที่โครงการหลวงทั้งผักตระกูลสลัด ตระกูลอาร์ติโช๊ค ตระกูลหน่อไม้ฝรั่ง ตระกูลกะหล่ำ ตระกูลแตง ตระกูลมะเขือ ตระกูลแครอท ตระกูลถั่ว และตระกูลสมุนไพรต่างๆ และฝั่งตรงข้ามเป็นแปลงบ๊วยที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปกัน เพราะลักษณะของต้นบ๊วย มีรูปร่างที่ดูแปลกตาแต่ก็มีความงดงาม โดยเฉพาะยามที่ดอกบ๊วยกำลังผลิบาน

สวนบอนไซ จัดแสดงพันธุ์ไม้ที่เคยมีอยู่ในสถานีฯ ในช่วงแรกโดยรวบรวมไว้ในรูปแบบบอนไซและมีโซนจัดแสดงหลากหลาย ได้แก่ กลุ่มบอนไซเมืองหนาว กลุ่มพืชทนแล้ง กลุ่มพืชกินแมลงและสวนหินธรรมชาติ และที่นี่ยังเป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นวิวของสถานีฯ ได้

นอกจากนี้บริเวณโดยรอบสถานีเกษตรยังมีจุดที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น หมู่บ้านขอบด้ง เป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่ามูเซอดำซึ่งอยู่ห่างจากสถานีฯ ราว 3 กม. มีอาชีพหลักคือทำเกษตรกรรมและจำหน่ายของที่ระลึก อย่างเช่น กำไลจากหญ้าอิบูแค หมู่บ้านนอแล เป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าปะหล่องที่ทำการเกษตรเป็นอาชีพหลักและมีผ้าทอเป็นสินค้าพื้นเมือง อยู่ห่างจากสถานีฯ 5 กม. ระหว่างทางมีจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามและถ้าเลยไปอีกเล็กน้อยก็จะสามารถชมทิวทัศน์ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าได้ที่ฐานปฏิบัติการทหารบ้านนอแล

สถานที่สวยงามบนดอยอ่างขางยังมีอีกหลายแห่งที่รอให้นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม ใครมีโอกาสไปช่วงนี้อาจได้เห็นและได้ชิมสตรอเบอรี่ลูกโตสีแดงสดจากต้นเป็นของแถมด้วย

 

เรื่องและภาพ : มธุกร ทองโสภา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook