เช้า(บางคนที)ยันค่ำที่...อัมพวา

เช้า(บางคนที)ยันค่ำที่...อัมพวา

เช้า(บางคนที)ยันค่ำที่...อัมพวา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     เมื่อหลายปีก่อน ทุกครั้งที่นั่งรถกลับบ้านที่เมืองเพชรบุรี... ไปตามเส้นทางถนนพระราม 2 ที่เมื่อก่อนเรียกกัน “ธนบุรี – ปากท่อ” ซึ่งยังไม่แยกฝั่งขาขึ้นกรุงเทพฯ กับขาล่องใต้ เป็นสองฝั่ง 6 เลนเช่นปัจจุบัน จะกลับบ้านแต่ละครั้ง ต้องไถ่ถามชักชวนเพื่อนฝูงมาพร้อมกันเป็นหมู่คณะ เพื่อสร้างความครึกครื้นระหว่างเดินทาง

     กรุงเทพฯ – เพชรบุรี ระยะทาง 120 กิโลเมตร โดยประมาณ นั่งรถสองชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึง แม้จะเริ่มมีรถปรับอากาศวิ่งแล้ว แต่ยังถือว่าเป็นของต้องห้ามสำหรับขี้ยาอย่างพวกเรา ซึ่งเลือกที่จะนั่งรถเมล์แดง เบาะยาวแถวหลังสุด เพราะสามารถสูบยาได้ตามจังหวะความอยาก เนื่องจากสังคมยังไม่รังเกียจอย่างออกหน้าออกตา บางครั้งเจอกระเป๋ารถเมล์เป็นพี่ชายเพื่อน เป็นเครือญาติ เป็นคนหมู่บ้านเดียวกันบ้าง ที่นั่งแถวหลังจึงถูกจัดไว้เป็นที่เฉพาะสำหรับพวกตั๋วฟรี และสุภาพสตรีที่อยากมีแฟนเป็นกระเป๋ารถเมล์ 

     แต่สาระสำคัญลำดับแรกคือ เวลารถแวะรับผู้โดยสารตามจุดต่างๆ เหล่ากระเป๋ารถมักจะชี้นำสาวๆ ให้เดินขึ้นทางประตูด้านท้าย เพราะประตูด้านหน้าเหมาะสำหรับสตรีมีครรภ์ คนชราและพระภิกษุ พวกเราจึงได้เพลิดเพลินกับความสวยงามน่ารัก ของเหล่าบรรดาดอกไม้ของชาติ ลดทอนความแข็งกระด้าง ยาว คม แหลม ของอีดาบ ที่พี่ๆ กระเป๋ารถ มักจะห้อยไว้ที่ขอบประตู เผื่อต้องใช้ยามเกิดศึกชิงตัวผู้โดยสารระหว่างรถเมล์ด้วยกัน

     นั่งรถสมัยก่อนก็ไม่ได้มองวิวทิวทัศน์สักเท่าไหร่ เพราะทิวทัศน์ในรถมีให้ดูเยอะกว่า แต่เวลาจมูกสัมผัสกลิ่นจากภายนอกก็พอจะบอกได้ว่าถึงไหนแล้ว อย่างเวลารถพ้นเขตกรุงเทพฯ จะรู้สึกหายใจโล่งๆ อากาศจะไม่ร้อนอึดอัด พอได้กลิ่นปลาเค็มหรือปลาตากแห้ง ก็จะรู้ได้เลยว่ากำลังจะถึงสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนที่มหาชัย เขตสมุทรสาครแล้ว พอเริ่มเข้าเขตแม่กลอง-สมุทรสงคราม จะได้กลิ่นเกลือ เพราะช่วงนั้นเค้าจะทำนาเกลือตลอดสองข้างทาง มีเปลี่ยนมาทำนากุ้งอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ก็กลับไปทำนาเกลืออย่างเก่า

..............................

     สมุทรสงคราม ที่ผู้คนมักเรียกกันติดปากว่า “แม่กลอง” แต่เด็กรุ่นใหม่มักจะไม่รู้จักชื่อนี้แล้ว รู้จักกันแต่ “อัมพวา” เคยมีน้องๆ (น้องหลายปีมาก) ที่รู้จักโทรมาถามผมว่า

“ พี่... ช่วยบอกเส้นทางขับรถไปอัมพวาให้ที ”
“ ขึ้นทางด่วนไปลงดาวคะนอง วิ่งธนบุรี-ปากท่อไปเรื่อยๆ” ผมบอก
“ ธนบุรี-ปากท่อ ไหนอะ? ” มันถามย้อนมา
“ เอ่อ... พระราม 2 ขอโทษ... พอถึงแยกมหาชัย....”
“ มหาชัยไหนอีกพี่? ” มันแทรกขึ้นมาอีก
“ เอ่อ... สมุทรสาคร ขอโทษที... แล้วก็ขับไปเรื่อยๆ พอถึงที่เค้าทำนาเกลือก็ใกล้จะถึงแม่กลองแล้ว”
“แม่กลอง...”
“เอ่อ... สมุทรสงคราม ขอโทษนะ... จะมีทางต่างระดับให้เลี้ยวไปตามป้าย แล้วทีนี้มันก็จะมีป้ายบอกทางไปอัมพวาอยู่เรื่อยๆ ”
“ไปอีกไกลมั๊ยพี่... หนูกลัวหลง”
“กรูขอโทษนะ...ขอตอบว่าไม่ไกล...และไม่ต้องกลัวหลง ถ้าเมิงหลง... ก็หางานทำ แล้วแต่งงานมีผัวอยู่แถวนั้นเลยก็ไ้ด้ ไม่ต้องกลับกรุงเทพฯ หรอก”
“#*-+!!>< …” ฯลฯ
..............................

     สมุทรสงครามมี 3 อำเภอคือ เมือง, อัมพวา, บางคนที ย่าน อัมพวา-บางคนที พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นสวนมะพร้าว สวนลิ้นจี่และสวนผลไม้อื่นๆ สมัยก่อนต้องใช้เรือพาย เรือเครื่องแล่นไปตามลำคลอง ร่องสวน เพื่อออกสู่แม่น้ำสายใหญ่ เพราะไม่มีถนนเหมือนปัจจุบัน

 

      สำหรับคนที่รอเที่ยวตลาดยามเย็นอัมพวา ซึ่งทำให้อัมพวาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง เพียงอย่างเดียว ไม่เหลียวแลสิ่งอื่น อยากให้ลองไปชมโลกตอนกลางวันดูบ้าง บ้านเมืองนี้ไม่ได้มีแค่ร้านขายเสื้อยืด กับเรือชมหิ่งห้อย ขายหอยทอด หมึกย่าง ฯลฯ ยังมีถนนลาดยางซึ่งคดเคี้ยวไปตามแนวสวน ภูมิประเทศที่เหมือนกันจนทำให้ชาวต่างถิ่นอย่างเรา แยกอัมพวากับบางคนทีไม่ออก ถนนในสวนย่านนี้เหมาะแก่การปั่นและถีบจักรยานเที่ยวมากกว่าอื่นใด ยิ่งช่วงหน้าลิ้นจี่ตกลูก จะเพลิดเพลินกับกิจกรรมนี้เป็นอันมาก
ลองไปเริ่มต้นที่ ศูนย์ท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์บ้านบางพลับ ต.บางพรม อ.บางคนที ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของถนนสายผลไม้ของจังหวัด แวะคุยกับ อาจารย์สมทรง แสงตะวัน ชมสวนส้มโอปลอดสารเคมีพันธุ์ขาวใหญ่ ที่อาจารย์ทดลองทำจนประสบความสำเร็จ ทั้งยังได้ใช้พื้นที่สวนตั้งเป็น มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น  ถ่ายทอดความรู้ให้คนในท้องถิ่นและต่างถิ่น ซึ่งมีหน่วยงานและองค์กรต่างๆ จากทั่วประเทศเดินทางเข้ามาศึกษาดูงานอยู่ไม่ขาด หากอยากนอนพักค้างคืนก็มีโฮมสเตย์ให้บริการที่นี่ด้วย

 

     คุยกับอาจารย์เสร็จ ก็ไปเลือกจักรยานที่จอดไว้ในบ้านซึ่งมีอยู่หลายคัน เช็คลมยาง เบรก ให้เีรียบร้อย ออกเดินทางไป บ้านพญาซอ ของ อาจารย์สมพร เกตุแก้ว หากใส่ใจใคร่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องซออู้ ขอให้จงถามกับอาจารย์ได้เลย

     “คุณมาหาความรู้ อยากรู้อะไรต้องถาม” อาจารย์เป็นคนพูดจากเสียงดัง ฟังชัด ดูภายนอกเป็นคนโผงผางเข้าใจยาก ดูคล้ายไม่ต้อนรับแขก แต่จริงๆ แล้วอาจารย์ใจดี มีรอยยิ้มแฝงไว้เสมอระหว่างพูดคุย และยินดีตอบทุกคำถามที่เกี่ยวข้องกับ มะพร้าวและการทำซอ ตั้งแต่ดิน น้ำ แสงแดด ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้มะพร้าวย่านนี้มีความแตกต่างจากที่อื่น ฯลฯ หากคุณมีคำถาม เราจะได้รับความรู้มหาศาลจากบ้านพญาซอแห่งนี้ จนคุณเองแทบรับไม่ไหว

   

     จากบ้านพญาซอปั่นจักรยานต่อไปดูเค้าทำผลไม้แช่อิ่ม ที่เค้านำผลไม้ในท้องถิ่นและต่างถิ่นมาแปรรูป แม้แต่ของขมอย่างบอระเพ็ด มะระขี้นก ก็ยังนำมาแช่อิ่มจนหวาน จนเรียกกันว่า “ผลไม้กลับชาติ” ชิมเสร็จก็ไปดูเค้าเผาถ่านทำน้ำส้มควันไม้ ของเหลวซึ่งมีคุณประโยชน์มากมาย แล้วยังนำผลไม้ต่างๆ มาเผาจนสภาพเป็นถ่าน แพ็คใส่ถุงไว้สำหรับดูดกลิ่นอับและความชื้น เป็นสินค้าที่เกิดจากฝีมือของชาวบ้านในท้องถิ่นล้วนๆ

 

 

 

      สินค้าแปรรูปที่มีชื่อของเมืองนี้ ยังมีหลายอย่าง แต่พลาดไม่ได้เห็นจะเป็น กล้วยหอมที่เค้านำมาฝานบางๆ ทอดจนกรอบ เคลือบเนยน้ำตาล ซึ่งว่ากันว่าใครลองได้กินแล้วจะหยุดไม่อยู่ จนมีชื่อเหมือนข้ออ้างของสิบล้อเวลาก่ออุบัติเหตุว่า “กล้วยเบรคแตก”

..............................

 

 

    

     แดดเริ่มให้ร่ม ลมยังพัดโชย... ได้เวลาเดินมาเที่ยวตลาดยามเย็น แวะไปชิมกาแฟที่ “สมานการค้า” ร้านเก่าแก่(ของจริง) แห่งเมืองอัมพวา มาจนถึงวันนี้นับเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล ซึ่งนำกาแฟชาวบ้านเข้าสู่ห้างสรรพสินค้า มีโรงคั่วกาแฟเองอยู่หลังร้าน เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าซึ่งมีอยู่เกือบทั่วประเทศ คุณลุุงคุณป้า เจ้าของร้านก็ใจดี ถ้ากลัวตาค้างก็สั่ง ชาเย็น ชามะนาว น้ำแดง น้ำเขียว จ้ำบ๊ะ ฯลฯ มาดื่ม นั่งชมบรรยากาศริมคลองที่หน้าร้านแทนก็ได้

 

 

     จากสมานการค้าออกเดินข้ามไปอีกฝั่ง ไปดู “โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์” โครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา นำที่ดินที่ คุณประยงค์ นาคะวะรังค์ ชาวอัมพวา ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย มาดำเนินการพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนอัมพวา ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ซึ่งอนุชนรุ่นหลังสามารถหวนรำลึกและมองย้อน เห็นภาพอดีตอันรุ่งเรือง ถึงความเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมและประเพณีที่งดงาม การพัฒนาและจัดการพื้นที่ จึงต้องดำเนินไปอย่างถูกต้องเหมาะสม ที่สำคัญคือ ได้รับความร่วมมือพร้อมใจจากชาวอัมพวาทุกคน

     สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้จัดพื้นที่แห่งนี้โดยคำนึงถึงความเหมาะสม สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวชุมชนอัมพวา โดยนำหลักการพัฒนาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ภูมิสังคม” และ “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางและหลักการดำเินินงาน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ คือ

     สวนสาธิตการเกษตรเพื่อการเรียนรู้ เป็นการจัดพื้นที่สวนผลไม้ท้องถิ่นแบบผสมผสาน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตท้องถิ่นในด้านการเกษตร ทั้งยังเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิชาการ เกษตรกรชาวสวนและผู้ที่สนใจ ใครไม่รู้จักต้นอัมพวา มาหาดูได้จากที่นี่

     ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์ ลานเอนกประสงค์ใช้สำหรับการแสดงและกิจกรรม ที่ใช้ส่งเสริมด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น วิถีชีวิตลุ่มน้ำแม่กลองและชุมชนอัมพวา และเพื่อเป็นเกียรติคุณแก่คุณประยงค์ นาคะวะรังค์ จึงได้นำชื่อสกุล มาตั้งเป็นชื่อลานวัฒนธรรมแห่งนี้
ร้านค้าชุมชน ซึ่งจัดเป็นร้านค้าให้กับชุมชนต่างๆ เช่าพื้นที่จำหน่ายหรือจัดแสดงสินค้า เพื่อให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน โดยเน้นคนในพื้นที่ร้อยเปอร์เซ็นต์

     ส่วนด้านหน้าที่ติดริมคลอง ได้จัดตั้งเป็น ร้านชานชาลา จำหน่ายเครื่องดื่ม อาหารว่าง ของที่ระลึกซึ่่งเป็นผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิชัยพัฒนาและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ถัดไปเป็น ห้องนิทรรศการชุมชน ไ้ว้จัดแสดงนิทรรศการซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น หมุนเวียนกันไป

     ลองเปลี่ยนจากแค่ไปทำท่าถ่ายรูปเก๋ๆ เอามาอวดคนอื่นว่าไปอัมพวามาแล้วนะ เข้าไปศึกษาหาความรู้ที่โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ ความแตกต่างระหว่าง “ของแท้” กับ “ของเลียนแบบ” มีเฉลยอยู่ในสถานที่แห่งนี้

..............................

 

 

 

    ยังมีอีกเรื่องซึ่งถูกรื้อฟื้นมาเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา หลังห่างหายไปจากชีวิตคนลุ่มน้ำแม่กลอง ย่านสมุทรสงครามกว่า 50 ปี นั่นคือ “ประเพณีลอยกระทงกาบกล้วย” โดยคนที่นี่จะนำต้นกล้วยทั้งต้น มาหั่นเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 8-10 นิ้ว แล้วลอกออกทีละกาบ ปักด้วยธูปก้านยาวที่จุ่มน้ำมันยาง เพื่อไม่ให้ดับเวลาต้องลม อันเป็นภูมิัปัญญาชาวบ้านในอดีต ส่วนใครจะฉลุลวดลายเพิ่มเติมอย่างไร ก็แล้วแต่ฝีมือและจินตนาการที่มีอยู่ นอกจากผู้คนซึ่งมาลอยกระทงอยู่ริมตลิ่งแล้ว ชุมชนต่างๆ ยังนำเรือออกไปปล่อยกระทง กลางลำน้ำแม่กลอง ซึ่งประมาณจำนวนว่า มีกระทงนับแสน งดงามสว่างไสวไปทั่วท้องน้ำ

    อย่าลืม... ขึ้นกระดานหรือทำเครื่องหมายไว้ที่ปฏิทิน หรือบันทึกความจำไว้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่า...   “เพ็ญเดือน 12 นี้ ไปลอยกระทงกาบกล้วยที่สมุทรสงคราม”

บุญรักษา... คุณพระคุ้มครอง... เจริญสุขทุกๆ ท่านครับ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสมุทรสงคราม
โทร.0 3475 2887 – 8  E-mail: tatsmsk@tat.or.th

ขอขอบคุณ 
งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ภายในประเทศ กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
โทร.1672 เว็บไซต์: www.tourismthailand.org


ผลงานเขียนของคุณธนิสร หลักชัย

 

   

 

 

อัลบั้มภาพ 22 ภาพ

อัลบั้มภาพ 22 ภาพ ของ เช้า(บางคนที)ยันค่ำที่...อัมพวา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook