คดโค้งข้างขอบเขา... จากบ้านเมืองปอนถึงแม่ละนา (ตอนจบ)

คดโค้งข้างขอบเขา... จากบ้านเมืองปอนถึงแม่ละนา (ตอนจบ)

คดโค้งข้างขอบเขา... จากบ้านเมืองปอนถึงแม่ละนา (ตอนจบ)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไหว้พระชมวัด... เมืองแม่ฮ่องสอน

     มาดินแดนชาวไตทั้งที หากไม่ได้เที่ยวชมวัดที่มีศิลปะแบบไทใหญ่ก็ถือว่ามาไม่ถึง เมื่อชีวิตตั้งต้นที่ขุนยวม จึงขอแนะนำวัดในเขตอำเภอขุนยวมสักแห่ง ก่อนจะเดินทางเพื่อไปเที่ยวชมวัดต่างๆ ในเขต อ.เมือง ต่อไป

     วัดต่อแพ อยู่ที่บ้านต่อแพ ต.แม่เงา ห่างจากตลาดขุนยวม 7 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าเป็นวัดชาวละว้า หรือ ลัวะ สร้างไว้นานแล้วปล่อยร้างไว้ ต่อมาด้วยศรัทธาจากหลายหมู่บ้าน ทั้งบ้านต่อแพ บ้านขุนยวม บ้านเมืองปอน ได้ช่วยกันบูรณะและร่วมสร้างศาลาการเปรียญ รูปแบบผสมผสานระหว่างศิลปะไทใหญ่กับพม่า ภายในมีพระประธานเก่าแก่ พร้อมรวบรวมทองคำหรือร่มทองไว้จำนวนมาก และผ้าม่านล้ำค่าประดับทับทิมผืนใหญ่ มีขนาดกว้าง 1.65 เมตร ยาว 3.80  เมตร ทำด้วยผ้ากำมะยี่ประดับด้วยลูกปัด มุก และทับทิม ใช้ผ้าสีเขียว แดง เหลือง มาเย็บประกอบด้วยมือทั้งผืน ทำขึ้นในพม่าโดยมีผู้ใจบุญสร้างถวายแด่พระธรรมทานิ เจ้าอาวาสวัดต่อแพองค์แรก เมื่อ พ.ศ.2460

  

    

     วัดพระธาตุดอยกองมู ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองแม่ฮ่องสอน มีพระเจดีย์สององค์อยู่คู่กัน องค์ใหญ่สร้างโดยจองต่องสู่และนางเล็กภรรยา เมื่อปี พ.ศ.2403 องค์เล็กสร้างเมื่อ พ.ศ.2417 โดย “พญาสิงหนาทราชา” เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการขึ้นเป็นเจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก วัดพระธาตุดอยกองมูเป็นจุดชมทิวทัศน์ และถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองแม่ฮ่องสอน

 

 

  

   เช้าตรู่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านหญิงชายจะแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง เพื่อทำบุญตักบาตรถวายแด่พระสงฆ์ที่เดินตามขั้นบันได จากวัดพระธาตุดอยกองมู ลงมายังวัดม่วยต่อที่เชิงเขาในยามเช้า ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด สอดคล้องกับความเชื่อที่ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ ซึ่งเป็นภาพที่สวยและงดงามยิ่งนัก

 

 

    

 

 วัดก้ำก่อ เดิมตั้งอยู่บริเวณเชิงพระธาตุดอยกองมูทางทิศใต้ ต่อมาในปี พ.ศ.2433 ได้ย้ายมาที่ตั้งปัจจุบันเพราะใกล้ชุมชนสะดวกสบายในการไปมาหาสู่ ชื่อวัดในภาษาไตหมายถึง “ดอกบุญนาค” มีซุ้มประตูทางเข้าสู่ศาลาการเปรียญที่เรียกว่า “ส่างหว่าง” เป็นเอกลักษณ์ตามแบบสถาปัตยกรรมไต สมัยก่อนชาวบ้านนิยมถอดรองเท้าแล้วเดินเข้าวัดทางส่างหว่าง ตามความเชื่อกันว่า เป็นการไม่เคารพสถานที่หากสวมรองเท้าเข้าไปในวัด เวลาเดินออกก็จะมีดินมีทราย ติดรองเท้าไป ซึ่งถือว่าเป็นบาปหนัก จึงไม่นำสิ่งไม่ดีเข้าวัดและไม่เอาอะไรออกจากวัด

 

 

 

 

    

 วัดพระนอน ตั้งอยู่เชิงดอยกองมู เป็นที่ประดิษฐานพระนอนองค์ใหญ่ ขนาดยาว 12 เมตร ซึ่งพญาสิงหนาทราชาไ้ด้ริเิริ่มสร้างขึ้น แต่ท่านมาจากไปเสียก่อน เจ้านางเมียะ ชายาของท่านได้สร้างต่อจนสำเร็จ ทางวัดไ้ด้จัดเก็บของโบราณจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ ภายในวัดมีรูปปั้นสิงห์คู่ขนาดใหญ่ อยู่ระหว่างทางที่จะขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยกองมู ทีพญาสิงหนาทราชาและเจ้านางเมียะเป็นผู้สร้างคนละตัว

 

 

    

     วัดม่วยต่อ ชื่อ วัดม่วยต่อ แปลว่า วัดแห่งเจดีย์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2432 โดยเจ้านางเมี๊ยะ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนในสมัยนั้น ได้สร้างศาลาการเปรียญแบบไทใหญ่ พุทธศาสนิกชนที่ศรัทธาได้ร่วมมือกันสร้างเจดีย์ขึ้น 6 องค์ ชื่อวัดได้มาจากเจ้าอาวาสรูปแรก ซึ่งย้ายมาจากวัดม่วยต่อ อำเภอหมอกใหม่ รัฐฉานในประเทศพม่า จึงนำเอาชื่อวัดม่วยต่อมาใช้ด้วย ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “จองหม่วยต่อ” และเรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

   

  วัดจองคำ อยู่บริเวณสวนสาธารณะหนองจองคำ เมื่อแรกสร้างเป็นแบบสถาปัตยกรรมพม่า ที่เรียกว่า ปราสาทเรือนไม้ ต่อมาเกิดความชำรุดทรุดโทรม จึงมีการรื้อถอนแล้วสร้างขึ้นใหม่ เป็นรูปแบบศิลปะพม่าผสมผสานไทใหญ่ หลังคาเป็นยอดปราสาท 7 ชั้น ในปี พ.ศ.2513 ได้เกิดไฟไหม้ทั้งหลัง ชาวบ้านชาวเมืองจึงร่วมกันฟื้นฟูปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมภาคกลางผสมปสานภาคเหนือ แต่ก็ยังคงรูปแบบเดิมไว้มากที่สุด มีความเชื่อกันว่า หลังคาที่สร้างเป็นยอดปราสาทเป็นของสูง ผู้ที่จะอยู่ควรเป็นพระมหากษัตริย์หรือตัวแทนพระศาสนาเท่านั้น

      ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อโต หน้าตักกว้าง 4.9 เมตร สูง 5.6 เมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2469 โดยช่างฝีมือชาวพม่า เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่คล้ายพระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) ที่วิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม

 

 

 

    วัดจองกลาง อยู่ในพื้นที่ติดกันกับวัดจองคำ หากใครไม่รู้ก็อาจจะคิดว่าเป็นวัดเดียวกันเพราะไม่มีรั้วกั้น และมักเรียกชื่อต่อกันจนติดปากว่า “วัดจองคำ-จองกลาง” ภายในวัดมีเจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญ ประดับยอดด้วยฉัตรทองสามชั้น บนศาลาการเปรียญจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ รวบรวมโบราณวัตถุหลายอย่าง เช่น ตุ๊กตาไม้แกะสลัก รูปคนและสัตว์เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดก ซึ่งนำมาจากประเทศพม่าในราว พ.ศ.2400, จิตรกรรมแผ่นกระจก ฝีมือช่างไทใหญ่จากมัณฑะเลย์ ฯลฯ

     มีความเชื่อเกี่ยวกับพระอุปคุต ที่ประดิษฐานอยู่ทางเข้าวัดว่า จะต้องมีการบวงสรวงเสียก่อน เมื่อมีการจัดงานเทศกาลหรืองานบุญต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล ไม่เกิดเหตุเพศภัยร้ายใดๆ ซึ่งชาวบ้านต่างยึดถือและปฎิบัติสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

  

 

   วัดหัวเวียง หรือเรียกอีกชื่อว่า “วัดกลางเวียง”  ตั้งอยู่ที่ ถ.สีหนาทบำรุง ติดตลาดเทศบาลแม่ฮ่องสอน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2406  เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าพาราละแข่ง พระพุทธรูปทรงเครื่องซึ่งหล่อจำลองมาจาก " พระมหามุนี " หรือเจ้าพาราละแข่งองค์จริง จากเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า โดยพ่อค้าชื่อลุงจองโพหย่าเดินทางไปอัญเชิญมา โดยสร้างแยกเป็นชิ้น 9 ชิ้น ล่องมาตามแม่น้ำสาละวินเรื่องมาถึงแม่น้ำปาย ประกอบเป็นองค์พระที่วัดพระนอน แล้วนำมาประดิษฐานที่วัดหัวเวียงแห่งนี้

 

 

 

 

  

   วัดดอนเจดีย์  สร้างเมื่อ พ.ศ. 2481 เดิมตั้งอยู่บนภูเขาทิศตะวันตกของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า “วัดกุงเปา” ต่อมาย้ายมาตั้งอยู่ที่ปัจจุบันนี้ ชาวบ้านเรียกว่า “วัดกุงจาตี่” ทางราชการเรียกว่า “วัดดอนเจดีย์” โดยมีพระญาณวีราคม เป็นเจ้าอาวาสวัดรูปแรก ที่ได้บุกเบิกร่วมกับชาวบ้าน สร้างวัดขึ้นมา แทนของเก่าที่ทรุดโทรม มีชาวบ้านและสล่าเจ่งเป็นช่างไม้ ภายในวัดมีพระพุทธรูปทองเหลือง 3 องค์ โดยลุงจ่ายนิด แม่เฒ่าติ้น และลุงประจวบ มีศรัทธานำมาถวายถวาย โดยการนำพระพุทธรูปทองเหลืองบรรทุกรถยนต์มาจากกรุงเทพฯ มาถึงแม่ฮ่องสอน เป็นเวลา 1 คืน 2 วัน แล้วนำพระพุทธรูปทองเหลืองมาประดิษฐานอยู่ในวัดดอนเจดีย์ พร้อมสร้างเจดีย์และโบสถ์ในบริเวณวัด

 

 

    วัดกลางทุ่ง ตั้งอยู่หน้าสนามบินแม่ฮ่องสอน สร้างเมื่อปี พ.ศ.2448 แต่เดิมเป็นสวนกล้วย แรกเริ่มมีการสร้างเจดีย์ขึ้นก่อน ผู้สร้างคือจองอูพะกาแวง กวีวัฒน์ ซึ่งได้ฝันถึงภรรยาที่เสียชีวิตว่า นางต้องการให้สร้างเจดีย์บริเวณนี้ แต่เดิมชื่อ จองป๊กป่าโหย่าง(วัดบุปผาราม) ต่อมามีการดำเนินการขยายวัดใหญ่ขึ้น โดยชาวบ้านผู้มีความศรัทธา เืื่นื่องจากวัดแห่งนี้ตั้งอยู่กลางทุ่งนา ชาวบ้านจึงเรียกติดปากกันมาว่า “วัดกลางทุ่ง” ภายในวัดมีองค์พระเจดีย์ ลักษณะประติมากรรมแบบไทใหญ่ ว่ากันว่ามีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และพระธาตุของพระสารีบุตร บรรจุไว้ภายในองค์พระเจดีย์ด้วย

ปิดท้ายปลายทางที่...บ้านแม่ละนา

     การเดินทางในคราวนี้มาจบที่บ้านแม่ละนา ชุมชนชาวไตในเขต อ.ปางมะผ้า ตามเส้นทางสาย 1095 ระหว่างเส้นทาง พวกเราจอดแวะยืดแข้งเหยียดขา ดูหมอกหยอกยอดไม้ ที่จุดชมวิวบ้านลุกข้าวหลาม พอให้จิตใจแช่มชื่น ก่อนจะออกเดินทางกันต่อ

 

     บ้านแม่ละนา...ชุมชนเก่าแก่ของชาวไตอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศพม่า ตามประวัติหมู่บ้านมีว่า... “นายฮ้อยสาม” ได้เข้ามาสำรวจและเห็นว่าบริเวณหมู่บ้าน เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าชุกชม จึงได้ก่อสร้างที่อยู่อาศัย ปรับแต่งพื้นที่โดยใช้ช้างชักลากไม้ใหญ่ออก เพื่อเปลี่ยนเป็นที่นากลางหุบเขา อยู่มาภายหลังได้เกิดร่องน้ำใหม่ไหลผ่านที่นา จึงเรียก “แม่ลัดนา” เป็นชื่อหมู่บ้าน ภายหลังได้เพี้ยนเป็นแม่ละนาดังปัจจุบัน

     ชีวิตของชาวบ้านแม่ละนา ดำรงอยู่อย่างเรียบง่ายตามวิถีเกษตรกรรม ท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม และเนื่องจากภายในบริเวณบ้านแม่ละนา มีถ้ำซึ่งมีความงดงามอยู่หลายแหล่ง การท่องเที่ยวจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในชุมชน ซึ่งภายหลังได้มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มโฮมสเตย์ ให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม 



     “แรกๆ ไม่เข้าใจ เพราะมันเป็นเรื่องนอกเหนือวิถีชีวิตของพวกเรา”   จำรูญ วงศ์จันทร์ ผู้ประสานงานการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชน บอกความรู้สึกครั้งแรกเมื่อคำว่า “ท่องเที่ยว” เข้ามาในหมู่บ้าน “ชุมชนไม่ไ้ด้มีส่วนร่วมเลยในตอนแรก เป็นคนนอกที่พานักท่องเที่ยวซึ่งส่วนมากเป็นฝรั่งเข้ามา ชาวบ้านบางคนเลยทำที่พักลักษณะเกสต์เฮ้าส์ขึ้น แต่นักท่องเที่ยวก็ทำตัวไม่เหมาะสม มากอดมาจูบกัน คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านก็เห็นว่ามันไม่ดี เพราะวัฒนธรรมเราไม่เคยทำแบบนี้”

     นอกเหนือจากการประพฤติผิดจารีตท้องถิ่น ของนักท่องเที่ยวแล้ว ยังพบปัญหาอีกว่า มีการขนวัตถุธรรมชาติ ออกมาจากภายในถ้ำกันเป็นจำนวนมากด้วย

     “พอชาวบ้านไม่ได้เข้าไปยุ่ง ก็มีคนเข้าไปขนหินในถ้ำ พวกหินงอกหินย้อย หินที่ชาวบ้านเรียกว่าหินเขี้ยวม้า แล้วก็หินที่สวยๆ ออกมา ช่วงหลังๆ มีการเตรียมอุปกรณ์ ขนกันออกมาเป็นลังเป็นกระสอบ พวกเราเลยคิดว่าควรมีการจัดการกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เลยรวมกลุ่มกันขึ้นมา”

  
  
.
    ในปี 2537 จึ่งเริ่มมีโฮมสเตย์เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ในขณะเดียวกันชาวบ้านก็ร่วมกันหาแหล่งทุน เพื่อเสริมศักยภาพให้แก่ชุมชน เช่น การปรับปรุงถนน การทำบันไดทางขึ้นลงถ้ำ ฯลฯ รวมถึงไปดูงานตามที่ต่างๆ ต่อมาได้องค์กรเอกชนชื่อ “โครงการฟื้นฟูชีวิตและวัฒนธรรม จ.แม่ฮ่องสอน” เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง พร้อมความร่วมมือร่วมใจอย่างจริงจังของชุมชน จึงทำให้สามารถบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทั้งในรูปแบบโฮมสเตย์และการนำชมแหล่งท่องเที่ยว โดยคนในชุมชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่เช่นปัจจุบัน
.

 



     กิจกรรมท่องเที่ยวที่เป็นจุดขายของบ้านแม่ละนาคือ การเที่ยวชมถ้ำต่างๆ เช่น ถ้ำปะการัง, ถ้ำเพชร, ถ้ำไข่มุก และถ้ำแม่ละนา ซึ่งเป็นถ้ำที่มีความยาวประมาณ 12 กิโลเมตร มีธารน้ำไหลผ่านตลอด ภายในถ้ำมีน้ำตก ไข่มุกถ้ำ หินงอกหินย้อย ต้องใช้เวลาเดินทางไม่ต่ำกว่า 15 ชั่วโมงจึงจะทะลุปากถ้ำอีกด้านหนึ่ง การเที่ยวถ้ำแม่ละนาจึงต้องมีคนนำทางที่มีความชำนาญ รวมถึงนักท่องเที่ยวต้องมีร่างกายที่พร้อมด้วย


.

  
     นอกเหนือจากการเดินป่าเข้าถ้ำ ยังมีเรื่องราวของสุขภาพ นวดแผนไต อบสมุนไพร, ชมงานหัตถกรรม, ลิเกไทใหญ่(จ๊าดไต) ซึ่งใช้คนแสดงกว่า 60 คน เครื่องดนตรี 12 ชิ้น และการทำน้ำมันงา ด้วยกระบวนการธรรมชาติ โดยนำเมล็ดงาใส่ในโม่ แล้วใช้แรงงานวัวในการอีด(บด) แทนการใช้คน ฯลฯ

     ครั้งนี้พวกเรามีโอกาสไ้ด้เข้าสำรวจ (ต้องเรียกว่าเข้าไปเที่ยว จึงจะถูก) ภายในถ้ำปะการัง ซึ่งยาวประมาณ 1 กิโลเมตร เล่นเอาเหนื่อยหอบ เปื้อนดินเปื้อนโคลนกันถ้วนหน้า

บุญรักษา... คุณพระคุ้มครอง... เจริญสุขทุกๆ ท่านครับ

โฮมเสตย์บ้านแม่ละนา ราคาคืนละ 100  บาท/คน อาหารมื้อละ 70  บาท/คน ไกด์นำเที่ยว  250 บาท/คน บ้าน 1 หลังนักท่องเที่ยวพักได้ไม่เกิน 3  คน ติดต่อ คุณจำรูญ วงศ์จันทร์ โทร.08 5708 8817
การเดินทาง จากเมืองแม่ฮ่องสอนไปตามทางหลวงหมายเลข 1095 ประมาณ 73 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1226 ไปอีก 6 กิโลเมตร ก็จะถึงบ้านแม่ละนา

ขอบขอบคุณ
- งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ภายในประเทศ กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแม่ฮ่องสอน

ธนิสร หลักชัย...เรื่อง / ภาพ

 

ผลงานเขียนของคุณธนิสร หลักชัย

อัลบั้มภาพ 16 ภาพ

อัลบั้มภาพ 16 ภาพ ของ คดโค้งข้างขอบเขา... จากบ้านเมืองปอนถึงแม่ละนา (ตอนจบ)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook