10 เทคนิคถ่ายภาพเด็ก

10 เทคนิคถ่ายภาพเด็ก

10 เทคนิคถ่ายภาพเด็ก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

  เด็กคือขวัญใจของทุกคนในบ้านเมื่อมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นในครอบครัว คุณพ่อ คุณแม่ ที่ไม่เคยสนใจถ่ายภาพเลย ยังต้องแพ้ใจตัวเองทนความน่ารัก ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาไม่ได้ ต้องคว้ากล้องมาบันทึกภาพ และนั่นคือเหตุผลที่คุณจะเป็นช่างภาพประจำตัวลูกไปจนกว่าลูกจะแยกครอบครัวไป จริงหรือไม่? ลองทบทวนดู

  การถ่ายภาพเด็กโดยประมาณน่าจะมีอยู่ 3 ช่วง คือ วัยทารก วัยเด็กเล็ก วัยเด็กโต ในที่นี้จะกล่าวโดยรวมทั้ง 3 ช่วงวัย วัยเด็กเป็นวัยที่สดใสน่ารัก เปล่งปลั่ง ซุกซน ร่าเริง รอยยิ้มเสียงหัวเราะ หรือแม้แต่ร้องไห้ หากถูกเก็บบันทึกเป็นภาพดูอย่างไร? ก็ไม่มีวันเบื่อและภาพต่างๆเหล่านี้จะทรงคุณค่าขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกาลเวลาผ่านพ้นไป จนเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ดังนั้น ณ เวลานี้ เมื่อมีเวลาสำหรับครอบครัว หยิบกล้องขึ้นมาบันทึกภาพความสุข ความทรงจำ ความเจริญเติบโตของลูกหลานกันดีกว่า ขอแนะนำข้อควรรู้และปฏิบัติสัก 10 ข้อ ดังนี้


 1. เด็กทารกนับแต่วัยแรกเกิดไปจนถึงวัยเด็กเล็ก (ก่อนเข้าโรงเรียน) ไม่ควรถ่ายภาพโดยใช้แฟลชเด็ดขาด เพราะแสงแฟลชแรงไปสำหรับดวงตาอันบอบบาง ปิดแฟลชปรับตั้งกล้องเลือก ISO สูง และตั้งความเร็วชัตเตอร์ให้สูงไว้ หากทารกลืมตาแสงอินฟราเรดสีแดงที่เป็นตัวหาโฟกัสยังไม่ควรใช้เลย กล้อง DSLR ปรับโหมดแมนนวลใช้มือหมุนหาโฟกัสดีกว่า

2. อารมณ์ของเด็กต้องแจ่มใส เช่น เวลาตื่นนอน อาบน้ำ กินนมอิ่ม เด็กจะมีความสดใสร่าเริง เช่น ถ่ายภาพตอนอาบน้ำในอ่าง นอนกินนมด้วยความสุข เด็กโตที่วิ่งเล่นซุกซน ก็ใช้หลักการเดียวกันคืออารมณ์สดใส เด็กมีความสุข

 3. ถ่ายในลักษณะที่เป็นธรรมชาติของเด็กให้มากที่สุด ไม่จำเป็นต้องจัดพรอพหรือฉากให้ยุ่งยาก ใช้แนวการถ่าย แคนดิด (ภาพทีเผลอ) จะได้ภาพที่ดูเป็นธรรมชาติ ภาพแบบนี้จะบอกได้ถึงบุคลิก อุปนิสัย เช่น เด็กเรียบร้อย เด็กซุกซน ดูได้จากภาพทีเผลอนี่ล่ะ

 4. หาสิ่งของจูงใจเด็กในการถ่ายภาพ วัยทารกอาจเป็นของเล่นสีสัน เขย่ามีเสียง สร้างความสนใจให้เด็กเพ่งมอง เด็กเล็กถึงเด็กโตก็ชอบของเล่นสารพัดอย่าง รวมถึงสัตว์เลี้ยงแสนรักของเด็กมาเป็นเพื่อนเล่น ถ่ายภาพขณะเล่นกับสัตว์เลี้ยงถ่ายไปเรื่อยๆ หลายๆ มุม ต้องได้ภาพประทับใจสักภาพ...สิน่า

 5. แสงยามเช้าและช่วงเย็นภายนอกตัวบ้าน เหมาะกับการถ่ายมากที่สุด หรือแสงที่ส่องผ่านหน้าต่างประตูเข้ามา เพราะจะได้ภาพที่ดูดีมีมิติของแสง สี ภาษาช่างภาพเรียกว่ามุมไม่ตัน หากถ่ายในบ้านต้องใช้แฟลชภาพจะแบน (แฟลชไม่เหมาะจะใช้) จึงแนะนำว่าพรอตเทรตของเด็กรวมถึงทารกด้วยแสงนอกบ้านริมระเบียง มุมในสวน สนามหญ้า สระว่ายน้ำ ภาพจะดีกว่าภายในบ้าน แต่ต้องเลือกช่วงเวลาที่แสงไม่ร้อนแรงจนเกินไป

 6. เลือกโหมดการถ่ายภาพที่ปรับสปีดชัตเตอร์ S สูง เช่น 1/250 หรือ 1/500 เพราะในการถ่ายเราไม่ต้องการให้เด็กยืนนิ่งๆ การโพสท่าทางไม่จำเป็น เด็กทำกิจกรรมอะไรอยู่เราก็ถ่ายภาพตาม ซึ่งธรรมชาติของเด็กหยุดนิ่งไม่เป็น สปีดชัตเตอร์สูงจึงช่วยหยุดการเคลื่อนไหว 

7. เลือกฉากหลังที่ไม่รกรุงรัง จะทำให้ถ่ายภาพเด็กออกมาแล้วเด็กดูเด่นน่า สนใจหรือ ในรายใช้กล้อง DSLR ซึ่งใช้เลนส์ซูมก็ปรับดึงซูม เลือกรูรับแสงที่กว้างเช่น f4 หรือ f5.6 ผลก็คือฉากหลังจะทิ้งเบลอภาพตัวเด็กจะโดดเด่นขึ้นมาทันที

8. ถ่ายในแนวระดับเดียวกับเด็ก อย่าลืมว่าเด็กเมื่อเริ่มหัดเดินหรือเด็กเล่น ขนาดความสูงซึ่งต่ำกว่าผู้ใหญ่มาก ในการถ่ายให้ภาพมีชีวิตชีวา ต้องลงไปนั่งหรือคุกเข่า ย่อตัว นอนราบกับพื้นเพื่อให้ได้ระดับสายตาเดียวกับเด็ก ภาพที่ออกมาสามารถสื่อสารทางอารมณ์ด้วยสายตา (Eye Contact) ที่มีต่อกล้องหรือผู้ดูภาพนั่นเอง

9. มีจิตวิทยาที่ดี ผู้ถ่ายภาพเด็กจะเป็นพ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา หรือช่างภาพอาชีพ จะต้องเข้าใจในจิตวิทยาของเด็ก ซึ่งธรรมชาติของเด็กจะกิน เล่น ซน หลับ หิว ถ้ามีความเข้าใจใน ตรงนี้จะปรับตัวเข้ากับเด็กได้ง่ายขึ้น เช่น รู้ว่าเหนื่อย หิว ง่วงนอน เบื่อ ต้องแก้ไขอารมณ์เหล่านี้ของเด็กให้แจ่มใสขึ้นมาก่อน เหนื่อยก็ให้พัก หิวก็ให้กิน ง่วงก็ให้หลับ เบื่อก็ต้องหากิจกรรมอื่นที่เด็กสนใจมาหลอกล่อ

10. ห้ามบังคับเด็กถ่ายภาพเด็ดขาด ข้อนี้สำคัญที่สุด เพราะหากเด็กถูกบังคับให้ถ่ายภาพ ความไม่ชอบจะติดฝังในใจ โตขึ้นมาจะเกิดอาการเกร็งกล้องเมื่อจะโดนถ่ายภาพ จึงไม่ควรบังคับ ดุดัน เพื่อที่จะให้เด็กมาถ่ายภาพ การซึมซับให้กลัวและถูกบังคับ จะฝังรากลึกและแกะออกจากใจของเด็กได้ยาก หนทางในการถ่ายภาพเด็กให้ประสบความสำเร็จ ข้อ 1-10 นำมาปฏิบัติได้เลย 

 เชื่อว่าต่อจากนี้ ปฏิบัติการถ่ายภาพเด็กของทุกท่านจะถูกพัฒนาขึ้นในทุกด้าน

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook