10 เทคนิค ถ่ายภาพแคนดิด (Candid) ที่ควรรู้

10 เทคนิค ถ่ายภาพแคนดิด (Candid) ที่ควรรู้

10 เทคนิค ถ่ายภาพแคนดิด (Candid) ที่ควรรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

   ทำไมต้องแคนดิด? หากคุณเคยดูรายการทีวีประเภทแอบถ่าย ซ่อนกล้องโดยที่ผู้กำลังถูกแพร่ภาพไม่ทันรู้ตัวจึงได้แสดงอารมณ์ต่างๆ ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ นั่นเรียกว่าแคนดิด  

 

  เช่นเดียวกันกับการถ่ายภาพนิ่ง หากบุคคลที่เป็นแบบ (ไม่นับรวมพวกที่เป็นนางแบบอาชีพ) รู้ตัวว่ากำลังถูกบันทึกภาพ มักจะมีอาการเกร็งหรือประหม่า ทำให้ภาพที่ได้ออกมามีความรู้สึกแข็งๆ เป็นธรรมชาติไม่ได้

ช่างภาพจึงต้องใช้เทคนิคการถ่ายแบบแคนดิด อันนี้ไม่เกี่ยวกับพวกโรคจิตที่เที่ยวไปแอบถ่ายคนเข้าห้องน้ำ หรือถ่ายผู้หญิงตามสะพานลอยนะครับ การถ่ายแคนดิดต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายเป็นสำคัญ
 
เทคนิคที่ควรรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพแนวแคนดิด

1.ควรใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ความยาวโฟกัสประมาณ 70-210 มิลลิเมตร หรือมากกว่า เพื่อให้สามารถถ่ายภาพได้โดยไม่เข้าใกล้ตัวแบบมากนัก แต่ก็ใช่ว่าต้องใช้เลนส์เทเลเท่านั้น ในการถ่ายภาพแคนดิด

แม้แต่เลนส์มุมกว้างก็สามารถนำมาถ่ายได้ หากช่างภาพรู้จักเทคนิคในการหลีกเลี่ยงความสนใจจากตัวแบบ โดยอาจแกล้งทำเป็นโฟกัสสิ่งอื่นๆ ไปก่อน  จนกระทั่งตัวแบบเผลอจึงกดชัตเตอร์ วิธีนี้อาจได้ภาพของผู้ที่เป็นแบบเล็กไปสักหน่อย แต่ก็สามารถนำมา Crop ใช้ในภายหลังได้

2.ควรเลือกปรับกล้องที่ Mode A เพื่อตัดปัญหาเรื่องการปรับความเร็วชัตเตอร์ เนื่องจากบางครั้งภาพแคนดิดดีๆ เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วินาที ในสภาพแสงที่ยุ่งยาก ตัวอย่างเช่น

เด็กเข็นผักผ่านช่องที่มีแสงลอดออกมาจากตัวตึก ช่วงที่เด็กเข็นผ่านแสง อาจเกิดขึ้นเพียงไม่ถึงเสี้ยวนาที ลักษณะนี้ช่างภาพเพียงแต่เลือกหน้ากล้องที่ต้องการ แล้วรอคอยจังหวะที่เหมาะสม จึงบันทึกภาพก็น่าจะได้ภาพที่พอใจ

 

3.ทำตัวกลมกลืน  หลายครั้งนักถ่ายภาพนิยมจะถ่ายภาพแนวแคนดิดกับกิจกรรมต่างๆ เช่น พระตากจีวร ชาวนา ปลูกข้าว ลักษณะเช่นนี้ควรต้องเฝ้าดูเพื่อเลือกมุมและทำความคุ้นเคยกับแบบก่อน วิธีนี้ช่วยได้มาก

โดยเฉพาะหากผู้เป็นแบบใจดี เราอาจขอให้ทำซ้ำได้ หรือเคลื่อนย้ายหาฉากหลังดีๆ โดยที่พวกเขาก็ไม่รู้สึกเคอะเขิน เพราะได้ผูกมิตรกันไว้ก่อนแล้ว

4.คาดการณ์ล่วงหน้า  ไปถึงก่อนเวลา ในการถ่ายแคนดิด  ช่างภาพควรใช้เวลาสำรวจสถานที่ก่อนถ่าย เช่น หากต้องการถ่ายภาพชาวประมงต้องรู้ว่าเขาจะมาถึงบริเวณฝั่งหรือท้องน้ำเวลากี่โมง

 และแสงจะมาจากทางด้านใด ลองคิดดูว่า หากชาวประมงกำลังหาปลาแล้วมีคนเดินมาถ่ายภาพ พวกเขาอาจจะหยุดชะงัก แต่หากเราไปถึงสถานที่ก่อน ล่วงหน้าแล้วทำทีเป็นรอถ่ายวิวทิวทัศน์ โดยไม่ได้สนใจกับพวกเขารอจนพวกชาวประมงลงเรือจับปลา จึงบันทึกภาพ ภาพแบบนี้น่าจะได้อารมณ์ที่เป็นแคนดิดมากกว่า

5.หาตัวช่วย หากคุณต้องไปถ่ายภาพแม่ค้าในตลาด แต่ในวันนั้นลูกค้าน้อยมาก แม่ค้านั่งซึมเซาดูเงียบเหงา อาจให้เพื่อนช่วยเข้าไปขอดูสินค้า ชวนพูดคุยให้แม่ค้ารู้สึกมีชีวิตชีวา

คุณอาจได้ภาพแคนดิดแม่ค้าที่กำลังนำเสนอสินค้า ด้วยแววตาที่มีประกายของความหวัง โดยคุณใช้เลนส์เทเลตัวเก่ง คอยบันทึกภาพอยู่ห่างๆ ( ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงช่วยซื้อด้วยก็ดีนะ)

6.ลองหามุมแปลกๆ ดู เช่น หากไปถ่ายภาพคนที่นั่งทำกระทง  ในช่วงเทศกาลลอยกระทง  ช่างภาพส่วนมากจะนิยมถ่ายด้านหน้าตรง ลองเปลี่ยนหามุมสูง ถ่ายลงมาน่าจะแปลกตาดี ตัวแบบเองก็อาจไม่รู้ว่ากำลังถูกถ่ายภาพ เพราะช่างภาพไม่ได้อยู่ในระดับสายตาของพวกเขา


7.Shot สุดท้าย ลองเรียกให้แบบรู้ตัว หลายครั้งที่ถ่ายภาพแคนดิด ช่างภาพอาจแอบบันทึกภาพ  โดยที่แบบไม่รู้ตัว จนพอใจแล้ว ลองเรียกให้แบบรู้ตัว หันมามองกล้อง แล้วรีบถ่ายshot นั้นทันที รับรองว่าจะได้ภาพที่มีอารมณ์แปลกๆ เช่น ยิ้มเขิน หัวเราะ หรือแม้กระทั่งตกใจ (แต่ควรดูอารมณ์ของผู้เป็นแบบก่อนก็ดีนะครับ)

8.ใช้ ISO สูง หรือเลือกใช้เลนส์หน้ากล้องกว้าง โดยทั่วไปผู้คนจะอยู่ในที่ร่ม (ใครอยากจะไปเดินร้อนกลางแดด ยกเว้นพวกฝรั่งที่นอนตามชายหาด) สภาพแสงย่อมน้อยตามไปด้วย ครั้นจะใช้แฟลชตัวแบบก็จะรู้ตัว

 หรืออาจมีเงาแข็งไม่สวย ตั้ง ISO400   คงไม่ทำให้ภาพเกิด noise มากเท่าใดนัก ยิ่งกล้องรุ่นใหม่ๆ ISO800 หรือมากกว่า ยังให้ภาพคมชัดอยู่เลย ส่วนเลนส์ที่มีหน้ากล้องกว้าง ประเภท F/2.8 ก็ดีแน่นอน แต่อาจต้องใช้ทุนสูงสักหน่อย

9.สื่อความหมาย  ภาพแนวแคนดิดที่ดี ต้องสื่ออารมณ์หรือความหมายที่แฝงอยู่ ให้ผู้ที่ชมภาพได้นำไปคิดต่อ ครั้งหนึ่งผมเคยถ่ายภาพชาวบ้านแถบชายแดนไทยพม่า เป็นภาพเด็กผู้หญิงนั่งผิงไฟในช่วงฤดูหนาว

  โดยมีคุณปู่หรือตาก็ไม่รู้นั่งอยู่ด้านหลัง ผมโฟกัสเฉพาะเด็ก ส่วนผู้เฒ่าเบลอเล็กน้อย โดยความรู้สึกส่วนตัว  ผมชอบภาพนี้ เพราะมันสื่อถึงการเกิดขึ้นและดับลง การเวียนว่ายตายเกิดของชีวิตอะไรทำนองนั้น เทคนิคส่วนตัว ผมมักจะตั้งชื่อภาพในใจก่อนถ่ายภาพเสมอ   มันช่วยให้มีจินตนาการดีครับ

10.ให้เกียรติแบบที่เราถ่ายภาพ อย่าคิดว่าแบบที่อยู่ตรงหน้าเป็นตัวประหลาด จนกดชัตเตอร์โดยไม่สนใจใคร (ไม่ว่าเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) อุปกรณ์ที่ติดตัวไปก็ควรให้พอดีกับงาน ประเภทกระเป๋าใหญ่โตเหมือนตู้เย็น หรือซองใส่เลนส์รอบเอว แถมใส่เสื้อกั๊ก จนคนมองกันทั้งตลาด น่าจะเหมาะไปถ่ายภาพกีฬามากกว่า

 สุดท้ายอย่าลืมรอยยิ้มและเอ่ยคำขอบคุณ หรือขอโทษหากผู้เป็นแบบแสดงอาการไม่พอใจ เอ้า! แคนดิดกันเลยครับ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook