ปริตุ๊โกร ทีลอชู (ตอนแรก)

ปริตุ๊โกร ทีลอชู (ตอนแรก)

ปริตุ๊โกร ทีลอชู (ตอนแรก)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สันดอยสามหมื่น น้ำตกสูงสุดเมืองไทย “ปริตุ๊โกร ทีลอชู!” ตอนแรก

หมู่บ้านกุยเลอตอ 

    กุยเลอตอ” ชุมชนเล็กๆ บนพื้นเพการดำรงวิถีชีวิตอย่างเรียบง่ายสงบงามตามแบบฉบับของคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ไม่มีอะไรพิเศษต่างจากหมู่บ้านกะเหรี่ยงในเขตอำเภออุ้มผาง และหลายชุมชนตลอดเส้นทางสาย 1288 ที่เลาะขนานพรมแดนไทย - พม่า ที่พวกเราผ่านมาเมื่อครู่  แม้อดีตพื้นที่แถบบ้านกุยเลอตอ เคยเป็นจุดตรวจเอกสารผ่านแดนจากคนฝั่งพม่า ซึ่งเอกสารดังกล่าวถูกบรรจุอยู่ในกระบอกไม้ไผ่ จนมาเป็นตำนานเรียกขาน “อุผะ” ที่เพี้ยนมาเป็น “อุ้มผาง” ชื่ออำเภอในปัจจุบัน  แต่ชุมชนแห่งนี้ก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักเป็นที่สนใจของภายนอก หรือแม้แต่คนอุ้มผางเองก็ตาม

หมู่บ้านกุยเลอตอ       ทว่า! วันนี้บ้านกุยเลอตอ กำลังกลายเป็นจุดเริ่มต้นของดินแดนอัศจรรย์ทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของนักผจญภัยที่กำลังถูกกล่าวขวัญถึงในเวลานี้.... เรากำลังจะได้พบน้ำตกที่ว่ากันว่าสูงที่สุดของเมืองไทย “ปริตุ๊โกร ทีลอชู”

     บ้านเรือนยกสูง ฝาไม้ขัดแตะ หลังคามีทั้งหญ้าคา สังกะสี และไม้สับแผ่น ใต้ถุนที่สูงราวเมตรถึงสองเมตร มีไว้เก็บเครื่องมือเครื่องใช้ไม้สอยทางการเกษตร แทบทุกบ้านมีฟืนหุงต้มเรียงอยู่ใต้ถุนอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย บางบ้านใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ ผูกเลี้ยงไว้ทั้งวัว หมูตัวดำเมี่ยม เป็ดไก่ปล่อยปละอย่างอิสระ และที่สะดุดตาที่สุดคือ แพะสองตัวยืนมองหน้าสลอนออกมาจากใต้ถุนอย่างสบายอกสบายใจ

 หมู่บ้านกุยเลอตอ

     เด็กเล็กเด็กน้อยวิ่งเล่นอยู่กลางถนนดินแดง และแอ่งน้ำขังสีแดงขุ่นกลางหมู่บ้านหลังฝนซาไม่นาน มะน่อ(หญิงสาว) และหญิงวัยกลางคน โดยมะน่ออยู่ในเสื้อถักทอสีขาวแบบกะเหรี่ยงนุ่งผ้าถุง ทั้งสองคนสวมหมวกใบงอบปลายแหลม ข้างตัวสะพายข้องสำหรับเก็บปลา ในมือถือเบ็ดที่ทำจากไม่ไผ่ลวกคันยาว เดินกลับมาจากเกี่ยวเบ็ดตกปลาในแม่น้ำแม่จันท้ายหมู่บ้าน บรรยากาศในยามนี้สำหรับผู้ผ่านทางเข้ามารู้สึกได้ถึงความเรียบง่ายสงบงามไม่น้อย

หมู่บ้านกุยเลอตอ 
     ชุมชนบ้านกุยเลอตอมีราวห้าถึงหกสิบหลังคาเรือน คนที่นี่ร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นชาวกะเหรี่ยง  ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีบัตรประชาชนเพราะเป็นต่างด้าว ชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาตั้งหลักปักฐานตั้งแต่รุ่นผู้เฒ่าผู้แก่ แต่มีบัตรชาวเขาหรือบัตรเหลือง ถือสิทธิเป็นประชากรของประเทศเช่นกัน  ชุมชนแห่งนี้จัดตั้งเป็นหมู่ที่ ๖ ขึ้นอยู่กับตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง มีแม่น้ำแม่จันไหลผ่านหมู่บ้าน แม่น้ำสำคัญอีกสายหนึ่งของอุ้มผางมีต้นกำเนิดจากดอยผะวี ซึ่งเป็นเทือกเขาที่กั้นระหว่างไทย- พม่า ไหลมาสบห้วยแม่กลองที่ปางห้วยแม่จันรวมเป็นแม่น้ำแม่กลองในที่สุด
 หมู่บ้านกุยเลอตอ

     เรามาหยุดรถตรงบ้านหลังหนึ่งที่พบเด็กเล็กสองสามคนวิ่งเล่นอย่างสนุกสนานอยู่บนเรือนตามประสาเด็ก โดยมีผู้เป็นแม่กำลังเลี้ยงลูกอ่อนอยู่ไม่ห่างกัน พี่อู๊ดดี้ (เจ้าของตูกะสู คอทเทจ) ถามถึงจะตุ๊ กับแม่เด็ก เธอตอบกลับมาว่าจะตุ๊ไม่อยู่ พร้อมกันนั้นมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งออกมาบอกเพิ่มเติมว่าจะตุ๊ ไปไร่ “มีใครพาไปทีลอชู (หมายถึงน้ำตกใหญ่)ได้บ้าง?” พี่อู๊ดดี้ ถามต่อ

 หมู่บ้านกุยเลอตอ

    “น้ำตกที่ดอยสามหมื่นนะหรือ ผมพาไปได้!” เขาตอบ เพื่อความแน่ใจว่าจะเป็นน้ำตกเดียวกันหรือไม่จึงซักถามกันอยู่นาน และสุดท้ายแน่ใจว่าเป็นน้ำตกเดียวกัน เพราะวิโรจน์ (ชื่อของเด็กหนุ่มคนนี้) เป็นลูกหาบพานักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งขึ้นไปเมื่อเดือนก่อนพร้อมกับนำรูปภาพน้ำตกและยอดดอยสามหมื่นที่กลุ่มนักท่องเที่ยวดั่งกล่าวส่งมาให้จะตุ๊ไว้เป็นที่ระลึก มาให้เราดูเพื่อยืนยัน... “ถ้าอย่างนั้นวิโรจน์พาเราไป และหาคนนำทางเพิ่มอีกคนนะ” พี่อู๊ดดี้บอกกับวิโรจน์ จากนั้นเขาเดินมุ่งไกลออกไปยังบ้านหลังหนึ่งไม่นานกลับมาบอกว่าได้คนเรียบร้อย

หมู่บ้านกุยเลอตอ 

     ต่างคนต่างจัดเตรียมสัมภาระของแต่ละคน ซึ่งเราก็มีเป้คนละใบและอุปกรณ์ถ่ายภาพ ส่วนพวกเสบียงอาหารและอุปกรณ์ประกอบอาหารยกให้เป็นหน้าที่ของวิโรจน์กับพะตี้ (พะตี้ เป็นภาษากะเหรี่ยงหมายถึง ลุง)แบกขน พูดถึง “พะตี้ หรือ ลุงส่วย” คนนี้จัดว่าเป็นผู้เฒ่าที่เรี่ยวแรงแกร่งเกินอายุครับ เห็นตัวเลขของแกร่วมหกสิบ แต่พละกำลังราวเด็กหนุ่มอายุสิบแปด และขอบอกครับ! เขาคนนี้ที่กลายเป็นสีสัน คอยเรียกเสียงเฮฮาประจำคณะ และด้วยความซื่อที่เต็มเปี่ยมด้วยความบริสุทธิ์จริงใจ พะตี้จึงเป็นที่ชื่นชอบของพวกเรา ฉะนั้นนอกจากเรื่องราวของการสำรวจเส้นทางนี้แล้วนั้น เราจะมีเขามาคอยเรียกเสียงฮา สร้างความครื้นเครงเป็นส่วนผสมเติมเต็มบรรยากาศให้กลมกล่อมลงตัว....สรุปว่างานนี้ ในคณะมีพี่อู๊ดดี้, ลูกน้องพี่เขาหนึ่งคน, วิโรจน์, พะตี้, ดิว และก็ผม รวมห้าคนกำลังดี

เกล็ดหอย บางท้องถิ่นเรียก แววมยุเรศ  กล้วยจะก่าหลวง กล้วยไม้สกุล Coelogyne 
ฉัตรฟ้า

      หลังจากจัดการอาหารมื้อเที่ยงก่อนออกเดินทาง ไม่ทันได้ก้าวเท้าออกจากชายคา

 ฝนก็เทกระหน่ำลงมาอีกระลอก ไม่รู้จะเรียกว่านิมิตหมายอันดีหรือเผชิญอุปสรรคกันตั้งแต่แรก  เอาเป็นว่าลุยไหนลุยกัน นึกว่าเทวดาโปรยน้ำมนต์ก็แล้วกัน เปียกเป็นเปียกกลัวอะไรกับฝน พี่อู๊ดดี้ว่าอย่างนั้น แต่ผมเห็นแกคว้าเสื้อกันฝนจากเป้มาสวมใส่ก่อนใครเพื่อน ส่วนพะตี้ แกก็ไม่ใช่ย่อยครับ งานนี้มาด้วยเสื้อแดงแรงฤทธิ์ กางเกงขาสั้นชุดเดียวลุยตลอดทริป เป้แกนั้นเท่ห์สุดๆ ครับ เป็นกระสอบปุ๋ยที่ใช้เชือกผูกไปมาแล้วขัดด้วยไม้จนกลายเป็นเป้ พอเป้ขึ้นหลังได้จากนั้นก็เอาผ้ายางคลุมตัวอีกที แล้วชิงสตาร์ทเดินล่วงหน้าไปก่อนใคร

ตามธารน้ำจะพบเห็นเฟินหลายชนิดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก

      แต่เอ๊ะ! เมื่อมองไปยังเท้าลุงแก ก็อดสงสัยไม่ได้ “ พะตี้ ไม่ใส่รองเท้าหรือ” ผมถามขึ้น “ใส่แล้วเดินไม่เป็น” พะตี้ตอบทำนองว่าเดินเท้าเปล่าถนัดกว่า เพราะตั้งแต่เด็กจนอายุอานามขนาดนี้ ชินกับการเดินเท้าเปล่ามาตลอด เรียกได้ว่าชั่วชีวิตแกมีรองเท้านับคู่ได้

ดอกของพืชในวงศ์ขิงข่า

     เห็นแกพูดเล่นพูดจริงไม่ทราบนะครับ ว่าครั้งหนึ่งเคยลองใส่รองเท้าไปเดินป่า เล่นเอาเกือบตาย เดินไม่เป็นท่าพาให้ลื่นล้มตลอดเวลา นับแต่นั้นมารองเท้าไม่มีทางได้สัมผัสฝ่าเท้าของแกเลย ( “คำเตือน!” ... เป็นความสามารถเฉพาะตัวห้ามลอกเลียนแบบ) แต่ถ้าอยากทำได้เหมือนพะตี้ คุณจะต้องฝึกฝนให้ถึงขั้นฝ่าเท้าทนน้ำทนไฟและของมีคมเสียก่อน หรือประมาณว่าหนังหนาตายด้านไม่แพ้ฝ่าเท้าช้างนั่นแหละครับ

    เดินออกมาถึงทางแยกเข้าหมู่บ้านในตอนขาเข้ามา แล้วไปตามทางลาดยางไม่ถึงร้อยเมตร ตัดข้ามไปอีกฝั่ง เดินเลาะเข้าไปตามทางดินเละๆ ที่น้ำท่วมขังเฉอะแฉะจากฝนที่ตกลงมาแทบทุกวัน เส้นทางนี้ชาวบ้านใช้เข้าไร่ ทำสวนและเก็บหาของป่าบริเวณป่าเหนือไร่และนา เช่นเดียวกับวัวควายต่างใช้เส้นทางนี้ร่วมกัน ตรงที่พอเป็นแอ่งน้ำและลำห้วยเล็กๆ ก็จะเป็นที่เสพสุขนอนแช่น้ำแช่โคลนของเจ้าสัตว์เท้ากีบ ตลอดทางเดินเราจึงเห็นรอยเท้าพวกนี้เหยียบเดินไปมาจนเป็นหลุมบ่อโคลนตลอดทาง

    มันทำให้พวกเราต้องเดินลุยไปตามหลุมโคลนและคอยระวังลื่น ถ้าพลาดเหยียบผิดลงไปยุบจมเกือบครึ่งแข้ง ตอนดึงเท้าออกพาให้รองเท้าหลุดออกจากเท้าฝังอยู่ในโคลน จำต้องเอามือควานหา เล่นเอาเลอะเทอะไปตามๆ กัน แค่ด่านแรกยังไม่ทันได้เดินเข้าป่าปีนเขาก็ตัดกำลังเกือบครึ่งชั่วโมงกว่าจะพ้นทางเดินเละๆ เหล่านี้ เห็นจะมีก็แต่พะตี้นั่นแหละครับที่งานนี้เท้าเปล่าของแกไม่มีลื่นหรือกลัวจะต้องลุยโคลน แกย่ำผ่านไปอย่างสบายเท้า ให้พวกใส่รองเท้าไม่ว่าจะยี่ห้อไหน ถูกหรือแพงประสบชะตากรรมเดียวกัน

    ข้าวไร่เริ่มออกรวง เขียวสดชื่นเต็มทั่วทุ่งนาสุดลูกหูลูกตา เราปีนข้ามรั้วสูงระดับเอวที่ทำกั้นไม่ให้วัวรุกล้ำเข้ามาเหยียบย่ำและขโมยเล็มข้าวกิน ผ่านไปตามทางจนสุดปลายนาข้ามรั้วอีกครั้ง ระหว่างเดินมองเห็นภูเขาสูงโด่ดเด่นกว่าใครเพื่อน และยังมองเห็นสายน้ำบางช่วงบางตอนในระยะไกล

ตรงนั้นเองคือยอดเขาดอยสามหมื่นและน้ำตกใหญ่ ที่ชาวกะเหรี่ยงเรียก ทีลอชู โดยไม่ได้มีชื่อหรือตั้งขึ้นใหม่ แต่ทราบจากพะตี้ว่า สายน้ำตกนั้นไหลมาเป็นห้วยปริตุ๊โกร ที่เรากำลังผ่านเข้ามาและจะต้องเดินเลาะคู่ไปกับลำห้วยนี้ในบางช่วง

ด้วงคีมใหญ่

    วันนี้น้ำในห้วยปริตุ๊โกรค่อนข้างมาก พบร่องรอยน้ำหลากกัดเซาะตลิ่งพังลงมาขยายอาณาบริเวณกว้างขวาง บางช่วงสายน้ำเปลี่ยนทางอันเกิดจากกระแสน้ำแรงและมาก จนทำให้น้ำหอบเอาหินและดินปิดกั้นทางเดิมไว้กระแสน้ำจึงเปลี่ยนทิศกลายเป็นทางน้ำใหม่ที่อยู่ไม่ห่างกัน ห้วยปริตุ๊โกรจะมีลำห้วยเล็กห้วยน้อยมากมาย เช่นห้วยมอโกร ห้วยกะแนโกร เป็นต้น ไหลมาบรรจบจากนั้นลงไปรวมกับแม่น้ำแม่จันอีกที

ธารน้ำที่เห็นเป็นสายน้ำจากนำตกปริตุ๊โกร ถัดไปเป็นทิวเขาดอยมะม่วง

    แม้ว่าปริมาณน้ำในห้วยปริตุ๊โกรจะมาก แต่สายน้ำก็ไม่ขุ่นหากยังคงใสสะอาด แตกต่างจากลำน้ำสายอื่นๆ ที่มักจะขุ่นแดงในเวลาน้ำหลากหรือฝนตกหนักๆ ซึ่งบ่งบอกได้อย่างหนึ่งว่าป่าเหนือลำห้วยปริตุ๊โกรขึ้นไปยังคงสภาพสมบูรณ์ไม่น้อยทีเดียว และเป็นนัยให้เรารู้ว่าน้ำตกสูงเสียดฟ้านั้นจะต้องมีน้ำมากอย่างแน่นอน

สีแดงสดของดอกบิโกเนีย

 

จากจุดพักแรมในคืนแรงมองเห็นสายน้ำตกปริตุ๊โกรอยู่ในฉากหลัง

    พ้นปลายนาสุดท้ายเริ่มเข้าสู่อาณาจักรใต้ร่มชายคาของผืนป่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นป่าไผ่ ทั้งไผ่หก ไผ่นวลและไผ่ผาก โดยมีไม้ยืนต้นแทรกอยู่ประปราย เช่น ยางนา มะค่าโมง ชิงชันและตะเคียน เป็นต้น ใต้ต้นยางนาพวกเราเลือกพักเหนื่อย และสำรวจข้าวของในเป้ว่ายังอยู่ในสภาพดีอยู่หรือเปล่าหลังเผชิญสายฝนมาตลอดทางก่อนหยุดตกได้ไม่นาน สายลมพัดบางเบาปะทะความเปียกชื้นของเสื้อผ้าและผิวกายจนรู้สึกเย็นจับใจไม่น้อย

 

สภาพป่าดินเขาบริเวณที่ค้างแรม

    ผมแหงนมองลูกยางที่ร่วงหล่นควงหมุนร่อนพลิ้วไปตามแรงลม พาให้คิดถึงวัยเด็กที่ชอบชวนเพื่อนเข้าป่าเก็บลูกยางที่มีปีกสองข้างมาขว้างเล่น ให้มันค่อยๆ หมุนพลิ้วลงสู่พื้น สมัยนั้นไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าการเล่นสนุกตามประสาเด็กในท้องถิ่นชนบท แต่พอโตขึ้นเมื่อได้เรียนรู้เรื่องราวจากป่าและเดินทางมากขึ้น ทำให้รู้เห็นคุณค่าของป่าในแง่มุมหนึ่ง

ธรรมชาติมิได้สร้างปีกสองข้างของลูกยางไว้ให้เด็กขว้างเล่น หากเพราะไม้ยางเป็นไม้ขนาดใหญ่ แผ่รัศมีของร่มใบออกไปกว้างไกล ธรรมชาติจึงสร้างปีกสองข้างของลูกยางเอาไว้ ยามลูกแก่พร้อมจะแพร่พันธุ์ก็จะหล่นจากยอดไม้สูง ควงหมุนร่อนพลิ้วลอยไปไกลจากต้นแม่เพื่อกระจายพันธุ์ จะได้ไม่ต้องแย่งอาหารและที่เติบโตกับต้นแม่ เป็นการดำรงสืบพันธุ์ตามกลไกธรรมชาติอันสมเหตุและผลเสมอ

 

     ตามกอไผ่ มีบางลำต้นถูกเฉาะตัดหาหนอนรถด่วนที่อยู่ในกระบอกไม้ไผ่ หนอนรถด่วนอาหารจานเด็ดที่เต็มไปด้วยโปรตีนและปลอดสารพิษ นับเป็นอาหารจากป่าที่คนชนบททางภาคเหนือนิยมกินมานานแล้ว วิถีคนอยู่กับป่ามาตลอดจึงรู้วิธีหากินใช้ประโยชน์จากป่า โดยเฉพาะป่าท้ายไร่ปลายนาหรือรอบหมู่บ้านจึงเปรียบได้ดั่งซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะมีอาหารนานาชนิดให้เกี่ยวให้เก็บหมุนเวียนตามฤดูกาล ด้วยความใกล้ชิดกับผืนป่าชาวบ้านจะรู้ว่าอะไรควรอยู่ตรงไหนของป่า รู้ว่าหน่อไม้จะมีอยู่ตรงไหน เห็ดป่าจะขึ้นอยู่ที่ใด ตามวันเวลาใด

 

   พวกเขาไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือคอยวัดความชื้น  ไม่มีเครื่องวัดอุณหภูมิแต่รู้จักธรรมชาติด้วยประสบการณ์ วันไหนร้อนอบอ้าวในอากาศที่ชุ่มชื้น พวกเขาจะรู้ได้ทันทีว่าพรุ่งนี้หรือมะรืน เห็ดจะผุดขึ้นมาจากดิน รู้กระทั่งเมื่อใดปูปลาจะมาตามกระแสน้ำ วันไหนกบจำศีล และเขารู้ว่าลำไผ่ไหนจะมีหนอนรถด่วน “กาบหนาๆ ข้อลำไผ่สั้นๆ แกนๆ นั่นล่ะมีรถด่วนอย่างแน่นอน” ตามคำบอกของพะตี้

 

     เส้นทางช่วงต่อไปต้องเดินขึ้นเขาอย่างเดียว ลัดเลาะไปตามแนวสันเขา และใต้เรือนป่าดิบแล้ง คาดการณ์ว่าน่าจะใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษ จึงจะถึงทางแยกลงเขาช่วงสุดท้ายเพื่อไปยังที่พักคืนแรกตรงริมน้ำหรือบริเวณตีนน้ำตกที่เป็นเป้าหมายครั้งนี้

     ทุกอย่างถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เมื่อเส้นทางจากสันเขาลูกหนึ่งเชื่อมต่อไปยังสันเขาอีกลูกหนึ่งโดยอัตโนมัติ ความชันที่ถ่วงเรี่ยวแรงจนไม่อาจก้าวย่างเดินได้ดั่งใจ เพราะความเหน็ดเหนื่อย และอาการขมวดตึงของกล้ามเนื้อทั้งสองขา เม็ดเหงื่อผุดออกมาตามตัวและใบหน้าผสมหยดน้ำฝนที่ตกปรอยๆ ลงมาอีกครั้ง จึงเปียกฉ่ำไปทั้งใบหน้า ตาและปาก ผมรู้สึกได้ถึงความเค็มที่ปลายลิ้นและแสบเคืองตา แม้ว่าความเค็มของเหงื่อจะถูกเจือจางด้วยน้ำฝนก็ตาม

    ช่วงทางเดินนี้แทบจะเดินกันอย่างเดียวเพราะธรรมชาติไม่เปิดโอกาสให้ถ่ายภาพ ทั้งฝนและสายหมอกอันหนาทึบคืออุปสรรคสำคัญ ตอนจะหยุดพักเหนื่อยก็ต้องบอกพะตี้ที่เดินนำหน้าให้หยุด เพราะดูไม่มีทีท่าว่าแกจะเหน็ดเหนื่อยแม้แต่น้อย งานนี้คนหนุ่มๆ อย่างเราต้องยอมศิโรราบให้กับเรี่ยวแรงและเท้าหนังหุ้มเนื้อแท้ๆ ของพะตี้ ชนิดหมดข้อสงสัย
น้ำตกปริตุ๊โกร ทีลอชู

    มีขึ้นย่อมมีลง แล้วก็มาถึงทางแยกซึ่งคราวนี้ลงเขาอย่างเดียวชนิดที่ว่าดิ่งลึก น้องๆ หุบเหวกันเลยทีเดียว นี่ถ้าไม่ใช่เพราะต้องเดินลงเพื่อไปยังจุดแค้มป์และไปยังน้ำตกแล้วละก็คงไม่มีใครอยากไป ตอนลงนะลงได้แต่ตอนขากลับนี่ละซิ ไต่ขึ้นเพียวๆ ไม่มีทางอื่นให้เลือก ระหว่างทางตรงช่วงหนึ่งพะตี้บอกว่าจะมีจุดที่มองเห็นน้ำตกได้ทั้งสาย แต่ตอนมาถึงหมอกปกคลุมหนาแน่นจนไม่เห็นแม้แต่น้อย

น้ำตกปริตุ๊โกร ทีลอชู

    และแล้วก็มาถึงจุดแค้มป์ด่านล่างจนได้ ซึ่งเป็นร่องหุบเชิงเขามีพื้นที่ราบกว้างพอควร กางเต็นท์ได้สักสิบหลังหรือจะผูกเปลก็สะดวกเข้าท่า มีต้นไม้ให้ผูกเหมาะเจาะมากมาย ใกล้กันเป็นธารน้ำห้วยปริตุ๊โกรที่ไหลรินคอยขับกล่อมให้ได้ยินเสียงตลอดเวลา สายน้ำใสสะอาดตัดกับโขดหินแกรนิตสีขาวน้อยใหญ่ เหนือขึ้นไปเป็นธารน้ำตกชั้นเล็กๆ ไหลลดหลั่นลงมาสู่แอ่งกว้าง จึงเหมาะแก่การใช้เป็นที่อาบน้ำเล่นน้ำ

บรรยากาศการทำอาหาร

    ถ้าหมอกไม่ปกคลุมเราจะมองเห็นสายน้ำตกไหลหล่นมาจากหน้าผาสูงลิบๆ ราวกับหล่นมาจากฟากฟ้า แต่บางครั้งหมอกที่ห่มคลุมอยู่นั้นเป็นดั่งม่านสีขาวซึ่งค่อยๆ เคลื่อนเปิดปิดให้เห็นสายน้ำตกเป็นระยะ มันสูงใหญ่จริงๆ ครับ ขนาดที่ว่าเรือนยอดไม้จะสูงเพียงใด มันก็เทียบไม่ได้กับความสูงของน้ำตก ซึ่งสะกดตาทุกครั้งยามม่านขาวเปิดโฉมออกมาให้เห็น

 
น้ำตกปริตุ๊โกร ทีลอชู  

    ที่นอนคืนนี้ของทุกคนคือเปล ภายใต้ฟรายชีทและผืนผ้ายางสำหรับคลุมฝน เปลทั้งแบบมีมุ้งและเปลทหาร แต่ที่แปลกสุดๆ มันก็ต้องเปลของพะตี้ เล่นเอาเปลญวนลวดลายเจ็ดสีมีเป็นช่องตาข่ายใช้นั่งเล่นนอนเล่นหรือที่เห็นกันตามชายหาดริมทะเล แกบอกว่าอย่างนี้ลมเย็นดี

ประทัดอ่างข่าง

    “แหม! เปลพะตี้เท่ห์เชียวนะ สงสัยเที่ยวทะเลบ่อย” ผมพูดแซว “ยังไม่เคยเห็นทะเลเลย อันนี้ของหลานมัน เลยยืมมา” พะตี้ตอบแบบเสียงไม่ค่อยชัดตามสไตล์หากเต็มไปความจริงใจโดยเฉพาะเสียงหัวเราะและรอยยิ้มอย่างเปิดเผย

 
น้ำตกปริตุ๊โกร ทีลอชู       เห็นผ้ายางที่นำมาคลุมเปลกันฝนของพะตี้แล้วต้องบอกว่าคืนนี้ถ้าฝนเกิดตกขึ้นมา เห็นทีคงรอดยาก เพราะขนาดของผ้ายางกว้างยาวเพียงเมตรเศษๆ แถมมีรอยรั่วอีกต่างหาก ถ้าจะนอนคงต้องขดตัวให้อยู่ภายในรัศมีของผ้ายางนี้ มิเช่นนั้นอาจได้นอนห่มฝนเปียกชุ่มฉ่ำทั้งคืน “เดี๋ยวรู้กันว่าคืนนี้พะตี้ จะเสียท่าให้กับฝนหรือเปล่า”
 
น้ำตกปริตุ๊โกร ทีลอชู

     ทุกอย่างถูกจัดเตรียมกันเรียบร้อย พะตี้และวิโรจน์รีบไปก่อไฟหุงข้าวเตรียมก่อนเพราะไม่แน่ฝนอาจตกลงมาอีกในไม่ช้าก็เป็นได้ ส่วนผม พี่อู๊ดดี้ และดิว ต่างพากันไปอาบน้ำที่ลำธารห้วยปริตุ๊โกร หลังอาหารมื้อค่ำภายใต้ผืนผ้าฟรายชีท และเสียงฝนเปาะแปะเบาๆ เราล้อมวงสนทนากันอย่างออกรส สารพัดเรื่องที่ถูกถ่ายทอดเล่าสู่กันฟัง เรื่องสำคัญที่สุดคือการถามไถ่ชื่อของน้ำตกใหม่แห่งนี้

 
น้ำตกปริตุ๊โกร ทีลอชู

    ซึ่งคำตอบของพะตี้และวิโรจน์ คือไม่มีชื่อ โดยพะตี้บอกว่าคนที่นี่ขึ้นมาป่าแถบนี้บ่อย (รวมถึงตัวแกเองด้วย) ส่วนมากมาหาของป่าและล่าสัตว์ หลายครั้งมาพักตั้งห้างดักสัตว์แถวๆ น้ำตกนี้ ไม่ได้สนใจน้ำตกไปมากกว่าการหาของป่า พะตี้ว่าอย่างนั้น น้ำตกแห่งนี้จึงไม่มีการตั้งชื่อ ปกติชาวกะเหรี่ยงเห็นน้ำตกใหญ่ ก็เหมาเรียกว่า “ทีลอชู” ดั่งที่เคยเรียกน้ำตกทีลอชู และต่อมาเพี้ยนเป็น “ทีลอซู” ชื่อเรียกขานมาจนปัจจุบัน ซึ่งไม่แปลกที่พะตี้หรือคนเชื้อสายกะเหรี่ยงจะเรียกน้ำตกแห่งนี้ว่า ทีลอชู เพราะด้วยความใหญ่โต และสูงของชั้นน้ำตกนั่นเอง

 

    สายน้ำตกสายนี้ไหลไปเป็นห้วยปริตุ๊โกร เราจึงเห็นพ้องต้องกันอย่างไม่ต้องสงสัยในการที่จะเรียกน้ำตกใหม่นี้ว่า “ปริตุ๊โกร” แต่กระนั้นได้คำแนะนำจากพี่อู๊ดดี้ให้เติมคำว่าทีลอชู เข้าไปด้วย โดยให้เหตุผลว่าในเมื่อมันเป็นน้ำตกสูงใหญ่ขนาดนี้เราควรมีคำนี้ต่อท้ายเข้าไปด้วย อีกทั้งเพื่อเป็นเกียรติกับคนที่นี่ (ตามพจนานุกรมฉบับกะเหรี่ยง ที = น้ำ , ลอ = ตก, ชู= ใหญ่ ) จึงกลายเป็น “ปริตุ๊โกร ทีลอชู” นับแต่นี้ ส่วนคำว่าปริตุ๊โกร ผมสอบถามพะตี้หรือชาวกะเหรี่ยงรุ่นเก่าๆ ต่างบอกว่าไม่มีความหมายแปลว่าอะไร

    “แล้วพะตี้ ยิงสัตว์อะไรได้บ้าง” พี่อู๊ดดี้เปลี่ยนเรื่อง โดยตั้งคำถามไปยังพะตี้ในฐานะพรานเก่าที่ล่าสัตว์หาของป่าอยู่แถบนี้ “เก๋ง (เก้ง), ฟาน (กวาง), หมี...เยอะแยะ” พะตี้ตอบ “แล้วเสือละเคยยิงได้หรือเปล่า” พี่อู๊ดดี้ถามขึ้นอีก “ไม่หรอก... แค่เห็นก็ขนหัวลุกแล้ว” แกตอบแทบไม่ต้องยั้งคิด

    พะตี้เขาเคยเห็น “ม้าเทวดา หรือ กวางผา” โดยเล่าว่าเหนือน้ำตกขึ้นไปจะเป็นสันเขาทุ่งหญ้าและช่วงชั้นน้ำตกสูงๆ มันชอบยืนอยู่ตามชะง่อนหินผามองเห็นได้ระยะไกล ตัวไม่ดำไม่แดง ตัวมันมีสีออกเทาๆ พะตี้ยืนยันอย่างนั้น จนผมมั่นใจตามที่พะตี้พูด แต่น่าเสียดายไม่มีใครได้เห็นตัวมันอีกเลย จากคำพูดของพะตี้ และพี่อู๊ดดี้พูดเสริมถึงสาเหตุว่า เมื่อหลายๆ ปีก่อนบริเวณป่าแถบนี้ตรงเหนือน้ำตกขึ้นไปซึ่งจะเป็นยอดสูงสุดของภูเขา คือประมาณ ๑,๗๐๐ เมตร จะเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างไทย- พม่า อันเป็นฐานที่มั่นของฝ่ายกองกำลังกะเหรี่ยงอิสระ (KNU) ใช้เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการป้องกัน ต่อสู่กับฝ่ายรัฐบาลทหารพม่า เพราะด้วยเป็นภูเขาสูงชันมองเห็นฝ่ายตรงข้ามได้ดี ใครได้ครอบครองถือว่าได้เปรียบ

    ทหารกระเหรี่ยงซึ่งมีนายพลส่วยชัย หัวหน้าดูแลพื้นที่ชายแดนในฝั่งพม่าติดต่อกับอำเภออุ้มผาง พบพระและแม่สอด เป็นแนวชายแดนที่นับว่ามีการสู้รบบ่อยครั้งและรุนแรงมากที่สุดจุดหนึ่ง แน่นอนว่านอกจากใช้ความได้เปรียบของภูมิประเทศในการเคลื่อนไปมาระหว่างสองฝั่ง การดำรงอยู่ของเหล่ากองกำลังนั้นก็คือการล่าสัตว์และเบียดเบียนที่อยู่อาศัยสัตว์ป่า หากมันไม่ถูกล่าเพื่อนำมาเป็นอาหารก็หนีอพยพเข้าไปในป่าลึกเท่าที่มันจะเอาตัวรอดได้ สัตว์ป่าแถบนี้จึงลดน้อยลงโดยเฉพาะพวกสัตว์ใหญ่ ที่แทบจะไม่ค่อยได้พบร่องรอยของมัน....โดยสรุปจากบทสนทนาในขณะนั้น

    “ จะเหลือก็กบนั่นแหละที่ได้ยินเสียงดังระงมแข่งกับสายฝน...จริงหรือเปล่าท่านนายพลส่วยชัย” ( ฉายาใหม่ของพะตี้ที่พวกเราพร้อมใจกันเรียกในเวลาต่อมา ซึ่งเผอิญชื่อแก คือ “ส่วย” ดันไปตรงกลับนายพลคนดัง ) “จริงโด้ย (ด้วย) โกะ(กบ) ในห้วยมีมากจับมากินกันบ่อยๆ” ท่านนายพลตอบ “โต๊ะยาโกะ อร่อย!” แกพูดทิ้งท้ายชวนให้ผมและดิว งงๆ กับคำพูดของลุงแก หันไปมองหน้าพี่อู๊ดดี้ในฐานะคุ้ยเคยภาษาของพะตี้ แกก็เลยเฉลยว่าไอ้ที่เรียกโต๊ะยาโกะ นั้นนะหมายถึง ต้มยำกบนั่นเอง ลุงแกพูดไม่ชัด.... แหม่! ไอ้เราก็นึกว่าพะตี้เชี่ยวชาญอาหารญี่ปุ่น ที่ไหนได้เจอมุกจำเป็นของแกไปเต็มเปา

     ยามเช้าระหว่างเสพสุขกับกาแฟร้อนและขนมปังรูปร่างแปลกตาชอบกลครับ ฝีมือแฟนพี่อู๊ดดี้ที่อุตส่าห์ไปรำเรียนทำขนมปังมา พวกเราจึงได้ชิม (หนูทดลอง) ฝีมือของพี่เขา ซึ่งเป็นครั้งแรกของคนทำและครั้งแรกของคนกิน เราก็ได้เฮอากับมุกขำๆ อีกครั้งของพะตี้ เรื่องมีอยู่ว่า ตอนที่ทุกคนต่างแยกย้ายเข้านอนฝนตกหนักตลอดทั้งคืน ทำให้เปลที่นอนของพะตี้และวิโรจน์ เปียกชุ่มไปด้วยน้ำจนต้องมาอาศัยใต้ฟรายชีทของดิว พอเช้ามาในวงกาแฟ พะตี้แกเลยถามว่าเปลของคนอื่นๆ ไม่เปียกหรือ ของแกน้ำมาไหลลงตามเชือกเปล (ไม่รวมถึงที่รั่วจากผ้ายาง) จนเปียกไปหมด ดิวเลยตอบไปว่าผมเอาถุงเท้าผูกไว้กับเชือกเปลหัวท้ายพอป้องกันน้ำไม่ไห้ไหลเข้ามาได้

    “ แล้วลุงไม่ได้เอาถุงเท้าผูกไว้หรือ!” ดิวถาม “เอ๊อะ! ไม่มีรองเท้า จะเอาถุงเท้าทีไหน” แกตอบกลับด้วยความซื่อและจริงใจ ซึ่งเรียกเสียงหัวเราะกันทั้งวง ..... แหม่! ดันถามไปได้ เจอท่านนายพลของเราสวนหมัดเด็ดเข้าให้

เรื่อง:ภาพ....อำนวยพร บุญจำรัส
( สารคดีท่องเที่ยวชุดสำรวจ เมื่อปี 2548 )

ปริตุ๊โกร ทีลอชู (ตอนจบ)

ขอขอบคุณ / สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
พี่อู๊ดดี้
ตูกะสู คอทเทจ รีสอร์ท  อ.อุ้มผาง จ.ตาก
www.tukasu.net

และ เพื่อนร่วมทางทุกท่าน
 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook