สุสานหมิง แห่ง หนานจิง

สุสานหมิง แห่ง หนานจิง

สุสานหมิง แห่ง หนานจิง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สุสานหมิง แห่ง หนานจิง

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล 2 กันยายน 2547 00:51 น.

รูปแกะสลักสวยๆ บนยอดเขาจื่อจิน สำหรับผมแล้ว สิ่งที่ทำให้รู้สึกดีที่สุดเมื่อมาเยือนหนานจิงก็ คือ "คน" คนหนานจิง ดูจะมีมิตรไมตรีกับแขกต่างบ้านต่างเมือง มากกว่า เมืองใหญ่ หรือ เมืองท่องเที่ยวหลายๆ แห่งของจีนที่ผมเคยพบประสบมา อย่างเช่น 'คุณป้า' ที่หยิบชา กับ พัด ออกมาเดินเล่นที่สุสานหมิง

"ช่วงนี้กำลังร้อนได้ที่เลย (ราวปลายเดือนกรกฎาคม) อยู่ในห้องแอร์ก็อึดอัด ออกมาอาศัยธรรมชาติคลายร้อนดีกว่า ... " คุณป้าบอกผมพร้อมกับโบกพัดไปมา ก่อนที่จะแนะนำแนะนำอาหารอร่อย พร้อมกับย่านที่น่าไปเดินเที่ยวในเวลากลางคืนให้กับ 'ผู้มาเยือน' อย่างผมได้ทราบ

ในส่วนของตัวเมือง นอกจากสถานีรถไฟที่กำลังอยู่ในระหว่างการสร้างใหม่แล้ว ผมคิดว่า 'หนานจิง' เป็นเมืองที่พลุกพล่านแต่ไม่วุ่นวาย แตกต่างกับเมืองใหญ่อย่างเช่น 'ปักกิ่ง' หรือ 'เซี่ยงไฮ้' ที่กลายสภาพเป็น มหานครใหญ่ของโลกไปแล้ว

เลียบกำแพงเมืองเก่า สำหรับผู้มาเยือน จุดดีที่สุดที่จะมองหนานจิงทั้งเมืองได้ในมุมกว้างก็คือ จาก ยอดเขาจื่อจิน (???) - - - จื่อจินซาน เป็นเขาไม่สูงนักที่อยู่ในเขตภูเขาจงซาน โดยยอดของจื่อจินซานนั้นมีความสูงเพียง 440 กว่าเมตร อย่างไรก็ตามหากต้องการเดินจากตีนเข้าขึ้นไปยังยอดเขานั้นก็ต้องใช้เวลาถึงราว 2 ชั่วโมง

สำหรับ ภูเขาจงซาน ที่ตั้งอยู่ทางพื้นที่ด้านตะวันออกของตัวเมืองหนานจิง ได้รับยกย่องจากผู้มีชื่อเสียงของจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณ อย่างเช่น จูเก๋อเลี่ยง (จูกัดเหลียง:???) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ ขงเบ้ง กุนซืออัจฉริยะในสมัยสามก๊ก ที่เคยกล่าวเอาไว้ว่า

"เขาจงซานนั้นเป็นทิวโค้งคล้ายกับมังกร ส่วนเมืองหิน (อีกหนึ่งฉายาของเมืองหนานจิง) นั้นก็คล้ายกับพยัคฆ์ที่นอนหมอบอยู่ด้านล่าง หนานจิง ช่างเป็นเมืองในอุดมคติของ กษัตริย์จริงๆ"

ยังนับว่าเป็นโชคดีที่กำแพงเมืองหนานจิง ยังคงหลงเหลือให้ชนรุ่นหลังได้เห็นอยู่ (เช่นเดียวกับเมืองซีอาน) เพราะ กำแพงเมืองที่สร้างตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงนั้นช่วยขับบรรยากาศของหนานจิงในการเป็นเมืองหลวงเก่าขึ้นได้มาก ผิดกับ เมืองปักกิ่ง ที่แนวกำแพงส่วนใหญ่ถูกทุบทิ้งไปหมด เนื่องจากตอนแรกชาวเมืองปักกิ่งเห็นว่ากำแพงเมืองเป็นเครื่องกีดกั้นการคมนาคม แต่ทุกวันนี้ชาวปักกิ่งจำนวนไม่น้อยกลับรู้สึกเสียดายกับการตัดสินใจดังกล่าว เนื่องจากหากกำแพงเมืองปักกิ่งยังไม่ถูกทุบทิ้งไป พื้นที่ในตัวเมืองชั้นในทั้งหมดก็คงถูกขึ้นทะเบียนเป็น "มรดกโลก" ไปแล้ว

ไม่เพียงแต่ยอดเขาที่ทำให้มองเห็นเมืองหนานจิงได้ทั้งเมือง และมองเห็นไกลไปถึงแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) ไฮไลต์ในการมาเยือน เขตภูเขาจงซาน หรือที่เรียกกันว่า เขตทัศนียภาพจงซาน (?????) จริงๆ แล้วกลับอยู่ลึกเข้าไปในเขตภูเขาแห่งนี้

ภาพวาดการตรวจตราการก่อสร้าง 'สุสานหมิง' ที่สร้างไว้ล่วงหน้าสำหรับตัวเองของจูหยวนจาง "มีจุดเริ่มก็ต้องมีจุดจบ .... ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่เทียมฟ้าเพียงใด สุดท้ายแล้วไม่พ้นต้องกลับคืนสู่ผืนดินด้วยกันทั้งสิ้น"

สัจธรรมของมนุษย์ ดังกล่าว แม้แต่โอรสสวรรค์ อย่างจูหยวนจาง ก็ทราบดีแก่ใจ ดังนั้นในปีที่ 14 ของการครองราชย์ (ค.ศ.1381) พระองค์จึงรับสั่งให้มีการสร้างสุสานขึ้น ตามตำแหน่งที่พระองค์เสาะหาและสืบค้นดูแล้วว่าเหมาะกับการสร้างสุสานของพระองค์ขึ้น

ตำแหน่งเหมาะสมที่ว่านั้นคือ แนวเขาทางด้านใต้ของเขตภูเขาจงซาน ซึ่งหากมองในมุมมองทาง 'ฮวงจุ้ย ' แล้วก็เหมาะสำหรับการสร้างสุสานเป็นอย่างยิ่ง อย่างที่ ขงเบ้งเคยกล่าวเอาไว้ว่า ทิวเขาจงซานนั้นคล้ายกับมังกร การที่ด้านหลังของสุสานนั้นมีมังกรคอยเฝ้าอยู่ย่อมเป็นเรื่องที่ดียิ่ง

สุสานแห่งนี้ ใช้เวลาในการสร้างเพียง 2 ปี (เสร็จสิ้นในปี ค.ศ.1383) และได้ใช้งานจริงเมื่อองค์ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงสวรรคต ในปี ค.ศ.1398

ทั้งนี้ในเวลาต่อมารูปแบบการสร้างสุสานของ จูหยวนจาง ได้ตกทอดมายัง ฮ่องเต้องค์ต่อๆ มาของราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง (แต่สุสานของฮ่องเต้ราชวงศ์หมิงส่วนใหญ่อยู่ที่ 'ปักกิ่ง' หลังจากมีการย้ายเมืองหลวงมาในรัชสมัยหย่งเล่อ) จะเรียกว่า สุสานหมิง (???) แห่งนี้เป็นต้นแบบของสุสานฮ่องเต้หมิง-ชิง องค์ถัดๆ มาก็คงไม่ผิดนัก

แสงและเงา ยามเย็น ทั้งนี้นอกจากการสร้างสุสานของพระองค์เอง แล้วองค์ฮ่องเต้หงอู่ (จูหยวนจาง) ยังมีคำสั่งให้มีการโยกย้ายวัดมาทั้งวัด ให้มาตั้งอยู่ในบริเวณเขตภูเขาจงซานด้วย โดยวัดที่ถูกย้ายมานั้นชื่อว่า วัดไคซ่าน (???) อันมีอายุอานามตั้งแต่ ค.ศ.515 แต่เมื่อย้ายมาก็ถูกเปลี่ยนชื่อให้เป็นวัดหลิงกู่ (???)

หลังจากผ่านวงจรแห่งการถูกทำลายและบูรณะใหม่มาหลายรอบ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2546 สุสานหมิง ได้ถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นหนึ่งในมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์กรยูเนสโก ทำให้พื้นที่ทั้งบริเวณเขตทัศนียภาพจงซาน มีนักท่องเที่ยวมาเยือนอย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และ ฤดูใบไม้ร่วงที่อากาศกำลังเย็นสบาย

ดังที่ผมเคยกล่าวไปแล้วหลายครั้งว่า การมาเยือนเมืองจีนนั้นหากไม่มีความรู้หรือความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีน สิ่งที่หลงเหลือให้ผู้มาเยือนได้เห็นนั้นก็อาจเป็นได้เพียงแค่เศษซากก้อนหินเก่าๆ สุสานของปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง และ วัดหลิงกู่ ก็เช่นกัน สถานที่ทั้งสองแห่งผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านสงคราม ผ่านการเผา ทำลาย มานานกว่า 600 ปี สิ่งที่เหลือทิ้งไว้ให้เห็นแก่สายตาจึงไม่มีให้ตื่นใจได้มากนัก (อย่างไรก็ตามสุสานของจูหยวนจาง ก็ยังไม่มีการขุดขึ้นมาจนกระทั่งทุกวันนี้)

ส่วนวัดหลิงกู่นั้น ก็มีเพียง วิหารไร้คาน (???) ทรงยุโรปเป็นอาคารเดียวที่หลงเหลือสภาพเดิมมาให้เราเห็นกัน

ปัจจุบันภายในวิหารไร้คานแห่งนี้มีป้ายสลักชื่อทหาร 33,224 คนของพรรคก๊กมินตั๋งที่เสียชีวิตในสงครามปฏิวัติที่สู้กับขุนศึกภาคเหนือ นอกจากนี้ก็ยังมีการจัดสร้างเป็นหอที่ระลึกการ ปฏิวัติซินไฮ่เกอมิ่งของจีน (???????: ค.ศ.1911) โดยมีการจัดแสดงประวัติศาสตร์จีนประกอบหุ่นขี้ผึ้ง ตั้งแต่ยุคสงครามฝิ่นที่นำมาสู่สนธิสัญญานานกิง (เซ็นปี ค.ศ.1842) เรื่อยมาจนถึง การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงจีนเป็นสาธารณรัฐ

บรรยากาศสงบเงียบภายในสวนตรงข้ามสุสานหมิง

ทางเดินที่เรียงรายไปด้วยรูปหินสลัก ของเหล่าองครักษ์ที่คอยปกป้องสุสาน หลังจากเดินชมประวัติศาสตร์จีนมาแบบเต็มอิ่มทั้งวัน ผมเดินออกมาจากประตูใหญ่ ข้ามถนนมายังสวนสาธารณะที่อยู่ด้านตรงข้าม เวลาเย็น เมื่ออุณหภูมิจากแสงแดดลดระดับลงมาหน่อย ก็เริ่มมีชาวบ้านออกมานั่งพักผ่อนหย่อนใจ เล่นกีฬา ปิกนิกกันตามสนามหญ้า ใต้ต้นไม้

เมื่อเดินอ้อมสวนสาธารณะออกมา ผมก็พบกับถนนอีกด้านหนึ่ง ... ถนนด้านนี้เป็นถนนอีกเส้นที่ผ่านไปยัง 'สุสานหมิง' เกาะกลางของถนนเส้นนี้เรียงรายไปด้วยรูปแกะสลักหินของนักรบ และ รูปแกะสลักหินของสัตว์นำโชคต่างๆ ตามความเชื่อของจีน อย่างเช่น อูฐ กิเลน สิงโต ม้า

หินสลักรูปสัตว์และนักรบ เหล่านี้นั้น ถูกแกะขึ้นพร้อมกับการสร้างสุสานขององค์ฮ่องเต้ โดยหินสลักนักรบนั้นจะยืนเป็นคู่เรียงกันไป ส่วนหินสลักรูปสัตว์นั้น สัตว์แต่ละชนิดจะมี 4 ตัว แบ่งเป็น "คู่ที่ยืน" และ "คู่ที่นั่ง" โดยสาเหตุที่ต้องมีการแกะสลักสัตว์แต่ละชนิด 4 ตัวนั้น ก็มีที่มาที่ไปตามความเชื่อที่ว่า เพื่อที่จะให้สัตว์เหล่านี้นั้นสามารถที่จะปกป้องสุสานขององค์ฮ่องเต้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเวลางาน (ยืน) หรือ เวลาพักผ่อน (นั่ง)

.... ยังดีที่ 600 กว่าปีที่ผ่านมา ยังไม่มีข่าว รูปแกะสลักหินก่อม็อบออกมาประท้วงว่าถูกขูดรีดแรงงาน : )

ข้อมูลจาก

อ่านเพิ่มเติม :

- ประวัติศาสตร์จีน สำหรับการย้ายเมืองหลวงจาก หนานจิง มายัง ปักกิ่ง - หลังกำแพงแดง (1) จากคอลัมน์จากโลกคนละซีก โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล (10 ธ.ค. 2546)

Tips สำหรับการเดินทาง :

การขึ้นไปยังยอดเขาจื่อจินนั้น หากไม่ต้องการเดินก็มีทางรถขึ้นไปถึง โดยสามารถเรียกรถรับจ้างได้ที่ตีนเขา หรือ ค่ากระเช้า เที่ยวเดียว 25 หยวน/ไปกลับ 45 หยวน ทั้งนี้บนยอดเขานอกจากทิวทัศน์ของเมืองหนานจิงแล้วก็ไม่มีโบราณสถานสำคัญอะไร บัตรค่าเข้าสุสานหมิง ราคา 50 หยวน แนะนำให้ซื้อเป็นบัตรชุดเข้าได้ 3 แห่ง "สุสานหมิง-สุสานดร.ซุนยัดเซ็น-วัดหลิงกู่ซื่อ" ในราคา 80 หยวน (จากราคาเต็ม 105 หยวน) โดยหากเที่ยววันเดียวไม่ครบก็ยังสามารถนำบัตรเดิมมาเที่ยวแห่งที่ยังไม่ได้เข้าได้ในวันอื่น ในวัดหลิงกู่มีจักรยาน และ รถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่าในราคาชั่วโมงละ 10 หยวน และ 15 หยวนตามลำดับ (ค่าประกัน 100 หยวน) เป็นวัดที่เหมาะกับการพักผ่อนหย่อนใจเพราะต้นไม้เยอะ และมีสระน้ำอยู่ด้านหน้าวัด

อ่านเพิ่มเติม :

- ประวัติศาสตร์จีน สำหรับการย้ายเมืองหลวงจาก หนานจิง มายัง ปักกิ่ง - หลังกำแพงแดง (1) จากคอลัมน์จากโลกคนละซีก โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล (10 ธ.ค. 2546)

Tips สำหรับการเดินทาง :

การขึ้นไปยังยอดเขาจื่อจินนั้น หากไม่ต้องการเดินก็มีทางรถขึ้นไปถึง โดยสามารถเรียกรถรับจ้างได้ที่ตีนเขา หรือ ค่ากระเช้า เที่ยวเดียว 25 หยวน/ไปกลับ 45 หยวน ทั้งนี้บนยอดเขานอกจากทิวทัศน์ของเมืองหนานจิงแล้วก็ไม่มีโบราณสถานสำคัญอะไร บัตรค่าเข้าสุสานหมิง ราคา 50 หยวน แนะนำให้ซื้อเป็นบัตรชุดเข้าได้ 3 แห่ง "สุสานหมิง-สุสานดร.ซุนยัดเซ็น-วัดหลิงกู่ซื่อ" ในราคา 80 หยวน (จากราคาเต็ม 105 หยวน) โดยหากเที่ยววันเดียวไม่ครบก็ยังสามารถนำบัตรเดิมมาเที่ยวแห่งที่ยังไม่ได้เข้าได้ในวันอื่น ในวัดหลิงกู่มีจักรยาน และ รถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่าในราคาชั่วโมงละ 10 หยวน และ 15 หยวนตามลำดับ (ค่าประกัน 100 หยวน) เป็นวัดที่เหมาะกับการพักผ่อนหย่อนใจเพราะต้นไม้เยอะ และมีสระน้ำอยู่ด้านหน้าวัด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook