ชินจ่าว เวียดนาม ท่องสามแดนดิน ถิ่นมรดกโลก

ชินจ่าว เวียดนาม ท่องสามแดนดิน ถิ่นมรดกโลก

ชินจ่าว เวียดนาม ท่องสามแดนดิน ถิ่นมรดกโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชินจ่าว เวียดนาม ท่อง ๓ แดนดิน ถิ่นมรดกโลก

ตอนแรก เที่ยวฮานอย ลองเรือชมฮาลองเบย์ แล้วนั่งไซโคลไปชมหุ่นกระบอกน้ำ ... ป้าอ้น เจ้าเก่า

โดย...ป้าอ้น (เจ้าเก่า มาแล้ววว)  สิงหาคม ๒๕๔๙

ชินจ่าว เป็นภาษาเวียดนาม มีความหมายเดียวกับ สวัสดี ของไทย ใช้เป็นคำทักทายได้ตลอดวัน เวียดนามเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีความสัมพันธ์กับไทยมาช้านาน แม้จะห่างเหินกันไประยะหนึ่ง ด้วยระบบการปกครองที่แตกต่าง แต่ปัจจุบันเวียดนามนับเป็นเมืองท่องเที่ยวอีกแห่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจให้ผู้คนหลั่งไหลเข้าไปเยี่ยมชมปีละไม่น้อย ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม (๔๙) ที่ผ่านมา ป้าอ้นก็มีโอกาสได้ไปสัมผัสมรดกโลกของที่นี่ถึง ๓ แห่งด้วยกัน คือ อ่าวฮาลอง เมืองเว้ และเมืองฮอยอัน

ตามธรรมดา เมื่อพูดถึง มรดก ใครๆ ก็อยากได้ อยากมี เพราะมักจะหมายถึงทรัพย์สินหรือของที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ หรือสืบทอดมาแต่บรรพกาล แต่สำหรับคำว่า มรดกโลก ที่ฟังดูยิ่งใหญ่ มีความหมาย และเป็นความภาคภูมิใจของประเทศที่เป็นเจ้าของนั้น เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีพ.ศ. ๒๕๑๕ นี้เอง โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือที่รู้จักในนามยูเนสโก (UNESCO) ได้มีมติในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๑๗ ยอมรับอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมรดกโลกเป็นครั้งแรก

มรดกโลก คือ สถานที่ซึ่งมีคุณค่าสูงส่งอันประมาณค่ามิได้ และจะหาสถานที่อื่นใดมาทดแทนก็ไม่ได้ คุณค่าอันยิ่งยวดนี้ มิได้เป็นเพียงของชนชาติใดชาติหนึ่ง แต่เป็นของมนุษยชาติทั้งปวง มรดกโลกแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ มรดกโลกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) และมรดกโลกทางธรรมชาติ (Natural Heritage)

มรดกโลกทางวัฒนธรรม หมายถึง สถานที่ซึ่งเป็นโบราณสถาน ไม่ว่าจะเป็นงานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม หรือโบราณคดีทางธรรมชาติ เช่น ถ้ำ หรือกลุ่มสถานที่ก่อสร้างที่แยกหรือเชื่อมต่อกันที่มีความเป็นเอกลักษณ์ หรือแหล่งสถานที่สำคัญที่อาจเป็นผลงานจากฝีมือมนุษย์ หรือเป็นผลงานร่วมกันระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ รวมทั้งพื้นที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี ซึ่งสถานที่เหล่านี้มีคุณค่าล้ำเลิศในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ มานุษยวิทยา หรือวิทยาศาสตร์

ส่วน มรดกโลกทางธรรมชาติ หมายถึง สภาพธรรมชาติที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพ อันมีคุณค่าเด่นชัดในด้านความงาม หรือด้านวิทยาศาสตร์ หรือสถานที่ซึ่งมีสภาพทางธรณีวิทยา  และภูมิประเทศที่ได้รับการวิเคราะห์แล้วว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของพันธุ์พืช และสัตว์ซึ่งถูกคุกคาม หรือมีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์สมควรแก่การอนุรักษ์ หรือแหล่งธรรมชาติอันทรงคุณค่าล้ำเลิศในทางวิทยาศาสตร์ การอนุรักษ์ หรือความงามตามธรรมชาติ

การที่มีอนุสัญญานี้เกิดขึ้น ก็ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะทำนุบำรุง รักษามรดกโลกทั้งทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ อันเป็นสมบัติอันมีค่าของมวลมนุษย์ชาติเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไปนานๆ และสืบทอดต่อไปยังอนุชนรุ่นหลังนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันมีประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโกเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญานี้กว่า ๑๐๐ ประเทศ และมีสถานที่ที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติแล้ว กว่า ๓๐๐ แห่งทั่วโลก เช่น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัยของไทย ปิรามิดของอียิปต์ ถ้ำอะชันต้าของอินเดีย กำแพงเมืองจีน รวมถึงฮาลองเบย์ เมืองเว้ และเมืองฮอยอันของเวียดนาม ที่จะได้เล่าให้ฟังต่อไป

 

การเดินทางไปประเทศเวียดนามครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดูงานที่ป้าอ้น (ผู้มีนิสัยไม่ดี เลยถูกเจ้านายส่งไปอบรม) ต้องไปดู

วันแรกอันเป็นวันเดินทาง ณ สนามบินดอนเมือง ซึ่งเป็นวันจันทร์ จุดนัดพบคือเทอร์มินัล ๑ เคาน์เตอร์ที่ ๗ ของสายการเวียดนามแอร์ไลน์ เราจะเห็นคนไทยใส่เสื้อสีเหลืองกันเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่กำลังจะเดินทางไปต่างประเทศ เพราะปีนี้เป็นปีพิเศษที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ดังนั้น ทุกวันจันทร์ตลอดปีนี้  คนไทยจึงใส่เสื้อเหลืองอันเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติและแสดงความจงรักภักดีถวายต่อ ในหลวงของเรา กลุ่มของป้าอ้นก็เช่นเดียวกัน เมื่อผ่านพิธีการขั้นตอนต่างๆ ที่สนามบินเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็ลัดฟ้าไปสู่ฮานอย โดยใช้เวลาบินเพียง ๑ ชม. ๕๐ นาที ที่เวียดนามนี้เราไม่ต้องเปลี่ยนเวลา เพราะเวลาเท่ากับไทย

ก่อนจะพูดถึงฮานอย อันเป็นเมืองหลวงของเวียดนาม เรามารู้จักเวียดนามกันสักหน่อย ถ้าดูตามแผนที่ เราจะเห็นว่าเวียดนามมีรูปร่างคล้ายตัวเอส S ขนาดใหญ่ยาวเหยียด กินเนื้อที่ไปตามความยาวของคาบสมุทรอินโดจีน จำนวนประชากรในปีพ.ศ. ๒๕๔๕ มีประมาณ ๘๐ กว่าล้านคน นับเป็นอันดับที่ ๑๔ ของโลก พลเมืองประกอบด้วยหลายชนชาติถึง ๕๔ ชนชาติ ส่วนใหญ่เป็นชนชาติกิงห์ (Kinh) นอกนั้นก็เป็นชนกลุ่มน้อยเชื้อสายต่างๆ

ภาษาที่ใช้คือ ภาษาเวียดนาม ซึ่งเป็นการผสมผสานจากภาษาจีน ฝรั่งเศส อังกฤษ และรัสเซีย โดยมีตัวอักษรที่เรียกว่า กว๊อก หงือ (Gnoe ngn)เป็นภาษาเขียนประจำชาติ ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๖๒  ซึ่งคิดโดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสชื่อ Alexandre de Rhader ดังนั้น แม้เราจะเห็นตัวอักษรของเวียดนามคล้ายๆ A B C D แต่บางตัวก็จะมีหมวก หรือมีขีดซ้ายบ้าง ขีดขวาบ้างอยู่บนหัว ทำให้อ่านแบบภาษาอังกฤษทั่วไปไม่ได้ ต้องอ่านตามหลักของเขาเอง เช่น CHO อ่านว่า จ๋อ แปลว่า หมา เป็นต้น ส่วน เงิน ของที่นี่จะเรียกว่า ด่อง แต่เวลาฟังคนเวียดนามพูดจะออกเสียงเป็น โด่ง มากกว่า ด่อง ที่คุ้นหูคนไทย อัตราแลกเปลี่ยนตอนเราไปคือ ๑ บาทประมาณ ๔๐๐ ด่อง เรียกว่าแลกทีเป็นเศรษฐีเงินล้านเลยทีเดียว และที่สะดวกคือ เมืองท่องเที่ยวที่เราไปรับเงินไทยด้วย คนที่นี่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน กระแสไฟฟ้าก็เป็นระบบเดียวกับเราคือ ๒๒๐ โวต์ ๕๐ วัตต์ (ถ้าไปตามโรงแรมใหญ่ๆ คุณสาวๆไม่ต้องเอาไดร์เป่าผมไป เพราะเขามีให้อยู่แล้ว)

คำว่า เวียดนาม นี้ เล่ากันว่าปรากฏชื่อเป็นครั้งแรกในสมัยพระเจ้ายาลอง กษัตริย์เวียดนาม ในต้นศตวรรษที่ ๑๙ โดยพระองค์ส่งราชทูตไปทูลขอพระบรมราชานุญาตจากฮ่องเต้จีน  เพราะขณะนั้นจีนยังมีอำนาจเหนือเวียดนามอยู่ โดยแต่เดิมจะตั้งชื่อว่า นามเวียด โดยนำชื่อดังกล่าวมาจากการรวมดินแดน เก่าชื่อ อันนาม และดินแดนใหม่ชื่อ เวียดเทือง เข้าด้วยกัน

แต่เมื่อฮ่องเต้จีนทรงปรึกษาหารือกับเหล่าขุนนาง ก็ทรงตัดสินว่า ชื่อ นามเวียด อาจจะทำให้นึกถึงอาณาจักรเก่าแก่ที่ชื่อ นามเวียดดอง ซึ่งรวมเอาดินแดนของจีนเข้าไปด้วยถึงสองมณฑล ดังนั้น เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด และกันการแอบแฝงความปรารถนาในดินแดนดังกล่าว เลยให้เปลี่ยนเป็น เวียดนาม ซึ่ง เวียด หมายถึง คน และ นาม แปลว่า ใต้ ซึ่งนัยก็คงหมายถึงคนที่อพยพจากดินแดนทางเหนือ (จีน) มาตั้งถิ่นฐานทางใต้ก็เป็นได้ หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนบ้าง ฝรั่งเศสบ้าง และถูกแบ่งแยกดินแดนเป็นเวียดนามเหนือและใต้บ้าง ปัจจุบันเวียดนามได้รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม ปีพ.ศ. ๒๕๑๙ และมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าประเทศ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

เมื่อคณะเราเดินทางมาถึงฮานอย เมืองหลวงซึ่งอยู่ทางเหนือของเวียดนาม พวกเราก็นั่งรถโค้ชเลยต่อไปยังโรงแรมที่พักที่ฮาลองเบย์ เมืองตากอากาศทางทะเล ที่ได้ชื่อว่าเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของเวียดนามทันที ระหว่างเดินทาง สิ่งหนึ่งที่คิดว่าหลายคนจะเกิดความประทับใจต่อภาพที่ได้เห็น ที่ดูเหมือนได้มองย้อนภาพไปในอดีต คือ สองข้างที่เราผ่านเต็มไปด้วยทุ่งนาเขียวขจี ที่ชาวนาเวียดนามกำลังดำนาปักกล้ากันอย่างขะมักเขม้น
โดยเฉพาะการช่วยกัน ลงแขก ที่หมายถึง ผลัดกัน ช่วยกันรุมกันทำนาของเพื่อนบ้าน แต่คำนี้ในบ้านเราได้กลายเป็นศัพท์สแลงหมายถึง ช่วยกันรุมทำมิดีมิร้ายหญิง (ซึ่งจริงๆ คือ มิดี มากกว่า มิร้าย นั่นแหละ) ซึ่งภาพการทำนาสองฟากทางเช่นนี้ ในบ้านเรากำลังจะเลือนหายไปทุกทีๆ และกลับกลายเป็นภาพโรงงานเข้ามาแทนที่

ขณะที่นั่งรถชมวิวทิวทัศน์ไปเรื่อยๆ ฟังไกด์ท้องถิ่น คือ คุณถัง บรรยายไป เพลินไปนั้น พวกเราก็เกิดความรู้สึกตรงกันขึ้นมาว่า ทำไม๊ ทำไม รถถึงได้แล่นเอื่อยๆ เฉื่อยฉิวนัก คล้ายจะถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง  ทั้งๆ ที่ถนนหนทางในเวียดนามเท่าที่สังเกต ก็เรียกว่าใช้ได้ดีทีเดียว นี่ถ้าเป็นพี่ไทยขับ ป่านนี้วิ่งไปถึงไหนต่อไหนแล้ว คุณถังก็เลยเฉลยสาเหตุให้ฟังว่า การที่ขับเช่นนี้ ก็เพราะทางการเวียดนามเขากำหนดความเร็วให้รถวิ่งได้ไม่เกิน ๖๐ กม./ชม.บนทางหลวง และถ้าเป็นเขตชุมชนจะวิ่งได้แค่ ๓๐ กม./ชม. ดังนั้น นักซิ่งหรือพวกใจร้อนทั้งหลายในบ้านเรา นั่งรถที่นี่แล้ว จึงรู้สึกเหมือนจะขาดใจ เพราะระยะทางไม่ไกล แต่ต้องใช้เวลาเดินทางนานเหลือเกิน และคนที่นี่ก็ไม่กล้าละเมิดกฎระเบียบด้วย เพราะนอกจากจะต้องเสียค่าปรับแพงแล้ว ถ้าใบขับขี่ถูกเจาะ ๓ รู หมายถึงผิดมา ๓ ครั้งก็จะถูกยึด และที่คนเขากลัวนักกลัวหนา คือ เขาไม่ขังคน แต่จะ ขังรถ คือ ยึดรถไปโรงพัก ๑๕ วัน ทำให้ทำมาหากินไม่ได้ คนของเขาก็เลยไม่ค่อยทำผิดกฎกัน และเพราะเขาขับด้วยความเร็วที่ว่านี้เอง ทำให้เวลาเดินข้ามถนน โดยเฉพาะในฮานอยที่รถราคับคั่ง มีรถมอเตอร์ไซด์เต็มไปหมด คนไทยเดินแล้วให้เสียวไส้ หลบไม่ค่อยถูก แต่คุณถังกลับบอกให้หลับตาเดินข้ามได้เลย เพราะคนขับจะขับหลบคุณเอง ซึ่งก็เป็นจริงด้วย เพราะถ้าดูรถวิ่งไปมา ไม่กล้าข้ามแน่นอน แต่ถ้าหลับหูหลับตาเดินข้ามไป กลับไม่เป็นไร เพราะเขาขับกันไม่เร็วอย่างที่บอก เบรกเบิกกะทันหันก็เลยไม่อันตราย

สำหรับคุณถัง ไกด์ของเรานั้น อยู่เมืองไทยทางภาคอีสานมานานถึง ๓๐ ปีก่อนจะย้ายกลับมาอยู่เวียดนามตามคำขอร้องของพ่อแม่ และเคยเป็นโค้ชแบดมินตันของเวียดนาม  ก่อนขอเออรี่รีไทน์มาเป็นไกด์ให้เฉพาะคณะนักท่องเที่ยวไทย เพราะอยากตอบแทนบุญคุณแผ่นดินที่เคยอาศัยอยู่แต่เล็ก ดังนั้น จึงพูดไทยได้คล่อง แม้จะลืมเลือนไปบ้างเพราะจากมากว่า ๓๐ ปีแล้ว ปัจจุบันอายุ ๖๖ ปี  ซึ่งพวกเราก็ว่ามากแล้วน่ะ แต่พอไปเทียบกับรถอีกคัน (คณะเราแบ่งออกเป็น ๒ คันรถโค้ช) ปรากฎว่ารถอีกคัน ไกด์ชื่อคุณถวิลอายุปาไปตั้ง ๗๒ แล้ว เป็นลูกครึ่งไทย-เวียดนาม และเคยอยู่เมืองไทยมาแล้วเช่นกัน แหม!  ไม่รู้ว่าเพราะไปดูมรดกโลกหรือเปล่า ไกด์ของคณะเราก็เลยมีอายุอานามใกล้เคียงกับชามสังคโลก แถม ความที่เคยเป็นโค้ชกระมัง คุณถังก็เลยลืมตัวดุพวกเราตอนถามแทรกขึ้นมา ระหว่างที่แกกำลังบรรยายว่าถามแบบนี้แกก็ลืมหมดว่าจะพูดอะไร พี่ที่ถามเลยจ๋อย และนึกต่อว่าในใจว่า ถ้าไม่ถามก่อน ฉันก็ลืมเหมือนกันแหละย่ะ ว่าจะถามอะไร ฮึ!

หลังจากกินอาหารค่ำในโรงแรมที่พักแล้ว พวกเราส่วนใหญ่ก็ออกไปกระจายรายได้ และชมสินค้าพื้นบ้านของที่นี่ ซึ่งมีหลายอย่าง ับตั้งแต่กระเป๋าผ้าปักต่างๆ ผลิตภัณฑ์จากไม้ เช่น ตะเกียบ กล่องใส่ตะเกียบ/ไม้จิ้มฟัน/นามบัตร ตุ๊กตาไม้รูปคน/สัตว์ และสร้อยไข่มุก เป็นต้น สำหรับราคาสินค้านั้นต่อรองได้ และลดได้ถึง ๒๐-๓๐ % มีพวกเราได้ถามไกด์ท้องถิ่นอีกคนในเมืองเว้ว่า ซื้อของย่านไหน หรือที่ไหนจึงจะได้ราคาถูก ไกด์ก็ตอบว่า คนไทย ซื้อที่ไหน ก็ถูกทั้งนั้นแหละ แกคงเห็น ต่อรองกันเก่งมาก ชนิดที่ว่าบางคนต่อของได้ราคา ๔ ชิ้นร้อยเดียวแล้ว พออีกคนไปซื้อบ้างต่อได้ ๕ ชิ้นร้อย พอคนสุดท้าย ได้ถึง ๖ชิ้นร้อยก็มี เขี้ยวขนาดนี้ คงไม่ต้องถามแล้ว ว่าซื้อที่ไหนราคาถูก มันถูกไปหมดแหละครับ ท่านผู้ชม

วันต่อมา พวกเราก็ขึ้นรถ ไปลงเรือที่อ่าวฮาลองที่ไม่ไกลจากที่พักเท่าไรนัก เรือที่มารับนักท่องเที่ยว มีลักษณะเป็นเรือสำเภา เท่าที่เห็นน่าจะมีถึงร้อยลำ แสดงว่ามีนักท่องเที่ยวมามาก แต่ละลำจะจุคนได้ราว ๒๐-๓๐ คน  มีสองชั้น หัวเรือเป็นรูปมังกร การบริหารจัดการในการออกเรือและนำเรือเข้าท่าเทียบของที่นี่ ถือว่ายังไม่ดีนัก เพราะยังเบียดเสียดและเข้าจอดกันอย่างไม่เป็นระเบียบ จอดซ้อนลำกันก็มี ทำให้ไม่สะดวกในการขึ้นลง แต่เข้าใจว่าก็ยังคงไม่เป็นปัญหาเท่าไรนัก มิฉะนั้น เขาคงต้องหาวิธีการแก้ไขแล้ว สำหรับการล่องเรือชมอ่าวฮาลองนี้ มีหลายแบบให้เลือก เช่น จะเป็นแบบล่องเรือทั้งวัน หรือแบบครึ่งวันก็ได้ เพราะมีเกาะและถ้ำให้ลงไปชมหลายแห่ง แต่ที่คณะเราไปคือ แบบครึ่งวัน ใช้เวลาประมาณ ๔ ชม. แล้วกินอาหารกลางวันแบบซีฟู้ดบนเรือ พร้อมแวะให้ชมถ้ำใหญ่ ๑ ถ้ำ ซึ่งจะเล่าให้ฟังต่อไป

อ่าวฮาลอง หรือ ฮาลองเบย์ นี้ ตั้งอยู่ในจังหวัดกว่างนิงห์ของเวียดนาม เป็นดินแดนที่ได้ชื่อว่างดงามมหัศจรรย์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีเนื้อที่ประมาณ ๑,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะหินปูนน้อยใหญ่กว่า ๑,๙๐๐ เกาะ หลายเกาะก็ยังไม่มีชื่อ และยังมีก้อนหินรูปร่างแปลกๆโผล่พ้นจากทะเล และมีถ้ำมากมายให้ชม จนทำให้สถานที่แห่งนี้มีมนต์ขลัง และชวนให้ค้นหา
 ลองนึกถึงเวลาล่องเรือในทะเลอันดามัน  หรือที่เขื่อนรัชประภาต์ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีบ้านเรา แล้วถ้าเราชื่นชมกับเกาะเล็กเกาะน้อยที่รายรอบว่าสวยงามมากแล้ว แต่ที่ฮาลองเบย์นี่ ต้องบอกว่าใหญ่โต และมีเกาะให้ดื่มด่ำกับความงดงามได้มากกว่า โดยเฉพาะเวลามีเรือสำเภาหรือเรือสำปั้นแล่นอยู่บนผิวน้ำ ยิ่งเพิ่มเสน่ห์ให้กับสถานที่แห่งนี้มากขึ้น จนองค์การยูเนสโกได้ประกาศ ให้ ฮาลองเบย์เป็น มรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗
คำว่า ฮาลอง ในภาษาเวียดนามหมายถึง สถานที่ซึ่งมังกรดำดิ่งลงสู่ท้องทะเล ตามตำนานเล่ากันว่า มีมังกรตัวหนึ่งพร้อมบริวารได้ลงมาจากสวรรค์เพื่อช่วยเหลือชาวเวียดจากข้าศึกที่มารุกราน  เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจก็กลับใจไม่กลับสวรรค์ และได้กลายร่างเป็นเกาะแก่งน้อยใหญ่ไปทั่ว บ้างก็ว่าหางที่สะบัดไปมาระหว่างทางของมันทำให้เกิดร่องเขาลึกมากมาย

เมื่อมังกรทิ้งตัวลงสู่ทะเล น้ำที่กระฉอกขึ้นมาก็ไหลท่วมท้นไปตามหุบเขา เกิดเป็นยอดเขาสูงนับพันเหนือคลื่น และหน้าผาเหล่านี้ก็เต็มไปด้วยถ้ำ และถ้ำหลายแห่งก็เกิดหินงอกหินย้อยที่สวยงามมาก ดังที่พวกเราได้แวะขึ้นไปชมที่เกาะตอไม้ ซึ่งภายใน ถ้ำโดวโก๋ว (Dau Co )ที่เราเข้าไปนั้น ทางการเขาได้จัดไฟเป็นแสงสีต่างๆ เพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับหินงอกหินย้อย ที่มีรูปร่างชวนให้ตั้งชื่อ และจินตนาการไม่น้อย  แต่หลายคนอาจจะอยากให้เป็นแบบธรรมชาติเดิมๆ  มากกว่า ที่ถ้ำนี้ หินบางก้อนก็ดูราวกับมังกร บางก้อนก็เป็นรูปพระโพธิสัตว์กวนอิม มีอยู่ก้อนหนึ่ง มีรูปร่างให้เห็นเป็นเต้านมข้างหนึ่งอย่างชัดเจน ซึ่งไกด์เล่าว่า มีมังกรและหงส์คู่หนึ่งอยู่ด้วยกัน จนมีลูกขึ้นมา ๑๐๐ ตัว ก็(เพิ่ง)คิดได้ว่าทั้งสองต่างธาตุกันคือ เป็นไฟและน้ำ ไม่สามารถอยู่ด้วยกันต่อไปได้ แม่หงส์จึงพาลูกๆ ไปอยู่ในทะเล ๕๐ ตัว ส่วนพ่อมังกรก็พาลูกไปอยู่บนภูเขาอีก ๕๐ ตัว ด้วยความเป็นห่วงลูก แม่หงส์จึงให้เต้านมข้างหนึ่งแก่พ่อมังกรไว้เลี้ยงลูก ก็คือ เต้านมที่เราเห็นข้างเดียวในถ้ำนี้นี่แหละ (เห็นไหม ความรักของแม่ ไม่ว่าจะเป็นคนเป็นหงส์ ก็อดห่วงลูกไม่ได้)

หลังจากล่องเรือชมความงดงามของเกาะต่างๆ รวมไปถึง เกาะไก่ชน อันเป็นสัญลักษณ์ของฮาลองเบย์แล้ว (เกาะไก่ชนนี้เป็นเกาะเล็กๆ สองเกาะโผล่หันหน้าเข้าหากัน ชาวเวียดนามว่าเหมือนไก่ชนกัน  แต่พวกเราว่าเหมือนไก่หอมแก้มกันมากกว่า) พวกเราก็ออกเดินทางย้อนกลับไปสู่เมืองฮานอย ที่เรายังไม่ได้แวะเข้าตัวเมือง แค่ผ่านชานเมืองเข้าสู่ฮาลองเบย์ในวันแรก 

กรุงฮานอย เป็นเมืองหลวงของเวียดนามมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๕๕๓ อันเป็นปีที่จักรพรรดิลีไทโตสถาปนาพระราชวงศ์ทาลอง (ทาลอง หมายถึง มังกรผงาด) ขึ้นในดินแดนแห่งนี้  จึงนับเป็นเมืองหลวงที่เก่าแก่และสวยงามอีกแห่งหนึ่งที่แฝงไปด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนาน คำว่า ฮา แปลว่า แม่น้ำ อันหมายถึงแม่น้ำแดง และ นอย แปลว่า ข้างใน ซึ่งรวมความแล้ว จะหมายถึง เมืองบนฝั่งโค้งแม่น้ำ(แดง) เมื่อเวียดนามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสนั้น เมืองฮานอยได้ถูกปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยขึ้น ดังนั้น ลักษณะของเมืองฮานอยจึงสะท้อนให้เห็นถึงความกลมกลืนของความก้าวหน้า และประเพณีเดิมที่มีอยู่ มรดกทางสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสในเมืองฮานอย ทำให้ที่นี่มีบรรยากาศโรแมนติกต่างจากเมืองหลวงอื่นๆ ของเอเชีย แต่น่าเสียดายว่าผลของสงคราม ความขัดสนทางการเงิน  และการขาดแคลนวัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพ ได้ส่งผลกระทบให้อาคารประวัติศาสตร์ต่างๆ อยู่ในสภาพทรุดโทรมไปมิใช่น้อย อย่างไรก็ดี ความโดดเด่นของเมืองนี้ก็ยังเป็นที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวทั้งหลายให้มาเยือนอยู่เสมอ

ณ กรุงฮานอยนี้ คณะของเราได้ไปชม ทะเลสาบคืนดาบ หรือ โฮฮว่านเกี๋ยม ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเก่าของฮานอย ทะเลสาบแห่งนี้มีตำนานเล่าว่า พระเจ้าเลไทโต กษัตริย์เวียดนามทรงได้รับดาบวิเศษมาจากเต่าทองตัวหนึ่ง  เพื่อใช้ต่อสู้กับราชสำนักหมิงของจีน เป็นเวลาร่วม ๑๐ ปี เมื่อสามารถปลดปล่อยประเทศได้แล้ว พระองค์ได้ทรงลงเรือถือดาบไปกลางทะเลสาบ และเต่าทองหรือเต่าเทวดาก็ได้ขึ้นมาคาบดาบวิเศษเล่มนั้นคืน  พร้อมดำน้ำหายไป จึงเป็นที่มาของชื่อทะเลสาบแห่งนี้ ซึ่งกลางทะเลสาบยังมีหอคอยที่ชื่อว่า ทาพ-รัว ที่แปลว่าหอคอยเต่า อยู่ด้วย และว่ากันว่าเต่าก็ยังคงอาศัยอยู่ในทะเลสาบนี้ และบนเกาะเล็กใกล้หอคอยยังมี วัดหง็อกเซิน หรือ วัดเนินหยก ตั้งอยู่ ที่พวกเราได้เข้าไปชมเช่นกัน โดยเดินข้ามสะพานโค้งสีแดงสดที่มีชื่อว่า เทฮุก หรือ สะพานแสงอาทิตย์  วัดเนินหยกนี้เล่าว่าสร้างโดยผู้กล้าท่านหนึ่งที่สามารถปลดแอกชาวเวียดนามจากมองโกล ซึ่งในวัดก็มีรูปปั้นของท่านตั้งเป็นที่เคารพสักการะอยู่ และยังมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม และเทพเจ้ากวนอูอยู่ด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีเต่ายักษ์ตัวผู้ตัวหนึ่งที่ถูกสต๊าฟไว้ เต่าตัวนี้เล่ากันว่า ขึ้นมานอนอยู่ที่หอเต่ากลางทะเลสาบ ชาวบ้านเห็นกลัวจะแห้งตาย จึงช่วยกันเอาลงน้ำ แต่เต่าดังกล่าวก็ยังขึ้นมาใหม่ถึง ๕ ครั้ง ๕ หน และครั้งสุดท้ายก็มานอนตายอยู่ที่หอเต่านี้ ทางวัดจึงนำมาสต๊าฟไว้ให้คนได้ชม ซึ่งบริเวณใกล้เต่าสต๊าฟยังมีรูปถ่ายเต่าตัวเมียอีกตัวหนึ่ง ที่มีคนเห็นโผล่มาในทะเลสาบเป็นครั้งคราว และมีผู้ถ่ายรูปไว้ได้

นอกจากนี้ก็ยังมีเต่ายักษ์ตัวผู้ตัวหนึ่งที่ถูกสต๊าฟไว้ เต่าตัวนี้เล่ากันว่า ขึ้นมานอนอยู่ที่หอเต่ากลางทะเลสาบ ชาวบ้านเห็นกลัวจะแห้งตาย จึงช่วยกันเอาลงน้ำ แต่เต่าดังกล่าวก็ยังขึ้นมาใหม่ถึง ๕ ครั้ง ๕ หน และครั้งสุดท้ายก็มานอนตายอยู่ที่หอเต่านี้ ทางวัดจึงนำมาสต๊าฟไว้ให้คนได้ชม ซึ่งบริเวณใกล้เต่าสต๊าฟยังมีรูปถ่ายเต่าตัวเมียอีกตัวหนึ่ง ที่มีคนเห็นโผล่มาในทะเลสาบเป็นครั้งคราว และมีผู้ถ่ายรูปไว้ได้
ในบริเวณใกล้กับทะเลสาบคืนดาบ อันถือว่าเป็นเขตเมืองเก่า มีสถานที่ที่นักช้อปทั้งหลายสนใจเป็นพิเศษ นั่นคือ ส่วนที่เรียกว่า ถนน ๓๖ สาย ที่เป็นซอยเล็กซอยน้อยอันเป็นที่ตั้งของร้านขายสินค้าที่มีอยู่มากมาย แต่ละตรอกแต่ละซอยก็จะขายสินค้าแบบหนึ่งๆ เช่น ตรอกนี้ขายกระเป๋า ซอยโน้นขายรองเท้า ถนนนั้นขายเครื่องไม้ เป็นต้น ซึ่งแต่เดิมเขาบอกว่าจะขายกันตามชื่อถนนจริงๆ เช่น ถนนเครื่องเงินก็จะขายแต่เครื่องเงิน แต่ปัจจุบันพ่อค้ารุ่นใหม่มักจะเน้นขายสินค้าฝีมือเฉพาะทาง แต่ตัวสินค้าไม่จำเป็นต้องเข้ากับชื่อถนนอีกต่อไป

หลังจากไปเที่ยวทะเลสาบแล้ว คณะของเราส่วนใหญ่ก็ได้นั่งรถสามล้อถีบที่เรียกว่า ไซโคล ชมถนน ๓๖ สายที่ว่าก่อน เป็นการชิมลางดูว่ามีสินค้าอะไรขายบ้าง เพราะหากลงเดิน คงไม่มีเวลาพอ อีกทั้งยังต้องเตรียมตัวไปชมการแสดงหุ่นน้ำในค่ำคืนนี้อีก อย่างไรก็ดี ก็ยังมีพวกเราบางส่วน ขอเดินช้อปปิ้งบริเวณรอบๆ พอหอมปากหอมคอเป็นการซ้อมมือ เพราะวันสุดท้ายของการเดินทาง จะมีรายการให้ละลายเงินโด่งที่เหลือ ณ บริเวณนี้อีกครั้งก่อนเดินทางกลับ

พูดถึงสามล้อถีบเวียดนามจะต่างกับบ้านเรา ในบ้านเราคนถีบจะอยู่ด้านหน้า คนนั่งอยู่หลัง แต่ที่นี่จะกลับกัน คือ คนนั่งอยู่หน้า คนถีบอยู่หลัง เคยคิดเล่นๆ ว่า ที่เป็นแบบนี้ คงเป็นเพราะหากเกิดอะไรขึ้น คนนั่งจะได้รับไปเต็มๆ ก่อน แต่โดยความจริงแล้ว ไกด์บอกว่า สมัยก่อนสามล้อถีบเขาก็เป็นแบบบ้านเราแหละ แต่พอฝรั่งเศสมายึดครอง ก็เปลี่ยนใหม่ ให้เป็นอย่างที่เห็น
เพราะพวกฝรั่งคงจะมิได้นั่งสามล้อเพียงเพื่อเป็นพาหนะอย่างเดียว แต่คงต้องการนั่งกินลมชมวิวไปด้วย ดังนั้น คนนั่งหากอยู่หลัง ก็ได้แต่เห็นก้นคนถีบ จะมองทัศนียภาพข้างทางก็คงไม่ถนัด ก็เลยบังคับให้ที่นั่งคนถีบไปอยู่ข้างหลังแบบที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน หาใช่เป็นเจตนาร้ายของคนถีบอย่างเราเคยเข้าใจไม่
เมื่อกินอาหารค่ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะทั้งหมดก็กลับมายังโรงละครหุ่นน้ำ ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับทะเลสาบคืนดาบ โรงละครแห่งนี้ ก็คล้ายๆ กับโรงหนังบ้านเรา เพียงแต่แทนที่ด้านหน้าจะเป็นจอหนัง ก็กลายเป็นสระน้ำประมาณว่า น้ำสูงประมาณครึ่งตัวของผู้ที่ชักหุ่นอยู่หลังฉาก โดยมีนักดนตรีเล่นดนตรี และผู้พากย์สดอยู่บนเวทียกพื้นด้านข้างๆ การแสดงจะเป็นเรื่องวิถีชีวิตชาวเวียดนาม เช่น การทำเกษตรกรรม การจับปลา ตำนานเรื่องทะเลสาบคืนดาบ เป็นต้น 
ความน่าดูของหุ่นน้ำ คือ ความแปลกของการชักหุ่น ที่ว่า แทนที่จะชักหรือเชิดหุ่นบนบกหลังฉาก ผู้ชักกลับอยู่ในน้ำ ซึ่งหากเราฟังเพลงหรือเสียงพากย์ออก ก็คงจะออกอรรถรสยิ่งกว่านี้ การแสดงของเขาจะใช้เวลาประมาณ ๑ ชม. ก่อนเข้าชมเขาจะมีแผ่นพับ และพัดกระดาษวางแจกไว้หน้าโรง ที่ตลกคือ คุณถังไกด์ของเราบอกว่า แผ่นพับหยิบได้ตามใจชอบ เท่าไรก็ได้ เพราะเขาอยากโฆษณาอยู่แล้ว แต่พวกเราส่วนใหญ่ ได้ยินว่าให้หยิบพัดไปเท่าไรก็ได้ ดังนั้น พอเห็นพัดที่วางอยู่ แม้เขาจะเขียนภาษาอังกฤษว่าให้หยิบคนละเล่ม แต่พวกเราก็หยิบกันมาคนละหลายเล่ม เพื่อมาแจกเพื่อนเป็นของที่ระลึก กว่าจะรู้ว่าน่าจะฟังผิด ก็หยิบกันมาไม่น้อยกว่าคนละ ๓ -๕ เล่มกระมัง

" ป้าอ้น "...เจ้าเก่า

      เรื่องท่องเที่ยวของป้าอ้น ชินจ่าว เวียดนาม ท่องสามแดนดิน ถิ่นมรดกโลก (ตอนจบ) New เมื่อสาวไทยถูกจี้ที่ฮังการีบูดาเปสต์ เยือนแดนมังกร ท่องอุทยานมรดกโลก เที่ยวปราสาทหิน เยือนถิ่นนางอัปสรา ท่องแดนปลาดิบชิมแต่กิมจิ ตามล่าหาซากุระปะแต่ดอกบ๊วย เที่ยววัดอย่างไรให้สนุก

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook