สำรวจห้องเรียนริมบึง - มหัศจรรย์ธรรมชาติข้างบ้าน

สำรวจห้องเรียนริมบึง - มหัศจรรย์ธรรมชาติข้างบ้าน

สำรวจห้องเรียนริมบึง - มหัศจรรย์ธรรมชาติข้างบ้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำรวจห้องเรียนริมบึง - มหัศจรรย์ธรรมชาติข้างบ้าน

WWF ประเทศไทย ... เรื่อง WWF-Canon / รัฎดา ลาภหนุน ...ภาพ

 

นั่งรถไฟจากลอนดอนประมาณชั่วโมงกว่า ๆ มาทางตะวันออกเฉียงใต้มุ่งสู่จังหวัดเคนท์ (Kent) ที่ได้รับฉายาว่าเป็น "The Garden of England" ฉันก้าวลงที่สถานีแคนเทอร์เบอร์รี่ ฝั่งตะวันตก (Canterbury -West) โรงนาไม้ขนาดใหญ่ที่ถูกแปลงมาเป็นตลาดพืชผัก และอาหารปลอดสารพิษส่งสดจากไร่ด้านซ้ายมือเพิ่งเปิดประตูให้บริการรับแสงแห่งเช้า... 

ผู้คนที่เคยเก็บตัวอยู่ในอาคารบ้านช่องก็ออกมาจับพลั่วพรวนดิน ปลูกต้นไม้ตัดแต่งสวนรับแสงแดดอุ่น ๆ วัยรุ่นและเด็กน้อยมีโอกาสถอดเสื้อวิ่งเล่นกลางแดดกันอย่างคึกคัก...ร่าเริง 

วันนั้นตัวเมืองแคนเทอร์เบอร์รี่คึกคักไปด้วยผู้คนต่างชาติหลายภาษา ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวจากฝั่งยุโรปที่ลอดอุโมงค์ใต้น้ำผ่านช่องแคบอังกฤษมาเพียงไม่ถึงชั่วโมง เพื่อชมวิหารแคนเทอร์เบอร์รี่  วิหารโรมันอันเก่าแก่ตระการตา ฉันเลี่ยงการแย่งชมความงามของสถาปัตยกรรมแห่งมรดกชิ้นเขื่อง และเลือกที่จะเดินเตร่เลาะแม่น้ำสตวอร์ ( Stour) ดูนกน้ำสอนลูกน้อยเริงระบำบนใบบัวล้อกิ่งใบวิลโลว์ที่ลู่ลมโน้มอยู่ริมน้ำ 

เดินออกมาจากตัวเมืองไม่ไกลนัก ใกล้ ๆ กับย่านที่อยู่อาศัยแห่งหนึ่งของนักเรียนนักศึกษาเชิงเขาด้านใต้ของมหาวิทยาลัยเคนท์ บนถนนบรอดโอ๊ค (Broad Oak) ป้ายสีฟ้า- ขาวขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงข้ามโกดังขายส่งของเล่นเด็ก เขียนว่า "Canterbury Environmental Education Centre" หรือ "ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาแคนเทอร์เบอร์รี่" 

ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาตั้งอยู่ข้างบ้านที่ฉันเคยอาศัยอยู่เกือบปี สมัยเป็นนักเรียนด้านการอนุรักษ์แต่การบ้านรุมเล่นงานฉันจนงอม  เลยไม่มีโอกาสได้เข้ามาเยี่ยมชมเสียที.. คนเราบางทีก็ปล่อยปละละเลยกับสิ่งใกล้ตัวเสียจนเผลอลืมและทิ้งขว้างไป... วันนี้เป็นวันดีที่ฉันได้กลับมาอีกครั้ง และตั้งใจจะลุยเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาฝากเพื่อน ๆ ที่เมืองไทย 

แคนเทอร์เบอร์รี่ เป็นหนึ่งในหกของศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สถานีไฟฟ้าย่อยของบริษัท National Grid ซึ่งผลิตกระแสฟ้าส่งป้อนคนหลายล้านคนในอังกฤษและเวลส์ ด้วยแนวคิดที่จะพลิกฟื้นพื้นที่ขนาด 30 ไร่ ที่ผ่านการขุดปรับสร้างสถานีเมื่อ 47 ปีก่อนให้กลับมาเป็นพื้นที่ธรรมชาติ ให้เด็ก ๆ ได้ใช้เป็นสถานที่เรียนรู้โลกธรรมชาติ 

ประตูไฟฟ้าขนาดมหึมาเลื่อนเปิดรับผู้มาเยือนจากแดนไกล ตกใจเล็กน้อยในตอนแรกแต่พอนึกได้ว่ากำลังเข้าเขตสถานีไฟฟ้าย่อยเลยเข้าใจ  พอเห็นงานศิลปะแท่งข้าวโพดไม้สีแดงและซุ้มไม้กับลูกศรชี้เป็นทางเข้า ที่ไซม่อน ผู้ดูแลพื้นที่ของศูนย์เดินยิ้มเข้ามากล่าวต้อนรับอย่างเป็นกันเองก็ค่อย ๆ ใจชื้นขึ้น 

จริง ๆ วันนั้นเขาจะไม่อนุญาตให้คนทั่วไปเข้าชม เพราะมีนักเรียนกำลังทำวิจัยกันอยู่ ดิฉันจึงพยายามทำตัวเงียบเชียบ เฉกเช่นทุกครั้งเวลาอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ-ถ้าคุณอยากเรียนรู้โลกธรรมชาติ คุณต้องรู้จักเงียบเพื่อจะฟัง สังเกตความเคลื่อนไหว และดมกลิ่น...

อาคารไม้ชั้นเดียวที่ต่อเชื่อมกันเป็นศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา ที่มีห้องเรียน ห้องเก็บอุปกรณ์ สำนักงานและห้องกิจกรรมหันหน้าเข้าหาบึงน้ำ มองเห็นหญ้าจำพวกกก แฝก หย่อมไม้พื้นถิ่นที่กระจัดกระจายขึ้นรอบพื้นที่ ร่มรื่นและเป็นที่อยู่ของพืชและสัตว์สารพัน ไม่ว่านก เป็ด หงษ์ จิ้งจกน้ำ หนูดอร์ไมส์ที่พบเห็นยากในปัจจุบัน รวมถึงค้างคาวอย่างน้อยกว่าสามชนิด และกล้วยไม้หายาก (สำหรับประเทศอังกฤษ โปรดทำใจนะคะ!!) และพืชอีกหลากหลายชนิด 

แน่นอนว่าธรรมชาติเหล่านี้มิได้ฟื้นตัวชั่วข้ามคืน แต่ด้วยวิสัยทัศน์อันยาวไกลของผู้ใหญ่ใจดีที่มีการวางแผนจัดการพื้นที่ที่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติดั้งเดิม บางส่วนของพื้นที่มีการกลบ บางส่วนของพื้นที่ปล่อยทิ้งให้เป็นบึงธรรมชาติ ให้พืชและสัตว์ค่อย ๆ แก่งแย่งชิงตามวิถีธรรมชาติที่จะกลับคืนมา จากพืชเบิกนำ ไม้น้ำ จนกระทั่ง 10  ปีให้หลังไม้ยืนต้นอย่างโอ๊ค ก็แตกกิ่งก้านสาขากลายเป็นสภาพป่าขนาดย่อม ๆ 

ในปี 2516 จึงได้ประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนทางธรรมชาติ (Nature Reserved) และตั้งขึ้นเป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติ (Nature Study Centre) ก่อนจะเปิดเป็น ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Education Centre) อย่างเป็นทางการเมื่อกลางปี 2548 บริการแก่นักเรียนชั้นประถม และมัธยมในจังหวัดเคนท์มาศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์และศิลปะ  ซึ่งเชื่อมกับหลักสูตรการเรียนของประเทศโดยมีนักสิ่งแวดล้อมศึกษาเป็นครูผู้สอน มีผู้เข้าเยี่ยมชมศูนย์กว่า 6,000 คนต่อปี ที่น่าสนใจคือได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสภาเมืองเคนท์ องค์กรสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในเขตชานเมืองแคนเทอร์เบอร์รี่ และกองสลากมรดกอีกด้วย 

ฉันชื่นชมความร่วมมือร่วมใจของผู้ใหญ่ใจดีที่นี่ พวกเขาให้ความสำคัญของพื้นฐานการศึกษาของเด็กเอามาก ๆ โดยเฉพาะกับการเรียนรู้กับโลกธรรมชาติใกล้ ๆ ตัว  แม้เพื่อนตาน้ำข้าวของฉันบางคนทำท่าเอ๋อแปลกใจว่า ทำไมฉันถึงต้องดั้นด้นจะมาให้ได้ คำตอบง่ายของฉันก็คือ ที่ไทยแลนด์ยังไม่ค่อยมีแบบนี้นี่จ๊ะ 

ฉะนั้นเวลาว่างของฉันก็มักจะไปเที่ยวมุดอยู่ตามศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาของเขาที่โน่นที่นี่ อย่างที่ลอนดอน เขต Islington ทางตอนเหนือที่ฉันเคยอยู่ ก็มีศูนย์เขียว ๆ แบบนี้แทรกอยู่กลางเมือง ใกล้ ๆ กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินอาร์เซลนอล มีพื้นที่ไม่กว้างนัก เหมือนป่าละเมาะที่มีบึงเล็กอยู่ตรงกลาง แต่เขาก็มีอาคารสิ่งแวดล้อมศึกษาที่มีเจ้าหน้าที่ทำวิจัยเล็ก ๆ ร่วมกับเด็กแถว ๆ นั้น ฉันชอบที่นั่นและขนลุกขนพองด้วยความอยากได้อยากมีบ้าง เหมือนอีกครั้งที่เดินเข้าไปใน High Gate Woodland สวนสาธารณะกึ่งป่าขึ้นไปทางเหนืออีกหน่อย เขามีอาคารไม้เล็กๆ หลังหนึ่งขนาดคนสองคนเดินสวน แต่ข้างในเป็นนิทรรศการแบบบ้าน ๆ ที่ตัดแปะข้อมูลการสำรวจค้างคาว ผีเสื้อ นก แมลงและพันธุ์พืชเต็มไปหมด เป็นนิทรรศการที่มีชีวิต...ฉันสัมผัสได้ถึงกลิ่นโคลนที่เปื้อนรองเท้าบู๊ตของผู้ใหญ่และเด็กที่เก็บข้อมูลพวกนี้มา นึกได้ถึงป้าฝรั่งที่มามาฉีกตัดแต่งบอร์ดช่วยอย่างพิถีพิถัน...ความรู้สึกเดียวกันกำลังเกิดขึ้นขณะฉันย่างกรายเข้าสู่อาคารหลังย่อมริมบึงใหญ่ที่แคนเทอร์เบอร์รี่ 

ดอกลาเวนเดอร์สีม่วงชูช่อพลิ้วเป็นทางตรงสู่อาคารของศูนย์ ฯ ที่เป็นเหมือนศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านธรรมชาติขนาดย่อม ๆ ฉันรีบเก็บรวบรวมแผ่นพับอย่างกระหายรู้ แล้วรีบเก็บใส่เป้เป็นอย่างดี  ก่อนเลือกเลี้ยวขวาสำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติคิงส์ฟิชเชอร์...ตามทางสะพานไม้เล็ก ๆ จะมีป้ายสื่อความหมายบอกคุณค่าความสัมพันธ์ของพืชหรือสัตว์ต่อระบบนิเวศเป็นระยะ ๆ บางช่วงมีฐานสำรวจวิถีของแมงมุม หรือหนอนที่นำมาใส่กระบอกเล็ก ๆ จำลองเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยเพื่อสื่อให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงจากการเห็น สัมผัสและเชื่อมโยงสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ กับโลกธรรมชาติ

ฉันเห็นเด็กมัธยมหญิงหลายคนในพื้นที่กำลังทำวิจัยโครงการวิชาชีววิทยา บ้างกำลังส่องใบไม้ บ้างกำลังจดบันทึกความสูงของหญ้า อีกกลุ่มย่อยแยกกระจายอยู่ตามริมบึง ตักช้อนพืชและสัตว์น้ำลงกะบะ มาวัดเทียบกับแผ่นดัชนีวัดคุณภาพน้ำจากสัตว์ในส่วนต่างๆ ของบึง ฉันแอบดูพวกเขาอย่างเงียบ ๆ แล้วนึกย้อนถึงเด็กนักเรียนบ้านเรา...

เรามีห้วย หนอง คลอง บึง และทุ่งที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติอยู่นับไม่ถ้วน ทั้งข้างบ้าน หลังโรงเรียน หน้าอำเภอ พวกเรารู้จักมันพอก่อนจะถูกฝังกลบไปใต้คำว่า "การพัฒนา" แล้วหรือยัง

คงมิกล้าคาดหวังถึงวิสัยทัศน์ของผู้ใหญ่ใจดีถึงขนาดจะมีการยกพื้นที่ธรรมชาติที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น คลองหลังพิพิธภัณฑ์ ป่าละเมาะร้าง หากแต่อยากจะค่อย ๆ แซะความคิดในการเนรมิตพื้นที่บางแห่งแทนที่จะให้เป็นเพียงสวนสวยกริ๊ก !! มาเป็นพื้นที่ธรรมชาติที่มีเทวดาเลี้ยงดู และเราเข้าไปแต่งเล็มบ้าง ให้เป็นห้องเรียนธรรมชาติของเด็ก...โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเมืองตาดำ ๆ ที่นับวันวิถีชีวิตของพวกเขากำลังถูกแยกห่างจากโลกธรรมชาติไปทุกที 

เช่นนั้น...วันหนึ่งเราคงมีโลกธรรมชาติมาอยู่ใกล้ตัวมากขึ้น ครานั้นเด็ก ๆ ของเราก็จะได้มีที่ตะลุยสำรวจกันอย่างสนุกสนานบนองค์ความรู้ของธรรมชาติท้องถิ่นแบบไทยๆ...เพราะวันหนึ่งเมื่อเขาเติบโตขึ้นพวกเราอาจจะคิดถึงและเข้าใจวิถีชีวิตน้อย ๆ ริมบึงที่ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตใกล้ ๆ บ้านและไม่คิดจะฝังกลบด้วยคอนกรีตเสมอไป

................................................

สนใจกระบวนการศึกษาเรียนรู้โลกธรรมชาติฉบับนำร่องของ WWF ประเทศไทย ติดตามอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากศูนย์ศึกษาธรรมชาติบางปู และศูนย์ศึกษาธรรมชาติรังสิต ได้ที่ www.wwfthai.org

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook