บ่อมบ๊อมตะลอน หลวงพระบา ตอนที่ 1

บ่อมบ๊อมตะลอน หลวงพระบา ตอนที่ 1

บ่อมบ๊อมตะลอน หลวงพระบา ตอนที่ 1
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     หลังจากที่กระผมนาย บ่อมบ๊อม (ผู้น่ารัก) ตั้งใจไว้เกือบๆ ปีแล้วว่า ซักวันบ่อมบ๊อมจะต้องขับรถพาเจ้า Sport Rider คันเก่งขับไปเที่ยวหลวงพระบาง ให้ได้ และแล้วฝันนั้นก็เป็นจริง ฮ่าฮ่า..(ทำหน้าหื่นๆ) ปีใหม่ปีนี้เป็นปีแรกที่บ่อมบ๊อมคนน่ารักขอลาเจ้านายพ่วงหนึ่งวัน (หลังจากทำงานที่นีมา 12 ปี) เนื่องจากว่าจะได้เดินทางออกจาก กทม. ก่อนคนอื่นๆ เค้า หลังจากเจ้านายอนุมัติ บ่อมบ๊อมไม่รีรอรีบโทรศัพท์หาเพื่อนๆ กลุ่มที่เคยเที่ยวกันประจำถึงกำหนดการณ์วันเดินทาง ซึ่งเราจะออกจาก กทม. กันตั้งแต่คืนวันที่ 27 ธันวาคม 2550 และกลับมาถึง กทม. 2 มกราคม 2551 อุอุ..เที่ยวข้ามปีเลยเรา

เมื่อทุกคนโอเค ต่างคนก็ต่างเฝ้ารอวันที่เดินทางจะมาถึง .. เอาล่ะ เข้าเรื่องเลยดีก่า เอิ้ก...ก..ก

    สี่ทุ่มล้อหมุนออกจากบ้านที่วัชรพล โดยเจ้า Sport Rider คันเก่ง แต่ในใจตอนนั้นคิดว่า เก่งจริงรึป่าวว๊า ที่คิดแบบนั้นมันมีที่มาที่ไป เนื่องจากว่าเจ้ารถคันเก่งเนี่ยมันยังมีอาการตัวร้อนบ้างถ้าหากว่าขับเร็วๆ ซัก 140 ขึ้น แต่ก็ไม่เป็นไร ค่อยๆ ไปดีกว่ามันคงไม่เป็นอะไร (มั๊ง)

    ขับไป พักไป จนไปเช้าที่หนองคายประมาณ 6 โมงเช้า อ้อ..ครั้งนั้นเรามีผู้ช่วยนำทางเป็นเจ้าน้องเหมียว (จริงแล้วมันชื่อ MIO) แต่มีลิงประหลาดดันตั้งชื่อให้ว่าน้องเหมียว จากนั้นบ่อมบ๊อมก็เลยเรียกมันว่า น้องเหมียว มาตลอด เจ้าน้องเหมียวเนี่ยเป็น GPS พึ่งได้มาใหม่ก็เลยติดไปด้วยเผื่อว่า จะพอช่วยเหลืออะไรได้บ้าง

    เอาล่ะ.. มาถึงหนองคายแล้ว พวกเราก็เตรียมเอกสารเพื่อใช้ในการผ่านแดน แต่ด่าน ต.ม. ยังไม่ถึงเวลาเปิด พวกเราก็เลยต้องโซ้ยข้าวก่อน ตามคติที่ว่า กองทัพต้องเดินด้วยท้อง มื้อเช้าของพวกเราวันนี้เป็นข้าวไก่กระเทียม พ่วงด้วยข้าวเหนียว และปลาแม่น้ำโขงทอด ไม่อยากบอกว่า อร่อยมากๆ คล้ายๆ กับปลาช่อนแดดเดียว แต่คิดว่าคงไม่ใช่ปลาช่อนไม่ทันได้ถามคนขายว่าปลาอะไร เพราะจะเสียเวลาในการกิน (จริงๆ แล้วกลัวกินไม่ทันคนอื่น)

    เมื่อคนอิ่มท้องรถก็ต้องอิ่มบ้าง คราวนี้ล่ะสิจะเอาเจ้า Rider ไปหาทีเติม LPG เอ..เติมที่ไหนดีกว่า และแล้วก็คิดได้ว่า ครั้งนี้เรามี เจ้าเหมียว MIO มาด้วยก็เลย Search หาข้อมูล มันใช้เวลาคิดประมาณ 10 วินาที .. ปิ๊ง..ง..ง แล้วมันก็พูดว่า กลับรถ อีกสามร้อยเมตรเลี้ยวซ้าย ในใจก็แอบชมเจ้าเหมียวว่ามันก็เก่งเหมือนกันแฮะ ที่อุตส่าห์หาปั๊มเติมแก็สให้ได้ .. อิอิ

    หลังจากรถพร้อม คนพร้อม เวลาดี 8.00 น. เคารพธงชาติ ก็ขับรถตรงเข้าด่านมิตรภาพไทย ลาว ซึ่งใครที่จะไปเวียงจันทน์ วังเวียง หลวงพระบาง โดยใช้ทางรถจะต้องเข้าด่านนี้ ซึ่งจะปลอดภัยและสภาพถนนจะดีที่สุด

    ในการทำเอกสารก็ค่อนข้างนานเอาเรื่องเหมือนกัน เนื่องจากว่าเจ้ารถคันนี้ยังไม่เคยมีประวัติที่วิ่งออกนอกประเทศ (ฟังแล้วดูดี๊ดี) เลยต้องมีการตรวจเอกสารค่อนข้างละเอียด หลังจากที่ประทับพาสปอร์ตทั้งคนและรถ รวมถึงจ่ายค่าธรรมเนียมเรียบร้อยแล้ว ก็ขับรถออกจากประเทศไทย

   ด้วยความตื่นเต้น และด้วยความประหม่า เนื่องจากว่าประเทศลาวจะขับรถคนละฝั่งกับบ้านเรา เลยต้องคอยดูว่าเมื่อไหร่ถึงจะขับเลนแบบเค้าซะที

   หลังจากออกจากด่าน ต.ม. ของไทยเจ้า Rider ก็พาวิ่งข้ามสะพานมิตรภาพไทย ลาว เพื่อเข้าไปสู่ด่าน ต.ม. ของประเทศลาว แต่เอ๊...อ้อ..ก่อนที่จะเข้าประเทศเค้ารถทุกคันที่เข้ามาจากไทยจะต้องมีการพ่นยาง พ่นตัวรถในการฆ่าเชื้อโรคเสียก่อน เพราะทางเพื่อนลาวกลัวว่ารถจากเมืองไทยจะนำเชื้อโรคไปสู่บ้านเค้า

   พวกเราใช้เวลาร่วมชั่วโมงในการเดินเอกสารฝั่งลาว ซึ่งระบบในการตรวจเอกสารดูแล้วระบบไม่ดีเท่าที่ควร ซับไป ซ้อนมา ช่องตรวจเอกสารไม่เป็นแนวเดียวกัน แต่ก็ช่างมันเหอะ ตรูอยากเที่ยวเต็มที่แล้ว อยากจะตรวจ อยากจะเช็คอะไรก็เชิญ

   ตรวจเอกสารเสร็จ พวกเราก็นึกว่าจะได้ไปกันซะที แต่ขอโทษ..ยังไปบ่ได้เด้อ..(เสียงจากเจ้าหน้าที่ ต.ม) เจ้าจะต้องไปทำประกันเสียก่อน ก็เป็นการดีอีกอย่างหนึ่งในการทำประกันรถยนต์หากเกิดอุบัติเหตุทางบริษัทประกันฯ ของทางลาวจะได้เป็นผู้รับผิดชอบ

     เสร็จซะที อุทานออกมาเกือบพร้อมๆ กัน เมื่อเสร็จด้านพิธีการเรียบร้อย พวกเราก็ออกจากด่าน ต.ม ของลาวมุ่งหน้าสู่เมืองหลวง นครเวียงจันทน์เพื่อจะผ่านไปยังเมืองหลวงพระบาง ออกจากด่านได้ไม่เกิน 800 เมตร เจอทางแยก เฮ้ย..ไปทางไหนดีวะ และแล้วก็ตัดสินใจเลี้ยวขวา เพราะมีปั๊มน้ำมันอยู่ด้านนั้นเพื่อจะได้เข้าไปถามคนเติมน้ำมัน ไปทางนี้ถูกแล้วครับ เด็กปั๊มบอก ก็ถือว่าเป็นฤกษ์งามยามดีที่สุ่มเลี้ยวครั้งแรกก็ถูกต้องตรงเผง แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เจอกับปัญหาเดิมๆ คือไม่รู้จะไปทางไหนดี เลยต้องหาซื้อแผนที่ ทำให้เสียเวลาหลงในเวียงจันทน์ร่วมๆ ชั่วโมง

    เมื่อได้แผนที่มา แต๊น แต่น .. ไม่มีปัญหา เรามุ่งหน้าไปยังเมืองวังเวียง โดยใช้เส้นทางหลวงที่ 13 สู่หลวงพระบาง ในการขับรถครั้งนี้ต้องระวังมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ เช่น ขับเลนไม่เหมือนบ้านเรา คน (ทุกคน) ที่ขี่จักรยานก็จะขี่เป็นหน้ากระดานโดยไม่สนใจว่าจะขวางถนน อาจจะเป็นสิ่งปกติสำหรับเค้า ชาวบ้านที่อยู่ข้างทางที่สังเกตจะทำไม้กวาดขาย ก็จะขึ้นมานั่งบนไหล่ทางกันเป็นแถว ครั้งนี้รถจะต้องระวังคนอย่างมาก

    ระหว่างทางจากเวียงจันทน์มาถึงวังเวียงยังเป็นถนนที่ยังพอทำเวลาได้บ้างถึงจะไม่มากนัก เนื่องจากถนนยังไม่ขึ้นเขามากแต่ที่จะต้องระวังเป็นพิเศษคือ คนตามถนน ลองคิดภาพตามกันนะครับ ถนนเล็กๆ สองเลน มีหมู่บ้านอยู่ริมถนน และมีทั้งเด็กเล็ก คนแก่ คนไม่แก่ นั่งบนถนน (ย้ำ..บนถนนไม่ใช่ไหล่ทาง) จึงต้องขับไปลุ้นไป ตรูจะเฉี่ยวใครบ้างรึป่าวฟะเนี่ย!!

    ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชม. มาถึงวังเวียง เป็นเวลาประมาณบ่ายโมง โค ต ร หิวเลย ต้องหาอะไรกินซะหน่อย ก่อนที่จะควบเจ้า Rider ต่อไปหลวงพระบาง จริงๆ แล้วที่วังเวียงเราก็จะพักเหมือนกันแต่จะแวะพักในวันกลับ ส่วนวันนี้พักกินข้าวกันก่อน

    ขับหาที่กินเรื่อยๆ ก็เห็นป้ายว่ามีร้านอาหาร ก็เลยขับเข้าทางลูกรังประมาณซักห้าร้อยเมตร ก็มองเห็นภูเขาอยู่ด้านหน้า แม่น้ำซองอยู่ข้างล่าง สวยงามมั่กๆ มีสะพานไม้เล็กๆ ข้ามไปอีกฝั่งสำหรับไปทานอาหาร พวกเรานั่งกันจนเพลินหลังจากที่นั่งอยู่ในรถกันตั้งแต่สี่ทุ่มจนถึงบ่าย โดยคิดว่าอีกแค่สองร้อยกิโลก็ถึงหลวงพระบางแล้ว จนกินข้าวเสร็จ นั่งพักเสร็จดูนาฬิกา .. บ่าย 3 โมงแล้ว คิดในใจ แค่สองร้อยโล เต็มที่ก็สามชั่วโมง

      แต่แล้วก็ตรงกันข้ามกับที่คิด คนขายข้าวบอกว่าทำไมไม่พักที่นี่ก่อน กว่าจะไปถึงหลวงพระบางอีกประมาณ 6 ชั่วโมงนะ

     พวกเราอุทานร้องพร้อมกันอย่างไม่ได้นัดหมาย ห๊า.... (ต้องทำเสียงหลงด้วย) จริงเหรอพี่ อูย..บ่อมบ๊อมเอ๊ย.. เดี้ยงแน่ๆ (แต่ในใจก็ยังไม่เชื่อ อะไรฟะ แค่ 200 กม. ตั้ง 6 ชั่วโมง)

โปรดติดตามอ่าน บ่อมบ๊อมตะลอน หลวงพระบาง ตอนที่ 2 ได้ที่นี่เร็วๆ นี้ครับ

บ่อมบ๊อม...เรื่อง / ภาพ ออนไลน์วันที่ 18 มกราคม 2551

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ขอขอบคุณการอำนวยความสะดวก และโปรแกรมท่องเที่ยวแบบสุดยอดใน สปป. ลาว โดย  บริษัท สบายเดย์ แทรเวล จำกัด โทร. 08 7678 0566 , 0 2661 7429  www.sabuyday.com และ ทุกมิตรภาพ - รอยยิ้มบริสุทธิ์ ของชาว เวียงจันทน์ , วังเวียง , หลวงพระบาง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง บ่อมบ๊อมตะลอน หลวงพระบาง ตอนที่ 2

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook