วัดตูม หลวงพ่อสุข

วัดตูม หลวงพ่อสุข

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ตั้งอยู่บริเวณริมคลองวัดตูม ถนนอยุธยา-อ่างทอง ห่างจากตัวเมืองอยุธยา ประมาณ 6-7 กิโลเมตร ในท้องที่ตำบลวัดตูม มีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่เศษ วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างตั้งแต่เมื่อไร ใครเป็นผู้สร้าง ทราบกันแต่เพียงว่าเป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยเมืองอโยธยา ก่อนที่จะตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี วัดนี้คงเป็นวัดร้างมาครั้งหนึ่งเมื่อคราวเสียกรุงในปี พ.ศ. 2310 ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้มีผู้ปฏิสังขรณ์ขึ้นอีกและเป็นวัดที่พระสงฆ์อยู่จำพรรษาทุกวันนี้ วัดตูมนี้เป็นที่สำหรับลงเครื่องพิชัยสงครามแต่ดั้งเดิมมาคงเป็นแต่แรกตั้งกรุงอโยธยาตลอดจนถึงทุกวันนี้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ พระพุทธรูปซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ พระเศียรตอนเหนือพระนลาฎ (หน้าผาก) เปิดออกได้และพระเกศมาลาถอดได้ ภายในพระเศียรเป็นบ่อกว้างลึกลงไปเกือบถึงพระศอ มีน้ำไหลซึมออกมาตลอดเวลาเหมือนหยาดเหงื่อ เป็นน้ำใสเย็นบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน สามารถรับประทานได้โดยปราศจากอันตรายใดๆ และไม่แห้งขาดหาย พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพทธรูปสัมฤทธิ์ทรงเครื่อง ปางมารวิชัย นามเดิมของท่านคือ หลวงพ่อทองสุขสัมฤทธิ์ เรียกกันเป็นสามัญว่า หลวงพ่อสุข หน้าตักกว้าง 87 เซนติเมตร สูง 1.50 เมตร สร้างสมัยใดไม่ปรากฎตำนาน เป็นพระทรงเครื่องแบบมหาจักรพรรดิ์ราชาอธิวาสสวมมงกุฎ มีกุณฑลทับทรวง สังวาลพาหุรัดประดับด้วยเนาวรัตน์ ประทับนั่งขัดสมาธิ พระพุทธรูปองค์นี้จะเปิดเศียรพระทุกวันที่ 1 ของเดือน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook