อุทยานแห่งชาติสิรินาถ

อุทยานแห่งชาติสิรินาถ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ในปี พ.ศ. 2523 นายเสน่ห์ วัฒนาธร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตในขณะนั้นได้ตระหนัก ถึงความสำคัญและคุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลดีระยะยาวอย่างมั่นคงต่อระบบนิเวศน์และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต จึงได้ขอให้กรมป่าไม้ กำหนดพื้นที่บริเวณ หาดในยางและที่ราบบางส่วนของทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์บ้านสาคู ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงทำการสำรวจ ความเหมาะสมของพื้นที่ ซึ่งพบว่าถึงแม้สภาพป่าไม้ตามธรรมชาติในบริเวณนี้ จะไม่หลากหลายนักแต่น่านน้ำทะเลบริเวณนี้มีปะการังน้ำตื้นขนาดใหญ่ 2 แนว และมีหาดทรายที่เงียบสงบ สะอาด อันเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเลมาเป็นเวลาเนิ่นนาน ด้วยจุดเด่นและความสำคัญทั้งสองประเด็นนี้นี่เอง กรมป่าไม้จึงเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศให้พื้นที่บริเวณนี้ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ในรูปแบบ ของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 115 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 ให้พื้นที่ชายฝั่งและพื้นน้ำทะเล ประมาณ 5 กิโลเมตร จากฝั่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะภูเก็ต ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บริเวณป่าสนทะเล ป่าเขารวก ป่าเขาเมือง หาดในยาง หาดในทอน ในท้องที่ตำบลไม้ขาว ตำบลสาคู และตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 56,250 ไร่ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยให้ชื่อตามที่ชาวภูเก็ตเรียกขานว่า อุทยานแห่งชาติหาดในยาง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กรมป่าไม้ทำการผนวกพื้นที่ราชพัสดุบริเวณ ท่าฉัตรไชย อำเภอถลางเพิ่มเติม ให้เขตอุทยานแห่งชาติหาดในยางเพื่อน้อมเกล้าถวายเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมายุ ครบ 60 พรรษา ในปี พ.ศ. 2535 จากนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เรียนราชเลขาธิการขอให้นำความกราบบังคมทูล เพื่อขอพระราชทาน พระราชานุญาตใช้ชื่ออุทยานแห่งชาติหาดในยางใหม่ว่า อุทยานแห่งชาติสิรินาถ

สภาพป่าธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ประกอบด้วยผืนน้ำถึงประมาณ 76 % และผืนดินเพียงประมาณ 24 % เท่านั้น พื้นที่ป่าธรรมชาติในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จึงมีทรัพยากร ชีวภาพบนบกไม่หลากหลายนัก ดังจะเห็นได้ว่าชนิดป่ามีเพียง 3 ชนิดเท่านั้น คือ ป่าชายหาด ป่าชายเลน และป่าดงดิบ (บริเวณเขาใสครูและเขาม่วง)

ป่าชายหาด เป็นป่าโปร่งพบอยู่ทั่วไปตามแนวหาด มีเนื้อที่ประมาณ 2 ตารางกิโลเมตร ป่าชายหาดนี้ นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ต่างๆ เช่น กระแต นกกางเขนบ้าน นกเอี้ยงสาริกา นกแซงแซว นกเขาใหญ่ นกเขียวคราม นกปรอด นกขมิ้นท้ายทอยดำ และจั๊กจั่นทะเล ป่าชายหาดเป็นป้อมปราการป้องกันลมพายุในฤดูมรสุม เป็นที่ให้ร่มเงา หลบแดด หลบฝน เมื่อพักผ่อนบริเวณชายหาด เป็นโรงงานผลิต ก๊าซออกซิเจนให้ได้หายใจนั่นเอง พันธุ์ไม้หลักในป่าชายหาดที่พบโดยทั่วไป ประกอบด้วย สนทะเล โพทะเล หูกวาง จิกเล เสม็ด กระทิง ส้าน หว้า โสก มะนาวผี สนทราย ลำเจียก และผักบุ้งทะเล

ป่าชายเลน เป็นป่าไม้ไม่ผลัดใบ พบทั่วไปบริเวณคลองน้ำจืดที่น้ำทะเลท่วมถึง เช่น ปากคลองท่านุ่น และคลองอู่ตะเภา ป่าชายเลนผืนนี้ มีอาณาเขตประมาณ 1 ตาราง กิโลเมตร นับว่าเป็นป่าชายเลนธรรมชาติผืนใหญ่ผืนสุดท้ายของจังหวัดภูเก็ตก็ว่าได้ ป่าผืนนี้นอกจากจะเป็นแหล่ง ที่อยู่อาศัยเพาะพันธุ์ หลบภัยและหากินของสัตว์ป่าและสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ลิงแสม นกนางนวลแกลบสีกุหลาบ นกคอสั้นตีนไว นกกินเปี้ยว นกชายเลนปากแอ่น นกปากแอ่นหางลาย นกอีก๋อยเล็ก นกกวัก นกอัญชันอกเทา นกออก เหยี่ยวแดง อีกา เหี้ย งูพังกา งูกะปะ ปลาเก๋า ปลากระบอก ปลาดุกทะเล ปลาจวด ปลาตีน ปลาหัวตะกั่ว ปลาทับตะเภา ปลากด ปลาเข็ม กุ้ง หอย ปู และอื่นๆแล้ว ป่าชายเลนผืนนี้ย่อมเป็น หลักประกันให้แก่ชาวภูเก็ตว่า พื้นที่ดินของจังหวัดภูเก็ตจะมีการงอกเงยขึ้นในอนาคตนั่นเอง พันธุ์ไม้ที่พบในป่าชายเลนโดยทั่วไป ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก โปรงขาว โปรงแดง ตะบูนขาว ตะบูนดำ แสม ฝาดดอกขาว ฝาดดอกแดง ถั่ว หงอนไก่ทะเล เถากระเพาะปลา และเถาถอบแถบ

จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ หาดทรายแก้วและท่าฉัตรไชย อยู่บริเวณสะพานสารสินและสะพานเทพกษัตรี ซึ่งเชื่อมเกาะภูเก็ตและจังหวัดพังงา ที่บ้านท่าฉัตรไชยมีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์และสวยงามต่อจากผืนป่าโกงกางหาดทรายแก้วซึ่งทอดโค้งไปสู่หาดไม้ขาว เป็นหาดที่สวย และเงียบสงบ เหมาะแก่การพักผ่อนรับประทานอาหาร สำหรับการเล่นน้ำไม่เป็นที่นิยมมากนักเนื่องจากพื้นหาดลาดชัน หาดไม้ขาว เป็นชายหาดที่ยาวที่สุดในจังหวัดภูเก็ต แนวหาดเริ่มจากหาดในยาง ผ่านสนามบินเรื่อยไปจนจดหาดทรายแก้ว มีทรายขาวติดต่อกันตลอดเกือบเป็นเส้นตรงเป็นหาดที่มีจักจั่นทะเล ซึ่งเป็นแมลงตัวขนาดแมลงทับเปลือกและขาลักษณะเหมือนกุ้ง โดยเฉพาะไข่ของมันเหมือนไข่กุ้งมาก จักจั้นทะเลมีสีกลมกลืนกับสีของหาดทราย หาดในทอน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร ลักษณะเป็นเวิ้งอ่าวที่งามแปลกตา หาดทรายขาวทอดโค้งออกจากตัวเกาะ เป็นเกราะกำบังคลื่นลมได้อย่างดี นับเป็นมุมสงบเหมาะสำหรับการพักผ่อนเล่นน้ำทะเล

ข้อมูลทั่วไป จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติสิรินาถคือ ชายหาดที่มีความร่มรื่นด้วยทิวสนธรรมชาติและพรรณไม้ป่าชายหาดที่ร่มรื่น อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ประกอบด้วยชายหาดที่สวยงามและมีความยาวต่อเนื่องกันถึง 13 กิโลเมตร นอกจากชายหาดที่มีทรายขาวสะอาด ชายฝั่งทะเล ยังประกอบไปด้วยแนวปะการังน้ำตื้นอันเป็นที่อยู่ของปลานานาชนิด จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจได้แก่ หาดในยาง ระยะเวลา ที่เหมาะสมที่จะไปเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน เพราะเป็นช่วงที่หมดฤดูมรสุม อากาศ เย็นสบาย ท้องทะเลเรียบ ท้องฟ้าแจ่มใส โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงฤดูที่มีเต่าขึ้นมาวางไข่บริเวณชายหาดต่างๆ เช่น หาดในยาง หาดไม้ขาว หาดสาคูและหาดสนามบิน เป็นต้น ท่านสามารถหาข้อเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวประจำอุทยาานแห่งชาติ

การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ เป็นไปด้วยความสะดวก สามารถเดินทางโดยทางรถยนต์จากตัวเมือง ภูเก็ตมาตามถนนเทพกษัตรีหรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 402 ประมาณ 32 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายทางแยกเข้าสนามบินไปอีก 3 กิโลเมตร ก็ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ถ้าหากเดินทางโดยเครื่องบินจากสนามบินภูเก็ตแยกทางขวามือไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตรเท่านั้น ก็ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

ในการประกอบกิจกรรมนันทนาการในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ไม่ว่าจะเป็นการเดินตามชายหาด การเล่นน้ำ การเล่นกีฬา ดูนก การถ่ายภาพ การพักผ่อนรับประทานอาหาร การพักแรมค้างคืน การก่อกองไฟ ให้กระทำได้เฉพาะในเขตหรือบริเวณที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้ เท่านั้นไม่ควรกระทำหรือส่งเสียงอื้อฉาวรบกวนคนหรือสัตว์ ไม่เดินออกนอกเส้นทางถาวร และปฏิบัติตนตามที่เจ้าหน้าที่ได้ทำเครื่องหมายไว้ สำหรับผู้ที่ไปกางเต็นท์พักแรม ทางอุทยานฯ มีเต็นท์ไว้บริการ ต้องเก็บและทำความสะอาดที่พักให้เรียบร้อยเมื่อเลิกใช้แล้ว การก่อไฟ จะต้องไม่เก็บหรือตัดกิ่งไม้ยืนต้นมาใช้และจะต้องระมัดระวังมิให้ไฟลุกลามไปยังที่อื่น ต้องดับไฟให้สนิททุกครั้งที่เลิกใช้ หากต้องการรายละเอียด เพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต 83140 โทร. (076) 327-152, 327407 หรือที่งานบริการบ้านพัก ส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 5612918-21

ข้อมูลจาก http://www.forest.go.th กรมอุทยานแห่งชาติ (กรมป่าไม้เดิม)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook