อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย มีชื่อเสียงทางด้านประวัติศาสตร์ และความสวยงามของธรรมชาติ ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน ห่างจากตัวเมืองสตูลประมาณ 40 กิโลเมตร และห่างจากฝั่งที่ท่าเรือปากบารา 22 กิโลเมตร มีอาณาเขตทิศเหนือจดอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ทิศใต้จดทะเลที่เป็นแนวพรมแดนระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐมาเลเซีย มีพื้นที่ทั้งเกาะและทะเลรวมกันประมาณ 1,490 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยหมู่เกาะใหญ่น้อย จำนวน 51 เกาะ มีเกาะขนาดใหญ่ 7 เกาะ ได้แก่ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะกลาง เกาะบาตวง และเกาะบิสสี แบ่งออกเป็น 2 หมู่เกาะใหญ่ คือ หมู่เกาะตะรุเตา และหมู่เกาะอาดัง-ราวี ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2517 และ ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโก ในปี พ.ศ. 2525 ให้เป็นมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Parks and Reserves) ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน เมษายน สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา เกาะตะรุเตา นับเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของอุทยาน มีพื้นที่ 152 ตารางกิโลเมตร มีป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ หาดทรายละเอียดขาว ฟ้าทะเลสีครามงามจับใจ คำว่า ตะรุเตา นี้ เพี้ยนมาจาก คำว่า ตะโละเตรา ในภาษามลายูแปลว่า มีอ่าวมาก เช่น อ่าวพันเตมะละกา อ่าวสน อ่าวมะขาม อ่าวตะโละวาวดาบ อ่าวตะโละอุดัง บริเวณเกาะตะรุเตามีสถานที่น่าสนใจดังนี้ หาดทราย เกาะตะรุเตามีชายหาดที่สวยงาม เล่นน้ำได้หลายหาด เช่น หาดทรายอ่าวพันเตมะละกา หน้าที่ทำการอุทยานฯ หาดทรายอ่าวเมาะและหาดทรายอ่าวสน เป็นบริเวณที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถตั้งเต็นท์พักแรม และดำน้ำดูปะการังได้ น้ำตก มีน้ำตกลูดูและน้ำตกโละโปะ อยู่บริเวณอ่าวสน เป็นน้ำตกขนาดเล็ก สวยงาม ถ้ำ มีถ้ำที่น่าสนใจ เช่น ถ้ำดงอยู่ที่อ่าวฤาษี และถ้ำจระเข้ ซึ่งต้องนั่งเรือหางยาวไปตามคลองพันเตมะละกา ตัวถ้ำลึก 300 เมตร ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม ทางอุทยานฯ ได้ทำทางเดินและติดตั้งไฟทางเดินเพื่อชมหินงอกหินย้อยด้วย จุดชมวิว ผาโต๊ะบู สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 60 เมตร อยู่ด้านหลังที่ทำการอุทยานฯ เป็นจุดชมทิวทัศน์ของเกาะบริเวณชายหาดและอ่าวพันเตมะละกา จะเห็นเกาะบุโหลน เกาะกลาง เกาะไข่ เกาะอาดัง เกาะราวี หมู่เกาะเภตรา ใช้เวลาเดินประมาณ 20 นาที และมีอีกเส้นทางหนึ่งจากอ่าวพันเตา นำไปสู่หาดทรายขาวสะอาด และสงบของอ่าวจาก อ่าวเมาะเลาะ และอ่าวสน คลองพันเตมะละกา เป็นคลองคดเคี้ยวไปในป่าชายเลนตอนกลางของเกาะตะรุเตา เป็นบริเวณที่มีป่าโกงกางหนาแน่นร่มรื่น ในอดีตคลองมะละกาได้ชื่อว่ามีจระเข้อาศัยอยู่ชุกชุมมาก สถานที่ดำน้ำดูปะการัง สถานที่ดำน้ำในบริเวณเกาะตะรุเตามีหลายแห่ง เช่นที่บริเวณผาปาปิญอง (อุทยานฯ ตั้งชื่อตามภาพยนตร์เรื่องปาปิญอง ที่มาใช้สถานที่บริเวณนี้ถ่ายทำ) เป็นแหล่งดำน้ำระดับ 15 ฟุต นอกจากนี้มีที่อ่าวสนและเกาะตะเกียง ศูนย์นิทรรศการ ซึ่งจัดแสดงรายละเอียดของสิ่งต่างๆ เช่น ซากสัตว์โบราณที่กลายเป็นหิน มีอายุอยู่ในสมัย 400-500 ล้านปีมาแล้ว รวมทั้งปะการังและสัตว์น้ำชนิดต่างๆ บ่ออนุบาลเต่าทะเล เป็นบ่อที่เพาะเลี้ยงลูกเต่าทะเลที่เจ้าหน้าที่อุทยานเก็บรวบรวมมาจากชายหาดของเกาะต่างๆ เต่าที่พบในบริเวณอุทยานมี 3 ชนิดคือ เต่าตะนุ เต่ากระ และเต่าหญ้าตาแดง

สถานที่ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการราชทัณฑ์บนเกาะตะรุเตา มี 3 แห่ง คือ บริเวณเรือนจำอ่าวตะโละอุดัง ซึ่งเป็นอ่าวใต้สุดของเกาะตะรุเตา และที่เรือนจำอ่าวตะโละวาว ซึ่งเป็นค่ายกักกันนักโทษการเมืองและนักโทษสามัญ ตั้งอยู่ทางทิศใต้และทางฝั่งตะวันออกของเกาะ นอกจากนี้ยังมีทางรถยนต์ประวัติศาสตร์ ขนาด 6 เมตร ที่นักโทษถางไว้เพื่อเชื่อมต่อระหว่างอ่าวตะโละวาวและอ่าวตะโละอุดัง ระยะทาง 12 กิโลเมตร กิจกรรมบนเกาะตะรุเตา เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ จากที่ทำการอุทยานฯ บริเวณอ่าวพันมะละกามีเส้นทางเดินเท้าผ่านป่าดงดิบไปอ่าวตะโละวาว ระยะทาง 12 กิโลเมตร สองข้างทางสภาพเป็นป่าดงดิบหนาทึบ ร่มรื่นไม้นานาพรรณ มีสัตว์ป่า เช่น หมูป่า กระจง และนกน่าสนใจหลายชนิด โดยเฉพาะนกเงือกที่พบได้บ่อย อีกเส้นทางหนึ่งไปอ่าวจาก อ่าวมะและ จนถึงอ่าวสน ระยะทาง 8 กิโลเมตร จะผ่านป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ และยังเหมาะแก่การดูนกอีกด้วย เส้นทางล่องเรือรอบเกาะ เพื่อศึกษาธรรมชาติแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยอุทยานฯ จะจัดเรือบริการพร้อมเจ้าหน้าที่นำทางชมหาดทรายต่าง ๆ เริ่มจากแวะดูนกที่อ่าวจาก ชมหาดทรายขาวและยาวที่สุดบนเกาะตะรุเตาที่อ่าวสน ศึกษาร่องรอยประวัติศาสตร์ที่อ่าวตะโละอุดัง ชมธรรมชาติที่อ่าวตะโละวาว แวะดำน้ำและเที่ยวป่าชายเลน ใช้เวลาในการล่องเรือ 1 วัน ผู้สนใจติดติดได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook