หาดเจ้าไหม

หาดเจ้าไหม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลทางด้านทิศตะวันตก ซึ่ง ยาวถึง 20กิโลเมตร สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ ได้แก่ หาดปากเมง หาดฉางหลาง หาดสั้น หาดยาว หาดหยงหลิง หาดเจ้าไหม ถ้ำเจ้าไหม สถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้รถยนต์สามารถเข้าถึงได้สะดวก ยกเว้น ถ้ำเจ้าไหม ที่ต้องนั่งเรือไปตามคลองเจ้าไหมอีก 15 นาที นอกจากนี้ยังมีเกาะในเขตอุทยานฯ จำนวน 9 เกาะ ได้แก่ เกาะเมง เกาะปลิง เกาะเชือก เกาะ แหวน เกาะมุก เกาะกระดาน และเกาะเจ้าไหม เป็นต้น อุทยาน แห่งชาติหาดเจ้าไหม มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 144,300 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2524 ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ที่หาดฉางหลาง เดินทางไปตามทางสายตรัง-สิเกา ก่อนถึงอำเภอสิเกาแยก เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางสู่หาดปากเมง เป็นถนนลาดยางตลอดสาย ระยะทาง 40 กิโลเมตร จากหาดปากเมง เลี้ยวซ้ายไปตามถนนเลียบชายหาดอีก 7 กิโลเมตร ถึงหาดฉางหลาง บริเวณที่ทำการมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีห้องน้ำไว้บริการ และจัดเตรียมสถานที่กางเต้นท์ ไว้สำหรับผู้ต้องการพักแรม รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 5790529, 5794842

สภาพทั่วไป ตลอดแนวชายฝั่งทะเลของจังหวัดตรังและเกาะแก่งนอกฝั่งนับจากปากอ่าวทางด้านเหนือในท้องที่อำเภอสิเกาถึงอำเภอกันตังอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม มีเนื้อที่ 144,292.35 ไร่ ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2524 โดยประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 19 ตอนที่ 170 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 36 ของประเทศไทย สามารถแบ่งพื้นที่ออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) พื้นที่ดินชายฝั่งทะเลรวมทั้งเกาะมุกต์ เกาะกระดาน เกาะแหวน เกาะเชือก เกาะเมง เกาะปลิง และเกาะเจ้าไหม บริเวณชายฝั่งนี้ ประกอบด้วยเขาหินปูนสูงชัน ทางตอนเหนือด้านตะวันออกมีเทือกเขาจองจันทร์ เทือกเขาควนเม็ดจูน เทือกเขาควนแดง ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่ง กำเนิดต้นน้ำลำธารหลายสายที่มารวมกันเป็นคลองบางลัก ไหลลงสู่แม่น้ำตรัง (2) พื้นน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 85,762.5 ไร่ เป็นห้วงน้ำลึก มีความลึกเฉลี่ย 20 เมตร

พืชพรรณและสัตว์ป่า จำแนกออกได้เป็น (1) ป่าดงดิบ ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งตอนในบริเวณเขาน้ำราบ บ่อน้ำร้อน ทิศตะวันออกของหาดทรายเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งบน เกาะมุกต์ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยางวาด ยางมันใส ตะเคียนหิน ตะเคียนทอง ตำเสา หลุมพอ คอแลน ไม้พื้นล่างเป็นพวกหวายและเถาวัลย์ (2) ป่าเขาหินปูน พบด้านทิศตะวันตกของเกาะมุกต์ เกาะเชือก เกาะแหวน เกาะปลิง เขาแบนะ เขาหยงหลิง เขาเมงและเขาเจ้าไหม ประกอบด้วยพืชพรรณเฉพาะพื้นที่ เช่น จันทน์ผา เป้ง สลัดได ยอป่า เตยเขา ปรงเขา กล้วยไม้ชนิดต่างๆ และบอน เป็นต้น (3) ป่าชายหาด ขึ้นอยู่เป็นบริเวณแคบๆ ตามชายหาดและโขดหินที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง พันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น หูกวาง สนทะเล กระทิง เม่า ปอทะเล พื้นที่ราบต่อจากชายหาดเป็นป่าโปร่งประกอบด้วยไม้แคระแกรน พันธุ์ไม้สำคัญได้แก่ เคี่ยม นนทรี เสม็ดแดง ยอป่า หนามแท่ง ช้องแมว พืชชั้นล่างเป็นพวกหญ้าชนิดต่างๆ (4) ป่าชายเลน พบในพื้นที่ถัดจากชายหาดเข้ามาในบริเวณหลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติตลอดแนวจากหาดปากเมงถึงหาดเจ้าไหม และมีการกระจายอยู่ตามอ่าวของเกาะมุกต์ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ โปรง ตะบูน ตะบัน ถั่ว ตาตุ่มทะเล เป้งทะเล เหงือกปลาหมอ จากและหวายลิง เป็นต้น (5) สังคมพืชน้ำ ได้แก่ หญ้าทะเล และสาหร่ายทะเล ซึ่งอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมเป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 3,975 ไร่ ระหว่างแหลมหยงหลิงและเกาะมุกต์ จากการสำรวจพบหญ้าทะเลขึ้นอยู่ 8 ชนิด ได้แก่ หญ้าเต่า หญ้าชะเงาใบยาว หญ้าชะเงาใบสั้น สีน้ำตาล หญ้าชะเงาใบสั้นสีเขียว หญ้าชะเงาใบสั้นปล้องยาว หญ้าใบสน หญ้าผมนาง และหญ้าใบมะกรูด

สัตว์ที่พบอยู่ในอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จำแนกออกได้เป็น (1) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบรวม 51 ชนิด ได้แก่ พะยูน เลียงผา ค่างดำ เก้ง กระจงเล็ก เสือไฟ แมวดาว นากเล็กเล็บสั้น ชะมดแผงหางสั้น หนูฟานสีเหลือง และค้างคาวชนิดต่างๆ ฯลฯ (2) นก พบรวม 137 ชนิด ได้แก่ นกกระสาคอดำ นกตะกรุม นกยางจีน นกทะเลขาเขียวลายจุด นกนางนวลแกลบพันธุ์จีน นกกก นกแต้วแล้ว และนกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ ฯลฯ (3) สัตว์เลื้อยคลาน พบ 29 ชนิด ได้แก่ เต่าบึงหัวเหลือง แย้ เหี้ย งูเหลือม งูไซ และงูพังกา เป็นต้น (4) สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบ 9 ชนิด ได้แก่ จงโคร่ง คางคกบ้าน กบอ่อง ปาดบ้าน อึ่งอ่างบ้าน เป็นต้น (5) สัตว์น้ำ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมเป็นแหล่งระบบนิเวศที่สคัญทั้งระบบนิเวศป่าชายเลน หญ้าทะเล และแนวปะการัง จึงเป็นแหล่ง ที่อยู่อาศัย อาหาร หลบภัย และอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำนานาชนิด เช่น ปูแสม ปูม้า หอยนางรม หอยชักตีน ปลาเก๋า ปลาผีเสื้อ และปลาโลมา เป็นต้น

แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน เป็นระยะปลอดมรสุม โอกาสเปิดที่จะมาเที่ยวอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ซึ่งจะได้พบกับธรรมชาติที่น่าสนใจ ในหลายรูปแบบ ได้แก่ บ่อน้ำร้อน ตั้งอยู่บริเวณตำบลบ่อน้ำร้อนห่างจากที่ว่าการอำเภอกันตัง 6 กิโลเมตร น้ำในบ่ออุ่นจัดอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียส ฟองพรายที่ผุดพลุ่งขึ้นมาเป็นครั้งคราวมีกลิ่นจางๆ ของกำมะถันแทรกขึ้นมาด้วย

เจ้าไหม ห่างจากตัวจังหวัดตรัง 59 กิโลเมตร หากเลียบชายทะเลมาทางปากเมง และ 47 กิโลเมตร หากผ่านทางกันตัง เกาะเจ้าไหม ถูกโอบล้อมด้วยทะเลด้านหนึ่งและลำคลองอีกด้านหนึ่งมีเขารูปกระโดงฉลามที่โดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ นับจากเขากระโดงฉลามมา 5 กิโเมตร ไปจรดแหลมหยงหลิงเป็นหาดที่กว้าง ยาว เหมาะสมที่จะมาเข้าค่ายพักแรม แต่มีข้อควรระมัดระวังในเรื่องการเล่นน้ำ เนื่องจากน้ำลึก และคลื่นจัด ถัดเข้าไปอีกเป็นชายหาดที่ทอดยาวไปทางตะวันตกที่เรียกว่า หาดเจ้าไหม เหมาะในการเล่นน้ำเพราะน้ำตื้นและบริเวณกว้าง เบื้องหน้าจะมองเห็นเกาะลิบงอยู่ไม่ไกลนัก ส่วนเบื้องหลังเป็นดงสนร่มรื่น สุดชายหาดคือโขดเขาอีกด้านหนึ่งของเขากระโดงฉลาม ในยามน้ำลง อาจเดินลัดเลาะโขดหินไปสู่เวิ้งอ่าวเล็กๆ อีกแห่งหนึ่งที่เรียก อ่าวปอ ลึกเข้าไปตามคลองเจ้าไหมคือที่ตั้งของถ้ำสวยที่ชื่อ ถ้ำเจ้าไหม ซึ่งสามารถแล่นเรือเข้าไปถึงปากถ้ำได้ ถ้ำเจ้าไหมมีหลายชั้นซับซ้อน ชั้นล่างเป็นถ้ำกว้างที่มีหินงอกหินย้อยเหมือนเสาต้นใหญ่ๆ ไต่หน้าผาไปทางขวา อีกประมาณ 100 เมตร จะถึงถ้ำชั้นบน ตามผนังถ้ำมีลักษณะเหมือนเปลือกหอยเรียงซ้อนเป็นชั้นๆ และยังมีแอ่งน้ำใสเย็นก่อนเข้าสู่ชั้นใน หาดหยงหลิง-หาดสั้น ด้านทิศใต้ที่ต่อกับหาดยาว เป็นหาดทรายรูปโค้งขนานไปกับดงสนที่เรียกหาดหยงลิง สุดชายหาดเป็นเขาสูงที่เต็ม ไปด้วยเวิ้งและโพรงถ้ำ ซึ่งสามารถเดินลัดเลาะออกไปสู่หน้าผาริมทะเลได้ จากหาดหยงหลิงมีถนนผ่านไปทางด้านเหนืออีกประมาณไม่เกิน 1 กิโลเมตร จะมีชายหาดอีกแห่งหนึ่งคนละฟากเขาที่เรียก หาดสั้น และไกลสุดตาลิบๆ อยู่ทางด้านเหนือคือ แหลมหยงลำ

เกาะมุกต์ เป็นเกาะใหญ่อีกเกาะหนึ่งในน่านน้ำตรัง หากมองจากภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นหัวแหลมของ เกาะมุกต์ยื่นแหลมออกมากลางทะเล บริเวณหัวแหลมคือเขตชุมชนบ้านเกาะมุกต์ ที่ขนาบด้วยหาดหัวแหลมและอ่าวพังกา ชายทะเลทั้ง 2 ด้าน มีหาดขาวละเอียด น้ำใสเหมาะที่จะเล่นน้ำได้ดี บริเวณหน้าผาด้านตะวันตกเป็นที่ซ่อนถ้ำลึกลับแสนสวย เรียกว่า ถ้ำน้ำหรือถ้ำมรกต ที่มีทางเข้าเป็นโพรงเล็กๆ พอเรือลอดได้ในช่วงน้ำลง ความคดเคี้ยวและความมืดในโพรงถ้ำแคบๆ ที่มีช่วงยาว 80 เมตร คือ นาทีแห่งความระทึก ใจ แต่ความตื่นตาตื่นใจจะเข้ามาแทนที่ทันทีที่ถึงปากถ้ำ ที่มีน้ำทะเลใสสีมรกต หาดทรายขาวสะอาด และพันธุ์ไม้บางชนิด เกาะกระดาน ไปทางด้านตะวันตกของเกาะมุกต์ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ก็จะถึงเกาะอีกแห่งหนึ่ง ที่ดูเหมือนภูเขาห้าลูกเป็นพืดติดต่อกันนั่นคือ เกาะกระดาน เกาะที่สวยที่สุดของ ทะเลตรัง ที่มีเกาะอื่นๆ รายรอบเป็นบริวาร ชายหาดเป็นทรายขาวละเอียด น้ำใส จนมองเห็นริ้วทรายใต้พื้นน้ำ สุดชายหาดด้านเหนือมีแนวปะการังทอดยาวออกไปในทะเล บริเวณชายฝั่งเป็นปะการังน้ำตื้น เกาะเชือก-เกาะแหวน เป็นเกาะเล็กๆ ที่อยู่ในวงล้อมของเกาะมุกต์ และเกาะกระดาน มีทั้งดงปะการังน้ำตื้น และน้ำลึกรายรอบบริเวณเกาะเชือกยังมีถ้ำตื้นๆ ที่จะดำน้ำหรือเอาเรือลอดเข้าไปได้ยามน้ำลง เพื่อจะพบกับหาดทรายเล็กๆ และค้างคาวเต็มผนังถ้ำ ใต้น้ำ ตรงปากถ้ำ คือ ที่รวมของกัลปังหาที่สวยงาม ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ตั้งอยู่ที่หาดฉางหลาง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 47 กิโลเมตรและห่างจากหาดเจ้าไหม 16 กิโลเมตร ทิศใต้ของหาดฉางหลางจรดเขาริมน้ำ คือ เขาแบนะ ซึ่งมีร่องรอยภาพเขียนสีแดงยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่ค่อนข้างลบเลือน ด้วยกาลเวลา พื้นที่ชายหาดตรงเชิงเขากว้างขวางและร่มรื่นด้วยพรรณไม้ มีบ่อน้ำจืดพร้อม เหมาะสำหรับการกางเต็นท์พักแรม สุดทางเหนือ ของหาดคือ คลองฉางหลาง ซึ่งบริเวณปากคลองเป็นจุดชมวิว ที่มีทัศนียภาพหลากหลาย หาดปากเมง หาดทรายชายทะเลแหล่งท่องเที่ยวแห่งแรกของเมืองตรัง อยู่ห่างจากตัวเมือง 40 กิโลเมตร ภาพแรกที่ดึงดูดสายตาผู้มาเยือน ได้แก่ โขดเขาใหญ่กลางน้ำรูปร่างคล้ายคนนอนหงายทอดตัวยาวไปทางด้านเหนือ นั่นคือ เขาเมงหรือเกาะเมง สัญลักษณ์ประจำหาดนี้

การเดินทาง จากจังหวัดตรัง ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4046 (สายตรัง-สิเกา) ถึงกิโลเมตรที่ 30 เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4162 สู่หาดปากเมงระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร จากหาดปากเมงเลี้ยวซ้ายไปตามถนนเลียบชายหาดอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยาน แห่งชาติหาดเจ้าไหม

หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อ.ลิเภา จ.ตรัง 92150 โทร. 01-2290547 หรือที่ งานบริการบ้านพัก ส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 5612918-21

ข้อมูลจาก http://www.forest.go.th กรมอุทยานแห่งชาติ (กรมป่าไม้เดิม) 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook