เยือนเมืองเหนือ..กราบรอยพระแก้วมรกต

เยือนเมืองเหนือ..กราบรอยพระแก้วมรกต

เยือนเมืองเหนือ..กราบรอยพระแก้วมรกต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เยือนเมืองเหนือ... กราบรอยพระแก้วมรกต กำแพงเพชร - ลำปาง - เชียงใหม่ - เชียงราย 

นุ บางบ่อ ... เรื่อง / ภาพ ออนไลน์วันที่ 15 มิถุนายน 2548

     เห็นชื่อเรื่อง และชื่อผู้เขียน คุณผู้อ่านทั้งหลายอย่าพึ่งตกอกตกใจไปเสียก่อน ว่าผมจะเปลี่ยนแนว เพราะตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ผมไม่เคยเขียนเรื่องชวนเที่ยววัดเที่ยววาเลยสักครั้ง แม้อยุธยาจะเป็นบ้านเกิด และบ้านปัจจุบันของผมก็ตาม.. ไม่ใช่ว่าผมเป็นคนไม่เข้าวัด หรือ วัดวาอารามในของเมืองไทยเราไม่น่าสนใจ จนทำให้ผมต้องมองข้าม ความจริงแล้วผมมีเหตุผลอยู่ที่ว่า  ผมไม่อยากเขียนเรื่องที่ตัวเองไม่ถนัด และไม่มีความรู้มากพอ เกรงว่าหากนำมาเขียนๆ พิมพ์ๆ ลงไปแล้ว เดี๋ยวผิดๆ ถูกๆ คุณผู้อ่านผู้รู้จริงจะมาต่อว่าผมให้เสียคนเอาทีหลังได้ เรื่องนี้คงต้องขอออกตัวเอาไว้ก่อนว่า  ถึงแม้ผมจะไม่รู้จริงแต่ก็พอมีที่มาที่ไปมาอ้างอิงข้อมูลที่ผมได้รับมา ส่วนจะเป็นที่ไหนนั้น ผมได้ลงไว้ทางด้านท้ายเรื่องแล้ว (ไม่ได้เจตนาปัดความรับผิดชอบนะครับ เพียงแต่ขออ้างอิงกันก่อน เพราะเรื่องประวัติศาสตร์ หรือ ตำนานต่างๆ ในบ้านของเรานั้นยังเป็นเรื่องที่ผู้ต่างรู้หลายคน ถกกันไม่จบสิ้นก็ยังอีกหลายเรื่อง) และอีกเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ผมนำเสนอเรื่อง เยือนเมืองเหนือ กราบรอยพระแก้วมรกต นี้ก็คือผมเห็นว่าเป็นเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ที่ทาง ททท. ได้ริเริ่มขึ้น จึงอยากนำมาบอกต่อกัน

    สำหรับเรื่องนี้เมื่อคุณอ่านจบ สิ่งที่ผมหวังคือ ให้ท่านได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับรอยประวัติศาสตร์ การเดินทางที่ยาวไกลและเนิ่นนานขององค์พระแก้วมรกต หรือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ล้ำค่าคู่บ้านคู่เมืองของไทยเรา เผื่อว่าท่านใดต้องการหาทริปการเดินทางที่แปลกใหม่ ผมมั่นใจว่า "เส้นทางเยือนเมืองเหนือ กราบรอยพระแก้วมรกต" นี้เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่นักเดินทางจะได้อะไรดีๆ กลับมาเหมือนผม 

    ที่ว่าได้อะไรดีๆ กลับมานั้น...เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อมากจริงๆ เหลือเชื่อแบบที่คนไม่เคยเชื่อไสยศาสตร์อย่างผมเองก็ต้องเชื่อ  อย่าพึ่งคิดว่าผมเลอะเทอะจะโยงเข้าไสยศาสตร์ เพื่อชักชวนให้งมงายกันนะครับ เพียงแต่ว่าผมได้ประสบมากับตัวเอง และเพื่อนๆ อีกหลายคนที่ใกล้ชิดผมคืนนั้น ก็มีอันต้องทึ่งไปตามๆ กัน 

    เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า " ผม และ สื่อมวลชนท่านอื่นๆ ที่ได้ร่วมเดินทางกับคณะ ททท. ในทริปสำรวจเส้นทาง เยือนเมืองเหนือ กราบรอยพระแก้วมรกต ได้เดินทางมาถึงจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นคืนสุดท้าย ของการเดินทางในทริปนี้ ในคืนวันนั้น ทาง ททท. ได้จัดเลี้ยงอาหารค่ำที่ ร้านอาหารตองตึง มีการแสดง การฟ้อนรำ แบบล้านนา ได้สวยงามตระการตาเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงคั่นรายการมีกิจกรรมการแจกตั๋วเดินทางท่องเที่ยวเมืองเชียงรุ่ง 4 วัน 3 คืน โดย บริษัท พีบี ทราเวล เอเจนซี่ เซ็นเตอร์ เป็นผู้นำรางวัลมาแจกสื่อมวลชนจำนวน 4 ใบ ในช่วงนั้นเองขณะที่ผมกำลังเอร็ดอร่อยกับอาหารหน้าตาสวยๆ บนโต๊ะ ท่ามกลางบรรยากาศแบบล้านนาอยู่  ผมก็ต้องหยุด หยุด หยุดเพราะอยากได้ตั๋วเดินทางไปเชียงรุ่ง เมืองหลวงแห่งสิบสองปันนา ดินแดนแห่งนกยูง และถิ่นอาศัยของชาวไตลื้อ ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลยูนาน ประเทศจีน ผมใฝ่ฝันมานานแล้ว ยังไงผมก็ต้องหาโอกาสไปให้ได้ " ทำไงผมถึงจะได้ตั๋วฟรีที่ลอยล่องอยู่ตรงหน้านี้ล่ะ ? 

    ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องอัตโนมัติ ที่เมื่อคนเราหาที่พึ่งพาไม่ได้เมื่อยามคับขัน สิ่งหนึ่งที่คนเรามักจะนึกถึงเสมอนั่นก็คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์  ใช่แล้ว...ผมมาเยือนเมืองเหนือ ในครั้งนี้ก็เพื่อมาตามรอยพระแก้วมรกต ฉะนั้นสิ่งที่จะช่วยผมได้ตอนนี้ก็คือ อำนาจลึกลับบางอย่าง ซึ่งผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะมีอยู่จริงหรือเปล่า ... ผมใช้เวลาไม่นาน ที่จะกล่าวดังๆ ในใจ ว่า "ขอให้พระแก้วมรกต จงดลบันดาลให้ท่านที่อยู่ด้านหน้าเวทีตอนนี้ ผู้ที่มีหน้าที่จับฉลากจากนามบัตร 4 ใบ เพื่อค้นหาผู้โชคดี 4 ท่าน เดินทางไปท่องเที่ยวยังเมืองเชียงรุ่ง...จงจับได้นามบัตรของผมด้วยเถ๊อะ...สาธุ" 

    ไม่กี่วินาทีต่อมา ขณะผมดื่มน้ำยังไม่ทันได้กลืน ไม่น่าเชื่อครับว่า สิ่งที่ผมขอจากพระแก้วมรกตเมื่อสักครู่ กลับกลายเป็นความจริงเมื่อโฆษกประกาศชื่อของผม  เป็นชื่อแรก ที่ได้ไปเยือนเมืองเชียงรุ่ง ดินแดนที่ผมฝันอยากจะไปมานานหลายปี วันนี้ผมได้มีโอกาสแล้ว !!!! 

    เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) จึงเป็นอีกวัดหนึ่งที่ผมได้เดินทางไป  ถึงตอนนี้อย่าพึ่งกล่าวหาผมว่า ต้องไปแก้บนนะครับ...แต่ก็มีส่วนอยู่ อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมอยากจะไปตามรอยพระแก้วมรกต แบบให้ครบถ้วนสมบูรณ์กันไปเลย หลังจากกลับมาแล้ว ผมก็สบายใจ ที่ได้ท่องเที่ยวได้เดินทางพร้อมๆ กับการรับทราบข้อมูลที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน 
    เรื่องที่ผมว่าได้อะไรดีๆ กลับมา ก็มีเพียงเท่านี้  ต่อไปก็เป็นเรื่องของข้อมูลที่ผมได้รับทราบมาแล้วมาเล่าสู่ต่อกันฟัง เผื่อท่านใดสนใจจะเดินทางไปกราบรอยพระแก้วมรกตบ้าง จะได้เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนเดินทางต่อไป...

 

    ทริปการเดินทางท่องเที่ยว "เยือนเมืองเหนือ กราบรอยพระแก้วมรกต" นี้ได้ริเริ่มขึ้นโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวสู่ภาคเหนือ และเพื่อให้นักท่องเที่ยวทั่วไปทราบถึงประวัติความเป็นมาของพระแก้วมรกต ก่อนที่จะไปประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่กรุงเทพมหานคร

    เกี่ยวกับรอยประวัติศาสตร์ของพระแก้วมรกต จากหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร  และหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นลายลักษณ์อักษร นั้นได้ปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณมากมาย อาทิ เรื่องรัตน์พิมพ์วงค์ ตำนานพระแก้วมรกต เรื่องพระรัตนปฏิมา ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ พงศาวดารเหนือ ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ตำนานพระแก้วมรกตฉบับหลวงพระบาง และพงศาวดารโยนก เป็นต้น

    จากเอกสารดังกล่าว สามารถประมวลได้ว่า พระแก้วมรกตสร้างขึ้นจากความดำริของ พระนาคเสนเถระ แห่งเมืองปาตลีบุตร ในชมพูทวีป (ประเทศอินเดียปัจจุบัน) เมื่อประมาณ พ.ศ. 500 จากนั้นได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามเมืองสำคัญต่างๆ ตามลำดับดังนี้ 

เกาะลังกา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 800 

เมืองนครธม ในอาณาจักรของโบราณ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1000

เมืองอโยชปุระ หรือ เมืองอโยธยาโบราณ ในสมัยเจ้าอาทิตยราช

เมืองกำแพงเพชร ในสมัยพระยาวิเชียรปราการ

เมืองเชียงราย ในสมัยเจ้าพระยามหาพรหม ประมาณปี พ.ศ. 1979

นครเขลางค์ หรือ เมืองลำปาง ระหว่างปี พ.ศ. 1979- พ.ศ. 2011

เมืองเชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ. 2011 - พ.ศ. 2096 

เมืองหลวงพระบาง ในปี พ.ศ. 2096

เมืองเวียงจันทน์ ระหว่างปี พ.ศ. 2096 - พ.ศ. 2322

กรุงธนบุรี ระหว่างปี พ.ศ. 2322 - พ.ศ. 2327

กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2327 - ปัจจุบัน

 

     จากหลักฐานทางโบราณคดี ปัจจุบันในภาคเหนือของประเทศไทยยังคงปรากฏร่องรอยโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกตอยู่อย่างชัดเจนในหลายพื้นที่  ซึ่งแต่ละแห่งดังที่จะได้นำมาเสนอต่อไปนี้ ล้วนเป็นวัดที่องค์พระแก้วมรกต ได้เคยประดิษฐานอยู่ วันนี้ผมขอเริ่มแนะนำตั้งแต่วัดที่ตั้งอยู่ใต้สุดไปจนถึงเหนือสุด เพื่อให้ท่านสะดวกในการเดินทางไปเยือน ส่วนท่านที่ต้องการทราบประวัติความเป็นมาของพระแก้วมรกต แบบเรียงลำดับตามประวัติการประดิษฐาน ผมขอให้ท่านดูข้อมูลได้จากด้านบน 

     รอยพระแก้วมรกตที่ วัดพระแก้ว เมืองกำแพงเพชร       วัดพระแก้ว ตั้งอยู่ใจกลางเมืองโบราณของจังหวัดกำแพงเพชร แผนผังของวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานไปกับกำแพงเมือง ภายในบริเวณวัดปรากฏร่องรอยฐานเจดีย์แบบต่างๆ รวม 35 ฐาน มีวิหารต่างๆ รวม 8 แห่ง และฐานโบสถ์รวม 3 แห่ง ซึ่งแสดงให้ทราบถึงการเป็นวัดใหญ่ที่มีความสำคัญมาก่อน บริเวณกลางวัดมีเจดีย์องค์ใหญ่แบบลังกา ที่ฐานโดยรอบทำเป็นซุ้มคูหามีสิงห์ยืนอยู่ภายใน 

     วัดพระแก้ว นี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโบราณสถานมรดกโลก ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ซึ่งตั้งอยู่กับติดกับตัวเมืองกำแพงเพชรในปัจจุบัน 

     รอยพระแก้วมรกตที่วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม เมืองลำปาง      วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ตั้งอยู่ที่ถนนสุชาดาราม ภายในตัวเมืองลำปาง เป็นเก่าแก่ที่สวยงาม มีอายุนับพันปี เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ตั้งแต่ปี พ.ศ.1979 ถึง พ.ศ. 2011 รวมเป็นระยะเวลาถึง 32 ปี ปูชนียสถานที่สำคัญภายในวัดนั้นได้แก่ องค์พระบรมธาตุดอนเต้า พระเจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า วิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่มีอายุเก่าแก่พอๆ กันกับวัดนี้  
     นอกจากนี้ยังมีวิหารหลวงที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย วิหารพระเจ้าทองทิพย์ ที่สร้างโดยพระนางจามเทวี อายุกว่า 1,000 ปี เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทองทิพย์ศิลปะสมัยเชียงแสน มณฑป หรือ พญาธาตุศิลปะแบบพม่า วิหารลายคำสุชาดารามฝีมือช่างเชียงแสน  ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังโดยมีลวดลายทองประดับตามส่วนต่างๆ งดงาม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเชียงแสน  และยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งล้านนาอันเป็นแหล่งรวบรวมศิลปะวัตถุแบบล้านนาอีกด้วย 
     รอยพระแก้วมรกต ที่วัดเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่      วัดเจดีย์หลวง ตั้งอยู่ที่ถนนพระปกเกล้า บริเวณใจกลางเมืองเชียงใหม่ ภายในวัดมีเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าแสงเมือง มหากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ต่อมาพระเจ้าติโลกราชโปรดให้ช่างขยายเจดีย์ให้สูงและกว้างกว่าเดิม และอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานระหว่างปี พ.ศ. 2011 - พ.ศ. 2096 รวมระยะเวลายาวนานถึง 85 ปี 

     ระหว่างนั้นใน พ.ศ. 2088 สมัยพระนางจิระประภา ได้เกิดแผ่นดินไหวทำให้ยอดเจดีย์หักโค่นลง ปัจจุบันเจดีย์มีความสูงคงเหลือ 40.8 เมตร ฐานกว้างด้านละ 60 เมตร 

     วิหารหลวงของวัดนี้ เจ้าคุณอุบาลีคุณปรมาจารนญ์ (สิริจันทะเถระ) และเจ้าแก้วนวรัฐเป็นผู้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2471 หน้าประตูทางเข้าวิหารมีบันไดนาคเลื้อยใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหารงดงามยิ่ง นาคคู่นี้เป็นฝีมือของช่างเก่าแก่ที่สร้างไว้แต่เดิม  ได้ชื่อว่า เป็นนาคที่สวยที่สุดในภาคเหนือ 

     ภายในวัดบริเวณด้านหน้าวิหารมีเสาอินทขิล หรือ เสาหลักเมือง สร้างขึ้นเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราชสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1839 ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็ก เสาอินทขิล นี้สร้างด้วยไม้ซุงขนาดใหญ่ฝังอยู่ใต้ดินทุกปีในวันแรม 12 ค่ำ เดือน 8 (เหนือ) หรือ ประมาณเดือนพฤษภาคม จะมีประเพณีที่เรียกว่า เข้าอินทขิล เป็นงานฉลองหลักเมือง 

   จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภาคเหนือ ภายในจังหวัดประกอบไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวมากมายหลายประเภท หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถคลิกได้ที่นี่

    รอยพระแก้วมรกต ที่วัดพระแก้ว เมืองเชียงราย     วัดพระแก้วเมืองเชียงราย ตั้งอยู่ที่ถนนไตรรัตน์ ในตัวเมืองเชียงราย ตามประวัติเล่าว่า วัดนี้เดิมชื่อว่า วัดป่าเยี้ยะ (ไม้เยี้ยะ เป็นไม้ไผ่พันธุ์พื้นเมืองชนิดหนึ่ง) จนกระทั่งเกิดฟ้าฝ่าลงมาที่พระเจดีย์ และได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทองอยู่ภายในเจดีย์ 
     ต่อมารักกะเทาะออกจึงได้พบว่า เป็นพระพุทธรูปสีเขียวที่สร้างด้วยหยก คือ พระแก้วมรกต นั่นเอง ปัจจุบันวัดพระแก้วเชียงรายนี้ เป็นที่ประดิษฐานพระหยก ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 ในวาระที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระชนมายุครบ 90 พรรษา 

    จากความสำคัญของวัดต่างๆ ดังที่ได้รวมรวมข้อมูลมานี้ ทำให้ทราบว่ากว่า พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต จะมาประดิษฐานยังกรุงเทพมหานครนั้น ได้มีประวัติความเป็นมายาวนานนับพันปี จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาค้นคว้า หรือเดินทางไปเยือนยังสถานที่ต่าง อันเป็นรอยประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง 

    และนอกจากท่านจะได้เดินทางไปเยือนเมืองเหนือ เพื่อกราบรอยพระแก้วมรกต แล้วนั้น เมืองเหนือของเรายังเป็นดินแดนที่พรั่งพร้อมไปด้วยธรรมชาติที่สวยงาม และวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตตามแบบฉบับล้านนา ยากที่จะมีแห่งใดมาเสมอเหมือน ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายให้ท่านได้แวะไปชม หรือ พักผ่อนระหว่างเส้นทางอยู่มากมาย ดังที่ผมได้นำตัวอย่างโปรแกรมการท่องเที่ยว ซึ่งจัดทำขึ้นโดย ททท. มาเป็นตัวอย่าง เพื่อให้ท่านได้ใช้เป็นแนวทางการเดินทางต่อไป 

 

ตัวอย่างรายการท่องเที่ยว " เยือนเมืองเหนือ กราบรอยพระแก้วมรกต" กรุงเทพฯ - กำแพงเพชร - ลำปาง - เชียงใหม่ - เชียงราย

รายการที่ 1  ระยะเวลา 4 วัน 3 คืน

วันแรก   
เช้า ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่เมืองกำแพงเพชร ตามเส้นทางสิงห์บุรี - นครสวรรค์ - กำแพงเพชร ชมน้ำตกคลองลาน(Unseen Thailand) รับประทานอาหารกลางวันที่อำเภอคลองลาน และเดินทางสู่ที่พักเมืองกำแพงเพชร
บ่าย กราบรอยพระแก้วมรกตที่วัดพระแก้วในอุทยานประวัติศาสตร์ฯ แล้วนั่งรถไฟฟ้าชมโบราณสถานมรดกโลก เช่น กำแพงเมืองศิลาแลงโบราณ และวัดโบราณในเขตอรัญญิก ชมสวนกล้วยสองร้อยสายพันธุ์ และงานหัตถกรรมพื้นเมืองที่พิพิธภัณฑ์เรือนไทยฯ
วันที่สอง  
เช้า ออกเดินทางสู่เมืองตาก กราบศาลพระเจ้าตากสินมหาราช แล้วเดินทางสู่เมืองลำปาง กราบรอยพระแก้วมรกตที่วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม และรับประทานอาหารกลางวันในเมืองลำปาง
บ่าย กราบพระธาตุลำปางหลวง เยือนศูนย์อนุรักษ์ช้างห้างฉัตร แล้วเดินทางสู่ที่พักในเมืองเชียงใหม่ หรือ อาจเลือกไปเยือนเมืองลำพูน กราบพระธาตุหริภุญไชย ไหว้อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ก่อนเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ก็ได้
วันที่สาม  
เช้า กราบรอยพระแก้วมรกตที่เจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวง ชมแหล่งท่องเที่ยว และรับประทานอาหารกลางวันในเมืองเชียงใหม่
บ่าย   เดินทางสู่เมืองเชียงราย และชมหอแก้วหอคำในไร่แม่ฟ้าหลวง ก่อนเข้าที่พักในเมืองเชียงราย
วันที่สี่  
เช้า กราบพระแก้วมรกตที่วัดพระแก้วเชียงราย แล้วเดินทางไปยังเมืองเชียงแสน เยือนสามเหลี่ยมทองคำ หอฝิ่นฯ และรับประทานอาหารกลางวันริมแม่น้ำโขง
บ่าย เยือนตลาดแม่สาย เดินทางกลับสู่เชียงราย และเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยเครื่องบิน หรือ รถยนต์

รายการที่สอง ระยะเวลา 6 วัน 5 คืน 

วันแรก - วันที่สาม  เดินทางท่องเที่ยวตามรายการแรก

วันที่สี่   
เช้า กราบรอยพระแก้วมรกตที่วัดพระแก้วเชียงราย แล้วเดินทางไปชมโบราณสถานเชียงแสน เยือนสามเหลี่ยมทองคำ หอฝิ่นฯ และ รับประทานอาหารกลางวันริมแม่น้ำโขง
บ่าย ช้อปปิงตลาดชายแดนไทย พม่า ที่ด่านแม่สาย เดินทางไปยังดอยตุง เยือนพระตำหนักดอยตุงชมดอกไม้นานาพรรณและพักที่ดอยตุง
วันที่ห้า  
เช้า เดินทางกลับสู่เมืองเชียงราย ชมความงามของวัดร่องขุ่น งานศิลปะของคุณเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เดินทางไปชมแพะเมืองผี จังหวัดแพร่ และรับประทานอาหารกลางวันในเมืองแพร่
บ่าย นมัสการพระธาตุช่อแฮ แล้วเดินทางสู่เมืองอุตรดิตถ์ กราบอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก และชมพิพิธภัณฑ์ดาบเหล้กน้ำพี้ แล้วเดินทางสู่ที่พักในเมืองพิษณุโลก
วันที่หก  
เช้า นมัสการพระพุธชินราช เยือนพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี แล้วเดินางสู่เมืองพิจิตร นมัสการหลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง และรับประทานอาหารกลางวันในเมืองพิจิตร
บ่าย   ชมฟาร์มนกกระจอกเทศที่ขจรฟาร์ม แล้วเดินทางกลับสู่กรุงเทพฯ

 

             ข้อมูลอ้างอิง 

ข้อมูลประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระแก้วมรกต  จากหนังสือ พระแก้วมรกต ISBN 974-323-017-3 ของสำนักพิมพ์มติชน

เอกสารแนะนำโครงการ เยือนเมืองเหนือ... กราบรอยพระแก้วมรกต จัดทำโดย  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

 

จ.กำแพงเพชร จ.ลำปาง จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย หรือ ต้องการเดินทางไปกับบริษัททัวร์   สำนักงาน ททท.ภาคเหนือ เขต 1 105 / 1 ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง เชียงใหม่ 50000 โทรศัพท์ 0 5324 8604 , 0 5324 8607 โทรสาร 0 5324 8605 http://www2.tat.or.th/north1 (ครอบคลุมพื้นที่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน) สำนักงาน ททท.ภาคเหนือ เขต 2  448/16 ถนนสิงหไคล อำเภอเมือง จังหวดเชียงราย 57000 โทรศัพท์ 0 5374 4674-5 , 0 5371 7433 โทรสาร 05371 7434 http://www2.tat.or.th/north2 (ครอบคลุมพื้นที่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) สำนักงาน ททท.ภาคเหนือ เขต 3 209/7-8 ถนนบรมไตรโลกนารถ อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000 หมายเลขโทรศัพท์ 0 5525 2742 - 3 โทรสาร 0 5526 1035 http://www2.tat.or.th/north3 (ครอบคลุมพื้นที่ พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์)  สำนักงาน ททท.ภาคเหนือ เขต 4 193 ถ.ตากสิน อ.เมือง จ.ตาก โทรศัพท์ 0 5551 4341-3 โทรสาร 0 5551 4344 http://www2.tat.or.th/north4 (ครอบคลุมพื้นที่ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook