ยุติปัญหาเรือหางยาวชมหิงห้อย อัมพวา

ยุติปัญหาเรือหางยาวชมหิงห้อย อัมพวา

ยุติปัญหาเรือหางยาวชมหิงห้อย อัมพวา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

   ข่าวการตัดต้นลำพูประท้วงเรือหิ่งห้อยของชาวบ้านแหลมลมทวน ตำบลบ้านปรก เขตเมืองสมุทรสงคราม ฮือฮาขึ้นตั้งแต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ใครหลายคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ฟังแล้วอดคิดตามไม่ได้ว่า เกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองสงบสุขแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง ชาวบ้านแตกแยกความสามัคคี ทำลายที่อยู่ที่กินของตัวเอง ขัดขวางผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน แล้วที่นี่จะยังมีหิ่งห้อยเกาะต้นลำพูให้ดูอีกไหม

  ปัญหานี้ยังไม่จางหาย พอๆ กับที่ยังไม่ถูกแก้ไข หากแต่เมื่อเราเข้าไปค้นหาต้นตอความจริงในชุมชนต้นกำเนิดของข่าว กลับพบว่า ที่นี่กำลังมีความพยายามเล็กๆ ของคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งจะนำร่องไปสู่ทางออกของปัญหาอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน

ที่สำคัญคือ มันน่าสนใจและล้ำลึกเกินกว่าจะตัดสินว่านี่คือการกระทำของคนขวางโลก หรือเป็นเพียงรูปแบบการค้าการท่องเที่ยวโฉมใหม่ ปรีชา เจี๊ยบหยู ประธานชุมชน สายเลือดแม่กลองข้นคลั่ก คือผู้ถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ให้เราฟัง

อาจารย์เกิดที่บ้านลมทวนนี่เลยนะคะ   ผมเกิดที่นี่แหละ พ่อทำน้ำตาลมะพร้าว ส่วนแม่ก็รับราชการครู มีพี่น้องสี่คน เรียนชั้นประถมที่วัดจันทร์เจริญสุข จนจบ ป.๔ ไม่อยากเรียนแล้ว อยากขึ้นตาลกับพ่อ เพราะเพื่อนที่จบรุ่นเดียวกันก็ออกมาขึ้นตาลกันหมด

 แต่แม่บังคับให้เรียน ก็กัดฟันเรียนจนจบประถม แล้วไปต่อระดับ ม.ศ. ที่โรงเรียนวัดอัมพวันฯ ต้องเดินไปกลับวันละ ๙ กิโลฯ ถนนไม่มี ต้องเดินตามสวนตามร่องมะพร้าว เรือเมล์ก็ไม่มีวิ่ง สมัยนั้นประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๖-๒๕๐๘ เราต้องออกจากบ้านไม่เกินหกโมงครึ่ง ไม่งั้นจะไปโรงเรียนสายต้องยืนหน้าเสาธง

ชีวิตเด็กในบ้านสวนสมัยนู้นเป็นยังไงคะ   ตั้งแต่จำความได้จะเล่นสนุกกันมาก แทบไม่เคยร้องไห้เลย ชุมชนของเราเล็กๆ ๓๐ หลังคาเรือน เด็ก ๓๐-๔๐ คนเล่นด้วยกันหมด เสาร์อาทิตย์จะเป็นเวลาที่สนุกสนานมาก ชอบเล่นอีเถิดกัน

อาจารย์ปรีชา เจี๊ยบหยู
แม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม

เล่นยังไงคะ   อีเถิด มีสองอย่างคืออีเถิดบกกับอีเถิดน้ำ อีเถิดบกคือมีอาณาเขต วิ่งไล่จับกัน ถ้าใครนั่งก็จับไม่ได้ แต่ต้องให้เพื่อนมาแตะก่อนถึงจะลุกหนีต่อไปได้ ก็จะเกิดการแกล้งกัน ถ้าเพื่อนมาแตะแล้วเราหนีไม่ทันโดนไล่จับได้ก็ต้องเป็นต่อ ส่วนอีเถิดน้ำก็คือดำน้ำไล่จับกัน พวกเราจะเป็นน้ำตั้งแต่เด็ก

 เพราะอยู่ใกล้น้ำพ่อแม่ทุกคนจะต้องหัดให้ลูกเป็นน้ำ วิธีหัดก็ใช้ลูกมะพร้าวแห้งสองลูกผูกแล้วคาดอก เรียกว่าลูกกะตุ้ม ห่วงยางอะไรไม่มีหรอก แล้วจับโยนตูมลงน้ำเลย ห้ามใครช่วยด้วยนะ ทีแรกกลัวตัวเกร็ง เดี๋ยวเดียวควักเลนเล่นสนุกแล้ว

หิวปั๊บเดินเข้าสวนไหนก็ได้ กินได้ทุกสวน ไม่มีใครหวง มะพร้าวอ่อน ชมพู่ น้อยโหน่ง น้อยหน่า ขนุน มันสุกเต็มสวนหมด หน้าร้อนเดือนเมษาฯ มีความสุขที่สุด เพราะชมพู่ลอยน้ำจะเต็มไปหมดเลย มีต้นที่เขาปลูกอยู่ริมคลอง

สมัยก่อนขายไม่ได้ ปล่อยร่วงลงน้ำ เราก็ทำน้ำปลาหวานตั้งไว้ริมตลิ่ง ลอยคอเป็นแถวเก็บชมพู่แบะจิ้มกินกันตรงนั้นเลย เดี๋ยวนี้ชมพู่ลอยน้ำก็ยังมี แต่เด็กรุ่นใหม่ไปกินโปต้ง โปเต้กันหมดแล้ว เวลาน้ำขึ้นต้องเตรียมเหยื่อ ตกปู ปูทะเลชุมมาก ตักกันไม่ทัน

ในคลองนี่เหรอคะ ในคลองนี่แหละ ไม่ต้องไปหาที่อื่นเลย ใช้อิฐกะเทาะให้เท่าก้อนถ่านไฟฉายใหญ่ แล้วเอาหัวปลาผูกกับอิฐ เอาเชือกกล้วยผูกกับไม้ตกวางไว้ เวลาปูติดมันจะดึงลากไป เราก็เย่อกับมัน ต้องรู้เทคนิคหน่อยถึงจะดึงขึ้นมาได้ แล้วเอาสวิงช้อนขึ้นมาเลย ตัวเล็กไม่เอา โยนลงน้ำ ชุมมาก แป๊บเดียวได้ครึ่งปี๊บ ไม่ต้องไปซื้อ

ส่วนกุ้งแม่น้ำนี่ พอเราเล่นเสร็จเรียบร้อย ตอนน้ำลงก็ขุดรูต่ำกว่าระดับแผ่นดินลงไป ๒ เมตร ขุดให้ลึกพอเท่าที่แขนเราจะล้วงเข้าไปได้ แล้วก็ปล่อยเอาไว้ กลางคืนน้ำขึ้นเต็มฝั่ง

 พอเช้าน้ำลง กุ้งก็จะค่อยๆ คลานลง พอเจอรูปั๊บมันจะเข้าไปอาศัยอยู่ในรูนั้นก่อน จนน้ำลงถึงก่อนจะพ้นจากรูประมาณศอกหนึ่ง กุ้งเริ่มรู้แล้วว่าน้ำลง มันต้องออกจากรูแล้ว เราต้องรีบไปดักหน้าก่อน รูใครรูมันนะ ห้ามล้ำสิทธิ์ ล้วงเข้าไปเถอะ ได้ทุกรูเลย

แม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม

ฟังดูเป็นชีวิตที่มีความสุขจัง ใช่ ช่วงวัยเด็กเป็นช่วงที่มีความสุขมากที่สุด แต่พอหมดยุคเราเด็กก็ไม่มีเล่นแบบนี้แล้ว มันเริ่มจางหายไป เพราะสภาพสังคมเริ่มเปลี่ยน ทีนี้พอไปเรียนมัธยมก็ไม่สนุกแล้ว เพราะการเรียนก็ยาก กลับมาต้องทำการบ้าน พอจบก็ไปต่อโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรี จนจบมาบรรจุเป็นครูที่สมุทรสงคราม

เป็นครูเพราะอยากเป็นหรือเพราะค่านิยมในสมัยนั้นคะ บอกได้เลยว่าค่านิยม แต่พอมาเป็นครูแล้วก็มีความรักในอาชีพนี้ เราถูกหล่อหลอมจนมันซึมในสายเลือด เด็กบางคนน่าสงสาร ค่ากระดาษสอบสองบาทหกสลึงยังไม่มีเลย เราต้องช่วยออกให้ แล้วเป็นครูคนสุดท้ายที่หิ้วปิ่นโตไปกินโรงเรียน ปิ่นโตต้องพิเศษคือมีห้าเถา ของตัวเองใช้ฝาตักกับข้าว ที่เหลือต้องเลี้ยงเด็กที่เขายากจน ทุกวันนี้มีเด็กที่อุปถัมภ์ไว้ไปอยู่ต่างจังหวัดไกลๆ ก็ติดต่อกัน บางคนยังกลับมาเยี่ยม  สอนอยู่ที่โรงเรียนวัดโพงพาง จนถึงปี ๒๕๔๐ ก็ลาออก

เออร์ลี่รีไทร์ ไม่ได้เออร์ลี่ฯ คือเรามองแล้วว่าการปฏิรูปการศึกษาแบบใหม่กำลังฉุดกระชากวิญญาณความเป็นครูออกจากตัวเรา สาเหตุคือครูต้องยกวิทยฐานะ แต่เราคิดว่าไปเรียนปริญญาตรีก็ไม่ได้เอาสิ่งที่เรียนมาใช้กับเด็ก เลยไม่ยอมไปเรียน การพิจารณาที่จะเลื่อนขั้นก็ติดไง แต่เราก็ยอมเพราะคิดว่าแค่นี้พอแล้ว สอนอยู่กับเด็กก็มีความสุข

เห็นเพื่อนๆ บ่ายสองโมงต้องออกไปเรียน แล้วก็มารับฝากชั้นเรียนกัน อย่างนี้ไม่ใช่แล้ว เด็กมันตกต่ำลงไปเรื่อยๆ เด็ก ป.๔ บางคนอ่านหนังสือไม่ได้ ตอนหลังมีระเบียบใหม่อีก ระบบการเรียนการสอนเปลี่ยนไปเลยจนเรารับไม่ได้ ลักษณะของครูกลายเป็นครูอาชีพ ไม่ใช่ความเป็นครูโดยจิตวิญญาณอีกต่อไป

ตรงไหนบ้างคะที่รับไม่ได้ แผนการเรียนการสอนแบบใหม่ซึ่งผิดไปจากเดิม สมัยก่อนเด็กที่จบ ป.๔ อ่านออกเขียนได้ เรามีวิชาเรียงความ เขียนจดหมาย หน้าที่พลเมืองศีลธรรม มีอาราธนาศีล อาราธนาธรรม แต่ระบบใหม่ที่เข้ามามันกลายเป็นประเด็นว่าสอนให้เด็กเรียนเพื่อทำคะแนนอย่างเดียว

 อย่างภาษาไทย รุ่นใหม่เขาเรียนแบบเป็นคำ เด็กไม่รู้จักการผสมสระพยัญชนะ คำพ้องรูปพ้องเสียงหาความหมายไม่เจอ เราก็ต้องเก็บเอาแบบเรียนรุ่นเก่ามาสอน แต่มีคนมาตรวจก็เที่ยวไปพูดว่าเราไม่พัฒนาตัวเอง เลยคิดว่าในเมื่อเราไม่พัฒนาก็ลาออกเสียดีกว่า ตัดสินใจวันเดียว บอกภรรยากับลูกว่าพ่อจะลาออกนะ เขาบอกตรงไหนเราสบายใจก็ทำเถอะ

เรือพายชมหิงห้อย ที่บ้านลมทวน

แล้วมาเริ่มทำงานกับชุมชนตั้งแต่เมื่อไหร่คะ   ตั้งแต่ออกจากงานมาใหม่ๆ นั่นแหละ ตอนนั้นไปรับงานต่างจังหวัด แต่ก็พอมีเวลาว่างสำหรับทำอย่างอื่นด้วยเวลากลับมาบ้าน เริ่มที่วัดช่องลมก่อนซึ่งเป็นวัดที่เราเรียนและบวช มันทรุดโทรมมากเลย ไม่มีที่เผาศพ มีแต่เชิงตะกอน

 เลยคุยกับคนในชุมชน ชวนมาทำวัดบ้านเกิดของเราก่อน เกิดการรวมน้ำใจในชุมชน เพราะทุกคนเห็นถึงความจำเป็นร่วมกัน ใช้เวลาเร็วมากแค่ปีกว่าๆ ระดมทุนเรี่ยไรจนสร้างสำเร็จ

ทีนี้เราก็เริ่มคิดว่าจะทำยังไงให้วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เราเลยคิดจัดงานลอยกระทงเกณฑ์คนในชุมชนขอแรงมาช่วยทำช่วยขายกระทง หาเงินให้วัดกัน ทุกคนก็โอเค งานปีแรกผลสำเร็จแบบฮือฮาเลย

ปีต่อมาคนทำกระทงเพิ่มเป็นร้อยกว่าคน ทุกคนมีจิตอย่างเดียวกัน เงินเข้าวัดปีหนึ่งได้แปดหมื่นถึงแสน ไม่มีการหักค่าใช้จ่าย ถึงเวลากินข้าวร่วมกันเป็นวงที่วัด ถ้าเราเอาวัดเป็นศูนย์กลางได้ ทุกอย่างจะไปได้สวย

สังคมสมัยก่อนก็มีวัดเป็นศูนย์กลางนะคะ ใช่ แต่มันหายไปพักหนึ่งเพราะความเสื่อมศรัทธา และภาวะเศรษฐกิจที่เป็นตัวเสริม ทุกวันนี้สังคมพื้นบ้านมันเปลี่ยน หกโมงครึ่ง รถมารอรับแล้ว ไปโรงงาน ถ้าเป็นสมัยก่อนเราขึ้นตาลแปดโมงเช้าก็ได้ ไปทำบุญไปช่วยงานกันก่อน แต่นี่ไม่อย่างนั้นแล้ว ต้องรีบไปทำงาน เวลามันบีบ คนก็เริ่มหาย การพัฒนาก็ไม่มี

 สมัยก่อนเราต้องไปขนทรายเข้าวัด ไปดายหญ้า ไปล้างกุฎิ โอ๊ยสนุกจะตาย วัดก็ต้มข้าวต้มเลี้ยง เจ๊งม เจ๊ยุ้ยปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ แกก็ไปทอดกล้วยทอดเลี้ยงกัน หกทุ่มเสร็จเราก็จุดคบเดินกลับบ้านกันมา สังคมสมัยนั้นเป็นสังคมอบอุ่น ปัจจุบันเราโหยหาอยากให้อย่างนั้นกลับมา แต่ว่ามันกลับไม่ได้ ที่กลับได้แค่นี้ก็ถือว่าโอเคแล้ว เราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ยังดีที่บางส่วนเรายังเชื่อมโยงให้เขาเห็นคุณค่าตรงนี้ได้

เช่น กรณีพิพาทเรื่องที่ดินของบ้านที่อยู่ใกล้กัน เรื่องนิดเดียวเอง เราก็ไม่รู้จะแก้ปัญหาให้เขายังไง เพราะต่างคนต่างถือสิทธิ์กัน ก็เอาตรงนี้ล่ะ จับมาทำกระทงที่วัด ทำกระทงต้องทำสามวัน วันที่หนึ่งไม่มีอะไร วันที่สองเริ่มพูดกันบ้าง วันที่สามกินข้าวเสร็จเรียบร้อย เราก็คุยเลย เฮ้ย ไอ้เรื่องที่ดินพี่ขอได้ไหม เรามาทำตรงนี้ก็เห็นถึงความเอื้ออาทรของชุมชนใช่ไหม

อะไรยอมได้ก็ยอมกันเถอะวะ ตายก็เอาไปไม่ได้ ทำให้เป็นตัวอย่างแก่ลูกหลานเถอะวะ ปรากฏว่าเขายอมกันได้ เรื่องจบด้วยดี เราอึ้งเลยเหมือนกันว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของขนบธรรมเนียมประเพณีที่เราดึงเข้ามาแก้ปัญหาให้ชุมชนได้ มันเกิดความร่วมมือกันโดยอัตโนมัติ เพราะอะไร ก็เพราะขนบธรรมเนียมประเพณี ใครจะว่าเป็นเรื่องล้าหลัง ขอเถียงเด็ดขาดเลย

แม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม

มาถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชุมชนค่ะ เกิดอะไรขึ้นคะ มันเริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อการท่องเที่ยวอัมพวาบูม แรกๆ เราก็เห็นว่าดี บ้านเรามีคนมาเที่ยว แต่ชุมชนเรายังอยู่ตามปกติ เพราะที่นี่ไม่ได้มีกิจกรรมอะไร แต่เริ่มมีปัญหาเมื่อนักท่องเที่ยวเยอะขึ้น เรือหิ่งห้อยเยอะขึ้น จากทีแรกมีแค่สิบกว่าลำ ชาวบ้านไม่ว่า แค่แป๊บเดียวเดี๋ยวก็ไป

แต่นี่เรือเป็นร้อย แล้วไม่ได้วิ่งรอบเดียว วิ่งกันสองรอบ ช่วงเทศกาลวันหยุดอาจถึงสามรอบ บางคืนรอบมิดไนท์ ๕ ทุ่มยังมี ชาวบ้านเริ่มทนไม่ไหว ตอนนั้นผมไปรับงานที่ภาคเหนือ กลับมาบ้านแค่อาทิตย์นึงแล้วก็ไปต่อ พอจะรับรู้บ้างเพราะพวกเริ่มมาบ่น ไม่ไหวว่ะ บ้านที่อยู่ริมน้ำ ต้องเอาดินน้ำมันยาตามขอบประตู คลื่นเรือมันตีเข้าบ้าน นี่คือเรื่องจริงเลย

บางคนบอกมันทำอย่างกับเป็นพ่อเรา เอาเรือจอดท้ายเรือนแล้วตะโกนสั่งให้ดับไฟ จะดูหิ่งห้อย คนนั่งกินข้าูกกับเมียอยู่ ผมถามว่าแล้วเอ็งทำไง เขาก็ตะโกนว่ามึงไม่ใช่พ่อกู เฮ้ย นี่เริ่มตอบโต้กันแล้วนะ

หน่วยงานที่รับผิดชอบได้รับรู้เรื่องนี้ไหมคะ เดือนเมษาฯ ปี๔๙ ชาวบ้านทำหนังสือขอความช่วยเหลือจาก อบต. เขาบอกยังหาทางแก้ไขไม่ได้ เราก็เห็นใจเขานะ เพราะปัญหามันเป็นปัญหาใหญ่ จนปลายปีเรียกประชุมกันอีก เพราะทุกคนเดือดร้อน ทางราชการก็รับปากว่าจะหาทางช่วยเหลือ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ตอนหลังพอเรื่องนี้ออกทางสื่อก็เริ่มมีผล แต่พฤติกรรมผู้ประกอบการเรือยังเหมือนเดิม ผมเคยไปชี้แจงถึงรัฐสภาเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว คณะกรรมาธิการฯ ลงมาดูก็เห็นว่าเป็นปัญหาจริง แต่แนวทางที่จะแก้ไขยังไม่ถูกชี้แจง

แม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม

เหมือนว่าเห็นปัญหาแต่ไม่รู้จะแก้ยังไง ไม่รู้จะแก้ยังไง เรากลับมาประชุมที่จังหวัดเพื่อหาทางแก้ไข ท่านผู้ว่าฯ ก็เรียกประชุมครั้งแรกกำหนดมาตรการต่างๆ เช่นความดังของเสียงเครื่องเรือไม่เกิน ๗๐ เดซิเบล ขับเร็วไม่เกิน ๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งตั้งแต่ช่วงนี้ไม่เกินสามทุ่มครึ่งให้กลับทั้งหมด แต่ความจริงก็บังคับไม่ได้ ผลกระทบยังเหมือนเดิม

เรือพายชมหิงห้อย ที่บ้านลมทวน

ในที่สุดชุมชนจะมีทางออกของเรื่องนี้อย่างไรคะ  เราเป็นชุมชนต้นแบบทำโครงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งธรรมชาติที่ถูกทำลายจากการท่องเที่ยว ทำให้เราต้องเปลี่ยนจากใช้เรือเครื่องนำเที่ยวมาเป็นเรือพาย

โดยชุมชนเป็นคนบริหารจัดการเองทั้งหมด เรื่องที่สองคือส่งเสริมอาชีพของคนในชุมชน เราไม่เน้นเฉพาะรายได้จากการดูหิ่งห้อยอย่างเดียว

คนเฒ่าคนแก่ที่เขาอยู่ที่บ้าน แกมีภูมิปัญญาจะทำขนม ทำอาหาร จักสาน เย็บกระทง แต่ ณ ปัจจุบันแกไม่ได้แสดงออก เพราะโอกาสไม่มีให้ เมื่อเราทำโครงการตรงนี้ขึ้นมา พานักท่องเที่ยวมาเที่ยวบ้าน ให้แกได้แสดงภูมิปัญญา คนเรียก คุณยายขา

ข้าวเหนียวนี่ต้องกวนยังไง กะทิใส่เท่าไหร่ แกจะมีความสุขและเป็นครูโดยไม่เหนื่อยเลย เราเห็นตามมาชัดๆ คือสภาพจิตใจของคนเฒ่าคนแก่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วเลย

แม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม

อันดับสามคือ การทำโครงการปฏิสัมพันธ์ชุมชน คือให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสชุมชนอย่างใกล้ชิด ด้วยการจัดโครงการแรลลี่เรือพาย ผมคิดว่าเมืองเรามันน่าจะทำท่องเที่ยวแบบนี้ เพราะเรามีลำคลองถึง ๓๐๐ กว่าเส้น ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดชุมชนเขาสร้างสรรค์และบริหารจัดการกันเอง วางแผนทำงานเป็นระบบ

ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้างคะ เราจัดแรลลี่ไปแล้ว ๕ ครั้ง ผลตอบรับดีร้อยเปอร์เซ็นต์ นักท่องเที่ยวจะบอกว่าเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยเห็น หรือมันหายไปจากความทรงจำนานแล้ว บางคนบอกว่าได้เรียนรู้วิถีชีวิต ได้ปรัชญา เคยมีคณะผู้บริหารนั่งรถเบนซ์มาทั้งนั้น ผมต้องขอร้องว่าให้ช่วยลงแรลลี่หน่อยเถอะ ชาวบ้านจะได้มีรายได้ ตอนแรกเขาไม่อยากไป

 แต่พอกลับมาเขาบอกถ้าผมไม่ได้ลงแรลลี่ ผมคงเสียใจ เพราะได้ไปลงมือทำงานอย่างชาวบ้าน ไปแข่งแกะหอย เย็บตับจาก เหลาไม้ไผ่ ชาวบ้านแกะหอยได้กิโลฯ ละ ๗ บาท แต่ผมกินอาหารบางทีมื้อละห้าพัน ผมดำเนินชีวิตผิดพลาดมาตลอด เราต้องบอกว่าอย่าเพิ่งไปลงโทษตัวเองอย่างนั้น

เปิดท่าเรือชมหิงห้อย บ้านลมทวน

ในชุมชนมาร่วมมือกันตรงนี้ดีไหมคะ ทุกบ้านร่วมกันหมด เฉพาะคนที่มีฝีมือในการประกอบอาชีพต่างๆ เราดึงมาหมดเลย คนที่พายเรือเป็นก็มา แต่ถ้าครอบครัวไหนที่มาพายเรือแล้วเราก็เอาแค่พายเรือนะ กิจกรรมอื่นให้คนอื่นทำ รายได้จะได้กระจาย ชาวบ้านก็แอ๊คทีฟตัวเองช่วยกันดูแลรักษาชุมชน เพราะเขารู้แล้วว่าตรงนี้เป็นแหล่งรายได้ของเขา

นี่คือความร่วมมือที่เกิดจากผลสัมฤทธิ์ของกิจกรรม ถามว่าผมเก่งไหม อย่าเขียนเลยว่าผมเก่ง ชุมชนนั่นแหละเก่ง ชุมชนคือเฟืองตัวใหญ่ ผมเป็นเพียงน้ำมันเครื่องหยอดให้เฟืองหมุน แต่น้ำมันเครื่องต้องเปลี่ยนประจำ ตอนนี้ผมเปลี่ยนแล้ว ผมใส่จาระบี สร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชน คือให้เขามีส่วนร่วมบริหารกันเอง ดูแลกันเอง

มีคนอื่นเอาอย่างบ้างไหมคะ ตอนนี้ก็มีชุมชนอื่นที่กำลังศึกษาเส้นทางท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ แต่เขาไม่มีเรือ ไม่เป็นไรเรามีก็เอาไปสนับสนุนเขา เก็บรายได้เป็นค่าเช่าเรือ ไม่ใช่มีแล้วเราเก็บไว้อย่างเดียว กูไม่ให้ใคร กลัวคนอื่นจะมาล้ำหน้า อย่างนั้นคือคิดผิด เราต้องการแนวร่วม ให้เกิดการท่องเที่ยวแบบเดียวกันทั้งระบบ เชื่อมโยงแต่ละชุมชน

ผมพูดไปคำหนึ่งว่าอย่าเที่ยวแบบตักตวงนะครับ เที่ยวแบบกักตุนดีกว่า ตักตวงมันไปหมดแล้ว แต่ถ้าเราย้อนมากักตุนเราจะมีกินไปอีกนาน

อย่างชุมชนเราจะจัดกิจกรรมโดยคำนึงถึงปัจจัยหลักคือดูระดับน้ำ ช่วงน้ำกลางวันเรามีกิจกรรมยามเช้าพายเรือเล่นแรลลี่ ช่วงน้ำกลางคืน เมษาฯ-ตุลาฯ ถึงมาพายเรือดูหิ่งห้อยกัน เท่ากับเป็นการพักฟื้นธรรมชาติไปในตัว

นักท่องเที่ยวก็ต้องเรียนรู้ที่จะเที่ยวตามฤดูกาลด้วย ไม่ใช่ว่าต้องการเมื่อไหร่ก็ได้เมื่อนั้นทุกวันนี้เราเดินเข้าไปในตลาดน้ำอัมพวา เรือจะเรียก ดูหิ่งห้อยครับ ดูหิ่งห้อยครับ เป็นอย่างนี้ตลอด

อาจารย์ปรีชา เจี๊ยบหยู

เหมือนสินค้าสำเร็จรูป เปรียบเทียบถูกต้องเลย เหมือนสินค้าสำเร็จรูป ไปเมื่อไหร่ก็ซื้อได้ โดยที่ไม่นึกว่าสินค้าบางอย่างมันบูดแล้ว เสียแล้ว โรงงานผลิตไม่ทันแล้ว บางทีเราไปโรงงานปิด ผลิตสินค้าไม่ได้ บางทีสินค้ามีนิดเดียวแต่แย่งกันซื้อจนหมดแล้ว นี่คือการเปรียบเทียบ เราจะทำยังไงที่จะบอกให้รู้ว่าสินค้าช่วงนี้ไม่มี แล้วถ้าเกิดไปซื้อสินค้าเราควรไปซื้อแบบไหนเพื่อให้สินค้ายังคงมีคุณภาพดี ไม่ใช่แย่งกันไปซื้อหรือใช้ความเร็วไปซื้อ

ขอถามประเด็นสุดท้ายเรื่องการตัดต้นลำพูค่ะ คือเรานั่งคุยกันเรื่องผลกระทบจากเรือหิ่งห้อย ทีแรกเราว่าจะใช้ไม้ไผ่ปักแล้วเอาสแลนขึงบังรอบต้นลำพู ไม่ให้มาดูตรงนี้ แล้วเขียนไว้เลยว่า กูรำคาญ ให้เขาเห็นว่าชุมชนตอบโต้แล้วนะ แต่ยังไม่ทันได้ทำ พวกที่อยากเห็นผลเร็วเขาตัดต้นลำพูประท้วงคืนนั้นเลย แต่วิธีตัดของเขาคือเอื้อมมือตัดส่วนบนๆ ไม่ใช่ตัดเพื่อทำลาย ถ้าอย่างนั้นคือต้องตัดโคน ซึ่งโดยธรรมชาติจริงๆ ถ้าชาวบ้านจะตัดแต่งเขาก็ตัดหน้านี้แหละ เพราะกะอ้าว (เพลี้ย) ลงกินใบหมดเลย ตัดตอนนี้ พอหน้าฝนตาจะแตกเป็นพุ่มเหมือนเดิม นี่คือภูมิปัญญาของคน

พอดีๆ กับเป็นช่วงที่หิ่งห้อยหมดด้วย ใช่ แต่พอตัดปั๊บเรื่องเลยกลายเป็นเรื่องขึ้นมา ความจริงชาวบ้านไม่ได้ตั้งใจทำลาย ถ้าคิดทำลายเขาไม่ปล่อยถึงขั้นนี้หรอก เพราะทนทุกข์ทรมานมาสองปีแล้ว เราทำโครงการต่างๆ มาถึงขั้นนี้ก็เพื่อต้องการให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างสันติสุข โครงการต้องเดินหน้าต่อไป นักท่องเที่ยวจะเป็นคนพิพากษา ว่าเราควรจะเป็นเมืองท่องเที่ยวแบบไหน

 แต่เห็นใจชาวบ้านบางทีเขาอยากเห็นผลสัมฤทธิ์ เพราะขนาดขึ้นป้ายแล้วก็ไม่มีความหมาย ป้าย หยุดทำลายธรรมชาติของเราเถอะครับ นั่นชาวบ้านลงทุนทำเอง ก็ยังหยุดเขาไม่ได้ ชาวบ้านก็อึดอัด ถ้าผู้ประกอบการหันหน้าเข้ามาคุยกันช่วยคิดแก้ปัญหา เราจะบอกได้เลยว่าถึงตรงไหนดับเครื่องได้ไหม หรือวางจุดได้ไหม เอาวัดจุฬาฯ เป็นฐาน

 พายเรือดูหิ่งห้อยถึงคุ้งเทวดาพอแล้ว เอาวัดท้ายหาดเป็นฐาน รีสอร์ตตรงนี้มาลงเรือวัดท้ายหาด คุณเอาเครื่องขึ้นแล้วพวกคุณนั่นแหละมาพายเรือ ผมก็ไม่ต้องมานั่งหาเรือ เราพร้อมจะทำให้ทุกอย่าง ทีนี้เขาไม่ยอม พายเรือแบบนั้นตีสี่ผมยังกลับไปถึงบ้านเล้ย ว่าอย่างนั้น อีกคนบอก อย่าไปฟังเลยนั่นคือการท่องเที่ยวแบบประหยัด (หัวเราะแค่นๆ)

เจออย่างนี้ก็เหนื่อยนะคะ เราเหนื่อย แต่ก็สู้ ไม่ท้อ รับรองเลยว่าไม่ท้อ บอกแล้วว่าถึงแม้เราจะตายไปก่อน แต่เราสร้างตัวแทนไว้เยอะแล้ว หิ่งห้อยชุดที่สองกำลังจะเริ่มโผบิน แม้กระทั่งลูกก็เหมือนกัน บอกเขาว่าไปทำงานทำการแล้วอีกหน่อยต้องกลับมาช่วยนะ ตอนนี้พ่อยังอยู่ ไม่เป็นไร ถ้าพ่อตายแล้วเอ็งต้องกลับมาช่วยนะ เพราะที่นี่คือบ้านของเรา ไม่มีใครหรอกเขาจะมารักบ้านของเราเท่ากับที่เรารัก

บ้านของผม

  บ้านลมทวน ตำบลบ้านปรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม คือบ้านเกิดของผม เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ผมเกิดที่นี่ โตที่นี่ หากินกับผืนแผ่นดินนี้มากว่า ๕๐ ปี และพร้อมจะตายที่นี่ (ถ้าผมเลือกที่ตายได้)

ในอดีตบ้านลมทวนของผมอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา มีสารพัดให้เลือก เพราะเป็นบริเวณที่น้ำจืดและน้ำเค็มมาบรรจบกัน ทำให้สภาพน้ำกลายเป็นน้ำกร่อย เหมาะสำหรับสัตว์น้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มจะมาวางไข่และอนุบาลตัวอ่อน  แผ่นดินตรงนี้จึงอุดมสมบูรณ์นัก จะวางเบ็ดตกปลา ทอดแห ช้อนกุ้ง วางอวน ทำลอบดักปลาหรือกุ้ง แม้กระทั่งพายเรือเปล่าในเวลากลางคืนเลาะเลียบไปตามตลิ่งก็จะมีปลาโดดลงเรือมาให้ทำกับข้าวกินได้

  โดยเฉพาะในคืนข้างแรมหรือคืนเดือนมืด จะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการหาปลา ทั่วคุ้งน้ำจะมืดสนิท มีเพียงแสงของเจ้าแมลงตัวเล็กๆ ที่เราเรียกมันว่า  หิ่งห้อย  เปล่งแสงประกายแวววับพร้อมเพรียงกัน ทำให้ท้องน้ำมีแสงเหลืองอ่อนนวลตา พวกปลาจะว่ายเข้าอาศัยตามชายฝั่งเหมาะนักที่จะทอดแหและพายเรือกรีดปลา (เรือกรีดปลาชาวบ้านเรียกว่าเรือผีหลอก เอาไว้ผมรวบรวมข้อมูลให้ครบจะเขียนมาให้อ่านกันอีก)

พูดถึงเจ้าแมลงตัวเล็กๆ ที่เรียกว่าหิ่งห้อย พวกเราเห็นเป็นของธรรมดาชินตาตั้งแต่จำความได้ เราอาศัยแสงของมันในเวลากลางคืนเป็นเครื่องนำทางในการพายเรือ แสงของมันจะเป็นตัวกำหนดแนวชายฝั่งทำให้เราได้รับความสะดวกในการทำมาหากิน มันไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้กับพวกเราเลย มีแต่ประโยชน์ด้วยซ้ำ

  แต่เชื่อไหมว่าปัจจุบัน เจ้าหิ่งห้อยตัวเล็กๆ นี่แหละ ทำให้คนในชุมชนของผม โดยเฉพาะที่มีบ้านอยู่ริมน้ำเกิดอาการประสาทกิน นับตั้งแต่ตลาดน้ำยามเย็นที่อัมพวาฟื้นคืนชีพ (อันนี้ต้องขอชมเชยคณะเทศมนตรีอัมพวาอย่างจริงใจที่พยายามปลุกปั้นตลาดน้ำอัมพวาขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว)

 ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวของเมืองสมุทรสงครามหรือเรียกง่ายๆ ว่าเมืองแม่กลองเฟื่องฟูอย่างเหลือเชื่อ ที่พักแบบโฮมสเตย์และรีสอร์ตเกิดขึ้นราวกับดอกเห็ด มีกิจการการนำเที่ยวหลายรูปแบบเพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจ

หนึ่งในกิจกรรมที่ว่าคือการนำนักท่องเที่ยวนั่งเรือชมความงามของหิ่งห้อยตามชายฝั่งของแม่น้ำและลำคลองยามค่ำคืน แรกๆ ก็ใช้เรือพาย ต่อมาความมหัศจรรย์ของเจ้าแมลงตัวน้อยทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความหลงใหล ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการทั้งหลายต้องนำเอาเรือยนต์มาบริการนักท่องเที่ยวแทนเรือพาย เพียงชั่วระยะเวลาไม่ถึงปี เชื่อไหมว่ามีเรือยนต์เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ลำ

เรือเหล่านี้บางส่วนจะนำนักท่องเที่ยวจากตลาดน้ำอัมพวา บางส่วนจะนำนักท่องเที่ยวจากที่พักต่างๆ แต่ทุกลำจะเริ่มออกจากตลาดน้ำพร้อมกันคือเที่ยวแรกประมาณหนึ่งทุ่ม วิ่งไปตามลำคลองอัมพวาออกคลองผีหลอก (คลองเดียวกันนั้นแหละ แต่มีสองชื่อ) ซึ่งจะบรรจบกับแม่น้ำแม่กลอง แล้ววิ่งย้อนขึ้นมาทางบ้านผมคือบ้านลมทวนเพื่อดูหิ่งห้อย เพราะบริเวณนี้เป็นจุดที่มีหิ่งห้อยมากกว่าที่อื่นๆ จากนั้นก็จะเร่งเครื่องยนต์พานักท่องเที่ยวรอบแรกไปส่ง แล้วรับนักท่องเที่ยวรอบสองลงเรือพาย้อนกลับมาดูหิ่งห้อยต่อตามเส้นทางเดิม

การท่องเที่ยวที่ไร้สาระและขาดจิตสำนึกแบบนี้ ทำให้เกิดการทำลายระบบนิเวศน์บริเวณชายฝั่งตลอดแนวที่เรือยนต์วิ่งผ่านอย่างรุนแรง คลื่นจากเรือนับร้อยลำโถมกระแทกชายฝั่งทำให้ดินเลนถูกกระแทกและพังทลายลง จากแนวชายฝั่งที่ลาดเอียงค่ๆ กลายเป็นแนวตั้ง รากของต้นไม้ชายฝั่งไม่มีดินเลนให้ยึดเกาะ

พากันล้มลงตามแรงกระแทกของคลื่นที่กัดเซาะ โดยเฉพาะพืชชายน้ำที่เป็นแนวปะทะคลื่นตามธรรมชาติ เช่น ต้นกก ต้นเหงือกปลาหมอ และหญ้าชายน้ำ ต้นลำพูขนาดเล็กที่อยู่ติดชายฝั่งเริ่มเหี่ยวแห้งและยืนต้นตายเพราะขาดอาหาร

กลิ่นเหม็นของน้ำมันที่เกิดจากการเผาไหม้คละคลุ้งไปทั่วบริเวณ เรือบางลำใช้สปอร์ตไลท์ส่องดูนกกระยางที่เกาะอาศัยต้นไม้ชายน้ำเพื่อหลับนอนและหลบภัย แสงของไฟทำให้นกเหล่านั้นต้องอพยพหนีเข้าไปอยู่ในที่ลึก

โดยเฉพาะพระเอกของงานนี้คือหิ่งห้อย ไม่สามารถทนสภาวะอย่างนี้ได้ เริ่มอพยพหนีมลภาวะที่เกิดขึ้นเข้าไปอยู่ในสวน ตัวอ่อนของมันที่อยู่บริเวณชายฝั่งไม่สามารถอพยพหนีได้ ถูกทำลายจากคลื่นของเรือจนปริมาณของหิ่งห้อยลดลงจนอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์/p>

&  แต่เดิมบ้านของผมมีหิ่งห้อยตลอดแนวชายฝั่ง ๓ กิโลเมตร แต่ในปัจจุบันมีหิ่งห้อยกลุ่มเล็กๆ เหลือเพียง ๔ กลุ่มเท่านั้น (รายละเอียดการลดลงของจำนวนหิ่งห้อย ถ้าเขียนแล้วผมจะเครียด เรื่องมันยาว มีปัจจัยและผลกระทบกับหลายฝ่าย เอาไว้ให้พระอาทิตย์ขึ้นก่อน แล้วจะเขียนให้อ่านกันอีกที ผมบันทึกเรื่องนี้ตอนกลางคืน ไม่มีแม้แต่พระจันทร์ มีเพียงแต่ดาวเต็มฟ้าเท่านั้นที่เป็นเพื่อน)

นอกจากหิ่งห้อยจะได้รับผลกระทบแล้ว คนในชุมชนบ้านผมก็ไม่ต่างไปจากหิ่งห้อย บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ชายฝั่งแม่น้ำไม่เป็นอันหลับอันนอน เคยพักผ่อนนอนแต่หัวค่ำก็ทำไม่ได้เพราะเสียงของเรือยนต์ที่วิ่งกันไปมา ชายฝั่งหน้าบ้านถูกคลื่นซัดพังทลาย วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนแปลง เคยออกเรือตกกุ้งหาปลาก็ทำไม่ได้ ทุกคนไม่อยากให้ถึงวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ นึกถึงวันเหล่านี้แล้วประสาทจะกิน ไม่รู้จะทำอย่างไรนอกจากหันหน้าปรึกษากันเพื่อหาทางออก นโยบายและกฎข้อบังคับของทางราชการก็ยังไม่สามารถคลี่คลายปัญหานี้ได้

พวกเราไม่มีส่วนได้จากกิจกรรมนี้เลย แต่ต้องแบกภาระความเสียหายของธรรมชาติและความทุกข์ระทมทางจิตใจ พวกเขาคิดเพียงแต่จะเอาเงิน ไม่เคยคิดถึงความล่มสลายของระบบนิเวศน์ จิตสำนึกของพวกเขาหายไปไหนหมด ผมจะโทษใครดี หรือจะโทษพวกชุมชนของเราที่ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะทะลึ่งมารักบ้านเกิดอยู่เพียงฝ่ายเดียว/p>

คืนนี้เป็นอีกคืนหนึ่งที่ผมยืนอยู่ตรงหัวสะพานท่าน้ำ ซ้ายมือผมมีต้นลำพูต้นเล็กๆ อยู่ ๔-๕ ต้น ที่มันยืนต้นอยู่ได้เพราะอยู่บนฝั่งลึกเข้าไปจากชายแม่น้ำ หิ่งห้อยน้อยกลุ่มหนึ่งประมาณ ๒๐-๔๐ ตัวยังเกาะอาศัยอยู่บนต้นลำพูเล็กๆ อย่างเหนียวแน่น ส่องแสงประกายแวววับเหมือนเดิมแต่ไม่เจิดจ้าและเนียนตาอย่างแต่ก่อน

ผมไม่เข้าข้างตัวเอง แต่มันคงคิดถึงอดีตของพวกมันที่ผ่านมาเหมือนกับที่ผมคิด มีอยู่ตัวหนึ่งบินมาเกาะที่ใบลำพูตรงหน้าผม แสงของมันกระพริบเป็นจังหวะคล้ายกับจะบอกผมว่า  บอกพวกเขาทีได้ไหม อย่ามาดูพวกเราแบบทำลายเลย ถ้าจะมาดู มากันเงียบๆ ดีกว่า พวกเรามีชีวิตดูโลกได้เพียงไม่เกิน ๒๐ วัน บอกตามตรงพวกเราต้องรีบผสมพันธุ์ เสียงของเรือยนต์ทำให้พวกเราอาย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือมนต์รักแม่กลอง ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ เดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม ๒๕๕๑ ภัทรพร อภิชิต ...เรื่อง วีรวุฒิ  กังวานนวกุล , นุ  บางบ่อ ...ภาพ ออนไลน์วันที่20 พฤษภาคม 2551

ติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบ้านลมทวน ได้ที่
อาจารย์ปรีชา  เจี๊ยบหยู โทร.๐๘-๑๘๕๗-๔๕๙๓

 เรื่องที่เกี่ยวข้อง
อัมพวาตลาดน้ำยามเย็น  ทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ในช่วงเวลาเย็น ไม่จำเป็นต้องตื่นเช้า ของอร่อยไม่น้อยชมหิงห้อยยามค่ำคืน
นึกอยากไปก็ไป..อัมพวา  เดินทางไปคนเดียวเพื่อตามหาเสียงไวโอลิน ในที่ที่หลายคนเคยไป แต่รูปแบบการเดินทางมันต่างกัน

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook