โครงการฝึกให้นุ บางบ่อ พร้อมทุกสภาพการท่องเที่ยว

โครงการฝึกให้นุ บางบ่อ พร้อมทุกสภาพการท่องเที่ยว

โครงการฝึกให้นุ บางบ่อ พร้อมทุกสภาพการท่องเที่ยว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปีนหน้าผา เขาฆ้องชัย

โดย.. นุ บางบ่อ พฤษภาคม 2544

เขาฆ้องชัย อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี "ยิ่งสูง ยิ่งหนาว" เป็นคำพูดที่ชินหู แต่ผมว่านอกจากความหนาวแล้วยังมีความหวาดเสียวน่ากลัวอยู่ด้วยนะ.. ขณะที่ผมต้องปีนป่ายขึ้นไปยังจุดหมายเบื้องหน้าของภูผาหิน ความคิดในขณะนั้นว่างเปล่าไม่มีเรื่องอะไรที่เข้ามาทำให้จิตใจสับสนวุ่นวาย มีเพียงความคิดที่ว่า เราจะไขว่คว้าและก้าวย่างไปทางไหนต่อไป ร่างของผมจะได้ไปถึงยังจุดหมายที่ได้หวังไว้อย่างปลอดภัย เขาฆ้องชัย ตั้งอยู่ ณ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี บริเวณก่อนถึงตัวอำเภอประมาณ 3 กม. มีลักษณะเป็นเขาสูง และมีด้านที่เป็นหน้าผาสูงชัน บางจุดเป็นโพรงถ้ำขนาดเล็ก หันหน้าเข้าหาถนน สายอุทัย - ลานสัก เมื่อมองจากริมถนนจะเห็นเป็นหน้าผาเด่นตั้งเป็นมุมฉากกับพื้น ลักษณะดังกล่าวเป็นลักษณะที่เหมาะแก่กีฬาปีนหน้าผาเป็นอย่างยิ่ง ที่มาของชื่อเขาฆ้องชัย ว่ากันว่าในสมัยก่อนในคืนวันพระ ชาวบ้านละแวกนี้ และผู้คนที่ผ่านไปมาจะได้ยินเสียงปี่พาทย์ มโหรี ในท่วงทำนองเพลงไทยเดิม ดังแว่วมาจากบนเขานี้ ซึ่งเป็นเรื่องลี้ลับที่หาข้อพิสูจน์ไม่ได้ แต่ผมก็แอบดีใจว่า ในคืนวันที่ผมต้องพักกางเต้นท์อยู่ริมหน้าผาเขาฆ้องชัยนี้ ไม่มีวันไหนเลยที่เป็นวันพระ.. การฝึกสอนการปีนหน้าผาแก่สมาชิกใหม่ของชมรม KRC เริ่มต้นขึ้นในช่วงหลังอาหารเช้า โดยมีคุณนที (คุณเลาะห์) เป็นครูผู้ฝึก แต่ที่น่าแปลกคือ สมาชิกใหม่ที่สมัครเข้ามานี้ เป็นหญิงทั้งหมด 4 ท่าน โดยมีผมซึ่งเป็นสมาชิกใหม่และเป็นผู้ชายอยู่เพียงคนเดียวเอง ทำให้ผมรู้สึกได้เลยว่าเดี๋ยวนี้ผู้หญิงบางคนเขามีความคิดที่เปลี่ยนไปกันบ้างแล้ว ในระหว่างการฝึกเป็นไปด้วยความสนุกสนานไม่เคร่งเครียด ในขั้นแรกเป็นการแนะนำให้มือใหม่ได้รู้จักกับอุปกรณ์ และเลือกจุดที่ใช้ในการวางมือและเท้าเพื่อปีนขึ้นไปให้ถึงยังจุดหมาย การใช้เชือก การผูกเงื่อนในลักษณะต่างๆ การสื่อสารระหว่างผู้ปีนและผู้ที่คอยดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้ปีน(ผู้บีเลย์) โดยทำหน้าที่คอยดึงเชือกอีกปลายด้านหนึ่งที่ผูกมาจากผู้ปีน หากผู้ปีนพลัดตกลงมา ผู้บีเลย์จะเป็นคนที่คอยดึงเชือกไว้ เพื่อให้ผู้ปีนได้รับความปลอดภัย มันเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่ผมได้ปีนป่ายสถานที่ที่มีลักษณะสูงชัน (ไม่รวมต้นไม้ และรั้วบ้านผมเอง) ทั้งที่มีเชือก (ชนิดพิเศษ) และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ล็อคติดกับตัวเรา ซึ่งดูแล้วมีความปลอดภัยแน่นอน

แต่ความกลัวและความตื่นเต้นก็ยังไม่หนีหายไปไหน จำได้ว่าสายตาของผมตอนนั้นพยายามมองหาที่จับ ที่เกาะ และที่จะวางเท้าในจุดต่อๆไป โดยมีผู้ฝึกของชมรม KRC คอยตะโกนบอกทิศทางการปีน แนะนำการใช้มือใช้เท้า และที่สำคัญคอยดูแลความปลอดภัยอยู่เบื้องล่าง การปีนหน้าผาจึงเป็นเรื่องที่ปลอดภัยสำหรับเรา เราปีนขึ้นและลงอยู่คนละ 2 รอบ ได้เวลาเที่ยงจึงพักทานข้าวกลางวันกันที่ริมหัวฝายเขาฆ้องชัย มื้อเที่ยงมื้อนี้สังเกตได้ว่าพวกเราทานกันได้มากเป็นพิเศษ ทั้งที่แสงแดดแผดจ้า คงอาจเป็นเพราะใช้พลังงานในช่วงเช้าไปกันเยอะ และรสชาติอาหารจากร้านคุณลุงปลิวนี้ พวกเราหลายคนยกนิ้วชมกันไม่ขาดเลยทีเดียว โดยเฉพาะปลานิลเผาเกลือ พร้อมน้ำจิ้มสูตรเด็ด เมนูนี้ทำให้ลุงจิ๊บของเราติดอกติดใจ ต้องสะพายกล้องไปหลังครัวขอถ่ายวิธีการเผามาให้ดูกันเลยทีเดียว หากเพื่อนๆ ผ่านไป อย่าลืมแวะไปหาทานกัน ร้านลุงปลิวนี้อยู่ติดกับหัวฝายเขาฆ้องชัย นอกจากอาหารอร่อยแล้วบรรยากาศยามเย็นริมฝายนี้ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจให้หายเหนื่อยได้มากทีเดียว

แต่ถึงจะสูงและน่าหวาดกลัวมือเก่าอย่างคุณหนุ่ย น้องเช และน้องนุ๊ก (ซึ่งเป็นเด็กอายุเพียง 8 ปี เท่านั้น) ได้ปีนขึ้นไปถึงถ้ำใหญ่ น้องนุ๊ก คนเก่งนี้เป็นลูกชายหัวแก้วของพี่ตุ๊ ประธานชมรม พี่ตุ๊พยายามถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการปีนหน้าผาให้จนเกือบหมดสิ้น ผมคาดว่าต่อไปน้องนุ๊กคงเป็นนักปีนหน้าผาที่หาตัวจับยากคนนึงเลยทีเดียว สำหรับการปีนของมือใหม่ มีจุดหมายอยู่ที่ถ้ำเล็ก ระดับความสูงพอสมควรเลยทีเดียว ซึ่งผมจำไม่ได้ว่าประมาณกี่เมตร จำได้เพียงว่ามันสูงสำหรับผมมาก ผมปีนขึ้นทางที่มีชื่อว่ารูททิงเจอร์ ที่มาของชื่อนี้คุณเลาะห์ได้อธิบายให้ฟังว่า ทุกครั้งที่พามือใหม่มาปีนที่นี่ ผู้ปีนมือใหม่จะได้แผล กลับไปกันเกือบทุกคน เพราะหินที่แหลมคมสามารถเป็นอันตรายต่อผู้ปีนได้ตลอดเวลา ผมเองก็ได้แผลที่ข้อนิ้วมาบ้างเหมือนกัน การปีนในรอบแรกของผมไม่สามารถขึ้นไปถึงยังถ้ำเล็กได้ เป็นอันต้องลงมาตั้งหลักกันใหม่ก่อน เพราะมัวไปยืนเกาะติดกับซอกหิน ซึ่งตรงนั้นไม่ใช่จุดพัก จึงทำให้ผมต้องใช้กำลังอยู่ตลอดเวลาและหมดแรงเอาในเวลาต่อมา เมื่อลงมาทำใจแล้วมองหาเส้นทางเพื่อปีนขึ้นไปใหม่ และมีพี่ตุ๊ คอยบัญชาการอยู่ในป่ารอบนี้จึงสำเร็จได้ มันจึงเป็นประสบการณ์ที่จริงว่า การที่เราคิดจะทำอะไรหากมีการวางแผนที่ดี ความสำเร็จนั้นอยู่ไม่ไกลเกินความพยายาม.. เมื่อขึ้นมาถึงถ้ำเล็กแล้วสีหน้าของผู้ปีนมือใหม่แต่ละคน บ่งบอกถึงความภาคภูมิใจอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะผมซึ่งไม่คาดคิดมาก่อนว่าตัวเองจะขึ้นมาถึงได้ ภายในถ้ำเล็กมีลักษณะเป็นโพรง สามารถเข้าไปนั่งได้ประมาณ 6-7 คน บนพื้นทั่วไปมีขี้ค้างคาวอยู่กระจัดกระจาย อากาศเย็นลมแรง เหงื่อที่ไหลออกมาจึงทำให้รู้สึกหนาว ขณะนั่งพักอยู่ข้างบนเราปลดเชือกออกทั้งหมดเพื่อให้คุณเลาะห์ ได้จัดเตรียมอุปกรณ์ใหม่เพื่อให้พวกเราได้ฝึกการลงแบบโรยตัว เพื่อความไม่ประมาทพวกเราจึงผูกตัวเองไว้กับหินภายในถ้ำ การโรยตัวลง เ็นการฝึกให้ผู้ปีนได้ช่วยเหลือตัวเอง การลงด้วยวิธีนี้จะไม่มีคนคอยช่วยบีเลย์ คือไม่มีคนคอยถือปลายเชือกอีกปลายหนึ่งไว้ ผู้ปีนจะมีเพียงเชือกที่ผูกติดกับจุดท๊อป คือจุดบนสุด แล้วมาคล้องผ่านอุปกรณ์ที่รั้งกับเอวของผู้ปีน จากนั้นปล่อยปลายเชือกให้ไปทางด้านล่าง ผู้ปีนจะลงในลักษณะการเดินถอยหลัง เท้าทั้งสองข้างคอยยันกับหน้าผา ผมจำความรู้สึกตอนนี้ได้เลยว่าน่ากลัวกว่าตอนปีนขึ้นมาเสียอีก แต่ก็ค่อยๆ กระโดดถอยหลังลง ตามคำแนะนำของคุณเลาะห์ ซึ่งห้อยตัวเองอยู่ข้างบน มือขวาถูกใช้ให้ดึงเชือกจากด้านหลังเป็นจุดๆ ไป สายตาหันไปมองข้างหลังซ้ายบ้าง ขวาบ้าง เพื่อจุดที่เราจะใช้เท้ายันเป็นจุดต่อไป เมื่อถึงพื้น สมองผมได้รับรู้ถึงความภูมิใจ สะใจ และความมั่นใจ สิ่งที่เราไม่เคยคิดว่าจะทำได้ หากแต่มีการเรียนรู้ที่ถูกต้องอย่างตั้งใจ และไม่ประมาท เราก็สามารถทำมันได้สำเร็จ เส้นทางการเดินทาง - ที่พัก จากกรุงเทพฯ ใช้สายเอเซีย มุ่งหน้าสู่ จ.อุทัยธานี จากตัวจังหวัดใช้ทางหลวงหมายเลข 333 ต่อไปยัง อ.หนองฉาง และต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 3438 สู่ อ.ลานสัก เขาฆ้องชัย จะอยู่ซ้ายมือ ช่วงบริเวณก่อนถึงตัว อ.ลานสัก ประมาณ 3 กม. บริเวณเขาฆ้องชัย ไม่มีที่พักไว้คอยบริการ หากค้างคืน ต้องนำเต้นท์ไปเอง โดยสามารถกางได้บริเวณศาลากาญจนาภิเษก ซึ่งมีแท้งค์น้ำ และห้องน้ำ อยู่ 1 ห้อง หรือสามารถอาบน้ำได้ที่ฝายหัวเขาฆ้องชัย ซึ่งอยู่คนละฟากถนนกับเขาฆ้องชัย นักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อหาอาหารทานได้จากร้านค้าริมฝายหัวเขาฆ้องชัย ซึ่งมีไว้คอยบริการถึงยามค่ำคืนด้วย สิ่งที่ควรเตรียมสำหรับผู้ปีนหน้าผามือใหม่ -ร่ายกายที่พร้อมสำหรับการปีนป่าย ควรตัดเล็บให้เรียบร้อย -เสื้อผ้าที่สวมใส่ควรหาชุดที่ให้ความกระชับกับร่างกาย -รองเท้าควรใช้รองเท้าสำหรับการปีนหน้าผาโดยเฉพาะ (ทางชมรมอาจจัดไว้ให้) -สำหรับผู้ที่สวมแว่นสายตา ควรมีเชือกรัดขาแว่นกันการร่วงหล่น -ควรเชื่อฟัง และปฏิบัติตามผู้ฝึกสอนอย่างเคร่งครัด -ไม่ควรประมาทระหว่างการปีน

 

หากเพื่อนๆ สนใจสามารถติดต่อได้ที่ชมรม KRC Rock Climbing Club Email : webmaster@thaikrc.com หรือ โทร. 09 - 8949211 ( นที ) และสามารถเข้าชมกิจกรรมของชมรมได้ที่ www.thaikrc.com และ www.sabuy.com หัวข้อ เที่ยวผจญภัย

ภาพซ้าย และขวา กลุ่มนักปีนหน้าผามือใหม่ ฝึกซ้อมการปีนหน้าผาที่ไม่สูงนัก
ภาพซ้าย มื้อเที่ยงที่ร้านลุงปลิว ริมหัวฝายเขาฆ้องชัย ภาพขวา ปลานิลเผาเกลือ อร่อยสุดๆ สูตรลุงปลิว
ภาพซ้าย นี่เลยคนนี้เลย ลุงปลิว เจ้าของร้าน

ภาพขวา สายน้ำที่ไหลจากหัวฝายเขาฆ้องชัย โค้งวกไปวนมา สวยดีเหมือนกัน

ภาพซ้าย เรากางเต็นท์นอนกันในศาลากันเลย ไม่งั้นคงแย่ เพราะกลางคืนฝนตก

ภาพขวา ต้นสักอายุประมาณ 10 ปี อยู่บริเวณริมหัวฝาย สมกับชื่ออำเภอลานสักจริงๆ

ภาพซ้าย หน้าผาที่ใช้ทดสอบกำลังกาย และจิตใจ

ภาพขวา โฉมหน้ากลุ่มนักปีนหน้าผามือใหม่

ภาพซ้าย เจ้าหน้าที่ผู้ฝึกของ KRC ปีนนำขึ้นไปก่อนเพื่อปูทาง และดูแลความปลอดภัยด้านบน

ภาพขวา คุณหนุ่ย กำลังพยายามปีนขึ้นไป ขอชมเลยครับว่างานนี้เธอเยี่ยมจริงๆ

ภาพซ้าย คุณนที ปีนขึ้นไปทั้งๆ ที่แทบจะไม่มีที่ให้ยึดเกาะเลย แต่ก็ยังสมารถปีนขึ้นไปได้

ภาพขวา คุณวินัย ช่างภาพประจำชมรม KRC และคุณกัล นั่งพักผ่อน ที่ถ้ำเล็ก หลังจากปีนขึ้นมาได้สำเร็จ

ภาพซ้าย คุณตุ๊ ประธานชมรม KRC ตั้งหลักบัญชาการอยู่กลางป่า ที่ยืนตรงนั้นจะเห็นทั้งหมดจากข้างล่างถึงข้างบนเลยทีเดียว

ภาพขวา ลุงจิ๊บ งานนี้ทุ่มสุดๆ ลุยเข้าป่า กลางสายฝน เพื่อถ่ายภาพมาให้เราได้ชมกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook