ก่อนเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวหน้าฝน

ก่อนเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวหน้าฝน

ก่อนเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวหน้าฝน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เตรียมพร้อมก่อนเปิดฤดูกาล ท่องเที่ยวหน้าฝน ผจญภัยหัวใจสีเขียว สู่มาตรฐานมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวในช่วงฤดูฝนนี้ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ล่องแก่งลำน้ำนครนายก ล่องแก่งหินเพิง น้ำตกต่างๆ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สนง.ภาคกลาง เขต 8 ... ข้อมูล นุ บางบ่อ ... ภาพประกอบ ออนไลน์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2550

      ฤดูฝนเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด ดูเหมือนสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เริ่มดำเนินเติบโตตามเวลาที่เคลื่อนผ่านเช่นกัน รวมทั้งป่าไม้ที่ผลัดใบในยามฤดูร้อนก็ผลิใบสีเขียวอ่อน น้ำฝนที่ตกลงสู่ลำธารเพิ่มปริมาณจนเป็นน้ำตกไหลลงสู่ด้านล่าง เพิ่มมูลค่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและมีกิจกรรมให้นักเดินทางได้แวะเวียนมาเที่ยวชมอย่างไม่ขาดสาย

      การเดินทางท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนในช่วงวันหยุด เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่สร้างความสุขกายสุขใจให้กับครอบครัวและเพื่อนฝูงที่ร่วมเดินทางไปเยี่ยมเยือนตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ แต่หากเกิดเหตุอันไม่คาดคิดจากภัยธรรมชาติ หรือความประมาทจากอุบัติเหตุที่สามารถป้องกันได้ สิ่งนั้นจะเป็นฝันร้ายที่ผู้ประสบจะไม่มีวันลืมเลือนเลย การมีมาตรการป้องกัน และรักษาความปลอดภัยแหล่งท่องเที่ยว เป็นสิ่งจำเป็นและช่วยให้นักท่องเที่ยวเที่ยวได้อย่างมีความสุข

      นางสาวเบญจวรรณ สุเนตรวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท.ภาคกลางเขต 8 เปิดเผยว่า ช่วงฤดูฝนนี้ ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงาน ททท.ภาคกลางเขต 8 มีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมหลายแห่งที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ เมื่อใดฝนตกหนักปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติจนผืนป่าไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ทันท่วงที สายธารของน้ำจะไหลบ่าจนบางครั้งอาจก่อเกิดลำธารสายใหญ่ซึ่งอาจจะสร้างผลกระทบต่อสรรพสิ่งที่อยู่ระหว่างเส้นทางของปลายน้ำได้ และที่รุนแรงที่สุดนั้นคือ น้ำป่า หากไม่มีมาตรการในการป้องกันก็จะเกิดความเสียหายทั้งชีวิต และทรัพย์สิน

      เพื่อความปลอดภัยของประชาชนรวมทั้งนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยว อาทิ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กิจกรรมล่องแก่งลำน้ำนครนายก ล่องแก่งหินเพิง อุทยานวังตะไคร้ น้ำตกต่างๆ ในแต่ละที่จึงต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีภาระหน้าที่โดยตรงในพื้นที่มีเส้นทางการไหลของน้ำในช่วงฤดูฝน จึงมีการอบรม และเตรียมความพร้อมในการสร้างมาตรการการดูแล และระวังภัยกรณีฉุกเฉินตลอดช่วงเวลา

      นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าฝ่ายป้องกันปราบปราม อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวถึงมาตรการป้องกันน้ำป่าบริเวณน้ำตกต่างๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยจัดเจ้าหน้าที่ป่าไม้ประจำอยู่บริเวณจุดต้นน้ำ และบริเวณที่มีนักท่องเที่ยวนิยมไปใช้บริการ และพร้อมปฏิบัติหน้าที่ในกรณีฉุกเฉิน มีอุปกรณ์สัญญาณเตือนภัย และวิทยุสื่อสารสนามเพื่อแจ้งภัย หากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ปริมาณน้ำมาก และมีสีขุ่นข้น ต้องแจ้งเตือนห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำเด็ดขาด  เขตป่าของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นผืนป่าที่มีความกว้างครอบคลุมถึง 4 จังหวัด มีภูมิประเทศแตกต่างกัน เส้นทางเดินทางของน้ำจึงแตกต่างกันด้วย

      แก่งหินเพิง หรือต้นน้ำแม่น้ำใสใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตั้งอยู่ในอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีกิจกรรมล่องแก่งเป็นกิจกรรมหลักที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาท่องเที่ยวในช่วงฤดูฝนจำนวนมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยจากปริมาณน้ำที่ไหลจากยอดเขาแหลม เขาร่ม เขากำแพง ซึ่งมีสถาพป่าที่สมบูรณ์มาก ระยะทางจากป่าต้นน้ำถึงจุดสำหรับกิจกรรมล่องแก่งมีระยะทางยาวมากถึง 70 กิโลเมตร ส่งผลดีสำหรับการดูแล และรักษาความปลอดภัยเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน เช่น เกิดน้ำป่า เพราะเจ้าหน้าที่สามารถรับทราบปริมาณน้ำ และความรุนแรงของสายน้ำได้ล่วงหน้าอย่างน้อย 4 7 ชั่วโมง ด้วยระยะทางที่ยาวถึง 70 กิโลเร ส่งผลดีให้ปริมาณน้ำไม่หลากมารวดเร็ว จากต้นน้ำความรุนแรงจะเบาบางลงเรื่อย ๆ ถ้าน้ำเอ่อหนุนสูงขี้นทีละน้อยจะสามารถรับทราบได้จากการสังเกตปริมาณน้ำได้ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ 9 (แก่งหินเพิง) ซึ่งเป็นปลายน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำต่อไป

       นายดำริห์ รัตนชินกร ประธานชมรมผู้ประกอบการล่องแก่งหินเพิง ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับกิจกรรมล่องแก่งนั้นหากมีปริมาณน้ำสูงเกิน 4 เมตร 50 เซนติเมตร (ระดับน้ำเกินระดับ 5) จะไม่อนุญาตให้ล่องแก่งโดยเด็ดขาด รวมทั้งเข้มงวดเรื่องเรือ และอุปกรณ์ล่องแก่ง และที่สำคัญในทุกปีผู้ประกอบการจะมีการอบรมผู้บังคับเรือ (หัว-ท้ายเรือ) และหน่วยรักษาความปลอดภัยทางน้ำ

      ซึ่งในช่วงฤดูล่องแก่งทุกวันจะจัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ตามแก่งต่างๆ และจุดที่อาจเกิดอันตรายได้อย่างน้อยวันละ 16 คน รวมทั้งการสร้างเครือข่ายประสานงานระหว่างผู้ประกอบการเรือยาง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, สภอ.นาดี, ที่ว่าการอำเภอนาดี, ศูนย์ อปพร., องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างมาตรการดูแลนักท่องเที่ยวบริเวณแก่งหินเพิงอย่างเข้มงวดโดยมีเครือข่ายวิทยุเชื่อมโยงกันตลอดเวลา

      เส้นทางของน้ำไหลอีกเส้นหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จะไหลลงสู่แม่น้ำนครนายก ประกอบด้วยคลองสาริกา (น้ำตกสาริกา) คลองลำพงแห้ง  คลองมะเดื่อ คลองวังตะไคร้ (อุทยานวังตะไคร้) คลองนางรอง (น้ำตกนางรอง) คลองท่าด่าน คลองสีสุก และคลองเล็กคลองน้อยที่รับน้ำแล้วไหลลงสู่แม่น้ำนครนายก เมื่อใดฝนตกหนักสายน้ำทุกสายจะไหลมารวมกันที่ลำน้ำนครนายก และไปจบที่แม่น้ำบางปะกง ก่อนปี 2548 จังหวัดนครนายกจะประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่เสมอ แต่เมื่อโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขื่อนขุนด่านปราการชล แล้วเสร็จ และกักเก็บน้ำที่ไหลจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไว้ส่วนหนึ่งก็บรรเทา และลดปริมาณน้ำไว้ได้จำนวนมาก แต่อีกหนึ่งปัญหานั้นคือ น้ำป่า ซึ่งอาจจะเกิดได้ในพื้นที่ที่เป็นต้นน้ำ เช่น น้ำตกนางรอง น้ำตกสาริกา อุทยานวังตะไคร้ กิจกรรมล่องแก่งลำน้ำนครนายก ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก และมีประชาชนเข้าไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากในช่วงวันพักผ่อน จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะสร้างมาตรการในการดู และเตือนภัยเรื่องน้ำหลากในช่วงฤดูฝน

       นายสำราญ อัตกลับ รักษาการผู้จัดการอุทยานวังตะไคร้ กล่าวว่า อุทยานวังตะไคร้ เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีพื้นที่ติดกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเป็นพื้นที่ที่รับน้ำจากคลองวังตะไคร้โดยตรง จึงมีมาตรการในการป้องกันเหตุน้ำป่าไหลหลากอย่างเคร่งครัด โดยจัดเจ้าหน้าที่ 2 นายผลัดเปลี่ยนกันไปเฝ้าตลอดทั้งปีบริเวณต้นน้ำ อยู่ห่างจากเขตพื้นที่อุทยานวังตะไคร้ประมาณ 1 กิโลเมตร

     หากระดับน้ำขึ้นมากกว่าระดับ 30-40 ลบ.ซม. เจ้าหน้าที่จะรายงานทางวิทยุสื่อสารมาที่ศูนย์ระวังภัยด้านล่างทันที และหากเกิดกรณีน้ำป่าไหลหลากเมื่อได้รับรายงานจากต้นน้ำอุทยานวังตะไคร้จะเปิดสัญญาณเตือนภัยที่ติดตั้งกระจายอยู่ทั่วไปอย่างน้อย 13 จุด เพื่อเร่งรัดให้นักท่องเที่ยวขึ้นจากลำธารทันที

     ในช่วงฤดูฝนจัดเจ้าหน้าที่ประมาณ 50 คน กระจายกันดูแลนักท่องเที่ยวในจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุพร้อมให้การช่วยเหลือทันท่วงทีโดยจะมีป้ายเตือน และในแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้แก่ น้ำตกนางรอง น้ำตกสาริกา มีเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นผู้ดูแลและตรวจตราระดับน้ำอยู่ตลอดเวลา

 

     นายบดินทร์ จันทศรีคำ เลขาธิการชมรมผู้ประกอบการล่องแก่งและผจญภัยนครนายก ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ได้มีการติดตั้งเครื่องมือสื่อสารเพื่อใช้ในการประสานงานแจ้งข่าวให้ทราบทั่วทุกที่พร้อมป้องกันเหตุดังกล่าวให้ทันกาล กิจกรรมล่องแก่งลำน้ำนครนายกเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากสายน้ำที่ไหลจากอุทยานฯ เขาใหญ่ โดยมีต้นน้ำสายหลักมาจากเขื่อนขุนด่านปราการชล ผู้ประกอบการล่องแก่ง และผจญภัยนครนายกมีเจ้าหน้าที่ดูแล และเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยตลอดเวลา และตลอดเส้นทางการล่องแก่ง พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจากอุทยาน ฯ เขาใหญ่แจ้งข่าวเตือนภัยกรณีเกิดมีฝนตกหนักด้านบนของอุทยาน ฯ เพื่อให้รับทราบถึงต้นน้ำที่น้ำตกเหวนรกว่ามากน้อยเพียงใด และหากมีฝนตกหนักหรือฝนได้ตกติดต่อกันหลายวันจนเกิดการไหลหลากของน้ำป่า จะงดการจัดกิจกรรมล่องแก่งโดยเด็ดขาด

     ทุกหน่วยงานทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้เตรียมความพร้อมมีมาตราการในการอำนวยความสะดวกและสร้างมาตราฐานในการดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวพร้อมต้อนรับช่วงเทศกาลท่องเที่ยวหน้าฝนนี้

 

    ท่องเที่ยวสุขใจปลอดภัยทั้งขาไปและขากลับ เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนพึงปรารถนา อุบัติเหตุเกิดได้ทุกเมื่อหากเมื่อใดเราประมาท สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนต้องคำนึงเสมอนั้นคือความปลอดภัย เพราะทุกถิ่นที่เราไปเยือนเป็นสถานที่แปลกตาเสมอ ดังนั้นก่อนเดินทางท่องเที่ยวจะต้องศึกษาหาข้อมูลเสมอ เมื่อไปแล้วต้องสังเกตสิ่งรอบตัว เช่น ภูมิประเทศเป็นอย่างไร สายน้ำเปลี่ยนสีจากใสเป็นขุ่นแดงกระทันหัน ปฏิบัติตามป้ายเตือน- สัญญาณเตือนภัยต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะเมื่อใดมีมาตรการป้องกันอุบัติภัยแล้ว นักท่องเที่ยวขาดความระมัดระวัง และไม่ปฏิบัติตามคำเตือน เหตุร้ายก็จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน

     สำนักงาน ททท.ภาคกลางเขต 8 จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทุกท่านเดินทางมาชมความงามของธรรมชาติที่มีอยู่มากมายที่เราสามารถมาพักผ่อนในช่วงวันหยุดของครอบครัว พร้อมเรียนรู้การสร้างมาตรการป้องกันอุบัติภัยจากหน่วยงานหลักของแหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ และท่องเที่ยวปลอดภัยร่วมใจไม่ประมาท

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สำนักงาน ททท.ภาคกลางเขต 8 โทร. 0-3731-2282, 0-3731-2284, 0-3731-5664, 1672 www.tat8.com

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook