ภูสอยดาว (ตอนแรก)

ภูสอยดาว (ตอนแรก)

ภูสอยดาว (ตอนแรก)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

หยาดฝน ลานสน บนภูสูง (ตอนแรก) 18 กรกฏาคม 2546

นุ บางบ่อ , นายบี ... เรื่อง นุ บางบ่อ , นายบี ... ภาพ

คำเตือน หากต้องการอ่านเนื้อหาเรื่องนี้ ควร Print ออกมาอ่านจะดีกว่าการนั่งเพ่ง Monitor เพราะเป็นเรื่องยาว อาจะทำให้สายตาเมื่อล้าก่อนอ่านจบได้

สายฝนกระหน่ำโปรยปรายลงมาอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดง่ายๆ เสื้อกันฝนของทุกคนถูกนำมาใช้ เส้นทางเดินตอนนี้ได้กลายเป็นธารน้ำเล็กๆ ไหลให้พวกเราได้เดินทวนกระแสไป

ย่างกรายเข้าฤดูฝนของทุกปี ดูเหมือนนักท่องเที่ยวค่อนข้างจะเก็บตัวไม่อยากจะออกไปไหนมาไหนกันสักเท่าไร (รวมทั้งผมเองด้วย) ถึงแม้จะมีใจรักธรรมชาติอยู่มากก็เหอะ การเดินทางที่ลำบากลำบนมากๆ บ่อยๆ นั้น บางครั้งก็รู้สึกท้อแท้ได้เหมือนกัน....

การเที่ยวแบกเป้แบบลุยๆ ค่ำไหนนอนนั่น หรือที่ฝรั่งเขาเรียก Back Pack นั้น เริ่มเป็นที่นิยมกันมากขึ้นในหมู่เยาวชนไปถึงคนทำงาน ซึ่งส่อให้เห็นถึงว่า เดี๋ยวนี้คนไทยหลายคนไม่ยึดติดกับความสะดวกสบายกันแล้ว ซ้ำยังชอบที่จะเดินทางไปแสวงหาความลำบาก ใช้ชีวิตแบบเป็นอันเดียวกับธรรมชาติ ผมสนับสนุนกับการกระทำเช่นนี้

ลองคิดดูนะครับว่า .... ขณะนี้คุณยังมีเรี่ยวแรงพอที่จะเดินไหว แบกเป้ได้ มีเพื่อนสนิทที่ไปได้ถึงไหนถึงกัน ธรรมชาติในเมืองไทยยังคงอุดมสมบูรณ์รอคอยคุณอยู่ และถ้าต่อไปอีกสักสิบปีข้างหน้า เรี่ยวแรง เพื่อนสนิท ธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้จะยังคงอยู่เหมือนเดิมหรือเปล่า ก็ยากที่จะเดา ในทริปนี้ผมถูกติงจากคนรอบข้างหลายคนว่า คิดยังไงเดินทางในหน้าฝน ? ทำไมขึ้นภู เข้าป่าในหน้าฝน ? ไปคนเดียวเหอะ...ไม่ไปด้วยหรอกลำบากจะตายชัก.... !!! และอีกๆ หลายๆ คำถามโดยมี ฝน เข้ามาเกี่ยวข้อง ....

การที่ผมต้องดั้นด้นไปในช่วงนี้ก็เพราะ อุทยานฯ ภูสอยดาว พึ่งจะเปิดให้ขึ้นไปเที่ยวชมได้เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา หลังจากปิดให้ป่าได้พักฟื้นตัว เป็นเวลากว่า 5 เดือน สภาพของธรรมชาติในช่วงแรกๆ ของการเปิดอย่างนี้จะยังคงครบถ้วนสมบูรณ์ นั่นคือสิ่งที่ผมอยากเห็น และเพื่อจะได้รีบกลับมาเขียนมาบอกเล่า เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเดินทางแก่เพื่อนๆ ที่ต้องการขึ้นไปเที่ยวชม ฉะนั้นถ้าหากผมไม่ไปตอนนี้ หรือไปช้ากว่านี้ก็หามีประโยชน์ไม่

หาเพื่อนเดินทาง ทริปนี้ลุงจิ๊บ และบอยสบาย ต่างติดธุระไม่สามารถเดินทางไปได้ ผมจำเป็นต้องหรอก ... จุ๊ๆๆ ต้องชวนเพื่อนสักคนสองคนให้ไปกับผม ก่อนวันเดินทางผมพยายามติดต่อหาเพื่อนที่โชคร้ายหลงคารมเดินทางไปกับผม แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีใครตกเป็นเหยื่อ เดินทางไปให้เสียเหงื่อกับผมเลยสักคน ... เศร้า ...

คำโบราณว่า สี่เท้ายังตกบ่อ รูปหล่อยังอกหัก และแล้วก่อนวันเดินทาง 3 วัน ผมก็ได้เพื่อนเดินทาง 2 คน ... มันเกี่ยวกับ สำนวนข้างหน้ามั๊ยเนี่ย ?!? คนแรกชื่อ บี เป็นเพื่อนที่ Mweb ด้วยกันนี่แหละ ว่าแล้วก็ขายเพื่อนสักหน่อย...อิอิ... โดยรวมๆ แล้ว นายบี ก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบเดินทางท่องเที่ยว เสาะแสวงหาธรรมชาติ ชอบชีวิตกลางแจ้ง กลางพงไพร การได้เดินทางร่วมกันในครั้งนี้ถือเป็นบุญของผมอย่างหนึ่ง เพราะนายบีเป็นคนที่ทำอาหารได้ยอดเยี่ยมคนหนึ่ง จะเป็นยำ ต้มยำ ผัดๆ ทอดๆ นายบีถนัดนัก ก่อนเข้าสู่ Mweb นายบีเคยได้รับการติดต่อให้เป็นพ่อครัวอยู่ประจำร้านดังๆ หลายแห่ง แต่นายบีก็ปฏิเสธมาตลอด

จะว่าไปแล้วผมก็ยังไม่เคยมีวาสนาได้ชิมฝีมือนายบีสักที มาคราวนี้แหละภูสอยดาวผมคงได้มีโอกาส นอกจากเรื่องอาหารแล้ว นายบียังเป็นนักเลี้ยงกล้วยไม้ตัวยงอีกด้วย การขึ้นภูครั้งนี้นายบีเลยไปด้วยความเต็มใจ เพราะหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ถ่ายภาพกล้วยไม้และพรรณไม้อื่นๆ ที่บานสะพรั่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอย่างแท้จริง ... เป็นอันว่านายบี หลงคารมผมอย่างเต็มใจ
ส่วนอีกคนชื่อนายก๊อต เป็นตำรวจตระเวณชายแดน อยู่ที่ อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก โดยประจำฐานปฏิบัติการอยู่บริเวณใกล้ๆ กับภูสอยดาว นายก๊อตเป็นเพื่อนของเพื่อนผมอีกต่อหนึ่ง ที่ไหว้วานฝากฝังกันมาให้ช่วยดูแลผมและนายบี ในทริปนี้เลยได้อำนวยความสะดวกแก่ผมหลายๆ อย่าง นอกจากนายก๊อต จะมีชื่อเล่นที่เหมือนกับนักร้องดังแล้ว ยังชอบร้องเพลงอีกด้วย ถึงแม้แต่ละเพลงที่บรรจงบรรเลงออกมาจะฟังดูแปล่งๆ สักหน่อย แต่ก็ทำให้บรรยากาศที่เหงียบเหงาของการเดินขึ้นภูกับกลายคลื้นเครงขึ้นมาได้เหมือนกัน นี่แหละครับการเดินทาง ไม่ว่าจะลำบากลำบนขนาดไหน แต่ถ้าเราทำตัวให้สนุกกับมัน ความลำบากที่อยู่ข้างหน้าก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

สรุปผมมีนายบีเป็นเพื่อนร่วมเดินทางจากกรุงเทพฯ และนายก๊อต รอร่วมเดินทางอยู่ที่อุทยานฯ ภูสอยดาว ... แฮ่ะๆๆ .. ค่อยอุ่นใจขึ้นมาหน่อย นึกว่าต้องผจญภัยบนภูคนเดียวซะแล้ว เดี๋ยวเดินเล่นบนภูเพลินเตลิดไปในเขตลาวจะยุ่งกันใหญ่ อาจได้ไปนอนในคุกขี้ไก่โดยไม่ตั้งใจก็เป็นได้

บขส. โฮเต็ล หลังจากผสานทุกอย่างกับทุกฝ่ายเรียบร้อยลง (เหมือนยิ่งใหญ่เลย ความจริงก็มีแค่โทรไปที่ อุทยานฯ ภูสอยดาว กับนายก๊อตเท่านั้นแหละ) ผมออกเดินทางในวันที่ 3 ก.ค. 46 ได้รถเที่ยว 4 ทุ่มจากหมอชิต ตามเวลาแล้วจะถึง พิษณุโลก ประมาณตี 3 แต่พอเอาเข้าจริงๆ ไม่รู้ว่าวันนั้นรถบนถนนหายไปไหนกันหมด คนขับรถทัวร์คันที่ผมนั่งก็ทำเวลาได้ดีมาก มาถึงพิษณุโลกไวกว่ากำหนด คือ ประมาณตี 2 ก็ถึงแล้ว

อ้อ...ลืมบอก ผมใช้บริการของบริษัทพิษณุโลกยานยนต์ครับ มาถึงพิษณุโลกรถจะเข้าไปจอดที่บริษัทในตัวจังหวัดก่อน แต่ถ้าหากใครต้องการเดินทางต่อไปยังต่างอำเภอ หรือขึ้นเหนือ ไปอีสาน ก็นั่งรถคันเดียวกันนี้แหละต่ออีกหน่อยไปลงที่ชาวพิษณุโลกเขาเรียกกันว่า ศูนย์รถ บขส. รถทัวร์จะหมดระยะที่นั่นครับ สำหรับผมและนายบี ต้องไปลงที่ศูนย์รถ บขส.

ตี 2 หรือ 2.00 น. ของวันศุกร์ที่ 4 ก.ค. 46 ชะตาชีวิตของคนที่ชอบชีวิตกลางแจ้งสองคน ได้มายืนเก้ๆ กังๆ แบกเป้พะรุงพะรังอยู่ที่ศูนย์รถ บขส. พิษณุโลก คนขับมอเตอร์ไซต์รับจ้างใส่เสื้อกั๊กสีแดงหลายคนผลัดเปลี่ยนเข้ามาคุยกับผม โดยมีคำถามเดียวกันว่า ไปไหนครับ....ไปส่งไหมครับ ชาติตระการ ผมตอบ โดยในใจผมรู้คำตอบอยู่แล้วว่า ไม่มีใครไปส่งผมหรอก เพราะระยะทางเกือบ 200 กม. จะให้นั่งมอเตอร์ไซต์รับจ้างแบกเป้ไปก็ดูจะเป็นการหยามรถบัสรถสองแถวอยู่ และแล้วพวกมอเตอร์ไซต์รับจ้างก็จากผมไปเพื่อไปหาลูกค้ารายอื่น ที่มีเป้าหมายระยะทางใกล้กว่า

ผมต้องรอรถไป อ.ชาติตระการ เที่ยวแรกตอนตี 5 สามชั่วโมงที่เหลือผมต้องนั่งตบยุงอยู่ที่ศูนย์รถ บขส. ไม่นานนักผมกับบี ผลัดกันหลับๆ ตื่นๆ เวลานี้กระเป๋ากล้องต้องพลางอย่างดี ต้องตบตาพวกมิจฉาชีพ ผมขอแนะนำอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการแพ็คกระเป๋าหรือเป้ เพื่อนๆ ควรทำให้เหลือจำนวนกระเป๋าน้อยที่สุดจะดีกว่า เพราะเป็นการป้องกันหลายอย่าง เช่นป้องกันการลืม ไม่พะลุงพะลัง ไม่เป็นที่สะดุดตา ลองดูนะครับทริปหน้าลองแพ็คกันดู

ในขณะที่กำลังหลับๆ ตื่นๆ อยู่นั้นผมรู้สึกเหมือนมีมือมาสะกิดจากด้านหลัง ก็ตกใจอยู่เหมือนกัน เพราะผมเองไม่รู้จักใครที่พิษณุโลกมาก่อน ทันทีที่หันไป ใบหน้าของชายที่ขับรถมอเตอร์ไซต์รับจ้างวัย 30 กว่าๆ ก็ยิงคำถามแผ่วเบามาที่ผมอีกครั้งแต่ต่างจากคำถามเดิม เที่ยว....สาวๆ มั๊ยน้อง....แต่ละคน....ฮืม..อย่างนี้เล้ย... พี่แกพูดพร้อมยกหัวโป้งมือซ้ายเป็นการยืนยัน

ฮ่าๆๆ...ม่ายละครับ...ผมไม่นิยมครับพี่...ผมชอบเที่ยวป่า..(ไม่ใช่ป่าเดียวกัน)...มากกว่าครับ ผมตอบพลางหัวเราะเป็นเรื่องสนุกสนานไป และแล้วที่ศูนย์รถ บขส. นี้ผมก็หลับไม่ลงจนถึงเวลาตี 5 รถ พิษณุโลก นครไทย ชาติตระการ เที่ยวแรก เข้ามาเทียบชานชลา ผมจึงได้ขึ้นไปหลับอยู่ตรงเบาะหลังสุด และนายบี ก็เช่นกัน

เตรียมเสบียง อุปกรณ์ และสิ่งที่ต้องนำลงมา ที่ อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ในเช้าตรู่เราใช้เวลากันไม่มากนัก การเดินหาซื้อเสบียงในขณะที่กำลังง่วงนอนอยู่เช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่พึงกระทำ เพราะความง่วงอาจทำให้ลืมโน่นลืมนี่ไปได้หลายอย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และหมูทอดดูจะเป็นอาหารหลักในทริปนี้ ข้าวสาร 2 กก. สำหรับ 3 คน 5 มื้อ กำลังพอดีไม่เหลือไม่ขาด อุปกรณ์หม้อสนาม กระทะ จาน ช้อน ต้องเตรียมขึ้นไปเอง ส่วนเตา และถ่านนั้นข้างบนภู เจ้าหน้าที่เขามีให้เช่า ที่อำเภอนี้จะเป็นจุดสุดท้ายที่นักท่องเที่ยวควรเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับเสบียง อย่าไปหวังน้ำบ่อหน้าว่าแถวน้ำตกจะมีข้าวเหนียว หรือไก่ย่าง ขาย เพราะสิ่งที่หวังอาจผิดหวังได้เสมอ

น้ำดื่ม ควรเตรียมไปให้พร้อม บางคนอาจบอกว่า กินน้ำตกก็ได้ อย่าประมาทครับขอบอก สำหรับคนที่ไม่เคยกินน้ำในธรรมชาติมาก่อน ประเภทจ้วงตักขึ้นมาแล้วก็ดื่มกินเลย เพราะเห็นว่า ใสแจ๋ว ไม่มีสิ่งเจือปน ท้องเสีย ท้องร่วง กันมานักต่อนักแล้ว ลองคิดดูนะครับถ้าเกิดปัญหาเรื่องท้องเสียแล้ว ยังต้องเดินลงมาจากภูอีก สภาพของคุณจะป็นยังไง เตรียมไปดีกว่าครับ หรือหากไม่พอจริงๆ ก็ควรต้มน้ำที่ได้จากธรรมชาติก่อนดื่มจะปลอดภัยกว่า
ปัญหาเกี่ยวกับขยะที่ย่อยสลายได้อยาก ทางอุทยานฯ ภูสอยดาว เขาเข้มงวดครับ ก่อนขึ้นภูจะมีการตรวจและบันทึกว่า เราได้นำขวดแก้ว หรือ พลาสติก และกระป๋อง ขึ้นไปเป็นจำนวนเท่าไร และเราต้องจ่ายเงินมัดจำล่วงหน้าไว้ตามจำนวนขวด ก็ประมาณขวดละ 5 6 บาท ถ้าขากลับลงมาเรานำขวดที่ได้นำขึ้นไปลงมาด้วยตามจำนวนที่บันทึกไว้ ก็สามารถรับเงินมัดจำคืนได้ไม่มีปัญหาอะไร

ผมเห็นด้วยกับวิธีนี้มาก อยากให้ทุกอุทยานฯ ได้นำวิธีนี้ไปใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันคงจะดีไม่น้อย ขวดพลาสติกเปล่าๆ ไม่หนักหรอกครับแบ่งๆ กันถือลงมา ข้างบนภูก็ไม่ต้องมีการทำลายให้เกิดมลภาวะ โลกนี้มนุษย์เป็นผู้สร้างและทำลาย และสามารถเป็นผู้ทนุถนอมได้เช่นกัน

ลูกหาบ ลูกหาบถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการเดินทางขึ้นภู การที่จะแบกสัมภาระและเสบียงขึ้นไปเองนั้นถือเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสเอาการ เผลอๆ อาจทำให้ความฝันการเดินทางที่หวังจะไปให้ถึงปลายทางยอดภูจะล้มครืนลงกลางทางเสียก่อน เสื้อผ้าเครื่องนอน อาหาร น้ำดื่ม อุปกรณ์ต่างๆ เมื่อแบกอยู่พื้นราบนั้นยังไม่ก่อปัญหาสักเท่าไร แต่เมื่อต้องแบก และเดินขึ้นที่สูงชัน ประกอบกับพื้นที่เปียกลื่น ย่อมก่อปัญหาได้มากทีเดียว

จากการที่ผมได้ติดต่อกับทางอุทยานฯ ภูสอยดาวล่วงหน้าไปตั้งแต่ก่อนเดินทาง ทางอุทยานฯ จึงได้ติดต่อจัดหาลูกหาบไว้ให้ ปัจจุบันนี้อัตราการคิดค่าบริการแบกสัมภาระอยู่ที่ กก. ละ 15 บาท ผมคิดว่าเป็นราคาที่ไม่แพงเลย นอกจากจะไม่ต้องแบกสัมภาระเองแล้ว ยังเป็นการช่วยกระจายรายได้ให้แก่ชาวบ้านอีกด้วย เงินแต่ละบาทของเราที่ได้จ้างเขานั้น ถือเป็นเงินที่พวกเขาต้องใช้แรงกายแรงใจบากบั่นอดทนอย่างที่สุดถึงจะได้มา เบื้องหลังหยาดเหงื่อทุกหยด เขาจะต้องนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายในครอบครัว เลี้ยงลูกเมียพ่อแม่พี่น้องที่รอคอยเขาอยู่
วันนั้นผมประทับใจกับลูกหาบคนหนึ่ง อายุก็ประมาณ 20 ต้นๆ เป็นหนุ่มฉกรรจ์ผมเกรียน สอบถามก็ได้ความว่าเขาเป็นทหารเกณฑ์ ในวันหยุดพักเขาก็ได้กลับมาบ้าน แต่แทนที่จะนั่งๆ นอนๆ พักผ่อน เขายังต้องมาแบกสัมภาระพวกผ้าห่ม ถ่าน ประมาณ 40 กก. ของทางอุทยานฯ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่กำลังจะมาเยือน
คนถัดมาก็เป็นลุงแก่ๆ วัย 50 กว่า ซึ่งสมควรที่จะอยู่บ้านพักผ่อนได้แล้ว แต่ต้องมาแบกสัมภาระเหมือนกัน เงินทุกบาทของเรามีค่าสำหรับเขา และครอบครัวมากจริงๆ ผมอดคิดไม่ได้ว่า เรานี่มีชีวิตที่สุขสบายกว่าเขานักหนาแล้ว ที่ไม่ต้องทำงานหนักอย่างนี้ อย่างน้อยหลังจากกลับจากทริปนี้แล้ว ผมคงมีวิธีการใช้เงินที่เปลี่ยนไป

ตามระเบียบของอุทยานฯ แล้ว เราจะต้องจ่ายเงินค่าลูกหาบตั้งแต่ก่อนการขึ้นภู เมื่อไปถึงปลายทางข้างบนแล้ว เราต้องติดต่อกับลูกหาบเอง ก็คนเดียวกับที่แบกให้เรามานั่นแหละครับ ว่าจะให้มาแบกในขาลงด้วยหรือเปล่า ถ้าให้แบกลงก็ติดต่อนัดวันเวลากันได้เลย เมื่อขาลงลูกหาบแบกมาถึงข้างล่างแล้ว ก็ชั่งน้ำหนักสัมภาระ และก็จ่ายเงินกันที่ด้านล่างเป็นอันเสร็จเรียบร้อย

สำหรับอุปกรณ์ถ่ายภาพ หรืออะไรที่คิดว่าสำคัญ นักท่องเที่ยวควรนำติดตัวไปเองจะดีกว่า เพราะหากเกิดการเสียหายขึ้นมาจะได้ไม่มีปัญหา เรียกได้ว่าถ้าพังก็ขอให้พังกับมือเราเองจะดีกว่า หรือหายก็ขอให้เราเป็นคนทำหายเองดีกว่า ผม และ นายบี จึงมีกล้องพร้อมอุปกรณ์ เสื้อกันฝน อาหารระหว่างทาง ติดตัวใส่ลงในเป้ใบเล็กติดตัวเดินขึ้นไป

ฤกษ์งามยามดี วันนี้ขึ้นภูเป็นกลุ่มแรกของปี 4 ก.ค. 46 11.29 น.

จากที่หลายคนรอบข้างติงกันมาว่า ช่วงนี้ฤดูฝนการเดินขึ้นภูเป็นเรื่องลำบาก... วันนี้ผมรู้สึกว่าธรรมชาติคงจะเข้าข้าง หรือเห็นใจผมแล้วหละ ท้องฟ้าแจ่มใส ในที่โล่งมีแดดเปรี้ยง ลมสงบ เสียงน้ำตกภูสอยดาวดังกระเซ็นซ่า เวลานี้แหละหนา นุ บางบ่อ นายบี นายก๊อต จะเดินขึ้นภูสอยดาวเฉียดเมืองลาวแดนสวรรค์

เนินส่งญาติ เนินปราบเซียน เนินเสือโคร่ง เนินมรณะ และลานสน ผมจำได้ขึ้นใจเพราะก่อนเดินทางได้หาข้อมูลมาล่วงหน้าแล้ว เราเริ่มต้นเดินจากที่ทำการอุทยานฯ ภูสอยดาว (หน่วยย่อย บริเวณน้ำตกภูสอยดาว) ซึ่งอยู่ติดทางหลวงสาย 1268 ถนนสายยุทธศาสตร์ไทยลาว ครึ่งช่วงโมงก่อนลูกหาบได้ล่วงหน้าไปแล้ว การเดินขึ้นภูในคราวนี้เท่ากับเป็นการเปิดทางที่รกร้างมาหลายเดือน

ราวบันไดบางช่วงหักเกะกะ ยิ่งเดินลึกเข้าไปยิ่งสัมผัสได้ถึงความชุ่มชื้นของป่า ช่วงแรกเป็นการเดินแบบลัดเลาะไปตามริมธารน้ำตก จากนั้นทางเดินจะสูงชันขึ้น เพื่อก้าวสู่เนินส่งญาติ ผมนึกชมผู้ที่ตั้งชื่อนี้อยู่ในใจ ตั้งได้ดีเหมือนกับผู้ที่ตั้งชื่อให้ซำแฮก ปราการด่านแรกของภูกระดึง
กว่าพวกเราจะยันกายขึ้นมาถึงเนินส่งญาติกันได้ ต้องพักระหว่างบันไดดินกันสองสามครั้ง เป็นเนินที่สูงและชันมาก เพื่อนผมคนหนึ่งที่ไม่ได้มาด้วยกันเคยเล่าว่า มีสามีภรรยาคู่หนึ่งมาเที่ยวที่นี่กับเพื่อนๆ หลายคน ฝ่ายสามีเหนื่อย และอ่อนแรง ในตอนนั้นไม่ว่าภรรยาจะพูดอะไรดูเป็นผิดหูไปเสียหมด เมื่อมาถึงเนินส่งญาติสามีทนไม่ไหว ถอดใจกลับบ้านเสียก่อน ปล่อยให้ภรรยาเดินต่อและขึ้นไปเที่ยวกับเพื่อนๆ แทน ผมนึกขำในใจ หากเนินนี้ยังไม่มีชื่อนะ ผมกะว่าจะตั้งให้เสียหน่อยเป็น เนินส่งภรรยา ฟังดูน่าสนุกดี

ไม่ว่าจะเป็นเนินส่งใครก็เหอะ ตอนนี้ผมเหนื่อยเหลือเกิน ปากเริ่มมาช่วยจมูกในการหายใจที่เร็วขึ้น ครั้นจะพักนานๆ ก็ดูจะไม่เหมาะ ต้องฝืนก้าวเดินต่อไป แต่พอเดินต่อสักพัก ก็เหมือนเครื่องเริ่มร้อนเราทั้งสามคนเป็นเหมือนกันนะ การเดินในช่วงแรกอาจจะเหนื่อยก็จริง แต่เมื่อผ่านมาได้ก็จะรู้สึกดีขึ้น ต่อไปก็เป็นเนินปราบเซียน เราต้องเดินแบบคอยกัน ผลัดกันแซงบ้างเป็นบางโอกาส เพื่อให้คนที่อยู่หลังมีกำลังใจเดินตาม ไม่ควรทิ้งห่างจนเกินไป เพราะการเข้าป่าที่ทางเดินรกร้างมานาน อาจเกิดการพลัดหลงได้ ยิ่งหน้าฝนอย่างนี้ด้วยแล้ว สายฝนอาจชะรอยทางเดินจนเรามองไม่ออกก็เป็นได้

ป้ายบอกทางก็มีจำนวนน้อย จะมีติดอยู่บริเวณที่เป็นจุดพักในบริเวณเนินนั้นๆ จะว่าไปแล้วก็ดีเหมือนกัน คือ ไม่ต้องมาคอยพะวงว่าเดินมาได้เท่าไรแล้ว เดี๋ยวถึงเนินถัดไปก็มีป้ายบอกเอง ตอนนี้หน้าที่ของทุกคนคือก้าวขาแล้วก็เดินๆ เพียงอย่างเดียว จากเนินปราบเซียนต่อไปอีก 2 กม. เป็นทางเดินสูงชันอีกครั้ง ก้าวสู่เนินเสือโคร่ง พวกเราลำบากกันตั้งแต่เนินนี้แหละ

ฝนกระหน่ำ ท้องฟ้าที่สดใส กลับกลายมืดครึ้มอย่างฉับพลัน อากาศเริ่มเย็นสายลมโบกสะบัดพัดยอดไม้ เป็นสัญญาณที่มาก่อนสายฝน เกือบครึ่งทางแล้วที่ได้เดินมา หากฝนเทกระหน่ำลงตอนนี้ความยากลำบากจะเพิ่มเป็นทวีคูณ เราต้องเดินต่อไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ นี่แหละหนาที่เขาว่าอย่าไว้ใจป่า

เพียงไม่ถึง 10 นาที จากสัญญาณเตือน สายฝนโปรยปรายลงอย่างรวดเร็ว พวกเราต้องเปิดเป้หยิบเสื้อกันฝนมาสวมใส่ นายบีใส่สีเหลือง ของผมสีส้ม ส่วนนายก๊อตไม่ได้เตรียมมา ต้องทนเปียก แต่ก็ยังบอกกับผมว่า แค่นี้เป็นเรื่องเล็ก... ผมเข้าใจ เพราะยังไง ตชด. ก็คงมีน้ำอดน้ำทนมากกว่านักท่องเที่ยวอย่างผมเป็นแน่ แต่ที่อดห่วงไม่ได้ก็ อาการคัดจมูกของนายก๊อต ที่เป็นมาก่อนหน้านี้ เกรงว่าจะหนักไปใหญ่ แถมนายก๊อต ยังแบกเป้สนามขึ้นมาเองอีกด้วย....

สายฝนกระหน่ำโปรยปรายลงมาอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดง่ายๆ เส้นทางเดินตอนนี้ได้กลายเป็นธารน้ำเล็กๆ ไหลให้พวกเราได้เดินทวนกระแสไป มีบางจุดที่พวกเราต้องลงไปสนิทสนมกับพื้นดินโดยไม่ตั้งใจ กล้องถ่ายภาพถูกเก็บลงกระเป๋าอย่างมิดชิด หลายจุดที่ทิวทัศน์งดงามเราต้องเก็บไว้ถ่ายในตอนขากลับ ในเวลานี้เราคิดกันเพียงพาร่างกายให้ขึ้นสู่ยอดภูให้ได้อย่างปลอดภัย

เนินมรณะ - น้ำตกยอดภู ช่วงจากเนินมรณะสู่ลานสน ผมชอบช่วงนี้เป็นพิเศษ เพราะสามารถมองเห็นทิวเขาได้เกือบรอบตัว ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีสายน้ำตกอยู่กลางเขา เห็นเป็นสายน้ำที่ตกเป็นสายยาว แต่ยังไม่มีใครบุกเบิกเดินทางไปได้ถึง หลังจากที่ได้คุยกับเจ้าหน้าที่บางคนก็บอกว่า ชื่อ น้ำตกยอดภู จะสามารถมองเห็นสายน้ำตกได้เฉพาะฤดูฝนเท่านั้น นับเป็นอีกหนึ่งความงดงามที่ธรรมชาติได้บรรจงสร้างไว้ให้พวกเราได้เห็น และดูเหมือนไม่ต้องการให้พวกเราเข้าใกล้
สำหรับเนินมรณะนี้ หัวเข่าของเราต้องทำงานอย่างหนัก สองมือต้องไขว่คว้าหาที่เกาะยึดเหนี่ยว สายตามองหาจุดที่จะต้องวางเท้าต่อไปอย่างมั่นคง ฝนยังคงตกมาเป็นระยะหนักบ้าง เบาบ้าง ตอนนี้ผมไม่สนใจแล้ว การเดินให้ถึงป้ายผู้พิชิตภูสอยดาวดูเป็นเรื่องที่ผมต้องการมากที่สุด เพราะนั่นหมายถึงการได้จัดการกับที่พัก และอาหารการกิน ซึ่งตอนนี้สัญญาณแห่งความหิวได้เตือนมานานแล้ว
ลานสน ในที่สุดเราทั้งสามก็สามารถพิชิต 1,633 ม. ได้อย่างปลอดภัย ลานสนเป็นลานราบสูงๆ ต่ำๆ เล็กน้อยมีต้นสนสามใบขึ้นเรียงรายสลับกับทุ่งหญ้า ในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะมีดอกหงอนนาคขึ้นเบ่งบานอยู่เต็มลาน ในวันนี้เราได้พบดอกหงอนนาคขึ้นอยู่ประปราย ยังคงทำให้พวกเราได้หายเหนื่อยกันบ้าง นายบี และนายก๊อต เริ่มเดินต่อให้ถึงบ้านพักเจ้าหน้าที่ เพื่อเตรียมอาหารและที่นอนสำหรับวันนี้
ที่พัก บนลานสนนี้ไม่มีบ้านพักไว้คอยบริการ มีเพียงบ้านพักหลังเล็กๆ ของเจ้าหน้าที่เท่านั้น นักท่องเที่ยวต้องเตรียมเต้นท์ไปเอง หรือต้องติดต่อเช่าจากเจ้าหน้าที่ด้านล่าง โดยมีบริเวณกางเต้นท์ที่พักไว้ให้ไม่ไกลจากบ้านพักเจ้าหน้าที่มากนัก
ห้องน้ำ ส่วนห้องน้ำ และห้องอาบน้ำนั้นเป็นแบบกึ่งถาวรพอใช้การได้ เวลาใช้ต้องตักน้ำจากลำห้วยด้านหลังขึ้นมาเอง อย่าคิดหรือคาดหวังว่าจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ เพราะบนภูไม่มีให้ นักท่องเที่ยวต้องใช้ชีวิตแบบกินง่ายอยู่ง่าย มีเรื่องอยากจะเตือนอีกอย่าง ในวันที่ผมไปถึงผมก็มัวแต่ช่วยกันทำกับข้าวหุงข้าว พอมืดค่ำเราทั้งสามยังไม่ได้อาบน้ำ อากาศก็หนาวจับใจ เดินไปทางไหนต้องใช้ไฟฉาย การอาบน้ำในช่วงเวลานี้เป็นเรื่องลำบากอย่างยิ่ง มาถึงตอนเช้านายก๊อตไปเข้าห้องน้ำ เห็นงูเขียวตัวหนึ่งนอนขดอยู่บนหัวเสาห้องน้ำ ... ถึงผมชอบเที่ยวป่าก็เถอะ แต่เรื่องงูเงี้ยวเขี้ยวขอนี่ไม่อยากเข้าใกล้เลย และถ้าหากมันอยู่ตามพื้นหรือพงหญ้าระหว่างทางที่เดินไป หากเราไปเหยียบเข้า....จะเกิดอะไรขึ้น.... ไม่ควรประมาทนะครับ เที่ยวป่า ทุกย่างก้าวมีความสำคัญเสมอ
สำหรับพวกผมแล้ว คืนนี้คงจะขอยอมแพ้ฝน และไปอาศัยใบบุญของบ้านน้อยในป่าใหญ่หลังนี้ ที่เจ้าหน้าที่เขาใช้พักกัน แต่ก็ยังเกรงใจอยู่นะ ผมเลยขออาศัยเพียงใต้ถุนบ้าน กางเต้นท์หลังนึงฝูกเปลหลังนึง เนื้อที่ใต้ถุนก็หมดที่เดินแล้ว ทำยังไงได้หากฝืนไปกางข้างนอกตอนนี้มีหวังได้ว่ายน้ำกลางดึกแน่

นุ บางบ่อ

อีกหนึ่งความประทับใจ จากคุณสุรชัย

ไปมาแล้ว เมื่อ 1-2 ม.ค. 2547 นี้เอง พอดีรู้จักกับเจ้าหน้าที่อุทยานโดยการแนะนำจากเพื่อนที่เคยอยู่ที่นั่น คือคุณนะเรศ ที่อยู่ข้างล่าง และคุณพิม ที่อยู่บนลานสน ใช้เวลานิดหน่อยในการเตรียมขึ้นเพราะ Trip นี้ไปคนเดียว ทางขึ้นลำบากนิดหน่อย และร้อนพอสมควรเพราะขึ้นตอนบ่าย 2 ข้างทางแห้งแล้งนิดหน่อย ส่วนบนลานสน แห้งแล้งพอสมควร รอเต้นท์จากลูกหาบจนมืดเลยไม่ได้กางเต้นท์นอน และอีกอย่างหนึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ฉุกละหุก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวท่านอื่นๆ อยู่ ก็เลยอาศัยกินอยู่หลับนอนกับทางเจ้าหน้าที่เขา ดื่มเหล้าขาวกับเจ้าหน้าที่จนเมาไม่รู้เรื่อง เลยไม่รู้ว่าหนาวขนาดไหน ตื่นมาอีกทีก็ 8 โมงเช้า โดยเจ้าหน้าที่เขาไปปลุกเพื่อเตรียมขึ้นยอดภูสอยดาว

นำโดยคุณบุญชม และคุณฉลอง เจ้าหน้าที่อุทยานเป็นผู้นำทางพาคณะท่องเที่ยวผู้เก่งกล้าหาญชาญชัย ประมาณ 20 ท่าน 3 กลุ่มทัวร์ ขึ้นไปพิชิตยอดภู เริ่มออกเดินทางประมาณเกือบ 9 โมงเช้า เส้นทางหฤโหด เพราะต้องปืนหน้าผา ใช้เชือก เถาวัลย์ หรือกิ่งไม้ สำหรับโหนตัวขึ้นและลงตลอดเวลา เหมือนกับคำบรรยายความคิดเห็นที่ 150 ไม่ทราบว่าไป Trip เดียวกันหรือเปล่า แต่ยอมรับว่าเส้นทางโหดเอาการ บางท่านก็สละกลางคัน เหลือประมาณ 10 กว่าท่านเท่านั้นที่สู้ต่อ ก็พบรอยเลียงผา ที่ปีนขึ้นไปก่อนหน้านั้น และแหล่งที่นอนของเลียงผา นกต่างๆ ใบ เมเปิลที่ร่วงหล่นบนเนินเขาและหุบเขาที่นับจำนวนไม่ได้แดงไปทั่วบริเวณ กว่าจะถึงยอดดอยก็เกือบบ่ายโมง ซึ่งมีเสาหลักแบ่งเขตแดนไทย-ลาว อยู่บนนั้นอีกด้วย

บรรยากาศก็ค่อนข้างเย็นเห็นทิวเขาเป็นแนวยาวล้อมรอบมองได้ทุกทิศทาง ฟ้าสลัวและมีหมอกนิดหน่อยก็เลยเห็นตัวจังหวัดพิษณุโลกกับอุตรดิตถ์ ได้ไม่ชัดเจน เพียงแต่เจ้าหน้าที่ชี้ให้ดูเท่านั้น และได้บันทึก Video ไว้นิดหน่อยเสียดาย Batt หมด เลยไม่มีโอกาสได้บันทึกภาพตอนขาลง ก็ลงมาประมาณบ่าย 2 โมง ขาลงก็โหดเอาการ กว่าจะถึงลานสนจนเกือบมืดค่ำ ส่วนผมลงมาก่อน ถึงประมาณ 4 โมงเย็น จากนั้นก็รีบเก็บสัมภาระลงจากดอยเลยเพราะจะมืดค่ำก่อนถึงตีนดอย และไม่สะดวกในการเดินกลางคืน ถึงตีนดอยเกือบ 6 โมงเย็น และรีบกลับเลย เพราะมีนัดกับเพื่อนร่วมรุ่นที่บ้าน ทำให้การเดินทางครั้งนี้ ไม่ค่อยได้มีโอกาสในการพูดคุยกับคณะเดินทางมากนัก

ด้วยเหตุนี้ผมใคร่ขอเรียนเชิญกลุ่มผู้พิชิตยอดภูสอยดาวทุกๆท่าน ร่วมพบปะสังสรรค์ สนทนา บรรยายถึงการเดินทางในครั้งนี้ และแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน ท่านใดสนใจกรุณาติดต่อกลับ สุรชัย 01-9254687 ยินดีที่ได้รู้จักผู้ร่วมเดินทางทุกๆท่าน ใน Trip นี้ และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ อุทยานทุกๆ ท่านที่อำนวยความสะดวก และช่วยเหลือการเดินทางในครั้งนี้เป็นอย่างดี ขอสวัสดีปีใหม่ และขอให้โชคดีทุกๆคน สวัสดีครับ โอกาสหน้าพบกันใหม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook