ไขความลึกลับของ "น้ำบ่อผี" ตอนที่ 2

ไขความลึกลับของ "น้ำบ่อผี" ตอนที่ 2

ไขความลึกลับของ "น้ำบ่อผี" ตอนที่ 2
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไขความลึกลับของ "น้ำบ่อผี" ตอนที่ 2

ANUKUN SONEAK ...เรื่อง Kanokpetch and Natthawut ...ภาพ
27 ธันวาคม 2547 พวกเรามาถึง Cave Lodge ตั้งแต่ตอนเที่ยง เมื่อเก็บสัมภาระเข้าที่พักแรม และทานอาหารเที่ยงแล้ว ถึงเวลาที่ทีมสำรวจทุกคน จะต้องทดสอบ โดยการโรยตัวลงจากปากถ้ำลอด ซึ่งมีความสูงประมาณ 45 เมตร การทดสอบครั้งนี้ เป็นการทดสอบที่สำคัญ เพราะการโรยตัวลงปากถ้ำลอด มีลักษณะเหมือนกับน้ำบ่อผี เพราะเมื่อลงมาจากด้านบน ประมาณ 5 เมตร จะห้อยอยู่กับเชือกเพียงอย่างเดียว ยิ่งลงมาลึกเท่าไร โถงถ้ำยิ่งกว้างขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับคนที่กลัวความสูง และความกว้างของโถงถ้ำ มักจะทำอะไรไม่ถูก ซึ่งบางคน จะไม่สามารถควบคุมสติของตนเองได้ ซึ่งมีโอกาสประสบอุบัติเหตุสูงมาก แต่หากเทียบกันกับน้ำบ่อผี ซึ่งมีโถงถ้ำสูงและกว้างกว่านี้ 2 - 3 เท่า เพียงเท่านี้ ก็พอจะตัดสินได้ว่า จะมีใครที่สามารถผ่านการทดสอบ และข้ามขีดจำกัดของร่างกาย และจิตใจของตัวเองไปได้
ถ้าหากใครคิดว่าไม่ไหว ก็คงต้องยกเลิกการลงสำรวจน้ำบ่อผี กลายเป็นทีมสนับสนุนบริเวณด้านบน คงเหลือเพียงคนที่ผ่านการทดสอบครั้งนี้เท่านั้นที่ได้ลงสำรวจ ...ทุกคนล้วนสร้างความประหลาดใจให้กับผม ซึ่งแต่ละคนทำได้ราบรื่นเหมือนมีประสบการณ์โรยตัวมาอย่างโชกโชน ...ทำให้ผมโล่งใจและมั่นใจในทีมขึ้นมาอีกโขทีเดียว เมื่อเรากลับมาถึงที่พักเก็บสัมภาระ และอาบน้ำเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นเวลาทานอาหารเย็น และพูดคุยกับจอห์น เพื่อรวบรวมข้อมูลของน้ำบ่อผีก่อนที่ทีมของเราจะเข้าสำรวจ
หลังจากคุยกับจอห์น จนสมใจหลังจากที่ผมไม่ได้พบจอห์นมาหลายปี ผมรู้สึกว่า ที่นี่ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย จอห์นก็ยังคง อารมณ์ดีและคุยสนุกสนานเหมือนเดิม Cave lodge ก็ยังคงเป็นสถานที่ ที่ต้อนรับเพื่อน ๆ ที่หลงไหลการสำรวจถ้ำ จากทั่วโลก เป็นที่แลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ของถ้ำใหม่ ๆ ในเมืองไทยอย่างที่มันเป็นอยู่ และยังคงเป็นอย่างนี้ต่อไป รอนักสำรวจถ้ำรุ่นใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาค้นหา การผจญภัยในสิ่งที่ตัวเองชอบ สิ่งที่เปลี่ยนไป ดูเหมือนจะเป็นอายุของผมกับจอห์น ที่มากขึ้น และประสบการณ์การสำรวจถ้ำ ของผมที่แตกต่างจาก 12 ปีที่แล้ว หลังจากพบจอห์นครั้งแรก
28 ธันวาคม 2546 หลังจากรับประทานอาหารเช้าเสร็จ ก็เป็นธรรมเนียมของนักสำรวจถ้ำ ที่จะต้องแจ้งให้คนที่เราไว้ใจที่สุด ทราบก่อนออกเดินทางไปสำรวจถ้ำ ว่าเราจะเดินทางไปไหน จะกลับมาเมื่อใด หากเราไม่กลับตามที่แจ้งไว้ จะได้จัดชุดช่วยเหลือ ออกไปตามหาได้ ซึ่งจอห์นเป็นคนที่พวกเราไว้ไจ และเชื่อมือที่สุด หลังจากเดินขึ้นเขามาได้ประมาณ เกือบชั่วโมง พวกเรา ก็มาถึงปากน้ำบ่อผี ซึ่งมีความใหญ่โตเกินกว่าจินตนาการของหลาย ๆ คนที่วาดเอาไว้ก่อนหน้านี้ ต้นไม้ที่ขึ้นอย่างหนาทึบ มองไม่เห็นพื้นถ้ำ เห็นเพียงลานดินที่อยู่ไกล ๆ ของโพรงถ้ำด้านทิศตะวันตก ซึ่งไม่สามารถคาดเดา ถึงความใหญ่โตของโถงถ้ำที่มองเห็นได้ เมื่อทุกอย่างพร้อม ผมเป็นคนแรกที่จะต้องโรยตัวลงไปช่วงกลางหน้าผา เพื่อนำปลายเชือกทั้งสามเส้นลงสู่ก้นถ้ำ และให้อีก 2 คนคือ เพชรและคุณหญิง โรยตัวตามลงไป พวกเราซึ่งเป็นชุดแรกที่ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงในการเคลีย์เส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นกิ่งไม้ และเถาวัลย์ ตั้งแต่ด้านบนไปจนถึงก้นถ้ำ เผื่อเวลาไต่เชือกกลับขึ้นไปจะได้รวดเร็ว และไม่เหนื่อยจนเกินไป กว่าที่ชุดแรกจะถึงก้นถ้ำก็เป็นช่วงที่แสงที่ก้นถ้ำเริ่มหมดลง ความมืดเริ่มมาเยือน ผมวิทยุให้ชุดที่ 2 เริ่มโรยตัวลงมาเริ่มจากพี่พจน์ เชอรี่ และจะเด็ด เมื่อทุกคนลงมาถึงก้นถ้ำก็เป็นเวลา เกือบ 6 โมงครึ่ง ซึ่งก้นถ้ำก็มืดสนิทพอดี
ปัญหาที่เราต้องเผชิญก็คือจะต้องหาที่พักแรมเป็นอย่างแรก สภาพป่าด้านล่างรอบ ๆ ตัวมีต้นไม้ใหญ่ มีไม้พุ่มขึ้นอยู่ประปราย พื้นถ้ำที่พวกเรายืนอยู่มีแต่ก้อนหินลอยขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง การเดินท่ามกลางความมืดในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นสองเท่า ... ผมพาทีมสำรวจเดินตัดไปทางทิศเหนือซึ่งทางเดินไม่ค่อยชันและค่อนข้างเดินสะดวก อย่างแรกเราจะต้องเดินเข้าหาหน้าผาทางทิศเหนือ ซึ่งเมื่อมองจากตอนที่อยู่ด้านบนเป็นบริเวณที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่และสามารถเดินไปหาปากถ้ำทางทิศตะวันตกได้ง่ายกว่าเส้นทางอื่น ๆ ....ในที่สุดเราก็มาถึงเพิงผา ที่มีแต่พวกว่านขึ้นเต็มลานกว้าง ใต้หน้าผาขนาดใหญ่ จากนี้เราจะตัดไปทางทิศตะวันตกและเดินเลาะหน้าผาขึ้นไปด้านบนโพรงถ้ำขนาดใหญ่ที่มองเห็นจากด้านบน ฝุ่นที่ทับถมกันอยู่บนพื้นถ้ำหนาเป็นนิ้วยิ่งเดินก็ยิ่งฟุ้ง พวกเราปีนหินถล่มขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเจอลานดินที่พอจะนอนได้ อยู่กลางโถงถ้ำ ซึ่งรอบ ๆ ตัวมีแต่ลานดินกับก้อนหินที่ก้อนเล็ก ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วไป จุดนี้เห็นจะเป็นจุดเดียวที่เหมาะสมสำหรับการตั้งแค้มป์ที่สุด....
29 ธันวาคม 2546 หลังจากทานอาหารเช้าเสร็จพวกเราค่อย ๆ นำสัมภาระประจำตัว เดินลงมา ผ่านหินงอกขนาดใหญ่ที่สูงถึง 15-20 เมตร มีเถาวัลย์ขึ้นปกคลุม หากมองจากด้านบนแคมป์ พวกเราคิดว่าขนาดของหินงอกแท่งนี้ก็เป็นขนาดทั่ว ๆ ไป แต่พอมีคนไปยืนข้าง ๆ ถึงรู้ว่าเป็นหินงอกก้อนมหึมากว่าที่คิดไว้ตั้งแต่ทีแรก ถัดลงมาอีกประมาณ 10 เมตรก็เป็นแนวป่า และเป็นจุดที่จะต้องลุยป่าลงไปสำรวจ ....พวกเราตระเวณถ่ายภาพของน้ำบ่อผีและพื้นที่ป่าด้านล่างในหลาย ๆ มุม ก่อนที่จะเดินไปที่เชือกจุดที่พวกเราลงมาเมื่อคืนนี้ กว่าจะหาเชือกเจอก็ใช้เวลาเดินหาซะตั้งนาน เนื่องจาก จุดที่ลงอยู่สูงขึ้นไปจากแนวป่าประมาณ 20 เมตรและป่าค่อนข้างรก ดีที่พวกเราแขวนเป้เชือกสีแดงไว้เป็นจุดนำทางม่ายยั้งงั้นต้องใช้เวลานานกว่านี้แน่ กว่าจะจัดเข้าของและสัมภาระให้เข้าที่ก่อนไต่เชือกขึ้นไปต้องใช้เวลาหลายนาที เป้ทุกใบถูกแพค และมัดสัมภาระส่วนตัวของแต่ละคนรวมกัน ผมเป็นคนไต่เชือกขึ้นไปก่อน โดยมีเป้สัมภาระอีก 2 ใบพ่วงเข้าไว้ด้วยกัน ผูกต่อกับเชือกที่พ่วงเข้ากับ ฮาร์เนส ห้อยลงมาด้านล่าง กำลังทั้งหมดที่ใช้ไต่เชือกขึ้นมากจากกำลังขาเป็นหลัก

 

...เวลาร่วมชั่วโมงจากด้านล่างหลุมยุบขึ้นมาถึงปากถ้ำด้านบน เวลาก็ล่วงเข้าไปเกือบ 6 โมงเย็น ทีมลูกหาบชาวมูเซอก็จัดเตรียมข้าวเย็นให้พวกเราเรียบร้อย พวกเรารับประทานอาหารเย็นกันอย่างเอร็ดอร่อย หลังจากนั้นก็จัดเตรียมแค้มป์กางเต้นท์ สำหรับค้างคืนที่ปากน้ำบ่อผีอีก 1 คืน วันนี้ทุกคนดูสนุกสนานกันมากเพราะกลับขึ้นมาอย่างปลอดภัย แต่ในวันพรุ่งนี้มีความท้าทายครั้งใหญ่ที่รอพวกเราอยู่ข้างหน้า นั่นคือการโรยตัวลงทางด้านฝั่งตะวันตกของน้ำบ่อผีซึ่งมีความลึกกว่า 140 เมตร บริเวณนี้เป็นจุดที่ค่อนข้างยากและมีเพียงทีมเดียวที่ได้ลงคือทีมงานของ นิตยสาร National Geographic ซึ่งมีเพียง 3 คนในโลกเท่านั้น ถ้าในวันพรุ่งนี้พวกเราลงได้หมายความว่าพวกเราจะเป็น 1 ใน 9 คนในโลกเท่านั้นที่ได้ท้าทายกับเส้นทางโรยตัวลงถ้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย
30 ธันวาคม 2546 การโรยตัวลงในจุดนี้มีความเสี่ยงสูงเพราะ ขณะที่โรยตัวลงหากลงต่อไปไม่ได้ จะต้องมีการเปลี่ยนากชุดลง เป็นชุดขึ้นซึ่งจะต้องทำตอนที่ห้อยตัวอยู่กลางอากาศ ซึงจะผิดพลาดไม่ได้ นอกจากนี้จะต้องทำการติดอุปกรณ์เซฟตี้ไว้กับเชือกอีก 1 เส้น เพราะขณะที่ไต่เชือกขึ้น เชือกจะมีการยืดตัวและขัดสีกับขอบหินด้านบนทำให้ เชือกมีโอกาสขาดสูง ดังนั้นจะต้องมีเชือกเซฟตี้อีกเส้นไว้สำรอง ขณะที่ไต่ขึ้น การทดสอบและทบทวนเริ่มจาก ผมเป็นคนแรกที่ทำการสาธิตขั้นตอนให้ดูก่อน 1 รอบ หลังจากนั้น แต่ละคนจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการเปลี่ยนอุปกรณ์ให้ถูกต้อง ซึ่งจะต้องไม่มีความผิดพลาด ไม่มีคำถาม ทุกคนจะต้องช่วยเหลือตัวเองให้ผ่านขั้นตอนนั้นไปให้ได้ ซึ่งทุกคนก็สามารถผ่านการทดสอบด้วยดี ก็เหลือแต่การลงจริง ๆ เท่านั้น ซึ่งผมรู้สึกถึงความกังวลที่ปรากฏบนสีหน้าของแต่ละคนได้ ผมเดินออกไปดูจุดมัดเชือกที่ต้นไม้ใหญ่ด้านบนของปากถ้ำ โดยลากปลายเชือกขึ้นมามัดกับต้นไม้ด้านบนเพื่อทำจุดแบคอัพ เผื่อจุดผูกเชือกจุดแรกหลุด พวกเราจะได้ไม่หล่นลงไปอยู่ด้านล่างของน้ำบ่อผีโดยไม่ได้ตั้งใจ ความรู้สึกขณะที่ผมเดินออกไปยืนอยู่บริเวณปากถ้ำแตกต่างจากวันแรกที่ลงน้ำบ่อผีโดยสิ้นเชิง ในวันแรกขณะที่ลงยังมีความกังวล ปนกับความระแวงและตื่นเต้นที่ได้ลง แต่ความรู้สึกในตอนนี้ ความกังวลใจดูเหมือนจะหายไป มีแต่ความสงบและความมั่นใจ ไม่มีความตื่นเต้นปรากฏให้เห็นอีกเลย คงเพราะวันก่อนที่ลงไปก้นน้ำบ่อผี ผมเห็นจุดลงจากมุมด้านล่างและเห็นก้นหลุมน้ำบ่อผีและพื้นที่ในป่าด้านล่างทั้งหมด ทำให้กำจัดความระแวงไปจนหมด
เอาละเรามัดเชือกเสร็จแล้ว เดี๋ยวผมจะโยนเชือกของผมลงไปก่อน และให้คุณหญิงใช้เชือกเส้นที่ 2 ตามลงไป และเชอร์รี่จะลงตามไปเป็นคนสุดท้ายใช้เส้นสีฟ้า ผมบอกสมาชิกสาวสวยทั้งสองคน ผมโรยตัวลงไปจากต้นไม้ใหญ่ ประมาณ 10 เมตรลงไปถึงจุดปากถ้ำซึ่งเป็นจุดที่เชือกเริ่มห้อยอยู่กลางอากาศ รอสมาชิกทั้งสองคนที่ค่อย ๆ โรยตัวตามลงมา รอบ ๆ ตัวมีแต่อากาศและความเวิ้งว้าง ยิ่งโรยตัวลึกลงไปเท่าไหร่ ดูเหมือนตัวเราจะยิ่งเล็กลงเรื่อยๆ โถงถ้ำด้านล่างยิ่งกว้างออกไปเรื่อย ๆ จนดูเหมือนผมจะโรยตัวอยู่กลางโถงถ้ำที่ใหญ่โต มโหฬาร ถ้ามีคนยืนอยู่ด้านล่างคงมองเห็นตัวเท่ามดแน่ ๆ ผมนึกในใจพร้อมกับแหงนหน้าขึ้นไปมองดูสมาชิกสาวสวยทั้งสองคน
จุดที่ผมโรยตัวลงมายังไม่ถึง 60 เมตรยังเหลืออีกเกือบ 100 เมตร หากจะลงจะต้องลงไปต้องต่อเชือกอีกประมาณ 50 เมตร เพราะเชือกที่ผมลงมีระยะทางแค่ 90 เมตรซึ่งลงยังไม่ถึงยอดไม้ด้านล่าง ทำให้ผมรู้ได้ทันทีว่า ระยะทางที่กำลังลงน่าจะมากกว่า 140 เมตรซึ่งเชือกที่เตรียมมาอาจจะไม่พอ ดังนั้นผมจึงตัดสินใจตะโกนบอกให้ลูกทีมทั้งสองคนหยุด และเปลี่ยนอุปกรณ์ไต่เชือกกลับขึ้นไป เราต้องเปลี่ยนแผนเพื่อให้เวลาชุดที่ 2 ลงมาเป็นแบบถ่ายภาพก่อนดีกว่า ไม่ยังงั้นวันนี้ค่ำแน่นอน และเราต้องกลับไปที่ Cavelodge ก่อน 6 โมงเย็นวันนี้ไม่งั้น จอห์นจะต้องออกมาตามหาเรา ผมบอกกับทั้ง 2 คน
หลังจากทั้งสองคนเปลี่ยนอุปกรณ์และติดเซฟตี้เสร็จ ผมเป็นคนไต่เชือกนำขึ้นไปก่อนและไปรออยู่บริเวณปากถ้ำจุดที่เชือกพาดกับก้อนหินด้านบน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับทั้งคู่ก่อนไต่กลับขึ้นมา ข้างบนพร้อมครับขึ้นมาได้ ผมตะโกนบอก
เวลาผ่านไปเกือบชั่วโมงกว่าที่ทั้งคู่จะไต่กลับขึ้นมาถึงปลายเชือกด้านบนและอยู่ในจุดที่ปลอดภัย ทั้งพี่พจน์ เพชร และจะเด็ดมารอกันอยู่ที่ปลายเชือกด้านบนแล้ว และพร้อมจะโรยตัวลงไป ผมยืนดู พี่พจน์ เพชร และจะเด็ดค่อย ๆ โรยตัวลงไปยังตำแหน่งที่นัดหมาย ซึ่งดูราบรื่น และไม่มีปัญหาอะไร เมื่อถ่ายภาพเสร็จ ก็วิทยุบอกให้ทั้งสามคนไต่ขึ้นมา และเก็บเชือกทั้งหมดขึ้นมา ขณะนี้เวลาก็เกือบจะ 3 โมงเย็น พวกเรามีเวลาเก็บสัมภาระและแค้มป์ ก่อนเดินทางกลับไปพบจอห์นก่อน 6 โมงเย็นตามเวลาที่นัดหมายกับจอห์น
เป็นเรื่องปรกติในการสำรวจถ้ำ ที่จะต้องเคร่งครัดต่อเวลา ถึงแม้ว่าภาระกิจบางส่วนจะไม่สำเร็จก็ตาม พวกเราจำเป็นต้องทำตามเวลาที่นัดหมาย แม้ว่าจะต้องเลิกล้มภาระกิจบางส่วน มิฉะนั้นทีมที่เราแจ้งไว้จะต้องออกตามหาพวกเราทันที พวกเรายังมีโอกาสที่จะกลับมาอีกครั้งอย่างแน่นอน แต่อย่างน้อยที่สุดพวกเราก็ได้ลงไปถึงก้นหลุมยุบไขความลับของน้ำบ่อผีได้บางส่วน แม้ว่าพวกเราจะลงที่ความยาว 140 เมตรไม่สำเร็จ แต่อย่างน้อยเราก็รู้ว่าครั้งต่อไปพวกเราจะต้องเตรียมเชือกที่มีความยาวถึง 200 เมตรเพื่อพิชิตปล่องถ้ำที่ลึกที่สุดในประเทศไทย ทีมสำรวจทุก ๆ คนเก็บสัมภาระและออกเดินทางจากน้ำบ่อผี พร้อม ๆ กับความตั้งใจที่จะกลับมาลงสำรวจในครั้งหน้า พวกเราหวังว่าคราวหน้าเราน่าจะพิชิตความลึกของปล่องถ้ำทางทิศตะวันตกให้ได้ พวกเราจะกลับมาอีกพร้อมกับทีมสำรวจพรรณไม้เพื่อไขความลึกลับของปริศนาของพรรณไม้ในน้ำบ่อผีให้ได้ทั้งหมด
น้ำบ่อผียังคงเก็บงำความลับไว้บางส่วนด้วยกำแพงผาเป็นปราการทางธรรมชาติ ที่ยากแก่การเข้าถึง มันยังเฝ้าคอยทีมสำรวจที่จะมาไขปริศนาของระบบนิเวศอันซับซ้อน ที่ก่อให้เกิดรูปแบบของระบบธรรมชาติเฉพาะตัว ที่รอให้เรามาค้นหาต่อไป

สมาชิกคณะทีมสำรวจทั้ง 6 คนที่เป็นทีมไทยทีมแรกในการลงสำรวจน้ำบ่อผี อนุกูล สอนเอก (กื๋อซ์ นรก) กนกเพชร ทองสุข ( มนุษย์ไฮเปอร์) ปิยะฤทัย ปิโยพีระพงษ์ (หญิง) พัชราภรณ์ บุญทรง (เชอร์รี่) พี่พจน์ นัฐวุฒิ ช้อยเครือ(จะเด็ด)

ขอบคุณ Nature Explorer , Equinox Extreme,Swan Rope , Outside high attitude Co.,Ltd. & Outside Gym , Outdoor Equipment Shop , Rope Technique Center(RTC) , Rendo-Tec , Thailand Caving Club , John Spies , Dean Smart , ทีมผู้เชี่ยวชาญจาก NSS , ASA และเพื่อน ๆ นักสำรวจถ้ำจากทั่วโลกที่มาอบรม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนะนำเทคนิคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคด้านเชือก การสำรวจทำแผนที่ ฯลฯ ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา , พี่วาสิต สิโรดม , คุณนุ Sabuy.com และเหล่าเพื่อน ๆ จาก M-web, ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ประสิทธิประสาทวิชา Earth Science (Geography) และให้โอกาสในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานภาคสนามอันเป็นพื้นฐานของการเป็นนักผจญภัยและนักสำรวจของผมในปัจจุบัน , เพื่อน ๆ ผู้อ่านทุกคนที่คอยติดตามผลงาน และถามถึงตอนต่อไปของน้ำบ่อผีตลอดเวลารวมไปถึงผู้มีส่วนร่วมทุกคนที่ไม่ได้เอ่ยนาม และติดตามสกู๊ปการเดินทางสำรวจ ผจญภัยของพวกเราได้ในโอกาสต่อไป.......ขอบคุณครับ www.hyperventure.com

ไขความลึกลับของ "น้ำบ่อผี" ตอนที่ 1

ดูข้อมูลแบบละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook