กินข้าวใหม่กับชาวมูเซอ (ตอนที่ 2 เที่ยวบ้านมูเซอ)

กินข้าวใหม่กับชาวมูเซอ (ตอนที่ 2 เที่ยวบ้านมูเซอ)

กินข้าวใหม่กับชาวมูเซอ (ตอนที่ 2 เที่ยวบ้านมูเซอ)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

เมื่อคืนรถทัวร์คันที่ผมนั่งมาต้องฝ่าสายฝนมาทั้งคืน เช้านี้ที่สถานี บขส.เชียงใหม่ จึงดูชุ่มชื้นกว่าทุกวัน จากจุดนี้ผมต้องต่อรถไปยังศูนย์รถเวียงกาหลง ที่อยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อต่อรถสองแถวสีเหลืองๆ สายเชียงใหม่ เวียงป่าเป้า ไปอีกทอดหนึ่ง

รถกระบะสองแถว (ความจริงน่าจะเรียกว่าสามแถว เพราะมีแถวกลางอีกหนึ่งแถวเป็นแถวที่นั่งเสริม) ค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันออก โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 118 ระหว่างทางคนขับได้แวะรับผู้โดยสารไปเรื่อยๆ 18 กม. ต่อมา ผมได้เดินทางมาถึง อ.ดอยสะเก็ด ที่นี่จะเป็นจุดแวะพักรถประมาณ 10 นาที แล้วจึงเดินทางต่อ จาก อ.ดอยสะเก็ดนี้ผู้โดยสารได้ขึ้นมาเพิ่มอีกหลายคน ที่นั่งของรถสามแถวจึงได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ รวมทั้งราวโหนทางด้านท้ายรถก็มีชายหนุ่มห้อยโหนอยู่หลายคน แต่ผมเองไม่ได้ไปโหนกับเขาด้วย เพราะที่ที่ผมนั่งอยู่นั้นอยู่ด้านในสุด ไม่สามารถที่จะออกมาได้ ทั้งนี้ก็เพราะผมเป็นผู้โดยสารที่ขึ้นตั้งแต่ต้นทาง เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายภาพมาให้ชมกัน สภาพแสงภายในรถตอนนั้นค่อนข้างน้อย และผมเองก็ไม่กล้าใช้แฟลช เพราะเกรงใจเพื่อนร่วมทาง

จาก อ.ดอยสะเก็ด เส้นทางต่อไปค่อนข้างคดเคี้ยว และสูงชันขึ้น อากาศในช่วง 7 โมงเช้า ยังคงความเย็นอยู่อย่างสม่ำเสมอ ยอดไม้สองข้างทางยังคงมีสายหมอกขาวลอยละล่องให้เห็น นี่แหละหนาจุดเด่นของเมืองเหนือ ผมเองเคยขับรถผ่านเส้นทางนี้อยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อคราวทริปตะลุยดอยตะกายภูต่างๆ ในภาคเหนือกับลุงจิ๊บ แต่คราวนี้ต้องมาเป็นผู้สารที่ถูกอัดแน่นอยู่ในกระบะโดยสาร ก็ให้ความรู้สึกแตกต่างไปจากที่เคยเป็น ได้เห็นถึงความยากลำบากของคนอื่นๆ มองหน้าคนที่นั่งตรงข้ามบ้าง ทิวทัศน์ที่สวยงามข้างทางบ้าง หลักกิโลบ้าง เส้นทางสายนี้ยังคงคดโค้งไปมาราวกับไม่มีที่สิ้นสุด แต่คงยังไม่โหดเท่าที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก หรือ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน สองเส้นนั้นคนขับรถเมารถระหว่างขับไปหลายราย

ในขณะที่ผมกำลังเพลิดเพลินกับธรรมชาติสองข้างทางอยู่นั้น ก็มีเสียงผิดปกติมาจากทางด้านท้ายของตัวรถ เป็นเสียงที่ออกมาจากลำคอของหญิงวัยกลางคนรูปร่างเล็กที่นั่งอยู่ท้ายสุด สองมือของเขาเกาะราวเหล็กที่ติดกับพนักพิงแน่น พลางก้มหน้าลงสู่ถนน ขอเหลวที่อยู่ในร่างกายทะยอยออกมาเป็นลำดับ เขาคงเมารถ เพราะเส้นทางที่ผ่านมาผมเองยังรู้สึกมึนๆ เหมือนกัน อาการมึนๆ ของผมทำให้ผมนึกถึงยาดมที่ติดกระเป๋ามา จากนั้นผมได้หยิบส่งให้คนข้างๆ เพื่อส่งต่อให้เธอ เธอรีบรับแล้วได้ใช้ประโยชน์จากมัน ผมรู้สึกสบายใจเป็นที่สุดที่มีโอกาสได้ช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมทาง

เกือบ 8 โมงเช้า คนขับรถจอดรถ แล้วเปิดประตูลงมาบอกผมว่าถึงบ้านโป่งน้ำร้อนแล้ว การเดินทางอันทุลักทุเลบนรถสามแถวสีเหลืองของผมจึงได้ยุติลง ที่บ้านโป่งน้ำร้อนนี้จะอยู่ตรง กม.ที่ 67 บนทางหลวงสาย 118 เชียงใหม่ เวียงป่าเป้า ตรงนี้มีลักษณะเป็นตลาด ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่จะนำสินค้าพื้นเมืองมาขายให้แก่นักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมา มีร้านขายอาหารตามสั่งอยู่หลายร้าน ผมเลยถือโอกาสนั่งพักให้หายจากอาการเวียนหัว และสั่งหมูทอดกระเทียมพริกไทยมาเป็นอาหารมื้อแรกของวันนี้ จากนั้นเริ่มออกเดินสำรวจตลาดบ้านโป่งน้ำร้อน และผมก็ได้ซื้อยาดมอันใหม่จากตลาดนี้ พร้อมๆ กับผมได้รู้ตัวว่า ผมได้นั่งรถเลยทางเข้าหมู่บ้านห้วยน้ำรินมากว่า 3 กม. แล้ว แม่ค้าแถวๆ นี้ดีกับผมมาก (คงจะเห็นผมพะลุงพะลัง แล้วเลยสงสาร) พยายามอธิบายทางไปหมู่บ้านห้วยน้ำริน และบ้านมูเซอให้ผมฟังอย่างละเอียด ตอนนี้ผมไม่สามารถติดต่อใครได้ ณ ที่นี่วันนี้โทรศัพท์มือไม่มีสัญญาณ ตู้สาธารณะก็เสียเช่นกัน

การเดินทางไปยังหมู่บ้านห้วยน้ำรินได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง โดยผมหอบหิ้วสัมภาระไปดักรอรถเพื่อจะขออาศัยนั่งย้อนกลับไปยังบ้านห้วยม่วงบริเวณ กม. ที่ 63 64 การโบกรถบนเส้นทางนี้ไม่ใช่เรื่องยากนัก ผู้คนส่วนใหญ่ที่ผ่านไปมาล้วนมีน้ำใจให้แก่กัน จากทางแยกเข้าบ้านห้วยม่วง ต่อไปยังบ้านห้วยน้ำริน จนถึงศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน จะเป็นถนนดิน และลูกรังตลอดสายยาวประมาณ 9 10 กม. ไม่มีรถประจำทางผ่าน ต้องเดิน หรือขออาศัยรถที่ผ่านไปมาโดยสารขึ้นไป ผมรอรถเพื่อที่จะขออาศัยไปยังโครงการหลวงห้วยน้ำริน อยู่นานก็ไม่มีรถผ่านมา ทางสายนี้เป็นทางเล็กๆ ไม่เหมือนทางหลวงเส้นเมื่อสักครู่ที่มีรถผ่านไปมาอยู่ตลอด เกือบสองชั่วโมงผ่านไป มีรถข้ามลำห้วยผ่านมาคันหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถจะไปกับเขาได้ เพราะเป็นรถที่บรรทุกของมาเต็มคันเต็มกระบะเลย โดยมีสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นคือโลงศพ ในรถคันนั้นมีโลงศพอยู่ด้วย คนขับพอจะบอกให้ผมทราบว่า ข้างบน (บ้านห้วยน้ำริน) นั้นมีงานศพ ต้องเตรียมโลงไปใส่ศพ เป็นอันว่า ผมไม่ได้เดินทางร่วมกับรถที่ไปซื้อโลงศพ คงต้องรอต่อไป

เพื่อไม่เป็นการเสียเวลาอีกต่อไป ผมตัดสินใจแบกเป้อีกครั้ง แล้วก้มหน้าเดินล่วงหน้าไปพลางๆ ทั้งที่รู้ว่าหนทางสู่ห้วยน้ำรินเป็นทางขึ้นเขายาว 10 กม. การจะเดินไปให้ถึงนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสาหัส แต่ ณ เวลานี้การเดินไปตามถนนดินที่เปียกแฉะได้เห็นป่าสองข้างทางบ้าง ก็ยังเป็นการดีกว่านั่งๆ นอนๆ รอรถอยู่อย่างมีหวัง

เสียงรถยนต์บนทางหลวงที่ผมพึ่งจากมาเริ่มแผ่วเบาและเงียบหายไปในที่สุด พื้นผิวถนนที่เฉอะแฉะทำให้การเดินลำบากยิ่งขึ้น ดินโคลนเริ่มเกาะรองเท้ายิ่งเดินยิ่งหนัก บ่อยครั้งที่ต้องเอาเท้าไปถูกับหญ้าข้างทาง ผมเดินมาเกือบ 2 กม. เห็นจะได้ ระหว่างพักเหนื่อยอยู่ข้างทางผมได้ยินเสียงรถกระบะดังมาแต่ไกล ตอนนี้ผมเริ่มมีหวังว่า ชีวิตผมจะสะดวกสบายขึ้น

ครั้งแรกที่รถกระบะสีแดงจอด ผู้ที่เป็นคนขับถามผม จะไปไหน ผมรีบตอบกลับไปว่า จะโครงการหลวงห้วยน้ำริน งั้นไปด้วยกันได้ คนขับตอบอย่างมีไมตรี ผมรีบขึ้นไปทางท้ายกระบะทั้งที่ไม่ค่อยจะมีที่ให้ขึ้นมากนัก ภายในกระเต็มไปด้วยผักสด เนื้อไก่ เนื้อหมู ข้าวสาร ฯลฯ ผมถามคนที่นั่งอยู่ด้านหลังด้วยกันก็ทราบว่า อาหารที่ซื้อมานี้ เขากำลังจะเตรียมไปจัดเลี้ยงงานศพที่บ้านห้วยน้ำริน ซึ่งก็คืองานเดียวกันกับรถคันที่ขนโลงศพคันที่ผ่านไป

ถนนดินลูกรังที่ถูกฝนกระหน่ำมาทั้งคืนอย่างนี้ คนขับต้องใช้ความชำนาญเป็นอย่างมาก บางช่วงต้องจอดและคิดดูก่อนว่าจะหลบเลี่ยงไปทางไหน แต่อีกไม่กี่เดือนข้างนี้ทางสายนี้จะเปลี่ยนเป็นถนนลาดยาง การคมนาคมระหว่างบ้านห้วยน้ำริน สู่ถนนสายหลักคงจะสะดวกมากยิ่งขึ้น

รถมาจอดที่บ้านงานศพ หลังจากช่วยกันนำของลงจากรถแล้ว ผมยังคงต้องเดินเท้าต่อขึ้นไปยังโครงการหลวงฯ หมู่บ้านห้วยน้ำรินเป็นหมู่บ้านที่เงียบสงบ ชาวบ้านมีอัธยาศรัยไมตรียิ้มแย้มบ่งบอกถึงการต้อนรับ มีการเลี้ยงวัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ไว้ภายในบ้าน ไม่นานนักผมเดินขึ้นไปถึงที่ทำการโครงการหลวงห้วยน้ำริน ที่นี่ผมได้พบกับ เจ้าหน้าที่ของโครงการหลวงหลายท่าน และได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างดีตลอดจนเสร็จสิ้นการเก็บภาพงานกินข้าวใหม่ของชาวมูเซอในทริปนี้

เก็บข้าวของเข้าที่พัก ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ของโครงการหลวงได้จัดเตรียมไว้ให้แล้ว ผม และ คุณมงคล คุณธิดารัตน์ เจ้าหน้าที่ของโครงการหลวงฯ ได้ออกเที่ยวชมหมู่บ้านของชาวมูเซอห้วยน้ำริน ซึ่งวันนี้เป็นวันทำพิธีกินข้าวใหม่ เป็นพิธีที่ชาวมูเซอนำผลผลิตที่ได้เรือกสวนไร่นา มาเซ่นไหวผีและบรรพบุรุษ เพื่อเป็นการแสดงถึงความขอบคุณในการปกป้องดูแลรักษาผลผลิตให้แก่ตน พิธีจะเริ่มต้นตั้งแต่เช้ามืด แต่ละบ้านจะฆ่าหมู ฆ่าไก่ มาต้มกินกับข้าวใหม่ ในวันนี้ชาวมูเซอจะหยุดการทำงาน แต่ละครอบครัวจะไปมาหาสู่กันและกัน บ้างก็จะจับกลุ่มนั่งคุย หรือไม่ก็จะออกไปเยี่ยมญาติของตนยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง ถือได้ว่า ในวันนี้เป็นวันหยุดพักผ่อนของชาวมูเซอเลยทีเดียว

บ้านหลังแรกที่ผมได้ขึ้นไปเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวมูเซอ คือ บ้านของ จะหา จะหา เป็นชายอายุประมาณ 22 ปี มีความสามารถพูดได้ทั้งภาษาไทย และภาษามูเซอ ได้รับการฝึกอบรมจากโครงการหลวงฯ ให้มีหน้าที่ดูแลนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวชมยังหมู่บ้านห้วยน้ำริน บ้านหลังนี้ถูกยกสูงจากพื้น ฝาบ้านทำจากไม้ไผ่สาน มีห้องสี่เหลี่ยมประมา ม. อยู่สองห้อง ห้องหนึ่งตรงกลางมีเตาไฟไว้หุงต้มอาหาร ทันที่ที่ได้นั่งลงตรงกลางบ้าน พ่อแม่ของจะหา ได้ยกสำรับกับข้าวที่ประกอบไปด้วย หมูต้ม น้ำพริก แตงกวา กระหล่ำปลี ฯลฯ และที่ขาดไม่ได้ คือ น้ำชา ชาวมูเซอนิยมดื่มน้ำชากันมาก แต่ชาที่นี่จะออกรสขมกว่าชาที่อื่นๆ ทั้งนี้เป็นเพราะกระบวนการบ่มที่ไม่พิถีพิถันมากนัก แต่นายจะหาได้บอกกับเราว่า ชาที่นี่เป็นชาเบอร์ 12 ซึ่งเป็นชาชนิดเดียวกันกับที่ปลูกที่ดอยแม่สลอง เพียงแต่แตกต่างกันตรงที่ระบบการบ่มเท่านั้นเอง ผมขอยอมรับว่าอาหารมื้อนี้ไม่ค่อยคุ้นลิ้นผมนัก แต่คุณมงคล ที่ได้สละเวลามาดูแลได้สะกิดบอกว่า อย่างน้อยควรจะกินสักหน่อย เพราะชาวมูเซอเขาจะถือว่าเป็นการให้เกียรติเขา

นอกจากบ้านของจะหาแล้ว ผมได้ขึ้นไปเยี่ยมชมบ้านหลังใกล้ๆ กันอีกหลายบ้านหลายหลัง แต่ละหลังก็ต้อนรับผมดุจเป็นญาติมิตรที่คุ้นเคยกันมานาน และเช่นกันผมต้องชิมฝีมือการทำกับข้าวของทุกๆ บ้าน เพื่อไม่ให้เจ้าภาพจะเสียน้ำใจ ซึ่งแต่ละบ้านก็มีกับข้าวเหมือนๆ กัน โดยจะมีหมูเป็นหลัก หากเพื่อนๆ ได้มาเที่ยวในวันนี้แล้ว ผมขอรับรองเลยครับว่าเพื่อนๆ ไม่ต้องเตรียมอาหารมากันเลย จนมาถึงบ้านหลังสุดท้ายคือบ้านของปู่จารย์

ปู่จารย์ เป็นผู้ที่ชาวมูเซอในหมู่บ้านให้ความเคารพนับถือ เมื่อปู่จารย์ พูดอะไรออกไป หรือตัดสินใจเรื่องอะไรออกไปผู้คนในหมู่บ้านล้วนให้การปฏิบัติตาม และในวันนี้ก็เช่นกัน วันงานกินข้าวใหม่ ที่บ้านปู่จารย์แห่งนี้ ในช่วงค่ำจะเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีเซ่นไหว้เทพเจ้า และมีกิจกรรมรื่นเริงคือการเต้นจะคึ กันไปจนรุ่งสางของวันใหม่ โดยมีปู่จารย์เป็นผู้นำในพิธี

สำหรับวันนี้ผมคงต้องยุติเรื่อง การกินข้าวใหม่กับชาวมูเซอ ตอนที่ 2 (เที่ยวบ้านมูเซอ) ไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ เพราะตั้งแต่เดินทางมาถึง น้ำท่าก็ยังไม่ได้อาบกับเขาเลย เดี๋ยวคืนนี้ต้องมาร่วมงานเต้นจะคึ กับชาวมูเซอดำต่ออีก แล้วพบกันใหม่ตอนหน้า ตอน คืนแห่งความสนุก ครับผม

โดย...นุ บางบ่อ 11/09/02

ภาพซ้าย : บ้านโป่งน้ำร้อน จุดแรกที่ผมได้มาลงจากรถสองแถวสาย เชียงใหม่ - เวียงป่าเป้า ที่นี่มีบ่อน้ำพุร้อนให้เที่ยวชม

ภาพขวา : กระเป๋าสัมภาระสามใบ ที่ติดตัวไปในทริปนี้

ภาพซ้าย : ป้ายทางเข้าโครงการหลวงห้วยน้ำริน สังเกตดีๆ จะอยู่ทางขวามือ บริเวณ กม.ที่ 63 - 64 ของทางหลวงหมายเลข 118

ภาพขวา : เห็นทางลูกรัง สายนี้แหละครับที่รอรถเพื่อขึ้นไปโครงการหลวงอยู่นาน

ภาพซ้าย : ลำห้วย ข้างทางหลวงสาย 118 มีสะพานเป็นต้นซุงให้รถขับข้ามไป แต่รถส่วนใหญ่ขอลุยน้ำข้าม ด้วยเหตุผลว่า ปลอดภัยกว่า

ภาพขวา : เริ่มเดินลุยไปจากจุดนี้ เพราะรอรถอยู่นานก็ไม่เห็นมีผ่านมา

ภาพซ้าย : รถกระบะ ขอลุยข้ามไปดีกว่าข้ามสะพานเก่า

ภาพขวา : รถกระบะที่ขนผักสด และเนื้อสัตว์ มาทำอาหารเลี้ยงแขกในงานศพ

ภาพซ้าย : ระหว่างทางผ่านบ้านห้วยม่วง เป็นหมู่บ้านของชาวเขาเช่นกัน

ภาพขวา : ถนนกำลังก่อสร้าง การเดินทางในช่วงนี้ค่อนข้างลำบาก

ภาพซ้าย : รถจอดที่บ้านงานศพ ผมเลยต้องลงตรงนี้แล้วเดินเท้าต่อขึ้นไปยังที่ทำการโครงการหลวงฯ

ภาพขวา : ลานจะคึหน้าบ้านปู่จารย์ มีไว้เพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆ

ภาพซ้าย : หมูป่าตัวน้อย ใต้ถุนบ้านนายจะหา กำลังสนุกอยู่กับบ่อโคลน

ภาพขวา : เตาไฟในบ้านของจะหา

ภาพซ้าย : หมูป่าต้ม ขึ้นบ้านไหนก็เจอทุกบ้าน ชาวมูเซอนิยมกินกันมาก เค็มๆ หวานๆ

ภาพขวา : ลาบเลือด แบบดิบๆ โอ้ว...

ภาพซ้าย : คุณวิโรจน์ (ใส่เสื้อยีนส์) หน.โครงการการหลวงฯ และเจ้าหน้าที่ในโครงการ ร่วมงานกินข้าวใหม่ด้วยกันอย่างเป็นกันเอง

ภาพขวา : ญาติๆ ของนายจะหา กำลังเตรียมกับข้าว

ภาพซ้าย : ผลผลิตของชาวมูเซอ ที่นำมาในประกอบพิธี

ภาพขวา : ปู่จารย์ ผู้นำหมู่บ้านมูเซอห้วยน้ำริน ระหว่างนั่งคุยถึงรายละเอียดเกี่ยวกับพิธีนี้

ภาพขวา : ชาพื้นบ้านของชาวมูเซอ รสขมนิดๆ บางคนบอกว่าถ้ากินมากๆ อาจจะนอนไม่หลับได้ เพราะจะออกฤทธิ์คล้ายๆ กับกาแฟ

ภาพซ้าย : หมู่บ้านมูเซอห้วยน้ำริน จำนวนประมาณ 81 หลังคาเรือน

ภาพซ้าย : นายจะอือ ผู้นำหมู่บ้านมูเซอบ้านดอยมด (อีกหมู่บ้านหนึ่งใกล้ๆ กัน) กำลังต้มหมูให้กินเพื่อเป็นการรับแขก

ภาพขวา : ภรรยาของนายจะอือ กำลังตัดเย็บเสื้อให้ลูกสาววัย 5 ขวบ ใส่ในงานการเต้นจะคึ คืนนี้

ภาพซ้าย และภาพขวา : เด็กๆ ชาวมูเซอ วิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน รอเวลาแห่งความสุขที่จะเกิดขึ้นในค่ำคืน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook