รถไฟใต้ดิน...อีกทางเลือกใหม่ของคนกรุง

รถไฟใต้ดิน...อีกทางเลือกใหม่ของคนกรุง

รถไฟใต้ดิน...อีกทางเลือกใหม่ของคนกรุง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

[dsc01044.jpg] เกาะติดรถไฟใต้ดิน .....นายนก

ด้วยสภาพการจราจรที่เข้าขั้นวิกฤติ แม้จะมีรถไฟฟ้ามาช่วยบรรเทาความทุกข์ยาก ของคนสัญจรในเมืองหลวงได้บ้าง แต่ก็เป็นเพียงแค่บางจุดในเมือง ส่วนบริเวณอื่นก็เป็นเหมือนลูกเมียน้อย ที่ต้องทนรับกรรมไปพลางๆก่อน แต่ปัจจุบันอาจจะด้วยกรรมดีที่ทำไว้แต่ชาติที่แล้ว หรือถึงเวลาที่อะไรๆต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว จึงทำให้เกิดการขนส่งอีกรูปแบบหนึ่งที่นอกเหนือไปจาก หน้าเดิมๆอย่างรถเมล์ รถแท็กซี่ และรถไฟฟ้า เพียงแต่เราอาจจะไม่ได้เห็นมันมาวิ่งบนท้องถนน หรือท้องฟ้าให้เกะกะสายตาประชาชี หากแต่กลับวิ่งอยู่ข้างใต้เท้าเราๆท่านๆนี่เอง นั่นคือ รถไฟฟ้าใต้ดิน

รถไฟฟ้าใต้ดินนี้ เป็นผลพวงจากการจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานครเมื่อ พ.ศ. 2535 และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า MASS RAPID TRANSIT AUTHORITY OF THAILAND (MRTA) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดอื่นตามที่กำหนด โดยพระราชกฤษฎีกาหรือระหว่างจังหวัดดังกล่าว ทั้งยังศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำโครงการและแผนงานเกี่ยวกับรถไฟฟ้า และดำเนินธุรกิจด้านนี้อีกด้วย

ปัจจุบัน รัฐบาลได้มอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รวมทั้งสิ้น 4 โครงการ ได้แก่

1.โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (เริ่มต้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง - สามย่าน - สีลม - ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ - อโศก - ห้วยขวาง - สุทธิสาร - สถานีขนส่งสายเหนือ - สถานีรถไฟบางซื่อ) รวมระยะทาง 20 กิโลเมตร

2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง - บางแค ( เริ่มจากจุดปลายโครงการรถไฟฟ้า สายเฉลิมรัชมงคล บริเวณหัวลำโพง - เยาวราช - เฉลิมกรุง - วังสราญรมย์ - ปากคลองตลาด - ท่าพระ - บางแค - ถนนวงแหวนรอบนอก) รวมระยะทาง 13.8 กิโลเมตร

3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ - สะพานพระนั่งเกล้า (เริ่มจากจุดปลายโครงการรถไฟฟ้า สายเฉลิมรัชมงคล บริเวณบางซื่อ - สามแยกเตาปูน - สี่แยกวงศ์สว่าง - สามแยกนนท์ - สะพานพระนั่งเกล้า) รวมระยะทาง 11.6 กิโลเมตร

4.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางกะปิ - ราษฎร์บูรณะ (เริ่มจากบางกะปิ - ลำสาลี - รามคำแหง - ห้วยขวาง - ดินแดง - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ - สวนสัตว์ดุสิต - สามเสน - หอสมุดแห่งชาติ - อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย - เฉลิมกรุง - วงเวียนใหญ่ - บางปะแก้ว - ราษฎร์บูรณะ) รวมระยะทาง 34.6 กิโลเมตร

โดยทั้งสี่โครงการนี้ พี่น้องผองเพื่อนทั้งหลายคงต้องใช้ระยะเวลารอไปอีกจนถึงปี พ.ศ.2547 โน่น กว่าจะได้ยลโฉมของใหม่ใต้ดินกรุงเทพฯ แต่มีเสียงยืนยันจากเจ้าหน้าที่ของ รฟม.แจ้งว่า โครงการที่ 1 นั้นจะเปิดให้บริการก่อนในกลางปี พ.ศ.2547 แน่นอน

พูดถึงเส้นทางรถไฟฟ้า แต่ไม่เอ่ยถึงชานชาลาสถานีก็ดูจะกระไรอยู่ เราเพิ่งได้มีโอกาสลงไปเยี่ยมชมการ ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแถวพระราม 9 เมื่อเร็วๆนี้ สิ่งแรกที่จะเห็นได้ชัดเจนก็คือ ทางขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดินที่อยู่สูงจาก พื้นถนนในระดับที่น้ำจะท่วมไม่ถึง เมื่อลงไปแล้วก็จะเจอกับลานกว้างๆที่ต่อมาทราบว่า ต่อไปจะเป็นบริเวณที่ตั้งร้านขายของต่างๆ ให้ผู้ใช้บริการเลือกซื้อสินค้า ลงมาข้างล่างอีกชั้น ก็ยังเป็นลานกว้างๆเหมือนชั้นบน แต่อีกไม่นานก็จะกลายเป็นชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสารที่กว้างที่สุด ส่วนชั้นล่างสุด จะเป็นชั้นที่รถไฟฟ้าใต้ดินจะเข้ามาเทียบสถานี โดยที่จะมีประตูเปิด-ปิดเวลารถไฟฟ้าจอดเทียบ กันไว้มิให้ผู้ใดตกหล่นไปบนรางรถไฟฟ้า ดูมีความสะดวกสบายและทันสมัยแฝงอยู่ในตัว แม้ว่าจะยังมีฝุ่นผงและคราบสกปรกต่างๆ จากการก่อสร้างที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เห็นอยู่ก็ตาม

นอกจากส่วนของรถไฟฟ้าใต้ดินที่คอยอำนวยความสะดวกผู้สัญจรไปมาแล้ว สำหรับคนที่มีรถส่วนตัว และต้องการใช้บริการรถไฟฟ้า ก็จะมีอาคารจอดแล้วจร ให้ผู้ใช้บริการนำรถเข้าไปจอดได้ โดยจะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 9 ชั้น เชื่อต่อกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีลาดพร้าว สะพานพระนั่งเกล้า บางกะปิ บางแค และบริเวณราษฎร์บูรณะ มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆมากมายและระบบรักษาความปลอดภัยอย่างดี เพื่อให้การเดินทางของผู้ใช้บริการเป็นไปด้วยดีและถึงปลายทางอย่างราบรื่น (คำคุ้นๆนะ)

ท้ายสุดนี้ เราขอบอกว่า แม้ว่าจะต้องร้องเพลงรอไปพลางก่อนๆ แต่ก็เชื่อได้ว่าเป็นการร้องเพลงที่คุ้มที่สุด ถ้าไม่เกิดอุปสรรคอันใดเสียก่อน รับรองได้แน่นอนว่า คนไทยได้ใช้รถไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างแน่นอน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่)

[dsc01047.jpg]
[dsc01051.jpg] [dsc01085.jpg]
[dsc01115.jpg] [dsc01120.jpg]
[dsc01123.jpg] [dsc01140.jpg]
[dsc01154.jpg] [dsc01155.jpg]
แนวเส้นทาง สถานีรถไฟหัวลำโพง - สามย่าน - สีลม - ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ - อโศก - ห้วยขวาง - สุทธิสาร - ลาดพร้าว - สถานีขนส่งสายเหนือ - สถานีรถไฟบางซื่อ

ระยะทาง ประมาณ 20 กิโลเมตร

สถานี 18 สถานี มีทั้งแบบชานชาลากลาง ชานชาลาข้าง และชานชาลาซ้อนกัน มีความยาวประมาณ 200 เมตร กว้าง 23 เมตร (สถานีมาตรฐาน) มีประตูชานชาลา (platform screen door)

ที่จอดรถสำหรับผู้โดยสาร 1 แห่ง ที่ลาดพร้าว จอดรถได้มากกว่า 2,000 คัน

ระบบรถ รถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (heavy rail) ใช้ล้อเหล็กวิ่งบนรางเหล็ก เป็นรถปรับอากาศขนาดกว้าง 3.2 เมตร ยาว 19-23 เมตร ความจุ 320 คน/คัน แต่ละขบวนประกอบด้วยรถ 3 หรือ 6 คันต่อขบวน ใช้ไฟฟ้า 750 โวลท์ กระแสตรงป้อนระบบขับเคลื่อนรถ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับขับเคลื่อนตัวรถ ควบคุมการเดินรถด้วยระบบอัตโนมัติจากศูนย์ควบคุม ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ระบบราง รางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Guage) กว้าง 1.435 เมตร โดยมีรางที่ 3 (Third rail) วางขนานกันไปกับรางวิ่ง สำหรับจ่ายไฟฟ้าให้ตัวรถ ความลาดชัน ไม่เกิน 4.5%(แนวราบ 1 เมตร แนวดิ่ง 4.5 เซนติเมตร) รัศมีความโค้ง ไม่เกิน 200 เมตร

อุโมงค์ทางวิ่ง เป็นอุโมงค์คู่วางตามแนวราบ ยกเว้นช่วงสถานีสามย่าน ถึงสถานีลุมพินี เป็นอุโมงค์ซ้อนกันตามแนวดิ่ง เส้นผ่าศูนย์กลาง ภายในอุโมงค์ 5.7 เมตร ความลึกของอุโมงค์ 15-25 เมตร ผนังอุโมงค์หนา 0.30 เมตร มีทางเดินฉุกเฉินในอุโมงค์ กว้าง 0.6 เมตร สูง 2.0 เมตรเครื่องขุดเจาะอุโมงค์ (รายละเอียดคลิกที่นี่) - เป็นแบบสมดุลแรงดันดิน (Earth Pressure Balance Shield) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายนอก 6.46 เมตร จำนวนเครื่องขุดเจาะอุโมงค์ที่ใช้ในโครงการมีจำนวนทั้งสิ้น 8 ชุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook