งานฉลองเสาชิงช้า พุทธศักราช 2550

งานฉลองเสาชิงช้า พุทธศักราช 2550

งานฉลองเสาชิงช้า พุทธศักราช 2550
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ข่าวจากกรุงเทพมหานคร นุ บางบ่อ ... ภาพ ออนไลน์เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2550

วันที่ 11-13 กันยายน 2550  ณ บริเวณลานคนเมืองและเสาชิงช้า กรุงเทพฯ 

     เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 50 เวลา 11.00 น. ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าว การจัดงานฉลองเสาชิงช้า พุทธศักราช 2550 โดยมีคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว ซึ่งภายในงานมีการสาธิตนิทรรศการ และแสดงของที่ระลึกที่จะน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้ชมด้วย

    ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกรุงเทพมหานครได้บูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า โบราณสถานสำคัญของชาติจนแล้วเสร็จในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และเสาชิงช้าเป็นโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับราชประเพณีและบรมราชวงศ์จักรีมายาวนานตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รวมอายุ 223 ปี กรุงเทพมหานครจึงทำหนังสือกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีฉลองเสาชิงช้าอย่างเป็นทางการ  

เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีฉลองเสาชิงช้า 13 ก.ย. 50     กรุงเทพมหานครได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีฉลองเสาชิงช้าอย่างเป็นทางการ โดยเสด็จฯ มาถึงพลับพลาพิธี เวลา 17.00 น. มีกองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ทรงจุดธูปเทียนบูชาเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร จากนั้นทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่ง พระราชทานให้พระราชครูวามเทพมุนี

  หัวหน้าพราหมณ์อัญเชิญไปสักการะเทวรูปที่เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ ก่อนจะเสด็จฯ ไปยังเสาชิงช้า เพื่อทรงพระสุหร่าย ฉีดที่เสาชิงช้า และพระราชทานผ้าสีชมพูให้กรุงเทพมหานครอัญเชิญไปผูกที่เสาชิงช้า เป็นการประกอบพิธีฉลองเสาชิงช้าอย่างเป็นทางการ โดยทั้งสองพระองค์จะเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการเรื่องราวของเสาชิงช้า ประกอบด้วย ประวัติการสร้างเสาชิงช้า และการบูรณปฏิสังขรณ์ พิธีตรียัมปวาย พิธีโล้ชิงช้า ความหมายของการช้าหงส์ และความหมายของพราหมณ์ นาลิวัน ผู้โล้ชิงช้า  

น้อมเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก     ในโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดทำของที่ระลึกเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย ประกอบด้วย พระศรีศากยมุนีเนื้อทองคำ กำกับหมายเลข 1-9 จำนวน 9 องค์ พระศรีศากยมุนี เนื้อเงิน กำกับหมายเลข 1-9 จำนวน 9 องค์ พระชุดเสาชิงช้า ประกอบด้วย พระ 9 องค์ จำนวน 1 ชุด เทวรูปพระตรีมูรติ ขนาดกว้าง 12 นิ้ว สูง 88 ซม. จำนวน 1 องค์ และเสาชิงช้าจำลอง ทำจากเนื้อไม้สักทอง อายุกว่า 100 ปี ต้นเดียวกับที่ใช้ทำเสาชิงช้าต้นหลัก ขนาดย่อส่วนจากของจริง 1 : 25 

11 ก.ย. วันสุกดิบ     งานฉลองเสาชิงช้า พ.ศ. 2550 กำหนดจัดเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 11-13 ก.ย. 50 โดยมีการประกอบพิธีตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เน้นให้ความรู้แก่ประชาชนถึงประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง กิจกรรมหลักภายในงานฉลองเสาชิงช้าประกอบด้วย พิธีพุทธ-พราหมณ์ พิธีเปิดงาน นิทรรศการ รถรางชมเมือง การสาธิตและการแสดงลานวิถีไทย การประกวดภาพถ่าย มหัศจรรย์เสาชิงช้า และมหรสพเฉลิมฉลอง 

    กิจกรรมงานฉลองเสาชิงช้า เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. 50 เวลา 14.00 น. พิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงการสถาปนาเมืองพี่เมืองน้องระหว่างกทม. กับจังหวัดแพร่ ที่ได้มอบไม้สักทองทั้ง 6 ต้น ให้กทม. มาบูรณปฏิสังขรณ์ช้า จากนั้นเป็นพิธีมอบรางวัลผู้ชนะ การประกวดภาพถ่าย มหัศจรรย์เสาชิงช้า

ต่อเนื่องด้วยการเปิดนิทรรศการงานฉลองเสาชิงช้า และการเปิดกิจกรรมทัศนศึกษารถรางชมเมืองรอบกรุงรัตนโกสินทร์รอบปฐมฤกษ์ และเวลา 15.00 น. จะเริ่มพิธีเจริญพระพุทธมนต์ หรือสวดมนต์เย็น โดยพระราชาคณะ 10 รูป ณ บริเวณลานคนเมือง ซึ่งเป็นกิจกรรมตามธรรมเนียมไทยที่จะมีการสวดมนต์เย็นในวันสุกดิบก่อนจะมีงานใหญ่ในวันรุ่งขึ้น โดยมีการปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรีไทยและการแสดงประชันปี่พาทย์ซึ่งหาชมได้ยาก นำโดยวงกรุงเทพมหานครและวงศ์ปี่พาทย์ ชั้นนำอีก 4 วง 

12 ก.ย. วันฉลองเสาชิงช้า     วันที่ 12 ก.ย. 50 จะเริ่มตั้งแต่เวลา 07.00 น. พิธีทำบุตรตักบาตรพระสงฆ์ 81 รูป และเปิดให้ชมนิทรรศการรอบบริเวณงาน ตั้งแต่ 09.00 น. ขณะเดียวกันก็จะมีการประกอบพิธีชุมนุมเทวดา อ่านโองการโดยครูพินิจ ฉายสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ การรำแก้บน คณะเรืองนนท์ นำโดยครูบุญสร้าง เรืองนนท์ ศิลปินกรมศิลปากร ณ เทวสถาน โบสถ์พราหมน์ และการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เวลา 17.00-18.00 น. โดยกรุงเทพมหานครเชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความจงรักภักดีด้วยการสวมเสื้อสีเหลืองมาร่วมเฝ้าฯรับเสด็จที่ลานคนเมือง ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจให้ชมด้วย 

     จากนั้นในช่วงเย็นเวลา 18.00-22.00 น. จะมีการแสดงลานวิถีไทยและมหรสพบนเวที ซึ่งมหรสพที่นำมาแสดงนี้เป็นการรวมตัวของศิลปินแห่งชาติจากกรมศิลปากรที่หาชมได้ยาก เช่น ขับเสภา ซึ่งจะเกริ่นเรื่องสร้างพระนคร นำโดยครูสมชาย ทับพร จากกรมศิลปากร คุณนฤพนธ์ ดุริยพันธุ์ ศิลปินอิสระ การแสดงโขนชุด สร้างพระนคร โดยคณะโขนกรมศิลปากร ละครชาตรี เรื่อง ระเด่นลันได นำแสดงโดย ครูมืด (ประสาท ทองอร่าม) จากกรมศิลปากร ในช่วงเวลา 21.00-22.00 น. การแสดงหุ่นละครเล็ก ร่วมกับวงดุริยางค์ทหารบก ประกอบด้วยการแสดงทั้ง 9 ชุด ได้แก่ ระบำครุฑเฉลิมพระเกียรติ ระบำศรีชัยสิงห์ รำโนราห์ กินรีร่อน วีรชัยลิง กลองยาว-โปงลาง โจโจ้ซัง (ญี่ปุ่น) อารีดัง (เกาหลี) และการแสดงแปดนางฟ้า (จีน) 

13 ก.ย. เฉลิมฉลองต่อเนื่อง      วันที่ 13 ก.ย. 50 เป็นการเฉลิมฉลองต่อเนื่องอีกหนึ่งวัน ซึ่งจะเปิดให้ชมนิทรรศการรอบบริเวณงานตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป มีการรำแก้บนที่โบสถ์พราหมณ์ ในช่วง 09.00-17.00 น. ส่วนบริการรถรางชมเมือง มีตั้งแต่ 10.00-16.00 น. จากนั้นเวลา 18.00-21.00 น. เป็นการแสดงที่น่าสนใจมาก คือ เมดเลย์ มหรสพกรุงรัตนโกสินทร์ แรกสร้างกรุงเทพฯ ถึงปัจจุบัน โดยมีการร้อยเรียง ละครชาตรี ลิเก ปี่พาทย์ภาษา แตรวง และลูกทุ่ง กำกับโดยครูมืด จากกรมศิลปากร ต่อด้วยการแสดงหุ่นละครเล็ก ทั้ง 9 ชุด แสดงร่วมกับวงดุริยางทหารบก จนถึงเวลา 22.00 น.  

สัปดาห์ก่อนงานฉลอง      ก่อนที่จะถึงงานฉลอง กรุงเทพมหานครได้จัดกิจกรรมต่างๆ ตลอดสัปดาห์ โดยในวันที่ 4 ก.ย. 50 เชิญประชาคม ผู้ประกอบการ และประชาชน ย่านเสาชิงช้า มาร่วมประชุมเพื่อขอความร่วมมือในการจัดงานฉลองและรับเสด็จ ซึ่งถือว่าประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งนี้ด้วย 

    ส่วนวันที่ 5 ก.ย. 50 ทาง 5 สมาคมฯ ถ่ายภาพ จะมาชี้จุดและมุมมองการถ่ายภาพเสาชิงช้าที่สวยงาม โดยจะเชิญผู้ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดถ่ายภาพมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวิธีการถ่ายภาพเสาชิงช้า พร้อมทั้งมีการสาธิตการถ่ายภาพคู่กับเสาชิงช้า ซึ่งจะเป็นกิจกรรมหนึ่งในงานฉลอง สำหรับประชาชนที่อยากได้ภาพที่ระลึกในงานประวัติศาสตร์ และบริจาคเงินค่าภาพเข้ากองทุนเสาชิงช้า 

แท้จริงแล้วการโล้ชิงช้าเริ่มต้นที่ไหน      นอกเหนือจากการจัดงานฉลองแล้ว กรุงเทพมหานครยังอยากให้เยาวชน ประชาชนชาวไทย และสื่อมวลชน ได้มีความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของเสาชิงช้าว่า ต้นกำเนิดของเสาชิงช้า และพิธีโล้ชิงช้าแท้จริงนั้นมาจากไหน สมัยโบราณนั้นมีการโล้ชิงช้ากันอย่างไร โดยกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับคณะกรรมการกรุงเทพฯ ศึกษา จัดกิจกรรมเสวนา เรื่อง โล้ชิงช้า พิธีกรรมดึกดำบรรพ์ของสุวรรณภูมิ ไม่ใช่พิธีพราหมณ์ชมพูทวีป ในวันที่ 7 ก.ย. 50 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ซึ่งในวันนั้น ครูมืด จากกรมศิลปากร จะมาร่วมเล่าถึงความสำคัญและความน่าสนใจในการชมการแสดงมหรสพ และคำแนะนำในการชมนิทรรศการในงานฉลองเสาชิงช้า  

     รายละเอียดที่น่าสนใจของการจัดกิจกรรมในงานฉลองเสาชิงช้า พ.ศ. 2550 นั้น ยังมีอีกมากมาย ซึ่งสามารถติดตามได้ ในสัปดาห์ก่อนจะมีงานฉลองฯ โดยกรุงเทพมหานครจะแจ้งให้ประชาชนผู้สนใจทราบเป็นระยะ 

สอบถามรายละเอียดได้ที่ 
สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว  สำนักผังเมือง และกองประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร  โทร. 0 2221 2141-69 (ข่าวจากกรุงเทพมหานคร www.bma.go.th)

 เรื่องที่เกี่ยวข้อง เกร็ดความรู้เรื่องเสาชิงช้า และพิธีโล้ชิงช้า

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook