นั่งเรือยนต์...ตามเงาฝีพาย "กวีเอกของโลก"

นั่งเรือยนต์...ตามเงาฝีพาย "กวีเอกของโลก"

นั่งเรือยนต์...ตามเงาฝีพาย "กวีเอกของโลก"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นั่งเรือยนต์...ตามเงาฝีพาย "กวีเอกของโลก"

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 กรกฎาคม 2547 18:29 น.

ภาพมุมสูงจากหน้าต่างคอนโดมิเนียมสูงระฟ้า แลเห็นสายน้ำเล็กๆ ไหลผ่านใจกลางเมืองหลวง เมืองที่ครั้งหนึ่งได้รับสมญานามว่า "เวนิสตะวันออก"

ทริปนี้พวกเรามีโอกาสลงเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อตามเงาฝีพาย พระสุนทรโวหาร กวีเอกของโลก ผู้ได้ออกแจวล่วงหน้าพวกเราไปก่อนแล้วกว่าสองร้อยปี โดยมีโคลงนิราศ และบทกลอนของบรมครู คอยเป็นเข็มทิศชี้ทาง

ตามอัตชีวประวัติของท่านบอกว่า พระสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นบุตรของขุนศรีสังหาร (พลับ) และมารดาช้อย แม่นมของพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง สมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

กวีเอกท่านนี้ เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือนแปด ขึ้นหนึ่งค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาสองโมงเช้า ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 ที่บ้านใกล้กำแพงวังหลัง ริมคลองบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี

จากท่าน้ำคลองบางหลวง เรือยนต์ลัดเลาะชมสองฟากตลิ่งอยู่เพียงแค่สิบนาที ก็พาพวกเราเข้าสู่ดินแดนอันเป็นบ้านเกิดของบรมครูแห่งกาพย์กลอน

แต่ดูเหมือนว่า เรือยนต์ของพวกเราจะแล่นช้ากว่าฝีพายของผู้ดีบางกอกเสียแล้ว และเวลาที่ล่วงมากว่า218 ปี นั้นก็นานเกินพอที่จะทำให้บ้านเกิด และที่วิ่งเล่นของสุนทรภู่ เปลี่ยนไปเป็นสถานีรถไฟธนบุรี

"ที่บริเวณนี้ในสมัยรัชกาลที่ 1 คือพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือวังหลัง ถือเป็นบ้านเกิด และเป็นที่ใช้ชีวิตในวัยหนุ่มของสุนทรภู่

"หลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ก็ได้มีการรื้อโรงเรือนต่างๆ รวมถึงเครื่องใช้จากงานพระเมรุมาศ นำมาสร้างโรงพยาบาลเพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศล"

"และได้พระราชทานนามโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า โรงพยาบาลวังหลัง ก่อนเปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงพยาบาลศิริราช ในปัจจุบัน คงเหลือแค่ชื่อตรอกวังหลัง ให้เป็นที่เรียกขานเท่านั้น" วิทยากรประจำทริปเล่าภาพอดีตให้ฟัง

ความผูกพันในถิ่นฐานบ้านเกิดของสุนทรภู่ ปรากฏอยู่ในนิราศหลายเรื่อง รวมถึงในโคลงนิราศสุพรรณทรำพึงรำพันถึงวังหลังว่า

วังหลังครั้งหนุ่มเหน้า เจ้าเอย เคยอยู่ชูชื่นเชย ค่ำเช้า ยามนี้ที่เคยเลย ลืมพักตร์ พี่แฮ ต่างชื่นอื่นแอบเคล้า คลาดแคล้วแล้วหนอ ฯ

วันนี้แม้ม่านฉากเรือพ่วง เรือแพ ที่เคยลอยออกันอยู่เต็มปากคลองบางกอกน้อย เหมือนอย่างที่ท่านสุนทรภู่ เขียนไว้โคลงนิราศสุพรรณ จะไม่มีให้แลเห็น แต่ยิ่งเรือยนต์ลอยลำลึกเข้าไปในคลองบางกอกน้อยมากขึ้นเท่าใด ภาพวิถีชีวิตของชุมชนเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อนก็แจ่มชัดมากขึ้นเท่านั้น

ทิวทัศน์บ้านทรงไทยโบราณ ที่รายเรียงกันอยู่สองฟากคูคลอง ภาพวิถีชีวิตสองฟากฝั่งคลองที่ยังคงพึ่งพาสายน้ำอย่างเอื้ออาศัย และภาพเรือแจวขายผลไม้ ก๋วยเตี๋ยว โอเลี้ยง กาแฟ ฯลฯ ยังเป็นเค้าโครงบอกเล่าเรื่องราววันเก่าของคลองสายนี้ได้เป็นอย่างดี

เพียงครู่ใหญ่ พวกเราก็มาถึงท่าน้ำวัดวัดศรีสุดาราม หรือวัดชีปะขาว สถานที่ที่เป็นสำนักวิชาความรู้แห่งแรก เมื่อครั้งเยาว์วัยของสุนทรภู่ ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังมากในครั้งกระโน้น โดยคำกล่าวอ้างจากโคลงนิราศสุพรรณ บอกให้รู้ว่า หลังจากเรียนจบ ท่านก็ยังคงวนเวียนมาช่วยสอนเด็กๆ ในสำนักเดียวกันมิได้ขาด

ดังนั้น ที่วัดแห่งนี้จึงมีอนุสาวรีย์ของสุนทรภู่ ซึ่งเป็นรูปปั้นตอนเด็กไว้ผมจุก นั่งขัดสมาธิ ถือกระดานชนวนดูทะมัดทะแมง แปลกตาไปจากที่เคยพบเห็นในที่อื่นๆ

หลังจากที่เพลิดเพลินอยู่กับเรื่องราวการศึกษาของท่านอยู่นานสองนาน พวกเราจึงรีบลงเรือยนต์แล่นตามฝีพายพระสุนทรโวหาร ต่อไปจนถึงแยกคลองบางใหญ่ ซึ่งคุ้งน้ำทางซ้ายมือทอดตัวไปจังหวัดนครปฐม ที่ครั้งหนึ่งสุนทรภู่เคยใช้ลำคลองสายนี้ ไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ก่อนจะก่อเกิดเรื่องราวเป็นนิราศพระประธม

ขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับเรื่องในอดีตของกวีเอกท่านนี้ อาการเสียดายก็เกิดขึ้นในใจทันที เมื่อรู้ว่าการเดินทางตามรอยสุนทรภู่ในครั้งนี้ มาถึงปลายทางเสียแล้ว โดยเวลาพลบค่ำได้ลบเงามหากวีแห่งกรุงสยาม เสียสิ้นแล้ว พวกเราจึงได้แต่ทอดสายตามองแผ่นน้ำที่นอนอาบแสงสุดท้ายของตะวันอยู่แน่นิ่ง

คงมีเพียงแสงแรกของวันใหม่ กับคืนเดือนเพ็ญเท่านั้น ที่จะทอดเงาฝีพายของมหากวี ให้พวกเราได้เห็น และได้ติดตามกันต่อไป

ข้อมูลจาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook