สะพานพุทธจุดช้อปยอดฮิตยามราตรี

สะพานพุทธจุดช้อปยอดฮิตยามราตรี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สะพานพุทธจุดช้อปยอดฮิตยามราตรี
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 19 พฤศจิกายน 2547
เสื้อผ้าทั้งมือ 1 มือ 2 สินค้าขายดีที่ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของสะพานพุทธ
วัยรุ่นนิยมมาสักลายหรือทำบอดี้เพนต์
พวกเด็กศิลปะจะมานั่งรับจ้างวาดรูป มีทั้งวาดรูปสีและแรเงาขาวดำ ภาพเหมือนและภาพล้อเลียน
รองเท้ามือสองมีตั้งขายให้เลือกซื้อเลือกหามากมาย
เครื่องประดับหินสีที่มีตั้งขายเหล่านี้ เป็นที่นิยมของผู้ที่ภายในตัวหินแต่ละ ชนิดแตกต่างกันไปมักจะม ีพลังธรรมชาติแอบแฝงให้กับผู้ที่ใส่
จี้แกะสลักเม็ดข้าวสาร กำลังขายดีใน หมู่วัยรุ่น นิยมซื้อไปห้อยคอ หรือเป็นของฝากที่ระลึก
เทียนหอมของประดับตกแต่งกระจุ๊กกระจิ๊กก็มีขาย
ไข่ปลาหมึกทอดของกินขายดีที่สะพานพุทธ
โดย : หนุ่มลูกทุ่ง ฉันจำไม่ได้ว่า ตลาดช้อปปิ้งของถูก ของเก่า ของมือสอง และของโจร จากคลองหลอดถูกย้ายไปตั้งที่สะพานพุทธ(ฝั่งกรุงเทพฯ)ในปีไหน แต่ที่รู้ก็คือหลังจากนั้นมาย่านสะพานพุทธก็มีชื่อเสียงขึ้นมาเรื่อยๆในฐานะแหล่งช้อปปิ้งยามราตรี ที่ช่วงแรกๆราคาสินค้าค่อนข้างถูก แต่มา ณ วันนี้ของบางอย่างราคาแพงระยับ แต่กระนั้นชื่อของสะพานพุทธก็ติดลมบนในฐานะแหล่งช้อปปิ้งยามราตรีไปแล้ว ช่วง 3-4 ปีที่แล้ว เวลาฉันไปเดินหาซื้อของถูกใจถูกตังค์ที่สะพานพุทธ สิ่งที่มักจะได้กับมาเป็นโปรโมชั่นก็คือภาพน่ามองของพวกสาวๆวัยรุ่น ทั้ง สายเดี่ยว เกาะอก ดูแล้วจ๊าบสุดๆ มายุคนี้ สายเดี่ยว เกาะอก เหลือน้อย แต่ว่าพวกเด็กแนวกับมีให้เห็นเพียบ แต่ก็อย่างว่าแหละสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เช่นเดียวกับสะพานพุทธ ที่จุดก่อกำเนิดนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อใช้ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช(รัชกาลที่ 1) อันเป็นที่มาของชื่อ สะพานพระพุทธยอดฟ้า (สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์) หรือที่คนมักเรียกสั้นๆว่า สะพานพุทธ โดยสะพานพุทธสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. พ.ศ. 2474 นอกจากนี้สะพานพุทธยังเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ของ ร.1 รวมถึงมีลานสาธารณะให้คนมาใช้พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งที่ลานตรง ร.1 นี่ ฉันจำได้ดีว่าสมัยวัยรุ่น เพื่อนที่สวนกุกลาบจะชวนไปเตะฟุตบอลแถวนั้นบ่อยๆ สมัยนั้นช่วงเย็นไปยันค่ำที่ลาน ร.1 จะมีคนมาเตะบอลกันเพียบเลย ส่วนตอนกลางคืนจะเงียบเหงา เพราะคนไม่ค่อยอยากผ่านเพราะพวกสิงห์ขี้ยามีเยอะ แต่ว่ามาในวันนี้ลาน ร.1 ช่วงกลางคืนจะมีพวกเด็กแนวออกมาโชว์ลีลาสเก็ตบอร์ดหัวทิ่มหัวตำกันเป็นประจำ และหากใครบังเอิญเดินผ่านไปแถวมุมมืดแถวนั้นบางทีสายตาอาจจะไปจ๊ะเอ๋กับวัยรุ่นหลายๆคู่ ที่ไปนั่งกุ๊กกิ๊ก จู๋จี๋ กอดจูบลูบคลำ รวมถึงขยำกันแถวนั้น แหมพวกเขาไม่รู้หรือไงว่าที่ตรงนั้นคือบริเวณอนุสาวรีย์ของปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีที่ทำให้เรามีทุกวันนี้ได้ เอาหละ วกกลับมาดู สีสันยามราตรีที่สะพานพุทธกันดีกว่า ถึงแม้ว่าจะชื่อสะพานพุทธ แต่หากใครไปในวันพุธก็ต้องพบกับความผิดหวังเพราะร้านรวงต่างๆเขาหยุดขายหนึ่งวันตามนโยบายกทม. เวลาไปเดินสะพานพุทธ ฉันมักจะเลือกเดินตามทางของมหาชนนิยม(ไม่ใช่ตามแนวทางของพรรคมหาชน) โดยเดินผ่านดง สัก ที่ไม่ใช่ต้นสัก แต่เป็นย่านของคนรับจ้างสักตามเนื้อตัว ที่เมื่อเมียงมองไปก็จะเห็นพวกเจ้าของร้านผู้ชายทั้งหลายยืนถอดเสื้อขายของโชว์รอยสักกันด้วยความภาคภูมิ ทั้งลายมังกร ลายรูปหัวใจ ลายนู้ด ลายแอ๊บสแตร๊ค และอีกหลายลาย ตามกระแสแฟชั่นสักนิยม ซึ่งแตกต่างกับรอยสักยันต์แบบโบราณของพวกผู้เฒ่าผู้แก่ที่บ้านฉัน ครั้นผ่านจากดงสักไปก็จะเจอโซนเครื่องแต่งกายที่ถือเป็นโซนไฮไลท์ของสะพานพุทธ สินค้าที่วางขายก็มีทั้ง เสื้อยืด เสื้อเชิร์ต เสื้อมือสอง เสื้อตามแฟชั่นนิยม กางเกงยีนส์ กางเกงทั่วไปขาสั้น-ยาว รองเท้าแบบมือหนึ่งและมือสอง สร้อยกำไล นาฬิกา ตุ๊กตา ของกระจุ๊กกระจิ๊กเล็กๆ น้อยๆ ตั้งขายมากมาย รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงก็มีมาตั้งขายด้วยเหมือนกัน ปเดินกับฉันมักจะโดนโซนนี้ดูดตังค์กระเป๋าแฟบเสียทุกที่ไป เท่านั้นยังไม่พอ บางทียังกระเทือนมาถึงตังค์ในกระเป๋าฉันอีกด้วย พ้นจากโซนเครื่องแต่งกายฉันเดินข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง ที่ฉันขอเรียกว่าย่าน เด็กอาร์ต เพราะว่าเต็มไปด้วยพวกเด็กศิลปะ มารับจ้างวาดรูป หรือขายของทำมือด้านศิลปะกันเยอะแยะไปหมด มีทั้งวาดรูปแบบสีและแลเงา ทั้งภาพเหมือนและภาพล้อเลียน ระยะเวลาในการวาดก็ไม่นาน ถ้าเป็นภาพล้อเลียนก็จะเสร็จเร็วกว่า ฉันยืนมองศิลปินริมฟุตบาท ใจก็หวนคิดไปถึงคราวเมื่อตอนเป็นเด็ก ตอนเรียนวิชาศิลปะที่ครูให้วาดภาพ ฉันมีเพียงสมุดวาดภาพเล่มเล็กๆ กับดินสอไม้หนึ่งแท่งด้านปลายเป็นยางลบ นั่งริมคันนาท่ามกลางแสงแดดอ่อนและสายลมที่พัดไม่ขาดสาย มีเจ้าทุยเป็นนายแบบ มีท้องทุ่งนาเป็นสตูดิโอ โอ้ว...นี่ถ้าตั้งใจเรียนอย่างจริงจังป่านนี้คงรุ่งไปแล้ว(รุ่งริ่งน่ะ) ส่วนของทำมือมาแรงช่วงนี้ก็เห็นจะเป็นเม็ดข้าวสารเสก เอ้ย!!!ไม่ใช่ เป็นเม็ดข้าวแกะสลักต่างหาก ใครอยากบันทึกชื่อตัวเอง ชื่อแฟน หรือชื่อคนสำคัญไว้บนเม็ดข้าวก็ใช้บริการของร้านแกะสลักเม็ดข้าวแถวนั้นได้ เมื่อแกะสลักเสร็จแล้วส่วนมากก็จะไปคล้องคอ กลายเป็นของฝากที่ระลึกไป พวกวัยรุ่นหลายๆคนบอกว่านี่คืองานศิลปะที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเม็ดข้าว แต่หากไปถามคนเฒ่าคนแก่ที่บ้านฉัน พวกเขาคงมองต่างออกไป เพราะพวกเขาล้วนแต่นับถือแม่โพสพที่อยู่ในข้าว ซึ่งฉันจำได้ว่าตอนเด็กๆเวลากินข้าวเสร็จคุณตายังให้ยกมือไหว้ขอบคุณแม่โพสพเลย ก็อย่างว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปความคิดคนเราก็เปลี่ยนไปตาม ถัดจากกลุ่มศิลปินวาดภาพไปนิดหนึ่งก็จะเป็นร้านขายหิน แต่ไม่ใช่หินที่เขาเอาไปประดับสวนตกแต่งบ้าน เพราะที่นี้เขาไม่มี มีแต่หินที่เป็นเครื่องประดับและมีความเชื่อกันว่าภายในตัวหินแต่ละชนิดแตกต่างกันไปมักจะมีพลังธรรมชาติแอบแฝงให้กับผู้ที่ใส่ อาทิเช่น พลอยตาเสือ ทำให้ผู้ใส่มีความหนักแน่นในการตัดสินใจ หยก ช่วยทำให้ผู้ใส่มีจิตใจที่สงบ อเมทิสต์ ช่วยขจัดความเครียด รักษาโรคนอนไม่หลับ หรือช่วยปลอบใจคนที่ฝันร้าย เป็นต้น สำหรับฉัน อเมทิสต์ ขอแค่ดูผ่านๆก็พอ และพอเดินดูของนานๆ อาการหิวก็อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งของกินที่สะพานพุทธก็มีขายมากมาย ไมว่าจะเป็น ขนมจีนน้ำยา สารพัดลูกชิ้นปิ้ง ปลาหมึกปิ้ง น้ำดื่มแก้กระหายยามเดินมากจนเหนื่อย แต่ที่เด็ดสุดๆ เห็นจะเป็น ไข่ปลาหมึกทอด ที่กลิ่นหอมหวนชวนหม่ำ ซื้อมาแล้วกินไปเดินดูของไป อร่อยเพลินอย่าบอกใครเชียว การมาเดินเที่ยวที่สะพานพุทธ ชมสีสันแหล่งช้อปยามราตรี ดูสาวๆแต่งตัวสวยๆงามๆ พร้อมซื้อของที่ถูกใจติดมือกลับบ้าน ถือเป็นความเพลิดเพลินแบบง่ายๆของคนที่ใช้ชีวิตในเมืองกรุงฯ ที่คิดว่าเมื่อกลับบ้านไปยังไงก็คงไม่ฝันร้ายแน่นอน * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * สะพานพุทธ ช่วงเวลากลางวันจะเป็นท่าเรือด่วนและเรือข้ามฟาก ส่วนเวลากลางคืนตั้งแต่ 6 โมงเย็นขึ้นไปจะแปรสภาพเป็นแหล่งช้อปปิ้ง ไปจนถึงเวลาประมาณ 5 ทุ่ม เปิดทุกวันยกเว้นวันพุธ ประวัติสะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือที่เรียกติดปากว่า สะพานพุทธ เริ่มเปิดใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2475 เป็นสะพานที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นในวาระที่สถาปนากรุงเทพมหานครครบ 150 ปี เพื่อใช้เชื่อมเส้นทางคมนาคมระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของพระนคร และเพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าโลกมหาราช ในคราวเดียวกันนี้ ลักษณะของสะพาน เป็นโครงเหล็กขวางยึดข้างบนมีบาทวิถี 2 ข้าง ตัวสะพานแบ่งเป็น 3 ตอน มีความยาว 229.76 เมตร กว้าง 16.68 เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ 7.50 เมตร ตอนกลางยกขึ้นให้เรือผ่านด้วยแรงไฟฟ้าเปิดเป็นช่องกว้าง 60 เมตร

content by ติดตามอ่านข่าวทั้งหมดได้ที่นี่ี่ี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook