เที่ยวเมืองนนท์

เที่ยวเมืองนนท์

เที่ยวเมืองนนท์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เที่ยวเมืองนนท์ วันเดียวเที่ยว 9 วัด

วีระ กิจรัตน์ ... เรื่อง / ภาพ 9 พฤษภาคม 2549

เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดนนทบุรี หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงว่าจังหวัดที่ติดกับกรุงเทพนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวหลงเหลืออยู่ เพราะความชินตากับตึกรามบ้านช่อง ในรูปแบบบ้านจัดสรรนั้นเข้ามาเปลี่ยนภาพความงแหล่งเกษรกรรม ไปจนแทบไม่เหลือเค้า แต่เบื้องหลังวิถีชีวิตแบบใหม่นั้น ในหลายชุมชนสำคัญของจังหวัดนนทบุรีก็ยังคงความภาคภูมิใจในความเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพอยู่ 

มีคำกล่าวว่า นนทบุรีเป็นปอดของกรุงเทพ เป็นแหล่งทุเรียนพันธ์ดี และผลไม้อื่นๆ ที่มีชื่อเสียง พื้นที่ที่ประกอบด้วยลำคลองมากมาย เปรียบดังเส้นเลือดหล่อเลี้ยงเหล่าเกษตรกรชาวนนทบุรี ซึ่งปัจจุบันนั้นจำนวนครัวเรือนที่ยังประกอบอาชีพนี้อยู่ก็ไม่มากเหมือนแต่ก่อน เมื่อมาเมืองนนท์ ก็ต้องชมสวนผลไม้ การท่องเที่ยวลักษณะ เที่ยวไป กินไป หรือการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนั้น จึงกลายมาเป็นไฮไล้ท์อีกจุดหนึ่งก็ว่าได้

อาชีพปั้นเครื่องปั้นดินเผาของชาวเกาะเกร็ด

กลุ่มเยาวชนผู้สืบทอดงานหัตถกรรม

นนทบุรีเป็นเมืองเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีความผสมกลมกลืนกันระหว่างเชื้อชาติศาสนา ที่เห็นได้ชัดคือชุมชนมอญที่เกาะเกร็ด ซึ่งเป็นเกาะที่เกิดจากการขุดคลองลัดเกร็ด ต่อมาน้ำเปลี่ยนทิศทางจึงเกิดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่และแผ่นดินที่เป็นแหลมเดิม จึงกลายเป็นเกาะ ชาวมอญมีชื่อเสียงในการปั้นหม้อดินเผา ซึ่งยังคงสืบมาจนถึงปัจจุบัน อีกอาชีพหนึ่งของชาวเกาะเกร็ดคือการทำขนมหวาน และอาหารพื้นบ้านอีกหลายชนิด ที่จะหาทานได้เฉพาะที่เกาะเกร็ดเท่านั้น

ด้วยความที่เป็นเมืองเก่าแก่จึงมีวัดสำคัญหลายวัด การเดินท่างท่องเที่ยวนั้นสามารถไปได้ทั้งทางรถและทางเรือ และยิ่งใกล้วันวิสาขะบูชา วันสำคัญของพุทธศาสนิกชนด้วยแล้ว การไปไหว้พระทำบุญ พร้อมกับการท่องเที่ยวนั้นถือเป็นความสุขใจสองต่อเลยทีเดียว

สำหรับช่วงวันวิสาขบูชานั้น ทางเทศบาลตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ โดยนายพรเทพ ประดับพลอย ร่วมกับนายพิภพ บุญธรรม นายอำเภอบางใหญ่ ได้จัดกกิจกรรมวันวิสาขบูชาขึ้น ในชื่อ "วันเดียวเที่ยว 9 วัด" และด้วยการสนับสนุนของทาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภาคกลางเขต 6 ได้จัดให้สื่อมวลชนเข้าร่วมในกิจกรรมไหว้พระเก้าวัดครั้งนี้ด้วย โดยเริ่มตั้งแต่ วัดสวนแก้ว ซึ่งหลวงพ่อพระพยอม กัลยาโณ นำชมบริเวณวัด

วัดสวนแก้ว วัดนี้ไม่มีพระพุทธรูปสักดิ์สิทธิ์ เหมือนวัดโสธร ไม่มีเจดีย์แบบนครปฐม ไม่มีพระธาตุเหมือนนครพนม ไม่มีรอยพระพุทธบาทฯ เหมือนสระบุรี แต่ทำไมวันสำคัญคนมากันเป็นหมื่น ลองมาดูว่าวัดนี้มีดีอย่างไร; เป็นคำพูดแรกที่ได้ยินจากปากพระพยอม และท่านยังได้กล่าวต่อว่า มาวัดนี้ได้สามอิ่ม คือ อิ่มกาย อิ่มใจ และอิ่มสมอง ก็เนื่องจากในบริเวณวัดนั้นเต็มไปด้วยต้นไม้ร่มรื่น คนที่มาที่นี่ก็เพื่อปฎิบัติธรรม บริเวณหลังวัดยังเป็นแปลงผัก สวนผลไม้นานาชนิด

ภายในบริเวณวัดอันร่มรื่นนั้น หากจะมองหาโบสถ์คงจะไม่เจอแน่ เพราะที่วัดนี้ใช้โบสถ์ธรรมชาติ มีเพียงองค์พระประธาน รายล้อมด้วยต้นไม้ และคูน้ำรอบๆ ซึ่งใช้บวชพระมาแล้วไม่ต่ำกว่าสองร้อยรูป

วัดคงคา สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2370 ไม่ปรากฎหลักฐานผู้สร้างวัด ชาวบ้านเรียกว่าวัดโคก เนื่องจากบริเวณวัดบางตอนเป็นที่เนินสูง แต่ที่ได้นามว่าวัดคงคานั้น เนื่องมาจากอยู่ริมคลองลัด และคลองบางใหญ่ มีพระประธานในอุโบสถ คือหลวงพ่อศิลาแดง (แลง) ทรงนาง เป็นพระพุทธรูปแลงปิดทองคำเปลว แบบสุโขทัยสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ชาวบ้านเชื่อว่าน้ำมนต์ของท่านจะช่วยปัดเป่า สิ่งเลวร้ายให้กลับกลายเป็นสิริมงคล และสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้

วัดพิกุลเงิน สร้างขึ้นเมื่อสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประมาณ พ.ศ.2374 ไม่ทราบนามและประวัติผู้สร้าง ต่อมาได้มีคนจีนชื่อ ฮะ ซึ่งเป็นต้นตระกูลโฑณวนิก ได้ล่องเรือผ่านมาเป็นสภาพวัดเกิดศรัทธา จึงบริจาคทรัพย์เป็นส่วนตัว สร้างอุโบสถขึ้นในราว พ.ศ. 2521 แต่ประชาชนทั่วไปมักเรียกว่า วัดพิกุลเงิน วัดแห่งนี้ประดิษฐานหลวงพ่อพระพุทธโสธรจำลององค์แรกของประเทศไทย

วัดปรางค์หลวง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยของพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) แห่งกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ประมาณ พ.ศ. 1904 เดิมชื่อ "วัดหลวง" ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้มาเห็นองค์พระปรางค์ ที่สร้างขึ้นไว้พร้อมกับการสร้างวัด จึงได้เปลี่ยนามวัดนี้เป็น "วัดปรางค์หลวง" สำหรับปูชนียวัตถุ มีประธานในอุโบสถ นามว่า "หลวงพ่ออู่ทอง" เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตัก 9 คืบ มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพของประชาชนทั่วไป

หอไตรกลางน้ำรอยพระพุทธบาทจำลอง

วัดอัมพวัน

สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพรเจ้าปราสาททอง ซึ่งได้อพยพไพร่พล หนีโรคระบาดมาพักและสร้างวัดบางม่วงขึ้นเพราะตั้งอย่ในตำบลบางม่วง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดอัมพวัน" มีโบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ มณฑป เป็นศิลปกรรมแบบพม่า (ชเวดากอง) สร้างขี้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองโลหา หอไตรกลางน้ำ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง เป็นอาคารไทยขนาดเล็ก บานประตูลงรักปิดทอง ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ และพระปรางค์วัดอัมพวัน เป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยา

วัดอินทร์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2243 ไม่ปรากฎนาม และประวัติผู้สร้าง ภายในอุโบสถ มีพระพุทธรูปพระประธานปางมารวิชัย สร้างด้วยหินทรายแดง ฐานชุกชีอ่อนโค้งท้องสำเภา ตกแต่งด้วยผ้าทิพย์และลายปูนปั้นที่สูงค่ายิ่ง เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย นอกจากนี้ยังมีร่องรอยการลงรักปิดทองประดับกระจกมาก่อน แสดงให้เป็นว่าเป็นเป็นการช่างชั้นสูงที่มีฝีมือเป็นเลิศ

วัดราษฎร์ประคองธรรม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2256 แต่เดิมสันนิษฐานว่าได้สร้างขึ้นมาก่อนหน้านี้อาจเป็นสมัยสุโขทัยตอนปลาย และได้ขาดการทำนุบำรุงจึงมีสภาพทรุดโทรม ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา จนชาวบ้านเรียก "วัดค้างคาว" ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 หมอแดง พุ่มเล็ก และชาวบ้านได้บูรณะพัฒนาให้เจริญรุ่งเรือง และเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น "วัดราษฎร์ประคองธรรม"

วัดสะแก สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2304 เดิมชื่อวัด "วัดกลางคลอง" ตามลักษณะ ภูมิประเทศที่ตั้งวัดเดิม ไม่ปรากฎนามและประวัติผู้สร้าง พระประธานปางสมาธิ สมัยอยุธยา เนื้อหินทรายนามว่า "หลวงพ่อพุทธมหามงคล" โบสถ์ก่อสร้างด้วยหินอ่อน บานประตู หน้าต่าง เป็นไม้แกะสลักตัวนูนชาวบ้านนิยมศรัทธา "พระผงรูปเหมือนพระครูสินิทนนทคุณ" ด้านหลังเป็นยันต์นะคงคา ใช้ในการรักษาโรค

วัดเสาธงหิน เป็นวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดสัก เหตุเพราะมีต้นสักและต้นยางมาก วัดแห่งนี้สมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้มาตั้งทัพเพื่อไปทำศึกที่อยุธยา มีการนำธงประจำกองมาปักไว้ แล้วเอาหินทับที่โคนเสากันล้ม เมื่อได้ชัยชนะ พระองค์ก็ได้กลับมาทำการบูรณะและเปลี่ยนชื่อเป็น วัดเสาธงหิน เป็นวัดที่มีโบสถ์งดงามวิจิตรตระการตา พระพุทธรูปที่สำคัญในวิหารวัดเสาธงหิน คือ หลวงพ่อโต ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิที่ชาวบ้านนับถือมาก

การเดินทางนั้นไปเทศบาลตำบลบางม่วง จากถนนรัตนาธิเบศร์ ข้ามสะพานกระนั่งเกล้า มาถึงสี่แยกบางบัวทอง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนบางกรวย - ไทรน้อย ไปประมาณ 3 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาบริเวณแยกการไฟฟ้านครหลวงไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงสำนักงานเทศบาลตำบลบางม่วง

การเดินทางท่องเที่ยว "วันเดียวเที่ยว 9 วัด" ของทางเทศบาลตำบลบางม่วงนั้น มีทั้งแบบ เดินทางทางรถ และทางเรือ

ทางรถ ให้บริการโดยรถบริการนักท่องเที่ยว โดยในระยะแรกเปิดให้บริการทุกวันเสาร์และอาทิตย์ วันละ 2 รอบ เวลา 9.09 น. และ 13.39 น. โดยในแต่ละรอบใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง ค่าบริการ ท่านละ 99 บาท

ทางเรือ ให้บริการโดยเรือบริการนักท่องเที่ยว คิดเหมาจ่ายในอัตรา 1,200 บาทต่อเที่ยว (รับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 15 ท่าน อัตรานั้นไม่รวมค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม) โดยในแต่ละรอบการเดินทางจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่งเช่นเดียวกัน

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว วันเดียวเที่ยว 9 วัด โทร. 0-2924-9480-3 ต่อ 100

  ขอขอบคุณ     การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคกลางเขต 6

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook