ท่องเที่ยวเกาะเกร็ด

ท่องเที่ยวเกาะเกร็ด

ท่องเที่ยวเกาะเกร็ด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ท่องเที่ยวเกาะเกร็ด

 เกาะเกร็ด มีเนื้อที่ประมาณ ๒,๔๙๘ ไร่ ไปถึงเกาะเกร็ดได้ด้วยทางน้ำ จากท่าเรือวัดกลางเกร็ด จ.นนทบุรี มีเรือโดยสารไปยังเกาะเกร็ด ซึ่งมีท่าเรือสำคัญ ๒ แห่งคือ ท่าเรือวัดฉิมพลีสุทธาวาส และท่าเรือป้าฝ่าย ที่วัดกลางเกร็ดมีบริเวณสำหรับจอดรถ นักท่องเที่ยวจอดรถไว้ได้ ก่อนจะลงเรือไป หมู่บ้านเกาะเกร็ด ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

สิ่งน่าสนใจที่เกาะเกร็ด ในฐานะหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP

ศูนย์หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาหมู่ ๑: ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับ เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด เป็นศูนย์การเรียนรู้ ส่งเสริมด้านการตลาด พัฒนาคุณภาพและฝีมือ เป็นสถานที่สาธิตกระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผา เป็นสถานที่จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของศูนย์ฯ มีการจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่ เช่น ครกเก่า ๒๐๐ ปี

บ้านครก: เป็นที่ซึ่งผลิตครกจำนวนมาก และมีการอนุรักษ์ครกแบบเดิม อีกทั้งยังได้เริ่มผลิตเครื่องใช้และภาชนะอื่นๆ โครงการหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP ได้จัดให้ที่แห่งนี้เป็นบ้านสาธิตการปั้นและเผาเครื่องปั้นดินเผา

บ้านครอบครัวเครื่องปั้นดินเผา: เป็นกิจการของครอบครัวชาวไทยเชื้อสายมอญครอบครัวหนึ่ง สร้างผลงานชิ้นใหญ่ๆได้สวยงาม สิ่งซึ่งแปลกตากว่าที่อื่นๆก็คือ ครอบครัวนี้ทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นรูปและลวดลายตามศิลปะไทย

เช่น แกะสลักเครื่องปั้นดินเผาเป็นลายกนก โครงการหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOPได้จัดให้ที่แห่งนี้เป็นบ้านสาธิตการแกะสลักเครื่องปั้นดินเผา

ท่องเที่ยวเกาะเกร็ด

เตาเผาโบราณ: สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๐ เลิกใช้งานเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ ปัจจุบันเป็นซากเก่าแก่หักพัง นักท่องเที่ยวอยากเห็นและถ่ายภาพ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของอดีตซึ่งยังเหลือให้เห็นอยู่

เตาหลังเต่า: เป็นเตาซึ่งเคยใช้เผาเครื่องปั้นดินเผา สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๕ เลิกใช้งานเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๐ เรียกกันมาว่า เตาหลังเต่า เพราะหลังคาเตามีรูปร่างโค้งเหมือนหลังเต่า

ลานควาย: เป็นลานกว้าง ซึ่งจะมีการสาธิตการย่ำดิน เพื่อนำไปใช้ปั้นเครื่องปั้นดินเผา กระบวนการเป็นแบบดั้งเดิม คือคนควบคุมควายให้ย่ำดินก่อน แล้วจากนั้น คนจึงค่อยย่ำดิน

เกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา  เกาะเกร็ด จึงมี จุดเด่น อย่างหนึ่งคือ มีทัศนียภาพที่สวยงาม ทางธรรมชาติ เกาะเกร็ด มีผู้คน อยู่อาศัยเป็นชุมชนมา ตั้งแต่สมัยอยุธยา และในวันนี้ เกาะเกร็ด ก็ยังคง ลักษณะชุมชน กึ่งเมืองกึ่งชนบทเอาไว้ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ เกาะเกร็ด คือ เป็นชุมชนซึ่งติดต่อ กับชุมชนอื่นได้เฉพาะทางน้ำ

ประชากรของเกาะเกร็ด

ท่องเที่ยวเกาะเกร็ด

แบ่งตามเชื้อชาติได้ ๓ กลุ่มคือ ประชากรเชื้อชาติไทย ชาวไทยเชื้อสายมอญ และชาวไทยอิสลาม ประชากรทั้ง ๓ กลุ่มอยู่รวมกัน โดยไม่มีความขัดแย้ง จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ เกาะเกร็ด ก็คือ วัฒนธรรม ศิลปะ ขนบธรรมเนียม และประเพณีของชาวไทย เชื้อสายมอญ ซึ่งสืบทอดจากชาวมอญใน อดีตมาอย่าง ต่อเนื่องและเด่นชัด ด้วยจุดเด่นและองค์ประกอบเหล่านี้ เกาะเกร็ด จึงมีหลายความ น่าสนใจ รอนักท่องเที่ยวอยู่

เกาะเกร็ด ในวันสำคัญทางศาสนาหรือช่วงเทศกาล เยือนเกาะเกร็ดในวันสำคัญทางศาสนาหรือช่วงเทศกาล จะได้ชมพิธีและประเพณีของชาวไทยเชื้อสายมอญ เช่น วันออกพรรษา มีประเพณีตักบาตรพระร้อย (หรือตักบาตรเรือ) ประเพณีทำบุญเลี้ยงพระ ประเพณีตักบาตรดอกไม้ เทศกาลสงกรานต์ มีประเพณีแห่หางหงส์ (หรือแห่ธงตะขาบ หรือแห่หางหงส์ธงตะขาบ) ประเพณีแห่ข้าวแช่ ประเพณีแห่ปลา ประเพณีแห่น้ำหวาน

สิ่งไม่ควรพลาดที่เกาะเกร็ด

- ชมวัดเก่า เช่น วัดปรมัยยิกาวาส วัดเสาธงทอง วัดฉิมพลี วัดไผ่ล้อม วัดป่าเลไลยก์ - นั่งเรือเที่ยวรอบเกาะ ชมทิวทัศน์และบ้านเรือน ชมภาพชีวิตกึ่งเมืองกึ่ง ชนบทของ ชาวเกาะเกร็ด - เดินชมทิวทัศน์ บ้านเรือน ร้านค้า และวิถีชีวิตของชาวเกาะเกร็ด - ชมและเลือกซื้อเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด ผลิตภัณฑ์ OTOP - ชมสิ่งน่าสนใจที่เกาะเกร็ด ในฐานะที่เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP - ชมภูมิสัญลักษณ์รูปหงส์ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คงจะอยากถ่ายภาพด้วย - เพลิดเพลินกับการสังเกตวัฒนธรรม ศิลปะ และ การดำเนินชีวิตของชาวไทย เชื้อสายมอญ ที่เกาะเกร็ด - ชิมอาหารแบบฉบับชาวไทยเชื้อสายมอญ - สบายใจไปกับอากาศที่เกาะเกร็ด ซึ่งไร้ควันพิษจากรถยนต์ เพราะเกาะเกร็ดไม่มีรถยนต์ มีจักรยานและจักรยานยนต์ - ถ้าชอบออกกำลังด้วยการขี่จักรยาน เกาะเกร็ดคือที่เหมาะสม

หงส์ที่เกาะเกร็ด

 เกาะเกร็ด มีจุดเด่นใหม่ล่าสุดสำหรับนักท่องเที่ยว นั่นคือภูมิสัญลักษณ์ขนาดใหญ่รูปหงส์ ออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อแสดงถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่น อันได้แก่ความเป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ พร้อมกับสะท้อนบางส่วนแห่งตำนาน ประวัติศาสตร์ และความเชื่อของคนเรา

ชาวไทยเชื้อสายมอญที่เกาะเกร็ดคืออนุชนของชาวมอญ ซึ่งอพยพมาจากเมืองเมาะตะมะ เมืองหงสาวดี และเมืองอื่นๆในดินแดนซึ่งเคยเป็นอาณาจักรมอญในประเทศพม่า ชาวมอญเริ่มอพยพมาอยู่ในประเทศไทยเมื่อราว ๔๐๐ ปีมาแล้ว โดยมีการอพยพครั้งใหญ่ ๒ ครั้งคือ ชาวมอญได้เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารในรัชสมัยพระเจ้าตากสิน และรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

นับแต่อดีต หงส์มีความสำคัญต่อวัฒนธรรม ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อของชาวมอญ ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากตำนาน ประวัติศาสตร์ และอื่นๆ ภูมิสัญลักษณ์รูปหงส์ที่เกาะเกร็ดสะท้อนความสำคัญดังกล่าว ซึ่งได้สืบทอดมาถึงชาวไทยเชื้อสายมอญที่เกาะเกร็ด

ภูมิสัญลักษณ์รูปหงส์ประดับด้วยแผ่นกระเบื้องดินเผา ทำจากดิน เกาะเกร็ด ให้ชาว เกาะเกร็ด แตะนิ้วลงบนกระเบื้องแต่ละแผ่นให้เกิดรอย ก่อนจะนำไปติดบนตัวหงส์ เพื่อสื่อถึงความเป็นชาวเกาะเกร็ด ซึ่งมี ๓ กลุ่มเชื้อสาย และอยู่รวมกันโดยปราศจากความขัดแย้ง

 ภูมิสัญลักษณ์รูปหงส์อยู่ที่ลานใกล้ท่าเรือหน้าวัดฉิมพลี ออกแบบและสร้างขึ้นหลังจากเกาะเกร็ดได้รับเลือกเป็นหนึ่งในหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP

ท่องเที่ยวเกาะเกร็ด

เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด

ท่องเที่ยวเกาะเกร็ด

ผลิตภัณฑ์ของ เกาะเกร็ด คือเครื่องปั้นดินเผาในอดีต เมื่อชาวมอญอพยพมาอยู่ที่เกาะเกร็ดแล้ว ก็ได้เริ่มทำเครื่องปั้นดินเผาเพื่อเป็นอาชีพ การทำเครื่องปั้นดินเผาที่เกาะเกร็ดในวันนี้ จึงสืบเนื่องกันมาแต่ครั้งกระโน้น

เครื่องปั้นดินเผา เกาะเกร็ด เป็นประเภทไม่เคลือบเนื้อดิน และส่วนใหญ่เป็นสีส้มอ่อนจนถึงสีแดง จุดเด่นคือการมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ได้แก่ การแกะสลักหรือฉลุลายอย่างวิจิตรบรรจง การปั้นรูปทรงและองค์ประกอบ ซึ่งแสดงถึงการสืบทอดศิลปะของชาวมอญแต่โบราณ

เอกลักษณ์เฉพาะถิ่นนี้เองที่เป็นความน่าสนใจ ทำให้ผู้ซื้อและนักท่องเที่ยวรู้สึกว่า เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด มิใช่ของดาษดื่น แต่คือผลงานศิลปะ ซึ่งสืบทอดกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และจะสืบทอดกันต่อไปในอนาคต

สนับสนุนข้อมูลจาก หมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP ออนไลน์วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook