กระตุกต่อมนิเวศเมืองกับ Ari Eco Walk ทริปเดินเท้าสำรวจธรรมชาติย่านอารีย์

กระตุกต่อมนิเวศเมืองกับ Ari Eco Walk ทริปเดินเท้าสำรวจธรรมชาติย่านอารีย์

กระตุกต่อมนิเวศเมืองกับ Ari Eco Walk ทริปเดินเท้าสำรวจธรรมชาติย่านอารีย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในกระแสของกิจกรรมท่องเมืองที่นอกจากจะฮอตฮิตมากขึ้น ยังเริ่มมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น จากทัวร์ล่องเรือ เป็นเดินเท้าบ้างปั่นสองล้อบ้าง จนถึงขั้นขี่สกูตเตอร์ และจากสักการะวัดวาอารามเป็นเปิดประตูบ้านเก่า จากทัวร์กินร้านดังขยายไปสู่การเด็ดยอดใบกลีบดอกริมทางมาปรุงจานสุขภาพ และจากทัวร์ส่องนก ต่อยอดมาเป็นเสาะหาต้นไม้ใหญ่ ไปจนถึงกิจกรรมที่คิดไม่ถึงอย่างการสำรวจนิเวศในเมือง Ari Eco Walk ที่เพิ่งจะเริ่มเป็นที่กล่าวขวัญกันไม่นานนัก แต่อันที่จริงทริปเดินเท้าที่พาสำรวจย่านอารีย์ทะลุแต่หัวยันท้ายซอยกำลังจะจัดมาได้ครบ 2 ปีในเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ และทำไปทำมาก็กว่า 30 ครั้งแล้ว กิจกรรมนี้ที่ บาส-ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา จัดนับว่ามีเอกลักษณ์ เพราะพาไปสอดส่องพื้นที่ทั้งที่มีสีเขียวและไม่เขียว หลายจุดทำให้คนกรุงแทบไม่อยากเชื่อว่ามันมีอยู่จริงๆ แถมไม่ไกลนักจากย่านร้านหรูคาเฟ่ฮิปแห่งยุคเสียด้วย ล่าสุดเราในช่วง Bangkok Design Week เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เขาได้จัดโปรแกรมพิเศษที่นอกจากจะชี้ชวนดูธรรมชาติ (ที่ยังหลงเหลือ) กลางกรุง พาไปดมสารพัดกลิ่นเกือบทั่วย่านกันเลยทีเดียว ซึ่งไม่เพียงแต่เปิดเซลล์ประสาทจมูก แต่ยังสะกิดต่อมสมอง ทำให้คนร่วมเดินทั้งเพลินเมืองและพลอยได้ความรู้ไปพร้อมกัน  

eco-ari-8
อะไรคือที่มาที่ทำให้ชาวอารีย์เจนร่วมสมัยอย่างบาสหันมาสนใจจัดตระเวนละแวกถิ่นที่อยู่ที่เขารัก ไฉนผู้ร่วมสัญจรทริปของเขาถึงต้องถูกขอร้องให้ใช้เวลาหลายนาทีกับตัวเองเงียบๆ กับธรรมชาติรอบบึงน้ำลับตากลางกรุง ทำไมประสาทสัมผัสด้านกลิ่นถึงได้โยงใยกับความทรงจำของมนุษย์  และเหตุใดปลายทางของกิจกรรม Ari Eco Walk นี้ถึงกลายเป็นทางที่อาจจะตันของปัญหาสังคมกรุง Sarakadee Lite พาไปพบกับคำตอบจากหนุ่มนักธรรมชาติศึกษา นักรณรงค์สำนึกด้านชีวิตเมือง นักสื่อสารสิ่งแวดล้อม…คนนี้กัน

eco-ari-4
Walk ไป Work ไป เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวกรุง

“ผมทำ Ari Eco Walk ให้กับชาวชุมชนเมืองเพื่ออยากจะตอบลูกหลานว่า พื้นที่ที่อยู่อาศัยเคยเป็นและมีอะไรมาก่อนไหมนอกจากคนและบรรดาตึก แต่พอเดินไปด้วยความละเอียดลออได้ไม่กี่ครั้งก็พบความไม่ยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมในเมืองมากมาย เลยกลับมาทบทวนว่าทำไปทำไม” บาสอธิบายและได้คำตอบว่า “ทำเพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหาเหล่านี้ให้กับคนที่มาเข้าร่วมด้วยตัวของเขาเอง และเพื่อสร้างกลุ่มก้อนที่มากพอในการเรียกร้องพื้นที่สีเขียวในเมืองเพิ่มด้วยวิธีต่างๆ ทั้งอย่างแนวคิดเก่าที่ต้องมีสวนสาธารณะ หรือด้วยแนวคิดใหม่ที่ให้ช่วยกันสร้างพื้นที่สีเขียวหน้าบ้านให้ทุกคนในชุมชนร่วมชมร่วมใช้กันได้”

บาสไม่ได้รีบร้อนกับการได้ผลลัพธ์ มันเป็นแผนระยะยาวที่เขาวางแผนไว้ในอนาคต 10-15 ปีข้างหน้า “ยุทธศาสตร์ของผมคือเน้นการสร้างผู้ใช้ (user) ก่อนสร้างพื้นที่ เพราะปัจจุบันเร่งแต่สร้างพื้นที่ แต่ไม่ค่อยได้คำนึงถึงผู้ใช้ ทำให้ในที่สุดบางพื้นที่ที่อุตส่าห์สร้างทำกันมาก็ถูกทอดทิ้งกันไป ซึ่งกิจกรรมการเดินศึกษาธรรมชาติในเมืองอย่างที่ผมทำถือเป็นการสร้าง user ได้ดีอันหนึ่ง”

eco-ari-2บาส-ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา

หนุ่มนักเดินผู้นี้บอกว่าที่เขาจัด Ari Eco Walk ขึ้นมาเพราะเขาอยากจะทำและก็สนุกกับมัน มันเป็นตัวตนของเขาโดยแท้จริง แม้ไม่มีใครมาร่วมเขาก็จะเดินของเขาคนเดียว “อาจจะมีเกร็งบ้างถ้าคืนก่อนหน้าไปทำอะไรมาแล้วพักผ่อนน้อย แต่พอได้ออกเดินธรรมชาติก็ช่วยเยียวยา พาผมออกจากอาการเหล่านั้น แน่นอนว่าบางทริปผมอาจเป็นครูเจ้าระเบียบ แต่พออีกทริปผมอาจกลายเป็นเด็ก ป. 4 ที่ชวนเพื่อนร่วมเดินเล่นนู่นนี่ ซึ่งก็แล้วแต่สถานการณ์พาไป”

บาสบอกว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นคนช่างวิพากษ์วิจารณ์ แต่พอนำกิจกรรมเขาจะพยายามไม่ชี้นำอะไรกับผู้ที่มาร่วมเดิน ปล่อยให้สิ่งต่างๆ ที่เขาพาไปประสบกระตุ้นความคิดของผู้ร่วมเดินเอง  ซึ่งจะไปฝังในใจลึกๆ โดยที่ไม่ต้องบอก พวกเขาจะเทียบเองว่าสิ่งที่ได้ประสบอย่างสวน ต้นไม้ นกแมลงที่ได้ประสบ กลิ่นเมืองที่ได้ดม มาจากมนุษย์สร้างขึ้นเท่าไร จากธรรมชาติเท่าไร และที่ถูกที่ควร มันควรจะมีสัดส่วนเท่าไร

มีหลักการสามข้อที่บาสมักใช้กล่าวเปิดกิจกรรมของเขาเสมอๆ : “ข้อแรก กิจกรรมนี้ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรทั้งสิ้น อยากทำอะไรทำ ข้อสอง ผมไม่ใช่ครู สิ่งที่อยู่ตรงหน้าแต่ละคนคือครู เพราะเวลาปล่อยให้สิ่งอยู่ตรงหน้าเป็นครูจะเกิดการอยากรู้และหยั่งรู้ขึ้นมาเอง แน่นอนว่าสิ่งที่เห็นมันอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด แถมสิ่งที่ผมพูดอาจจะผิดก็ได้ เพราะความรู้เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา และข้อสาม รู้จักที่จะเคารพทุกอย่างที่อยู่รอบตัว โดยผมจะไม่บอกว่าผู้ร่วมเดินจะต้องเคารพยังไง” บาสทบทวนให้

eco-ari-9
แล้วกลิ่นแห่งเมืองจะนำพาเราไป

ในตอนพิเศษของ Ari Eco Walk ล่าสุดที่ผ่านมาที่บาสตั้งชื่อไว้ว่า “ให้กลิ่นบอกเรา” ผู้เข้าร่วมกิจกรรมโดนให้ลองสูดดมสารพัดสรรพสิ่งทั่วย่านฮิปของกรุงเทพฯ อย่างอารีย์ตั้งแต่ดอกไม้ตามกระถางริมทาง เปลือกต้นไม้บนฟุตปาธ น้ำเสียที่ลอยโชยออกมาจากตะแกรงท่อเทศบาล ไปยันถังขยะ และแม้กระทั่งกลิ่นตัวเอง

กลิ่นสำหรับหลายคนอาจเป็นเรื่องของความสุนทรีย์ และความรื่นรมย์ รวมถึงรสนิยม แต่สำหรับบาสกลิ่นเป็นเรื่องของสร้างการขับเคลื่อนภายใน ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สร้างการจดจำต่อมา  

eco-ari-10
“แต่เด็กแล้วครับ ผมเป็นคนสนุกกับกิจกรรมที่ต้องใช้ผัสสะทางด้านการดม ไม่ว่าจะชิมไวน์ หรือดมอะไรต่างๆ สำหรับผมการดมช่วยพัฒนา sense of wonder ช่วยค้นพบความมหัศจรรย์ต่างๆ ให้กับชีวิต โดยไม่ต้องไปแสวงหาอะไรไกลๆ จะเป็นดอกไม้ หรืออะไรก็ได้ที่อยู่ตรงหน้าเรา และพอได้ตั้งใจสูดดมอย่างพินิจพิเคราะห์ เราก็สามารถค้นพบอะไรบางอย่างจากมันได้เทียบกับประสาทสัมผัสอีกสี่ด้านแล้ว การดมถือเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตที่ต่างจากการเห็น ได้ยิน สัมผัส และลิ้มรส-ถ้าเราไม่หายใจซึ่งพกพากลิ่นตามไปด้วย มนุษย์สามารถเสียชีวิตได้ในระยะอันสั้น แถมการดมยังไปเชื่อมต่อกับสมองส่วนความรู้สึกและส่วนความทรงจำระยะยาวอีก ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว ประสาทสัมผัสที่เราใช้ดมสร้างความทรงจำระยะยาวฝังอยู่ในตัวเราเอง ไม่เชื่อลองนึกดูว่าเรามักมีเรื่องราวเกี่ยวกับกลิ่น ไม่ว่าจะดีหรือแย่สุดๆ สักเรื่องที่เราจำมันได้เป็นอย่างดี”

eco-ari-7
“วัฒนธรรมร่วมของสรรพสิ่ง”

หนุ่มนักดมยังขยายต่อไปอีกว่า กลิ่นยังเชื่อมโยงกับความรู้สึกด้านมิติสถานที่ (sense of place) โดยตรง ซึ่งบาสเลือกที่จะใช้นัยว่า มันเป็นเรื่องที่ว่าด้วย “วัฒนธรรมร่วมของสรรพสิ่ง” อย่างในอังกฤษที่เป็นผู้นำด้านการศึกษาเรื่องกลิ่นนี้มีการค้นพบกลิ่นสำคัญของเมืองต่างๆ อย่างกลิ่นของการหมักเบียร์ กลิ่นของตลาดปลา

“จากที่กลิ่นทำงานกับความรู้สึกของคนเราได้โดยตรง ผมเลยเอาแนวคิดมาประยุกต์ใช้กับการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในเมือง คือจับให้ดมกลิ่นเมืองเสียเลย” บาสผู้ซึ่งกำลังรอให้คนกรุงมาร่วมกันช่วยกันค้นหาคำตอบว่ากลิ่นเอกลักษณ์ของเมืองกรุงเทพฯ คืออะไรกล่าว

eco-ari-5
ย้อนย่างก้าว คนอีโค

“ผมชอบเดินท่องเมืองตั้งแต่เด็กแล้ว จำได้ว่าบ้านที่เคยอยู่แถบรามอินทราแต่ก่อนยังไม่มีทางด่วน ท้ายซอยเต็มไปด้วยทุ่งหญ้าอุ้มน้ำ ผมชอบไปเล่นน้ำที่ท่วมขัง จนถูกผู้ใหญ่ในบ้านเอ็ดเตือนให้ระวังงู ช่วงปิดเทอมคุณแม่พาไปส่งให้อยู่กับคุณยายที่หนองแค สระบุรี ก็จะสนุกกับการวิ่งเล่นในทุ่งไร่ ไปจับแมลงเอามาสตัฟฟ์ ซึ่งเลิกทำไปในตอนโต เพราะเปลี่ยนเป็นแค่เห็นมันใช้ชีวิตตามปกติก็พอแล้ว” บาสย้อนที่มาของตัวเขาให้ฟัง “เรื่องสิ่งแวดล้อมก็สนใจมาแต่เด็ก ช่วงอยู่มหาวิทยาลัยก็อยู่ชมรมด้านนี้ หรือแม้แต่กับธุรกิจครอบครัวเองก็ตามก็แตะเรื่องพวกนี้ตลอดมา พวกความยั่งยืน ความอยู่ดีมีสุข (well-being) สะสมมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 8-9 ปีหลัง”  

อันที่จริงบาสจบทางด้านสัตวแพทย์ แต่กลับไม่เคยได้รักษาสัตว์อะไรเลย “แต่สิ่งที่ติดตัวผมมาคือวิชาชีววิทยา ได้ฐานของการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลมีกระบวนการ  และไปเรียนต่อด้านการตลาด วิชาที่ชอบมากคือพฤติกรรมศาสตร์ ทำให้ผมได้ส่วนผสมของทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์”

และหากได้มีโอกาสร่วมทริปเดินกับเขาแล้วจะพบว่าการอธิบายหรือการเจรจาของบาสมักมีคำพูดดีๆ คอยสะกิดให้กระตุกต่อมคิดอยู่เป็นระยะๆ “ผมเป็นคนชอบอ่านพวกนิตยสาร หนังสือด้านความรู้ สารคดี อ่านหมดมาแต่เด็ก พอโตขึ้นก็อ่านทั้งหนังสือไทยและต่างประเทศ ซึ่งได้ทั้งภาษาอังกฤษและสเปน ยิ่งพอได้มาจับงานด้านสื่อสารสิ่งแวดล้อมจึงเห็นความสำคัญของการใช้ถ้อยคำที่ออกจากปากแล้วตรงกับใจมากขึ้นไปอีก ก็จะให้ความสำคัญกับถ้อยคำ คัดเลือกคำที่จะใช้ตามไปด้วย”  

eco-ari-12
แวดวงอารี ที่ อารีย์

บาสปักหลักใช้ชีวิตวัยทำงานของเขาด้วยการช่วยครอบครัวทำธุรกิจอยู่ที่ต่างจังหวัดมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร หลังจากได้มาเช่าห้องที่อารีย์ โดยอยู่แบบไปๆ กลับๆ มาแล้วกว่า 4-5 ปี นอกจากสภาพความเป็นอยู่ของความเป็นชุมชนที่สมาชิกยังพอมีปฏิสัมพันธ์กัน และร่องรอยธรรมชาติเมืองที่ยังพอปรากฏให้เห็นตามซอกหลืบและท้ายซอยอย่างที่ชอบ บาสพบว่าพอยิ่งอยู่ก็ยิ่งได้เจอเพื่อน เจอเผ่าพันธุ์เดียวกัน พบกลุ่มคนที่เขาตามหามานาน ซึ่งต่างช่วยกันส่งเสริมวิถีชีวิตของกันและกันเป็นอย่างดีจนแทบไม่ค่อยได้กลับไปต่างจังหวัดแล้ว

“หนทางหนึ่งที่ได้เพื่อนชาวอารีย์เพิ่มก็จากที่ทำ eco walk นี่แหละ ตอนแรกก็ออกไปเดินเล่นกันไม่กี่คน แล้วค่อยขยายชักชวนเพื่อนๆ ผ่านทางเฟซบุ๊ก และค่อยๆ ขยายสู่สาธารณะ และในที่สุดก็ได้มาเจอกลุ่ม Ari Around ซึ่งช่วยรับทำประชาสัมพันธ์ โดยผมไม่ทำการตลาด หรือแม้แต่ต้องทำเพจอะไรเลย-ด้วยความที่ผมอยากให้ Ari Eco Walk เป็นของทุกคน เป็นของชุมชน พอทำเพจก็จะเหมือนผมเป็นเจ้าของกิจกรรม ที่ทำแบบนี้เท่ากับสร้างการมีส่วนร่วม เปิดให้คนอื่นช่วยกันบอกต่อ และเสนอแนวทางกิจกรรมใหม่ๆ ได้”

eco-ari-11
จากปากต่อปาก หลังๆ มีคนเริ่มสนใจมาชวนบาสไปจัดกิจกรรมคล้ายกัน หรือช่วยให้คำปรึกษาแนวทางในการสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมทางสังคมนอกอารีย์บ้างแล้ว ทั้งที่เพลินจิตและสกลนคร ซึ่งเขาคิดขยายไปพื้นที่อื่นมาตั้งแต่เริ่มต้น แต่อีกกลุ่มที่บาสอยากทำงานด้วยคือครูในเมือง แนะแนวทางให้เขาพาเด็กไปสัมผัสธรรมชาติเมืองของจริง แทนที่จะผ่านเพียงตัวหนังสือในตำรา

ในขณะเดียวกันเขาก็คิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะไปเสริมทักษะต่างๆ ของตนเอง คิดว่ายังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเมืองอีกมาก “เพราะเมืองประกอบไปด้วยมิติที่หลากหลายและซับซ้อน ทั้งด้านการเมือง ภูมินิเวศ การออกแบบ วิถีชีวิต และความต้องการของผู้คน  ไม่ใช่แค่คนแต่เพียงอย่างเดียว”

eco-ari-6
ก้าวย่างที่ยังต้องถางทางต่อ

ทุกวันนี้ในช่วงวัย 36 ปี บาสได้ผันมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศเมืองมาเต็มตัวอย่างเต็มรูปแบบ “แผนคือยังอยากทำไปเรื่อยๆ แบบฟรีด้วย เคยเก็บเงินแล้วทำใจไม่ได้ รู้สึกมันทำลายกระบวนการเรียนรู้ ทำให้บางคนมาด้วยความคาดหวัง ซึ่งผมไม่มีอะไรที่จะให้ ผมอยากสร้างพวก พอเก็บเงินก็ดูจะสร้างพวกได้ยาก แต่ก็อาจจะเก็บจาก workshop หรือการบรรยายอะไรไปได้” 

ในอนาคตบาสก็ยังคงแน่วแน่กับกิจกรรมเดินเมืองนี้อย่างต่อเนื่อง โดยยังคงจับแกนของเนื้อหานิเวศเมืองอยู่ โดยตั้งเป้าว่าจะทำคู่มือสำรวจธรรมชาติเมืองด้วยตัวเองโดยให้ใช้แบบไม่แสวงหาผลประโยชน์ได้ฟรี  

eco-ari-3
“จากคนใช้ธรรมชาติ ผมอยากผันตัวไปเป็นคนอยู่ร่วมกับธรรมชาติ-อะไรก็ตามที่ทำให้ผมอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ดีขึ้นก็พยายามขวนขวายไปเพิ่มเติมความรู้และทักษะ โดยสิ่งหนึ่งที่คิดว่าอยากไปศึกษาค้นคว้าต่อด้วยก็คือธรรมะในแนวทางพุทธศาสนาที่คิดว่าสามารถผสมกลมกลืนกับประเด็นที่ผมจับได้เป็นอย่างดี”  

บาสทิ้งท้ายไว้ว่า จากที่เคยจัดเดินสำรวจนิเวศเมืองในย่านอารีย์ที่ผ่านมา แทนที่ผู้ร่วมเดินจะไม่ประทับใจกับสิ่งอันไม่พึงประสงค์ของเมืองบ้างในบางจุด กลับกลายเป็นว่าพวกเขาต่างพูดออกมาเองว่า ไม่อยากให้เกิดมลภาวะเหล่านี้รอบบ้านตัวเอง พวกกลิ่นน้ำเน่า กลิ่นควันรถ และจะกลับไปพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมรอบบ้านที่ดีดๆ ออกมา

“แค่มีคนเดียวพูดแบบนี้ออกมา ผมก็มีความสุขแล้ว ว่าผมสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสมาชิกของเมือง ที่มีความเคารพกับสิ่งรอบตัวเพิ่มขึ้นได้”

Fact File

  • Ari Eco Walk ปล่อยตารางของปี 2566 ส่วนหนึ่งออกมาแล้ว เป็นทุกวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือน ตลอดไปจนถึงสิงหาคม 2566 ส่วนเดือนที่เหลือให้รอประกาศเสริมภายหลัง ทริปเดินสำรวจนิเวศอารีย์ของบาสใช้เวลาราว 5-6 ชั่วโมง เริ่มต้นตั้งแต่ 07.30 น. รายละเอียดกิจกรรมอาจปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม โดยประกาศรับสมัครผ่านเพจ Ari Around โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ขอความร่วมมือโหลดแอป Ari Around และสะสมแต้มให้ได้ 300 Ari Coin เพื่อนำมาแลกในการร่วมกิจกรรมนี้ ซึ่งวิธีได้แต้มก็ง่ายนิดเดียว ศึกษารายละเอียดได้ในเพจกลุ่ม สำหรับผู้ที่สนใจให้จัดกิจกรรมนอกตาราง ติดต่อ (poramin.yw@gmail.com)

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ กระตุกต่อมนิเวศเมืองกับ Ari Eco Walk ทริปเดินเท้าสำรวจธรรมชาติย่านอารีย์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook