สิงห์ปาร์ค เชียงราย : แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มี “วิถีแห่งคนปลูกชา” เป็นหัวใจ

สิงห์ปาร์ค เชียงราย : แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มี “วิถีแห่งคนปลูกชา” เป็นหัวใจ

สิงห์ปาร์ค เชียงราย : แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มี “วิถีแห่งคนปลูกชา” เป็นหัวใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย แน่นอนว่า สิงห์ปาร์ค เชียงราย หรือ ไร่บุญรอด ต้องติดลิสต์หนึ่งในหมุดหมายที่ต้องไปเยือน ด้วยพื้นที่กว่า 8,600 ไร่ รองรับกิจกรรมหลากหลาย ตั้งแต่การเป็นแลนด์มาร์กด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในไทย มีทั้งไร่ชา ไม้ผล ไม้ประดับ ไปจนถึงร้านอาหาร ร้านกาแฟ จุดหมายสายแอดเวนเจอร์ที่ครบทั้งโหนสลิง ซิปไลน์ ปั่นจักรยาน รวมทั้งสายพักผ่อนกับเต็นท์แคมป์กลางสายหมอกในไร่ชา เรียกได้ว่ามาแล้วสามารถหยุดเวลาให้เข็มนาฬิกาของวันพักผ่อนหมุนเดินอย่างช้าๆ กับกิจกรรมที่มีกรุ่นกลิ่น “ใบชา” เป็นหัวใจ

singha-park7
นอกจากเป็นแลนด์มาร์กขึ้นชื่อด้านการท่องเที่ยวแล้ว สิงห์ปาร์ค ยังอยู่ในฐานะผู้ผลิตชาคุณภาพระดับประเทศ ครบวงจรตั้งแต่ไร่ชาที่เป็นต้นทางของวัตถุดิบ ทั้งยังมีโรงงานชาคุณภาพที่เป็นแหล่งผลิต ไปจนถึงการเสิร์ฟรสชาติของใบชาผ่านเมนูอาหารเครื่องดื่มต่างๆและต่อยอดเป็นชาเบลนด์ที่นักท่องเที่ยวสามารถทดลองสร้างรสชาติชาเฉพาะของตนเองได้

แต่กว่าจะออกมาเป็นชาคุณภาพตามมาตรฐานระดับเอเชีย สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลยนั่นคือ บุคคลทั้งเบื้องหน้าที่เป็นแรงบันดาลใจของการส่งต่อวัตถุดิบที่ดี และเบื้องหลังที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการบ่มเพาะคัดสรรวัตถุดิบมาตั้งแต่ต้นทาง Sarakadee Lite ขอชวนตีตั๋วบินตรงสู่ไร่ชากลางขุนเขาในจังหวัดเชียงราย เคาะประตูพื้นที่ปลูกชา 600 ไร่ของสิงห์ปาร์ค เพื่อตามหาว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้ ไร่ชา สิงห์ปาร์ค เชียงราย ขึ้นมายืนเป็นเบอร์ต้นของประเทศกับประสบการณ์การปรุงชามากว่า 30 ปี

singha-park3

ชาที่ดีย่อมมาจากต้นน้ำที่ดี

เชียงรายไม่ได้มีดีแค่อากาศและไม่ได้เป็นแค่สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้ได้หย่อนใจเท่านั้น แต่ลักษณะภูมิประเทศที่คัดสรรมาอย่างจำเพาะ ยังเหมาะสมกับการเป็นแหล่งเติบโตที่ดีของ “ชา” เหมือนคำเปรียบเปรยที่ว่าดอกไม้ถ้าอยู่ถูกกระถางก็จะสามารถเจริญเติบโตได้ดี คุณภาพของใบชาก็เช่นเดียวกัน ใบชาจะมีคุณภาพดีไม่ได้เด็ดขาดหากไม่ได้มาจากต้นทางที่ดีซึ่งมีจุดเริ่มจากพื้นที่เพาะปลูกตามธรรมชาติที่ถูกต้อง

พื้นที่ 600 ไร่ของไร่ชาสิงห์ปาร์ค ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองเชียงราย เป็นพื้นที่ที่อยู่สูงกว่า 400 เมตรจากระดับน้ำทะเลจัดว่าเป็นระดับที่เหมาะสมต่อการปลูก “ชาอู่หลง เบอร์ 12” หรือที่เรียกกันว่า “สายพันธุ์จินเซียนอู่หลง” ในกลุ่มชาจีน ฉะนั้นโครงการปลูกชาของไร่สิงห์ปาร์คจึงแบ่งออกเป็น 3 โครงการ โครงการละ 200 ไร่ เลือกปลูกชาอู่หลง เบอร์ 12 ทั้งหมดเพื่อให้ผลผลิตออกมามีมาตรฐานที่ดีที่สุด จากพื้นที่เดิมที่เคยปลูกข้าวบาร์เลย์เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตสินค้าแต่เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในขณะนั้นทำให้โครงการต้องยุติ จนกระทั่งปีพ.ศ.2548 จึงได้ริเริ่มพัฒนาเป็นพื้นที่ทางการเกษตรรวมถึงไร่ชาอย่างทุกวันนี้ สอดคล้องกับช่วงเวลาที่จังหวัดเชียงรายได้รับการผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการผลิตชาคุณภาพของประเทศ

อย่างที่รู้กันว่าแหล่งปลูกชาของไทยตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปางและน่าน ส่วนสายพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากคือ ชาอัสสัม และชาอู่หลงหรือชาจีน ในสัดส่วนร้อยละ 87 และ 13 ตามลำดับ (ข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร พ.ศ.2565) ปัจจุบันนี้ความนิยมในการบริโภคชารวมถึงเทรนด์เครื่องดื่มสุขภาพมีมากขึ้น บวกกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ สิงห์ปาร์ค มองเห็นการเติบโตของตลาดชา จึงได้ขยายฐานการผลิตเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งทางเลือกคือชาอัสสัมที่สามารถแปรรูปได้หลากหลาย ทั้งในรูปแบบชาดำและชาเขียว แต่การจะเพิ่มไลน์ผลิตใบชาอัสสัมในพื้นที่เชียงรายที่ปลูกอยู่เดิมก็อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เพราะโจทย์สำคัญของการปลูกชาที่ทางไร่ยึดถือคือ “พื้นที่ที่เหมาะสม” ทางสิงห์ปาร์คจึงมุ่งหน้าไปยังแหล่งปลูกชาอัสสัมในจังหวัดน่าน ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของชาอัสสัมได้ดีกว่า โดยการขยายฐานผลิตในครั้งนี้เป็นไปในรูปแบบของการร่วมมือกับเกษตรกรท้องถิ่นด้วยการรับซื้อใบชาสด หรือ ชาวัตถุดิบ รวมถึงแบ่งปันความรู้ด้านการเพาะปลูกเพื่อร่วมกันพัฒนามาตรฐานชาอัสสัมที่ดี ต่อยอดจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวน่านที่ผูกพันและมีความเชี่ยวชาญด้านการปลูกชาอัสสัมมาอย่างยาวนานนับร้อยปี

singha-park2
ใบชาคุณภาพจากสองมือ “เกษตรกรในพื้นที่”

ธรรมชาติที่เอื้อต่อการเพาะปลูกถือเป็นด่านแรกที่ดีแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมและขาดไม่ได้เลยคือ “คน” คนที่ทำหน้าที่ในการดูแลขั้นตอนการผลิตแต่ละส่วนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะขั้นตอนการเก็บเกี่ยวชาที่ต้องอาศัยทักษะและแรงงานจำนวนมาก และแม้ในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีอย่างเครื่องเก็บยอดใบชาเข้ามาทุ่นแรง อย่างไรก็ตามส่วนสำคัญที่สุดก็ยังคงเป็นคนที่เป็นผู้คัดสรรยอดชาด้วยมืออย่างมีคุณภาพเพื่อส่งต่อไปยังโรงงานผลิต

กล่าวได้ว่าไร่ชาทั้ง 3 โครงการของ สิงห์ปาร์ค ควบคุมดูแลโดยชาวเชียงรายที่รู้จักพื้นที่แหล่งปลูกเป็นอย่างดี จาก 1,200 คนที่มีการจ้างงานหมุนเวียนในพื้นที่ ทั้งในส่วนของแปลงพืชผลทางการเกษตร โครงการยางพาราและไร่ชา จำเนียร หมื่นมะเริง หรือ พี่น้อย หัวหน้าทีมดูแลไร่ชากล่าวกับเราว่าทีมดูแลไร่ชาที่นี่มีราว ๆ 100 คนส่วนใหญ่เป็นชาวชุมชนหนองเขียว ซึ่งเป็นชาวลาหู่หรือมูเซอที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านติดกับโครงการ นอกจากนี้ยังมีชาวอาข่าและเพื่อนบ้านจากประเทศเมียนมาที่เข้ามาทำงานในส่วนนี้ โดยอาศัยการจ้างงานผู้คนในพื้นที่โดยรอบเข้ามาร่วมทีม

พี่น้อยกล่าวเสริมว่าแต่ละวันกิจกรรมในไร่ชาก็จะมีตั้งแต่การใส่ปุ๋ย ถางหญ้า ตัดหญ้า ตัดแต่งกิ่งและเก็บยอดใบชาที่มีผลผลิตหมุนเวียนอยู่ทุกวัน เฉลี่ยแปลงหนึ่งจะมียอดชาพร้อมเก็บอยู่ที่ระยะเวลาราว 45 วัน หากเป็นฤดูหนาวก็อาจยืดออกไปเป็น 50-60 วัน ส่วนฤดูฝนก็จะร่นระยะเวลาลงมาที่ 20-45 วันจึงพร้อมเก็บ เห็นได้ว่าวิถีชีวิตในแต่ละวันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากวิถีเกษตรดั้งเดิมของคนในท้องถิ่น เพิ่มเติมคือการลดความเสี่ยง ทำให้สามารถเลี้ยงชีพจากรายได้ที่มั่นคงและมีตลาดรองรับผลผลิต ถือเป็นจุดยืนหนึ่งของสิงห์ปาร์ค เชียงราย ที่ตั้งใจมาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการไร่ชาในปี พ.ศ.2548 ในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ชาที่มีคุณภาพควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ชาวบ้านยังคงได้อาศัยอยู่ที่บ้านในต่างจังหวัดซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของตนเอง มีวิถีชีวิตและอาชีพที่คุ้นเคยโดยไม่จำเป็นต้องไปหางานทำจากที่อื่น

singha-park6
ชาดี = สิ่งแวดล้อมดี

วัฒนธรรมการปลูกชาอยู่คู่กับภาคเหนือมานาน หากพูดถึง “ชาอัสสัม” ผลิตภัณฑ์ชาที่สิงห์ปาร์คมองเห็นถึงศักยภาพ ในการยกระดับชาอัสสัมสู่ความเป็นสากล ตามธรรมชาติแล้ว เรียกได้ว่าเป็น “ชาป่า” ด้วยลักษณะของใบจะใหญ่กว่าใบชาจีน แต่เดิมชาวบ้านนิยมนำใบชาอัสสัมมาหมักดองกินเป็นเมี่ยง ชาอัสสัมจึงมีชื่อเรียกที่รู้จักกันอีกชื่อว่า “ชาเมี่ยง” หรือ “ต้นเมี่ยง” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เติบโตได้ดีตามป่าที่มีร่มไม้ ภูมิประเทศจังหวัดน่านที่มีเทือกเขาวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ บริเวณยอดเขาได้รับความกดอากาศสูงจากประเทศจีน และมีปริมาณฝนตกสม่ำเสมอ บวกกับอากาศเย็นชื้น ทำให้คุณภาพของดินเหมาะสมส่งให้ชาอัสสัมจากจังหวัดน่านมีคุณลักษณะพิเศษไม่เหมือนใคร

นอกจากรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ชาอัสสัมเมืองน่านเรียกได้ว่าเป็นชาที่มากับผืนป่าแบบที่กล่าวง่ายๆ ว่าหากป่าอยู่ได้ ชาก็อยู่ได้ การดูแลแหล่งปลูกชาอัสสัมจึงเท่ากับว่าเป็นการดูแลรักษาผืนป่าไปควบคู่กัน ขณะเดียวกันไร่ชาอู่หลงในจังหวัดเชียงรายก็มีโครงการปลูกป่าทดแทนมาตั้งแต่ริเริ่มโครงการสิงห์ปาร์คในปี พ.ศ.2526 จนถึงปัจจุบัน ด้านวิธีการปลูกเกษตรกรชาวเขาก็ได้ปรับเปลี่ยนจากการทำไร่เลื่อนลอยมาเพาะปลูกอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น

singha-park4
มาตรฐานการผลิตระดับเอเชีย

ไม่เพียงแต่การมีพื้นที่เอื้ออำนวยต่อคุณภาพผลผลิตที่ดี สิงห์ปาร์ค เชียงราย ยังให้ความสำคัญกับมาตรฐานในทุกๆ ขั้นตอนของการผลิตชาจนได้รับการยอมรับการันตีด้วยประกาศเกียรติบัตรมาตราฐานเกษตรปลอดภัย Asia GAP และ JGAP ซึ่งในทวีปเอเชีย มีเพียงประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันที่ได้รับการรับรองนี้เท่านั้น นั่นทำให้ไร่ชาสิงห์ปาร์คได้รับการไว้วางใจจาก มารุเซ็น (Maruzen) แบรนด์ชาอันดับต้นของประเทศญี่ปุ่นให้เป็นผู้ผลิตชาของแบรนด์นอกประเทศญี่ปุ่นหนึ่งเดียวในไทย โดยมีทีมงานนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านชา และวิศวกรจากญี่ปุ่นมาควบคุมดูแลมาตรฐานการผลิตของเครื่องจักรในโรงงานอยู่เสมอ คุณภาพของผลผลิตจึงเหมือนกับส่งมาจากเมืองชิสึโอกะโดยตรง

ยอดใบชาของไร่บุญรอดจึงแบ่งออกเป็นการผลิตในนามแบรนด์ “สิงห์ปาร์ค เชียงราย” นั่นคือผลิตภัณฑ์จากชาอู่หลงที่คิดค้นและแปรรูปออกมาเป็นรสชาติต่างๆ เช่นชากุหลาบ ชาอู่หลงมะลิหรือเอิร์ลเกรย์ และแบรนด์  “มารุเซ็น” ที่โดดเด่นด้านชาเขียวมัทฉะและเซ็นฉะ รวมถึงมีคู่ค้าที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชาของสิงห์ปาร์คไปเป็นวัตถุดิบหลักของแบรนด์ เพราะอย่างที่บอกว่าที่นี่มีการผลิตที่ครบวงจร

ดังนั้นจึงมีทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่คอยคิดค้นกระบวนการที่ดีมาตอบสนองให้เกิดรสชาติสีและกลิ่นของชาแบบที่คู่ค้าซึ่งเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ต้องการได้อย่างเฉพาะตัวสร้างคาแรคเตอร์ให้ชาแต่ละแบรนด์มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างเห็นได้ชัดจากช่วงโควิด-19 ที่มีปัญหาเรื่องการขนส่ง หลายแบรนด์จากเดิมที่เคยใช้ชานำเข้าจากต่างประเทศ ก็เริ่มมองหาวัตถุดิบจากภายในประเทศมาทดแทน โดยมีผลิตภัณฑ์ชาของสิงห์ปาร์คเป็นหนึ่งตัวเลือก นั่นเท่ากับว่าชาจากการผลิตในประเทศมีคุณภาพที่ทัดเทียมกันได้

พี่น้อย หัวหน้าทีมดูแลไร่ชากล่าวเสริมว่าโดยปกติใน1 วัน จะสามารถเก็บยอดใบชาได้เฉลี่ย 4,500 กิโลกรัม ซึ่งหากมีความต้องการเพิ่มเติมเข้ามา ทางทีมก็มีผลผลิตพร้อมรองรับความต้องการ เพราะการปลูกและเก็บเกี่ยวของที่นี่จะหมุนเวียนกันในพื้นที่ 3 โครงการ

singha-park5
ความชำนาญพิเศษที่มาจากผู้ผลิตทุกฝ่าย

หากไปเยือนสิงห์ปาร์ค เชียงราย นักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถชมกระบวนการการผลิตชาได้แทบครบวงจร พิเศษคือการได้พูดคุยกับ “เกษตรกรในพื้นที่” ตัวจริงด้านการปลูกชาที่แต่ละคนก็ล้วนสั่งสมประสบการณ์ด้านการปลูกชามาแบบรุ่นต่อรุ่นจนเรื่องราวของชาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเกษตรกรเหล่านี้ไปแล้ว บวกกับทาง สิงห์ปาร์ค เองมีการเสริมทัพทีมนักวิชาการเกษตรรุ่นใหม่มาแบ่งปันเทคนิค เทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับชา ผสมผสานสององค์ความรู้เพื่อให้ได้ชาคุณภาพตรงตามมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของไร่ชาอู่หลงที่สิงห์ปาร์คดูแลการผลิตเองทุกขั้นตอน ไปจนถึงแหล่งปลูกชาอัสสัมจังหวัดน่านที่ทางสิงห์ปาร์คได้รับซื้อชาอัสสัมจากชาวบ้านในพื้นที่

โดยในส่วนของชาอัสสัมนั้นทางสิงห์ปาร์คได้เข้าไปตั้งโรงงานในจังหวัดน่านอีกแห่งหนึ่งเพื่อลดขั้นตอนการขนส่งใบชา และอีกเหตุผลสำคัญคือการรักษาคุณภาพและความสดใหม่ของชาไว้มากที่สุด พร้อมเสริมทัพทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์คอยสนับสนุนองค์ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่เพื่อให้ได้รสชาติแปลกใหม่และลงตัวที่สุดออกมา เรียกว่าเป็นความสำเร็จที่มาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง สมดั่งปณิธานของสิงห์ปาร์คที่ไม่ได้ตั้งเป้าแค่การผลิตใบชาคุณภาพดีในระดับสากลเท่านั้น แต่คุณภาพของใบชาที่ดีย่อมหมายถึงการสร้างต้นน้ำที่ดีคือธรรมชาติที่สมดุลและการอยู่ร่วมกับชุมชนผู้อยู่เบื้องหลังวิถีแห่งใบชาอย่างยั่งยืน

Fact File

สิงห์ปาร์ค เชียงราย ถนนเด่นห้า-ดงมะดะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย  เปิดบริการทุกวัน เวลา 9.00-18.00 น.

ติดต่อบริการท่องเที่ยวไร่สิงห์ปาร์ค โทร.  061-387-7592 www.facebook.com/SinghaparkChiangrai www.singhapark.com

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ สิงห์ปาร์ค เชียงราย : แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มี “วิถีแห่งคนปลูกชา” เป็นหัวใจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook