“เลือนแต่ไม่ลืม” นิทรรศการแห่งการรอคอยผู้สูญหาย จากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535

“เลือนแต่ไม่ลืม” นิทรรศการแห่งการรอคอยผู้สูญหาย จากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535

“เลือนแต่ไม่ลืม” นิทรรศการแห่งการรอคอยผู้สูญหาย จากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความตายอาจเจ็บปวดแต่ก็ยังได้บอกลา แต่ชะตากรรมของผู้สูญหายทิ้งไว้เพียงคำถามและคราบน้ำตาให้กับครอบครัวที่ยังรอคอย

“เดือนพฤษภาคม 2535” อาจเป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกบันทึกไว้สั้น ๆ ในหนังสือเรียน ว่าเป็นเหตุการณ์การชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ภายหลังนำไปสู่ความรุนแรงและกลายเป็นเหตุการณ์นองเลือด โดยกระทรวงมหาดไทยรายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 44 ราย บาดเจ็บ 1,728 ราย และสูญหาย 48 ราย แต่หลายฝ่ายก็คาดการณ์ว่าตัวเลขจริงอาจจะมากกว่านั้น

นี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนจากหลายเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่สำหรับ “ครอบครัว” ของผู้สูญหายจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 นี่คือบาดแผลและความเจ็บปวดที่ยังคงกัดกินหัวใจของพวกเขาอยู่ เมื่อการรอคอยที่จะได้พบเจอคนที่พวกเขารักล่วงเลยมาแล้วกว่า 30 ปี 

นิทรรศการ เลือนแต่ไม่ลืม (Lost, and Life Goes on) นิทรรศการที่นำเสนอเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ผ่านเรื่องราวและชีวิตของครอบครัวผู้สูญหายที่ยังต้องดำเนินต่อไป โดยไร้ซึ่งคำตอบจากภาครัฐ ตลอดระยะเวลา 30 ปี ในรูปแบบของงานศิลปะ สารคดี และภาพยนตร์สั้น ภายในงานจัดแสดงงานศิลปะของศิลปินหลายคน ทั้ง Pavarit Tanapiyavanit, ประชาธิปไทป์, Thai Political Tarot, Thisismjtp และ Setthasiri Chanjarapong ที่ร่วมตีความเรื่องความทรงจำสู่ประเด็น “ผู้ถูกบังคับสูญหาย” และถ่ายทอดผ่านงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงหนังสือพิมพ์ ภาพถ่าย และหลักฐานทางประวัติศาสตร์อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ เพื่อให้ผู้ที่เข้าชมนิทรรศการได้ร่วมเรียนรู้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ถือเป็นบาดแผลหนึ่งของสังคมไทย

งานศิลปะของประชาธิปไทป์ ในชื่อ “35” สื่อสารและเล่าเรื่องราวบริบทของสังคมช่วงปี 2535 ด้วยภาพวัฒนธรรมป็อป ที่เฟื่องฟูในยุคนั้น ทั้งดนตรี ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ยอดนิยม  ทว่าท่ามกลางความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม กลับมีภาพเหตุการณ์ทางการเมืองแทรกอยู่ ซึ่งแม้จะไม่มากนัก แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบกับหลายครอบครัว และจนบัดนี้ พวกเขาก็ยังไม่เคยได้รับความยุติธรรม

Unexpected | Unfound | Unclear ผลงานภาพพิมพ์กึ่งแอนะล็อกของ Thisismjtp ที่สะท้อนให้เห็นความยุ่งเหยิงและบางเบาของเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เล่าเรื่องราวความรู้สึกของครอบครัวผู้สูญหายผ่าน 3 ช่วง ตามลำดับเวลา เริ่มตั้งแต่ “ความรู้สึกที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดความรุนแรง” ผ่านรูปลูกกระสุนและเปลวไฟ บอกถึงความวุ่นวายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม ต่อด้วย “ความรู้สึกสับสน ไม่รู้จะเริ่มจากไหน ไม่รู้จะหาอย่างไร” เมื่อคนที่พวกเขารักสูญหายไปจากเหตุการณ์ความรุนแรง และสุดท้ายคือ “ความรู้สึกว่าไม่รู้เมื่อไรจะได้พบกัน” เมื่อความหวังว่าจะได้พบถูกแทนที่ด้วยความหมดหวัง 

Setthasiri Chanjarapong จัดแสดงศิลปะ Video Installation ภายใต้ชื่อ “สุดปลายสาย” ท่าทางยกหูโทรศัพท์ขึ้นมา กดหมายเลขปลายทาง แล้วรอสาย เสียงรอสายที่ยาวนานกว่า 10 นาที แต่ไม่เคยมีคนรับสาย สะท้อนการรอคอยที่ไม่มีจุดสิ้นสุดของครอบครัวผู้สูญหาย และโอกาสที่เสียไปของคนที่รอคอยให้คนที่รักรับสายหรือกลับบ้าน

การจดจำผู้สูญหายในยุคแอนะล็อก ที่ภาพถ่ายและการตามหาเบาะแสคนที่สูญหายมีจำกัด ทำให้งานศิลปะที่เกิดจากความร่วมมือของศิลปินหลายคน ในชื่อ Remember สามารถเปิดพื้นที่ให้คนในยุคปัจจุบันได้ร่วมจดจำผู้สูญหาย เพื่อไม่ให้ร่องรอยชีวิตของวีรชนพฤษภา 2535 เหล่านี้เลือนหายไปโดยไร้ร่องรอยให้จดจำ

 

งานศิลปะบนกระจกของ Pavarit Tanapiyavanit แสดงเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เกิดความรุนแรง ดูห่างไกลจากชีวิตของคนที่ยืนมองในปัจจุบัน แต่หากลองเดินเข้าไปใกล้ ๆ เราจะมองเห็นตัวเราเอง สะท้อนว่าภายใต้ระบบเผด็จการที่ทุกอย่างอยู่บนความไม่แน่นอน การไม่ศึกษาและเรียนรู้อดีต อาจนำไปสู่ปัญหาเดิม ๆ ที่ความรุนแรงอาจจะเกิดขึ้นกับตัวเรา เราทุกคนสามารถกลายเป็นคนสูญหายได้เช่นกัน และ One of us is next (เราอาจเป็นรายต่อไป)

นอกจากนี้ ภายในนิทรรศการยังจัดตั้ง “ห้องมืด” ที่ภายในติดตั้งข้อความที่เป็นข่าวลือ เกี่ยวกับชะตากรรมของผู้สูญหายในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ซึ่งข่าวลือเหล่านี้เกิดขึ้นจากความไม่โปร่งใสชัดเจนในการรายงานเหตุการณ์ และกลายเป็นเหมือน “แดนสนธยา” ที่ครอบครัวของผู้สูญหายและประชาชนคนอื่นๆ ไม่อาจเข้าถึงความจริง

การรอคอยของครอบครัวผู้สูญหายยังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางความทรงจำที่ค่อย ๆ เลือนหายและปฏิกิริยาที่ยังคงนิ่งเฉยจากภาครัฐ สิ่งที่เราทุกคนจะสามารถทำได้ คือการร่วมจดจำเรื่องราวและพูดถึงเหตุการณ์รุนแรงเหล่านี้ ให้มันเป็นบทเรียนแสนเจ็บปวดที่จะไม่มีใครยอมให้มันเกิดขึ้นกับสังคมไทยอีกแล้ว 

ร่วมจดจำเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และทวงความยุติธรรมผ่านความทรงจำที่ยังหลงเหลือ ผ่านนิทรรศการ “เลือนแต่ไม่ลืม” (Lost, and Life Goes on) ตั้งแต่วันที่ 21 - 29 พฤษภาคม 2565 เวลา 11.00 - 19.00 น. สถานที่ Palette Artspace บีทีเอสทองหล่อ

อัลบั้มภาพ 19 ภาพ

อัลบั้มภาพ 19 ภาพ ของ “เลือนแต่ไม่ลืม” นิทรรศการแห่งการรอคอยผู้สูญหาย จากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook