ตื่นตาอีสาน วัฒนธรรมริมโขง

ตื่นตาอีสาน วัฒนธรรมริมโขง

ตื่นตาอีสาน วัฒนธรรมริมโขง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ใกล้ถึงวันเข้าพรรษา นักท่องเที่ยวหลายท่านคงนึกถึงประเพณีการแห่เทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ตระการตา ของชาวจังหวัดอุบลราชธานี หรือบางท่านอาจจะนึกถึงความสะดวกสบายความศิวิไลของเมืองใหญ่ริมแผ่นดินศรีอีสาน แต่ก็น่าจะมีหลายๆ ท่านนึกถึงความงดงามของธรรมชาติป่าเขาริมสายน้ำโขงในแถบอำเภอโขงเจียม  ซึ่งเป็นจุดชมแสงแรกของวันที่ทอแสงส่องประกายขึ้นมาก่อนใครในสยาม

ไม่ว่าท่านจะนึกถึงอะไรก็ตามในแผ่นดินชายขอบประเทศด้านตะวันออกสุดแห่งนี้ ผมเชื่อแน่ว่าในจังหวัดอุบลราชธานี ที่ท่านกำลังนึกถึงอยู่ ยังมีบางแง่มุมที่ท่านอาจจะยังไม่เคยรับรู้มาก่อน และยิ่งในช่วงวันหยุดช่วงวันออกพรรษาปีนี้ นักท่องเที่ยวหลายๆ ท่านอาจจะกำลังเตรียมตัวเดินทางไปเยือนจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อชื่นชมความยิ่งใหญ่ตระการตาของงานประติมากรรมเทียนแกะสลักระดับนานาชาติ จากศิลปินผู้มีชื่อเสียงด้านงานศิลปะ ซึ่งปีนี้ได้กำหนดแสดงผลงานระหว่างวันที่ 27-28 กรกฏาคม 2561

วันที่ 27 กรกฏาคม พ.ศ. 2561 เป็นวันรวบรวมเทียนจากคุ้มวัดต่างๆ มาที่บริเวณรอบทุ่งศรีเมือง

วันที่ 28 กรกฏาคม พ.ศ. 2561 เป็นวันงานแห่เทียนพรรษา

วันนี้ผมจึงขอนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี เพิ่มเติมจากเดิมที่รู้จักมักคุ้นกันอยู่ เพื่อการเดินทางสู่แผ่นดินศรีอีสานของท่านคราวนี้ จะได้เป็นการเดินทางที่คุ้มค่า และตื่นตากับการเดินทางไปเยือนมากขึ้นจากเดิม

สถานที่ที่จะแนะนำกันต่อไปนี้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ท่านสามารถชมวิถีชีวิต ของพี่น้องชาวอีสานที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง และแม่น้ำมูล ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม และผลิตสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านอีสาน ที่หาชมได้ยากยิ่งในปัจจุบัน ณ บ้านท่าล้ง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จ.อุบลราชธานี เป็นแหล่งผลิตเครื่องจักสานที่โด่งดังมีชื่อเสียง และจำหน่ายกันไปทั่วประเทศ คือ กระติบข้าวเหนียว และ เสื่อจากใบเตยป่า 

บ้านท่าล้ง เป็นชุมชนริมแม่น้ำโขงที่มีความสงบร่มรื่น ภายในหมู่บ้านมีบรรยากาศสวยงามตามแบบฉบับชนบท ชาวบ้านท่าล้งแต่เดิมเป็นชาวพื้นเมืองที่พำนักอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีชื่อเรียกแบบดั้งเดิมว่า "ชาวบรู" มีภาษาพูดเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่น้อยคนนักจะสื่อสารหรือฟังออก ต่อมาได้อพยพย้ายถิ่นฐานลงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลห้วยไผ่ ในเขตหมู่บ้านท่าล้ง ปัจจุบันการดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยความเรียบง่าย มีความสมัครสมานสามัคคี ยึดมั่นในประเพณีแบบดั้งเดิม

ชาวไทยบรู ที่บ้านท่าล้งแห่งนี้มีฝีมือในการจักสาน โดยจะใช้ผิวไม้ไผ่มาสร้างงานหัตถกรรมได้อย่างประณีต ผลงานที่ได้ผลิตออกมาเป็นที่เลื่องลือในความสวยงามละเอียด และคงทน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง เช่น กระติบข้าว ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ระดับ 4 ดาว และมีการสานเสื่อจากใบเตยป่า โดยนำใบเตยป่ามาเลาะเอาหนามออก แล้วกรีดให้เป็นเส้นก่อนนำไปสานและตากแดดให้แห้ง เสื่อจากใบเตยที่ชาวบรูผลิตออกมานี้ได้รับความนิยมมาก เพราะเป็นเสื่อที่สวยงามคงทน และราคาไม่แพง

ถัดมาอีกนิด ที่อยู่ไม่ไกลกันนัก เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านตามุย สวนเกษตรริมแม่น้ำโขง

บ้านตามุย ตั้งอยู่ในเขตตำบลห้วยห้วยใฝ่ เช่นเดียวกัน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกร ทำสวนผลไม้ โดยมีพื้นที่อยู่ตามแนวริมแม่น้ำโขง เช่น สวนของนายสุบิน ใต้โพธิ์, นายเขียน ขยันการ, นายชัย ขยันการ ผลไม้ที่ปลูกมีได้แก่ ลำไย ส้มโอ ฝรั่ง มะขาม ท่านสามารถเข้าไปชมสวน และชมทัศนียภาพอันร่มรื่นริมแม่น้ำโขงได้ไปด้วยในตัว สวนบางแห่งตั้งอยู่ใกล้หาดวิจิตรา ซึ่งเป็นชายหาดริมแม่น้ำโขงที่มีความสวยมากแห่งหนึ่ง

นอกจากนี้ภายในหมู่บ้านยังมีการทอผ้า ด้วยกรรมวิธีโบราณ รวมถึงการย้อมสีธรรมชาติ ผ้าที่ทอส่วนใหญ่เป็นผ้าฝ้ายคุณภาพดี มีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ น่าเลือกซื้อหา หรือเพื่อนำไปฝากคนรัก

หากยังนึกไม่ออกว่า สองหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่บริเวณใดของริมแม่น้ำโขง ไม่ยากครับ ผมขอแนะนำให้ท่านไปยืนริมผาแต้ม หน้าผาที่มีชื่อเสียงโด่งดังของการชมพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใครในสยาม แล้วก้มมองลงไปที่ริมแม่น้ำโขงฝั่งไทย ถ้าท่านเห็นเป็นหมู่บ้าน นั่นแหละครับ แต่ขอร้อง... อย่ากระโดดลงไปล่ะ!

ชีวิตที่เรียบง่ายของผู้คนดำเนินไปกับสายน้ำ อันมีต้นกำเนิดที่ยาวไกล หล่อหลอมก่อเกิดเป็นตำนานงานศิลป์ ถ่ายทอดออกมาให้ได้ใช้สอยชื่นชม ทุกวันนี้เราคงไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีที่เราต่างวิ่งเข้าหาไขว้คว้ามาเพื่ออำนวยความสะดวกสบาย หรือเพียงเพื่อแสดงฐานะทางสังคม แต่จะมีสักกี่คนที่คิดย้อนกลับไปว่า ก่อนที่เทคโนโลยีจะเกิดนั้น มีรากฐานมาจากอะไร และอะไรที่ทำให้คนรุ่นก่อนคิดค้นมันออกมาได้ หากไม่ใช่คำว่า "ภูมิปัญญา"

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

อบต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

โทร. 0 7251 8364, 0 4535 1287

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ ตื่นตาอีสาน วัฒนธรรมริมโขง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook