โนราโรงครู "รากแห่งวัฒนธรรมศรัทธา มรดกอันทรงคุณค่าแห่งด้ามขวานทอง"

โนราโรงครู "รากแห่งวัฒนธรรมศรัทธา มรดกอันทรงคุณค่าแห่งด้ามขวานทอง"

โนราโรงครู "รากแห่งวัฒนธรรมศรัทธา มรดกอันทรงคุณค่าแห่งด้ามขวานทอง"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เสียงปี่โนราผสานเสียงกลองทับที่ดังก้องกังวานไปทั่ววัดท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง สอดประสานกับเสียงบทร้องโนราภาษาใต้ที่สอดแทรกขึ้นมาเป็นจังหวะ

บ้างก็มีเสียงหัวเราะครื้นเครงของชาวบ้านที่นั่งล้อมอยู่ด้านนอกดังขึ้นสลับกัน ดึงดูดให้คนต่างถิ่นอย่างเรารีบก้าวขายาว ๆ เข้าไปยังโรงพิธี

ด้านในมีนักแสดงโนราสี่ถึงห้าคนกำลังร้องเพลงด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ร่ายรำด้วยท่าทางที่แข็งแรง แต่แฝงไปด้วยความอ่อนช้อย แสดงถึงการแสดงโนราของแท้แบบดั้งเดิมของปักษ์ใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "งานโนราโรงครูท่าแค"

8bc78e6e307b9a6c9a42aec3542983ba

สองเท้าพานวลก้าวเข้าไปใกล้อีกนิด...อีกนิด แล้วนั่งลงกับพื้นทรายชื้น ๆ อย่างไม่รีรอ

สายตามองนักแสดงโนราและหัวเราะร่าไปพร้อมๆ กับคุณป้า คุณย่า คุณยาย ที่นั่งอยู่ข้างๆ ทั้งๆ ที่ฟังภาษาใต้ไม่ออกสักนิด แต่กลับรู้สึกสนุกสนาน เพลิดเพลินไปกับการร่ายรำในทุกท่วงท่าของนักแสดงโนรา

สำหรับคนที่ไม่เคยดูการแสดงโนรามาก่อน เพียงแค่ไม่กี่นาที สิ่งเหล่านี้ก็พาเราตกหลุมรักการแสดงโนราไปเสียแล้ว

1ed832a967fac58efa4bbf69d04b3633
43cd0a88d0d39988aca732647236affe
67d199ea9098bc0012938613f939e453
7a0716eaa58c0b328d20bfa56676813e
87e634686f56efbe8b081a2cd3c06b6c

การแสดงโนรา หรือมโนห์รา (มโนรา, มโนราห์) เป็นการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ที่มีสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน จากหลักฐานหลายอย่างก็บ่งชี้ได้ว่า ในอดีตการแสดงนี้เป็นศิลปะชั้นสูง เป็นนาฏกรรมของราชสำนักและท้าวพระยามหากษัตริย์ทางภาคใต้

โดยมีจุดกำเนิดสำคัญอยู่ที่เมืองพัทลุง ซึ่งครูเปลื่อง ประชาชาติ ปราชญ์ด้านโนราแห่งเมืองพัทลุง ได้ทำการศึกษาค้นคว้าจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ของเมืองพัทลุง ก็ยิ่งทำให้เชื่อได้ว่าตำบลท่าแค อำเภอท่าแค จังหวัดพัทลุง เป็นสถานที่แรกที่มีการกำเนิดโนรา

โนราโรงครูท่าแค พิธีกรรมสำคัญของลูกหลานโนราทางภาคใต้ มีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 3 ประการ คือ

เพื่อไหว้ครู หรือไหว้ตายายโนรา ซึ่งเป็นบรรพบุรุษ แสดงถึงความกตัญญู

2. เพื่อทำพิธีแก้เหมย (แก้บน)

3. เพื่อประกอบพิธีครอบเทริด หรือผูกผ้าใหญ่ หรือแต่งพอก ให้กับโนรารุ่นใหม่



โดยโนราโรงครูท่าแคจะพิเศษกว่าที่อื่น ๆ ตรงที่ครูหมอโนรา หรือตายายโนรา ทั้งหมดมาร่วมชุมนุมกัน เพราะตามความเชื่อของคนโบราณเล่าขานต่อกันมาว่า บ้านท่าแคเป็นแหล่งกำเนิดโนรา แหล่งสถิตหรือพำนักของครูโนรา

การจัดงานโนราโรงครูท่าแคถือกำเนิดมาหลายปีแล้ว ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจัดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ที่มีหลักฐานชัดเจนถึงการจัดโนราโรงครูใหญ่อย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้ ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514

ด้วยเหตุที่วัดแห่งนี้มีหลักพ่อขุนศรีศรัทธา หรือ เขื่อนขุนทา ปรมาจารย์โนรา ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัด พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร จึงทรงสร้างรูปปั้นขุนศรีศรัทธาและพรานบุญ ศาลาบริเวณเขื่อนขุนทา เพื่อประดิษฐานรูปปั้นเป็นอนุสรณ์ของขุนศรีศรัทธา



และจากความเชื่อว่าขุนศรีศรัทธาเป็นครูคนแรก จึงจัดให้มีโนราโรงครูขึ้นที่วัดท่าแค โดยมี โนราแปลก ท่าแค (แปลก ชนะบาล) เป็นผู้นำสำคัญ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงได้กำหนดให้วันพุธ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน 6 มีการจัดพิธีไหว้ครูโนราและรำโนราโรงครูถวาย

ชาวบ้านที่เชื่อว่าตนเองมี "ตายายโนรา" ก็จะมาเข้าร่วมชุมนุมกันอย่างคับคั่ง โนราใหม่จากทั่วสารทิศที่ต้องการครอบเทริด หรือผูกผ้าใหญ่ หรือแต่งพอก ก็จะเดินทางมาร่วมงาน นอกจากนั้นยังมีการแก้เหมย (แก้บน) ในงานนี้อีกด้วย


พิธีกรรมโนราโรงครู สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในภาคใต้ แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คือ "งานโนราโรงครูท่าแค" ด้วยมีความเชื่อว่าที่นี่เป็นแหล่งกำเนิดของโนรา และยังเป็นที่พำนักของครูหมอโนราหรือตายายโนรา

นอกจากนั้นยังมีการจัดพิธีกรรมตามแบบดั้งเดิมสมบูรณ์ครบถ้วน ที่สำคัญยังเป็นการรวมตัวกันของโนราที่มีความเชี่ยวชาญจากแต่ละสายมาทำการแสดงและร่วมพิธีกรรม

ภายในโรงโนราแบบดั้งเดิม เป็นเรือนเครื่องผูกขนาด 9 x 11 ศอก มีเสา 6 เสา ไม่ยกพื้น ไม่ตอกตะปูในการก่อสร้าง หันหน้าไปทางทิศเหนือหรือทิศใต้ หลังคาเป็นรูปหน้าจั่ว มุงจาก ครอบกระแซงหรือใบเตยไว้ตรงกลางจั่ว ด้านซ้ายหรือด้านขวาทำเป็นชั้นสูงระดับสายตา เพื่อวางเครื่องบูชา เรียกว่า "ศาล"หรือ "พาไล" ด้านหลังของโรงพิธีทำเป็นเพิงพักของคณะโนรา


ในทุก ๆ พิธีกรรมสำคัญจะมีโนราเกรียงเดชน้อย นวลระหงส์ เป็นผู้นำ นอกจากความรอบรู้ในเรื่องพิธีกรรมโนราโรงครูท่าแคแล้ว ในบทบาทของนักแสดงโนรา เขาผู้นี้ก็ทำได้ดีไม่มีผิดเพี้ยน การร่ายรำด้วยท่าทางที่อ่อนช้อยส่งผ่านออกมาทางปลายนิ้วมือและการเคลื่อนไหว แต่กลับเฉียบคม แข็งแกร่ง ดูมีพลังและน่าเกรงขาม

สร้างความศรัทธาและความเชื่อให้เกิดขึ้นแก่ทุกคนที่มาร่วมงาน ซึ่งความสามารถเฉพาะตัวนี้เองที่ทำให้เขาคว้าแชมป์ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ จังหวัดพัทลุง ปี 2556

โนราเกรียงเดชน้อย นวลระหงส์ หรือคุณเกรียงเดช  ขำณรงค์ หลานชายในสายเลือดของโนราแปลก ท่าแค (แปลก ชนะบาล) ผู้ที่จะสืบทอดโนราโรงครูท่าแคให้ดำรงอยู่สืบไปจนชั่วลูกชั่วหลาน

ด้วยมีความชำนาญในเรื่องการร้องการรำโนรา และพิธีกรรมโนราโรงครูแบบดั้งเดิมที่ครบถ้วน รวมทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มชักชวนโนราที่เก่งกาจจากสายต่าง ๆ ให้มารวมตัวกันจนเกิดคณะเทพศรัทธา อันเป็นคณะโนราที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของภาคใต้ในยุคนี้

สำหรับการจัดงานโนราโรงครูวัดท่าแคนั้นจะจัดขึ้นในทุกๆวันพุธ-ศุกร์ที่ 2 ของเดือน 6 ตามจันทรคตินะครับ

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครศรีธรรมราช

ขอขอบพระคุณข้อมูลดีๆจาก กองประชาสัมพันธ์ภายในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, สำนักวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง, สถาบันทักษิณคดีศึกษา, คุณเกรียงเดช ขำณรงค์, clib.psu.ac.th, krunora, เฟซบุ๊กมโนราโรงครูท่าแค, ich.culture.go.th, ฐานข้อมูลทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

อัลบั้มภาพ 258 ภาพ

อัลบั้มภาพ 258 ภาพ ของ โนราโรงครู "รากแห่งวัฒนธรรมศรัทธา มรดกอันทรงคุณค่าแห่งด้ามขวานทอง"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook