อิ่มบุญนานนาน...ที่น่าน แลคตาซอยชวนไปเที่ยวเทศกาลปีใหม่ไทยสไตล์ล้านนา

อิ่มบุญนานนาน...ที่น่าน แลคตาซอยชวนไปเที่ยวเทศกาลปีใหม่ไทยสไตล์ล้านนา

อิ่มบุญนานนาน...ที่น่าน แลคตาซอยชวนไปเที่ยวเทศกาลปีใหม่ไทยสไตล์ล้านนา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     เกิดเป็นคนไทยนี้โชคดีหลายอย่าง เพราะหลังจากผ่านช่วงปีใหม่มาไม่กี่อึดใจก็มีวันหยุดยาวๆ อย่างเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ไทย และโชคดีอย่างที่สองคือประเทศไทยของเรานั้นอุดมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่หลากวัฒนธรรม หลายความยาวนานของประวัติศาสตร์ รวมถึงสถานที่เรากำลังจะชักชวนคุณเก็บกระเป๋าและออกเดินทางอย่างจังหวัด ‘น่าน’ ดินแดนล้านนาตะวันออกที่สืบทอดประวัติศาสตร์มายาวนานนับ 600 ปี ทำให้คนที่นี่มีวิถีชีวิตและประเพณีอันงดงาม และยังมีสถาปัตยกรรมเมืองเหนือแบบดั้งเดิมที่อยู่ในวัดต่างๆ รอให้เราเข้าไปกราบไหว้สักการะ

     สำหรับใครที่เริ่มสนใจและอยากรู้จักจังหวัดนี้ให้มากขึ้น อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม จ.น่าน จะขออาสาเล่าความเป็นมาของวิถีชีวิตชุมชนที่นี่ให้ฟังกัน เริ่มด้วย กิจกรรมเรียนรู้ลองทำ "ตุงค่าคิง" หรือออกเสียงอีกอย่างว่า "ตุงก้าคิง" ที่วัดพระเกิด เป็นตุงสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อของล้านนา โดยคนภาคเหนือเชื่อว่า "ตุง" คือ ธงที่พระพุทธเจ้าประกาศชัยชนะเหนือหมู่มาร คำว่า “ค่า” แปลว่า เท่ากับ คำว่า "คิง" แปลว่า ตัวเรา ดังนั้น ลักษณะของ "ตุงค่าคิง" จึงตัดให้มีความสูงเท่ากับตัวของผู้ทำตุง ถือเป็นสัญลักษณ์แทนตัวคนที่ทำ เพื่อใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีสืบชะตาหลวง

     เริ่มขั้นตอนการตกแต่งตุงด้วยการติดจมูก ตา คิ้ว และปาก เพราะยึดหลักธรรมชาติของมนุษย์ที่เกิดมาต้องหายใจได้ก่อน แล้วจึงมองเห็น และพูดได้ จากนั้นจึงติดปีนักษัตรของผู้ทำ เมื่อเสร็จดีแล้วก็ให้นำตุงไปถวายแก่วัดพระเกิด ซึ่งจะช่วยเสริมบารมี สะเดาะเคราะห์ รับโชค และเสริมสิริมงคลให้แก่ผู้ถวาย ทางวัดก็จะนำไปแขวนไว้ภายในพระอุโบสถ เมื่อมีการสวดมนต์หรือทำพิธีทางศาสนาก็เหมือนกับเจ้าของตุงได้รับพรไปด้วย

     อาจารย์สมเจตน์ยังกล่าวเสริมอีกว่า การทำ "ตุงค่าคิง" นั้นแฝงด้วยนัยยะสอนใจหลายอย่าง การตกแต่งตุงทั้ง 2 ด้านให้สวยงาม รวมถึงการติดจมูก ตา คิ้ว ปาก ให้อยู่ในตำแหน่งที่ตรงกันนั้น เป็นการสอนให้ผู้ทำรู้จักตั้งสติ มีสมาธิ ซึ่งจะนำชีวิตไปสู่ความสำเร็จ ส่วนตุงที่หมุนรอบตัวเอง 360 องศา สอนให้คนเรามองและพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างรอบด้าน มีเหตุผล ไม่ตัดสินเพียงด้านเดียว

     หลังจากถวายตุงแล้วก็ถึงเวลาเชยชมความงามของสถาปัตยกรรมเก่าแก่คู่เมืองน่าน เริ่มต้นที่ “วัดพระธาตุเขาน้อย” เชิญสักการะพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าซึ่งบรรจุอยู่ในองค์พระธาตุศิลปะแบบพม่าผสมล้านนา ด้านบนของตัววัดมีจุดชมวิวที่มองเห็นทัศนียภาพของเมืองที่ถูกโอบล้อมด้วยขุนเขา อีกทั้งบริเวณจุดชมวิวยังเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน พระพุทธรูปปางลีลาขนาดใหญ่ซึ่งหันพระพักตร์ไปทางตัวเมืองน่าน

     ต่อที่สองมาเดินทางไปไหว้พระพุทธรูปทองคำที่ “วัดช้างค้ำ” ซึ่งประดิษฐานภายในวิหารที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมของล้านนา นามว่า “พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี” เป็นพระพุทธรูปทองคำปางลีลา ศิลปะสุโขทัยอันงดงาม

     ถึงตรงนี้ใครเริ่มมีอาการเหนื่อยกันแล้ว จุดหมายต่อไปขอเป็นที่ใกล้ๆ เพียงคุณเดินลัดเลาะข้ามถนนก็จะพบกับ “วัดภูมินทร์” ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้านพุทธศิลป์ คือ สร้างเจดีย์และพระอุโบสถเป็นหลังเดียวกัน ทรงจัตุรมุข คล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัว เนื่องจากมีความเชื่อว่าถ้าใครได้ลอดท้องรูปปั้นพญานาควัดภูมินทร์แล้วจะโชคดี ส่วนด้านในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของ “พระประธานจตุรทิศ” ปางมารวิชัย 4 องค์ ประทับนั่งบนฐานเดียวกัน หันพระพักตร์ไป 4 ทิศ

     อีกหนึ่งความโดดเด่นของพระอุโบสถ คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม สร้างสรรค์โดยช่างฝีมือชาวล้านช้างที่บอกเล่านิทานชาดกสอนใจให้คนทำความดี และยังสอดแทรกภาพวิถีชีวิตของชาวน่านในอดีต ภาพโด่งดังของจิตรกรรมฝาผนังนี้ คือ "ภาพปู่ม่าน-ย่าม่าน" กระซิบรักอันลือเลื่อง และภาพ “โมนาลิซ่าเมืองน่าน” สาวงามแห่งเมืองน่านในยุคสมัยนั้น

     เติมบุญต่อด้วยการนั่งรถเพื่อไปยัง “วัดมิ่งเมือง” ที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามจากศิลปะปูนปั้นสดสีขาว งานฝีมือโดยตระกูลช่างเมืองเชียงแสน ด้านนอกตัววัดเป็นที่ประดิษฐานของเสาหลักเมืองที่ชาวน่านและนักท่องเที่ยวมักแวะเวียนมาสักการะขอพร

     และที่ไม่ควรพลาดสำหรับผู้สูงอายุคือ “วัดศรีพันต้น” ที่ร่วมสักการะพระสังกัจจายน์อายุกว่า 500 ปี ซึ่งมีขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดน่าน และมีชื่อเสียงเรื่องการรักษาอาการเจ็บปวดและโรคภัยต่างๆ ได้

     ปิดท้ายทริปอิ่มบุญด้วยการร่วมพิธีสืบชะตาที่ “วัดพระธาตุแช่แห้ง” พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองน่าน องค์พระธาตุอายุกว่า 600 ปี สีทองอร่ามบุด้วยทองเหลือง ที่เขาสันนิษฐานกันว่าเป็นศิลปะการก่อสร้างที่ได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์พระธาตุหริภุญชัย ส่วนชื่อ “แช่แห้ง” นั้น อาจารย์สมเจตน์ ได้ถอดรหัสแปลความหมาย คำว่า “แช่” คือ ทุกข์ สมุทัย คำว่า “แห้ง” คือ นิโรธ มรรค ดังนั้น “แช่แห้ง” จึงเป็นนัยยะที่สอนให้มนุษย์ซึ่งอยู่ในสภาวะความทุกข์ รู้จักหาทางให้ตัวเองพ้นทุกข์ กล่าวคือ เมื่อแช่อยู่ในทุกข์ ก็ต้องหาวิธีให้ตัวเองแห้งหรือห่างจากทุกข์นั่นเอง

     อาจารย์สมเจตน์ให้ความรู้เรื่อง พระธาตุแช่แห้ง ว่าเป็นพระธาตุประจำปีเถาะ ซึ่งตรงกับปีพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสืบชะตาหลวง หรือพิธีสืบดวงพระราชสมภพของในหลวง รัชกาลที่ 9 ขึ้นที่วัดพระธาตุแช่แห้ง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ในการประกอบพิธีสืบชะตาหลวง หลังจากนั้นทางวัดจึงได้จัดพิธีสืบชะตาหลวงแบบพื้นเมืองน่านมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของชาวล้านนา ที่เชื่อกันว่าเป็นการต่ออายุ หรือต่อชีวิตของบ้านเมืองหรือของคนให้ยืนยาว มีความสุข ความเจริญ ขจัดภัยอันตรายต่างๆ ที่จะบังเกิดขึ้นให้แคล้วคลาดปลอดภัย

     และนี่ก็เป็นอีกสิ่งยืนยันว่าคนไทยนั้นโชคดีเหลือเกินที่มีสิ่งดีๆ อย่างนี้อยู่คู่กับเราในประเทศ นอกจากจะได้อิ่มบุญอิ่มใจแล้ว เมนูอาหารเหนือก็ยังเป็นของขึ้นชื่อที่หากได้ลิ้มลองก็ต้องติดใจกันทุกคน อีกทั้งการเดินชมการแสดงทางวัฒนธรรม เลือกซื้ออาหาร เสื้อผ้า สินค้าพื้นเมือง และของที่ระลึกมากมาย ต้องขอขอบคุณแลคตาซอยที่สนับสนุนข้อมูลเหล่านี้จากกิจกรรมสร้างกุศลประจำปีอย่าง “LACTASOY CHARITY 2017” ภายใต้ชื่อ “อิ่มบุญนานนาน...ที่น่าน” ทำให้เราได้พบความสวยงามเช่นนี้ และสำหรับผู้สนใจร่วมทำบุญอิ่มใจกับแลคตาซอยในครั้งต่อไป สามารถติดตามข้อมูลได้ทาง www.lactasoy.com

     สุดท้ายนี้ หากใครที่กำลังพบเจอเรื่องหนักใจ อยากออกเดินทางไปไหนสักแห่ง เราอยากขอเชิญชวนคุณมาที่นี้ เพราะความสุขอยู่น่านไง 



[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook