พาเที่ยววัด สัมผัสบ้านมอญ ย้อนดูวิถีชีวิตดั้งเดิม ของชาวคุ้งบางกะเจ้า

พาเที่ยววัด สัมผัสบ้านมอญ ย้อนดูวิถีชีวิตดั้งเดิม ของชาวคุ้งบางกะเจ้า

พาเที่ยววัด สัมผัสบ้านมอญ ย้อนดูวิถีชีวิตดั้งเดิม ของชาวคุ้งบางกะเจ้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     เมื่อพูดถึง “บางกะเจ้า” หลายๆ คนคงรู้จักแค่ว่า เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ ที่ให้มาปั่นจักรยานสูดอากาศชิลๆ แต่ใครจะรู้ว่าอีกแง่มุมหนึ่งที่มีความพิเศษไม่แพ้กันนั่นคือเรื่อง “วัฒนธรรมและความเป็นอยู่” แล้ววันนี้เราจะตะลุยทัวร์ด้วย “จักรยาน” พาเที่ยววัด สัมผัสบ้านมอญ ย้อนดูวิถีชีวิตดั่งเดิม ของชาวคุ้งบางกะเจ้า เพื่อตามหาความ unseen ที่ซ่อนอยู่กันเถอะ



     คุ้งบางกะเจ้าตั้งอยู่ในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบล ได้แก่ บางน้ำผึ้ง บางยอ บางกระสอบ บางกะเจ้า บางกอบัว และทรงคนอง ซึ่งเป็นตำบลแรกของเส้นทางที่เราจะพาทัวร์วันนี้ เพราะเป็นตำบลที่มีชาวมอญตั้งรกรากจึงมีหมู่บ้านมอญตั้งอยู่ ก่อนอื่นขอเล่าประวัติมอญคร่าวๆ สักนิดนึง เพื่อเป็นข้อมูลในการเดินทาง

     ในอดีตนั้นมอญเคยเป็นชาติพันธุ์ที่รุ่งเรืองมาก ทั้งในประเทศและละแวกเพื่อนบ้าน ชาติมอญ ได้มีความสัมพันธ์กันอย่างช้านานกับประเทศไทยเรา และเมื่อพม่าได้ครองเมืองหงสาวดีของมอญ ชาวมอญส่วนใหญ่จึงอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย จนทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างไทยและพม่า จึงส่งผลทำให้มีการสู้รบตั้งแต่ช่วงกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมมอญถึงต้องมาตั้งรกรากบริเวณคุ้งบางกะเจ้า เพราะเมื่อก่อนแถวคุ้งบางกะเจ้า เป็นที่ตั้งของป้อมปราการมากมาย ทำให้ชาวมอญจำเป็นต้องสร้างบ้าน มีที่ดินทำกินเป็นหลักแหล่ง จนเกิดเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม เช่นทุกวันนี้เราใช้วัฒนธรรมของมอญเป็นพื้นฐาน อีกทั้งด้านนาฏศิลป์ และเครื่องดนตรีก็ล้วนมาจากชาวมอญ แม้กระทั่งอาหารการกินหรือภาษาไทยก็ล้วนมาจากชาวมอญทั้งสิ้น

     ตำบลทรงคนองเป็นตำบลเล็กๆ มีเนื้อที่ประมาณสองพันกว่าไร่ ชาวบ้านในตำบลนี้จะอยู่กันตามวิถีดั้งเดิม ซึ่งที่กล่าวไปข้างต้น ในทรงคนองมีป้อมปราการตั้งอยู่หลายแห่ง เช่น ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย ป้อมกายสิทธิ์ ป้อมเพชรหึง ป้อมนาคราช
ในปัจจุบันป้อมที่ยังเป็นรูปร่างอยู่ คือป้อมแผลงไฟฟ้า อยู่ในตลาดพระประแดง หลังจากนั้นทำให้มีการพระราชทานที่ดินทำกินแก่ชาวมอญ มีการปลูกบ้านตามรูปแบบเดิมซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงมีหลงเหลืออยู่

      บรรยากาศทางเข้าหมู่บ้านชาวมอญ ครั้งแรกที่เดินเข้ามารับรู้ได้ถึงกลิ่นอายของดินจากที่นาทำกินของชาวมอญในสมัยก่อนที่ยังคงเหลือผืนดินให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์



      บรรยากาศใต้ถุนบ้านคนมอญ สังเกตว่าจะสูงกว่าบ้านแบบไทยเรา เพราะเขามีไว้เล่นสะบ้าในบ้านผู้หญิง โดยฝ่ายชายจะเข้ามาพบปะหญิงสาว และเล่นสะบ้ากันในประเพณี โดยมีญาติผู้ใหญ่คอยมองดูจากบนบ้าน ดูผ่านแผ่นกระดานเล็กๆ คอยสังเกตว่าชายคนไหนสามารถแต่งงานกับลูกหลานของตนได้ ถือเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่ง ทางขึ้นบ้านที่ตอนนี้มีลุงคนหนึ่งได้อาศัยอยู่ แต่จะเดินเข้ามาดูสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ จะต้องขออนุญาตจากทางเจ้าหน้าที่ในตำบลทรงคนองกันก่อน ซึ่งวันนี้เรามีผู้ใหญ่ใจดีจากทางเทศบาลทรงคะนอง พาเราขึ้นมาชมบ้านหลังนี้ด้วย ถือว่าโชคดีมากๆ



     บรรยากาศชั้นสองของบ้าน ดูโล่งๆ ถึงแม้อากาศภายนอกจะร้อน แต่เมื่อย่างเข้ามาบนบ้าน กลับรู้สึกเย็นอย่างบอกไม่ถูก อาจจะเป็นเพราะไม้และการมุงหลังคาของคนในสมัยก่อน ทำให้บ้านกลายเป็นสถานที่ที่เย็นสบายทันที



     บรรยายกาศภายในบ้าน ทุกอย่างยังคงอยู่ในสภาพดี ไม้ที่ทำตัวบ้านก็ยังคงแข็งแรงอยู่ ส่วนวัตถุมุมห้องอันนี้งงอยู่นานมากว่าคืออะไร นึกว่าเป็นหม้อใส่น้ำ แต่พอถามลุง ลุงบอกว่าคือที่ใส่กระดูก -____-



     นี่คือลักษณะกระดานที่สามารถเปิดดูเวลามีการละเล่นลูกสะบ้า แต่บ้านนี้เปิดไม่ได้ เสียดายมาก



     เมื่อเราชมหมู่บ้านมอญกันเสร็จแล้ว สิ่งหนึ่งในคุ้งบางกะเจ้าที่เยอะไม่แพ้ต้นไม้คือ “วัด” ซึ่งตั้งแต่ตำบลทรงคนองจนไล่ยาวไปถึง บางยอ บางกระสอบ บางกะเจ้า จนบางกอบัว ก็มีวัดรายล้อมตลอดเส้นทาง จากการแวะชมส่วนใหญ่วัดแถวนี้จะเป็นวัดมอญ ลักษณะเด่นของวัดมอญก็คือ เจดีย์ทรงมอญ ข้อสังเกต คือ จะมีเสาหงส์ และธงตะขาบขนาด สามารถดูถนนในตำบลทรงคนองยังเป็นแบบมอญ โดยสังเกตจากเสาหงส์นั่นเอง



     เริ่มวัดแรกเลยคือ วัดจากแดง ซึ่งถ้าใครผ่านเข้ามาในตำบลทรงคนองจะเห็นวัดนี้แน่นอนพระธาตุเจดีย์วัดจากแดง ทรงมอญแท้ๆ สวยมากส่วนรูปด้านขวาคือ "ธัมเมกขสถูป หรือสถานที่แสดงปฐมเทศนา ภายในเป็นห้องโถง มีพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ด้านนอกมีรูปปั้นธรรมจักรกวางใหญ่ หัวสิงห์ แกะสลักจากหินทรายภูเขา ซึ่งความสำคัญคือ เป็นจุดที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเป็นครั้งแรกของโลก"

     ต่อมาเป็นวัดคันลัด ยังอยู่ในตำบลทรงคนองจะดูเป็นสมัยใหม่กว่าวัดแรก ซึ่งเส้นทางมาวัดนี้ง่ายๆ เลย เพราะตำบลทรงคนองจะเป็นถนนเส้นเดียวเลย แต่ละวัดจะหาง่ายมาก ป้ายก็ใหญ่สะดวกเรามากๆ

     จากนั้นเราก็เดินทางมาเรื่อยๆ จนมาถึงวัดบางน้ำผึ้งนอก ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ความพิเศษของวัดแห่งนี้คือ เป็นที่ตั้งของอุโบสถอายุเป็นร้อยๆ ปี ซึ่งสภาพค่อนข้างทรุดโทรม ก่อนหน้านี้ชาวบ้านกลัวว่าจะทรุดไปหนัก จึงสมทบทุนช่วยกันทำหลังคาคลุมกับแดดและฝน จนกระทั่งกรมศิลปากรเข้ามา จึงเกิดโครงการบูรณะโบสถ์แห่งนี้ขึ้น เพื่อรักษาสมบัติของชาติชิ้นนี้เอาไว้



     ภายในตัวโบสถ์นั้นค่อนข้างทรุดโทรม และเงียบสงัด นักท่องเที่ยวไม่ค่อยมาไหว้พระที่วัดนี้สักเท่าไร อาจจะเป็นเพราะเห็นว่ากำลังบูรณะอยู่เลยไม่เข้ามา แต่อย่างไรก็ตามบรรยากาศภายในตัวโบสถ์ให้ความรู้สึกที่ขลัง โบราณ และผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน ควรค่าแก่การศึกษาประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง และหน้าทางเข้าโบสถ์มีป้ายรายนามผู้บริจาคเพื่อบูรณะเมื่อปีพุทธศักราช 2502 ด้วย



     เมื่อเยี่ยมชมวัดเสร็จ ก็ตั้งใจว่าจะปั่นวนรอบคุ้งบางกะเจ้าอีกครั้ง แต่เพื่อนร่วมทางของเราชวนปั่นย้อนขึ้นไปยังจุดพักจักรยานแถวตำบลบางยอ เนื่องจากได้มีคนแนะนำมาให้ไปพักจักรยานที่บ้านคุณลุงคนนี้ เพื่อที่จะได้นั่งคุยกับแก และสอบถามวิถีชีวิตชาวบ้านแถวนี้ เพราะเราตั้งใจแล้วว่า อยากให้ทริปนี้เป็นทริปที่ทัวร์ความ unseen ของคุ้งบางกะเจ้าจริงๆ เราจึงตัดสินใจไปหาลุงกัน



     บ้านลุงกุล บ้านทรงไทยใต้ถุนสูงแห่งนี้เป็นสถานที่พักจักรยานที่มีทั้ง อาหาร และเครื่องดื่มไว้บริการ แถมคุณลุงก็ยังใจดี เล่าความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่นี่ให้เราอย่างละเอียดถี่ถ้วน จนกระทั่งลุงถามพวกเราว่า อยากเห็นเขาทำน้ำตาลสดกันไหม ไม่รอช้า พวกเราตกปากรับคำทันที



     การทำน้ำตาลสดเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนที่นี่ ในสมัยนี้ก็เหลือน้อยเต็มที ในบางกะเจ้าจะเหลือแค่ลุงสมพงศ์คนนี้ที่ยังขึ้นต้นตาลอยู่ ซึ่งลุงสมพงศ์กำลังเตรียมขวดน้ำที่เอาไว้ใส่น้ำตาลสด



     ลุงได้น้ำตาลแล้ว น้อยมากถ้าเทียบกับเมื่อก่อน เพราะสมัยนี้มีการกัดเซาะหน้าดินทำให้ต้นตาลไม่สามารถเจริญเติบโตได้ พื้นที่ก็ค่อนข้างแห้งแล้ง จากเมื่อก่อนลุงขายได้ 40 กว่ากิโล แต่สมัยนี้กลับขายได้แค่ 4-5 กิโลเท่านั้น ถ้าใครแวะมาที่บางกะเจ้าก็สามารถเข้ามาเยี่ยมลุงสมพงศ์ได้นะ อุดหนุนตาลแกด้วยก็ดี

     ถึงแม้สถานที่ในบางกะเจ้าจะเปลี่ยนไปมากแค่ไหน วิถีชีวิตของชาวบ้านก็ยังคงเหมือนเดิม ซึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเรา แล้วการได้มาสัมผัสวิถีชีวิตแบบนี้ ทำให้รู้ว่ายังมีสิ่งที่มีเสน่ห์อยู่ใกล้กรุงเทพฯ แค่นี้เอง ได้บรรยากาศสีเขียว และวัดมอญที่ชาวบ้านยังคงอนุรักษ์ เพื่อให้ลูกหลานได้ภูมิใจในบรรพบุรุษว่าเคยปกป้องผืนดินแห่งนี้อย่างยากเย็นแค่ไหน สำหรับใครที่ยังไม่มีแพลนในสุดสัปดาห์นี้ “คุ้งบางกะเจ้า” เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ยังรอต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ

 

 

[Advertorial]

อัลบั้มภาพ 22 ภาพ

อัลบั้มภาพ 22 ภาพ ของ พาเที่ยววัด สัมผัสบ้านมอญ ย้อนดูวิถีชีวิตดั้งเดิม ของชาวคุ้งบางกะเจ้า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook