ลายแทงเส้นทางแห่งความสุข (น่านล้านนาตะวันออก)

ลายแทงเส้นทางแห่งความสุข (น่านล้านนาตะวันออก)

ลายแทงเส้นทางแห่งความสุข (น่านล้านนาตะวันออก)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงนี้เริ่มเข้าฤดูหนาว หลายพื้นที่ในภาคเหนือของประเทศไทยได้สัมผัสถึงสภาพอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะบริเวณยอดดอยในช่วงค่ำคืนจนถึงเช้าตรู่ มักจะมีอุณหภูมิลดต่ำลงและมีสายหมอกลอยเข้าปกคลุมยอดเขาอยู่เกือบทุกวัน นับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน ไปในดินแดนที่มีความสงบงามด้วยธรรมชาติและวัฒนธรรมแปลกตา อย่างเช่น เมืองล้านนาตะวันออก

เมืองล้านนาตะวันออก เป็นสมญานามเรียกขานถึงจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นคำที่บอกถึงว่า เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือด้านทิศตะวันออก อันมีพื้นที่ติดกับ สปป.ลาว ดังนั้นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมซึ่งรวมไปถึงโบราณสถานต่างๆ ที่มีความเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ภายในดินแดนล้านนาตะวันออกนี้ ล้วนมีความละม้ายคล้ายกันกับที่ สปป.ลาว ราวกับเป็นบ้านพี่เมืองน้องใกล้ชิดกันมานานแสนนาน ดังที่ท่านจะได้พบเห็นตามที่ผมได้ยกตัวอย่างสถานที่สำคัญๆ มาแนะนำไว้ในตัวอย่างโปรแกรมการเดินทางสู่เมืองล้านนาตะวันออกนี้ เพื่อให้ท่านได้ใช้เป็นแนวทางการเดินทางไปพักผ่อนได้อย่างน่าประทับใจ
ตัวอย่างโปรแกรมการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองล้านนาตะวันออก (จังหวัดน่าน)
วันแรก : กรุงเทพฯ – พิษณุโลก – น่าน
• เช้าตรู่ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยใช้เส้นทางสายเอเชียผ่าน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา , อ่างทอง , สิงห์บุรี , ชัยนาท , อุทัยธานี เข้าสู่ จ.นครสวรรค์ จากนั้นแยกขวามุ่งหน้าสู่จังหวัดพิษณุโลก ท่านจะเดินทางถึงจังหวัดพิษณุโลกในช่วงเวลาเที่ยง


• แวะรับประทานอาหารเที่ยงที่ร้านก๋วยเตี๋ยวห้อยขา บริเวณริมแม่น้ำน่าน ใกล้กับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) ซึ่งมีอยู่หลายร้านด้วยกัน แต่ละร้านล้วนโฆษณาว่าเป็นร้านดั้งเดิมและมีรสชาติ ราคา พอๆ กัน นับเป็นอีกบรรยากาศหนึ่งของร้านก๋วยเตี๋ยวที่มีความแปลกอยู่ตรงที่สามารถนั่งห้อยขาชมทิวทัศน์ริมแม่น้ำน่านระหว่างการรับประทาน หากท่านเดินทางไปในช่วงเวลาเที่ยงทางร้านอาจมีลูกค้าเยอะสักหน่อย และถ้าเป็นช่วงเวลาบ่ายโมงท่านอาจจะไม่ต้องรอคิวมากนัก


• หลังอาหารเที่ยงยังพอมีเวลาให้ท่านแวะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อนมัสการหลวงพ่อพุทธชินราช เพื่อความเป็นสิริมงคล แล้วจึงออกเดินทางต่อโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 11 มุ่งหน้าสู่ จ.อุตรดิตถ์ บนเส้นทางหลวงสายนี้ไม่ค่อยมีปั๊มน้ำมันใหญ่ๆ มากนัก ท่านจึงควรเติมเชื้อเพลิงให้เป็นที่เรียบร้อย
• ผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์ มุ่งหน้าต่อไปยังอำเภอเด่นชัย เส้นทางจะคดเคี้ยวขึ้นภูเขา ควรใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เมื่อถึงอำเภอเด่นชัย (จะมีป้ายเขียนว่าประตูสู่ล้านนา) ให้ท่านเตรียมเลี้ยวขวาไปตามป้ายจังหวัดแพร่ โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านจังหวัดแพร่ ต่อไปยังอำเภอร้องกวางและอำเภอเวียงสา เส้นทางจะคดโค้งมาก แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามจังหวัดน่าน อีก 30 กิโลเมตรท่านก็จะถึงจังหวัดน่าน
• ถึงจังหวัดน่านในช่วงเวลาเย็นหรือค่ำ เข้าที่พักตามที่ท่านได้จองไว้ หรือหากยังไม่ได้จองแนะนำให้ท่านศึกษาข้อมูล และหาที่พักที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองน่าน เพื่อจะได้สะดวกในการเดินทางท่องเที่ยว และรับประทานอาหารจากร้านที่มีชื่อเสียง
• เมื่อเข้าที่พักเรียบร้อยแล้ว ถึงเวลาที่ท่านจะออกมารับประทานอาหาร ในตัวเมืองน่านมีร้านอาหารพื้นเมืองอยู่เพียงไม่กี่ร้าน ที่นิยมทั่วไปก็ได้แก่ ร้านเฮือนฮอม ตั้งอยู่ใกล้กับวัดภูมินทร์ บริการอาหารไทยและอาหารพื้นเมือง , ร้านเฮือนเจ้านาง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งเดียวกับพระธาตุแช่แห้ง บริการอาหารไทย และบริเวณริมแม่น้ำน่านก็พอจะมีร้านอาหารตามสั่งอยู่บ้างอีกเล็กน้อย หลังอาหารหากท่านต้องการรับประทานของหวาน ในตัวเมืองน่านก็มีร้านขนมป้านิ่มเปิดให้บริการอยู่บริเวณวัดพันต้นใกล้กับทางไป บขส.น่าน แต่ทว่าราคาขนมค่อนข้างจะสูงสักนิดนะครับ อย่างไรก็ลองไปชิมกันดูว่าอร่อยสมคำร่ำลือหรือไม่
วันที่สอง : หอศิลป์ริมน่าน – วัดหนองบัว – วัดภูเก็ต – ดอยภูคา – บ่อเกลือ – ศูนย์พัฒนาภูฟ้า
• เริ่มต้นวันใหม่ในเมืองล้านนาตะวันออก ด้วยอาหารเช้าจากที่พัก หรือหากท่านต้องการชมวิถีชีวิตของชาวเมืองน่าน ผมขอแนะนำให้ไปรับประทานอาหารเช้าที่ตลาดตั้งจิตนุสรณ์ ที่ตลาดแห่งนี้ท่านจะได้พบเห็นวิถีชีวิตชาวเมืองน่าน และมีสินค้าบริโภคราคาถูกหลากหลายชนิด มีร้านโจ๊ก ข้าวต้ม ต้มเลือดหมู ให้เลือกหารับประทานอย่างน่าลิ้มลอง จากนั้นกลับที่พักเพื่อเชคเอ้าท์ เตรียมออกเดินทางท่องเที่ยวกันต่อไป



• พร้อมแล้วออกเดินทางท่องเที่ยวไปยังอำเภอท่าวังผา โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 1080 บริเวณกิโลเมตรที่ 20 ทางด้านขวามือ ขอแนะนำให้ท่านแวะชมภาพเขียนฝีมืออาจารย์วินัย ปราบริปู ศิลปินชาวเมืองน่าน ในหอศิลป์ริมน่าน ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรวบรวมผลงานของอาจารย์วินัยไว้นับร้อยชิ้น แต่ละชิ้นล้วนเป็นผลงานทรงคุณค่าบ่งบอกถึงความงดงามทางด้านวัฒนธรรม จัดแสดงไว้ในรูปแบบนิทรรศการกึ่งถาวร เป็นสถานที่ศึกษาศิลปะพื้นบ้านได้อย่างดี



• จากนั้นออกเดินทางไปชมความงดงามของวัดหนองบัว ที่ตั้งอยู่ใกล้ตัวอำเภอท่าวังผา วัดหนองบัวเป็นวัดที่เก่าแก่ประจำหมู่บ้านหนองบัว อำเภอท่าวังผา สันนิษฐานกันว่า สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2405 โดยครูบาหลวงสุนันต๊ะร่วมกับชาวบ้านหนองบัวสร้างขึ้น จึงทำให้วิหารหนองบัวแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมไทยล้านนาที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันหาชมได้ยาก และพระวิหารหนองบัวแห่งนี้ยังมีจิตรกรรมฝาผนัง เชื่อกันว่าเป็นฝีมือของหนานบัวผันช่างเขียนคนเดียวกับที่เขียนภาพจิตกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์



• ใกล้เที่ยงแล้วทนหิวกันอีกสักนิด ขับรถมุ่งหน้าต่อไปยังอำเภอปัว เมื่อถีงอำเภอปัวแล้วให้มองหาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ถ้าโรงพยาบาลอยู่ขวามือให้เลี้ยวซ้ายเข้าซอยฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลนะครับ ในซอยนี้จะมีร้านชื่อ “ก๋วยเตี๋ยวเครื่องในหมู” รสเด็ดอยู่ครับ จะมีป้ายบอกทางเล็กๆ บอกไว้ เป็นร้านดังในละแวกฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาล ขอคอนเฟิร์มครับว่ารสชาติอร่อยและราคาไม่แพง ซอยอาจจะแคบสักหน่อยแต่คุ้มกับการเข้าไปรับประทานแน่นอน
• โปรแกรมท่องเที่ยวต่อไปยังอยู่ในอำเภอปัว ขับรถออกมาจากร้านก๋วยเตี๋ยวมาทางถนนใหญ่เหมือนดังเช่นตอนมาจากอำเภอท่าวังผา แล้วกลับรถตรงห้างโลตัสเล็กๆ ด้านข้างโลตัสนั้นจะมีทางแยกเข้าซอยมีป้ายบอกทางไปวัดภูเก็ตตลอดทาง วัดภูเก็ตตั้งอยู่บนดอยเล็กๆ ทางขึ้นมีความลาดชันนิดหน่อยระยะทางไม่ไกล จุดเด่นของวัดอยู่ที่การมีระเบียงชมทิวทัศน์ของท้องทุ่งนา สุดสายตาคือเทือกเขาดอยภูคาที่ทอดตัวยาวโอบล้อมทุ่งนาไว้อย่างอบอุ่นสวยงาม นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดเมื่อเดินทางไปเยือนอำเภอปัว
• ชมทิวทัศน์ความงดงามของวัดภูเก็ตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้เวลาออกเดินทางไปในเส้นทางที่สวยงามกันอีกครั้ง ลงจากดอยภูเก็ตย้อนกลับมาตลาดปัวจะมีป้ายบอกทางไปดอยภูคา ให้ขับรถไปเรื่อยๆ เส้นทางจะลัดเลาะไปตามหมู่บ้านแล้วขึ้นภูเขาลาดชันโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 1256 ระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร ก็จะเดินทางมาถึงอุทยานแห่งชาติดอยภูคา แต่ทว่าช่วงปลายปีเช่นนี้ดอกชมพูภูคายังไม่ออกดอกให้ชม ต้องประมาณเดือนกุมภาพันธ์จึงจะออกดอก ขอแนะนำให้ท่านขับรถผ่านที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูคาไปอีกสักหน่อย จะพบกับศาลเจ้าพ่อดอยภูคา ใกล้กันมีร้านกาแฟดอยภูคาเป็นจุดพักรถให้ท่านได้แวะพักผ่อน จิบกาแฟหอมกรุ่นท่ามกลางอากาศเย็นสบายตลอดทั้งวัน แล้วจึงค่อยออกเดินทางไปยังอำเภอบ่อเกลือ ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีกประมาณ 30 กิโลเมตร




• ถึงอำเภอบ่อเกลือ หมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขาแต่มีประวัติความเป็นมายาวนาน เป็นดินแดนที่มีความสำคัญยิ่งตั้งแต่ครั้งโบราณกาล นับเป็นสถานที่มหัศจรรย์แห่งหนึ่งของประเทศไทย ที่มีเกลืออยู่ใต้ดินบนพื้นที่ภูมิประเทศที่สูง นักธรณีวิทยาเชื่อกันว่าในบริเวณนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน


ปัจจุบันยังสามารถผลิตเกลือบริสุทธิ์ตามกรรมวิธีดั้งเดิม ทั้งยังแปรรูปนำไปใช้ในการบำรุงผิวพรรณได้เป็นอย่างดี ที่อำเภอบ่อเกลือมีสถานที่พักอยู่ไม่มากนัก เนื่องจากเป็นบริเวณที่นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางมาเยือนได้ไม่นาน แต่ก็มีที่พักสวยๆ อย่างบ่อเกลือวิวรีสอร์ทเปิดให้บริการอยู่ ทำเลที่ตั้งอยู่บนเชิงเขามองเห็นทิวทัศน์ของขุนเขาสายน้ำไร่นาได้สวยงาม



ใกล้กันเป็นที่ตั้งของร้านส้มตำไก่อย่างและอาหารเมนูปลา อาหารพื้นเมืองหลายเมนู ร้านนี้ชื่อร้านหัวสะพาน อยากให้ท่านได้ลองแวะไปรับประทาน อาหารรสชาติอร่อยราคาไม่แพงครับ
• หากท่านไม่ได้พักที่อำเภอบ่อเกลือ ขอแนะนำให้ท่านลองติดต่อเป็นการล่วงหน้าไปที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ซึ่งจัดตั้งขึ้น จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบนพื้นที่สูงและใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาต่อไป, เพื่อการส่งเสริมอาชีพ และเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ วัฒนธรรมของท้องถิ่นตามความมุ่งหมาย“ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างพอเพียง”




ศูนย์ภูฟ้าพัฒนามีห้องพักสำหรับหมู่คณะ ลานกางเต้นท์ และอาหารไว้คอยบริการ ทั้งนี้เพื่อความสะดวก ท่านควรจะต้องทำการติดต่อเป็นการล่วงหน้า ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาอยู่ห่างจากอำเภอบ่อเกลือประมาณ 16 กิโลเมตร เป็นทางลาดยางตลอดสาย สรุปแล้วสำหรับค่ำคืนนี้เพื่อความไม่ประมาท ท่านควรติดต่อจองสถานที่พักเป็นการล่วงหน้า
วันที่สาม : วัดพระธาตุแช่แห้ง – วัดภูมินทร์ – วัดช้างค้ำ – พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน – หรือต่อไปยังดอยเสมอดาว
• หากท่านพักที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ขอชักชวนให้ท่านตื่นแต่เช้าเพื่อสัมผัสอากาศหนาวเย็นบริสุทธิ์ และมีโอกาสสูงที่จะได้ชื่นชมทะเลหมอกยามเช้า จิบกาแฟที่ระเบียงชมวิวจะช่วยให้บรรยากาศยามเช้านี้เป็นวันที่สดใส หลังจากกลับมาทำธุระส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว ก่อนเดินทางออกไปท่านน่าจะแวะชมสินค้าที่ระลึกจากร้านภูฟ้าสักหน่อย มีสินค้าที่น่าสนใจอยู่มากมายน่าเลือกซื้อไปฝากคนทางบ้าน เช่น ชา กาแฟ ผ้าทอ และงานฝีมือต่างๆ
• ท่านจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการเดินทางกลับสู่เมืองน่าน โดยใช้เส้นทางสู่อำเภอสันติสุข และเข้าสู่เมืองน่าน ช่วงการเดินทางสู่อำเภอสันติสุข สภาพเส้นทางจะคดโค้งขึ้นลงภูเขาสูงชัน แต่มีความสวยงามเป็นอย่างมาก มีจุดที่น่าแวะถ่ายภาพอยู่หลายจุดเลยทีเดียว
• เพื่อไม่เป็นการขับรถย้อนเส้นทาง ก่อนเข้าสู่ตัวเมืองน่านท่านควรแวะวัดพระธาตุแช่แห้ง ซึ่งตั้งอยู่บนเชิงเนินเขา มีบันไดนาคขนาบทั้งสองข้างทางเดิน แต่รถยนต์สามารถขับขึ้นไปถึงลานจอดด้านบนได้



องค์พระเจดีย์เป็นแบบล้านนา ฐานเป็นสี่เหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไปใช้แผ่นทองเหลืองบุรอบฐาน แล้วลงรักปิดทอง จากพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า พระยาการเมือง เจ้าผู้ครองนครน่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากเมืองสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้งแห่งนี้ พระธาตุแช่แห้งจึงเปรียบเสมือนเป็นอนุสรณ์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองน่านและเมืองสุโขทัยมานานแสนนาน
• เสร็จสรรพจากการสักการะพระธาตุแช่แห้งแล้ว เป็นช่วงเวลาใกล้เที่ยงลองแวะไปรับประทานอาหารเที่ยงที่สวนอาหารเรือนแก้ว ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน (ฝั่งตัวเมืองน่าน) ใกล้กับโรงพยาบาลน่าน สวนอาหารเรือนแก้วบริการอาหารไทยและอาหารพื้นเมืองบรรยากาศเงียบๆ ริมแม่น้ำน่านจะช่วยให้ท่านรับประทานอาหารได้อร่อยมากยิ่งขึ้น



• อิ่มอร่อยแล้วได้เวลาออกไปสัมผัสกับวัฒนธรรมล้ำค่าของดินแดนล้านนาตะวันออกกันอีกรอบ โดยเริ่มต้นจากบริเวณข่วงเมืองน่าน ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของของเมืองอันเป็นที่ตั้งของวัดสำคัญๆ ได้แก่ วัดภูมินทร์ ที่มีอายุมากกว่า 400 ปี และเป็นวัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเมืองน่าน ด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ประวัติการสร้างวัดภูมินทร์ตามพงศาวดารเมืองน่านได้กล่าวไว้ว่า พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์เจ้าผู้ครองนครน่านได้สร้างขึ้นหลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี คือเมื่อปี พ.ศ. 2139


อีกทั้งยังมีปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือว่า วัดแห่งนี้เดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” ต่อมาชื่อวัดได้กล่าวเพี้ยนกันไปกลายเป็นวัดภูมินทร์


วัดช้างค้ำวรวิหาร วัดหลวงกลางเมืองแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยเจ้าปู่แข็ง พ.ศ. 1949 ถือเป็นวัดหลวงที่เจ้าผู้ครองนครใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพุทธศาสนา และพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา สิ่งที่น่าชมภายในวัดได้แก่ เจดีย์ทรงลังกา ซึ่งได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมยุคสุโขทัย รอบฐานนั้นก่ออิฐถือปูนและปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัว ด้านละ 5 เชือก และมุมทั้งสี่อีก 4 เชือก อันเป็นที่มาของชื่อ “ช้างค้ำ” และลักษณะดังกล่าวนั้นมีความคล้ายกับวัดช้างล้อมของสุโขทัย พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหาร โดยเป็นพระพุทธรูปสำริดปางประทานอภัย อายุราวหลังพุทธศตวรรษที่ 19 ตรงกับสมัยสุโขทัยตอนปลาย มีส่วนผสมของทองคำ 65 % พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ศิลปะเชียงแสน ฝีมือสกุลช่างน่าน มีพุทธลักษณะงดงามเป็นอย่างมาก


ใกล้กับวัดช้างค้ำนี้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่สำคัญมากมายหลายชิ้น โดยเฉพาะงาช้างดำที่เปรียบเสมือนสิ่งคู่บ้านคู่เมืองน่านมาช้านาน
สถานที่สำคัญสองสามแห่งนี้เมื่อท่านเดินทางไปเยือนเมืองน่าน ท่านไม่ควรพลาดไปชมเพราะวัดต่างๆ ล้วนมีความเก่าแก่งดงาม มีสถาปัตยกรรมคล้ายกับทางเมืองหลวงพระบางของ สปป.ลาว เนื่องจากเดิมนั้นเมืองน่านมีความเกี่ยวเนื่องกับเมืองหลวงพระบางมาช้านาน
• คืนนี้ท่านอาจจะพักในเมืองน่านอีกสักคืน ผมขอแนะนำที่พักเล็กๆ ทว่าอบอุ่นสไตล์บูติค ศรีนวล ลอดจ์ ราคาหลักร้อยครับพร้อมอาหารเช้า




• หรือ หากท่านพอมีเวลาอีกสักวัน ผมขอแนะนำให้ท่านเดินทางไปพักผ่อนชมทิวทัศน์ที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเวียงสา ทางด้านทิศใต้ของจังหวัดน่าน ณ ที่แห่งนั้นเป็นที่ตั้งของดอยเสมอดาว ท่านจะได้สัมผัสอากาศหนาวเย็น การนอนดูดาวยามค่ำคืน และชมทะเลหมอกในช่วงเวลาเช้าท่ามกลางความสวยงามของทิวทัศน์ขุนเขาสุดสายตา และท่านควรพักผ่อนในลักษณะการนอนเต้นท์ซึ่งทางอุทยานฯ ได้มีบริการให้เช่า มีห้องน้ำไว้คอยบริการ นับเป็นอีกอรรถรสหนึ่งของการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน
ในตัวอำเภอเวียงสา บริเวณหลังวัดบุญยืนด้านติดกับเมรุ มีร้านอาหารชื่อบ้านไม้คนเมือง เป็นร้านอาหารพื้นบ้านขายอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ข้าวซอย ราคาถูกมากๆ ท่านควรไปแวะรับประทาน





หรือถ้าหากท่านเป็นคอกาแฟสด บริเวณหน้าวัดบุญยืนจะมีร้านกาแฟชื่อ ร้านจ๊างน่าน คอฟฟี่ แอนด์ แกลอรี่ บรรยากาศร้านดูคลาสสิคน่านั่งพักผ่อน มีมุมถ่ายภาพน่ารักๆ อยู่หลายมุม และมีสินค้าที่ระลึกจำหน่าย เช่น ผ้าพื้นเมืองน่าน
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ผมเขียนลายแทงเส้นทางแห่งความสุข (น่านล้านนาตะวันออก) เพจนี้ค่อนข้างยาวไปสักหน่อย แต่รับรองได้ว่าถ้าท่านได้มีโอกาสเดินทางไปตามเส้นทางที่ผมแนะนำนี้ การเดินทางของท่านจะคุ้มค่าและไม่วกวนย้อนไปมาให้เสียเวลา นอกจากที่ผมแนะนำไว้เพจนี้แล้ว ดินแดนล้านนาตะวันออกยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เอาเป็นว่าถ้าหากท่านได้เดินทางไปท่านก็คงจะได้พบกับสถานที่เหล่านั้นด้วยตัวเอง ถ้าจะให้ผมเขียนเพิ่มก็คงอีกสักห้าหน้ากระดาษท่านอาจจะเบื่อที่จะอ่านไปเสียก่อน หรือ ท่านอาจจะ Comment ไว้ท้ายเรื่องนี้ แล้วผมจะแวะเวียนมาเพิ่มเติมให้จะดีกว่านะครับ...ขอให้ท่านโชคดีมีความสุขกับการเดินทางนะครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook