ครั้งแรกกับรถไฟชุดใหม่ "อุตราวิถี" เที่ยวปฐมฤกษ์ เชียงใหม่-กรุงเทพฯ นั่ง-นอนชิล ๆ ก่อนใครไปกับเรา

ครั้งแรกกับรถไฟชุดใหม่ "อุตราวิถี" เที่ยวปฐมฤกษ์ เชียงใหม่-กรุงเทพฯ นั่ง-นอนชิล ๆ ก่อนใครไปกับเรา

ครั้งแรกกับรถไฟชุดใหม่ "อุตราวิถี" เที่ยวปฐมฤกษ์ เชียงใหม่-กรุงเทพฯ  นั่ง-นอนชิล ๆ  ก่อนใครไปกับเรา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เปิดวิ่งอย่างเป็นทางการแล้วครับสำหรับ รถไฟขบวนใหม่ล่าสุดของประเทศไทย ซึ่งสายแรกที่เปิดวิ่งเที่ยวปฐมฤกษ์ อย่างเป็นทางการคือสาย เชียงใหม่-กรุงเทพฯ ขบวนที่ 10 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2559 ครับ ดังนั้นวันนี้ทางทีมงาน Sanook! Travel จึงไม่พลาดที่จะนำรีวิวดี ๆ ของรถไฟขนวนนี้มาให้ได้อ่านกัน

สำหรับรีวิวดังกล่าวที่เราจะนำมาให้อ่านกันในวันนี้เป็นของคุณ F_RTK สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่ใจดีอนุญาตให้เรานำคอนเทนต์ดี ๆ มาฝากสมาชิก Sannok! ได้อ่านกัน เป็นว่ามาดูกันดีกว่าครับว่ารถไฟใหม่ของเรา จะน่านั่งและเหมาะสมกับราคาและการรอค่อยแค่ไหน?

รีวิวรถไฟ 1 ในชุดขบวนใหม่ล่าสุดของการรถไฟแห่งประเทศไทย

โดยในรีวิวชุดนี้ผมจะเขียนถึงเฉพาะส่วนที่ทราบข้อมูล การใช้งานจริง ส่วนที่ได้เห็นและได้ใช้งานเท่านั้น และเป็น คหสต. ทั้งหมด ส่วนที่ไม่ได้แวะไปดูหรือไม่ได้ใช้งานเช่นตู้นอนชั้น 1 จะไม่พูดถึงนะครับ โดยรายละเอียดของขบวนรถผมจะลงคร่าวๆนะครับ ไม่ได้ลงลึกเพราะเห็นมีหลายท่านได้เขียนไว้บ้างแล้ว ดังนั้นตรงไหนผิดพลาดไป พี่ๆน้องๆเพิ่มเติมและทักท้วงมาได้นะครับ

รีวิวนี้เป็นการเดินทางเที่ยวเดียว เที่ยวปฐมฤกษ์ เชียงใหม่-กรุงเทพฯ ขบวนที่ 10 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2559 ครับ

"อุตราวิถี" นามพระราชทานของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชทานให้แก่รถไฟสายเหนือขบวนนี้ และยังมีอีก 3 ขบวนที่ได้พระราชทานไว้คือ

1.เส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ(กรุงเทพ-อุบลราชธานี) พระราชทานชื่อว่า “อีสานวัตนา”
2.เส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพ - หนองคาย) พระราชทานชื่อว่า “อีสานมรรคา”
3.เส้นทางสายใต้ (กรุงเทพ-หาดใหญ่) พระราชทานชื่อว่า “ทักษิณารัถย์”

ขบวนชุดใหม่นี้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้สั่งซื้อรถโดยสารทั้งหมด 115 คัน ผลิตที่โรงงาน บริษัท ฉางชุน เรลเวย์วีฮิเคิลส์ จำกัด (บริษัทรถไฟฉางชุน จำกัด - CNR Changchun Railway Vehicle Co.Ltd.) โรงงานเดียวกับที่ผลิตรถไฟฟ้า BTS รุ่น 2 ที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ รถโดยสารทั้ง 115 คันนี้สั่งผลิตตาม Spec ที่กำหนดไว้ไม่ใช่รถสำเร็จรูป และที่สำคัญนี่คือรถโดยสารใหม่ "มือ 1" ของใหม่ป้ายแดง ไม่ใช่ "มือ 2" แบบ JR West ที่เราเคยได้มานะครับ

และเป็นที่ทราบกันดีว่ารถไฟสายเหนือนั้นมีด่วนพิเศษที่เป็น Signature อยู่แล้วเดิมทีมาร่วมๆเกือบ 30 ปี นั่นคือ "ด่วนพิเศษนครพิงค์" (เลขขบวน 1 ขาขึ้น และเลขขบวน 2 ขาล่อง) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นด่วนพิเศษที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนานและเป็นชุดรถนอนที่ดีที่สุดที่รถไฟไทยมีอยู่ แต่เมื่อกาลเวลาแปรเปลี่ยน ทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้การรถไฟได้นำรถไฟชุดใหม่นี้มาทดแทนของเดิมที่มีอยู่จึงทำให้ "ด่วนพิเศษนครพิงค์" ยุติการทำงานรับใช้ประชาชนลงในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 เที่ยวสุดท้ายที่สถานีกรุงเทพฯ และได้ส่งต่อให้กับ "ด่วนพิเศษอุตราวิถี" (เลขขบวน 9 ขาขึ้น และเลขขบวน 10 ขาล่อง) ทำหน้าที่ต่อในวันเดียวกัน

-- เริ่มเดินทาง --


รถไฟเที่ยวนี้ถือเป็นเที่ยวปฐมฤกษ์ของขาล่องครับ (ด่วนอุตราวิถี ขบวน10) ส่วนขาขึ้นนั้นไม่ได้เจิมมานะจ๊ะ ที่สถานีเชียงใหม่ได้จัดชุดขบวนแบบพหุไว้แล้ว(พ่วง 2 หัว) เพื่อใช้ในการลากจูงขึ้นยอดขุนตาน และจะปลดหัวที่ทำพหุออกเมื่อถึงยอดขุนตาน

มาดูในส่วนของริ้วขบวนของรถไฟชุดใหม่นี้กันครับ ใน 1 ริ้วขบวนจะประกอบไปด้วย

- รถไฟฟ้ากำลัง (PowerCar) จำนวน 1 ตู้
- รถขายอาหาร จำนวน 1 ตู้
- รถนอนปรับอากาศชั้น 2 จำนวน 9 ตู้
- รถนอนปรับอากาศชั้น 2 สำหรับผู้พิการ จำนวน 1 ตู้
- รถนอนปรับอากาศชั้น 1 จำนวน 1 ตู้

โดยทั้งหมดจะถูกจัดเป็นชุดแบบนี้ไปตลอดไม่แยกจากกันนนนน

-- ภายนอก --

เมื่อมีรถไฟฟ้ากำลัง (PowerCar) แล้ว ดังนั้นตู้โดยสารอื่นๆ จึงไม่มีเครื่องยนต์ใต้ตู้แบบรถรุ่นเก่าอีกต่อไป เมื่อแต่ละตู้ไม่ต้องมีเครื่องยนต์เพื่อปั่นกระแสไฟแยก จึงทำให้เสียงบริเวณชานชลาเงียบมาก ไม่ต้องเหม็นควันเวลาเดินผ่าน บนรถก็จะเงียบและเงียบมากกกกกกก เวลาเดินขบวนรถก็จะมีแต่เสียงรางเท่านั้น ถ้าช่วงที่รางดีรางใหม่ก็จะเงียบไปเลยไม่มีเสียงตึกๆเวลาผ่านราง

รถไฟฟ้ากำลัง (PowerCar) จะอยู่ตู้แรกเมื่อเดินทางจากกรุงเทพฯ และอยู่ตู้สุดท้ายเมื่อเดินทางออกจากเชียงใหม่ ภายในจะมีเครื่องยนต์สำหรับปั่นกระแสไฟเพื่อจ่ายไฟให้ทั้งขบวน และเป็นที่ทำงานของบรรดาพนักงานรถไฟต่างๆ เช่น พรร. (ยกเว้นพนักงานรถนอนที่จะอยู่ประจำตู้) ซึ่งการใช้ PowerCar นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในแง่ของการประหยัดพลังงานอีกด้วยครับ

รถชุดใหม่นี้ใช้ระบบแคร่ล้อแบบใหม่ และระบบดิสเบรก (Disk Brake System) เข้ามาแทนการห้ามล้อเดิมที่ใช้แท่งห้ามล้อระบบลมอัด ดังนั้นการเบรคก็จะนิ่มนวลขึ้น และไม่เปลืองแท่งห้ามล้อ ในภาพจะไม่เห็นจานดิสนะครับ เพราะอยู่ด้านในผมลืมถ่ายมาขออภัย

แต่ๆๆๆๆ ไอ่ระบบดิสนี่มันต้องใช้ปั้มแบบมอเตอร์ที่อยู่ใต้ตู้เวลาขบวนแล่นไปเรื่อยๆก็จะมีเสียงของมอเตอร์ดังมาเป็นระยะๆ ซึ่งก็พอทนได้ อันนี้ไม่รู้ว่าเป็นเฉพาะตู้รึเปล่าเพราะไม่ได้ไปลองตู้อื่น (เรื่องนี้ไม่แน่ใจอาจจะต้องรอผู้รู้มาคอนเฟริม)

อีก 1 เรื่องที่เป็นปัญหาเมื่อพูดถึงเรื่องของเสียง คือด้วยความที่รถมันเงียบมากๆเพราะไม่มีเครื่องยนต์อยู่ใต้ท้องตู้ ทำให้ช่วงที่เข้าโค้งแล้วใบบังล้อสีกับรางมันดัง อันนี้ถ้าใครนั่งช่วงที่ตรงล้ออาจจะรำคาญได้ โดยเฉพาะช่วงที่เป็นทางเลี้ยวมากๆ ใครนึกไม่ออกว่าเสียงแบบไหน ให้นึกถึงเวลา BTS ผ่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ดังแบบนั้นเลยครับท่าน

อีกหนึ่งเคล็ดลับความนิ่มของขบวนใหม่นี้คือ ระบบต่อพ่วงตู้โดยสารแบบใหม่ เป็นระบบต่อพ่วงแบบปิด แบบเดียวกับรถไฟฟ้า BTS (เค้าผลิตโรงงานเดียวกันนะครับ) ตรงนี้แหละทำให้การเบรค การออกตัว ไม่เกิดการกระชากแบบรถรุ่นทั่วๆไปของการรถไฟที่ใช้ข้อต่อแบบขอพ่วง ซึ่งดีและดีมากๆ

ด้านข้างขบวนรถทุกตู้โดยสารจะมีป้ายแสดงรายละเอียดแบบ Digital อยู่ มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สลับกันประมาณ 5 วินาที รายละเอียดดังนี้
(จากบนลงล่าง)
- หมายเลขขบวน
- หมายเลขตู้
- สถานีต้นทาง
- สถานีปลายทาง

ทางเดินขึ้นตู้กว้างขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ตัวบันใดตัวนี้สามารถปรับได้ 2 แบบคือ แบบชานชลาต่ำ และชานชลาสูงเสมอระดับ ถ้านึกไม่ออกว่าเป็นยังไงดูภาพต่อไปด้านล่าง

เป็นแบบนี้ครับ คือจะราบเรียบไปเลยไม่ต้องก้าวขึ้นลง เวลาพนักงานปิดประตูตัวบันใดจะยกเก็บขึ้นมาเป็นแบบนี้โดยอัตโนมัติเลยครับ และเวลาเปิดประตูก็จะเลื่อนระดับลงไปเอง เจ๋งเน๊อะ (เสียดายไม่ได้ถ่ายคลิป)

ทีนี้ต้องมีคนสงสัยว่าแล้วถ้าเปิด-ปิดประตูแบบเสมอระดับจะ ขึ้น-ลง หรือ เข้า-ออกกันยังไง แล้วใช้กับชานชลาที่ไหนบ้านเราชานชลาต่ำทั้งนั้น คำตอบคือ เค้าออกแบบมาให้รองรับกับชานชลาแบบใหม่ที่กำลังก่อสร้างในโครงการระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - รังสิต เส้นที่สร้างเลียบถนนวิภาวดีไปนั่นแหละครับ แน่นอนว่าเจ้าขบวนนี้มันก็จะไปวิ่งข้างบนนั้นด้วย.......

** เอาจริงๆแล้วชานชลาสูงเสมอระดับนี่ไม่แปลกนะครับ เรามีใช้กันอยู่แล้วครับ พวก BTS / MRT / ARL พวกนี้เสมอระดับหมดครับ สังเกตุดูเวลาเราเข้าตู้รถไฟเราไม่เคยต้องก้าวขึ้นลงถูกมั้ย ? **

และนี่คือปุ่มเปิด-ปิดประตูแบบสัมผัส จะเรียกว่ากึ่งอัตโนมัติก็ได้ เพราะว่าเวลารถจอดตามสถานีพนักงานประจำตู้ต้องคอยมาเปิด-ปิดเอง ไม่ได้เปิด-ปิดจาก พขร. ครับ สังเกตุครับว่าเลือกได้ ว่าจะเปิดแบบไหน ถ้า ณ ตอนนี้ก็เปิดแบบชานชลาต่ำไปก่อนน้อออ

-- ภายใน --

ว่ากันว่าขบวนรถชุดใหม่นี้ออกแบบและสร้างมาเพื่อผู้พิการอย่างแท้จริงครับ เริ่มด้วยทางเดินที่กว้างกว่าในตู้รถแบบเดิมมากกกกกกกกกก เห็นแล้วน่าเดินจริงๆ ดูมีความปลอดภัยเมื่อเดินผ่านระหว่างตู้โดยสาร ซึ่งทางเดินนี้ก็สามารถเข็นรถวีลแชร์ผ่านไปได้ รวมทั้งรถขายอาหารก็สามารถเข็นผ่านไปได้แบบสบายๆเลย เพราะด้วยการพ่วงแบบระบบปิดทำให้จุดเชื่อมต่อระหว่างตู้แทบหายไปเลยครับ สมูทมากกก

ระหว่างตู้โดยสารแต่ละตู้มีประตูกั้นทุกตู้ แต่ประตูจะไม่ใช่ระบบเซ็นเซอร์เหนือศีรษะนะครับ ต้องสัมผัสเอาซึ่งส่วนตัวผมว่าดีครับ ไม่งั้นคนที่นอนใกล้ประตูขยับนิดขยับหน่อยเดี๋ยวก็เปิด เดี๋ยวก็ปิด ไม่ได้นอนแน่ๆครับ

ภาพนี้จะเห็นได้ชัดขึ้นครับว่าทางเดินระหว่างตู้แทบจะราบเรียบไปเลย ไม่มีรอยต่อที่ทำให้เกิดอันตรายได้ง่ายๆครับ ในเคยนั่งรถนอนแบบเก่าน่าจะนึกออกเวลาเดินข้ามตู้ไป ช่วงรอยต่อระหว่างตู้ถือว่าอันตรายมากครับ แต่ตู้โดยสารรุ่นใหม่นี้ไม่มีปัญหานั้นแล้วครับสบายใจ

** ถึงแม้ทางเดินระหว่างตู้มันจะดูกว้างแล้ว แต่เชื่อว่าหลายๆคนก็ต้องสงสัยว่า ถ้ามันเป็นการต่อพ่วงแบบเดียวกับ BTS มันน่าจะกว้างได้กว่านี้หรือน่าจะกว้างได้เท่าๆพวก BTS หรือ MRT เลย คำตอบคือ...ปัจจัยนึงเป็นเพราะรถไฟข้ามจังหวัดที่เราใช้อยู่ตอนนี้วิ่งบนรางกว้าง 1 เมตร ส่วน BTS / MRT วิ่งบนรางกว้าง 1.435 เมตรดังนั้นช่วงตัวตู้กว้างไม่เท่ากันพื้นที่ก็ต้องถูกจำกัดไปตามๆกันครับ

ประตูระบบสัมผัส สัมผัสได้ทั้งผู้พิการทางสายตา และผู้ที่มองเห็นปกติครับ เพราะมีอักษรเบลให้ด้วย แตะปุ๊บเปิดดดดด แต่ความเร็วการเปิดไม่มากนะ แตะแล้วรอนิสนึง ถ้าเดินเร็วมีชนได้เลย ผมเรียกชื่อประตูนี้เล่นๆว่า "Touch On" 5555+

นี่ครับของใหม่ที่น่านำเสนออย่างยิ่ง ทุกตู้จะมีจอแสดงสถานะต่างๆ ตู้ละ 4 จอ บนประตูทางออกตู้ด้านละ 1 จอ และกลางตู้อีก 2 จอ(หันหลังชนกัน)  ซึ่งเดี๋ยวจะอธิบายตอนท้ายๆ ว่ามีอะไรบ้าง แต่หลายๆคนอ่านดูก็น่าจะดูออกครับว่าบอกอะไรบ้าง แต่ที่ผมชอบคือจอที่แสดงผลหลังจากนี้แล้วครับ ติดตามกันนะครับ

ด้านบนมีกล้องวงจรปิด CCTV ระบบปิด เอาไว้ป้องกันเหตุร้ายต่างๆนาๆ พร้อมทั้งลำโพงเสียงตามสายที่จะคอยประกาศ ประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ซึ่งเข้าใจว่าพนักงานรถไฟน่าจะยังไม่คุ้นชินกับงานด้านนี้เลยฟังดูพูดไม่ค่อยคล่อง อันนี้ต้องให้เวลากันหน่อยเข้าใจได้ครับ พี่ที่เป็น พรร. (พนักงานรักษารถ) เค้าจะพูดเวลาเราใกล้ถึงสถานีปลายทางเช่น ดอนเมือง หลักสี่ บางเขน บางซี่อ กรุงเทพฯ ให้เราเตรียมตัว และขอบคุณที่เลือกใช้บริการการรถไฟแห่งประเทศไทย ประมาณนี้ครับ แต่ยังมีแต่เวอร์ชั่นภาษาไทยนะครับสำหรับเสียงตามสายนี้

เสียงปั๊มลมดังจริงๆครับ ผมขึ้นสานอีสานวัตนาด่วนพิเศษที่23 มันดังมากจริงๆ ยิ่งถ้านถจอดแล้วเงียบๆด้วยจะดังจนรำคาญมากเลย ผมอยู่ตู้ที่2ติดกับตู้ปั่นไฟ ตอนแรกคิดว่าตู้ปั่นไฟเสียงดัง ถามพนักงาน พนักงานบอกว่าเสียงปั๊ม

พนักงานที่ผมถาม เห็นว่าเป็นปั๊มระบบห้องน้ำ ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน สรุปเสียงปั๊มดังมากจนนอนไม่หลับเลย เดี๋ยวคืนนี้ผมเดินทางอีก(เดินทางกลับ ด่วนพิเศษที่24) เดี๋ยวจะลองๆถามพนักงานดูอีกทีครับ คืนนี้นอนตู้ที่4 วันมานอนตู้ที่2

-- ส่วนของที่นั่ง --

แน่นอนครับว่าเมื่อเป็นรถนอน ใน 1 บล็อคก็จะประกอบไปด้วย 2 ที่นั่งหันหน้าชนกัน คือเตียงล่าง(เลขคู่) และเตียงบน(เลขคี่) เบาะนั่งเป็นเบาะฟองน้ำแข็งกำลังดีไม่เมื่อยก้น หุ้มด้วยกำมะหยี่สีแดงที่พร้อมจะเปื้อนได้ทุกเมื่อ ซึ่งผมได้มีโอกาสคุยกับพนักงานรถไฟมาเล็กน้อยเค้าบอกมาว่า "เปลี่ยนใหม่" แน่นอนนนนนน

โซนที่นั่งพื้นที่จะแคบกว่าตู้ของด่วนพิเศษนครพิงค์เล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้ดูแคบอะไรเลย สาเหตุที่แคบเพราะเค้าเน้นให้ทางเดินกว้าง อย่างที่บอกเลยว่าเป็นตู้รถที่ทำมาเพื่อผู้พิการอย่างแท้จริงครับ

ส่วนพนักพิงค่อนข้างตรง นั่งนานๆมีเมื่อยกันได้ แต่ด้วยความที่เป็นรถนอน ตรงนี้จึงไม่ใช่ปัญหาอะไร เพราะนั่งเต็มที่ 1-2 ชั่วโมงก็ปูเตียงแล้วครับ และก็จะได้นั่งอีกนิดหน่อยก็ก่อนถึงปลายทาง

ส่วนของหน้าต่างกว้างสะใจกระจกยังใสไม่มีตราของการรถไฟอยู่ตรงกลางแล้ว พร้อมม่านเหมือนเดิมแต่เปลี่ยนเป็นสีครีม มีโต๊ะเล็ก ที่วางแก้ว พวกนี้คล้ายๆเดิมปรับปรุงนิดหน่อยให้ดูดีทันสมัยขึ้น แต่เดี๋ยวจะรีวิวอันไหนที่มีเพิ่มเติมและต่างออกไปให้ด้านล่างครับ

ก่อนจะไปดูสิ่งที่เพิ่มเติมมา มาดูความพิเศษเล็กๆน้อยๆของเที่ยวนี้กันหน่อยครับ
ด้วยความที่เป็นเที่ยวปฐมฤกษ์ ทางการรถไฟเลยมีของชำร่วยให้มา 2 อย่างคือ การ์ดเที่ยวปฐมฤกษ์ กับ กระติกน้ำของการรถไฟครับ พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของการรถไฟ เดินมาคล้องดอกมะลิให้ผู้โดยสารทุกคนในขบวนนี้ครับผม

ส่วนน้ำเปล่า 2 ขวดด้านหลังนั่นจะมีแจกฟรีตลอดไปครับผม

ว่าด้วยเรื่องโต๊ะ (ขออภัยภาพใช้งานจริงอาจจะดูไม่งาม 555+) ตู้แบบใหม่จะเล็กกว่า มากกกก เอาไว้พอให้วางของได้เล็กน้อย เป็นแบบพับลงระบบโช้คซับแรง(ซึ่งต้องออกแรงกดและปลดล็อคมากก) ไม่ได้เป็นแบบโต๊ะยาวๆและสอดเก็บใต้ที่นั่ง เหมือนตู้รุ่นเก่าของด่วนพิเศษนครพิงค์ ถ้ามากันเป็นคู่ไม่เท่าไหร่ครับใช้ด้วยกันได้ ถ้าไม่ได้มาเป็นคู่อาจจะเขินหน่อย ก็ขอแบ่งๆกันใช้ไปครับ

นี่ๆๆๆๆๆๆ นี่เลยยยยยยย

ปลั๊กไฟ AC220V พร้อมไฟอ่านหนังสือสำหรับทุกที่นอน ย้ำ!!! ว่าทุกที่นอนไม่ใช่ทุกที่นั่ง (ถ้านึกไม่ออกว่าอยู่ตรงไหนย้อนกับไปดูรูปด้านบนนะครับ) เข้าใจง่ายๆคือเมื่อปรับเป็นแบบที่นั่งแล้ว ปลั๊กไฟจะอยู่ฝั่งของที่นั่งเลขคู่(เตียงล่าง) ฝั่งที่เป็นที่นั่งเลขคี่(เตียงบน)จะไม่มี แต่พอปรับเป็นเตียงแล้ว เตียงบนก็จะมีปลั๊กไฟและไฟอ่านหนังสือแบบนี้ให้เช่นเดียวกัน ไม่ต้องน้อยใจไปนะเธออ...

เช่นเคย ถ้ามาสองคนก็ดีไปไม่เขิน เธอเสียบปลั๊กให้เราหน่อยสิ แต่ถ้ามาคนเดียวแล้วซื้อเตียงบนแต่อยากใช้ปลั๊กก็เขินหน่อยนะ 555+

เมื่อลองเสียบชาร์จแบตดูแล้วผลที่ได้ก็คือไฟเข้าช้ามากกกกกกกก อันนี้น่าจะเป็นเรื่องของกระแสที่จ่ายมาต่ำเลยทำให้ช้า แต่ก็ไม่เป็นไรครับ เพราะเค้าให้เราใช้แบบชั่วคราวไม่ใช่ให้ใช้เป็นไฟบ้านเนาะ เพราะงั้นอย่าซีเรียส

ไฟอ่านหนังสือกดได้ 3 ระดับคือ ปิด ไฟอ่อน และไฟสว่างมาก แค่นี้เลย ตัวโคมปรับหมุนได้ตามต้องการแสงสีขาวจะออกแยงตาหน่อย เดี๋ยวรูปหลังๆจะมีภาพตอนใช้งานให้ดู.....

-- สำหรับผู้พิการ และผู้ใช้รถเข็ควีลแชร์ --

อย่างที่บอกไปครับว่ารถไฟขบวนนี้ทำมาเพื่อผู้พิการอย่างแท้จริงครับ ดังนั้นในบวนนี้จะมี 1 ตู้เป็นตู้สำหรับคนพิการโดยเฉพาะ(คนทั่วไปก็สามารถซื้อตั๋วตู้นี้ได้ปกติครับ) โดยในตู้นี้จะพิเศษตรงที่ตรงประตูขึ้นจะมีลิฟท์สำหรับยกรถวีลแชร์(ไม่ได้ถ่ายมาครับ มีที่สำหรับจอดเก็บรถวีลแชร์ และมีรถวีลแชร์สำรองให้ด้วย พร้อมทั้งห้องน้ำที่กว้างเป็นพิเศษเพื่อผู้พิการโดยเฉพาะ(อันนี้ก็ไม่ได้ถ่ายมากราบขออภัยอีกครั้ง) ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและดีมากจริงๆครับ

แวะมาโซนของผู้พิการกันอีกโซนครับ สำหรับห้องเสบียงของรถชุดใหม่นี้ก็จะมีโซนให้สำหรับผู้พิการที่ใช้รถวีลแชร์ด้วยครับ ซึ่งผู้พิการสามารถเข็นรถวีลแชร์มาจอด ล็อคกับราวไว้แลัวนั่งรับประทานอาหารนั่งชมวิวได้เหมือนกันครับ แต่ถ้าไม่มีผู้พิการมาใช้พื้นที่บริเวณนี้ใครจะมาชมวิวก็ได้นะไม่ว่ากันนะครับ

-- รถขายอาหาร (ตู้เสบียง) --

 

มาทัศนาตู้เสบียงกันต่อครับ โดยรวมดูเลิศดี จัดแต่งดีไซน์สวยงามน่านั่ง มีทั้งหมด 8 โต๊ะด้วยกัน เป็นห้องปรับอากาศ ด้านบนมีจอแสดงผลเหมือนในตู้โดยสาร แต่จะมี 2 จอที่เหนือประตูและหน้าบาร์ครับ

แต่ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ตู้เสบียงของรถชุดใหม่นี้จะเป็นครัวแบบ "อุ่นร้อน" ไม่ใช่ "ครัวร้อน" นะครับ เพราะฉะนั้นใครหวังว่าจะได้กินอาหารเหมือนด่วนพิเศษนครพิงค์ จบไปครับ ผมก็เช่นกันเศร้าเลยยยยย ว่าแล้วก็สั่งอาหารกันไปเอาที่อยากกิน 1 อย่างและที่เค้าแนะนำสัก 1 อย่างที่เหลือก็ตามใจฉันจะเป็นอะไรติดตามต่อ..........

1 โต๊ะ นั่งได้เต็มที่ประมาณ 4 คนแน่นครับ มากกว่านี้และดูไม่ไหว ดูจากภาพเหมือนจะกว้างแต่ก็ไม่ได้กว้างมากเท่าไหร่ เบาะเป็นเบาะกำมะหยี่พร้อมจะเปื้อนได้ทุกเมื่อเช่นกันกับตู้นอน แต่เป็นสีเขียวครับ

บริเวณเคาน์เตอร์บาร์ก็จะมีอาการ น้ำดื่ม ขนม ฯลฯ ขาย ยกเว้นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไม่มีขายนะจ๊ะ พนักงานดูเป็นวัยรุ่นขึ้นมาหน่อย น่าจะชุดใหม่เลยไม่ใช่ชุดของนครพิงค์ ซึ่งก็ทำให้ลุคของตู้เสบียงดูเปลี่ยนไปด้วยครับ ส่วนอาหารมีอะไรและราคาเท่าไหร่บ้างดูในแกลรี่ด้านล่างนะครับ

ว่าด้วยเรื่องราคาถือว่าไม่แรงมากนะครับ แทบจะเป็นราคาปกติด้วยซ้ำ แต่ผมไม่ได้ซื้อเพราะซื้อด้านล่างมาแล้ววววว

และก่อนที่อาหารจะมาถึง พลาดไม่ได้กับลูกเล่นใหม่ที่ต้องลองนั่นก็คือออ ๆๆๆๆๆ...........

แท๊นแทนนนนนน SRT WiFi เจ๋งมั้ยหล่ะท่านผู้ชม ถ้าผมดูข้อมูลมาไม่ผิดนี่คือรถไฟของไทยขบวนแรกที่มี Free WiFi ครับ

แต่ๆๆๆๆๆๆ (อีกแล้ว)

มีเฉพาะตู้เสบียงเท่านั้น ตู้อื่นๆไม่มีจ้าาา สัญญาณแรง แต่โหลด Data ไม่ขึ้นเลย เข้า Google ยังไม่ได้เลยครับ ถ้าอยู่ในโซนป่าเขานี่เลิกคุย ดับสนิท มีสัญญาณแต่ใช้การไม่ได้ เท่าที่สืบทราบมาสัญญาณนี้ดึงมาจากค่ายแมว แต่ก็ไม่เป็นไรครับ ตอนนี้ทุกอย่างน่าจะยังไม่เสถียร รอคอยการพัฒนาและปรับปรุงกันต่อไป

ส่วนสัญญาณโทรศัทพ์ปกติโซนเหนือก็ไม่ค่อยมีอยู่แล้วครับเพราะวิ่งทางป่าเขา แต่ขบวนนี้ไม่รู้ผมคิดไปเองรึเปล่าถ้าไม่ได้เข้าใกล้ย่านสถานีสัญญาณคือหายสนิท ไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวข้องกับที่ว่ารถไฟขบวนนี้ใช้การนำทางและรายงานแสดงผลด้วยระบบ GPS รึเปล่า ซึ่งน่าจะมีการป้องกันสัญญาณรบกวนจากภายนอก ทำให้ระบบสัญญาณโทรศัพท์หายไปด้วย


มาแล้วครับอาหารอุ่นร้อนที่รอคอย อาหารมื้อแรกบนรถไฟขบวนนี้ สั่งมาเทสทั้งหมด 4 อย่างอันได้แก่

- ข้าวผัดเขียวหวานไก่ไข่ดาว 55.- บาท
- ข้าวหมูทอดซอสกระเทียม 59.- บาท
- ขนมจีบกุ้ง(5ลูก) 30.- บาท
- นมชมพูเย็น 45.- บาท

อาหารอุ่นร้อนหรือที่เราเรียกกันว่าข้าวกล่องแบบเวฟนั้นเป็นของบริษัท CPRAM (บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด หรือ ซีพีแรม)ครับ เมื่อลองกินแล้วส่วนตัวไม่ค่อยเท่าไหร่ รสชาติจะไม่เหมือนกันข้าวกล่องในเซเว่นครับ แต่โดยรวมก็พอกินได้ แต่ถ้าราคานี้ผมว่ายังไม่ผ่านครับ ส่วนขนมจีบโอเคครับพอไปได้ นมเย็นนี่ผ่านเลยครับเข้มข้นดี

-- รถเข็นขายอาหาร --

ข้ามมาดูที่รถเข็นขายอาหารกันบ้างครับ นี่ครับ เค้าก็จะเข็นมาเป็นระยะๆ แต่ไม่บ่อยเท่าไหร่ อยากกินอะไรซื้อครับ แพงกว่าราคาป้าย 5 บาท 10 บาทบ้างก็ว่ากันไป หรือถ้าคุณจะสั่งพวกข้าวกล่องก็สั่งเอาได้เลยครับตรงนี้ จะมีแบบที่เค้าอุ่นมาให้แล้วบางอย่าง ถ้าถูกใจอยากกินก็ซื้อตรงนี้เลย หรือถ้าอันไหนไม่มีเค้าก็จะวิทยุไปที่ตู้เสบียงแล้วพนักงานจากตู้เสบียงก็จะเอามาเสริฟให้ครับ เจ๋งดีครับวิธีนี้จะได้ไม่ต้องจดเดินไปเดินมา รอกันไปยาวๆอีก

บนรถขายอาหารก็ประมาณนี้เลยครับ อย่างที่บอกไปถ้าตรงนี้ไม่มีแล้วขี้เกียจเดินก็บอกพนักงานได้ครับเค้าจัดให้ พอเห็นแบบนี้แล้วผมรู้สึกนะว่าภาพของรถไฟทางไกลเราดีขึ้นเยอะเลย ดูระบบแบบแผนดี ที่เหลือก็ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์กันไปครับ

-- ห้องน้ำ --


มาถึงโซนที่หลายๆคนน่าจะอยากเห็น นั่นคือห้องน้ำ พื้นที่ๆได้ชื่อว่าสกปรกได้ง่ายที่สุดและเป็นที่ๆหลายๆคนไม่ชอบเอามากๆสำหรับการโดยสารของรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นความสกปรก อุปกรณ์ชำรุด น้ำไม่สะอาด ส้วมระบบเปิด ทั้งหมดนี้ไม่มีในขบวนนี้ครับ ส่วนนึงเพราะว่านี่คือของใหม่ ความสะอาดมีแน่นอนครับ

ส่วนนี้คือพื้นที่ๆเป็นอ่างล้างหน้ามี 2 อย่างต่อ 1 ตู้ครับ มีกระดาษทิชชู่ สบู่ล้างมือ และถังขยะด้านล่างครบครันดีครับ ภาพรวมของตรงนี้คล้ายตู้เดิมครับ แต่อันนี้ใหม่กว่า และน้ำสะอาด(แต่คลอลีนแอบบแรงนิดนึง)

เหลือบมาข้างบนก็มีกระจกบานใหญ่ใสกิ๊ก และด้านขวาก็จะมีปุ่ม Emergency ฉุกเฉินสำหรับเรียกพนักงานกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินครับ ในห้องสุขาก็มีนะครับ เหตุด่วนเหตุร้ายก็กดเอาได้เลยครับ

มาดูที่ห้องสุขาแบบถ่ายหนักหรือห้องขรี้กันบ้าง ไม่กว้างครับ พอทำธุระหนักได้ไม่อึดอัดเท่าไหร่ มีสายชำระให้แรงดันน้ำดีครับ และที่สำคัญ เป็นส้วมระบบปิดสูญญากาศ ทำธุระเสร็จกดปุ่มเขียว น้ำมาาาา ดูดทุกสิ่งอย่างลงไปเลย อันนี้คล้ายๆเครื่องบินแหละ

ถามว่าต่างจากเดิมยังไงเผื่อใครที่ยังไม่รู้ แบบเดิมที่การรถไฟมีอยู่ทั้งหมดไม่รวม JR ที่ได้มา คือระบบเปิดทั้งหมดครับ ปล่อยไหนลงนั่น เค้าถึง"ห้ามใช้สุขาเมื่อรถจอดชานชลา" ไม่งั้นก็เหลืองเต็มรางกันไป แต่พอเป็นระบบปิดจะเข้าเมื่อไหร่ก็แล้วแต่เลยยยยยย

ในห้องเดียวกันก็จะมีอ่างล้างมือ สบู่ และกระดาษทิชชู่ให้พร้อม แต่แปลกใจ ของใหม่น้ำสนิมลงแล้ว ถือว่าซวยไปครับที่มาเป็นตอนนี้เพราะผมกำลังทำรีวิวนี้อยู่(จริงๆไม่ควรจะเกิดขึ้นกับของใหม่) เรื่องนี้แจ้งพนักงานไปแล้วและหวังว่าจะได้รับการแก้ไขกันไป ไม่ทราบว่าพี่น้องสายอีสานพอเจอปัญหานี้บ้างหรือไม่ครับ

ในส่วนของห้องถ่ายหนักจะมี 2 ห้องครับต่อ 1 ตู้ ไม่ต้องแย่งกันครับสบายๆ แต่ผมพูดเลยว่าเรื่องน้ำสนิมเนี่ย ทำให้หลายคนที่คิดว่าเนี่ยคือรถไฟมือ 2 ยิ่งเชื่อหนักเลยครับว่าเนี่ยของเก่าไม่ใช่ของใหม่ รู้แบบนี้แล้วเศร้าใจกันเลยทีเดียว วอนการรถไฟนะครับ ปัญหาเล็กๆเหล่านี้ไม่ควรมองข้ามหากเราจะพัฒนา เพราะการพัฒนาที่จะประสบผลสำเร็จได้ผมคิดว่าต้องเริ่มมาจากการเอาใจใส่สิ่งเล็กๆเหล่านี้ด้วยครับ 

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ ครั้งแรกกับรถไฟชุดใหม่ "อุตราวิถี" เที่ยวปฐมฤกษ์ เชียงใหม่-กรุงเทพฯ นั่ง-นอนชิล ๆ ก่อนใครไปกับเรา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook