ครั้งหนึ่งในชีวิต..กับการเป็นผู้พิชิต ยอดเขา Annapurana Base Camp

ครั้งหนึ่งในชีวิต..กับการเป็นผู้พิชิต ยอดเขา Annapurana Base Camp

ครั้งหนึ่งในชีวิต..กับการเป็นผู้พิชิต ยอดเขา Annapurana Base Camp
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Touch Down Annapurana 

Story & Photo : Narissara Kini

ว่ากันว่า “ชีวิตมันสั้น เกินกว่าที่จะลังเล” เพราะประโยคนี้ทำให้ตัดสินใจ เดินเทรคกิ้งคนเดียว เป็นของขวัญในวันที่อายุ ครบ 35 ปีเต็ม

Ananapurana เข้ามาอยู่ในความคิด เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว เพราะพี่ที่รู้จักคนหนึ่งไป แต่ก็ยังไม่ใช่สถานที่ ที่อยากไปมากอันดับ 1  เพราะตอนนั้น คิดว่าต้องเก็บเงินก่อน เทรคกิ้งต้องมีเพื่อนไป อีกทั้งมีสถานที่ที่อยากไปมากกว่า คือแคชเมียร์ กับลาดัก 

แต่พอมาเห็นภาพจุดเล็กๆ บนเทือกเขาหิมาลัย ที่เมื่อขยายดู กลายเป็นคนที่กำลังเดินตามเส้นทางขึ้นไปเขา ภาพนี้เป็นภาพที่พี่โอ๋ ช่างภาพที่รู้จัก ถ่ายไว้ ตอนไปเทรคกิ้งที่ EBC หรือ Everest base camp ทำให้คิดตามว่า นี่สินะ ที่เขาบอกว่า มนุษย์เราเป็นเพียงฝุ่นละออง ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรจากไหน ยิ่งได้ฟังเรื่องเล่า คลิปวีดีโอของการไปเทรคกิ้งของพี่โอ๋ที่ถ่ายไว้ ทั้งที่ EBC กับ ABC  (Annapurana Base camp)  ยิ่งทำให้เห็นความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและหิมาลัย  โดยเฉพาะเรื่องเล่าของพี่โอ๋ ที่รอดตายจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เนปาล  ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้คิดว่า อยากทำอะไรให้รีบทำ เพราะชีวิตมันสั้นเกินกว่าที่จะลังเล 

ใช้เวลา ไม่ถึง 1 อาทิตย์ ตัดสินใจจองตั๋วเครื่องบินและเดินทาง ข้อมูลมีแค่เปิดรีวิวบางส่วนเชื่อว่าใครที่ยังไม่เคยเทรคกิ้งที่เนปาล คงต้องศึกษาข้อมูลพอสมควร โดยเฉพาะการตัดสินใจว่าจะไปเองหรือจะผ่านเอเจนซี่ ซึ่งเราตกที่นั่งนี้เช่นกัน 

พี่โอ๋ บอกว่าไปเองไม่ยาก แต่ถ้ามองอีกมุม ถ้าอยากมีเพื่อนเดินคุย แล้วก็ช่วยคนเนปาลที่เขาด้อยกว่าเรา ก็จ้างไกด์ แล้วอย่าเอาเรื่องเงินเป็นตัววัด  มันไม่มีอะไรเสียหาย ถ้าเทียบกับสิ่งที่จะได้กลับมา 

โรคแพ้ความสูง กับภาษาอังกฤษที่ไม่แข็งแรง เป็นตัวที่ทำให้ลังเล ระหว่าง การจัดการเองทุกอย่าง ทั้งทำใบ Entry Permit กับ  Trekking registration certificate หรือ trc , เลือกเส้นทางในการเดินเอง , ติดต่อที่พักระหว่างเทรคกิ้งเอง ซื้อตั๋วรถไปโพคารา จ้างรถจากโพคารา ไปจุดที่เทรคกิ้งเอง  ไม่มีไกด์ แต่ไปหาลูกหาบท้องถิ่นแถวๆ Nayapul

ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการเดินเทรคกิ้ง  (ราคาจ้างลูกหาบ ประมาณ 12 ถึง 15 เหรียญ US ต่อวัน พูดภาษาอังกฤษได้น้อย เวลาเดินลูกหาบจะไม่ได้เดินไปพร้อมกับเรา หรือรอเรามากเท่าไร )  กับ ติดต่อเอเจนซี่ที่กาฐมาณฑุ ให้ทำทุกอย่าง หาทุกอย่างให้เสร็จสรรพ มีลูกหาบที่พอพูดภาษาอังกฤษได้  แต่ราคาก็จะบวกเพิ่มค่านายหน้าไป  ซึ่งเราเลือกอย่างหลัง แม้พี่ๆ ที่เคยไป จะบอกว่า เดินไปเองได้ ระหว่างทางมีนักท่องเที่ยวเดินตลอด ไปจ้างลูกหาบท้องถิ่นถูกๆ ที่นู่นอย่างเดียว  ที่พักมีตามจุด หาต่อรองได้ราคาถูกมาก 

สาเหตุส่วนตัว ที่จองผ่านเอเจนซี่ ไม่ได้กลัวเรื่องต้องเดินทาง ต่อรถหลายทอด หรือต้องเทรคกิ้ง คนเดียว แต่เพราะกลัวหาลูกหาบแบกเป้ไม่ได้ (ให้สะพายคนเดียวคงไม่ไหว เนื่องจากพกขาตั้งกล้อง เพื่อไปถ่ายดาว กับเสื้อกันหนาวตัวหนา 3 ตัว ) กับกลัวจะงง กับเส้นทางเทรคกิ้งที่ขึ้นได้หลายด้าน เกรงว่าจะเริ่มต้นไม่ถูก ข้อมูลก็ไม่ได้ศึกษาละเอียด ไปคราวนี้จะแพ้ความสูงหรือไม่ก็ไม่รู้ อย่างน้อยเอาที่ปลอดภัยไว้ก่อนก็ดี 

ข้อจำกัดในการเดิน คืออย่างแรกที่ให้ข้อมูลกับเอเจนซี่ที่ติดต่อไป  เพราะมีเวลาไม่มากในการลางาน  ขอเลือกเส้นทางที่ไม่ผ่าน Poon Hill เพราะเท่าที่อ่านคร่าวๆ เบื้องต้น เกือบทุกข้อมูล ถ้าผ่านPoon Hill ต้องเดินอย่างน้อย 10 วัน  ไม่รวมวันเดินทางจากไทย มา กาฐมาณฑุ และกาฐมาณฑุ กลับไทย ติดต่อเอเจนซี่ที่กาฐมาณฑุหลายเจ้ามาก  จนได้เอเจนซี่ที่เสนอราคามา กับตารางการเดิน ราคาทั้งหมด ประมาณ 300 เหรียญ Us รวมทุกอย่างทั้งที่พัก ค่ารถ ยกเว้นอาหาร (เอเจนซี่อื่นที่ติดต่อ 450 เหรียญ ถึง 580 เหรียญ ) พร้อมตารางการเดิน 

Day 1 Arrive kathmandu staying your nepali friend house.

Day 2  KTM to pokhara  drive to nayapul  walk bhirethati.

Day 3  Ghandurk trek to Chhommrong

Day 4  Himalyan hotel

Day 5  trek to MBC/ ABC

Day 6 Explore ABC trek to return bamboo

Day 7 Jhinwa danda ( hot spring)

Day 8  trek to nayapool Drive  to pokhara over night hotel.

Day 9 drive to kathmandu

Day 10    final deparure.

วันแรกของการเดินทาง ไปถึงตอนบ่ายๆ  นัดเจอ เอเจนซี่ ทำความรู้จักเบื้องต้น จ่ายเงินค่าทริป ทำใบ Permit กับคุยรายละเอียดเพื่อนัดจุดขึ้นรถของวันรุ่งขึ้น แม้ว่า ในทริปจะรวมค่าที่พักถูกๆในทาเมลไว้ด้วย แต่มีงานที่ต้องทำนิดหน่อย เลยไปนอนที่บ้านของคนเนปาล ที่รู้จักตอนมาทำงานช่วงแผ่นดินไหว 

7 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น  จุดขึ้นรถโดยสารใกล้ทาเมล เป็นจุดนัดพบเพื่อขึ้นรถ กับไกด์ที่ทำหน้าที่ลูกหาบในตัว ซึ่งพูดคุยภาษาอังกฤษได้ เพื่อเดินทางไปเมืองโพครา 

สำหรับรถบัส ที่เดินทาง เป็นรถบัสท้องถิ่น คล้ายๆรถทัวร์ที่เมืองไทย แต่ไม่มีแอร์    เท่าที่สังเกตจุดจอดรถ รถบัส มีหลายราคา ทั้งธรรมดา และวีไอพี ซึ่งวีไอพี ก็มีแอร์ และ wifi ในรถให้ ราคาแตกต่างกันไป  

เส้นทางจากกาฐมาณฑุ ไปโพครา ใช้เวลา ประมาณ 8 ถึง 9ชั่วโมง เพราะถนนที่นู่น ไม่เหมือนถนนที่เมืองไทย เพราะเนปาลเป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชั่น ติดอันดับต้นของโลก ประกอบกับเส้นทาง เป็นถนนเลียบเขาสูง ความกว้างหากเทียบกับไทย ก็ประมาณ 1 เลนครึ่ง เป็นรถบรรทุกสิ่งสินค้ามาก บางจุดแคบถึงขนาดเมื่อต้องวิ่งสวนทางกัน รถต้องเบี่ยงเพื่อให้อีกคันไปได้  บางจุดแซงกันจนเกือบจะประสานงานกันก็มี ถึงโพครา นั่งรถแท็กซี่ ต่อไป Nayapul อีกประมาณ 1 ชั่วโมงนิดๆ  จากนั้นก็เดินเท้าประมาณ 1 ชั่วโมง จนถึงที่พัก Bhirethati คืนแรก

วันต่อมา ถือเป็นการเริ่มเดิน แบบจริงจัง เส้นทางการเดินอย่างที่บอก  หากจะไปเองโดยไม่ผ่านเอเจนซี่ เราสามารถกำหนดเส้นทางขึ้นได้หลายเส้นทาง  หากวางแผนดีๆ บางเส้นทางวันเริ่มต้น และวันกลับ สามารถประหยัดเวลาการเดินได้ด้วยการนั่งรถ เช่น ขาไปจาก Bhirethati  ไป  Ghandurk เป็นเส้นทางรถ หากเดินใช้เวลาประมาณ 3 ถึง 4 ชั่วโมง แต่ถ้าจ้างรถแท็กซี่ (คล้ายรถมิร่า )  ก็ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ราคาประมาณ 2000 รูปี คิดเป็น เกือบ 700 บาทไทย ส่วนหากผ่านเอเจนซี่ เขาจะถามก่อน ว่าหากต้องการประหยัดเวลา วันแรกจะนั่งรถต้องเสียเงินเพิ่มเอง จากราคาแพคเกจ 

แต่ละวันของการเดินจะเริ่มที่เวลาประมาณ 7 โมงเช้า เฉลี่ย 5 ถึง 12 ชั่วโมงต่อวัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เจอ บางวันเจอฝน บางวันเจอพายุลูกเห็บ ตารางการเดินที่ได้ตอนแรก ก็จะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ 

จากตารางการเดินจริงจัง แบ่งเป็น ขึ้น 3 วัน ลง 3 วัน  วันแรกของการขึ้น ใช้เวลาประมาณ 9   ชั่วโมง ส่วนวันแรกของการลงก็ใช้เวลา 12 ชั่วโมง 

ถามว่าชอบช่วงไหนมากที่สุด คงเป็นช่วง Deurali  จุดนี้อยู่ระหว่าง จากจุดหิมาลายา ไป MBC ความสูงที่มากกว่า  3000 เมตร จากพื้นที่ป่าสีเขียว

ก็กลายเป็นพื้นที่ระหว่างช่องเขาที่มีหญ้าสีน้ำตาล  มีธารน้ำที่ละลายจากน้ำแข็งข้างบน คั่นกลาง  อากาศที่บริเวณนี้ก็จะเย็นลงตาม พูดเลยว่าอยากจะหยุดใช้เวลาตรงนี้สักชั่วโมง  แต่สุดท้ายอากาศกลับไม่เอื้ออำนวย 

ไม่รู้ว่าโชคดีหรือเปล่า ที่ทำให้เรามีประสบการณ์เดินเทรคกิ้งที่หนักเอาการ ที่หนักไม่ใช่การเดินแต่กลับเป็นสภาพอากาศระหว่างการเดินนี่แหละ 

ไม่ใช่อากาศที่เย็นลง แต่เพราะพายุฝน ผสมพายุลูกเห็บ ที่กระหน่ำ ทำให้จาก Deurali ไปถึง MBC รวมเวลาก็ราวๆ เกือบ 3 ชั่วโมง ถือเป็นการเดินที่หนักหนาที่สุด 

หลังกลับมา เพื่อนที่ดูรูปถามว่าทำไมไม่หาที่หลบ ตอบทันทีเลยว่าตรงนั้นไม่มีที่หลบ สิ่งที่ทำได้ คือการเดินลุยมันไป ลุยจนเสื้อกันฝนทะลุเป็นรู รองเท้าเทรคกิ้งที่ว่ากันน้ำ ก็ไม่สามารถช่วยอะไร

เพราะตอนนั้น เท้าทั้งสองข้างด้านในชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำ ลองคิดดูสิว่าอากาศแบบนี้จะมีเวลาให้รองเท้าแห้งได้หรือไม่ ในการเดินอีก 3 วันกว่าๆที่เหลือ ช่วงเวลานี้แหละที่ถามตัวเองบ่อยที่สุดว่า มาทำไม ทำไมต้องมาเดินลุยฝนลุยลูกเห็บ ทำไมต้องมาทรมานร่างกาย ทำไม ทำไม และทำไม


อุณหภูมิติดลบ จนหิมะตก หลังพายุลูกเห็บผ่านไป ทำให้ได้ใช้เสื้อกันหนาวที่เตรียมมาคุ้มหน่อย แต่กระนั้นก็ยังอุ่นไม่พอ เพราะที่พักไม่ใช่โรงแรมหรู หรือเตียงหนานุ่มพร้อมที่ผ้าห่มอุ่นๆ เหมือนโรงแรมที่นอน

เรื่องที่พัก ระหว่างการเทรคกิ้ง ตามจุดต่างๆ จะมีที่พักให้เลือก ราคาก็แล้วแต่ต่อรอง ซึ่งไม่แพง ส่วนมากก็เป็นไม้กั้นเป็นห้อง ไม่ก็อิฐกั้นก้อง มีเตียงไม้เบาะให้นอนธรรมดา ผ้าห่มให้ ส่วนตัวชอบนอนที่ Chhommrong  เพราะอากาศดี วิวสวย ไม่ร้อนไม่หนาว เกินไป ที่สำคัญพระอาทิตย์ขึ้นที่นี่สวยมาก  

การจองที่พัก ถ้าใครผ่านเอเจนซี่แบบเรา เขาจะหาที่พักไว้แล้ว ที่พักส่วนมากก็เป็นห้องเล็กๆ พอนอนได้ อุปกรณ์การนอนก็ทั่วไป ส่วนห้องน้ำเป็นแบบรวม ถ้าใครต้องการอาบน้ำอุ่นก็จะเสียเงินเพิ่ม ใครต้องการชาร์ตไฟ ใครต้องการฮีทเตอร์ก็เสียเงินเพิ่ม ประมาณอย่างละ 100 ถึง 200 รูปี คิดเป็นเงินไทยก็ 30 ถึง 66 บาท จุดแรกๆ ก็อาบน้ำทุกวัน ยอมอาบน้ำเย็นที่ส่วนมากเป็นน้ำจากภูเขา แต่พอขึ้นที่สูง ยิ่งสูงยิ่งหนาวก็ชักอาบไม่ลง บางที่น้ำไม่มี ต้องเอาน้ำที่อยู่ในถัง ใกล้ส้วมมาแปรงฟัน  

ที่พักทุกที่มีข้อแม้ว่า ถ้ามาพักจะต้องสั่งอาหารของเขาทาน ห้ามเอามาทานเอง ราคาค่าอาหารยิ่งสูงจะยิ่งแพง เช่นชาร้อน 1 แก้ว ถ้าสั่งที่ Chhommrong  ประมาณ 40 บาท แต่ถ้าสั่งที่ MBC ราคาจะอยู่ที่แก้วละ 80 บาท ไข่ดาว 1 เซท (2 ฟอง) ที่ Chhommrong ประมาณ 50 แต่ถ้าสั่งที่  MBC ราคาก็ประมาณ 100 บาท ไม่ต้องคิดถึงเมนูข้าว ที่ราคาหนึ่งจานสูงสุดก็  200 กว่าบาท (แล้วแต่ option ที่เลือกเช่น เพิ่มไข่ เพิ่มผัก เพิ่มเนื้อไก่ เป็นต้น )

พูดถึงที่พัก ถ้าไปกับเอเจนซี่ ให้ถามให้แน่ใจว่า ที่พักที่หาให้เรา ต้องไม่ใช่แบบแชร์ห้องนอน

เพราะขนาดเราถาม วันที่ 2 พ่อไกด์หนุ่มให้เรานอนห้องรวม โดยอ้างว่า ช่วงนี้คนเยอะ ห้องไม่

พอ ซึ่งเราก็โอเค เพราะเหนื่อยกับการเดิน ประกอบกับขี้เกียจถาม ทำให้นอนห้องกับผู้ชายที่มาจากอเมริกาใต้ สองคนในห้อง ท่ามกลางสภาพอากาศที่ฝนตกหนัก โชคดีที่ห้องกว้างหน่อย ต่างคนต่างนอน และsay hi ตอนตื่น แต่พอไกด์เห็นว่าเราเป็นคนง่ายๆ ช่วงวันกลับ จะให้เรานอนแบบแชร์ห้องพักอีก

ซึ่งคราวนี้เราไม่ยอม และทำหน้าไม่พอใจ เพราะเห็นว่า ห้องว่างตั้งเยอะ ประกอบกับห้องที่พักแคบมาก และเราต้องการพื้นที่ตากรองเท้า กับผ้าเปียกที่ลุยฝนวันก่อน หากมีใครมาพักคงไม่เป็นส่วนตัวแน่ ซึ่งพอไกด์เห็นว่าไม่ยอมแน่ๆ  หนึ่งชั่วโมงถัดมาก็มาเคาะประตูห้อง และบอกว่า ไม่มีใครมาพักด้วย ยังมีทริค ที่ไกด์อาจจะบอกเราไม่หมด แต่ก็ไม่ได้ใหญ่หลวงอะไร แต่ก็ให้รู้พอเป็นข้อมูล ประกอบการวางแผนและตัดสินใจ ก็คือวันกลับ  จาก 3 วัน สามารถเหลือ 2 วันได้

ซึ่งเราเจอเหตุการณ์ เดินกลับวันที่สอง ถึงประมาณเที่ยง ไกด์บอกว่าถึงที่พักแล้ว เพราะวันสุดท้ายเดินอีก 5 ชั่วโมงนิดๆ เราก็อืมอืม พักก็พัก เห็นว่าพรุ่งนี้เดินอีกเยอะ ปรากฎว่า วันรุ่งขึ้น เดินไปยังไม่ถึง 2 ชั่วโมง ไกด์เดินมาถามเราว่าจุดข้างหน้า ที่อีกประมาณ 30 นาทีถึง คุณสามารถจ้างรถไปถึง Nayapul ได้เลย ประหยัดเวลา 3 ชั่วโมง  เสียเงินอีกประมาณ 2000 ถึง 3000 รูปี (คิดเป็นเงินไทยก็ไม่ถึง 1000 บาท)

แต่ด้วยความโมโหที่ไกด์ ทำไมถึงไม่บอกตั้งแต่แรก จะได้วางแผนร่นระยะเวลาการเดิน  เอาเงินค่าจ้างต่อวัน มาเป็นค่ารถ ยังเหลือ เลยยืนยันว่าจะเดินตามแผนเดิม เรายอมเดิน  เดินไปได้อีกชั่วโมงไกด์ก็ถามอีกรอบ เราก็ยังคงยืนยันตามเดิม แม้ว่าจะร้อน ในใจก็คิดว่าถึง หรือยังนะเพราะขาเริ่มตึง จากการเดินลงเขา (คนที่เคยเทรคกิ้ง เวลาลงทางชัน ต่อเนื่อง น่าจะเข้าใจ ว่ามันเป็นช่วงเวลาทรมานช่วงหนึ่ง)  แต่เราก็ต้องนิ่งไว้ เพราะยืนยันกับไกด์เองว่า เราเดินได้ เราจะเดินตามแผนเดิม ไม่นั่งรถ เป็นลูกทหารต้องอดทน 

ความแตกต่างของการเทรคกิ้ง ที่เมืองไทย กับเนปาล จากประสบการณ์ที่เคยเทรคกิ้งที่เมืองไทยบ้าง  ทั้งโมโกจู ม่อนจอง เชียงดาว เขาบูโด ส่วนตัวมองว่า การเทรคกิ้งที่ไทยเกือบทั้งหมด จะเป็นการเทรคกิ้ง ผ่านพื้นที่ป่า อุทยานแห่งชาติต่างๆ การนอนก็จะนอนเตนท์ ทำเป็นแคมป์ปิ้ง  แต่ที่เนปาล การเทรคกิ้ง อยู่ในพื้นที่อุทยานเช่นกัน 

แต่ระหว่างทางนอกจากพื้นที่ป่า ก็จะเป็นหมู่บ้าน ที่ชาวเนปาลี อาศัยอยู่  ( คนเนปาลี จะแบ่งเป็นกลุ่มชาติพันธ์ หรือที่เรียกว่า เผ่าต่างๆ มากถึง 60 เผ่า )

ที่ ABC ไม่มีการนอนเตนท์ แต่จะเป็นการพักตามจุดพัก ที่มีชาวบ้านทำเป็นโฮมสเตย์  จนถึงที่ความสูงประมาณ 3000 เมตร สภาพของพื้นที่จะเปลี่ยน เป็นหิมะ ไม่มีหมู่บ้าน ถ้าถามว่า ABC เดินยากหรือไม่ ตอบตรงนี้เลยค่ะว่า ที่เมืองไทยบางที่ยากกว่า ที่นี่เดินเรื่อยๆ ไม่ยาก ไม่ชัน ส่วนตัวผู้เขียนไม่ได้ออกกำลังกาย หรือเตรียมร่างกายมาก่อน แต่แนะนำถ้ามีโรคประจำตัว ควรเตรียมร่างกาย และมีเพื่อนเดินค่ะ    

7 วันของการเทรคกิ้ง เราเข้าใจว่า ทำไมพี่โอ๋ถึงบอกว่า ไปเองก็ได้ ซึ่งหลังจากกลับมา ไม่ว่าใครจะถาม ก็บอกคนที่มาถามทุกครั้งว่า ไปเองได้เช่นกัน ถ้าสนใจยินดีอธิบายรายละเอียดให้  เส้นทาง ABC ไม่ยาก ยิ่งหากไปคนเดียวก็ทำได้

หลายคน มองว่า งานประจำ เป็นเงื่อนไข ในการเดินทาง  การลาออก หรือทำงานฟรีแลนซ์ คือสิ่งที่ตอบโจทย์ มากกว่า 

ขณะที่หลายคน มองว่า เงิน เป็นส่วนสำคัญมาก ที่จะทำให้ความฝันในการเดินทางเป็นจริง  

ทั้ง สองข้อมีส่วน แต่ไม่ทั้งหมด .. 

ส่วนตัวผู้เขียน ทำงานประจำ เงินเดือนระดับปานกลาง และสภาพคล่องทางการเงินแบบเดือนชนเดือน แต่ก็ไม่เป็นเงือนไข ที่จะไม่ลองทำตามฝัน  แบงค์ 50 ที่เก็บสะสม ดูแล้วน่าจะเพียงพอ หัวหน้าอนุมัติวันหยุดที่สะสมไว้ ผสมกับวันลาพักร้อน พร้อมกับใจถึงถึง ก็ไม่ต้องรออะไร ระยะทางอาจส่งผลต่อร่างกาย แต่ไม่ได้ส่งผลต่อจิตใจ 

เพราะ  “ชีวิตมันสั้น เกินกว่าที่จะลังเล”

เพิ่มเติม ...  ถ้าใครมีเวลา วันกลับอยู่ต่อที่โพคารา นั่งดูพระอาทิตย์ตกที่ทะเลสาป หรือเดินเล่นรอบเมือง ก็มีหลายที่น่าไป หรือใครจะกลับมาเที่ยวรอบกาฐมาณฑุ ไปเมืองมรดกโลก ที่มีมากถึง 7 แห่ง ส่วนตัวไปครบทุกที่ โดยเฉพาะที่ปศุปฏินาถ  ที่นี่ทำให้เข้าใจคำว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย มากขึ้น แต่ตอนนี้ทุกที่ อาจจะไม่เหมือนเดิมเพราะจากเหตุแผ่นดินไหว หลายที่ยังไม่มีการบูรณะซ่อมแซม กองอิฐของโบราณสถาน ก็กระจายตามพื้นเหมือนเดิม ส่วนหนึ่งเพราะเป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมาก ประเทศไทยนี่ดีกว่า เยอะ

อัลบั้มภาพ 85 ภาพ

อัลบั้มภาพ 85 ภาพ ของ ครั้งหนึ่งในชีวิต..กับการเป็นผู้พิชิต ยอดเขา Annapurana Base Camp

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook