สมบัติริมน้ำ...เสน่ห์วิถีชีวิตแห่งจันทบูร

สมบัติริมน้ำ...เสน่ห์วิถีชีวิตแห่งจันทบูร

สมบัติริมน้ำ...เสน่ห์วิถีชีวิตแห่งจันทบูร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากย้อนกลับไปประมาณ 100 ปี ที่ผันผ่านช่วงเวลานั้นถือเป็นยุคทองของชุมชน โดยมีถนนสายแรกของจังหวัดพาดผ่านเข้ามาชื่อว่า ถนนเลียบนที

แสงแดดยามเช้าทอแสงประกายสาดส่องลงมาทั่วทั้งบริเวณย่านการค้าร้านรวงที่มีสภาพเป็นตลาดเก่าแก่โบราณ อันมีความเป็นมายาวนานกว่า 300 ปี ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำจันทบุรี หรือในชื่อดั้งเดิมที่รู้จักกันว่า “ชุมชนริมน้ำจันทบูร” 

แม้ว่าเช้านี้จะมีแดด แต่อีกไม่นานเมื่อถึงเวลาบ่ายสายฝนก็จะพรำโปรยลงมาให้รู้สึกสดชื่นฉ่ำเย็น  สายฝนกับคนเมืองจันท์มีความสนิทสนมกันดุจญาติมิตร เพราะพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทยมักจะมีฝนตกชุก ทำให้มีความเหมาะสมกับกิจการงานด้านการเกษตร จะปลูกพืชอะไรก็มักจะได้ผลผลิตดีมีชื่อเสียงถึงความอร่อยจนเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า เมื่อถึงหน้าฝนต้องเดินทางไปเที่ยวจังหวัดจันทบุรี เพื่อไปลิ้มลองรสชาติผลไม้แสนอร่อยและท่องเที่ยวไปยังส่วนธรรมชาติต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมากมายในจังหวัดนี้ 

บ่ายวันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ชุมชนริมน้ำจันทบูร ได้สัมผัสกับสายฝนที่เพิ่งจะหยุดลงเม็ดไป หยดน้ำใสยังคงเกาะบนชายคาให้ความรู้สึกสดชื่น ห้องแถวโบราณหลายหลังเรียงรายมีอายุมากกว่า 100 ปี ปลูกสร้างแบบชิดติดกันด้วยสถาปัตยกรรมงดงามล้ำค่าผสมผสานศิลปะสไตล์ฝรั่งเศส จีน ไทย ได้อย่างกลมกลืนลงตัว บ่งบอกถึงเรื่องราวในยุคสมัยอาณานิคมถึงดินแดนแห่งนี้ว่า เคยมีความรุ่งเรืองมาช้านาน

ด้วยทำเลที่ตั้งของชุมชนริมน้ำจันทบูรมีความเหมาะสมทางด้านการคมนาคมทางน้ำที่สะดวก ในช่วงเวลานั้นของคืนวันเก่าทำให้ชาวไทย ชาวจีน ชาวญวน ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีทั้งข้าราชการ พ่อค้า คหบดี จึงเกิดการผสมผสานทางด้านวัฒนธรรม รวมทั้งทางด้านการศาสนา

หากย้อนกลับไปประมาณ 100 ปี ที่ผันผ่านช่วงเวลานั้นถือเป็นยุคทองของชุมชนจันทบูร บริเวณนี้มีถนนสายแรกของจังหวัดพาดผ่านเข้ามาชื่อว่า ถนนเลียบนที แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนสุขาภิบาล ด้านหัวถนนคือย่านท่าหลวงเป็นชุมชนการค้าขายและการขนส่ง ด้านตอนกลางของถนนสายนี้เรียกว่า ตลาดกลาง นอกจากเป็นชุมชนการค้าเช่นเดียวกันแล้ว ยังมีท่าเรือสำหรับการคมนาคมอยู่อีกหลายท่า และส่วนตอนท้ายของถนนสายแรกนี้เรียกว่า ตลาดล่าง เป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าหัตถกรรม และการค้าขายเบ็ดเตล็ด เช่น การตีเหล็ก การทำพลอย การทำขนม

ในสมัยรัชการที่ 5 สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จประพาสเมืองจันทบุรีอยู่หลายครั้ง ครั้งสำคัญคือ  พ.ศ.2450 ครั้งนั้นมีการสร้างท่าน้ำเพื่อรับเสด็จ ทั้งยังมีการประดับธง ประทีปโคมไฟอย่างสวยงาม เป็นภาพที่ประทับใจของชาวจังหวัดจันทบุรีมาตราบจนทุกวันนี้  

 

แต่เมื่อกาลเวลาได้ผ่านไป เมื่อถนนหนทางได้เข้ามามีบทบาททางด้านการคมนาคมมากขึ้น การสัญจรทางน้ำที่ใช้เวลาค่อนข้างมากจึงได้รับความนิยมลดน้อยลงไป วิถีชีวิตของชุมชนริมน้ำจันทบูรจากที่เคยเป็นย่านการค้าที่คึกคัก จึงได้ลดเลือนบทบาททางเศรษฐกิจลง ด้วยนโยบายการขยายเมือง ประกอบกับการเกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2533 และการเกิดอุทกภัยในปี พ.ศ.2542 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภัยเหล่านี้ ได้พรากวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนให้จากไป แต่ไม่ถึงกับสูญหายไปจนหมดสิ้น โชคดีที่ยังมีสำนักงานพาณิชย์จังหวัดจันทบุรีได้เห็นคุณค่าความสำคัญของชุมชนริมน้ำ ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจเก่าของจังหวัด จึงมีนโยบายที่จะพัฒนาย่านเก่านี้ให้กลับคืนมาเป็นย่านการค้าที่สำคัญอีกครั้ง และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดอีกแห่งหนึ่ง จึงได้เกิดการตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาชุมชนริมน้ำจันทบูร” ขึ้นเพื่อร่วมกันสร้างจิตสำนึก และความสามัคคีของชุมชน ในการดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตที่มีคุณภาพควรค่าแก่การศึกษา และสืบสานเรื่องราวของชุมชนถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของจังหวัดจันทบุรี

ถ้าหากคุณได้เดินทางมาท่องเที่ยวในชุมชนริมน้ำจันทบูร ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสุขาภิบาล คุณจะได้พบเห็นสถาปัตยกรรมโบราณอันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และมีความหมายทางจิตใจของผู้อยู่อาศัย ทั้งสองฝั่งถนนคุณสามารถเดินชมบ้านแต่ละหลังได้อย่างเพลินตา บ้านสองชั้นที่ชั้นบนเป็นไม้มีลวดลายระบายชายคาไม้ลายฉลุแบบขนมปังขิง ช่องลมฉลุลายเถาดอกไม้ ระบายชายคาลายไทยใหญ่ ลูกกรงหน้าต่างฉลุลายจีน สถาปัตยกรรมเหล่านี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าได้ ผู้ที่อยู่อาศัยก็ล้วนมีอัธยาศัยไมตรีที่ดีเนื่องจากเป็นลูกหลานของคนค้าขาย ต่างคอยให้ข้อมูลบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างภาคภูมิในความเป็นมาของชุมชน และชื่นชมนบนอบในบรรพบุรุษของตนที่ได้ก่อร่างสร้างบ้านและฐานะมาด้วยน้ำพักน้ำแรง อย่างเช่นบ้านหลังหนึ่งที่ผมอยากให้ได้แวะเข้าไปเยี่ยมชมกัน คือ บ้านขุนอนุสรสมบัติ 

บ้านขุนอนุสรสมบัติ หรือ บ้านเรียนรู้ชุมชนริมน้ำจันทบูร เป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี บ้านหลังนี้ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของ พ.อ.หญิงบุญพริ้ม ปฏิรูปานุสร ท่านอนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่ตั้งเพื่อจัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนริมน้ำจันทบูร โดยภายในบ้านประกอบไปด้วยภาพถ่ายโบราณ วิดีทัศน์ และของใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งปัจจุบันหาชมได้ยากและใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ บ้านหลังนี้ตั้งอยู่เยื้องกับศาลเจ้าที่ตลาดล่าง เปิดให้เข้าชมทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.30 – 17.00 น. หากคุณมีโอกาสได้ไปเยือนแล้ว น่าจะลองแวะเข้าไปชมบรรยากาศภายในบ้าน รับรองได้เลยว่าคุณจะประทับใจในความเป็นมาของชุมชนแห่งนี้ แต่ขออนุญาตแจ้งล่วงหน้าไว้สักนิดนะครับว่า ควรไปเที่ยวชมด้วยความสงบเรียบร้อย เนื่องจากท่านเจ้าของบ้านท่านเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยไมตรีดีมาก และยังไม่มีการเก็บค่าเข้าชมแต่อย่างใด ท่านเองก็ต้องควักกระเป๋าตนเองในการช่วยดูแลให้สภาพบ้านหลังนี้สวยงามคงทนอยู่เสมอ เราจึงควรช่วยทนุถนอมบ้านหลังนี้ให้อยู่คู่ชุมชนสืบต่อไป

บ่ายคล้อยมากแล้ว สายลมเย็นพัดผ่านผิวน้ำจันทบุรีอันนิ่งสงบขึ้นมากระทบร่างที่ยืนเกาะราวสะพานนิรมล สะพานปูนเก่าที่ผู้คนสองฟากฝั่งใช้เดินข้ามไปมาหาสู่กันระหว่างฝั่งตลาดเก่า กับ ฝั่งโบสถ์โรมันคาทอลิก อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล ซึ่งถือเป็นโบสถ์ขนาดใหญ่ที่มีความเก่าแก่มากกว่า 300 ปี และว่ากันว่ามีความงดงามมากที่สุดในประเทศไทย ผมเริ่มมองเห็นบรรยากาศเก่าๆ ของบริเวณนี้ในวันที่คึกคักไปด้วยผู้คนและเรือสัญจร และผมได้เห็นว่าบ้านริมน้ำที่ปลูกเรียงรายเป็นตึกแถวแต่ละหลังล้วนมีเรื่องราวความเป็นมา หรือว่าสิ่งที่ผมเห็นนี้คือ “สมบัติริมน้ำ จันทบูร”

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ สมบัติริมน้ำ...เสน่ห์วิถีชีวิตแห่งจันทบูร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook