เส้นทางสายผ้าอุตรดิตถ์: ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน

เส้นทางสายผ้าอุตรดิตถ์: ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน

เส้นทางสายผ้าอุตรดิตถ์: ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เส้นทางสายผ้าอุตรดิตถ์: ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน

เรื่อง : ละออ ศิริบรรลือชัย

ภาพ : โบลิ่ง

ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 491 กิโลเมตร หรือขับรถ 5-6 ชั่วโมง อีกทั้งยังเป็นทางผ่านขึ้นสู่จังหวัดแพร่ น่าน เชียงใหม่ และเชียงราย แต่อุตรดิตถ์ก็เป็นได้เพียงเมืองผ่าน

แม้จะมีชื่อเสียงเรื่องผลไม้รสดี ทั้งหลง-หลินลับแล สับประรดห้วยมุ่น และลางสาด ผลไม้ประจำจังหวัด แต่เมื่อถึงฤดูผลไม้ หลายคนก็เหมารถมาซื้อผลไม้แล้วเลยไปยังจุดหมาย

จุดเริ่มต้นฝัน

        ก่อนเดินทาง เราหาข้อมูลที่พักตามอินเทอร์เน็ตด้วยความคุ้นเคย แต่ก็ไม่ได้อะไรมากไปกว่าโรงแรม 4 ดาว ที่ทำเอาแปลกใจเล็กน้อยว่าอุตรดิตถ์นั้นมีโรงแรมใหญ่โตขนาดนี้ พร้อมๆ กับห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้มอลล์อีก 2-3 แห่ง แต่แล้วโชคก็เข้าข้าง เมื่อเพื่อนที่เป็นนักตกแต่งภายในแนะนำที่พักเปิดใหม่ ‘บ้านปลื้มรัก’

ผ่านวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งเข้าไปไม่ไกล บ้านไม้เก่าหลังใหญ่ถูกดัดแปลงให้เป็นที่พักภายใต้สโลแกน ‘พักเหมือนบ้าน นอนเหมือนโรงแรม’ เมื่อตะวันเริ่มคล้อย คุณตู่-สุกฤตา พานิชย์วิไล และอาจารย์วิเชียร กลัมภัก ต้อนรับเราด้วยสีหน้าคลายความกังวลลง เพราะคนกรุงเทพฯ ส่งข่าวว่าออกเดินทางตั้งแต่เช้า ตามธรรมเนียมของคนขับรถขึ้นเหนือที่มักแวะจอดรถเพื่อกราบพระพุทธชินราช ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก จึงทำให้เรามาถึงช้ากว่ากำหนดหลายชั่วโมง 

ที่พักในการเดินทางคราวนี้ของเราจึงถือเป็นสมรภูมิการเที่ยวอุตรดิตถ์ที่เหมาะเจาะ ด้วยที่ตั้งห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ 5 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองลับแล 5 กิโลเมตร 

ขุมทรัพย์แห่งลับแล

            1. ขุมทรัพย์แห่งผ้า: พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล

          หลังพักผ่อนและทำความรู้จักเมืองอุตรดิตถ์คร่าวๆ ด้วยการขับรถท่องเมือง เราก็กลับสู่อำเภอลับแล ด้วยมีนัดกับครูโจ-จงจรูญ มะโนคำ ศิลปินผ้าทอแห่งเมืองลับแลหากอยากเข้าชมผ้าใน ‘พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล’ จะต้องโทร.นัดหมายล่วงหน้า เพราะสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์นั้นอยู่ภายในบ้านของครูเอง  

          ใครคิดภาพครูโจไว้ว่าคงเป็นคนสูงวัย อาจต้องผิดหวังและชะงักงัน เมื่อชายหนุ่มท่าทางมุ่งมั่นปรากฏตัวเชื้อเชิญเราขึ้นไปบนชั้นสองของบ้านเรือนไม้ เมื่อเปิดประตูเข้าไป เรารู้สึกเสมือนได้เข้าสู่ขุมทรัพย์ผ้าไหมสวยสด ทั้งเก่าและใหม่วางเรียงราย มีหมอน ย่าม และหุ่นโชว์ผ้าตรงกลางห้อง ครูโจยังเอื้อเฟื้อค้นผ้าที่เพิ่งได้รับรางวัลออกกางโชว์ คนไกลบ้านอย่างเรารู้สึกถึงความรักและผูกพันกับผ้าตีนจกแบบไท-ยวนของครูโจได้อย่างหมดใจ

          ครูโจเล่าว่า เกิดในครอบครัวไท-ยวนแห่งเมืองเชียงแสน ที่ผู้หญิงทุกคนทอผ้าสืบต่อกันมาแบบรุ่นต่อรุ่น แต่ด้วยตนเป็นผู้ชาย จึงถูกกันให้ออกห่าง แต่ด้วยความรักในความงดงามของลายผ้า เขาจึงอาสาช่วยแม่ย้อมไหมและเห็นแม่ทอผ้าบ่อยๆ เมื่อมีโอกาสและเงินเล็กน้อยครูโจก็มักเลือกซื้อผ้าเก่ามาเก็บไว้มากกว่าการใช้เงินจับจ่ายเหมือนวัยรุ่นทั่วๆ ไป

          ในปี พ.ศ. 2545 ครูโจได้รวมกลุ่มทอผ้าบ้านคุ้มและบ้านนาทะเลขึ้น โดยตนเป็นผู้เลือกสีสันของเส้นไหมให้มีความหลากหลาย เน้นวัตถุดิบที่ดี ทั้งเส้นไหมและการย้อมสีเป็นธรรมชาติทั้งสิ้น ส่งต่อให้ช่างทอผู้มีฝีมือและจินตนาการได้แต่งแต้มความงดงามให้ผืนผ้าไหม โดยยังยึดถือลวดลายตีนจกและวิธีการทอตามแบบโบราณไว้อย่างไม่ตกหล่น ด้วยการใช้ขนเม่นในการจก รวมถึงเรื่องเล็กๆ อย่างการต่อซิ่นด้วยเอวแดงขาว และ ‘หมายซิ่น’ หรือตำแหน่งของรอยต่อผ้าทอที่จะต้องไม่ต่อลายให้ชนกัน ด้วยคนสมัยโบราณมีความเชื่อว่าอาจมีการทำคุณไสยได้ 

          การทอผ้าซิ่นตีนจกของสาวลับแลเป็นการสืบทอดภูมิปัญญา สอดแทรกคติความเชื่อ พิธีกรรม และธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ด้วยจินตนาการของคนในอดีต ออกมาเป็นลายเรียบง่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ลายนกคุ้ม ลายแปดขอ ลายหงส์ใหญ่ ลายนาค ลายเก็ดถะหวา (ดอกพุดซ้อน) 

          ใต้ถุนบ้านเป็นที่ตั้งของกี่ทอผ้า ซึ่งมีเอกลักษณ์ด้วยเป็นผืนผ้าชิ้นไม่กว้างนัก แสดงให้เห็นถึงความมานะพยายามของผู้จกเส้นไหมแต่ละเส้นแต่สีได้อย่างดงามโดยไม่มี ‘ตะกอ’  ตะกอ หรือเขาหูก คือเชือกที่ใช้ร้อยคล้องไหมยืน เพื่อแบ่งเส้นไหมเป็นหมวดหมู่ตามที่ต้องการ เมื่อยกตะกอขึ้น ก็จะดึงเส้นไหมยืนเปิดเป็นช่อง สามารถพุ่งกระสวยเข้าไปให้เส้นไหมพุ่งสานขัดกับเส้นไหมยืนได้ ทำให้การทอได้ลายตามที่ตั้งตะกอไว้ แต่ที่นี่กลับไม่ใช้ตะกอ ผู้ทอจึงต้องจำลายได้อย่างแม่นยำ ต้องใช้ฝีมือและความชำนาญอย่างสูงในการทอ สมกับที่ครูโจบอกว่าเขาไม่ได้ขายเพียงผ้าเท่านั้น แต่ขายจิตวิญญาณและอัตลักษณ์ของความเป็นไท-ยวน และชาวลับแลอย่างแท้จริง

           หากสนใจและต้องการเข้าชม ต้องโทร.นัดหมายล่วงหน้าที่ คุณจงจรูญ มะโนคำ (ครูโจ) โทร. 08 7198 7353 พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล กลุ่มทอผ้าบ้านคุ้ม-นาทะเล 31 หมู่ 4 ตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์  

           2.ขุมทรัพย์อิ่มท้อง

           ออกจากบ้านครูโจ เอิบอิ่มด้วยกลิ่นอายผ้าโบราณกันเมื่อเลยเวลาอาหารเที่ยงไปมากแล้ว เราจึงเดินทางไปยัง ‘ถนนคนกิน’ หรือถนนราษฎร์อุทิศ แค่สมญานามก็ทำเอาท้องร้องทันที 

           เราแวะร้านก๋วยเตี๋ยว 10 บาทเป็นร้านแรก บะหมี่เย็นตาโฟหอมๆ ปรุงรสเข้ม จนเผลอสั่งชามสองตามมา ทั้งๆ ที่บอกตัวเองว่ายังมีอีกหลายร้านรออยู่ ออกจากร้านก๋วยเตี๋ยวเดินไปอีกไม่ไกลเป็นร้านขึ้นชื่อเคยออกรายการทีวีชื่อดัง ‘ร้านเจ๊นีย์ของทอดลับแล’ ร้านขายแต่ของทอดอย่างเดียวมานานกว่า 30 ปี มีทั้งเผือกทอด หน่อไม้ทอด เต้าหู้ เกี๊ยวหมู ขนมปัง ผักทอด ข้าวโพดทอด และกุ้งแม่น้ำทอด ทุกอย่างทอดได้กรอบนุ่ม น้ำจิ้มเคี่ยวจนเหนียว หอม หวาน เจือเผ็ด โรยถั่วกรุบกรอบ สมกับเป็นผู้เชี่ยวชาญของทอด เรายังคงเดินต่อไปยังร้านหมี่พันป้าหว่าง อาหารพื้นถิ่นของคนลับแล โดยเอาข้าวแคบห่อเส้นหมี่ที่ปรุงรสด้วยคะน้าลวก ถั่วงอก กากหมู กระเทียมเจียว น้ำตาล น้ำส้ม พริกป่น ผสมกันจนอร่อย รสชาตินวลๆ กินเป็นของว่างก็ได้ หรือจะกินให้อิ่มท้องก็ดี 

          ข้าวแคบคือแผ่นแป้งบางๆ ทำจากแป้งข้าวเจ้าหมักปรุงรสตามสูตรของชาวบ้าน แล้วนำไปละเลงแบบข้าวเกรียบปากหม้อ เมื่อแป้งสุกจึงแซะออกเป็นแผ่นกลมๆ จากนั้นนำไปตากแดดจนแห้ง ปัจจุบันทำกันหลายรสชาติ บ้างก็ใส่งา ใส่พริก ผสมใบเตย อัญชัน จนมีหลายสีหลากรส เวลากินก็ฉีกกินได้เลย หรือนำมาห่อหมี่แบบร้านป้าหว่าง หาซื้อข้าวแคบได้ที่ถนนเขาน้ำตกซึ่งอยู่ถัดไป ถนนสายนี้มีร้านขายข้าวแคบอยู่ติดๆ กันหลายร้าน จนถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าถนนข้าวแคบ

    เดินถนนคนกินทั้งทีจะให้อิ่มง่ายๆ คงเสียชื่อแย่ เราข้ามถนนไปแวะร้านข้าวพันผักพื้นบ้านลับแล หรือคนพื้นที่เรียกว่าร้านใต้ถุน เนื่องจากขายที่ใต้ถุนบ้านนั่นเอง ข้าวพันผักมีกรรมวิธีเริ่มต้นเหมือนข้าวแคบ แต่เมื่อแป้งสุกบนผ้าขาวบางที่ขึงบนปากหม้อ ก็ใส่ผักนานาชนิดลงไป ปิดฝาอบต่อสักพัก แล้วจึงตลบแผ่นแป้งขึ้นพับเป็นสี่เหลี่ยม โรยด้วยกระเทียมเจียว เสิร์ฟพร้อมกับน้ำจิ้มซีอิ๊วปรุงรสเค็มหวานเปรี้ยว หรือจะปรุงรสด้วยซอสพริกทางร้านก็มีตั้งไว้บนโต๊ะ นอกจากนี้เมนูแปลกตาอย่างไข่ม้วนไส้ต่างๆ ก็มีให้เลือกอร่อย ว่ากันว่าถ้ามาลับแลแล้วไม่ได้กินข้าวพันผัก ก็ถือว่ายังมาไม่ถึง

  อิ่มแปล้ แต่ภารกิจชิมของอร่อยยังจบลงไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้กินไอศครีม ‘ร้านก๋วยเตี๋ยวรักไอติม’ ชื่อร้านน่าจะเดาไม่ยากว่าขายก๋วยเตี๋ยวและไอศครีม แต่ร้านอยู่ไกลออกไปเล็กน้อย ต้องขับรถหรือขี่จักรยานลึกเข้าไปในซอย จากนั้นจะมีซอยเล็กๆ เชื่อมต่อไปยังถนนเขาน้ำตกได้ ร้านอยู่ซ้ายมือ ที่นั่งกว้างขวาง จะกินเป็นถ้วยหรือใส่ขนมปังก็อร่อย พร้อมเครื่องเคียงมากมาย 

          เลยผ่านร้านต่อไปเล็กน้อยเป็นสถานที่บรรจุอัฐิพระศรีพนมมาศ (ทองอิน แซ่ตัน) อดีตนายอำเภอลับแลในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้วางผังเมืองลับแล พัฒนาการศึกษา รวมทั้งสร้างฝายหลวง โดยเก็บอัฐิของภรรยา (นางตี่ แซ่เตีย) ไว้ที่นี่ด้วยเช่นกัน  

          เราทะลุออกถนนเขาน้ำตก เพื่อเลยขึ้นไปเที่ยวน้ำตกแม่พูล ตลอดทางขึ้นเขาคือเส้นทางขนส่งผลไม้ เราผ่านตลาดผลไม้หัวดง แต่ไม่ใช่ฤดูผลไม้ ตลาดจึงเงียบเหงา กะจากความกว้างใหญ่ของตลาดก็รู้ว่าหากมาในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม คงได้อิ่มอร่อยกับทุเรียนหลงลับแล หลินลับแล ลางสาด และลองกอง สมกับฉายาว่า ‘ภูเขากินได้’

          ถนนขึ้นเขาเรื่อยๆ จนสุดทางที่น้ำตก เสียดายปีนี้น้ำน้อย แต่เราก็ยังคงเห็นความสวยงามได้ไม่ยาก  จริงๆ แล้วน้ำตกสายนี้เป็นน้ำตกที่สร้างขึ้นจากการเทปูนลงบนธารน้ำ ทำให้น้ำไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้นๆ  

          สูดอากาศบริสุทธิ์แล้วจึงชวนกันกลับเข้าเมือง ไม่วายสายตาปะทะกับ ‘ม่อนลับแล’ นอกจากเป็นร้านอาหารท่ามกลางธรรมชาติและร้านขายผ้าพื้นเมืองแล้ว ที่นี่ยังมีเรือนรวบรวมผ้าทอพื้นเมืองลับแลจากอดีตสู่ปัจจุบัน รวมถึงร้านกาแฟที่ใช้เมล็ดกาแฟพันธุ์พื้นเมืองคั่วมือด้วยไฟอ่อนนาน 4 ชั่วโมง โดดเด่นและหอมหวานด้วยเมนู ‘กาแฟเสวย’ ที่ทางร้านบอกว่าเป็นสูตรที่ทำถวายสมเด็จพระเทพรัตนฯ ครั้งเสด็จเยือนลับแล

            3.ขุมทรัพย์วัฒนธรรม

           บนถนนเขาน้ำตก ยังเป็นที่ตั้งของวัดท้องลับแลอันน่าอัศจรรย์ ด้วยมีภาพเจดีย์กลับหัวปรากฏในโบสถ์ในช่วงเวลาที่แสงตกกระทบพอดี วัดท้องลับแลเดิมชื่อว่า ‘วัดลับแลง’ คำว่าแลงเป็นภาษาท้องถิ่น แปลว่าตอนเย็น แม้เป็นวัดเก่าแก่ แต่ก็ไม่พบหลักฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยใด เพียงระบุว่ามีการบูรณะวัดครั้งสำคัญใน พ.ศ. 2420  

   เราอาจไปถึงช่วงบ่ายมากแล้ว โบสถ์จึงล็อกกุญแจแน่นหนา โชคดีที่เจอพระสงฆ์รูปหนึ่งบอกว่าให้ไปขอกุญแจจากเจ้าอาวาส ซึ่งท่านก็กรุณามาเปิดให้และบรรยายถึงปรากฏการณ์ ‘ภาพหัวกลับ’ ว่าราวเวลาเที่ยงวันไปถึงบ่ายโมง หากแง้มหน้าต่างบานที่อยู่ติดกับเจดีย์ขาวด้านนอกในจังหวะของแสงส่องผ่านพอดี จะเห็นภาพเจดีย์ด้านนอกนั้นสะท้อนลงบนผนังเป็นภาพกลับหัวชัดเจน น่าเสียดายที่ตอนนั้นเป็นเวลาบ่ายโข แม้ได้เห็นภาพเลือนราง แต่ก็ไม่สามารถถ่ายภาพให้เห็นได้ 

           นอกจากนี้เจ้าอาวาสยังเล่าให้ฟังอีกว่า เมื่อราว 10 ปีก่อน ได้มีทันตแพทย์จากจังหวัดเชียงใหม่ เดินทางมากราบเจ้าอาวาสแล้วบอกว่าตนได้ฝันเห็นเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร กษัตริย์พระองค์แรกแห่งนครลับแล จากนั้นจึงขออนุญาตวาดภาพฝาผนังภายในโบสถ์ตามภาพฝัน สำหรับเราแล้วความน่าอัศจรรย์นั้นคือฝีมือวาดภาพของคุณหมอฟันท่านนั้นช่างงดงามวิจิตรราวกับช่างสมัยโบราณ 

     แม้ลับแลจะมีวัดอายุมากกว่า 100 อยู่มากมาย แต่เราก็ไม่สามารถเดินชมได้ทุกแห่ง เราจึงเลือกไปชมวัดดอนสักซึ่งอยู่บนถนนเขาน้ำตกเช่นกัน แม้วัดจะเงียบเหงาและเราไม่สามารถเข้าชมโบสถ์และวิหารได้ แต่เพียงแค่ประตูไม้สักแกะสลักสูง 3 เมตร ก็ทำเอาเราอึ้งและทึ่งในความศรัทธาของคนในสมัยก่อน อีกทั้งนึกถึงภาพความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่มีไม้สักต้นใหญ่ขนาดนำมาทำประตูวิหารใหญ่โตเช่นนี้ได้ 

           ตามประวัติบอกว่าเป็นประตูบานคู่ไม้จำหลักโบราณในสมัยอยุธยาตอนปลาย ตัวเสาประตูเป็นลายกนกใบเทศสลับลายกนกก้ามปู บานประตูเป็นไม้แกะสลักทั้งบาน รูปลายกนกก้านขด มีรูปสัตว์หิมพานต์แทรกอยู่ โดยลายบนบานซ้ายและขวานั้นไม่เหมือนกัน แต่เมื่อปิดประตูสนิทแล้วจะเห็นว่าลวดลายจากประตูทั้งสองบานจะต่อลงตัวเหมือนเป็นภาพเดียวกัน

           เส้นทางกลับที่พักของเราจะต้องผ่านวัดพระแท่นศิลาอาสน์ เราจึงไม่ละเลยเข้าไปกราบพระ เดิมวัดมีชื่อว่าวัดมหาธาตุ ตั้งอยู่บนเนินเขาเต่า บนเนินเขาลูกเดียวกันแต่คนละยอดยังเป็นที่ตั้งของวัดพระยืนพุทธบาทยุคลที่อยู่ติดกัน 

           วัดพระแท่นศิลาอาสน์เป็นโบราณสถาน ถูกนำไปประดิษฐานในตราประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แสดงถึงความศรัทธาเลื่อมใสของชาวอุตรดิตถ์ได้เป็นอย่างดี ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด แต่มีจารึกในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าในปี พ.ศ. 2283 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้เสด็จนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ จึงสันนิษฐานว่าพระแท่นศิลาอาสน์นั้นสร้างมาก่อนหน้านี้แล้ว  

           ภายในพระวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์ เป็นที่ประดิษฐานของพระแท่นศิลาอาสน์ เชื่อกันว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับเจริญภาวนาบนพระแท่นแห่งนี้ ตัวพระแท่นเป็นศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประดับฐานด้วยลายกลีบบัว ครอบด้วยพระมณฑป ศิลปะเชียงแสน 

           บ่ายแก่ ผู้คนมากมายออกมาจับจ่ายยังตลาดสดทุ่งยั้ง ตลาดที่เราฝากท้องยามเช้าด้วยอาหารพื้นเมืองแสนอร่อย ราคาสบายกระเป๋า ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ตรงปากซอยที่พักของเรา

           วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งเป็นวัดโบราณ ประดิษฐานพระมหาธาตุประจำเมืองทุ่งยั้ง เมืองโบราณตั้งแต่สมัยก่อนสุโขทัย ตามตำนานกล่าวว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ได้เชิญพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบรรจุไว้ในถ้ำใต้ดิน ต่อมามีการสร้างเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ขึ้น เมื่อมีการบูรณะเพิ่มเติมในสมัยรัตนโกสินทร์ จึงเปลี่ยนเป็นเจดีย์ทรงอย่างพม่า เนื่องจากพ่อค้าชาวพม่าเป็นผู้ออกทุน จนใน พ.ศ. 2451 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทำให้ยอดพระบรมธาตุเจดีย์หักพังลงมา เจ้าอาวาสวัดในขณะนั้นจึงให้ปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมเป็นอย่างในปัจจุบัน ในวันที่เราได้กราบพระบรมธาตุ เจดีย์วัดกำลังมีการหุ้มทองแทนเจดีย์เก่าสีขาวโดดเด่น  

            ภายในวิหารหลวง มีภาพวาดตำนานเรื่องพระสังข์ทอง ซึ่งเกี่ยวโยงกับเวียงเจ้าเงาะและบ่อน้ำทิพย์ ที่อยู่เยื้องจากตลาดตรงกันข้ามกับวัด  

            วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ยังมีการจัดงานประเพณีสลากภัต ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เรียกว่าวันอัฐมีบูชา โดยจัดให้มีการจำลองเหตุการณ์ย้อนไปเมื่อครั้งพระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพาน โดนสร้างพระบรมศพจำลองประทับนอนในปางปรินิพพาน ตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ให้ชาวพุทธได้ร่วมถวายสักการะ จนถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 จึงจัดพิธีจำลองการถวายพระเพลิง ถือเป็นพิธีที่มีแห่งเดียวในโลก 

             ก่อนดวงอาทิตย์ลับฟ้า เราขับรถย้อนขึ้นไปยังประตูเมืองลับแล ที่ว่ากันว่ายามเย็นจะเป็นช่วงเวลาน่าเดินเล่นรวมถึงขี่จักรยาน เราแวะสอบถามข้อมูลการ ‘ขอยืม’ จักรยาน ภายในศูนย์บริการนักท่องเที่ยววิถีเมืองลับแล ได้ความว่าเพียงมีบัตรประชาชนก็สามารถรับจักรยานไปขี่เล่นรอบเมืองฟรีๆ 

             เดินเลยมาถึงลานกว้างหน้าพิพิธภัณฑ์เมืองลับแล มีรูปปั้นหญิงสาวยืนอุ้มทารกน้อยในอ้อมแขน ข้างๆ มีชายคนหนึ่งกำลังนั่งคอตก ถือถุงย่ามที่มีขมิ้นทองคำไว้ในมือ ฐานด้านล่างจารึกว่า ‘ขอเพียงสัจจะวาจา’ อันเป็นที่มาของเรื่องเล่าขานตำนานเมืองลับแล ‘เมืองห้ามพูดโกหก’ ว่า ชายต่างเมืองคนหนึ่งได้พลัดหลงแล้วเกิดมืดค่ำจึงต้องพักในเมืองลับแล สาวชาวลับแลที่พบกันโดยบังเอิญได้กำชับนักหนาว่าห้ามพูดโกหก กระทั่งทั้งสองรักและอยู่กินด้วยกันจนมีลูกชาย 1 คน วันหนึ่งลูกร้องไห้หาแม่ พ่อจึงปลอบโดยโกหกว่า “แม่มาแล้ว” เมื่อพ่อแม่ฝ่ายหญิงได้ยิน จึงต้องขับไล่ลูกเขยออกจากเมือง ก่อนออกจากเมืองภรรยาได้มอบถุงย่ามใบหนึ่ง พร้อมบอกว่าห้ามเปิดระหว่างทางเด็ดขาด ขณะเดินทางสามีรู้สึกหนักจึงเปิดย่ามดู พบว่ามีแต่ขมิ้น เขาจึงค่อยๆ ทิ้งขมิ้นไปทีละชิ้นๆ จนเหลือขมิ้นอยู่แง่งเดียว ซึ่งเป็นขมิ้นทองคำ เขาจึงชักชวนเพื่อนๆ เดินกลับมาตามหาเมืองลับแล แต่สุดท้ายก็ไม่พบ 

             ส่วนคำว่าลับแลนั้น เพี้ยนมาจากคำว่าลับแลง ซึ่งคำว่าแลง ภาษาเหนือแปลว่าตอนเย็น ด้วยบริเวณนี้มีต้นไม้รกชัฏ อีกทั้งยังมีม่อน (ภูเขาเล็กๆ) มากมาย จึงทำให้เป็นพื้นที่ที่ร่มครึ้มตลอดเวลา เป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่สมัยสุโขทัย เดิมชื่อศรีพนมมาศ   

             พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล เป็นหมู่เรือนไม้ร่มเย็นตามแบบบ้านโบราณ บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา และจัดแสดงอาคารเรือนลับแลในอดีต หากขับรถหรือขี่จักรยานผ่านถนนคนกินและถนนข้าวแคบไปจนถึงสามแยก จะพบกับตลาดลับแล มีป้ายประตูตลาดคล้ายผนังบ้านไม้เก่า พร้อมระเบียงเล็กๆ ยื่นออกมา และคำขวัญประจำเมืองลับแล 

              ‘งามพระแท่นศิลาอาสน์ ถิ่นลางสาดรสดี เมืองพระศรีพนมมาศ แหล่งไม้กวาดตองดง ดงหอมแดงเลื่องชื่อ ระบือตำนานเมืองแม่ม่าย’

              เหมือนล้อเล่นกับการเดินทางของตัวเอง ด้วยมื้อเย็นเรากลับไปฝากท้องที่ร้านอาหารในบริเวณที่พักชื่อเก๋ไก๋ว่า ‘Terminal’ ด้วยอาหารไทยรสจัด และอาหารฝรั่งถูกปาก  

นางพญาผ้าซิ่น น้ำปาด-ฟากท่า

              ยิ่งรู้เรื่องราวของผ้าตีนจกกับภูมิปัญญาไทย ยิ่งหลงใหลได้ปลื้มกับผ้าตีนจก เราจึงเดินทางไปยังร้านวิเชียร ผ้าไทย ที่ได้รับขนานนามว่าเป็น 1 ใน 5 นางพญาผ้าซิ่น  

              นางพญาผ้าซิ่น คือสุดยอดของผ้าซิ่น มีทั้งสิ้น 5 ชนิด ตามความเชื่อโบราณว่ากันว่าหากมีครบทั้ง 5 ผืน ก็จะดึงดูดผ้าโบราณทั้งหลายให้เข้ามา อันได้แก่ 1.ซิ่นไหมคำเมืองเชียงตุง เป็นชนิดเดียวในผ้าซิ่นทั้ง 5 ที่ไม่ได้กำเนิดในเมืองไทย ตัวซิ่นทอโดยนำเอาทองคำ เงิน หรือกาไหล่ทองมารีดเป็นเส้น ตีเกลียวกับฝ้าย แล้วนำมาทอ จึงมีราคาแพงและหายาก 2.ซิ่นตีนจกไหมเงินไหมคำราชสำนักเชียงใหม่ ถือเป็นซิ่นมาตรฐานล้านนา มีลวดลายและแบบแผนชัดเจน ลักษณะเหมือนซิ่นตีนจกอื่นๆ คือจกอยู่บนเชิงและปล่อยที่ว่างด้านล่าง ลวดลายมีหลากหลาย แต่หากทอเพื่อราชสำนักหรือของเจ้านายจะทอด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง 3. ซิ่นน้ำถ้วม (เขียนแบบโบราณ) ผ้าซิ่นไท-ยวน เกิดในพื้นที่ถูกน้ำท่วม ครั้งสร้างเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เดิมเป็นชุมชนโบราณที่มีความเจริญมาก เมื่อน้ำท่วมจึงหอบเอาผ้าซิ่นติดตัวไปได้ไม่มาก ยิ่งนานวันก็ไม่มีผู้สืบทอด เป็นซิ่นที่มีลวดลายคล้ายซิ่นในราชสำนักเชียงใหม่ แต่ไม่ได้ใช้ดิ้นเงินดิ้นทอง 4.ซิ่นวิเศษเมืองน่าน ผ้าซิ่นเมืองน่านเรียกได้ว่ามีเทคนิคการทอมาจากชนชาติต่างๆ เช่น ยวน ลื้อ ลาว รวมจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใช้เทคนิคหลากหลาย ทั้งจก การเกาะล้วง ขิด และแซมด้วยมัดหมี่ อันเป็นที่มาของชื่อซิ่นวิเศษเมืองน่าน และ 5.ซิ่นน้ำปาด-ฟากท่าอุตรดิตถ์ นั่นเอง มีความประณีตในการออกแบบลายและเลือกสีสัน ลักษณะคล้ายซิ่นลาวครั่ง ส่วนใหญ่ไม่ได้ทอใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ทอเป็นมรดกประจำตระกูล  

              ด้วยต้นทางแห่งนางพญาผ้าซิ่นนั้นคือ ‘กลุ่มทอผ้าบ้านกกต้อง’ ตั้งอยู่ในอำเภอฟากท่า ห่างออกไปจากตัวเมืองอุตรดิตถ์กว่า 120 กิโลเมตร มุ่งหน้าขึ้นไปทางเหนือ ผ่านเขื่อนสิริกิติ์และอำเภอน้ำปาด เราจึงขอเลือกไปดูที่ปลายทาง ‘วิเชียร ผ้าไทย’ บนถนนสายเอเชียใกล้ตัวเมือง โดยนัดพบกับคุณวิเชียร แหยมยินดี ผู้ก่อตั้งกลุ่มทอผ้าบ้านกกต้อง

              บ้านกกต้อง เป็นกลุ่มชุมชนที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาภูมิปัญญาชุมชน ผ้าทอมือจากชุมชนเล็กๆ ระดับหมู่บ้าน สู่ระดับใหญ่ขึ้น จนถึงระดับประเทศ จนกระทั่งโกอินเตอร์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย 

              คุณวิเชียรเล่าว่า ชาวบ้านกกต้องมีบรรพบุรุษเป็นชาวล้านช้าง จากหลวงพระบาง เดิมเป็นเพียงตำบลเล็กๆ ในอำเภอฟากท่า มีแม่น้ำปาดไหลผ่านให้ชุมชนได้ใช้ในการเกษตร ทั้งปลูกฝ้าย ข้าวโพด หม่อน และเลี้ยงไหม อันเป็นที่มาของ ‘ผ้าทอ’ สืบทอดฝีมือจากรุ่นสู่รุ่น ลวดลายมาจากการเลียนแบบวัฒนธรรมประเพณีและธรรมชาติอันงดงาม ด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนในหมู่บ้านจึงพัฒนาผ้าทอธรรมดาๆ ให้เป็นผ้าซิ่นลายน้ำไหล ผ้ามัดหมี่ ผ้าตีนจกลายโบราณ โดยใช้วิธีดั้งเดิมตั้งแต่การสาวไหม ปั่นฝ้าย การหมักโคลน และผ้าย้อมสีธรรมชาติ จากวัสดุที่มีในท้องถิ่น เช่น ครั่ง ผลคำแสด เปลือกเพกา เป็นต้น

               บ้านกกต้องทอทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย ไหมผสมฝ้าย อีกทั้งยังมีการตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปออกวางขายอีกด้วย โดยลายผ้าโบราณที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือ ดาวล้อมเดือน ลายข้าวพันก้อน ลายจกพญานาคสี่หัว และที่มีชื่อเสียงมากๆ คือ ผ้าล้อปูที่นอนและผ้าล้อรับเจ้าบ่าว ที่ทอโดยว่าที่เจ้าสาวทั้งหลายนั่นเอง

               สำหรับผ้าจกแม่ครู อันมีความงามวิจิตรมากๆ นั้น คุณวิเชียรบอกว่าปัจจุบันเหลือคนทอได้เพียงคนเดียว เป็นแม่เฒ่าอายุกว่า 80 ปี เธอจึงพยายามหาวิธีเพื่ออนุรักษ์ผ้าแม่ครูไว้โดยการบอกกับลูกค้าที่ซื้อไปแล้วว่าหากเบื่อหรือไม่ต้องการใช้แล้ว ให้นำกลับมาขายคืนให้ทางร้าน ซึ่งสะท้อนความเป็นคนรักผ้าของคุณวิเชียรอย่างชัดเจน

               กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านกกต้องรวมตัวก่อตั้งกลุ่มในปี พ.ศ. 2529 ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าและถวายผ้าทอจกแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปี พ.ศ. 2543 และได้ร่วมกันพัฒนาจนได้รับรางวัลกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ 

               นอกจากที่ร้านวิเชียร ผ้าไทยแล้ว ผลงานของกลุ่มทอผ้าบ้านกกต้อง ยังมีจำหน่ายตามศูนย์สินค้าโอทอปจังหวัดต่างๆ อาทิ อุตรดิตถ์และน่าน อีกทั้งยังส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย  

ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน

               ออกจากวิเชียร ผ้าไทย ถ้าใครจะกลับกรุงเทพฯ ก็ตรงไปบนถนนสายเอเชียเส้นนี้เข้าจังหวัดพิษณุโลกได้เลย แต่เราเลือกกลับรถแล้วแวะไปฝากท้องที่ร้านลมเย็น ที่ลมพัดเอื่อยเย็นชื่นสมชื่อ อาหารจานด่วนแบบข้าวราดแกงและก๋วยเตี๋ยว ทั้งอร่อยและบริการยอดเยี่ยม เพียงสั่งอาหารและบริการตัวเอง เมื่อกินเสร็จจึงจะมีพนักงานมาเก็บเงิน อิ่มแล้วยังมีศาลา น้ำตก ให้เดินดูเพลินๆ ลมเย็นไม่ต้องรีบไปไหน

       กลับเข้าเมืองอุตรดิตถ์แวะนมัสการอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ประดิษฐานด้านหน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ ตามประวัติพระยาพิชัยดาบหักเดิมชื่อทองดี เกิดในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา มีความสามารถทั้งมวยและดาบ ต่อมาได้เข้ารับราชการกับเจ้าเมืองตาก (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) มีประวัติการต่อสู้มากมาย ที่มาของ ‘ดาบหัก’ คือเมื่อ พ.ศ. 2316 ครั้งที่ท่านออกรบกับกองทัพพม่าที่เมืองพิชัยจนดาบหักและสามารถป้องกันเมืองเอาไว้ได้ 

                บริเวณใกล้เคียงอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ขนาบซ้ายขวาของอนุสาวรีย์มีพิพิธภัณฑ์พระยาพิชัยดาบหัก และพิพิธภัณฑ์ดาบเหล็กน้ำพี้ (ใหญ่ที่สุดในโลก) โดยพิพิธภัณฑ์พระยาพิชัยดาบหักจัดแสดงอัตชีวประวัติของพระยาพิชัยดาบหัก ประวัติการสู้รบ และแบบจำลองสนามรบ ส่วนภายในพิพิธภัณฑ์เหล็กน้ำพี้ เป็นที่ตั้งของดาบเหล็กน้ำพี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใช้เหล็กน้ำพี้กว่า 557 กิโลกรัม เคียงคู่กับฝักดาบขนาดใหญ่ ซึ่งถือว่าเหล็กจากตำบลน้ำพี้ อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์นั้น เป็นสุดยอดของโลหะมหัศจรรย์ และมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง จึงนิยมนำมาทำอาวุธ รวมถึง ‘ดาบนันทกาวุธ’ ของพระยาพิชัยดาบหัก 

                เราเดินทางต่อไปยังวัดท่าถนน เดิมชื่อว่าวัดวังเตาหม้อ ซึ่งอยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟ เป็นที่ประดิษฐาน ‘หลวงพ่อเพ็ชร’ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัด พระพุทธรูปสำริดปางนั่งขัดสมาธิเพชร ศิลปะสมัยเชียงแสน ถูกพบในเนินดินจอมปลวกใกล้วัดสะแกที่เป็นวัดร้าง ปรากฏเกศพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมา ขุดดูจึงเห็นเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงาม โดยหลวงพ่อด้วงเจ้าอาวาสวัดหมอนไม้ ในปี พ.ศ. 2436 ท่านจึงนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดวังเตาหม้อ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อัญเชิญหลวงพ่อเพ็ชรไปประดิษฐานอยู่ ณ วัดเบญจมบพิตรเป็นเวลาถึง 10 ปี หลวงนฤนารถเสรีได้ทูลขอพระราชทานอัญเชิญกลับมายังวัดท่าถนนดังเดิม

ฝันต่อให้ไกล

           เราตัดสินใจกลับเข้าเมืองลับแล แวะพักอีกคืนค่อยเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยผ่านศรีสัชนาลัย ถือเป็นของแถมของการเดินทาง

           ใครว่าอุตรดิตถ์เป็นเมืองผ่าน ขอเถียงขาดใจ อุตรดิตถ์เป็นเมืองต้องห้ามพลาดต่างหาก

ข้อมูลเดินทาง

จากกรุงเทพฯ สามารถไปอุตรดิตถ์ได้หลายวิธี 

- ถ้าต้องการความเร็ว ขึ้นเครื่องบินไปลงที่พิษณุโลก หรือสุโขทัย แล้วนั่งรถต่อไปอุตรดิตถ์ ประมาณ 1-1.30 ชั่วโมง 

- รถโดยสารประจำทาง มีหลายบริษัทให้บริการ สอบถามข้อมูลที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. 1490 หรือ www.transport.co.th 

- รถไฟ ลงที่สถานีอุตรดิตถ์ สอบถามตารางรถไฟ โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th

- รถยนต์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก จากนั้นเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 11 ขับตรงไปจนถึงอุตรดิตถ์  

ข้อมูลจักรยานในลับแล

 ขอยืมจักรยานพร้อมแผนที่ปั่นรอบเมืองได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววิถีเมืองลับแล บริเวณซุ้มประตูเมืองลับแล สอบถามเพิ่มเติมที่ เทศบาลตำบลศรีพนมมาศ โทร. 0 5543 1076 หรือ www.e-nu.com  

ที่พัก

บ้านปลื้มรัก โฮมเทล 129 หมู่ 3 ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์  

โทร. 08 1740 8347, 08 1280 5856, 0 5581 6816

ที่กิน

Terminal 129 หมู่ 3 ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์  

โทร. 08 1703 6843

ม่อนลับแล 98 หมู่ 6 ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ 

โทร. 0 5543 1288    

ลมเย็น 173 หมู่ 5 ถนนหลวงสาย 11 (พิษณุโลก-เด่นชัย) ตำบลป่าเซ่า อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์  

โทร. 0 5581 7902, 0 5544 1868

ถนนคนกิน ถนนราษฎร์อุทิศ ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

เส้นทางผ้า 

พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล กลุ่มทอผ้าบ้านคุ้ม-นาทะเล (บ้านครูโจ) หมู่ 4 ตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ 

ติดต่อคุณจงจรูญ มะโนคำ (ครูโจ) โทร. 08 7198 7353 31  

วิเชียร ผ้าไทย ถนนหลวงสาย 11 (พิษณุโลก-เด่นชัย) ตำบลป่าเซ่า อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์  

โทร. 08 1532 2459, 08 4822 3154  

กลุ่มทอผ้าบ้านกกต้อง 100 หมู่ 3 ตำบลฟากท่า อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ 

ติดต่อคุณวิเชียร แหยมยินดี โทร. 0 5548 9180, 08 1532 2459

 




[Advertorial]

อัลบั้มภาพ 51 ภาพ

อัลบั้มภาพ 51 ภาพ ของ เส้นทางสายผ้าอุตรดิตถ์: ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook