เที่ยวแบบย้อนยุค ตลาดงานศิลปะ "คลองผดุงกรุงเกษม"

เที่ยวแบบย้อนยุค ตลาดงานศิลปะ "คลองผดุงกรุงเกษม"

เที่ยวแบบย้อนยุค ตลาดงานศิลปะ "คลองผดุงกรุงเกษม"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กทม.ชวนเที่ยวงานตลาดศิลปะคลองผดุงกรุงเกษม เริ่ม ศุกร์ 13 มี.ค.นี้ 

นายอรรถพร สุวัธนเดชา รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่กรุงเทพมหานคร ได้จัดงานตลาดน้ำวิถีไทยคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทยตามนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 ก.พ. – 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งงานดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากและได้รับความร่วมมือจากภาคีจากหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดียิ่ง มีผู้เข้าร่วมงานถึง 2 แสนคน มีเงินรายได้จากการจับจ่ายทั้งสิ้นกว่า 60 ล้านบาท นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมส่งเสริมเดินทางทางน้ำจากท่าเรือหัวลำโพงมายังท่าเรือสะพานมัฆวานฯ ปรากฏว่ามีผู้ใช้บริการกว่า 6 หมื่นคน และด้วยศักยภาพและความโดดเด่นของพื้นที่ในย่านริมคลองผดุงกรุงเกษมในด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีจึงมีดำริให้มีการพัฒนาและสร้างกิจกรรมทางการท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการร่วมพัฒนาพื้นที่ริมคลองผดุงกรุงเกษมไปสู่แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมือง กรุงเทพมหานครจึงกำหนดจัด “งานตลาดศิลปะคลองผดุงกรุงเกษม” ขึ้นในทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 13 มี.ค. จนถึงวันอาทิตย์ที่ 29 มี.ค.58 เป็นเวลา 3 สัปดาห์ รวม 9 วัน ระหว่างเวลา 15.00 – 20.00 น. ณ บริเวณทางเท้าริมคลองผดุงกรุงเกษม ช่วงสะพานมัฆวานรังสรรค์ – เชิงสะพานอรทัย ฝั่งวัดโสมนัสฯ ระยะทาง 350 เมตร กิจกรรมภายในงานแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 โซน ได้แก่ โซนศิลปะร่วมสมัย โซนศิลปวัฒนธรรม โซนขนม และโซนอาหาร  

โซนที่ 1 ศิลปะร่วมสมัย มีทั้งศิลปินอาชีพและศิลปินจากสถานศึกษา และย่านวัฒนธรรม อาทิ กลุ่มบ้านศิลปิน คลองบางหลวง (การวาดรูป ภาพพิมพ์ หน้าหุ่น) สมาคมนักศึกษาเก่าคณะมัณฑนศิลป์ (งานออกแบบตกแต่ง) คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (การวาดภาพเหมือน งาน Drawing Show และของประดิษฐ์) คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ (งานภาพพิมพ์ การตกแต่งไฟแสดงงาน) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง (การสกรีนตัวปั๊ม ว่าวใบไม้ พวงมโหตร) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง (งานออกแบบแบบจำลอง) วิทยาลัยช่างศิลป (งานทำผ้าบาติก ลายรดน้ำ การทำนกหวีด ภาพพิมพ์กระดาษ หัวโขนงานสเกตภาพริมคลอง) กลุ่มศิลปินอินดี้ (งานรองเท้าทำมือ ต่างหูทำมือ สมุดทำมือ เครื่องประดับทำมือ ปิ่นโตกระเป๋าทำมือ งานลูกปัด) และศิลปินอิสระร่วมแสดงผลงาน

โซนที่ 2 ศิลปวัฒนธรรม อาทิ บ้านศิลปะนางเลิ้ง  (ทอผ้าพันคอ ทำขนม  สอนรำ) บ้านเต้นรำ (สอนเต้นรำ) บ้านนราศิลป์ (งานปักชุดละคร) พิพิธภัณฑ์วัดหนัง (ศิลปะของเล่น) บางระมาด (งานแป้งพวง งานแทงหยวก) บ้านหมอหวาน (การทำยาไทย) ตรอกเจริญไชย (งานกระดาษเครื่องไหว้) บางลำพู  (งานประดิษฐ์ของกลุ่มเยาวชน) เรือจำลอง (งานเรือจำลองไม้สัก) บางปะหัน (สานใบลาน และประดิษฐ์ดอกโสนหางไก่) 

โซนที่ 3 ขนม ชิมและเลือกซื้อขนมที่มีชื่อเสียงของย่านวัฒนธรรม และย่านเก่า อาทิ ข้าวเกรียบว่าว ขนมเทียนแก้ว ขนมไทยย่านนางเลิ้ง มะตูมเชื่อม ไอศกรีม ขนมโบราณของย่านกุฎีจีน 

โซนที่ 4 อาหาร นำเสนออาหารอร่อยย่านเก่า อาทิ ไก่ย่างบางตาล ลูกชิ้นแคะแพร่งภูธร ยำแหนมสด วัดประยูรวงศาวาส ซาโมซา ย่านบางกอกน้อย และขนมจีนวัดกำแพง

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า การจัดงานตลาดศิลปะคลองผดุงกรุงเกษมจะเป็นอีกก้าวของการพัฒนาพื้นที่บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนมาเที่ยวชมบรรยากาศตลาดศิลปะ ริมคลอง โดยภายในงานนอกจากจะแบ่งเป็นโซนต่างๆ แล้ว กิจกรรมในแต่ละสัปดาห์จะแตกต่างกันไปด้วย 

สัปดาห์ที่ 1 จัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด “EAT&ART @ Klongpadung” ซึ่งจะมีการแสดงงานศิลปะทั้งการแสดงศิลปะทั้งแบบเก่า และแบบร่วมสมัย การประกวดถ่ายภาพคลองผดุงกรุงเกษม การสอนศิลป์ริมคลอง การประมูลของโบราณ การแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงดนตรีหลากหลายรูปแบบและการจำหน่ายขนมและอาหารไทย

สัปดาห์ที่ 2 ภายใต้แนวคิด “เริงลีลาศ” พบกับการแสดงดนตรีเริงลีลาส โดย สุนทราภรณ์ สัมผัสเพลงยุคขวัญเรียมการเปิดฟลอร์ลีลาศกลางน้ำ กิจกรรมกินขนมชมจันทร์ การประกวดคู่เหมือนนางเอกยุคทอง

สัปดาห์ที่ 3 ภายใต้แนวคิด “โก๋หลังวัง” มีการประกวดการแต่งกายยุค 2499 บริการนั่งรถโบราณชมเมือง การแสดงมหกรรมดนตรีจิ๊กโก๋ครองกรุง และการฉายหนังกลางคลอง 

ทั้งนี้  ผู้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวสามารถนั่งรถไฟใต้ดินมาลงเรือบริการที่ทางกรุงเทพมหานครได้จัดเรือโดยสารไว้รับส่งจากท่าเรือหัวลำโพงมายังพื้นที่การจัดงาน เวลา 14.30-19.30 น. 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรมกีฬา และการท่องเที่ยว กทม. โทร  0 2225 7612-4

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook