ท่องเที่ยวสไตล์พิศาล ชวนเที่ยว 3 ที่สุดในสยาม

ท่องเที่ยวสไตล์พิศาล ชวนเที่ยว 3 ที่สุดในสยาม

ท่องเที่ยวสไตล์พิศาล ชวนเที่ยว 3 ที่สุดในสยาม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ท่องเที่ยวสไตล์พิศาลชวนไปกราบสักการะรอยพระพุทธบาทที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทยที่เขาคิชฌกูฏ ชมโบสถ์คริสต์ที่สวยที่สุดในประเทศไทย และเพลินกับถนนเฉลิมบูรพาชลทิตเลียบทะเลช่วงหาดเก็บตะวันและจุดชมวิวเนินพระนางที่สวยที่สุดในประเทศไทยที่จังหวัดจันทบุรี

ถ้าพูดถึงความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่ต่างๆ  ที่ผู้คนนิยมไปกราบไหว้สักการะบูชาแล้ว หนึ่งในนั้นก็ต้องมีเขาคิชฌกูฏอยู่ด้วยอย่างแน่นอน โดยมีความเชื่อที่ว่า ผู้ที่ไปกราบไหว้รอยพระพุทธบาทบนเขาคิชฌกูฏ ซึ่งเป็นรอยพระพุทธบาทที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย จะได้รับบุญสูง ในช่วงเวลาประมาณ 2 เดือนที่ทางวัดเปิดให้ประชาชนขึ้นไปบนเขาคิชฌกูฏได้ มีประชาชนจำนวนนับล้านคนที่ศรัทธา ขึ้นเขาไปกราบสักการะรอยพระพุทธบาทบนเขาคิชกูฏ เฉพาะปีที่ผ่านมามีประชาชนประมาณเกือบ 1.2 ล้านคน ขึ้นไปกราบสักการะรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ สำหรับปีนี้ ทางวัดเปิดให้ประชาชนขึ้นไปกราบสักการะรอยพระพุทธบาทบนเขาคิชฌกูฏระหว่างวันที่ 19 มกราคม-19 มีนาคม 2558

เราออกจากกรุงเทพฯเช้ามืดต้นเดือนมีนาคม เพื่อไปไหว้รอยพระพุทธบาทที่เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี โดยใช้เส้นทาง บูรพาวิถีไปยังบ้านบึง แกลง และจันทบุรี หลังจากแวะทานอาหารเช้าระหว่างทางแล้ว เราก็ขับรถไปถึงที่จอดรถเพื่อต่อรถ 4WD ของทางวัด(พิกัด N12.80481E102.14557) เพื่อขึ้นเขาคิชฌกูฏเวลาประมาณ 10.00น วันที่เราไปโชคดีมาก คนไม่มาก อากาศเย็นสบาย

จ่ายเงินคนละ 50 บาทซื้อตั๋ว แล้วก็นั่งรถกระบะ 4WD ของทางวัดขึ้นเขาไปประมาณ 4 กิโลเมตร ไปยังจุดจอดรถจุดที่ 1 แล้วก็ลงจากรถไปซื้อตั๋วอีกคนละ 50 บาท เพื่อขึ้นรถช่วงที่สอง ต่อไปอีกประมาณเกือบ 4 กิโลเมตร เพื่อไปยังจุดจอดรถจุดที่ 2 หลังจากนั้นก็ต้องเดินขึ้นเขาไปอีกประมาณ 1.2 กิโลเมตร ไปยังยอดเขาเพื่อไหว้รอยพระพุทธบาท ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 1,050 เมตร นับเป็นรอยพระพุทธบาทที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย

ถนนขึ้นเขาคดเคี้ยวและชัน บางช่วงก็ขับชิดซ้าย บางช่วงก็ต้องขับชิดขวาตามป้ายที่กำหนดไว้ คนขับคุ้นเคยกับทางขึ้นและลงเขาเป็นอย่างดี ถ้าช่วงไหนถนนแคบและชันมาก รถทางลงจะจอดรอให้รถทางขึ้นไปก่อน เสน่ห์ของการขึ้นเขาคิชฌกูฏอย่างหนึ่งก็คือความตื่นเต้นและสนุกสนานจากการนั่งรถ 4WD รถขึ้นและลงเขาที่ทางวัดจัดให้มีกว่า 100 คัน ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง คนขับรถแต่ละคนจะมีรายได้ตลอดช่วง 2 เดือนนี้ประมาณ 1 ล้านบาท

ระหว่างทางเดินขึ้นเขาก็จะมีพระพุทธรูปให้กราบไหว้ และตู้รับบริจาคให้ทำบุญตลอดทาง

ทางเดินขึ้นร่มรื่นเพราะมีต้นไม้ใหญ่ตลอดทาง ส่วนใหญ่เป็นบันไดหรือทางเดินที่ปรับระดับเป็นอย่างดี บางช่วงที่ทางเดินแคบ ก็จะปูไม้แผ่นขยายทางเดินออกไปเพื่อให้สามารถรองรับประชาชนจำนวนมากได้

มีรูปปั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายรูปแบบให้กราบไหว้ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือตู้รับบริจาคเงิน

ทางเดินขึ้นเขา นอกจากจะมีพระพุทธรูปแบบต่างๆ ให้กราบไหว้บูชาแล้ว บางช่วงก็มีระฆังแขวนไว้เป็นระเบียบสวยงาม ให้เคาะระฆังพักเหนื่อยระหว่างทาง

ทางเดินขึ้นเขาที่นี่นอกจากจะร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่แล้ว ก็มีร้านค้าขายของที่ระลึก ขายยาหม่อง ยานวดแก้เมื่อย และขายอาหารให้ประชาชนพักเหนื่อยเดินซื้อของที่ระลึก ซื้ออาหารทานได้ นอกจากนี้ก็มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในรูปแบบอื่นๆระหว่างทางให้กราบไหว้

รอยเสือใหญ่

 

รอยกวางทอง

หลังจากแวะดูรอยเสือใหญ่ และรอยกวางทองแล้ว เดินขึ้นเขาต่อไปก็จะเจอประตูสวรรค์

ประตูสวรรค์เป็นช่องว่างระหว่างหินใหญ่ 2 ก้อนที่เอนเข้าหากัน เราต้องค่อยๆ เดินลอดประตูสวรรค์เพื่อขึ้นไปกราบสักการะรอยพระพุทธบาท

สำหรับผู้สูงอายุที่เดินขึ้นเขาไม่ไหว ก็สามารถใช้บริการแคร่แบกหามได้

 

หลังจากลอดประตูสวรรค์มาแล้ว ก็จะเป็นบันไดทางขึ้นไปยังรอยพระพุทธบาทซึ่งอยู่ใกล้กับหินขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะคล้ายบาตรที่คว่ำไว้อยู่บนยอดเขามาช้านานแล้ว ดูเหมือนว่าจะกลิ้งหล่นถล่มลงมา แต่กลับตั้งอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง

รอยพระพุทธบาทพลวงหรือรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ ถูกค้นพบเมื่อประมาณปี พ.ศ.2397

ตามตำนานที่เล่าต่อกันมากล่าวไว้ว่า นายติ่งหรือสมุนติ่งกับพวกซึ่งมีอาชีพหาของป่า มีวันหนึ่งหลังจากหาของป่ามาทั้งวัน ก็นั่งพักอยู่บนลานหินบนยอดเขาแห่งหนึ่ง พอหายเหนื่อยก็จะเดินทางกลับที่พัก แต่เดินกันไปมาก็วนกลับมาที่เดิม จึงได้พากันนั่งพักบนลานหินนั้นอีก ขณะที่เพื่อนของสมุนติ่งคนหนึ่งกำลังถอนหญ้าอยู่ ก็พบแหวนนาคขนาดใหญ่วงหนึ่ง ทุกคนเข้าใจว่าที่ตรงนี้น่าจะมีทรัพย์สมบัติอื่นๆ อยู่ด้วย จึงช่วยกันถางหญ้าหาสมบัติ แต่ก็ไม่พบอะไรอีก นอกจากลานหินที่มีรอยเท้าขนาดใหญ่ รอบเท้ามีลวดลายเป็นกงจักรและก้นหอย หลังจากนั้นพวกเขาก็กลบรอยนั้นไว้โดยไม่รู้ว่าเป็นรอยอะไร แล้วก็กลับที่พักโดยไม่ได้เล่าให้ใครฟัง

ต่อมาที่วัดพลับ ตำบลบางกะจะซึ่งเป็นเมืองเก่าของจังหวัดจันทบุรี ได้มีงานเทศกาลปิดทองรอยพระพุทธบาท นายติ่งได้ไปปิดทองรอยพระพุทธบาท เห็นรอยนี้คล้ายกับที่เห็นอยู่บนลานหินบนยอดเขาคิชฌกูฏ จึงเล่าให้พี่ชายฟัง ทั้งสองจึงพากันไปเล่าให้หลวงพ่อเพชร เจ้าคณะจังหวัดจันทบุรีซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดทราบ เจ้าอาวาสพร้อมพระภิกษุติดตามนายติ่งไปดู พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นรอยพระพุทธบาทจริง

ประชาชนนำดอกไม้ไปกราบสักการะรอยพระพุทธบาท

ต่อมาหลวงพ่อเขียน (เขียน ขันธสโร) พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เจ้าอาวาสวัดกระทิง ได้บุกเบิกเปิดตำนานรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ให้คนรู้จัก โดยในปี พ.ศ. 2515 หลวงพ่อเขียนได้บุกเบิกทางขึ้น และได้นำรถยนต์ขึ้นเขาเป็นครั้งแรก และค่อยๆพัฒนาเส้นทางขึ้นยอดเขาคิชฌกูฏให้ดี และปลอดภัยยิ่งขึ้นมาจนทุกวันนี้

จากรอยพระพุทธบาท เราก็เดินขึ้นเขาไปยังจุดชมวิว เพื่อถ่ายรูปรอยพระพุทธบาท และหินรูปบาตรคว่ำมาจากด้านบนที่จุดชมวิว ช่วงที่ขึ้นไปมีหมอกเต็มไปหมด

แต่เมื่อหมอกจางลงแล้ว ก็จะเห็นรอยพระพุทธบาท ล้อมรอบด้วยหินขนาดใหญ่บนหน้าผาสวยงามมาก

การเดินทางขึ้นไปกราบสักการะรอยพระพุทธบาทบนเขาคิชฌกูฏ ไม่ได้ลำบากและยุ่งยากอย่างที่กลัวกัน ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางในวันหยุดหรือหน้าเทศกาลต่างๆ ประชาชนจำนวนมากนิยมเดินทางขึ้นเขาตอนกลางคืน (โดยเฉพาะประชาชนที่มากับรถทัวร์) แล้วเดินทางลงเขาในช่วงเช้า เพราะกลัวว่าตอนกลางวันจะร้อน บางคนอาจจะต้องการไปถึงให้ทันทำวัตรเช้า ถ้าอยากหลีกเลี่ยงคนมากๆ ก็ให้เดินทางขึ้นเขาในช่วงเช้าแทน อากาศไม่ร้อนอย่างที่กลัวกัน เพราะทางเดินขึ้นมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น สิ่งที่น่าเป็นห่วงและควรจะเร่งแก้ไขโดยด่วนก็คือ ทางวัดจะเน้นเรื่องพุทธพาณิชย์มากจนเกินไป มีการประกาศผ่านไมโครโฟนเสียงดัง ชักชวน และจูงใจให้คนบริจาคเงินตลอดเวลา ในทำนองที่ว่าบริจาคแล้วจะโชคดี บริจาคแล้วจะรวย แทนที่ประชาชนจะได้ขึ้นไปไหว้รอยพระพุทธบาทด้วยความสงบ กลับได้ยินเสียงเรียกร้องดังหนวกหูมากๆ ให้บริจาคเงินอยู่ตลอดเวลา

หลังจากนั้น เราก็เดินลงเขา แล้วไปนั่งรถกระบะ 4 WD ของทางวัดลงไปยังที่จอดรถด้านล่าง โดยจ่ายเงินซื้อตั๋วช่วงละ 50 บาทเหมือนตอนขึ้นมา การขึ้นเขาคิชฌกูฏครั้งนี้เสียค่ารถทั้งขึ้นและลงเขารวมกัน 200 บาทต่อคน ปีนี้ในช่วง 2 เดือนที่เปิดให้ขึ้นเขาคิชฌกูฏไปนมัสการรอยพระพุทธบาท คาดว่าจะมีคนขึ้นไปกราบสักการะรอยพระพุทธบาทประมาณ 1.2 ล้านคนใกล้เคียงกับปีที่แล้ว คิดเป็นเงินที่ประชาชนต้องจ่ายเงินซื้อตั๋วนั่งรถ 4WD ขึ้นและลงเขาทั้งหมดประมาณ 240 ล้านบาท นับเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของชาวบ้านในบริเวณนี้ นอกเหนือจากรายได้จากการขายอาหาร เครื่องดื่มและขายของที่ระลึกของชาวบ้าน

เราลงจากเขามาถึงที่จอดรถเวลาประมาณ 13.00 น. ก็ขับรถเข้าเมืองจันทบุรีไปทานเย็นตาโฟเจ้าอร่อย เก่าแก่ ร้านเจ๊เพ็ญเย็นตาโฟ สาขาวัดไผ่ล้อมอยู่ใกล้ๆ โรงพยาบาลกรุงเทพ จันทบุรี พิกัดN12.61619E102.10603

เย็นตาโฟร้านเจ๊เพ็ญ ใส่ทั้งกุ้ง กั้ง ปู และปลาหมึก มีราคาขายชามละตั้งแต่ 80-200 บาท ถ้าใส่กั้งก็ราคาแพงหน่อย ธรรมดาชามละ 100 บาท ถ้าใส่กั้งพิเศษก็ชามละ 200 บาท

เต้าหู้ทอดร้านนี้ก็อร่อย

ทานเย็นตาโฟร้านเจ๊เพ็ญเสร็จแล้ว เราก็ขับรถไปชมโบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล โบสถ์คริสต์ที่สวยที่สุดในประเทศไทย พิกัดN13.60903E102.11870

ประวัติการสร้างโบสถ์นี้ เริ่มต้นเมื่อประมาณ 305 ปีที่ผ่านมา เมื่อชาวคาทอลิกเวียดนามที่ลี้ภัยจากเวียดนามมาทางเรือ ได้มาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองจันทบุรี ชาวเวียดนามที่นับถือศาสนาคริสต์ได้สร้างชุมชนของตนขึ้น และได้ช่วยกันสร้างอาสนวิหารหลังแรกขึ้น เพื่อเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจเมื่อปี พ.ศ.2253 ใช้ชื่อว่าวัดน้อย ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี ต่อมาก็ได้มีการตกแต่ง ซ่อมแซมหลายครั้ง จนในปี พ.ศ.2377 ก็ได้ย้ายมาสร้างโบสถ์ใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจันทบุรีซึ่งนับเป็นโบสถ์หลังที่ 3

ในปีพ.ศ. 2449 ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีการก่อสร้างโบสถ์ให้ใหญ่กว่าเดิม เพื่อรองรับคริสตศาสนิกชนที่เพิ่มมากขึ้นทุกที อาสนวิหารที่สร้างขึ้นใหม่ในครั้งนี้นับเป็นโบสถ์หลังที่ 5 มีลักษณะสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบโกธิค เชื่อกันว่าจำลองมาจากวิหารน็อตเตอร์ดามของฝรั่งเศส ทางตอนหน้าของอาสนวิหาร เป็นหอคอยสูงคู่กัน ติดตั้งระฆังขนาดใหญ่และนาฬิกาบอกเวลา เมื่อแรกสร้างมียอดโดมแหลม แต่ได้ถูกรื้อออกไปเมื่อปี พ.ศ. 2483 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นเป้าหมายการโจมตีทางอากาศ แต่ต่อมาก็ได้นำยอดโดมแหลมกลับมาติดตั้งใหม่ในรูปแบบที่เห็นในปัจจุบัน ตัวอาคารยาว 60 เมตร กว้าง 20 เมตร สวยงามมาก

ภายในโบสถ์ตกแต่งอย่างสวยงาม

โปร่งและโล่ง สบาย

โบสถ์คริสต์ที่นี่เป็นของนิกายโรมันคาทอลิก

พระแม่มารีในโบสถ์หลังนี้ สวยงามแตกต่างจากพระแม่มารีในที่อื่นๆ เพราะได้มีการนำพลอยของเมืองจันทบุรีมาประดับตามเสื้อผ้า อาภรณ์อย่างสวยงาม

ลวดลายและภาพวาดของนักบุญต่างๆ บนกระจกสี stained glass ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของโบสถ์คริสต์ทั่วโลก สวยสะดุดตา

หลังจากเยี่ยมชมโบสถ์คริสต์ที่สวยที่สุดในประเทศไทยแล้ว เราก็ขับรถต่อไปยังถนนเฉลิมบูรพาชลทิต หรือเรียกสั้นๆ ว่าถนนชล-จันท์ ถนนสายนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากบริเวณอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ผ่านอำเภอบ้านฉาง อำเภอเมือง และอำเภอแกลงที่จังหวัดระยอง แล้วมาสิ้นสุดที่อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี รวมระยะทางทั้งหมด 111 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยกรมทางหลวง 

ถนนชล-จันท์ ไม่ได้เป็นถนนเลียบชายทะเลตลอดทั้งเส้น แต่เป็นถนนทางหลวงเดิมบ้าง เป็นถนนตัดขึ้นมาใหม่บ้าง สร้างเชื่อมโยงเป็นช่วงๆ ผ่านอำเภอดังกล่าว และเป็นถนนที่เชื่อมต่อระหว่างแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลที่สำคัญของจังหวัดระยองและจันทบุรี ช่วงที่เป็นถนนเลียบทะเลก็เป็นช่วงหาดแม่รำพึง หาดแหลมสน และแหลมแม่พิมพ์ในจังหวัดระยอง ส่วนจังหวัดจันทบุรีก็เป็นช่วงหาดเจ้าหลาวและหาดคุ้งวิมานเป็นต้น

ช่วงที่สวยที่สุดของถนนชล-จันท์ คือช่วงถนนโค้งเลียบทะเลสั้นๆ จากหาดเก็บตะวันพิกัดN12.59457 E101.87939 ไปยังจุดชมวิวเนินนางพญาที่อยู่บนเนินเขาพิกัด N12.59122 E101.88165 ถนนช่วงนี้นับเป็นถนนเลียบทะเลที่สวยที่สุดในประเทศไทย มีการใช้สถานที่นี้ในการถ่ายหนังโฆษณา(โดยเฉพาะรถยนต์)อยู่เสมอๆ

หาดเก็บตะวัน เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดจันทบุรี

จุดชมวิวเนินนางพญาอยู่บนเนินเขา (ใกล้หาดเก็บตะวัน) นอกจากจะเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งแล้ว ยังเป็นจุดที่มองเห็นช่วงที่สวยที่สุดของถนนชล-จันท์คล้ายเป็นลอนคลื่นเลาะเลียบริมทะเลอย่างสวยงาม

บนจุดชมวิวเนินนางพญา มีป้ายข้อความเกี่ยวกับ รักนิรันดร ติดตั้งอยู่อย่างถาวร สวยงาม

                                       รักนิรันดร
                                    Endless Love

             เนินนางพญาแห่งนี้ที่รวมใจ       คู่รักใดปรารถนารักคงมั่น
             ร่วมดวงจิตอธิษฐานสัญญากัน    คล้องสองใจรักมั่นนิรันดร

คู่รักจำนวนมากได้นำเอาแม่กุญแจ 2 ลูกมาล็อคแขวนคู่กัน โดยเชื่อว่าจะทำให้ความรักยั่งยืนยาวอยู่คู่กันตลอดไป

นับว่าจุดชมวิวเนินนางพญาแห่งนี้ เป็นจุดชมวิวที่สวยและโรแมนติกมาก เพราะนอกจากจะเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งแล้ว ยังมองเห็นถนนชล-จันท์ช่วงที่สวยที่สุดในประเทศไทย และคู่รักยังสามารถนำแม่กุญแจมาคล้องคู่กันให้ความรักยั่งยืนยาวเป็นรักนิรันดรได้อีกด้วย

วิวอีกด้านหนึ่งของจุดชมวิวเนินนางพญาก็จะเป็นวิวภูเขาสวยงาม

จากจุดชมวิวเนินนางพญา จะเห็นช่วงถนนชล-จันท์ที่สวยที่สุด ถนนช่วงนี้เป็นถนนขึ้นเขาเลียบชายทะเลจากหาดเก็บตะวันมายังจุดชมวิวเนินนางพญา

 

 

 

 

 

 

                                                  


อัลบั้มภาพ 30 ภาพ

อัลบั้มภาพ 30 ภาพ ของ ท่องเที่ยวสไตล์พิศาล ชวนเที่ยว 3 ที่สุดในสยาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook