Tips ตะลุยเที่ยว 4 ประเทศ แบบมนุษย์เงินเดือน
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/tr/0/ud/278/1394573/main_nn.jpgTips ตะลุยเที่ยว 4 ประเทศ แบบมนุษย์เงินเดือน

    Tips ตะลุยเที่ยว 4 ประเทศ แบบมนุษย์เงินเดือน

    2015-02-17T15:43:23+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยว อาจจะเป็นความฝันแบบที่เดินไปไม่เคยถึง เนื่องจากเงินเดือนน้อย ไม่มีเงิน จะเก็บเงินสำหรับไปเที่ยวก็ยากลำบากเหลือเกิน แต่สำหรับคุณ okeman555 จากห้องบลูแพลนเน็ต เว็บไซต์พันทิป ดอทคอม สามารถทำตามความฝันของตัวเองได้ แม้จะมีเงินเดือนแค่เดือนละหมื่นกว่าบาท

    Sanook!Travel เห็นว่ากระทู้นี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่รักการเดินทาง ก็เลยนำมาฝาก เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน

    เมื่อ 2 ปีก่อน (2556) ผมเงินเดือนหมื่นหกห้าร้อย เรื่องการแบ็คแพ็คไปเที่ยวต่างประเทศเนี่ยะ ไม่อยู่ในความคิดเลย ได้แต่แอบอิจฉาเพื่อน ๆ ที่ไปเที่ยวประเทศโน้นประเทศนี้ ส่วนตัวเราก็เที่ยวต่างจังหวัดไปก่อนละกัน

    จนวันหนึ่ง เพื่อนโทรมาถามว่า "เฮ้ย! มีโปรโมชั่นการบินไทยไปนิวซีแลนด์ ถูกมาก ไปกลับสองหมื่นแปดเอง"

    ในหัวตอนนั้นมี 3 คำ



    "นิวซีแลนด์" ใคร ๆ ก็รู้ว่ามันสวยมาก ประเทศในฝันของใครหลาย ๆ คน (รวมทั้งผมด้วย)
    "สองหมื่นแปด" เอาเข้าจริงมันก็ไม่ใช่เงินน้อย ๆ สำหรับมนุษย์เงินเดือนหมื่นหกอย่างเรา ถึงจะพอมีเงินเก็บอยู่บ้าง แต่ไหนจะค่าใช้จ่ายตลอดทริปอีกล่ะ
    "วีซ่า" จำได้ว่าประเทศนี้ไม่ได้อยู่ในลิสต์ประเทศที่ยกเว้นวีซ่าสำหรับคนไทย แล้วเหมือนว่าวีซ่าจะผ่านยากซะด้วย แล้วเงินเดือนแค่นี้จะผ่านหรอวะ

    เพื่อนเห็นเราเงียบอยู่ ก็เลยถามย้ำ "ไปไหมเนี่ย กำลังจะจองตั๋ว เดี๋ยวไม่ทัน"

    ผมใช้เวลาประมวลผลในหัว 3 วินาที คำว่า "นิวซีแลนด์" มันเด่นกว่า ถ้าโอกาสครั้งนี้หลุดไป ครั้งหน้าจะมีรึเปล่าก็ไม่รู้ เลยตอบเพื่อนไป "เอาดิ ลองดู" (ตอบตอนนั้นก็หวั่น ๆ ในใจ จะเสียเงินค่าตั๋วทิ้งไหมเนี่ยะ)
    แต่ใครจะรู้ว่า นั่นคือแบ็คแพ็คทริปแรกของมนุษย์เงินเดือนหมื่นหก ที่ตอนนี้ตะลุยไปแล้ว 4 ประเทศ (ลาว เวียดนาม พม่า เกาหลีใต้) และกำลังจะไปอีก 4 ประเทศ (กัมพูชา อินโดนีเซีย จีน ญี่ปุ่น) ทั้ง ๆ ที่เงินเดือนก็เพิ่งจะแตะสองหมื่นเมื่อต้นปีนี่เอง

    ก่อนหน้านี้เคยคิดว่า รอมีเงินเดือนเยอะ ๆ เก็บเงินได้เยอะ ๆ ก่อนแล้วค่อยเที่ยว ซึ่งผ่านมา 5 ปี ไม่เกิดซักทริป เลยเปลี่ยนความคิดใหม่ "ถ้าอยากไป ก็ต้องไปตอนนี้ จะรอจนไม่มีแรงเที่ยวเลยรึไง"

    นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ก้าวเข้ามาสู่การเป็นแบ็คแพ็คเกอร์แบบเต็มตัว
    หลังจากหลุดปากรับคำกับเพื่อนไปแล้ว ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาเพื่อนก็ส่งรายละเอียดการเดินทางมาให้ทันที

    เดินทาง 16 ก.ค. 2556
    วันนี้วันที่ 1 เม.ย. 2556

    มีเวลา 3 เดือนครึ่งในการเตรียมตัว (จริง ๆ ต้องเรียกว่าเตรียมเงินจะตรงกว่า) ทั้งค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับ ค่าวีซ่า ค่าอยู่ค่ากินค่าเที่ยว ฯลฯ
    ต้องเอาชีวิตรอดกลับมาให้ได้

    โชคดีตรงที่ทริปแรกไม่ได้โดดเดี่ยว ยังมีเพื่อนร่วมทริปให้ไถได้ (ถ้าเงินไม่พอ)

    แต่ขั้นตอนที่ยากที่สุด คงจะเป็นเรื่องทำวีซ่านี่แหล่ะ หวั่นใจมากว่าจะไม่ผ่าน...
    เพื่อนเป็นคนจัดการเรื่องวีซ่าให้ เราแค่เตรียมเอกสารให้ครบ ไม่ว่าจะเป็น passport รูปถ่าย เอกสารรับรองการทำงาน สลิปเงินเดือน statement ย้อนหลัง และค่าธรรมเนียม

    ก็ยื่นไปแบบวีซ่ากลุ่ม ดูเหมือนทุกคนจะไม่มีปัญหา ยกเว้น...ผมเอง

    เจ้าหน้าที่จากสถานทูตโทรมา ขอเอกสารเพิ่มเติม คือแผนผังความสัมพันธ์ของสมาชิกที่ไปด้วยกัน ว่ารู้จักกันได้ยังไง เมื่อไหร่ พร้อมภาพถ่ายตอนที่อยู่ด้วยกัน อาจจะไม่ครบทุกคนในภาพเดียว ใช้หลาย ๆ ภาพได้ แต่ต้องให้มีครบทุกคน

    ก็ส่งไปให้ตามนั้น

    ผ่านไป 1 วัน เจ้าหน้าที่คนเดิมโทรมาเป็นครั้งที่ 2 ขอ statement ย้อนหลังของทุกบัญชีที่มี

    ก็ส่งไป แถมใบแสดงรายการชำระเบี้ยประกันชีวิตไปให้ด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าที่เงินหายไปจากบัญชีทุกเดือน ส่วนหนึ่งมันมาอยู่ในรูปของเบี้ยประกันชีวิต

    ผ่านไปอีก 2 วัน เจ้าหน้าที่คนเดิมโทรมาเป็นครั้งที่ 3 ถามว่าเราซื้อตั๋วเครื่องบินไปรึยัง ก็ตอบไปว่าซื้อแล้ว เขาก็บอกว่าจริง ๆ น่าจะรอให้วีซ่าผ่านก่อนนะ เพราะเท่าที่พิจารณาเอกสารของคุณมันยังไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะอนุมัติวีซ่าได้ (คิดในใจ ผมก็คิดแบบนั้นแหล่ะ )

    แต่ก็ทำใจดีสู้เสือ ถามกลับไปว่า แล้วจะทำยังไงดีครับ

    เจ้าหน้าที่ : อย่างนี้ได้ไหม (เหมือนมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อันมืดมิด) ต้องให้เพื่อนที่ไปด้วยกันออกหนังสือรับรองว่าจะดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนของคุณ แล้วลองยื่นมาอีกที

    ผม : ได้ครับๆ จะคุยกับเพื่อนดู แล้วจะรีบส่งให้นะครับ

    จากนั้นก็รีบต่อสายหาเพื่อน ให้ออกหนังสือรับรอง (เป็นภาษาอังกฤษ) ให้ ว่าถ้ามีเหตุสุดวิสัยที่เกี่ยวเนื่องกับค่าใช้จ่ายของผม เขายินดีจะดูแลไม่ให้เกิดปัญหา จะพากลับมายังประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ (เนื้อหาประมาณนี้)

    สุดท้าย นี่คือสิ่งที่รอคอย

    พอได้วีซ่า ทุกอย่างโล่งเลย เหมือนยกภูเขาออกจากอก ที่เหลือก็แค่วางแผนการออมเงินให้ได้จำนวนที่พอจะอยู่รอดปลอดภัยตลอดทั้ง 7 วันที่นิวซีแลนด์

    จากนั้นก็นับวันรอ...การสัมผัสหิมะครั้งแรกในชีวิต
    หลังจากจบทริปแรก มานั่งนึกทบทวนดู เออ การเที่ยวต่างประเทศมันดีอย่างนี้นี่เอง
    ได้เห็น ได้สัมผัส ได้ลองอะไรใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยเจอที่บ้านเมืองเรา
    มุมมองการใช้ชีวิตของเรามันกว้างขึ้น เพราะเราได้ออกไปเปิดโลกทัศน์ (ที่ไม่เหมือนการดูทางทีวีหรืออินเตอร์เน็ต)
    มันมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก
    ชักจะติดใจซะแล้วสิ คงต้องรีบหาทริปที่สอง
    คำถามในหัวคือ แล้วที่ไหนล่ะ

    แน่นอนว่าต้องเป็นกลุ่มประเทศที่ค่าครองชีพไม่แพง พอจ่ายค่าตั๋วได้ และไม่ต้องขอวีซ่า!!! (ยังเข็ดกับวีซ่านิวซีแลนด์ไม่หาย)

    พอเอารายชื่อประเทศที่ไม่ต้องขอวีซ่ามากางดู...

    บาห์เรน
    บรูไน
    กัมพูชา
    ญี่ปุ่น
    ฟิลิปปินส์
    ฮ่องกง
    อินโดนีเซีย
    ลาว
    มาเก๊า
    มาเลเซีย
    มัลดีฟส์
    รัสเซีย
    สิงคโปร์
    แอฟริกาใต้
    มองโกเลีย
    เซเชลส์
    เวียดนาม
    ตุรกี
    อาร์เจนตินา
    บราซิล
    ชิลี
    เกาหลีใต้
    เปรู
    (ข้อมูลจาก http://www.plan-travel.com/visa/schengen_new.html)

    เข้าตาอยู่ไม่กี่ประเทศ อย่างเช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา แถบเพื่อนบ้านเรานี่แหล่ะ ถ้าไกลกว่านี้คงแพงขึ้น กำลังทรัพย์ (ณ ขณะนั้น) ยังไม่เอื้ออำนวย

    เอาวะ ถือว่าหาประสบการณ์ ลองแถบนี้ก่อนก็ได้

    ทริปที่สองจึงตามมา "เวียดนาม"

      
    และตามมาด้วยทริปที่  3 "ลาวใต้"

       
    ทำอย่างไรถึงจะได้ตั๋วถูก ?

    เป็นคำถามที่วนเวียนอยู่ในหัวตลอด ถ้าประหยัดค่าเครื่องบินได้ เราก็จะมีเงินเที่ยวเพิ่มขึ้น
    ก็เลยหาข้อมูลจาก google ทำให้รู้ว่าหลายสายการบินมักจะมีโปรตั๋วถูกออกมาบ่อย ๆ โดยเฉพาะยี่ห้อหางแดง (ต่อมาก็กลายเป็นขาประจำของที่นี่) ถือว่าถูกมาก ๆ สำหรับชาวแบ็คแพ็คเกอร์ที่ตั้งตารอว่าโปรโมชั่นตั๋วถูก ๆ จะมาอีกเมื่อไหร่

    วิธีที่จะรู้ข่าวโปรโมชั่นตั๋วถูกก็มีหลายวิธี...เพิ่มไลน์ของสายการบินเป็นเพื่อน สมัครสมาชิก นอกจากจะได้รู้ข่าวก่อนเพื่อนแล้ว ยังสะสมแต้มแลกเที่ยวบินหรือสิทธิพิเศษอื่น ๆ ได้ด้วย รวมทั้งการกดไลค์และรับข้อมูลแฟนเพจที่มักจะแจ้งข่าวโปรโมรชั่นของสายการบิน

    อย่างของแอร์เอเชีย นี่ก็สมัคร BIG POINT นอกจากจะไว้สะสมแต้มแลกเที่ยวบินแล้ว ยังรู้ข่าวโปรโมชั่นก่อนคนอื่น (ที่ไม่ได้สมัคร) แถมถ้ามีคะแนนตั้งแต่ 500 ขึ้นไป สามารถเข้าจองตั๋วราคาถูกได้ในช่องทางเฉพาะสำหรับสมาชิกได้เร็วกว่าคนอื่น ตั้ง 1 วัน โอกาสที่จะได้ไฟล์ทที่เราต้องการก็มีสูงขึ้น

      

    ทริคเล็ก ๆ สำหรับการจองโปรแอร์เอเชีย

    - ถ้ารู้ว่าแอร์เอเชียจะมีโปรมาเรื่อย ๆ ต้องมีเงินก้อนติดบัญชีไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ และบัญชีนี้สามารถจ่ายค่าตั๋วได้ในเวลาที่กำหนด (ตัดบัตรได้ทันที / ตัดบัญชีได้ทันที / จ่ายผ่าน ATM / ถอนมาจ่าย 7-11)
    - สำรองวันหยุดลาพักร้อนไว้เพื่อการนี้ เพราะราคาดี ๆ มักเป็นวันธรรมดา (ใครได้หยุดวันธรรมดานี่โคตรคุ้ม)
    - ถ้าแอร์เอเชียประกาศเริ่มจองตั้งแต่วันไหน สมาชิก BIG POINT ลองเข้าจองก่อน 1 วัน โดยเริ่มจองตั้งแต่ 5 ทุ่มของวันก่อนหน้า เพราะเวลาของไทยช้ากว่ามาเลเซีย (สนง.ใหญ่ของแอร์เอเชีย) 1 ชั่วโมง
    - ดูช่วงเวลาหรือปลายทางที่สามารถเดินทางได้ของโปรโมชั่นที่กำลังเปิดให้ดี ซึ่งวันที่เราจะเดินทาง หรือปลายทางที่เราจะไป ควรยืดหยุ่นได้สูง เช่น ช่วงวันที่เล็งไว้เต็มแล้วก็ต้องสามารถตัดสินใจเปลี่ยนช่วงวันที่ได้ทันที ไม่ต้องรอถามความเห็นจากใคร (หรือถามได้แต่ต้องใช้เวลาน้อยที่สุดในการตัดสินใจ) และวันเดินทางควรเป็นช่วงที่คนอื่นไม่เดินทาง เช่น ไม่ใช่วันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์-จันทร์ หรือวันหยุดยาว เพราะถ้าเลือกเดินทางช่วงนั้น ก็จะไม่เจอราคาโปรโมชั่นเลย (เพราะเขาขายตั๋วได้ในราคาสูงอยู่แล้ว จะลดราคาทำไม)
    - ควรมีประเทศปลายทางไว้ในใจสัก 2-3 ที่ ถ้าประเทศแรกในช่วงเวลาที่ต้องการไม่ได้ ก็ต้องมีแผนสำรอง
    - สมาชิกที่มีคะแนน BIG POINT ตั้งแต่ 500 คะแนนขึ้นไป สามารถเข้าช่องทางพิเศษได้ ไม่ต้องรอต่อคิวนานในช่องทางปกติ และแม้คะแนนจะไม่ถึงที่กำหนดไว้ให้แลกในแต่ละเที่ยวบิน ก็สามารถทำรายการไปเรื่อย ๆ จนถึงขั้นตอนการจ่ายเงิน คะแนนจะถูกหัก ถ้าไม่พอ ก็สามารถจ่ายเป็นเงินเพิ่มเข้าไปได้ ระบบจะคำนวณให้ว่ามีคะแนนเท่านี้ จะต้องจ่ายเพิ่มกี่บาท
    - ถ้าคะแนน BIG POINT หมดแล้วยังอยากจองอีก ก็ต้องเข้าช่องทางปกติ ถ้าเจอ waiting room ให้รอ...รอไปเรื่อย ๆ อย่าปิด อย่ารีเฟรช เพราะนั่นหมายถึงต้องเริ่มต่อคิวใหม่
    - ทำรายการเฉพาะซื้อตั๋วเครื่องบินอย่างเดียวก่อน ยังไม่ต้องคิดเรื่องน้ำหนักกระเป๋า เลือกที่นั่ง เลือกอาหาร ซื้อประกัน เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถทำรายการทีหลังได้ ลดขั้นตอนการทำรายการจองลงได้เยอะ และเผลอ ๆ อาจไม่ต้องซื้อ ประหยัดเงินได้อีก เอาไว้ให้แน่ใจ วางแผนทริปดี ๆ ค่อยมาซื้อทีหลังได้
    - สมาชิก BIG POINT จ่ายเงินเพิ่มได้แค่ช่องทางการตัดบัตรเท่านั้น แต่ถ้าทำรายการผ่านช่องทางปกติ คือไม่แลกคะแนน สามารถจ่ายได้หลายช่องทาง และการจ่ายเงินโดยการหักบัญชีอัตโนมัติ หรือ Direct Debit จะคิดค่าธรรมเนียมแค่ 42 บาทต่อ 1 booking และ 1 booking ได้สูงสุดถึง 9 คน ในขณะที่จ่ายแบบอื่นคิดเป็นรายคนรายเที่ยว เดินทางหลายคนก็หลายร้อยบาท
    - ราคาดี ๆ จะถูกจองเร็วมาก การตัดสินใจอย่างรวดเร็วประดุจพญาเหยี่ยวบินโฉบเหยื่อจะทำให้มีโอกาสได้ตั๋วราคาถูกมากๆ


    Q : เงินเดือนหมื่นหก เที่ยวต่างประเทศ จะเอาเงินที่ไหนไปเที่ยว ไหนจะค่าใช้จ่ายรายเดือน ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ส่งให้พ่อแม่ ใช้หนี้ ฯลฯ แค่นี้ก็หมดแล้ว จะเอาเงินจากที่ไหน ?

    A : ทำได้ครับ ผมทำแบบนี้...

     
    - เงินเดือน 16,591 บาทเข้าบัญชีปุ๊บ แบ่งเงินออกเป็นส่วน ๆ คือ
    1) ค่าใช้จ่ายประจำ (หอพัก โทรศัพท์ ส่งให้พ่อแม่ ประกันชีวิต) = 6,300 บาท
    2) เงินออมฉุกเฉิน = 3,000 บาท
    3) ฝากเข้าบัญชีกองทุนเพื่อการท่องเที่ยว (เป็นบัญชีที่ไม่มี ATM การถอนจะยากหน่อย เพื่อให้รู้สึกว่าต้องใช้เพื่อการนี้จริง ๆ ไม่ปะปนกับค่าใช้จ่ายอื่น) = 2,000 บาท
    4) ค่าใช้จ่ายส่วนตัว (เสื้อผ้า อาหาร เครื่องใช้ น้ำมันรถมอเตอร์ไซค์ ซองงานบวชงานแต่ง สังสรรค์กับเพื่อนตามวาระ ดูหนัง) = 5,291 บาท

    เมื่อไหร่ที่มีโปรโมชั่นตั๋วถูก ก็จะดึงเงินจากก้อน 3) มาใช้ในการจอง

    ส่วนค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวแต่ละครั้ง มาจาก...
    - เงินที่เก็บไว้ในข้อ 3)
    - เงินที่หยอดกระปุก โดยตั้งกติกากับตัวเองว่า จะหยอดวันละ 20 บาท โดยดึงเอามาจากเงินใช้จ่ายส่วนตัวข้อ 4) เป็นจิตวิทยาหลอกตัวเองที่ให้มีเงินในกระเป๋าน้อย ๆ จะได้ใช้สอยอย่างประหยัด คิดแล้วคิดอีกก่อนจะใช้แต่ละครั้ง แต่ถ้าวันไหนได้แบงค์ 50 มา จะต้องหยอดแบงค์ 50 และถ้าได้เงินพิเศษจากการทำงานหรือจากแหล่งอื่นที่นอกเหนือจากเงินเดือน จะแบ่งไม่ต่ำกว่า 50% มาหยอดกระปุก

       
    - เมื่อใกล้ถึงวันเดินทาง ถ้างบที่คำนวณไว้คร่าว ๆ เงินยังขาดอยู่ ก็จะไปยืมเงินออมฉุกเฉินจากข้อ 2) มาใช้ก่อน แต่กลับจากเที่ยว เงินเดือนครั้งต่อไปต้องบริหารจัดการให้เอาไปใช้คืนก้อนนั้นเหมือนเดิม
    - เมื่อเดินทางไปแล้ว เกิดเหตุฉุกเฉิน มีการคำนวณเงินผิดพลาด หรือการท่องเที่ยวผิดแผน ทำให้เกินงบที่ตั้งไว้ ต้องใช้ตัวช่วยสุดท้าย นั่นคือ เพื่อน คือแหล่งเงินกู้ฉุกเฉินที่ดี เพราะก่อนเดินทางจะบอกไว้ว่าถ้าฉุกเฉินจริง ๆ จะรบกวนนะ (แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยได้รบกวน)
    การที่จะพูดกับเพื่อนแบบนี้ได้ จะต้องสร้างเครดิตของเราให้เพื่อนเห็นว่าเราน่าเชื่อถือ ใช้หนี้ตรงเวลา ผมเลยถือคติว่า "บางช่วงเวลาของชีวิตอาจขาดเงิน แต่อย่าปล่อยให้ชีวิตขาดซึ่งมิตรภาพและเครดิต"
    จุดเริ่มต้นของการแบกเป้ลุยเดี่ยวเที่ยวต่างประเทศ

    ยิ่งเดินทางก็ยิ่งสนุก ยิ่งไปหลากหลายประเทศ หลากหลายวัฒนธรรม ก็ยิ่งได้เรียนรู้อะไรเยอะขึ้น
    แต่ทริปที่ผ่าน ๆ มาก็ไปกับเพื่อนตลอด

    จนมาวันหนึ่งต้นปี 2557 แอร์เอเชียประกาศเปิดเส้นทางบินตรง "ญี่ปุ่น" กับ "เกาหลีใต้" ด้วยราคาตั๋วถูกมากๆๆๆๆ
    เฮ้ย! เป็น 2 ประเทศที่อยากไปเลย ถ้าพลาดครั้งนี้ไป ราคาถูก ๆ แบบนี้จะหาไม่ได้อีกแล้ว

    เลยเลือกไป "เกาหลีใต้" (เพราะญี่ปุ่นค่าครองชีพแพงกว่า)

    ผมจัดการเคลียร์ตัวเองตามสเต็ป...เตรียมเงิน...เตรียมวันลา...เปิดเว็บไซค์รอ...จนท้ายที่สุดได้ตั๋วดอนเมือง-อินชอน แม้ไม่ใช่ราคาที่ถูกที่สุด แต่ก็ถูกกว่าราคาปกติกว่าครึ่ง

    แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นกว่า คือ เป็นครั้งแรกที่เดินทางไปต่างประเทศคนเดียว (เพราะการแย่งชิงตั๋วราคาถูก ถ้ามัวแต่หาเพื่อนที่ว่างตรงกันก็ไม่ทันคนอื่น)

      
    สิ่งที่ต้องเตรียมตัว เมื่อต้องเดินทางต่างประเทศคนเดียว

    - กำหนดสถานที่ที่เราจะไป โดยเริ่มจากเมืองนั้นและเมืองใกล้เคียงที่เดินทางไม่ไกลมากมีที่ไหนน่าสนใจ บ้าง (จุดนี้ต้องชัดเจนว่าเรามีสไตล์การเที่ยวแบบไหน ทะเล ภูเขา เสาไฟ ช็อปปิ้ง กิจกรรมโลดโผน ฯลฯ)
    - ค้นหารายละเอียดสถานที่ที่สนใจ ว่ามีอะไรบ้าง ตั้งอยู่ที่ไหน เดินทางไปยังไง น่าจะใช้เวลาตรงจุดนั้นเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายเฉพาะจุดนั้นมากน้อยแค่ไหน
    - ลองลากโยงเส้นทางจากสนามบินไปจุดต่าง ๆ เพื่อวางแผนว่าควรจะไปตรงไหนก่อน-หลัง จากนั้นใส่ช่วงเวลา เพื่อดูว่าควรจะจองที่พักใกล้จุดไหนบ้าง การจองผ่านเว็บไปล่วงหน้าจะช่วยควบคุมเวลาได้ ดีกว่าไปเดินหาที่พักที่กว่าจะเจอราคาถูก ๆ อาจเสียเวลาเป็นชั่วโมง หรืออาจเจอแต่ที่พักราคาสูง ๆ (ปกติจองกับ booking.com เพราะไม่ต้องจ่ายล่วงหน้า จ่ายในวันเข้าพักเลย)
    - ควรเผื่อเวลาในการเดินทางแต่ละจุดไว้พอสมควร เพราะแผนที่กับสถานที่จริงมันคนละเรื่อง "หลงทาง" เป็นเรื่องปกติ ฉะนั้นควรเผื่อเวลาหลงไว้ด้วย
    - ทำตารางการเดินทางในแต่ละวันไว้ให้ละเอียดที่สุด แนบท้ายด้วยรายละเอียดของสถานที่ที่จะไป (ข้อมูล / รูปภาพ / ชื่อสถานที่เป็นภาษาท้องถิ่น) พร้อมคำนวณค่าใช้จ่ายตลอดทริปโดยประมาณ
    - ศึกษาสภาพอากาศช่วงที่เดินทาง จะได้เตรียมเครื่องแต่งกายไปให้เหมาะสม มีผลต่อการตัดสินใจซื้อน้ำหนักโหลดใต้เครื่องด้วย
    - หาข้อมูลการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต เปรียบเทียบดูว่าวิธีการไหนจะสะดวกและถูกที่สุด เพราะอินเตอร์เน็ตสำคัญมากในการหาข้อมูล (นอกจากการอัพรูปผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก) เพราะถึงจะเตรียมข้อมูลไปดียังไง แต่เอาเข้าจริงก็ไม่พออยู่ดี และบางทีการถามคนในพื้นที่ก็ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน การอ่านรีวิวของคนที่เคยมาจากหลาย ๆ เว็บประกอบกัน จะช่วยได้มาก
    - ถ้าไม่เปิดโรมมิ่งเน็ต ต้องปิดเน็ตตลอดการเดินทาง แต่สามารถเปิดโรมมิ่งโทรเข้า-โทรออกได้ เอาไว้ให้รู้ว่ามีใครโทรหาเราบ้าง (ถ้าไม่รับสายก็ไม่มีค่าใช้จ่าย)
    - ทำประกันการเดินทางต่างประเทศ เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน อย่างน้อยก็มีคนดูแล จ่ายแค่ทริปละ 200-300 บาทเท่านั้น และอย่าลืม print เอกสารที่มีหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชม.ของบริษัทที่ทำประกันด้วย
    - แลกเงินในอัตราที่ดีที่สุด ในจำนวนที่ไม่มากเกินไป เพราะถ้าแลกไว้มากแล้วใช้ไม่หมด ตอนแลกคืนจะขาดทุนเยอะ
    - ควรมีแอ๊พคำนวณเงินสกุลประเทศนั้น ๆ กับเงินไทยไว้ติดมือถือ หรืออย่างน้อยต้องรู้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเท่าไหร่ เพื่อใช้เทียบดูว่าการจะจ่ายเงินในประเทศนั้นแต่ละครั้งมันเกินศักยภาพเรา หรือไม่
    - มีชื่อ-ข้อมูลการติดต่อของเราไว้ทั้งในกระเป๋าสตางค์และกระเป๋าเป้ เผื่อกรณีฉุกเฉิน

    จากนั้นก็ตั้งตารอวันเดินทาง...
    ภาษาอังกฤษแบบ snake snake fish fish จะไปต่างประเทศคนเดียวได้ไง?

    ก่อนวันสิ้นปี 2556 ผมกับเพื่อนนั่งรถตู้ไปพัทยา กะจะไปเคาท์ดาวน์กันที่นั่น ตอนต่อคิวซื้อตั๋วรถตู้ คนข้างหน้าที่กำลังซื้ออยู่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นผู้ชายอายุน่าจะสามสิบนิด ๆ มาคนเดียว กำลังยื่นกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า PATTAYA ให้คนขายตั๋วดู ตอนจ่ายสตางค์ คนขายก็จิ้มเครื่องคิดเลขบอกให้รู้ว่าราคาเท่าไหร่

    เราได้นั่งรถตู้คันเดียวกับชายคนนั้น ระหว่างรอ รถตู้ก็ขับเข้ามารับผู้โดยสารทีละคัน ๆ แต่ยังไม่ใช่คันที่เราจะไป
    ชายคนนั้นก็หยิบตั๋วขึ้นมาดู แล้วทำสีหน้าแบบสงสัยว่าใช่คันที่จะต้องขึ้นมั้ย
    ผมสังเกตเห็น ก็เลยยื่นตั๋วเราเทียบกับตั๋วของเขาเพื่อบอกว่า เนี่ยะเราไปคันเดียวกันนะ
    จากนั้นผมก็พยายามชวนเขาคุยเป็นภาษาอังกฤษ ถามว่ามาจากจีนใช่ไหม เมืองไหน ปักกิ่งรึเปล่า มาคนเดียวหรอ ฯลฯ
    ถามไปหลายคำถาม เขาก็ได้แต่ยิ้ม ๆ ไม่ได้โต้ตอบกลับมา จนรถคันที่เราจะขึ้นวิ่งเข้า เลยบอกเขาว่าคันนี้แหล่ะ

    จนไปถึงพัทยา เขาลงก่อนพวกเรา แต่ตอนนั่งรถสองแถวเข้าที่พัก ปรากฏว่าเจอเขาอยู่บนสองแถวคันที่เรากำลังจะขึ้น ซึ่งเขาก็จำพวกเราได้ เลยชวนคุยอีก แต่ก็ไม่มีคำพูดใด ๆ หลุดออกมาจากปากชายคนนั้นเหมือนเดิม

    จนถึงวันนี้ ไม่แน่ใจว่าเขาเป็นใบ้หรือพูดภาษาอังกฤษไม่ได้กันแน่

    ที่เล่าให้ฟัง เพื่อจะบอกว่า ภาษาไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำให้ไปเที่ยวต่างประเทศคนเดียวไม่ได้ ขอแค่เตรียมข้อมูลไปดี ๆ หน่อย ก็เที่ยวได้แล้ว

    และสิ่งหนึ่งที่หลายคนชอบคิดไปเอง คือ ถ้าเราพูดภาษาอังกฤษแบบห่วย ๆ ออกไป คงจะโดนดูถูกหรือหัวเราะเยาะแน่ ๆ
    ....แต่เปล่าเลย เขาเข้าใจว่าเราคือคนเอเชีย มีภาษาเป็นของตัวเอง ภาษาอังกฤษเป็นเพียงภาษาที่ 2 ซึ่งการใช้งานของแต่ละคนจะดีจะด้อยแตกต่างกันไปก็เป็นเรื่องปกติ

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในเอเชีย เขาเข้าใจหัวอกคนเอเชียด้วยกัน ซึ่งเท่าที่ไปมา อย่างเวียดนาม พม่า เกาหลีใต้ ก็เยอะที่คนของประเทศเหล่านี้พูดภาษาอังกฤษแบบพอสื่อสารเป็นคำ ๆ ได้ ไม่ใช่ประโยคยาว ๆ สำเนียงเป๊ะ ๆ แบบเจ้าของภาษา

    สบายใจได้เลย...
    "ถ้าไม่ไปก็คงไม่รู้"

    ผมกำลังพูดถึงประเทศ "พม่า" ครับ เพราะตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม เรารู้จักพม่าในมุมของ "ศัตรูในประวัติศาสตร์" หนังสือเรียน สื่อในประเทศเราก็นำเสนอประเทศนี้ออกมาในมุมของชาติที่ล้าหลัง ทุรกันดาร ป่าเถื่อน อันตราย ฯลฯ

    การจะไปพม่า ต้องไปกับไกด์ ต้องมีคนพาไป สารพัดจะพูดถึงในแง่ของความยากลำบากในการเดินทางไปประเทศนี้

    จนเมื่อไม่นานมานี้ พม่าเปิดประเทศ สายการบินต่าง ๆ ก็เริ่มบินไปลงที่พม่ามากขึ้น
    รวมถึงเจ้าประจำของเรานั่นคือ แอร์เอเชีย ก็มีโปรโมชั่นตั๋วถูกมากๆ ไป-กลับ คนละ 1,670 บาท
    เป็นโอกาสดีของเราที่จะไปพิสูจน์ด้วยตาตัวเอง
    แบบไม่ง้อทัวร์

      
    พอล้อเครื่องบินแตะพื้นรันเวย์สนามบินย่างกุ้งเท่านั้นแหล่ะ

    เฮ้ย! ไม่เห็นอย่างที่เค้าว่าเลย

    ยอมรับว่าด้านสาธารณูปโภคของประเทศพม่ายังพัฒนาได้อีกมาก แต่ผู้คนของประเทศนี้ แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากภาพที่เคยจินตนาการไว้
    เจ้าหน้าที่ ตม.ที่ยิ้มแย้มแจ่มใสทักทายนักท่องเที่ยว
    แท็กซี่ที่ไปทุกที่ เรียกคันไหนก็ไม่เคยปฏิเสธผู้โดยสาร แถมให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวอย่างดี ว่าอะไรที่นักท่องเที่ยวควรระวัง พี่แท็กซี่แกบอกหมด มีแนะนำวิธีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศให้ได้รู้อีก ได้ข้อมูลแบบอินไซด์ด้วย
    นาน ๆ จะเจอทหารสักคนสองคน แต่พี่ ๆ เขาก็ดูเป็นมิตรมาก
    ผู้คนที่แม้จะสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้บ้างนิดหน่อย แต่ก็คอยช่วยเหลือนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ พอบอกว่าเป็นคนไทย ผมสัมผัสได้ถึงความรู้สึกตื่นเต้นดีใจเสมือนเป็นเครือญาติ บางคนพูดไทยได้เพราะเคยมาทำงานที่ไทย บางคนถึงขั้นยื่นนามบัตรให้พร้อมเสนอตัวว่าถ้ามีอะไรให้เขาช่วยก็บอกได้เลย บางคนไม่รู้จะช่วยเรายังไงก็ตามเพื่อนที่อยู่แถว ๆ นั้นมาช่วย ซึ้งใจจริง ๆ
    มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่พาขับไปส่งกว่า 10 กม.ด้วยราคาไม่ถึง 50 บาท แถมขากลับฝนตกยังไงพี่แกก็ไม่หวั่น พาขับฝ่าสายฝนจนเปียกปอนกันไป
    ในตัวเมืองย่างกุ้ง กำลังพัฒนาเป็นสังคมเมือง ตึกรามบ้านช่องดูเจริญเหมือนเมืองใหญ่ทั่วไป
    วัยรุ่นพม่าหน้าตาดี ๆ มีเยอะ
    ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดส์มีเยอะในตัวเมือง
    เมื่อก่อนโทรศัพท์จะค่อนข้างมีข้อจำกัด แต่ตอนนี้รัฐบาลเปิดเสรีการลงทุน ค่ายมือถือต่างชาติไปลงทุนแล้ว ซิมถูก ค่าโทรค่าเน็ตถูกมาก
    นั่งกินข้าวที่สั่งแบบฟูลออฟชั่น ขอโน่นนี่นั่นเพิ่มอีกหลายอย่าง 2 คน จ่ายแค่ 52 บาท

    นี่แหล่ะครับประเทศเพื่อนบ้านของเรา...ที่หลายคนยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อพวกเขา

    นี่ถ้าไม่มีสัมผัสเอง ก็คงไม่รู้สินะ
    มีคำถามว่า ทำไมไม่เอาเงินที่ไปเที่ยวโน่นนี่นั่นไปใช้ทำประโยชน์หรือลงทุนให้มันงอกเงย?

    ผมว่าการท่องเที่ยวก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการลงทุน เพียงแต่ไม่ได้กลับมาในรูปแบบของตัวเงิน
    แต่กลับมาในรูปแบบของประสบการณ์ ทักษะชีวิต ทัศนคติต่อบางอย่างที่เปลี่ยนไป
    เลยไม่นึกเสียดายที่ต้องกันเงินส่วนหนึ่งออกมาจากเงินออม เพราะมันคุ้มค่ามากๆ

      
    เมื่อก่อน เวลาจะให้คิดงานอะไรบางอย่าง จะชอบจินตนาการไปเรื่อย ตามสไตล์คนเพ้อฝัน (ไม่ถึงกับเพ้อเจ้อ)
    แต่พอได้ลองจัดโปรแกรมเที่ยวเอง (ไม่ได้ไปกับทัวร์) มันทำให้เราต้องคิดอย่างเป็นระบบ มองภาพใหญ่ ๆ แล้วหาข้อมูลเพื่อลงรายละเอียดส่วนเล็ก ๆ แถมต้องรอบคอบด้วย

    เมื่อก่อนจะไม่ค่อยกล้าพูดภาษาอังกฤษ กลัวเขาหัวเราะ เพราะมันห่วยมาก
    แต่พอได้ลองเดินทางไปที่ต่าง ๆ ไอ้ภาษาห่วย ๆ นี่แหล่ะก็ทำให้เราเที่ยวอย่างสนุกได้และมีชีวิตรอดกลับมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้มีแรงอยากเรียนรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้น แต่ไม่ใช่จะพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่นะครับ เพราะถ้าภาษามันดีกว่านี้อะไร ๆ ก็จะง่ายขึ้น เลยต้องฝึกๆ ให้มากขึ้น (จากที่เคยหมดไฟไปแล้ว)

    ลองหาเวลาทบทวนตัวเองดูนะครับว่าเราลงทุนกับการท่องเที่ยว เราได้อะไรกลับมาบ้าง
    ไปต่างประเทศคนเดียวไม่กลัวหลงหรอ ?

    ไม่กลัวครับ เพราะทำใจไว้แล้วว่าหลงแน่นอน 100% ผมวางแผนทริปค่อนข้างละเอียด หาข้อมูลจากหลาย ๆ เว็บ จากคำบอกเล่าของคนที่เคยไปมาแล้ว ใช้ google map ช่วย ดูเว็บทางการของสถานที่นั้น ๆ ....ปรากฏว่าหลงทางทุกทริป

    ตอนนั่งวางแผน ใช้ google map ลากเส้นทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ดู street view ก็แล้ว แต่พอถึงวันเดินทาง มันคนละเรื่องเลย
    เราไม่รู้จะเริ่มจับต้นชนปลายจากตรงไหน ที่ที่เราพิกัดไว้มันอยู่ตรงไหน
    ที่ที่เราเคยดูผ่าน street view มันอยู่ทิศไหน
    จุดที่เขาแนะนำว่าให้ดูเป็นจุดสังเกต ทำไมหาไม่เจอ
    มันงง มันมึน ดูคล้ายกันไปหมด
    ภาพที่อยู่ในหัวเรา มันเป็นแบบหนึ่ง แต่ของจริงมันยิ่งใหญ่หลายเท่านัก
    แถมบางที่ ป้ายไปซ่อนไว้ตรงจุดลับตา กว่าจะหาเจอ
    บางที่มีการปรับปรุงซ่อมแซม เปลี่ยนป้าย ย้ายป้าย ป้ายหลุด สารพัดจะเจอ
    บางครั้งอากาศก็ไม่เป็นใจ บดบังจุดสังเกตที่ในเว็บไซต์แนะนำ หรือหนักสุดคือบดบังแลนด์มาร์กของสถานที่เที่ยวเลย
    อย่างตอนไปพระธาตุอินแขวน เราเดินผ่านตัวพระธาตุไปจนถึงร้านค้า เกือบไปถึงถ้ำที่อยู่ใกล้ ๆ เพราะวันนั้นฝนตกปรอย ๆ หมอกหนามาก

      
    ผมเคยหลงอยู่ใน Seoul station ของ subway เกาหลีใต้ อยู่ 2 ชั่วโมง
    กว่าจะเรียนรู้โครงสร้าง แผนผังของสถานที่นั้น ๆ ได้อย่างเข้าใจ มันต้องใช้เวลาในการสำรวจ
    ลำพังการดูจากเว็บได้แค่เป็นภาพใหญ่ ๆ เท่านั้น

    ท้ายที่สุด ก็ต้องถามทางอยู่ดี ถือซะว่าเป็นโอกาสที่จะได้ปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของประเทศ
    ส่วนจะเวิร์กหรือไม่เวิร์ก ก็ต้องอาศัยข้อมูลที่เราหามา บวกกับการเดินสำรวจเองด้วยประกอบกัน
    ฉะนั้น ถ้าในเว็บบอกว่าใช้เวลาเดินทางเท่าไหร่ ผมจะเผื่อเวลาหลงเข้าไปอีก 30 นาที - 1 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของสถานที่ที่จะไป

    นี่แหล่ะครับคือชีวิต ถ้าสำเร็จรูปมากเกินไปก็ไม่ท้าทาย แล้วจะเอาอะไรมาบอกเล่าให้ภาคภูมิใจ...