Unseen เมียนม่า : เมียวอู ธรรมชาติที่รอคอยการค้นหา

Unseen เมียนม่า : เมียวอู ธรรมชาติที่รอคอยการค้นหา

Unseen เมียนม่า : เมียวอู ธรรมชาติที่รอคอยการค้นหา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Sanook!Travel คราวนี้ขอแนะนำทริปเที่ยวพม่าแบบ Unseen จากคุณ Backpacker DIY by Peter จากห้องบลูแพลนเน็ต เว็บไซต์พันทิป ดอทคอม ต้องยอมรับว่าภาพถ่ายและเรื่องราวของเขาน่าสนใจมาก เลยอยากนำมาแชร์ให้นักเดินทางร่วมเดินทางไปกับเขา สำหรับใครที่อยากเดินทางไปพม่า อ่านแล้วรับรองจะยิ่งอยากไปพม่าเสียตั้งแต่วันนี้พรุ่งนี้เลยค่ะ ว่าแล้วตามเขาไปกันเลย

ทริปนี้ผมได้เดินทางไปเทร็คกิ้งกับทีมพม่า แถวหมู่บ้าน Kalaw ใกล้กับทะเลสาบอินเล ซึ่งเป็นการสานสัมพันธไมตรีระหว่าง Thailand Mountaineering and Trekking Club และ Myanmar hiking and mountaineering federation ก่อนที่จะมีการพิชิตยอดภูเขาหิมะ Phongkan Razi ในเดือนเมษายน 2557 หลังจากที่เดินเทรคกิ้งเสร็จผมและเพื่อนๆ ก็กลับไปย่างกุ้ง และติดต่อหาซื้อตั๋วรถทัวร์,ตั๋วเรือ,ตั๋วเครื่องบินกับเอเจนซี่แห่งหนึ่งในย่างกุ้ง ไปจุดหมายปลายทางที่เมียวอู ทริปนี้จะรีวิวการเดินทาง และ บอกว่าวิธีเซ็ทค่ากล้องถ่ายรูปเฉพาะที่ Thanwe,Ngapoli Beach, Taunggok, Sittwe และ Mrauk U

เมืองซิตเว Sittwe หรือ ซิตตุ่ย ในสำเนียงพม่า เป็นเมืองหลวง ตั้งอยู่ในรัฐยะไข่ Rakhine ทางทิศตะวันตก ชายแดนสุดฝั่งทะเลอ่าวเบงกอล ของประเทศพม่า มีชายแดนติดบังกลาเทศ มีพรมแดนธรรมชาติอันเป็นอุปสรรคสำคัญ ในการติดต่อสมาคมกับแผ่นดินส่วนใหญ่ของพม่า คือ เทือกเขาอรกันโยมา (Arkhine Yoma) ทีทอดยาวตลอดแนวพรมแดนติดทะเลเป็นระยะทางยาวเกือบ 600 กิโลเมตร ทางฝั่งตะวันออกของรัฐระไข่ ดังนั้นการเดินทางสู่เมืองต่างๆใน Rakhine State โดยทางบกจึงเป็นไปโดยลำบาก (โดยต้องเดินทางไปตั้งต้นที่ Sittwe ก่อน) ดังนั้นจึงมี 2 วิธี

1. นั่งเครื่องบินจากย่างกุ้งไปลงที่ซิตตุ่ย Sittwe ใช้เวลา 1ชม. และ นั่งเรือจากจากซิตตุ่ยไปเมียวอู 6-7 ชม.
2. นั่งรถทัวร์จากย่างกุ้งไปลงที่ตังก๊อก Taunggok ค้างที่นี่ 1 คืน , นั่งเรือจากตังก๊อกไปซิตตุ่ย Sittwe  ใช้เวลาเดินทาง 10 ชม. นอนที่ซิตตุ่ย 1 คืน , นั่งเรือจากซิตตุ่ยไปเมียวอูใช้เวลาเดินทางประมาณ 6-7ชม. (ผมเลือกเดินทางโดยวิธีนี้ แต่ผมแวะเที่ยวระหว่างทางที่ Thanwe 1 คืน)

ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อชาติอาระกันที่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมาเป็นชาวมุสลิม ชาวมุสลิมส่วนมากจะอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐติดกับบังกลาเทศ

ตารางเดินเรือจาก Sittwe ไป Mrauk U
1.The double deck ferry ของรัฐบาล ค่าโดยสารเที่ยวละ 6usd ค่าเก้าอี้ 1usd ใช้เวลาเดินทาง 7 ชม.
- Sittwe to Mrauk U มีเฉพาะ วันอังคาร และ วันศุกร์
- Mrauk U to Sittwe มีเฉพาะ วันพุธ และ วันเสาร์
2.The fastest boat ค่าโดยสารเที่ยวละ 20usd ใช้เวลาเดินทาง 2 ชม.
- Sittwe to Mrauk U มีเฉพาะ วันจันทร์ และ วันพุธ
- Mrauk U to Sittwe มีเฉพาะ วันอังคาร และ วันพฤหัส
3.Privat boat ค่าเรือ ไป-กลับ ขนาดเล็ก 150 usd, ขนาดกลาง 175 usd อยู่เที่ยวได้ 3 คืน ถ้าอยู่มากกว่านี้ เพิ่มเงินอีก 10 usd/คืน ใช้เวลาเดินทาง 6 ชม.

แผนการเดินทาง (จะรีวิวเฉพาะช่วงที่เดินทางไปเมียวอู 1-9 มกราคม 2557)
26 December 2013 DonMueang - Yongon
27 December 2013 Yongon
28 December 2013 Yongon - Kalaw
29 December 2013 Kalaw - Kone hla village
30 December 2013 Kone hla village - Inn Tain Market,Phaung Daw Oo Pagoda,Forest monastery
31 December 2013 Nyaungshwe - Yongon
1 January 2014 Yongon
2 January 2014 Yongon-Thanwe, Thanwe - Napali beach
3 January 2014 Napali beach - Thanwe, Thanwe - Taunggok
4 January 2014 Taunggok - Sittwe
5 January 2014 Sitwee - Mrauk U
6 January 2014 Mrauk U
7 January 2014 Mrauk U, Chin state
8 January 2014 Mrauk U, Dynyawady,Vesali
9 January 2014 Mrauk U - Sittwe, Sittwe - Yongon, Yongon - Mandalay
10 January 2014 Mandalay
11 January 2014 Mandalay - DonMueang

อุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายรูป Canon 6D,EF 24-105mm f4L,EF 16-35mm f/2.8L II,EF 100-400mm f/4.5-5.6L



21:00 เดินทางโดยรถทัวร์ปรับอากาศจากย่างกุ้งถึง Thanwe เวลา 5:00 สภาพถนนช่วงแรกเป็นยางมะตอย แต่ช่วงหลังจะเป็นดินลูกรัง ภายในรถทัวร์จะไม่มีห้องน้ำ แต่จะแวะจอดข้างทางให้ผู้โดยสารปลดทุกข์หนักและเบาครับ



ภาพหมอกไหลตอนเช้า Thanwe river ติดกับสถานีขนส่ง 6D+24-105mm. iso100,102mm,1/160sec,f9

ทานอาหารเช้าดูวิถีชีวิตของคนในตลาด Thanwe พวกเราก็เช่ารถสามล้อเครื่อง 5000Kyat เดินทางไปหมู่บ้านชาวประมง พักที่ SMS guesthouse 30000kyat 1ห้องนอนสี่คน

Ngapali Beach อยู่ห่างจากตัวเมือง Thanwe ประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นเขตปกครองของ รัฐยะไข่ (Rakhine) พม่าอ่านออกเสียง "ราไข่" อยู่ทิศตะวันตกของพม่า ทอดยาวไปตามชายฝั่งประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นทะเลที่ยังคงความสวยงาม และความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมของชาวประมงท้องถิ่น



การตากปลาริมชายหาด เพลิดเพลินตาที่ผสานไปกับความเงียบสงบ

10:00 นั่งรถสองแถวจาก Ngapali beach เข้าThanwe(500kyatต่อคน มีรถทุกครึ่งชม.) 13:00 ต่อรถบัสไป Taunggok ใช้เวลา3ชม. พักห้องเดี่ยว NanTawoo 5000kyat

ปกติช่วงกลางวันแทบจะไม่ค่อยเห็นผู้คนสัญจรบนสะพาน Khing Chay แต่จะเริ่มคึกคักช่วงพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน นานๆ จะเห็นรถบรรทุกแล่นผ่านสะพานแห่งนี้

เก็บแสงเย็นที่ Taunggok ซี่งเป็นเมืองท่าที่จะต้องต่อเรือเร็วไป Sittwe ช่วงเย็นชาวบ้านนิยมนำควายมาอาบน้ำทำความสะอาด ด้านหลังจะเป็นสะพานไม้ พื้นสะพานได้จากการจักสานของไม้ไผ่ เวลาเดินจะยวบลงไปเล็กน้อย จะต้องเสียเงิน 3 บาทในการข้ามสะพาน



6:30 นั่งเรือจาก Taunggok ถึง Sittwe ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชม. พักที่ Prince Guesthouse 25000kyte(นอน4คน)

ปากแม่น้ำสัตจาโร แล่นไปประมาณ 300 เมตรก็ถึงท่าจอดเรือ

5:50 ดูวิถีชีวิตเก็บแสงเช้า Fish market 8:45 เช่าเรือขนาดกลาง Privat boat ไป Mrauk U ราคาไปกลับค้าง 4 คืน 185000kyate

ล่องเรือไปตามแม่น้ำกัลดาน (Kaladan River) ใช้เวลาเดินทาง 6-7 ชม. ระหว่างทางชมวิถีชีวิตของชาวบ้านตามฝั่งแม่น้ำ พักที่ Golden star resort Guesthouse 15usd นอนสองคนต่อห้อง ฟรีอาหารเช้า

เดินไปเก็บแสงเย็นคืนแรกฝั่งเหนือที่เนินเขาเตี้ยๆ Ratanamanaung ที่เห็น Ratanabon Pagoda
  

 
วันที่สองใน Mrauk U 5:30 เช่ารถสามล้อเครี่องชมแสงเช้าฝั่งตะวันออกที่ Shwetaang เป็นจุดชมวิวที่สูงที่สุดใน Mrauk U (แต่ไม่สามารถมองเห็นวัดที่สำคัญทางฝั่งเหนือ) ต้องพกไฟฉายมาด้วย ตอนแรกไม่พบทางขึ้น เดินไปหาชาวบ้านที่อยู่ในวัดช่วยนำทางขึ้นไป
  

วัดที่อยู่ไกลสุดคือ Koethaung Pagoda วัดที่ใหญ่ที่สุดใน Mrauk U ถูกสร้างกลางที่ราบทุ่งนา เป็นวัดที่สำคัญที่สุดฝั่งตะวันออก ถ่ายตรงยอดเขา Shwetaang



แสงสีทองแรกที่ ZinaManAung Pagoda บน Pandein Taung hill

สายหมอกยามเช้า เนินเขายาว ๆ ที่เห็นเจดีย์เรียงราย คือ Dalattaung  หลังจากนั้นก็ลงเขากลับที่พัก และเช่ารถจิ๊บทั้งวัน25000Kyat เยี่ยมชมสถานที่สำคัญในหลากหลายพื้นที่มีเอกลักษณ์แตกต่างใน Mrauk U
 
Arakan State หรือ Rakhine State มีพื้นที่ชายฝั่งติดทะเลอ่าวเบงกอล มีชายแดนติดบังกลาเทศ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อชาติอาระกันที่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมาเป็นชาวมุสลิม ชาวมุสลิมส่วนมากจะอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐติดกับบังกลาเทศ

ชาวโรฮิงญาเป็นชนเผ่าดั้งเดิมในประเทศ แต่รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับ และชาวอาระกันก็ไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงญาเป็นชนชาติหนึ่งในรัฐอาระกัน ดังนั้นชาวโรฮิงญาจึงไม่ได้รับการยอมรับและไม่มีสิทธิความเป็นพลเมืองในบ้าน เกิดของตนเอง

เมื่อเดือนมิถุนาย 2012 มีความขัดแย้งระหว่างชาวโรฮิงญา และ อาระกัน เสียชีวิตนับ 100 คน และ บาดเจ็บเกือบ 500 คน จึงเป็นเขตหวงห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไป ก่อนไปผมเกรงว่าต้องทำเพอร์มิท แต่เช็คกับหน่วยงานราชการแล้วสามารถเข้าไปได้ไม่ต้องทำเพอร์มิท แต่เอเจนซีขาย ตั๋วรถบัส,เรือ,เครื่องบินภายในประเทศพม่า บางรายบอกว่าต้องทำเพอร์มิทครับ http://www.irrawaddy.org/burma/arakan-court-sentences-68-rohingyas-lengthy-prison-terms.html

หลังจากเหมารถจิ๊บเจาะลึกทุกวัดใน Mrauk U ทั้งวัน ก็ไปเก็บแสงเย็นที่ Shwetaang (ที่เดียวกับตอนเช้า) จะเห็น ZinaManAung Pagoda ตั้งอยู่บนยอด Pandein Taung hill มีต้นลีลาวดีล้อมรอบเจดีย์แปดเหลี่ยม เป็นวัดที่สำคัญในกลุ่มวัดฝั่งใต้ วันนี้จะเหนื่อยมาก เพราะวัดส่วนใหญ่จะอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ ต้องเดินขึ้นเนินเขาเตี้ยๆ หลายรอบ

     

วันที่สามใน Mrauk U ได้เหมารถเดินทางไปที่ท่าเรือ 45นาที และเหมาเรือ 2 ชม. ทั้งหมด 70usd เดินทางไปเที่ยว หมู่บ้านคนสักหน้า ซึ่งตั้งอยู่ใน Chin State แวะถ่ายรูประหว่างทางที่ไปท่าเรือ

ชาวนาพม่าใน Mrauk U นิยมใช้วัวในการไถคราด เรือกสวนไร่นา (แทบไม่เห็นใช้เครื่องจักรเป็นเครื่องทุ่นแรง) ซึ่งในเมืองไทยเราปัจจุบันคงหาดูได้ยาก หรืออาจจะไม่มีให้เห็นเลย ด้านหลังคือ Koethaung Pagoda เป็นวัดที่ใหญ่โตที่สุดในเมียวอู ถูกจัดอยู่ในประเภท เจดีย์ยอดเยี่ยม และต้องไม่พลาดชม

                                                 

พอถึงท่าเรือก็นั่งเรือห่างยาวไปแวะตลาดปาร์เมียว เที่ยวชมอยู่ประมาณ 30 นาที ก็นั่งเรือไปหมู่บ้านชินที่แรก ระหว่างทางชมวิธีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำ 
  
แวะจอดเรือที่หมู่บ้านชินที่แรกซึ่งผมจะพบหญิงสาวสักหน้าอยู่ 3 คน

ชาวชิน ในพม่ามีอยู่หลายกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป และจะมีพิธีการสักบนใบหน้าของหญิงสาวซึ่งแต่ละกลุ่มจะใช้สีที่ต่างกัน เช่น สีดำ สีกรมท่า หรือรูปนกบนหน้าผาก จะเป็นลายเฉพาะกลุ่มซึ่งในกลุ่มเดียวกันก็จะมีลวดลายเดียวกัน โดยการสักบนใบหน้าของหญิงชาวชินจะสักบนใบหน้าเพื่ออำพรางความงามของตน เพราะคนโบราณเล่าต่อกันมาว่า ในอดีตหญิงสาวชาวชินมีความสวยต้องตาต้องใจคนต่างถิ่นเป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งเจ้าเมืองกษัตริย์พม่าที่มักจะจับตัวสาวชาวชินไปเป็นภรรยาและทาสรับใช้ ผู้นำชนเผ่าจึงสั่งให้หญิงสาวชินสักใบหน้าเพื่ออำพรางความงามตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นช่วงอายุประมาณ 12-13 ปี ซึ่งต้องให้ผู้ที่มีความชำนาญเป็นผู้สักให้ โดยจะสักต่อเนื่องไปเรื่อยจนเสร็จ ปกติแล้วใช้เวลาถึง 2 วัน จะพักแค่ตอนรับประทานอาหารเท่านั้น เด็กสาวแทบทุกคนนอนร้องไห้ด้วยความเจ็บปวดตลอดการสัก กินอะไรไม่ได้และลืมตาไม่ได้เพราะมีอาการบวม บางคนที่รอยสักจางหรือลายไม่ขึ้นต้องมาสักซ้ำอีกครั้งสองครั้ง หรือจนกว่าสีจะเข้ม ในปัจจุบันวัฒนธรรมการสักหน้าไม่นิยมสักกันแล้ว เพราะไม่มีใครมาจับตัวหญิงชาวชินไปเหมือนแต่ก่อนและหมอสักใบหน้าที่มีฝีมือต่างล้มหายตายจากกันไปเกือบหมด

หลังจากกลับจาก Chin State ตอนเย็นก็เจาะลึกวัดที่สำคัญที่สุดในกลุ่มตะวันออก อีก 4 วัด และเก็บตะวันลับฟ้าที่จุดใหม่ โดยเลือก Nyi ma daw pagoda แล้วเดินขึ้นไปที่เนินเขา Phra ouk pagoda     
 
พระพม่าไม่โกนคิ้ว,ถูกสีกาได้,ยุ่งการเมือง,บิณฑบาตทั้งวัน
- พระพม่าไม่โกนคิ้ว เพราะจริงๆ แล้วพระสงฆ์ในศาสนาพุทธทั่วโลกไม่โกนคิ้ว เพราะคิ้วช่วยกันไม่ให้เหงื่อจากหน้าผากไหลเข้าตาจะทำให้ตาแสบ และการโกนคิ้วไม่มีกำหนดในพุทธวินัย มีเฉพาะประเทศไทยที่เถระสมาคมกำหนด ให้พระต้องโกนคิ้ว
- ถูกสีกาได้ ในสายตาคนไทยดูจะไม่สำรวม แต่ของพระพม่านั้นเขาจะพิจารณาที่เจตนามากกว่า ว่าถูกตัวผู้หญิงโดยบังเอิญ หรือตั้งใจถูกเพื่อเล้าโลม..หากดูภายนอกพระไทยจะเคร่งครัดกว่า แต่ก็มีปัญหาพระผิดศีลธรรมเยอะมาก พระพม่าเน้นเรื่องการศึกษาเล่าเรียนพุทธศาสนาเป็นสำคัญ ส่วนพระไทยจะเน้นเรื่องการปฏิบัติเป็นส่วนสำคัญ
- ยุ่งการเมือง พระสงฆ์พม่ามีบทบาททางการเมืองมานานโดยออกมาร่วมชุมนุมกับประชาชนเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษได้สำเร็จ ตั้งแต่นั้นมาพระพม่าก็แสดงบทบาททางการเมืองต่อต้านรัฐบาลทหารพม่ามาตลอด พระพม่ามีอิทธิพลทางความคิดต่อประชาชนมาก คนพม่าจะเชื่อพระมากกว่าเชื่อรัฐบาล
- บิณฑบาตทั้งวัน เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนพม่า คนพม่าถือว่าไม่แปลกอะไรเพราะถือเป็นการให้ผู้มีจิตศรัทธาในพุทธศาสนาได้ทำบุญ โดยการให้ทานกับพระแล้วพระก็ไม่ได้ร้องขอให้คุณต้องทำ และการบิณฑบาตก็ถือเป็นวัตรปฎิบัติของพระโดยตรงอยู่แล้วเพื่อเป็นการอนุเคราะห์ญาติโยมทั้งหลายผู้ที่มีเวลาน้อย แต่มีกิจธุระ การงานมาก ได้มีโอกาสทำบุญถวายทาน เพื่อขจัดความตระหนี่ และสอนให้คนรู้จักการเสียสละ แบ่งปัน มองคุณค่าส่วนรวมเพื่อสังคม ไม่ให้เป็นคนเห็นแก่ตัว
ขอบคุณข้อมูลจากอาจารย์ ธีระภาพ โลหิตกุล

5:30 มาเก็บแสงเช้าที่ Ratanabon Pagoda อยู่ทางทิศเหนือของ Andaw สร้างปี พ.ศ. 2155 โดยราชินี ชินหะเว Queen Shin Htway เป็นกลุ่มเจดีย์ที่ล้อมรอบ ด้วยเจดีย์เล็กๆ 24 องค์      

Htukkant Thein สร้างในปี พ.ศ. 2114 (เราเพิ่งเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่1) ในรัชสมัยพระเจ้า มง พาลอง [Mong Phaloung] ซึ่งเป็น โอรสของพระเจ้า มง บา จี [Mong Ba Gree] ผู้สร้างวัด Shite Thaung เป็นน้องของพระเจ้า มง เทียกกา [Mong Taikka] ผู้สร้าง Ko Thung วัด 90,000 แต่การครองราชย์ไม่ได้รับช่วงสืบทอดต่อกันมาทีเดียว มีโอรสของ พระเจ้า มง เทียกกา ครองราชย์ต่อจากพระราชบิดามาอีก 2 พระองค์ ซึ่งระยะการครองราชย์จะเป็นเวลาไม่นานนัก (8 ปี และ 7 ปี)

วิถีชีวิตประจำวัน ลานวัด Shitthaung เป็นภาพธรรมดา ๆ ที่เห็นได้เสมอ มันเหมือนภาพอดีตกับปัจจุบันที่ไม่ต่างกันนัก

9:00 เหมารถจิ๊บ 40 usd ไปเมืองธัญญวดี Dynyawady city 40usd ใช้เวลาเดินทาง 2 ชม. เป็นเมืองโบราณซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก Mrauk U โดยมีตำนานว่าพระเจ้าจันทะสุริยะ King Sanda Thuriya ทรงสร้างพระมหามัยมุณี Mahamuni Buddha พระพุทธรูปทองคำคู่บ้านคู่เมืองระไข่ และเมืองเวสาลี Vesali

ต่อมาปี พ.ศ. 2328 พระเจ้าปดุงได้อัญเชิญมาไว้กรุงอังวะ (เมืองหลวงพม่าขณะนั้น ซึ่งอยู่ติดกับเมืองมัณฑะเลย์ในปัจจุบัน) โดยตัดองค์พระเป็น 3 ท่อนเพื่อเคลื่อนย้าย

จารึกสมัยพระเจ้าอนันทจันทร์ (Anandacandra)ได้บรรยายถึงเมืองธัญญวดีไว้ว่า เมืองธัญญวดีมีแนวกำแพงและคูกำแพงล้อมรอบตัวกำแพงก่อด้วยอิฐ ภายในเมืองมีคูน้ำที่กว้างถูกถมทับด้วยโคลนและปลูกข้าวตลอดจนพืชต่างๆ ตลอดแนวภายในสุดเป็นที่ตั้งของพระราชวัง ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 0.26 ตารางกิโลเมตร นอกกำแพงเมืองมีทุ่งหญ้าปิดล้อมอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวป้องกันการจู่โจมจากศัตรู จากจารึกจะเห็นได้ว่าเมืองธัญญวดีเป็นสังคมเมืองที่รับเอาระบบชลประทานจากอินเดียมาใช้ในการเพาะปลูกทำให้กลายเป็นมืองแห่งเกษตรกรรมจนเป็นที่มาของชื่อเมือง ธัญญวดี “ดินแดนที่มั่งคั่งด้วยพืชพรรณธัญาหาร”

รัฐระไข่ เป็นที่ตั้งอาณาจักรโบราณ อายุกว่า 2,000 ปี เกิดขึ้นร่วมสมัยพุทธกาล ก่อนการเกิดของอาณาจักรพุกาม อันเป็นอาณาจักรแรกของพม่า เป็นพันปี อาณาจักรโบราณที่ว่านี้แบ่งได้ 4 ยุค ดังนี้

อาณาจักร ธัญญาวดี Dhanyawaddy ราว พุทธตวรรษ ที่ 1-8 ยุคนี้ ที่พระเจ้าจันทะสุริยะ ทรงสร้างพระมหามัยมุณี

อาณาจักร เวสาลี Vesali ราว พุทธตวรรษ ที่ 8 -13

อาณาจักร เลโม Lemro ราว พุทธตวรรษ ที่ 13 -18 อาณาจักรพุกามเพิ่งเกิดในสมัยนี้

อาณาจักร เมียวอู Mrauk U ราวพุทธตวรรษ ที่ 18 -23 ร่วมสมัยกับ อาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรอยุธยา

พวกเราได้แวะเยือนเมืองเวสาลี Vesali ก่อนที่จะนั่งรถกลับไป เมียวอู เหลือโบราณวัตถุเพียงไม่กี่ชิ้น Stone stairs of vesali city ที่เก็บไว้ในศาลาใกล้วัด

กลับถึงเมียวอูช่วงเย็น ก็เดินขึ้นยอดเขาเตี้ยๆ เพื่อเก็บแสงเย็นฝั่งเหนือที่ Ratanamanaung เนื่องจากวันแรกที่มาถึงไม่สามารถหาทางขึ้นยอดเขาได้ โชคดีวันสุดท้ายได้คนพื้นที่ใจดีนำทางขึ้นไป เส้นทางเป็นทางไหลของน้ำซึ่งชันมาก และต้นไม้สูงท่วมหัว ควรพกไฟฉายติดตัวไปด้วยถ้ามืดแล้วจะหาทางลงลำบากมาก มุมนี้จะเห็นวัดสำคัญทั้งหมดในฝั่งเหนือ
Shitthaung Pagoda
Andaw
Ratanabon
Htukkant Theint
 
แสงเย็นฝั่งเหนือที่ Ratanamanaung อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ ก่อนที่จะเดินลงไปทานอาหาร และกลับที่พัก

7:00 นั่งเรือจาก Mrauk U ไป Sittwe เก็บภาพระหว่างทาง

11:00 ถึง Sittwe เหมาสามล้อเครื่องมาสนามบิน 5000kyat แวะนมัสการ Sakkramuni. ที่ Lawkar Nanda Pagoda

14:40 นั่งเครีองบิน ATR72-500 ของ AIR KBZ 129USD ไป Yangon

ทิวทัศน์ระหว่างทางจาก Sittwe ไป Yongon ตลอดอ่าวเบงกอล พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ เหมาะสำหรับการเพาะปลูก มีแม่น้ำสายเล็กๆ เหมือนเส้นเลือดฝอย แตกแขนงจากแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลคดไปมาจำนวนมาก 
ใช้เวลาบิน 1 ชม. ถึงย่างกุ้ง  ขอจบรีวิวแต่เพียงเท่านี้



คอยติดตามรีวิวแบคแพ็คไปประเทศดังต่อนี้ไปนี้
Kilimanjaro Tansania 26 October - 6 November 2014
Iran & Trekking domavand 4-20 october 2014
Mu cang chai 22-30 September 2014
Italy,Swiss,France 6Jun-11 July 2014
Palawan 13-20 May 2014
PhonKanRazi,Putao 5-25 April 2014
Kunming,Luoping,Yuanyang,Lijiang,Luguhu 25Feb-12Mar 2014

สวัสดีครับ

สามารถติดตามการเดินทางเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/diypeter

อัลบั้มภาพ 77 ภาพ

อัลบั้มภาพ 77 ภาพ ของ Unseen เมียนม่า : เมียวอู ธรรมชาติที่รอคอยการค้นหา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook